การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา
แนวโน้มที่ดีสู่ บีบีดี
(Broad-Based Democrazy = ประชาธิปไตยฐานกว้าง)
ประเวศ วะสี
การชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังขยายตัว ได้ก่อให้ เกิดความวิตกกังวลต่างๆ นานาว่าจะนำไปสู่อะไร จะเป็นแบบ ๑๔ ต.ค. หรือ ๖ ต.ค. หรือไม่ใช่ทั้งสอง แต่สังคมไทยก็ได้เรียนรู้แล้วว่าแม้การเดินขบวนที่ใหญ่ที่สุดเมื่อ ๑๔ ต.ค. จะขับไล่รัฐบาลเผด็จการขณะนั้นไปได้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตยได้จริง ประชาธิปไตยยังล้มลุกคลุกคลานอยู่จนทุกวันนี้ ถ้าผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้อำนาจกับการตื่นตัวของเยาวชนอาจจะนำไปสู่มิคสัญญีกลียุค
แล้วก็มีแนวโน้มที่ดีเกิดขึ้นที่มีสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่เป็นวุฒิสมาชิกและ สส. เสนอให้รัฐสภาเปิดรับฟังเสียงเยาวชน แนวโน้มนี้จะนำไปสู่ บีบีดี Broad-Based Democracy = ประชาธิปไตยฐานกว้าง อันจะเป็นทางออกของระบบการเมืองไทย ซึ่งผมขออธิบายดังต่อไปนี้
๑. ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ กำเนิดในประเทศตะวันตกสมัยโบราณ เมื่อการคมนาคมยังไม่สะดวก การสื่อสารยังมีน้อย ราษฎรต้องแต่งตัวแทนขึ้นมาบ้าง นั่งเกวียนบ้าง ไปประชุมที่เมืองหลวง
สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณ ที่การคมนาคมสะดวกมีช่องทางการสื่อสารมากมายกว้างขวาง คนทั้งประเทศสามารถรับรู้ในสิ่งเดียวกันพร้อมกัน จึงอยู่ในฐานะที่จะมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ลำพังประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเดียว จึง เป็นประชาธิปไตยฐานแคบ (Narrow-Based Democracy)
แม้จะผ่านการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ แต่เป็นประชาธิปไตยวินาทีเดียว คือตอนกาบัตรเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยทางตรงเป็นการมีส่วนร่วมในเนื้อหาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จึงเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและคุณค่าเพิ่ม (Value-added Democracy) และก็ไม่ได้ขัดแย้งกับประชาธิปไตยตัวแทน แต่กลับเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน
๒. บทบาทของรัฐสภาและรัฐบาลคือการพัฒนานโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะคือปัญญาสูงสุดของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะกำหนดทิศทางของประเทศ กำหนดว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรและทำอย่างไร นโยบายสาธารณะจึงมีผลกระทบต่อทุกอณูของสังคมทั้งทางบวกและทางลบ รัฐสภาและรัฐบาลจึงเป็นกลไกทางปัญญาสูงสุดของประเทศ
เรามักจะมองว่าเป็นกลไกอำนาจสูงสุดอย่างเดียว
แต่สังคมปัจจุบันซับซ้อนมากยากที่จะเข้าใจและยากที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระบบที่ซับซ้อน การใช้อำนาจไม่ได้ผล ต้องใช้ปัญญา แต่เราก็ยังมองการเมืองเป็นแค่อำนาจ เมื่อเป็นอำนาจก็ต้องแย่งชิงต่อสู้กันตลอดไปจนถึงคิดทำร้ายกัน ปัญญาจึงไม่พอกับการใช้งาน
และสังคมไทยก็มองการเมืองเหมือนการชกมวย คอยดูเอาสนุกว่าใครแพ้ใครชนะ โดยไม่คิดเข้ามามีส่วนร่วม ให้การเมืองเป็นสถาบันทางปัญญาที่สามารถส่งเสริมสมรรถนะในการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งควรจะมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการช่วยระบบการเมืองในการพัฒนานโยบายสาธารณะทั้งนี้เพราะการคิดแบบแยกส่วน ไม่คิดถึงองค์รวม (Wholistic) การคิดแบบแยกส่วนเกิดจากอวิชชา หรือความไม่รู้ หรือการหลงไป ถ้าคิดเชิงปัญญาจะเข้าถึงความเป็นองค์รวม ประเทศไทยติดอยู่ในสภาวะวิกฤติเพราะการคิดแบบแยกส่วน ขาดการเข้าถึงองค์รวม
๓. ประชาธิปไตยฐานกว้างคือประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานโยบายสาธารณะ
การจัดการที่ดี สามารถจัดการให้ความขัดแย้งกลายเป็นความสร้างสรรค์ได้ แต่ภูมิปัญญาในการจัดการเกือบจะหายไปจากแผ่นดินไทย เพราะการคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างทางอำนาจ ผนวกกับระบบการศึกษาที่ผิดๆ เพราะการจัดการคือการใช้ปัญญาที่ทำให้เกิดความสำเร็จ หรืออิทธิปัญญา การจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ (Management makes the impossible possible)
เพราะขาดการจัดการ ความแตกต่าง หรือความขัดแย้ง จึงบานปลายกลายเป็นความรุนแรง แทนที่จะสามารถจัดการไปสู่ความสร้างสรรค์
เช่น ในการชุมนุมหรือเดินขบวนเรียกร้องอะไร คำเรียกร้องนั้นคือประเด็นยังไม่ใช่นโยบาย การจะพัฒนาเป็นนโยบายจะต้องนำประเด็นมาประกอบกับฐานข้อมูล ความรู้และการวิเคราะห์สังเคราะห์ว่าจะเป็นนโยบายอย่างไรที่ทำได้และมีประโยชน์จริง การสลายการชุมนุมหรือการเดินขบวนหรือการใส่ร้ายจะเป็น IO หรืออะไรอื่น คือการใช้อำนาจ ไม่ใช่การใช้ปัญญา บ้านเมืองจึงวุ่นวายและรุนแรงมากขึ้นเพราะขาดการจัดการที่พัฒนาประเด็นไปเป็นนโยบายสาธารณะ
การพัฒนาประเด็นไปสู่นโยบายสาธารณะ จึงเป็นภารกิจประชาธิปไตย ที่สถาบันหลักของประเทศควรทำ เช่น สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ ราชบัณฑิตยสภา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีประสบการณ์ในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมากกว่า ๑๐ ปี ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งได้สร้างผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการนี้ไว้จำนวนหนึ่ง
ถ้าสถาบันต่างๆ ช่วยกันพัฒนาประเด็นที่เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เช่น ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน ฯลฯ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศมีข้อเสนอแนะได้ทุกวันทางโซเชียลมีเดีย แล้วนำมารวบรวมเป็นหมวดหมู่ วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เป็นนโยบายสาธารณะ จะได้องค์ความรู้ขนาดใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศมีส่วนร่วม และนำนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทางสังคม เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา นี้จะเป็นประดุจการปฏิวัติประชาธิปไตย ที่ประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาบรรจบกัน เป็นประชาธิปไตยฐานกว้างอย่างมีสาระ ไม่ได้มีแต่รูปแบบ
๔. รัฐสภามีความเหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะรัฐสภาเป็นทั้งสัญลักษณ์และกลไกของประชาธิปไตย อีกทั้งช่วงนี้มีประธานรัฐสภาซึ่งเป็นสัตบุรุษ ได้รับการยอมรับเชื่อถือของสังคมกว้าง พร้อมทั้งมีสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ และสถาบันแห่งนี้ทำงานมานาน มีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในกระบวนการทางปัญญาและสังคมเพื่อประชาธิปไตย
รัฐสภาสามารถมอบให้สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุม “สมัชชาแห่งชาติเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ” โดยเป็นการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่ต้องการเสนอประเด็นนโยบาย หรือนโยบายสาธารณะที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยความช่วยเหลือของสถาบันวิชาการดังกล่าวในข้อ ๓ พร้อมทั้งประชาคมวิชาการ สื่อมวลชน ร่วมประชุมด้วย
ข้อเสนอนโยบายสาธารณะใดที่พร้อมจะปฏิบัติได้ให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีรับไปปฏิบัติ ข้อเสนอใดที่ดีแต่ยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติได้ ให้มีกลไกร่วมกันไปพัฒนาให้พร้อมจะปฏิบัติได้ แล้วนำกลับเข้ามาเสนอใหม่
จัดให้มีกลไกร่วมกันในการติดตามและประเมินผลในการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อช่วยเหลือแก้ไขอุปสรรคในการปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบายทะลุทะลวงไปสู่ผลสัมฤทธิ์
นี้จะเห็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมอย่างครบวงจร คือเกิดนโยบายสาธารณะที่ดี มีการปฏิบัติ และได้ผลจากการปฏิบัติ เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม และประเทศชาติบ้านเมือง
๕. ทั้งหมดที่ผมเสนอมานี้ เรียกว่า “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” (Interactive Learning through Action) ในสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ
ในเรื่องที่ซับซ้อนและยากการใช้วิธีการเก่าๆ ไม่สำเร็จ เช่น การใช้อำนาจ ใช้เงิน ใช้วาทกรรม บริภาษกรรม หรือแม้การใช้ความรู้ที่สำเร็จรูปโดยไม่เรียนรู้ก็ไม่สำเร็จ หรือการเรียนรู้คนเดียวก็ไม่สำเร็จ เพราะมีบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนมากเกี่ยวข้อง จึงต้องเรียนรู้ร่วมกัน จะเรียนรู้โดยท่องตำราก็ไม่สำเร็จเพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง
การพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี เป็นสถานการณ์จริงที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยากที่สุด จึงต้องอาศัยกระบวนการที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง
กระบวนการนี้จะนำไปสู่ปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ที่ทำให้เรื่องยากๆ สำเร็จได้
๖. การสร้างประชาธิปไตยฐานกว้างดังกล่าวข้างต้น จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงของคนไทยที่ใหญ่ที่สุด อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) หลายประการ เช่น
(๑) ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้นเพราะความเสมอภาค ภราดรภาพ ที่เกิดในกระบวนการ
(๒) เกิดพลังจิตสำนึก เพื่อส่วนรวมเพราะนโยบายสาธารณะที่ดี ยังประโยชน์สุขให้แก่คนทั้งหมด (๓) เกิดพลังทางสังคม เพราะการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
(๔) เกิดพลังทางปัญญา เพราะเป็นการใช้ข้อมูลความรู้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทุกคนจะเป็นคนเก่งหมด และเก่งร่วมกันเกิดปัญญาร่วม เกิดนวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group Genius)
(๕) พลังสร้างสรรค์ทั้งปวง ทำให้ฝากความยากไปสู่ความสำเร็จ
(๖) เกิดความปีติสุขร่วมกัน เป็นความสุขที่มีผู้เปรียบเทียบว่า ประดุจบรรลุนิพพาน เพราะปัญญา ความรัก ความสำเร็จ ทำให้เกิดความสงบเย็น
(๗) เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรได้ง่ายเพราะได้ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเห็นพ้องร่วมกันแล้วว่าอะไรดี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงง่าย
ผู้รู้ได้เรียงลำดับขั้นตอนสู่ความสำเร็จที่เรียกว่า PPPO
O หมายถึง การปรับองค์กร (Organization) เอาไว้หลังสุด อย่าเอาขึ้นหน้า ถ้าเอา O ขึ้นหน้าจะทะเลาะกันมาก และติดอยู่ที่นั่น P3 ตัวเรียงตามลำดับ คือ
P |
Purpose | ความมุ่งมั่นร่วมกัน | สร้างประชาธิปไตยฐานกว้าง |
P |
Principles | หลักการ | สังคมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง |
P |
Participation | การร่วมกันปฏิบัติหรือเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ | กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม |
O |
Organizational reform | การปฏิรูปองค์กรที่ควรปฏิรูป | เมื่อเป็นตัวสุดท้าย ก็จะเกิดขึ้นเกือบเป็นอัตโนมัติ |
บทส่งท้าย ผมได้กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ว่าวิกฤติใหญ่ประเทศไทย ๒๕๖๓ จะถึงจุดพลิกผัน (Tipping Point) คือพลิกไปทางร้ายก็ได้ พลิกไปทางดีก็ได้ คนโบราณจึงกล่าวว่าวิกฤติเป็นโอกาสโอกาสที่จะพลิกจากร้ายให้กลายเป็นดีอย่างรวดเร็ว คนไทยจึงควรใช้วิกฤติใหญ่ ปี ๒๕๖๓ เป็นโอกาสที่จะพลิกไปสู่เรื่องดีๆ
การสร้างประชาธิปไตยฐานกว้างที่กล่าว ณ ที่นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ต่อไปจะแสดงให้เห็นการใช้วิกฤติเศรษฐกิจที่ซ้ำเติมด้วยโรคระบาดแบบโคโรน่าไวรัส ซึ่งจะเกิดซ้ำๆ อีก เป็นโอกาสที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจ ไตรยางศ์ หรือเศรษฐกิจ ๓ ระบบเข้ามาประกอบกัน ที่ให้ทั้งภูมิคุ้มกัน ความเป็นธรรม และความเข้มแข็ง พร้อมกันและเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ที่จะทำให้ไม่มีคนไทยต้องฆ่ายกครัว เพราะระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เขาพบความจนตรอกอีกต่อไป