ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ คือนักข่าวถูกฟ้องร้องจากการทำหน้าที่รายงานข่าวถึงสองครั้งสองครา
ครั้งแรก เกิดขึ้นตอนที่ปรัชญ์ทำงานประจำโต๊ะข่าวทั่วไปของหนังสือพิมพ์ The Nation เมื่อเขาการรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุก ในบทความเรื่อง ‘เหมืองแร่ไทยทำลายแหล่งน้ำพม่า’
ส่วนครั้งถัดมา เกิดขึ้นขณะที่ปรัชญ์นั่งแท่นบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews เขาถูกฟ้องร้องอีกครั้งในปี 2563 ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการเสนอข่าว ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’
ไม่ใช่ความบังเอิญแน่ๆ เมื่อทั้งสองคดีถูกฟ้องโดยบริษัทเดียว ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่จดทะเบียนในเมียนมา
คดีแรกของปรัชญ์ ยุติด้วยการยอมความไกล่เกลี่ย ทว่าคดีที่ 2 ปรัชญ์ยืนหยัดต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด แม้การต่อสู้นี้กินเวลากว่า 2 ปี แล้ว และไม่รู้จะยุติความเป็นธรรมไว้เมื่อใด เหตุผลของเขามีอยู่ข้อเดียวคือ เพื่อยืนยันเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในบ้านเมือง
กรณีของปรัชญ์ที่มีฐานะเป็นสื่อมวลชน ยิ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและทรัพยากรระหว่างโจทก์ (บริษัทเอกชน) กับจำเลย (นักข่าว) ทั้งยังเผยให้เห็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายไล่ฟ้องร้องสื่อมวลชน หรือกระทั่งนักเคลื่อนไหวทางสังคม และท้ายที่สุด คือการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้วยหรือไม่
หลังออกจากการเป็นบรรณาธิการของ GreenNews ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ยังเป็นสื่อมวลชนเต็มขั้นโดยปัจจุบันคือนักข่าวของ Bangkok Post
WAY พูดคุยกับเขาถึงต้นสายและปลายเหตุของคดีที่ต้องเผชิญ รวมถึงชวนมองสถานการณ์สื่อมวลชนไทยท่ามกลางบรรยากาศที่อาจถูกปิดปากด้วยกฎหมายได้ทุกเมื่อ หากริอ่านแตะต้องหรือนำเสนอข่าวที่ไม่พึงปรารถนาของผู้กุมอำนาจและทรัพยากร
คุณทำงานเป็นนักข่าวมากี่ปี
ผมทำงานในวงการสื่อสารมวลชนมา 8 ปี เริ่มจากหนังสือพิมพ์ The Nation เป็นนักข่าวประจำโต๊ะข่าวทั่วไป ซึ่งจะดู 3 ประเด็นหลัก คือ การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือ สิ่งแวดล้อม ผมจึงทำเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มทำงาน
หลังจาก The Nation ปิดตัวไปเมื่อ 3-4 ปีแล้ว ผมก็ได้รับโอกาสให้เป็นบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews ซึ่งเป็นสำนักข่าวเฉพาะกิจของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ทำไมถึงสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
ตอนเป็นเด็ก บ้านผมอยู่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทุกคนรู้ว่า สมุทรสาครคือแหล่งอุตสาหกรรมหลัก ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง ก็ยังทันเห็นคลองหลังบ้านมีปลาตัวเล็กๆ ว่าย แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของคลองบ้านเรา โอเค มันอาจไม่มีปลาเล็กปลาน้อย ไม่มีปลาใหญ่หลงเหลือ แต่กลายเป็นว่าน้ำดำปี๋เลย จากริมคลองที่เรานั่งเล่นได้ นั่งอ่านหนังสือได้ หรือไปนั่งรับลมเย็นๆ เราทำไม่ได้แล้ว เพราะว่ากลิ่นของน้ำเสียมันฟุ้งมาก
ตอนนั้นเรายังไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชน ยังไม่ได้เรียนมหาลัย แต่ก็พอรู้ว่าแถวบ้านเรามีโรงงานเพิ่มมากขึ้น เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ปล่อยน้ำเสียลงคลองตรงๆ จะเห็นชัดว่า จากน้ำดีๆ กลายเป็นสีดำและมีกลิ่นเหม็น ทำให้เราเห็นว่าสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวกว่าที่คิด มันอยู่ในชีวิตประจำวันเรานี่แหละ และยิ่งชัดเจนว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมแย่ลง มันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเรายังไง
คุณถูกฟ้องคดีในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมมากี่ครั้งแล้ว
โดนคดี 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้ง ถูกฟ้องโดยบริษัทเดียวกัน
สาเหตุที่โดนฟ้อง มันเริ่มจากผมไปทำข่าวเหมืองดีบุกในเมียนมา ตอนนั้นเราลงพื้นที่ไปกับเครือข่าย ‘เสมสิกขาลัย’ เขาทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกับ NGO ในเมียนมา ซึ่งทวายน่าสนใจมาก เพราะเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล สามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกได้ และอยู่ห่างจากไทยไม่น่าเกิน 100 กิโลเมตร จากชายแดนกาญจนบุรี
ทวายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งไทยและเมียนมาสนใจพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้นักลงทุนไทยให้ความสนใจไปลงทุนค่อนข้างมาก จากการลงไปทำงานในครั้งนั้น เราพบว่าการลงทุนของนักลงทุนไทยในพื้นที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านด้วย และหนึ่งในโครงการที่ส่งผลกระทบในทวายก็คือ เหมืองเฮงดา
เหมืองแร่ดีบุกเฮงดา คือเหมืองดีบุกขนาดใหญ่ ห่างจากตัวเมืองทวายราว 45 กิโลเมตร แม้อยู่ในอาณาเขตของประเทศเมียนมา แต่เหมืองแห่งนี้อยู่ภายใต้การลงทุนของนักธุรกิจไทย โดยในปี 2542 บริษัท (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาร่วมกับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับที่ 2 (Number 2 Enterprise) ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเมียนมาเข้าไปมีหุ้นส่วน และให้บริษัท (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับการแบ่งผลประโยชน์ 65 เปอร์เซ็นต์
บริษัท อ้างว่า ดำเนินการเหมืองแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1999 โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาให้ไปขุดและใช้แร่ดีบุก โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้รัฐบาลเมียนมา และอีกส่วนหนึ่งจะเอามาขายและเอามาใช้ที่ไทย ซึ่งบริษัท (ผู้ฟ้องคดี) เป็นบริษัทขนาดเล็กของไทยที่เข้าไปลงทุน เขาอ้างว่า มีการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทำงานร่วมกับชาวบ้าน ดำเนินการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน แต่เมื่อเราลงไปดูสถานที่จริง เราพบว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาบอก เราเห็นผลกระทบเกิดขึ้นจริง
ตอนนั้นผมยังอยู่ The Nation ก็เลยเขียนบทความพิเศษไป อ้างอิงคำพูดของชาวบ้านและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า บริษัทฯ มองว่ารายงานชิ้นนี้บิดเบือนจากความเป็นจริง เขาก็เลยมาฟ้อง อันนี้เป็นการฟ้องคดีแรก
จุดไหนที่บริษัทผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าคุณบิดเบือน
ผมสันนิษฐานเองนะ งานชิ้นนี้ผมลงเป็นภาษาอังกฤษ แล้วตอนนั้นเขามีโปรเจกต์กับทางต่างประเทศ เขาไปออกงานดีบุกโลก คิดว่าส่วนหนึ่งคือพอเราลงเป็นภาษาอังกฤษ มันจึงเผยแพร่ไปทั่วโลก จึงคิดว่ามันมีผลกระทบมากกว่าสื่อที่เขียนเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ในไทย
ส่วนเนื้อข่าวที่ลงตอนนั้น ผมว่าไม่ต่างจากสื่ออื่นนะ เขาอ้างว่าผมไม่ได้เช็กข้อมูลของเขาด้วย แต่ว่าสื่ออื่นก็ไม่มีใครเช็กข้อมูลได้ เพราะติดต่อบริษัทฯ ไม่ได้เลย
จุดไหนหรือข้อความใดที่บริษัทแสดงความกังวลในคดีแรก
เขาบอกว่าไม่จริงเลย สิ่งที่พูดมาว่าเหมืองทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม มันไม่จริงเลย เขาทำเหมืองโดยเคารพสิทธิของประชาชนและดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และยังบอกว่ารูปที่เราถ่ายแล้วเอาไปลง ไม่ใช่รูปเหมืองของเขา
หลังจากลงบทความนี้พร้อม by line ชื่อผม เขาก็ฟ้องผมเป็นจำเลยร่วมกับหนังสือพิมพ์ The Nation คือฟ้องทั้งหนังสือพิมพ์และนักข่าว เขาฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐม ตอนนั้นผมได้รับความช่วยเหลือจากทนายของหนังสือพิมพ์ The Nation และ ทนาย ส.รัตนมณี จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน แต่ด้วยข้อจำกัดในการต่อสู้คดี ทนายของสำนักพิมพ์ไม่อยากให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่อยากสืบสาวราวเรื่องมาก และพยายามจบให้เร็วที่สุด ก็เลยยอมความกัน การยอมความคือว่า ทางบริษัทเขาขอให้เราแก้ข่าวให้เขา คือเอาข้อมูลมาลงให้เท่าเทียมกัน ซึ่งทาง The Nation ก็ยินดี คือจบความกันไป
รู้สึกอย่างไรที่คดีจบลงเช่นนี้
(ยิ้มเจื่อน) แอบเซ็ง เพราะเราอยากสู้คดีตั้งแต่ตอนนั้น เราค่อนข้างมั่นใจว่า สิ่งที่เราเขียนลงไปเป็นสิ่งที่เราเห็นจริง เราสัมภาษณ์จริง เราไปลงพื้นที่จริง เราสัมผัสจริง เราอยากสู้คดีมาก แต่ The Nation เขาไม่อยากมีเรื่องมีราว ก็เลยต้องตามน้ำไป
หลังคดีแรกจบไป ต่อมาคุณได้มาทำงานเป็นบรรณาธิการที่ GreenNews แล้วถูกฟ้องอีกครั้งโดยบริษัทเดิม เกิดอะไรขึ้น
มันเกิดขึ้นตอนผมทำงานที่สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews แต่เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นคนเขียนเองนะ เป็นข่าวจากคำพิพากษาที่ชาวบ้านในทวายไปฟ้องบริษัท (บริษัทของนักธุรกิจชาวไทยและจดทะเบียนในประเทศเมียนมา) ที่ประเทศเมียนมา โดยศาลเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจกับชาวบ้าน ตอนผมได้ข่าวชิ้นมา ก็เอามาลงในสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews ว่า คำพิพากษาว่ายังไงบ้าง โดยเรานำเสนอว่า ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’ และมีการปูพื้นหลังว่าบริษัทฯ ทำอะไรมาบ้าง และสัมภาษณ์เพิ่มเติมนิดหน่อย
ต่อมา ทางบริษัทฯ บอกว่า เราลงคำพิพากษาบิดเบือน เขาบอกว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับน้ำท่วม แต่ว่าในรายงานข่าวของเรามีการเอ่ยถึง ‘กากหางแร่’ แต่ในคำพิพากษาไม่ได้ลงเรื่องกากหางแร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังเรื่องนี้ นั่นทำให้เขาฟ้องผมอีกครั้งด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
ความคืบหน้าของคดีเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสืบพยาน คดีที่สองนี้เขาไปฟ้องกับพนักงานสอบสวน ต่างจากครั้งแรกที่เขาฟ้องศาลโดยตรง อันนี้เขาฟ้องพนักงานสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนเป็นฝ่ายรวบรวมหลักฐาน และก็ส่งฟ้องคดีให้ คดีนี้เราสู้มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ครับ
ผมได้ความช่วยเหลือเหมือนเดิมจากทางทนาย ส.รัตนมณี ของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มีหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือ ทั้งทางเสมสิกขาลัยก็ดี The Mekong Butterfly ก็ดี ทุกคนให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี อันนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าสำคัญมากในการช่วยสนับสนุนนักข่าวที่ทำประเด็นสุ่มเสี่ยงแบบนี้ ถ้านักข่าวขาดกองหลังเช่นนี้ไป ก็จะเกิด ‘chilling effect’ (ผลกระทบหลังการบังคับใช้กฎหมายหรือการลงโทษที่เข้มงวด ทำให้ผู้คนและสื่อมวลชนหวาดกลัวการสื่อสาร จนไม่แน่ใจว่าอะไรพูดได้หรือพูดไม่ได้ เขียนได้หรือเขียนไม่ได้ ทำให้เกิด self- censorship คือการเซนเซอร์ตัวเอง การปิดกั้น และไม่กล้าแสดงความคิดเห็น) คือบางทีเวลาเราจะรายงานอะไร มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราโดนฟ้องจะมีใครช่วยเราหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่เขียนดีกว่า
คุณถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการสำนักข่าว GreenNews ซึ่งอยู่ภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม อยากให้เล่าบทบาทของสำนักข่าวและชมรมนี้ว่า มีรูปแบบการทำงานอย่างไร
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเกิดจากการรวมตัวของนักข่าวสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งจะมีการเลือกประธานตามวาระ อย่างปัจจุบัน มี ‘พี่เต้ย’ (ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล) จากนิตยสาร สารคดี เป็นประธานชมรม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมมีบทบาทช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมให้กับนักข่าวทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ‘Press Tour’ พานักข่าวไปลงพื้นที่ หรือว่าการทำ ‘Workshop’ เสริมสร้างคุณภาพให้กับนักข่าว จัดเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือด้วย คือทำกิจกรรมลักษณะนี้ต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปีแล้ว (ชมรมฯ เริ่มต้นเมื่อปี 2537) จากนั้นปี 2554 ชมรมก็ทำสำนักข่าวออนไลน์ขึ้นมาชื่อว่า GreenNews คอยผลิตข่าวและรายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยโครงสร้างก็อยู่ภายใต้ชมรมฯ แต่มีกองบรรณาธิการเป็นของตัวเอง
ตอนโดนฟ้องคดีที่สอง คุณตั้งใจจะสู้คดีให้ถึงที่สุดเลยไหม
ใช่ ผมมองว่า การฟ้องร้องและดำเนินคดีนักข่าว โดยเฉพาะกรณีของผม เป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตของเขา โอเค คุณอาจจะมองว่า การรายงานข่าวชิ้นนี้ไปกระทบกับสิทธิของคุณ แต่มันก็มีหลักวิธีในการเข้าหานักข่าว สมมุติคุณไม่พอใจในการรายงานข่าวชิ้นนี้ อย่างง่ายสุด คุณให้ข้อมูลนักข่าวสิ แล้วบอกว่า ในมุมของคุณ เรื่องมันเป็นแบบนี้นะ ให้ข้อมูลในส่วนของคุณสิ จะอย่างไรนักข่าวก็ต้องเขียนให้อยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้มีอคติว่า “กูไม่ชอบมึง กูจะเล่นข่าวโจมตีนู่นนี่” มันไม่ใช่ เรายินดีเปิดพื้นที่ให้กับข้อมูลของทุกฝ่าย คุณแค่ให้เราสัมภาษณ์ ถ้าคุณรู้สึกว่าการรายงานข่าวมันไม่แฟร์ แต่ในความเป็นจริง เราติดต่อเพื่อขอข้อมูลฝั่งคุณไม่ได้เลย
มันเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ คือเขาไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้นักข่าว แล้วเวลานักข่าวเผยแพร่งานออกไป เมื่อเขาไม่พอใจ เขาก็ฟ้อง อันนี้มันเหมือนการใช้อำนาจบีบและกดขี่ไม่ให้นักข่าวลงข่าวแบบนี้
คุณมองประเด็นความไม่เท่าเทียมทางอำนาจและทรัพยากรระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างไร
อันนี้เป็นประเด็นหลักเลยที่ทำให้ผมรู้สึกว่า การมาฟ้องคดีสื่อมวลชนในหลายครั้ง คือความพยายามทำให้เกิดความยุ่งยากในการรายงานข่าวของนักข่าว เป็นการ SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation หมายถึง การใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือไม่ให้อีกฝ่ายแสดงสิทธิเสรีภาพ) แล้วหากการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้นกับนักข่าวตัวเล็กตัวน้อยหรือนักข่าวท้องถิ่นที่ไม่มีทรัพยากร จะเป็นคนละเรื่องเลยครับ เขาจะเกิดความยุ่งยากและลำบากในชีวิตมากมาย
เช่น เรื่องเงิน เพราะเราต้องเดินทางไปขึ้นศาลทุกเดือน แล้วอย่างคดีนี้ เขาฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐม ซึ่งไม่ไกลมาก ผมโชคดีที่ยังขับรถไปได้ แต่บางกรณี เช่น กรณีเหมืองแร่เมืองเลย ชาวบ้านอยู่จังหวัดเลย แต่บริษัทกลับไปฟ้องที่แม่สอด แล้วชาวบ้านก็ต้องเดินทางไป เพราะหากไม่ไปก็จะผิดนัดศาล มันทำให้เขาต้องเสียเวลาและเสียเงินในการเดินทางมากมาย
อย่างคดีแรกของผม เขาฟ้องที่ศาลนครปฐม แล้วก็ฟ้องอีกคดีที่ศาลร้อยเอ็ด เขาบอกว่าสื่อของเรามันกระจายทั่วประเทศ เขาจะฟ้องจากที่ไหนก็ได้ เหมือนกับว่าเกิดผลกระทบกับเขาทั่วประเทศ ดีหน่อยที่ศาลร้อยเอ็ดเขามองว่ามันเป็นคดีซ้ำซ้อนกับศาลนครปฐม ศาลจึงปัดตกไป และให้ไปฟ้องที่นครปฐมแห่งเดียว
ประเมินแนวโน้มในคดีนี้อย่างไร
เดาทางยาก ผมไม่แน่ใจว่าแนวทางศาลเขาจะมองในรูปแบบไหน แต่เราก็มั่นใจว่าเราไม่ได้ทำผิด หลักๆ มีเรื่องเดียวคือ เรื่องว่ามีหางแร่ไหม
จริงๆ แล้ว เรื่องของการปนเปื้อนมลพิษในการทำเหมือง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเคยลงพื้นที่ไปตรวจสอบสารพิษจากการทำเหมือง มีข้อมูลทางวิชาการตรงนี้ แต่ความยากของคดีนี้ ผมมองว่ามันอยู่ที่การตีความกฎหมาย ว่าสิ่งที่ผมลงไปในบทความมันบิดเบือนคำพิพากษาหรือไม่ ผมรู้สึกว่า คดีนี้ค่อนข้างซับซ้อนกว่าคดีแรก คดีแรกผมรู้สึกว่าสู้ยังไงก็ชนะ ถ้าสู้นะ แต่คดีที่สองมันจะค่อนข้างซับซ้อนกว่า
เนื่องจากเป็นคดีอาญา หากท้ายที่สุด ศาลตัดสินให้คุณแพ้คดี คุณคาดเดาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ไหม
โห … เจื่อนเลยแหละ
ผมก็กลัวนะว่าถ้าหากแพ้คดีขึ้นมา ผมก็จะมีคดีติดตัว จริงๆ แล้ว จากที่ศาลเขาเปรยๆ คือ ถ้าผมจะโดน ก็เชื่อว่า คงไม่โดนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย อาจจะมีการรอลงอาญา แต่ก็นั่นแหละ เราก็จะมีคดีติดตัวอยู่ดี เรากังวลอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีข้ามพรมแดน ในกระบวนการยุติธรรมได้มีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และมีบทบาทต่อคดีอย่างไร
นอกเหนือจากกลุ่ม NGO กลุ่มทนายชุมชน นอกจากนั้นไม่มีครับ หน่วยงานของไทยไม่มีเลย
การลงทุนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจไทยไม่ได้มีแค่กรณีเหมืองแร่ในเมียนมา แต่มีทั้งในลาว กัมพูชา และอีกหลายประเทศ ซึ่งการที่สื่อมวลชนไทยเข้าไปตรวจสอบและเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นจนถูกฟ้องร้อง ในแง่หนึ่งมันคือการปิดการรับรู้ของประชาชนไทยด้วยหรือไม่
มันจำเป็นมากๆ นะ นักข่าวต้องรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นสุดๆ เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของประเทศเพื่อนบ้านเรานั้นค่อนข้างจะอ่อนแอกว่าบ้านเรามาก ขนาดเราว่าของเราแย่แล้วนะ แต่ประเทศรอบบ้านของเราแย่ยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นเรายิ่งต้องไปช่วยเขา ไปเป็นกระบอกเสียงให้เขา ว่าตอนนี้เขาประสบปัญหาอะไรจากนักลงทุนไทยของเรา แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
อย่างน้อย การทำงานของเราก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ออกมาพูด ผมมองว่ามันทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในสังคม จนอาจจะเกิดการกดดันและเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้มีบรรทัดฐานในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น เราไม่ใช่จะด่าอย่างเดียวว่า คุณมันเลว คุณมันไม่ดี ไม่ใช่แบบนั้น เราเพียงอยากชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คุณทำมันเกิดปัญหานะ คุณไปแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม
แล้วยิ่งในบริบทของทวายในเมียนมา ชาวบ้านเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และสงครามภายในประเทศ อีกทั้งยังยากจน โอกาสทางเศรษฐกิจของชาวบ้านถือว่าน้อยมาก เพราะฉะนั้น การที่บริษัทไทยไปทำธุรกิจในทวาย แล้วสร้างความเสียหายให้ชาวบ้านเพิ่มเติมอีก มันก็ยิ่งทำให้ชีวิตของเขาแย่ลง
ส่วนมากเรามักพบว่า เมื่อสื่อมวลชนต้องต่อสู้ในคดีความต่างๆ เขาจะเลือกไกล่เกลี่ยมากกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ใช่ครับ ส่วนใหญ่เวลาโดนฟ้อง เขาก็จะฟ้องสำนักข่าว แล้วฟ้องนักข่าวเป็นจำเลยร่วม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบริษัทสื่อเขาจะไม่ค่อยอยากมีปัญหา เพราะเสียทั้งเงินและเวลา เขาก็จะพยายามจบคดีให้เร็วที่สุดด้วยการยอมความ
แต่ผมเลือกสู้คดี เพราะมองว่าการต่อสู้มีผลดีมากกว่า อย่างน้อยๆ มันทำให้เกิดการตื่นตัวในสังคมว่า เฮ้ย มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นนะ มีการใช้เทคนิคการ SLAPP กับนักข่าว อย่างน้อยการต่อสู้ของเราก็ทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจมากขึ้น
บริษัท (ผู้ฟ้องคดี) ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทยนะ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ผลกระทบจากการลงทุนของเขาในประเทศเมียนมา แล้วยิ่งเขามาฟ้องร้องคดีเรา มันก็เปิดโอกาสให้เราค้นหาว่า บริษัทนี้คือใคร ทำธุรกิจอะไรถึงต้องมาฟ้องนักข่าว ผมมองว่า มันทำให้ประเด็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านในทวาย ประเทศเมียนมา เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในประเทศอื่นๆ เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร
เอาจริงๆ นะ เรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้หยุดที่เส้นพรมแดนประเทศ แต่มันข้ามพรมแดนอยู่ตลอด ไม่ต้องอะไรมาก เอาแค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เราก็เห็นชัดเลยว่า การลงทุนหลายๆ อย่างทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า เมื่อป่าหายไป การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลง แล้วยิ่งการดำเนินกิจการบางอย่างปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก มันส่งผลกระทบไปทั่วโลกนะ สิ่งที่คุณทำไม่ดีไว้ในพื้นที่ห่างออกไป 3,000-5,000 กิโลเมตร ยังไงเสียมันก็จะส่งผลกระทบสะท้อนกลับมายังประเทศเราอยู่ดี อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอเมริกา มันยังส่งผลกระทบมาถึงเราเลยนะ หรือแม้กระทั่งทวีปแอนตาร์กติกา เขาก็ยังเจอไมโครพลาสติก สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติทั่วโลก ไม่ว่าที่ไหนคุณก็เจอ
นักข่าวในปัจจุบันถูก ‘ฟ้องปิดปาก’ จำนวนมาก ทำให้สื่อมวลชนตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศความกลัวในการทำงาน คุณมองว่า ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทต่อเรื่องนี้อย่างไร
สำหรับภาครัฐ เราอยากให้มีการจัดตั้งองค์กรที่คอยหนุนหลังให้นักข่าว คอยสนับสนุนเบื้องหลัง โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย ผมมองว่าจำเป็น เพราะลำพังมูลนิธิที่คอยช่วยเรา เช่น มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน งานเขาล้นมือมากเลยนะ เราต้องการองค์กรที่เป็น ‘Second Line of Defense’ ให้นักข่าว อย่างน้อยๆ ถ้านักข่าวรู้ว่างานของเขามีความเสี่ยงโดนฟ้อง แต่มีคนคอยช่วยเหลือเขาอยู่ ยังไงเขาก็กล้าทำ
ผมเคยคุยเรื่องนี้กับนักข่าวประเทศอื่นๆ แล้วเราพบว่าหลายๆ ประเทศในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจอปัญหาเดียวกับเราเลย อย่างนักข่าวในฟิลิปปินส์ งานของเขาน่ากลัวกว่าเราอีกนะ ในประเทศเรา การคุกคามจะมาในรูปแบบการฟ้องร้องคดี แต่ในฟิลิปปินส์คือยิงเลย ผมรู้สึกว่า ในภูมิภาคนี้ต้องมีการพัฒนาในเรื่องของการเคารพสิทธิของนักข่าวอีกเยอะ
เมื่อนักข่าวเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้ารายงานข่าวเพราะกลัวถูกฟ้อง บริษัทที่สร้างผลกระทบไม่ว่าจะด้านใด เขาก็ยิ่งได้ใจสิ ก็แล้วไงล่ะ ไม่มีใครกล้าฟ้องฉันแล้ว เขาก็จะดำเนินกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป มันทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ ประชาชนยังได้รับผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนซึ่งไปเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและชุมชนก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้น กลายเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ฉะนั้น นักข่าวนี่แหละคือผู้ทำลายวงจรนี้ ทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง และส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาครับ
หลังจากคุณโดนฟ้อง มีนักข่าวเข้าไปรายงานข่าวกรณีเหมืองแร่ในเมียนมาอีกไหม
ก็ยังมีอยู่นะ หลายๆ สำนักข่าวก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้ พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตีแผ่ให้เห็นว่า มันเกิดปัญหาจากการไปลงทุนของนักลงทุนไทยที่ทวายจริงๆ
ปัจจุบัน สำนักข่าวโดน ‘disrupt’ มาก ทำให้ต้นทุนในการทำข่าวน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น นักข่าวก็ต้องเขียนข่าวหลายๆ อย่างในหนึ่งวัน บางทีเขียน 4-5 ประเด็นพร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะทำได้แค่บอกว่า มันเกิดเรื่องนี้ขึ้นนะ แล้วก็ผ่านไป ไม่มีการตามต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้
คุณคิดว่าปัจจุบันสื่อมวลชนมีขอบเขตอำนาจในการทำงานมากเพียงพอหรือไม่ต่อการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงสู่สังคม
ถ้าเอาตามที่ควรจะเป็น เรามองว่า นักข่าวควรมีสิทธิในการทำข่าวอย่างเต็มที่ อาจไม่ถึงกับว่าเราจะไปตีๆๆๆ เขาท่าเดียว เพราะแน่นอนว่าเราต้องรายงานบนพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราทำงานบนข้อมูลและหลักฐาน
ยกตัวอย่างการทำงานในสำนักข่าวใหญ่ๆ มันจะมีข้อจำกัดเรื่องว่า กลุ่มทุนใหญ่ที่เขาบริหารสำนักข่าว หรือให้สปอนเซอร์อยู่ เราไม่ควรพูดเรื่องไม่ดีของกลุ่มทุนนั้นๆ นี่คือข้อจำกัดหนึ่งของสำนักข่าวใหญ่ที่ต้องพึ่งพิงกลุ่มทุนเหล่านี้ในการหาเงินเข้าองค์กร หากเราได้เงินสนับสนุนจากองค์กรนี้ เราก็พูดอะไรถึงเขาไม่ได้เลย มันคือข้อจำกัด
การที่สำนักข่าวเล็กๆ ที่ไม่มีต้นทุนทางการเงินมากนัก กลับค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน แต่มองกลับกัน หากมีต้นทุนที่ดีก็จะช่วยให้นักข่าวทำงานได้เต็มประสิทธิภาพขึ้น ความย้อนแย้งนี้ค่อนข้างตลกร้ายไหม
โห อย่างตอนเราอยู่ GreenNews เรามีอิสระมากเลย ทำงานสนุกมาก แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ว่า เฮ้ย เราไม่มีเงินลงพื้นที่ ตรงนี้มันเป็นความท้าทายใหญ่ขององค์กรข่าวในปัจจุบัน เราจะทำยังไงจึงจะสามารถรักษาความมั่นคงในการทำงาน รายงานข่าวได้ตามที่มันควรจะเป็น ตามที่นักข่าวมืออาชีพควรทำ แต่ขณะเดียวกัน เราต้องหาจุดตรงกลางในการหาเงินสปอนเซอร์หล่อเลี้ยงองค์กร
ทิ้งท้ายถึงใครก็ได้ที่คุณอยากบอก
สิ่งที่ผมต้องเผชิญคือ การฟ้องร้องเพื่อทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากในการทำงาน ต่อให้ผมชนะคดี ความเสียหายหรือความลำบากก็ได้เกิดขึ้นกับตัวผมแล้ว
สุดท้ายผมอยากปลุกใจนักข่าว เรามาอยู่ในอาชีพนี้แล้ว ผมรู้สึกเสมอว่า การมาทำข่าว เรากำลังทำเพื่อสังคมนะ อย่างน้อยงานของเราเกิดผลดีต่อสังคมแน่นอนหากเราทำดีๆ เคยมีกรณีที่ทำข่าวไปแล้วประสบความสำเร็จ ผมก็ใจฟูนะ งานของเราสามารถช่วยให้คนกลุ่มหนึ่งแก้ปัญหาของเขาได้
หลังจากโดนฟ้องร้องจากบริษัทเอกชนถึง 2 ครั้ง คุณยังอยากเป็นนักข่าวอยู่ไหม
ครับ ผมอยากเป็นนักข่าวอยู่ และจะยังเป็นนักข่าวต่อไป
อ้างอิง
- นักข่าวสิ่งแวดล้อมยันเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หลังถูกนายทุนเหมืองฟ้องหมิ่น
- บริษัทเหมืองแร่ไทยในทวาย แพ้คดีต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในกรณีเหมืองเฮงดา
- ตารางคดี “ปิดปาก” นักเคลื่อนไหว ด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)
- เหมืองแร่ดีบุกเฮงดา: เหมืองดีบุกขนาดใหญ่ใต้เงาการลงทุนของนักธุรกิจไทย