การเดินทางจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จากเรื่องส่วนตัวถึงเรื่องส่วนรวม: รวม 20 ลูกฟาด จากร่างปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย คุณตาหมอประเสริฐ

‘การเดินทางจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จากเรื่องส่วนตัวถึงเรื่องส่วนรวม’ เป็นชื่อเดิมของร่างปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ ในภายหลัง

ร่างปาฐกถาความยาว 70 หน้า A4 ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะพูดภายในระยะเวลาจำกัด 90 นาที หากใครได้รับชมรับฟังการปาฐกถาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมาจะพบว่า นายแพทย์ประเสริฐพูดจากสิ่งที่อยู่ในหัวโดยไม่มีร่างปาฐกถาที่เขียนเอาไว้อยู่ในมือ

การฟังปาฐกถาสดเป็นอรรถรสทางปัญญาชนิดหนึ่ง แต่การอ่านร่างปาฐกถาที่ผู้เขียนถอดหัวใจเขียน นับเป็นความสุนทรียะทางปัญญาอันเบิกบานลุ่มลึก

ระหว่างการเดินทางตลอด 70 หน้ากระดาษ บางบรรทัดเราอาจหลั่งน้ำตาโดยไม่ทันตั้งตัว บางประโยคส่งผลให้เลือดลมในกายฉีดพล่าน และหลายวรรคตอนก่อให้เกิดความขุ่นเคืองคับแค้น แต่อบอวลด้วยความหวังพลังบวก

นี่คือ 20 ชิ้นส่วนพลังการสื่อสารที่เราคัดสรรจากร่างปาฐกถา

ยืนยันอีกครั้งว่า หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง ควรหาโอกาสอ่านร่างปาฐกถาฉบับเต็ม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม

1.

ผมเรียนโรงเรียนมัธยมที่มีนักเรียนหัวก้าวหน้ามาก ครูบางท่านถึงกับว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ผมเป็นเด็กเรียนเก่ง มารยาทดี ตอบปัญหาภาษาไทยชนะเลิศ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเป็นที่รักของครูบาอาจารย์จึงเป็นฝ่ายขวา

เด็กดีย่อมเป็นฝ่ายขวา แล้วก็ถูกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สั่นคลอนเช่นเดียวกับหลายๆ คนเวลานั้น กว่าจะไปตาสว่างจริงๆ เป็นครั้งแรกก็เมื่อได้ไปเรียนแพทย์

2.

เพียง 3 ปีของชีวิตแพทย์ในต่างจังหวัดก็รู้แล้วว่า ทำดีในสังคมไทยมิได้แปลว่าต้องได้ดี ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จมิได้อยู่ที่นั่น และธรรมะจะไม่ชนะอธรรม ราชการกล่อมประสาทให้ชาวบ้านพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ พอใจในผักสวนครัวรั้วกินได้ หากขาดเหลืออะไร เราจะวิ่งเพื่อขอรับบริจาค

เราอยู่ในประเทศที่รัฐไม่เคยช่วยอะไรเราเป็นชิ้นเป็นอัน เราปากกัดตีนถีบกันทุกบ้านกว่าจะได้รถคันแรก บ้านหลังแรก อันที่จริงแล้วมีคนจำนวนมากทำงานให้ตายก็ไม่ได้รถคันแรก และไม่มีวันจะได้บ้านหลังแรก

นี่คือเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ต้องการให้จบที่รุ่นเรา เพราะพวกเขาตาสว่างแล้วว่าไม่จำเป็นต้องทน มีประเทศที่ดีกว่านี้บนโลก และประเทศของเรามีทรัพยากรอยู่ในวิสัยที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาคาดหวังว่าเราควรทำและทำได้

3.

เราติดกับดักการบริจาคกันมาก ถัดมาก็ติดกับดักเรื่องสอนให้ชาวบ้านจับปลา ต่อมาก็ติดกับดักเรื่องความพอเพียง สุดท้ายเราวิ่งเพื่อบริจาคเงินให้โรงพยาบาลซึ่งมีเงินอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นน้ำท่วมปาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายท่านจะพูดว่าเราไม่มีเงิน ผมจะพูดคำเดิมเสมอว่าเรามี เราใช้จ่ายอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง และเงินของประเทศอยู่ที่ไหนเป็นอีกกรณีหนึ่ง

4.

เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและบริหารบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจำเป็นต้องสลายรัฐราชการและรัฐรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ เราจำเป็นต้องเอ็กเซอร์ไซส์แล้วเอ็กเซอร์ไซส์อีกจนกว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ไม่ควรมีการรัฐประหารอีกแล้ว และเราควรมีกลไกที่ใช้ลงโทษผู้ที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตย

5.

ข้าราชการส่วนใหญ่คาดหวังที่จะมีคอนเน็คชั่นที่ดีเพื่อเลื่อนระดับสูงขึ้น เข้าสู่วงในของชนชั้นปกครองมากขึ้น และได้ทรัพยากรมากขึ้น นั่นทำให้ข้าราชการที่มีพื้นเพมาจากชาวบ้านหลายคนลืมอดีตของตน

ถึงปี พ.ศ. 2557 มีปรากฏในภาพถ่ายว่าแพทย์พยาบาลจำนวนมากไปเป่านกหวีดแล้วกำหมัดขวาทุบหน้าอกเบื้องซ้ายแบบคลิงกอน (Klingon) เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เวลานั้นหลายคนทำเพื่อเก้าอี้มากกว่าอย่างอื่น ไม่มีหรอกที่เชื่อว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สติปัญญาระดับนี้แล้วอะไรจะไร้เดียงสาปานนั้น แล้วพวกเขาก็ได้เก้าอี้จริงๆ

6.

ครั้งหนึ่งอาจารย์ป๋วยเคยปฏิเสธคำขอของผู้มีอำนาจ ให้กระทำการบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อระบบการเงินของประเทศ ผมใช้เรื่องนี้เป็นฐานในการเขียนเสมอว่าวิชาชีพหรือมืออาชีพควรทำงานอย่างไร นั่นคือทำสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่มีใครเป็นพวก ดังที่เกิดแก่ตนเองทั้งสามเรื่อง คือเรื่องการรับของกำนัลจากบริษัทยา การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเชิงระบบ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ความมั่นคงหรือ integrity แบบอาจารย์ป๋วยนี้ ยังคงจำเป็นและน่าจะจำเป็นมากยิ่งขึ้นในยุคสมัยที่ตรรกะวิบัติ และความไร้ยางอายแผ่ไปทุกองค์กรเช่นเวลานี้

7.

การศึกษาที่เน้นการท่อง จำ ติว สอบ และสอบปรนัยทำให้สมองติด (fixation) ที่พัฒนาการวิธีคิดเชิงรูปธรรม (concrete operation) ประมาณอายุ 12 ปี แล้วไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปที่วิธีคิดเชิงนามธรรม (abstract operation) คนสูงอายุวันนี้ไม่สามารถนำคำศัพท์ที่มีความหมายอันจับต้องไม่ได้เข้ามาคำนวณ เช่น รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง กระจายอำนาจ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค เป็นต้น

8.

เงินเป็นเรื่องที่มีนักวิชาการคำนวณให้ดูหลายรอบแล้วว่าเราควรจัดการระบบบำนาญแห่งชาติอย่างไร ส่วนเรื่องตายอย่างสงบมีนักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขพยายามทำงานมานานแล้วว่าการแพทย์ควรจัดการจุดสิ้นสุดของชีวิตอย่างไร ทั้งสองประการดูเหมือนมีหนทางอีกยาวไกล เพราะชาวบ้านของเราเป็นคนมักน้อยจริงๆ

พวกเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรที่เกินเลยจากรัฐ ไปสถานที่ราชการถูกเหยียด ไปโรงพยาบาลถูกด่า ฝนแล้ง น้ำท่วม ไม่มีผลผลิต ปิดเมืองเพราะโควิด-19 ไม่มีอะไรจะกิน พวกเขาทนได้ทั้งนั้นอย่างไม่น่าเชื่อสายตา พวกเขาพอใจกับเบี้ยผู้สูงอายุเท่าที่ให้จริงๆ

9.

การผลักต่อไปให้ถึงระบบหลักประกันผู้สูงอายุจะพบอุปสรรคคล้ายๆ กับครั้งที่เราเปลี่ยนบัตรสงเคราะห์เป็น 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งที่เราควรทำคือทำให้ประชาชนทราบว่านี่เป็นสิทธิของท่าน และท่านมีสิทธิเรียกร้อง และรัฐสามารถทำได้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม จารีต ความเชื่อด้านศาสนา และความกตัญญูกตเวที เหล่านี้ทำให้ความพยายามที่จะสร้างกฎหมายและกระบวนการยุติการรักษาเพื่อการตายอย่างสงบเป็นไปอย่างเชื่องช้า คล้ายคลึงกับเรื่องการทำแท้งเสรีและการสมรสข้ามเพศ

10.

แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดูคับขัน แต่จะว่าไปคนแก่ต้องตายหมดก่อนอย่างแน่นอน แต่ที่เราต้องพยายามทำอะไรในวันนี้ ก็เพื่อมิให้ชีวิตของเด็กๆ ต้องถูกทำลายมากไปกว่าที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ เด็กหลายคนเข้าคุกโดยที่กระบวนการไม่สิ้นสุด เด็กสาวบางคนถูกละเมิดโดยไม่มีใครรู้เห็น เรื่องเช่นนี้ยอมรับมิได้

11.

ทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้พื้นฐาน 4 เรื่อง คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง ปัญหารอบด้านในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้ไม่พ้นเรื่องโควิด-19  ความยากจน ฝุ่นควัน PM2.5 และความเห็นต่างทางการเมือง

ทักษะศตวรรษที่ 21 มิได้อยู่ลอยๆ มันพัฒนามาจาก EF (Executive Function) ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนประกอบที่เรียกว่าคิดยืดหยุ่น (cognitive flexibility) ในทำนองเดียวกัน EF ก็มิได้อยู่ลอยๆ แต่พัฒนามาจากครอบครัวที่เลี้ยงเด็กมาในแนวทางพัฒนา EF   

มีความเชื่อมโยงจากครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบดั้งเดิมสู่ความรุนแรงทางการเมืองวันนี้ อยู่ที่เราจะเห็นความเชื่อมโยงนี้มากน้อยเพียงไร

12.

EF ได้มาจากการอ่านหนังสือมากๆ แต่หนังสือบ้านเราราคาแพง

EF ได้มาจากการเล่นมากๆ แต่เด็กอนุบาลและประถมบ้านเรามีเวลาเหลือให้เล่นน้อยมาก

และ EF ได้มาจากการทำงาน แต่การศึกษาและค่านิยมบ้านเราไม่ให้เด็กทำงาน ให้เรียนอย่างเดียว

13.

เราจึงต้องการครอบครัวสมัยใหม่จำนวนมากกว่านี้ ครอบครัวที่รู้ว่าการเรียนเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อลูกหลาน การเรียนเก่งมิใช่เรื่องไม่ดีในตัวเอง แต่การรู้รอบด้าน มีจิตใจประชาธิปไตย และคิดนอกกรอบได้คือ EF จะสำคัญต่อพัฒนาการทักษะศตวรรษที่ 21 มากกว่า 

แล้วช่วยให้สังคมของเราหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ดีกว่า

14.

การศึกษาที่คับแคบตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้สร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบในวันนี้ (คือคนรุ่นเดียวกับผม) กล่าวคือเรารู้เท่าที่ตำราบอก แล้วไม่ค่อยจะรู้อะไรมากไปกว่านั้น เมื่อโลกยุคใหม่มาถึงพร้อมไวไฟและไอที เรารู้มากขึ้นมากแต่ก็รู้ได้เท่าที่กูเกิลบอกและไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้นสักเท่าไรอยู่ดี

เราผู้สูงอายุถูกล้อเลียนว่ารู้เท่าที่ส่งไลน์กันอยู่เสมอ

เพราะอะไรเรารู้เท่าที่กูเกิลบอก

เพราะเราตั้งคำถามไม่เป็น ยกตัวอย่าง เราตั้งคำถามไม่เป็นว่าวัคซีนสูตรไขว้ดีจริงเพราะอะไร เป็นต้น เมื่อตั้งคำถามไม่เป็นเสียแล้ว เราก็ไปไหนต่อไม่ค่อยจะได้ นอกจากเชื่อว่ามันน่าจะดีแล้วทำตามนั้น เหตุเพราะทฤษฎีว่าน่าจะดีและไม่มีทฤษฎีไหนบอกว่ามันจะไม่ดี  ดังนั้นมันคงจะดีเพราะว่ามันน่าจะดี

แต่เยาวชนวันนี้มิได้พอใจเท่านี้ แม้ว่าการศึกษาที่พวกเขาเติบโตมาจะคับแคบเช่นเดิม แต่อย่างน้อยพวกเขาก็โตมากับเน็ต ได้แก่ อินเทอร์เน็ตมีสาย เกมออฟไลน์ แชทรูม และเสิร์ชเอนจิ้นรุ่นแรกๆ ก่อนจะมาถึงยุคเน็ตไร้สาย ไวไฟทุกพื้นที่ เกมออนไลน์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ อีกทั้งกูเกิลซึ่งพาพวกเขาไปพบทุกสิ่งทุกอย่างในทุกที่ทั่วโลก

ประเด็นก็มิใช่ว่าเขารู้มากแล้วจะดีกว่า

ประเด็นอยู่ที่เนื้อสมองของพวกเขา วงจรประสาท จุดเชื่อมต่อประสาท แขนงประสาท และเซลล์ประสาท (plasticity, neural circuits, synapses, dendrites & axons & neurons) เติบโตมากับสภาพแวดล้อมของตอนปลายศตวรรษที่ 20 และตอนต้นของศตวรรษที่ 21 การแพทย์ด้านสมองสมัยใหม่รู้แล้วว่าสมองของคนเราพัฒนาไปตามประสบการณ์และการกระทำเสมอ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีเนื้อสมองที่แตกต่างจากคนสูงอายุวันนี้ เรื่องนี้เป็นชีววิทยา

15.

เมื่อเด็กถามพ่อแม่ พ่อแม่ควรตอบ ตอบผิดๆ ถูกๆ ยังไม่เป็นไรเลย ขอเพียงตอบ เด็กก็ชื่นใจและรักพ่อแม่แล้ว

เมื่อเด็กถามครู ครูควรตอบ การศึกษาสมัยใหม่มิได้คาดหวังให้ครูเก่งทุกเรื่องตอบได้ทุกอย่าง การศึกษาสมัยใหม่ครูจะตอบไม่รู้ก็ได้ ไม่เป็นไรเลย แต่ครูควรเปิดใจกว้างรับฟังคำถามและเปิดทางไปจนถึงอำนวยความสะดวกให้นักเรียนออกไปค้นหาคำตอบ เพียงเท่านี้ก็ ‘ได้ใจ’

เมื่อเยาวชนถามรัฐใดๆ รัฐควรตอบ และเมื่อเยาวชนไม่พอใจคำตอบ รัฐควรเปิดทางเจรจา มีแต่การเจรจาต่อรองในระบอบประชาธิปไตยที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยพัฒนาและประเทศชาติเดินหน้า การเจรจาที่เปิดกว้างย่อมต้องมีทางออกแน่ๆ เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าอาจไม่ถูกใจคนทุกคน แต่การถูกใจคนส่วนใหญ่ในแต่ละช่วงเวลาเป็นเรื่องทำได้

แต่ละช่วงเวลานั้นเราเรียกว่า ‘การเลือกตั้ง’

16.

เมื่อคนรุ่นใหม่พูด ผู้ใหญ่วันนี้ควรฟัง นี่คือทักษะเรียนรู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 เพียงทำเท่านี้ประเทศจึงจะมีทางออกและเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งอนาคตและประเทศเป็นของพวกเขา จะอย่างไรคนสูงอายุวันนี้ต้องจากไปก่อนพวกเขาแน่นอน เราควรเตรียมการจากไปอย่างดีที่สุดมากกว่าจากไปอย่างนองเลือดและสร้างความรุนแรงเพราะปิดกั้นความคิดของผู้คน

จำนวนครอบครัวสมัยใหม่ไม่มากพอ การศึกษาที่เปิดกว้างไม่มากพอ เป็นบ่อเกิดของผู้ใหญ่ที่ความคิดอ่านไม่มากพอในวันนี้ หากเราไม่สามารถแก้ไขผู้ใหญ่วันนี้ได้ เราจำเป็นต้องสร้างใหม่ซึ่งทำได้ในเวลาเพียง 9-15 ปี ด้วยครอบครัวสมัยใหม่และการศึกษาสมัยใหม่ ก่อนที่กระบวนการตัดแต่งสมองจะสิ้นสุด 

การจะสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาช่วยเหลือพ่อแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกได้ และกว่าที่เราจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ไปในทางที่ถูกที่ควรได้ เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจที่ดี

17.

แม่-หนังสือ-ที่เล่น เป็นสิ่งพื้นฐาน 3 อย่างซึ่งควรให้แก่ประชาชนฟรีเหมือนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เรารู้ว่าควรทำ และเรารู้วิธีทำ ตั้งแต่เรื่องวันลาพ่อแม่ไปจนถึงการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่เราไม่ทำ เราพูดเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายสิบปีโดยไม่ทำหรือไม่สามารถทำ

ผมเป็นแพทย์ มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครอง แต่ด้วยการอ่านเท่าที่อ่านได้ คำตอบน่าจะอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจ ซึ่งทั้งสามอย่างต้องการพัฒนาการเหมือนทารกและเด็กเล็ก

18.

การเล่นมิใช่เรื่องเสียเวลาเปล่า การเล่นพัฒนาพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า หากพ่อแม่ไม่มีทุนรอนไปโรงเรียนทางเลือก หรือแนวบูรณาการ หรือโฮมสคูล ลำพังการเล่นเสรีอย่างเดียวก็สามารถพัฒนาเด็กได้มากกว่าการเรียนหนังสือ แต่ถ้าพ่อแม่มีฐานะทางสังคมและทุนส่งเข้าโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนนานาชาติที่คุณภาพสูง การเล่นก็ได้ถูกออกแบบไว้ให้ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการอย่างเป็นระบบอีกด้วย

นำไปสู่คำถามว่าทำไมเราจึงปล่อยให้ประเทศเปิดโอกาสเพียงลูกคนมีเงินเข้าโรงเรียนคุณภาพสูง ถ้าโรงเรียนคุณภาพสูงค่าใช้จ่ายสูงนั้นดีจริง เพราะอะไรผู้ดูแลนโยบายการศึกษาจึงไม่แปรสภาพโรงเรียนอนุบาล รวมไปถึงประถมและมัธยม เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (active learning, learning by action) ด้วย โจทย์ปัญหาเป็นฐาน หรือโครงงานเป็นฐาน (Problem-Based/Project-Based Learning หรือ PBL) การเรียนรู้รายวิชาเป็นเรื่องพ้นสมัยนานแล้ว

19.

เราควรเปลี่ยนโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยให้เป็นโรงเรียนทางเลือกราคาถูก ด้วย ‘หลักประกันการศึกษาแห่งชาติ’ เรามีทรัพยากรธรรมชาติรอบโรงเรียนให้เรียนรู้มากมาย มีงบประมาณ เรามีไอทีและเทคโนโลยีสร้างระบบการเรียนรู้แบบบูรณาการในศตวรรษที่ 21 อยู่แล้ว มิใช่เรื่องยากเกินกว่าที่ครูไทยจะเรียนรู้

แต่เราทำมิได้ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ เราเป็นรัฐราชการ และเราเป็นรัฐรวมศูนย์ สองอย่างนี้ทำลายประเทศไทยมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด แล้วมาเห็นชัดต่อหน้าคนทุกคนในยุคโควิดนี้

20.

พัฒนาการสำคัญของวัยรุ่นคือการค้นหา อัตลักษณ์ (identity) วิธีการค้นหาใช้พ่อแม่เป็นตัวตั้ง แล้วใช้ผู้คนในสังคมเป็นตัวเติม เพื่อผลิตบุคคลใหม่ที่ไม่เหมือนใครออกมา (unique)

วัยรุ่นจะเป็นบุคคลใหม่ที่ไม่เหมือนใคร เป็นหนึ่งไม่มีสอง และเป็นบุคคลอิสระได้ เมื่อไม่ฟังพ่อแม่และไปไกลๆ จากพ่อแม่ นี่เป็นพัฒนาการ

ตอนที่อยู่ชั้นประถม เด็กไปโรงเรียนเพื่อไปรวมกลุ่มกับเพื่อน เพื่อต่อสู้แข่งขัน ประนีประนอม และร่วมมือกันทำงาน เป็นพัฒนาการของเด็กประถม เมื่อถึงชั้นมัธยมเด็กไปโรงเรียนด้วยพัฒนาการอื่น คือไปค้นหาอัตลักษณ์

เด็กมัธยมไปหาแก๊งหรือชมรมเพื่อเข้าสังกัด เพื่อใช้หัวหน้าแก๊งและเพื่อนร่วมแก๊งเป็นส่วนผสมของอัตลักษณ์ใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้น ประเด็นคือการเข้าชมรมหรือแก๊งเป็นเรื่องชั่วคราว มีวันหมดอายุ เมื่อได้อัตลักษณ์แล้ว จากนั้นจะละทิ้งหัวหน้าแก๊งไป พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจึงไม่กังวลที่เด็กจะไปเข้าแก๊งหรือเชิดชูบูชาหัวหน้าแก๊ง ด้วยเรื่องจะผ่านไป ระหว่างนั้นพ่อแม่ที่ชาญฉลาดจะอยู่บ้านรอเป็นที่ปรึกษาก็พอ ไม่เดินตามและไม่ก้าวก่าย

เรื่องแก๊งเป็นเรื่องชั่วคราว แก๊งใดๆ ย่อมมีอุดมการณ์

แก๊งซิ่งรถบนถนนเพื่อความเร็วสูงสุดและเสียงปรบมือจากท่านผู้ชม แก๊งเรียนเก่งเพื่อชิงที่นั่งที่ดีที่สุดในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แก๊งแพทย์ชนบทเรียนหมอเพื่อไปช่วยคนจนที่บ้านนอก เรื่องเหล่านี้ไม่ต่างกันคือเป็นพัฒนาการ เมื่อได้อัตลักษณ์แล้วแก๊งก็เลือนหายไป หนำซ้ำอุดมการณ์ยังหายไปได้ด้วย

อุดมการณ์ทางการเมืองก็เช่นกัน หัวก้าวหน้ากลายเป็นขวาจัดคลั่งชาติ ฝ่ายขวากลับตาสว่างเห็นความทุกข์ยากและความเหลื่อมล้ำในสังคมตามที่เป็นจริง เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่พัฒนาการจึงเริ่มช้าลง จากอายุ 25 ถึงวันตายมักมีการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการไม่มากนัก

หมายเหตุ: กองบรรณาธิการปรับแก้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง จาก ‘ผู้เขียน’ เป็น ‘ผม’

อ่านร่างปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

และชมปาฐกถาย้อนหลังได้ที่ Youtube https://www.youtube.com/watch?v=TCh_NBZRZmg

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า