ประเวศ วะสี: นิเวศทางปัญญา​ของมหาชน ยุทธศาสตร์​ทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยติดขัดและวิกฤต คือ

การที่ประเทศเต็มไปด้วยโครงสร้างอำนาจ แต่ขาดโครงสร้างทางสมอง หรือโครงสร้างทางปัญญาที่พอเพียง ถึงจะพัฒนาด้านอื่นๆ เท่าใด ก็จะออกจากวิกฤตไม่ได้ ถ้าไม่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางปัญญา

กระแสใหญ่แห่งการเคลื่อนย้ายอำนาจ (Power Shift)

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นระบบที่ซับซ้อน (Complex Systems) มากขึ้นๆ อำนาจที่เคยใช้อยู่เดิมก็ได้ผลน้อยลงๆ ฉะนั้น กระแสใหญ่ (Big Trend) อย่างหนึ่งคือการเคลื่อนย้ายอำนาจ จากอำนาจแห่งการใช้พละกำลัง (พลานุภาพ) ไปเป็นการใช้เงินเป็นอำนาจ (ธนานุภาพ) แต่ในสังคมที่ซับซ้อนและยาก อำนาจจะหยุดอยู่แค่นั้นหาได้ไม่ ต้องเคลื่อนย้ายต่อไปสู่อำนาจทางปัญญา (ปัญญานุภาพ)

ปัญญาเป็นศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ที่สัตว์อื่นๆ ไม่มี หรือแม้แต่เทวดาก็ไม่มีปัญญาทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ (Wisdom Makes the Impossible Possible)

วิกฤตการณ์ที่โลกและไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เป็นวิกฤตการณ์ที่ยากที่สุด จำเป็นต้องใช้ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์นั่นคือ ศักยภาพทางปัญญา

 

อำนาจที่ขาดปัญญา ไปไม่รอด

ประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานและมีบันทึกละเอียดกว่าชาติอื่นๆ แสดงตัวอย่างประเด็นนี้อย่างดี ในยุคซุนชิวและจ้านกั๋วซึ่งรวมกันกินเวลากว่า 500 ปี แคว้นต่างๆ ต่อสู้เกิดดับกันตลอดเวลา เจ้าผู้ครองแคว้นคืออำนาจ สิ่งที่เจ้าผู้ครองแคว้นแสวงหามากที่สุดคือที่ปรึกษาที่เก่งๆ ถ้าไม่มีที่ปรึกษาที่เก่ง แคว้นนั้นอยู่ไม่ได้จะต้องพ่ายแพ้มลายหายสูญไป ที่ปรึกษาที่เก่งคือสมอง หรือปัญญา หลังจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต คู่ขับเคี่ยวชิงอำนาจที่ขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์คือระหว่างหลิวปังเซี่ยงอิ่วหรือฌ้อปาอ๋อง เซี่ยงอิ่ว รบเก่งกว่าหลิวปังมาก แต่หลิวปังมีที่ปรึกษาที่เก่งคือ เตียวเหลียง มีนักจัดการทางลอจิสติคคือ เซียวเหอ และมีแม่ทัพที่เก่งคือ ห้านสิน หลิวปังชนะ สถาปนาราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่ที่อยู่มาได้ 400 ปี หรือเล่าปี่มีขุนพลที่เก่งที่สุดคือกวนอู เตียวหุย จูล่ง แต่รบไม่ชนะ จนกระทั่งได้ขงเบ้งมาเป็นสมอง

ระบบราชการไทยเป็นโครงสร้างอำนาจที่เน้นการควบคุม ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามความจำเป็นของยุคสมัย แต่การขาดโครงสร้างสมองที่พอเพียง ทำให้ประเทศไทยขาดพลังทางปัญญา

ระบบการศึกษาควรเป็นระบบปัญญา แต่โชคไม่ดีที่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อเริ่มต้นระบบการศึกษาเมื่อกว่า 100 ปี ที่แล้ว ทำให้การศึกษาเป็นเพียงการท่องวิชาเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอทางปัญญา เพราะศักยภาพทางปัญญาของมนุษย์เป็นอะไรที่มากกว่าการท่องวิชาอย่างมหาศาล

เราทำการศึกษาว่าคือการท่องวิชาเสียจนเคยชิน จนเกิดโครงสร้างทางความคิดและการปฏิบัติที่คับแคบและต้านทานการเปลี่ยนแปลง จนแม้แต่คำว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ก็ไม่มีพลังพอที่จะทำให้ระบบการศึกษาเป็นพลังทางปัญญา คำว่า ‘ปัญญา’ เป็นคำกลางๆ ที่ไม่มีเจ้าข้าวเจ้าของแต่สำคัญสำหรับทุกเรื่อง ฉะนั้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางปัญญา จึงสามารถทำได้โดยไม่ติดขัดมากกว่า และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทุกเรื่อง และถ้าทำได้ดีจะเป็นเครื่องมือพาชาติออกจากวิกฤต

มรรค 8 ทางปัญญา เพื่อการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์

ระบบปัญญาเพื่อการพัฒนาประเทศให้พ้นวิกฤตในเบื้องต้น เพื่อประโยชน์ของการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ หรือมรรค 8 ดังต่อไปนี้

  1. เครือข่ายปัญญามหาชนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการทั้ง 7 จังหวัด (ปัญญามหาชนสร้างสวรรค์บนดินทุกถิ่นจังหวัด)
  2. อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต
  3. ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพคนไทยอย่างก้าวกระโดด
  4. ปัญญาสุดยอดของชาติ – ปัญญานโยบายสาธารณะ
  5. กลุ่มเซลล์สมองเต็มประเทศ – กลุ่มจัดการการเรียนรู้ขนาดเล็ก
  6. ภาคธุรกิจกับการพัฒนาระบบปัญญา
  7. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี
  8. กลุ่มคลังสมองทางปัญญา (Wisdom Think Tank) โดย สกสว.

ทั้ง 8 นี้ เขียนประกอบกันเป็นภาพพระเจดีย์ทางปัญญา ดังปรากฏในหน้าถัดไป โดยมีเครือข่ายปัญญามหาชนเป็นฐาน และปัญญานโยบายสาธารณะเป็นยอด มีกลุ่มคลังสมองระบบปัญญาเป็นเครื่องขับเคลื่อนความคิด

1. เครือข่ายปัญญามหาชนพัฒนาพื้นที่จังหวัดอย่างบูรณาการทั้ง 76 จังหวัด (การสร้างสวรรค์บนดิน)

การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอากรมเป็นตัวตั้งไม่ได้เพราะกรมแยกเป็นเรื่องๆ แต่ละจังหวัดโดยเฉลี่ยมี 10 อำเภอ 100 ตำบล 1,000 หมู่บ้าน การพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 เรื่อง อย่างเชื่อมโยงกันคือ ‘เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย’ เต็มพื้นที่ จะทำให้เกิดสังคมศานติสุขประดุจสวรรค์บนดิน ในเวลาหลายสิบปีที่ผ่านไป ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรสนับสนุนต่างๆ เช่น พอช. สสส. ธกส. สกว. สวทช. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน ธนาคารออมสิน กองทุนต่างๆ และระบบสุขภาพ ได้มีประสบการณ์มากพอสมควร จึงเป็นไปได้ที่จะร่วมกันเป็นภาคีส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้าน ในการนี้จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interaction Learning Through Action) ในสถานการณ์จริงของคนไทย และองค์กรต่างๆ จำนวนมหาศาล เป็นกระบวนการทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุด อันทำให้ฐานของประเทศเข้มแข็ง และให้คำตอบทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ประชาธิปไตย รวมทั้งเรื่องผู้สูงอายุ

2. อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

เรามีสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยกว่า 1,000 แห่ง นิสิต นักศึกษา รวมกันกว่า 1 ล้านคน คณาจารย์และนักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมกำลังทางปัญญาขนาดใหญ่ ต้องทำให้อุดมศึกษาเป็นประดุจหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

3. ปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของคนไทยอย่างก้าวกระโดด

ระบบการศึกษาในรอบกว่า 100 ปี ที่ผ่านมาใช้กระบวนทัศน์ที่ผิดที่ทำให้คิดว่าการศึกษาคือการท่องวิชา ทำให้คนไทยอ่อนแอทั้งชาติ มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูง สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ ถ้ากระบวนการเรียนรู้ดี ควรมีการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยสร้างผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลก มหาวิทยาลัยละประมาณ 100 คน โดยแสวงหากระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของคนได้เต็มตามศักยภาพความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลกในมหาวิทยาลัย 100 แห่ง รวมกันประมาณ 10,000 คน นอกจากจะสามารถปฏิรูปการเรียนรู้ได้ทั้งประเทศ ยังจะสามารถตั้งเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมพัฒนาศักยภาพคนไทยที่สามารถสร้างคนไทยที่มีศักยภาพสูงให้ได้ประมาณ 500,000 คน

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้ทำอะไรดีๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่เราขาดคนไทยที่มีศักยภาพสูง อันเป็นผลจากระบบการศึกษาที่ผิดพลาด ประเทศไทยจึงไม่สามารถใช้โอกาสนั้นๆ ถ้าเรามีคนไทยที่มีศักยภาพสูงสัก 500,000 คน จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่พัฒนาไปสู่ยุคใหม่

4. ปัญญาทางนโยบายสาธารณะ

ปัญญาทางนโยบายสาธารณะจัดเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะเป็นปัญญาที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทุกด้าน มาสู่การตัดสินใจว่าประเทศจะเดินไปในทิศทางใด จะทำหรือไม่ทำอย่างไร นโยบายสาธารณะจึงมีผลกระทบทุกอณูของแผ่นดิน ทั้งในทางที่ดีหรือร้าย นโยบายสาธารณะที่ดีเกิดได้ยาก ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกือบไม่มีบทบาทในการสังเคราะห์และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

เป็นไปได้อย่างไรที่อุดมศึกษาอันหมายถึงอุดมปัญญา หรือปัญญาสูงสุด จะไม่มีบทบาทในการสร้างปัญญาสูงสุดของชาติ

ฉะนั้นกระทรวงอุดมศึกษาฯ จะต้องมีนโยบายให้อุดมศึกษาสามารถสร้างปัญญาทางนโยบายสาธารณะ พร้อมทั้งรู้วิธีขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ ตรงนี้จะเปรียบประดุจหัวรถจักรทางปัญญาที่จะพาขบวนรถไฟทางปัญญาที่ยาวเหยียดทั้งขบวน ให้เคลื่อนไปสู่สถานีปลายทาง

5. กลุ่มเซลล์สมองหรือกลุ่มจัดการเรียนรู้ขนาดเล็ก (Micro Learning Management Group)

ประเทศไทยเต็มไปด้วยโครงสร้าง ซึ่งแทนด้วยภาพเป็นแท่งๆ ดังภาพซ้ายมือข้างล่าง ทั้งแท่งทางการเมือง ทางราชการ ทางการศึกษา ทางธุรกิจ หรือแม้แต่ทางศาสนา

ในโครงสร้างอำนาจมีการเรียนรู้น้อย ทำให้เรื่องยากๆ ไม่สำเร็จเป็นเหตุให้บ้านเมืองติดขัด แต่ในระบบต่างๆ มีคนตั้งใจดีมีความสามารถอยู่ด้วยเสมอ แต่ศักยภาพจะถูกดูดกลืนไปหมดในโครงสร้างอำนาจ

วิธีแก้ก็คือ การรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ เพื่อปฏิบัติการสาธารณะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กลุ่มสนใจ ในกลุ่มประกอบด้วยคนที่ถูกจริตกัน มีความเสมอภาค ภราดรภาค มีความรักระหว่างกัน กลุ่มจึงมีความสุขและพลังสร้างสรรค์มาก และการที่กลุ่มจะทำงานใดๆ ได้สำเร็จฝ่าความยากไปได้ ต้องจัดการการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ในสถานการณ์จริง การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังมาก ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ

กลุ่มจัดการการเรียนรู้ขนาดเล็กนี้เปรียบประดุจเซลล์สมองของสังคม เป็น micro unit ทางปัญญา ที่คนไทยเกือบจะทุกคนสามารถร่วมได้ ถ้ามีกลุ่มจัดการการเรียนรู้ขนาดเล็กทำงานเต็มพื้นที่ในองค์กรและระหว่างองค์กร และตามประเด็นต่างๆ และกลุ่มเหล่านี้เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โครงสร้างสังคมจะเปลี่ยนจากแท่งอำนาจทางดิ่ง เป็นสังคมเครือข่ายคล้ายสมอง หรือสังคมอุดมปัญญา เพราะฉะนั้นกระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องขับเคลื่อนให้เกิดสังคมอุดมปัญญา

6. ภาคธุรกิจกับการพัฒนาระบบปัญญา

ภาคธุรกิจมีคนเก่งๆ มากที่สุด มีสมรรถนะในการจัดการสูงกว่าภาคอื่นๆ และมีความคล่องตัวมากกว่าระบบรัฐมาก ฉะนั้นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของประเทศคือ การที่ภาคธุรกิจจะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะทางปัญญาของประเทศ ภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทในทุกส่วนของระบบปัญญา ตั้งแต่ในข้อ 1 จนถึงข้อ 7 ถ้าภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในการพัฒนาปัญญา ประเทศจะลงตัวทั้งในทางสมรรถนะ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจไปด้วยกัน ทุกส่วนของประเทศต้องไปด้วยกัน จึงจะเกิดบูรณภาพและดุลยภาพ

ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุดมศึกษาฯ อย่างหนึ่ง ที่จะพัฒนานโยบายให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบปัญญาของประเทศ

7. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สามารถจัดระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาปัญญา ถ้าทำได้ดีจะเป็นเครื่องมือพัฒนาปัญญาของมหาชนอย่างก้าวกระโดด

8. กลุ่มคลังสมองทางปัญญา (Wisdom Think Tanks)

ที่เสนอมาทั้งหมดข้างต้นยังไม่ถือว่าเป็นความคิดที่ดีที่สุด ถ้ามีคลังสมอง (Think Tank) หรือกลุ่มความคิดทางปัญญาที่ดี สามารถคิดเรื่องดีๆ กว่านี้อีกมาก

ขณะนี้มีความประจวบเหมาะหลายอย่าง ที่ประเทศไทยจะมีกลุ่มคลังสมองระบบปัญญาที่มีคุณภาพสูง นั่นคือได้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบส่งเสริมปัญญา คืออุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม เข้ามาให้เป็นเอกภาพในกระทรวงเดียวกัน มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก สกว. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ มีความคล่องตัวและมีวัฒนธรรมการทำงานเชิงปัญญามาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เหมาะที่จะทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของกลุ่มคลังสมองระบบปัญญญา ถ้าเป็นหน่วยราชการก็จะทำหน้าที่นี้ไม่ได้ ประจวบกับในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคณะกรรมการ สกสว. ซึ่งเป็นผู้มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะเป็นผู้ก่อตัวกลุ่มคลังสมองระบบปัญญา อีกทั้งมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ปฐมรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เข้าใจระบบปัญญามากที่สุด จึงอยู่ในฐานะที่จะเลือกความคิดที่ดีๆ ที่เป็นผลผลิตจากกลุ่มคลังสมอง ไปสู่การปฏิบัติของรัฐบาล

โดยที่ สกสว. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ จึงเป็นฐานให้กลไกของปัญญาใหม่ๆ งอกออกมาได้ กลุ่มคลังสมองสามารถถักทอเป็นเครือข่ายคลังสมองได้ หากกระบวนการทางปัญญาพัฒนาประเทศไทยมีโอกาสได้ดำเนินไปชั่วระยะเวลาพอสมควร โดยดึงองค์กรต่างๆ และสาธารณะเข้าร่วม จะเกิดวัฒนธรรมทางปัญญาขึ้นในสังคมไทย เมื่อเป็นวัฒนธรรมแล้วก็จะมี

ความยั่งยืน และโดยที่กระบวนการทางปัญญาเป็นกระบวนการแห่งความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับธรรมะ ธรรมะในความหมายหนึ่งคือกระแสของความเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่แบ่งเป็นข้างเป็นขั้ว ฉะนั้นเมื่อกระบวนการทางปัญญาเติบโตขึ้นในสังคมไทย ก็จะลดความเป็นข้างเป็นขั้ว ทำให้ประเทศดำเนินไปบนเส้นทางสันติมากขึ้นๆ และการพัฒนาสัมฤทธิผล เพราะไม่ว่าการใดๆ ต้องใช้ปัญญา

ทั้ง 8 ภาคส่วน เชื่อมโยงกันเป็นระบบปัญญาได้พอสมควรแก่การขับเคลื่อน ซึ่งเมื่อดำเนินไปครบวงจรก็จะเพิ่มเติมขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ

ต่อไปจะขยายความใน มรรค 1 และมรรค 2

ขยายความเฉพาะมรรคที่ 1 และ 2

ขยายความมรรคที่ 1
เครือข่ายปัญญามหาชนพัฒนาพื้นที่จังหวัดอย่างบูรณาการ ทั้ง 77 จังหวัด (สร้างสวรรค์บนดิน)

การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอากรมเป็นตัวตั้งไม่ได้เพราะกรมตั้งขึ้นแยกเป็นเรื่องๆ เช่น กรมดิน กรมน้ำ กรมต้นไม้ กรมข้าว ฯลฯ จึงพัฒนาอย่างบูรณาการไม่ได้ การคิดและทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤตเสมอ ถึงเวลาต้องพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

หลายสิบปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ หลายองค์กร มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการ และเกิดผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่ดีๆ และเก่ง หลายแสนคน มีตัวอย่างดีๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น หลายตำบล อะไรที่ว่าดี เขาทำหมดทุกอย่าง รวมทั้งดูแลผู้สูงอายุหมดทุกคน หลายชุมชนถือว่าการทำความดีเป็นเครดิตใช้กู้เงินจากสถาบันการเงินของชุมชนได้ บางชุมชนมีธนาคารแห่งความดี ถ้าลองว่าการทำความดีเป็นเครดิต การทำความดีก็จะระบาดมากขึ้น นี้เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางสังคม บางชุมชนมีสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล ซึ่งมีเงินหมุนเวียนถึงกว่า 100 ล้านบาทในหนึ่งตำบล สถาบันการเงินของชุมชนเป็นเครื่องมือเชิงสถาบันของชุมชนที่ทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการเรื่องต่างๆ ได้ดี และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ชุมชนใดที่สามารถขับเคลื่อนการบูรณาการ ทั้ง 8 องค์ประกอบอย่างเชื่อมโยงกันคือ ‘เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย’ จะเกิดสังคมศานติสุข ประดุจสวรรค์บนดิน

ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องทำให้การพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ เป็นระเบียบวาระของชาติ เพื่อสร้างสวรรค์บนดินให้เต็มพื้นที่ประเทศ

พื้นที่หมายถึง 7 จังหวัด 800 อำเภอ 8,000 ตำบล 80,000 หมู่บ้าน

แต่ละหน่วยของการพัฒนาอย่างบูรณาการ คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ล้วนต้องการกลไกและกระบวนการทางปัญญา

ขอยกตัวอย่างกระบวนการชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน ดังต่อไปนี้

(1) สภาผู้นำชุมชน ในแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน จะมีผู้นำตามธรรมชาติอยู่ประมาณ 40-50 คนเช่น ผู้นำกลุ่มอาชีพ ผู้นำกลุ่มสตรี ผู้นำกองทุน ครู พระ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำเหล่านี้ก่อตัวเป็นสภาผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรชุมชน หรือองค์กรการจัดการของชุมชน

(2) สำรวจข้อมูลชุมชน สภาผู้นำชุมชนจัดให้มีการสำรวจข้อมูลชุมชนทุกด้าน นี้จะถือเป็นการวิจัยชุมชนก็ได้ เพราะจะทำให้เกิดข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับชุมชน ข้อมูลทำให้คิดออก

(3) ทำแผนชุมชน จากข้อมูลชุมชน ทำแผนชุมชน นี้คือ กระบวนการคิดโดยชุมชน มีผลออกมาเป็นแผน ซึ่งอาจถือเป็นผลงานทางปัญญาเพื่อการพัฒนาชุมชน แผนชุมชนมักจะเป็นแผนการพัฒนาอย่างบูรณาการ

(4) เสนอแผนต่อสภาประชาชน นี้เป็นการเอาปัญญามาเป็นประชาธิปไตย ชุมชนมีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 500-1,000 คน ทั้งหมดสามารถมาประชุมและร่วมตัดสินใจ เป็นประชาธิปไตยชุมชน ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง สภาประชาชนหรือสภาชุมชนพิจารณาแผน ตัดทอน ดัดแปลง เพิ่มเติม ตามที่เห็นร่วมกัน ในที่สุดสภาประชาชนรับรองแผนชุมชน

(5) คนทั้งชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนชุมชน เมื่อคนทั้งชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนชุมชน จึงเข้าใจและอยู่ในฐานะจะขับเคลื่อนได้

(6) เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ เมื่อขับเคลื่อนไปทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ดีขึ้นเป็นลำดับๆ และองค์ประกอบต่างๆ ของการพัฒนาทั้ง 8 ด้าน ก็เชื่อมโยงกันมากขึ้นๆ เป็นภาพของการพัฒนาอย่างบูรณาการ คือ

เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย

ทุกเรื่องสามารถตั้งเป้าหมายได้ เช่น ทางเศรษฐกิจมีเป้าหมายสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ และมีสถาบันการเงินของชุมชน สถาบันการเงินของชุมชนเป็นเครื่องมือเชิงสถาบันของชุมชน ที่เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งด้านต่างๆ เช่น ในการจัดการทางการเงิน การฝึกอาชีพ การลงทุน สวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน มีตัวอย่างความสำเร็จที่สถาบันการเงินชุมชนระดับตำบลมีเงินหมุนเวียนถึงกว่า 100 ล้านบาทต่อตำบล สถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบลเช่นนี้ ถ้ามีขึ้นทุกตำบล และโดยทำนองเดียวกันสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเมืองด้วย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของคนจนและทำให้หายจน

กระบวนการชุมชนดังกล่าวข้างต้นใช้สำหรับตำบลได้ด้วย ถ้าเข้าใจองค์กรต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนกระบวนการทางปัญญาของชุมชนท้องถิ่นได้ทั้งสิ้น และหลายองค์กรก็กำลังทำอยู่แล้วหรือเคยทำ เช่น พอช. สสส. ธกส. สวทช. สกสว. มหาวิทยาลัยบางแห่ง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน กองทุนต่างๆ ฯลฯ

ข้อเสนอแนะ

1. องค์กรต่างๆ รวมตัวกันเป็น ‘ภาคีส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการของชุมชนท้องถิ่น’ ประกอบด้วย พอช. สสส. ธกส. สวทช. สกสว. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยในนโยบาย 1 มหาวิทยาลัย ต่อ 1 จังหวัด กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ในสถานการณ์จริง ซึ่งรวมถึงการวิจัยและจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่นทั้งแผ่นดิน และองค์กรที่สนับสนุน จะเป็นกระบวนการทางปัญญาของมหาชนที่ใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ฐานของประเทศแข็งแรงมั่นคง และเป็นพื้นฐานให้พัฒนาทางปัญญาอื่นๆ เพิ่มขึ้น

การมีศูนย์ประสานงานภาคีส่งเสริมฯ ดังกล่าวข้างต้น ที่คล่องตัวและมีศักยภาพในการจัดการสูง คือกุญแจของความสำเร็จ

2. ภาคีส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการของชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้าง ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เก่งๆ มีจำนวนมาก และผู้นำในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำ ทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพผู้นำเหล่านี้ให้ดีที่สุด จะเป็นการสร้างผู้นำกระบวนการทางปัญญาพัฒนาชาติขึ้นมาอย่างมหาศาล ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำต้องอยู่ในฐานะที่จะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีที่สุดจากทั่วโลก และนำมาวิจัยและพัฒนาให้ดีกว่าเขาอย่างต่อเนื่อง

3. กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรมีนโยบายให้มีอย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัย รับผิดชอบพื้นที่ 1 จังหวัด ที่เรียกว่า ‘นโยบาย 1 มหาวิทยาลัย : 1 จังหวัด’ เพื่อปรับบทบาทมหาวิทยาลัยให้เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือเอาสังคมเป็นตัวตั้ง โดยเรียนรู้จากกการปฏิบัติจริงให้เกิดผลจากการปฏิบัติจริง วิธีนี้จะเป็นการสร้างความแข็งแรงให้แก่ทั้งพื้นที่และแก่มหาวิทยาลัยอย่างสัมพันธ์กันไป มหาวิทยาลัยจะสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่และพัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้น ประสบการณ์จากพื้นที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเข้าใจและสามารถพัฒนานโยบายสาธารณะได้

4. ระบบข้อมูลทางภูมิปัญญาของประเทศเพื่อความต่อเนื่องทางปัญญา (Continuity of Wisdom) ความต่อเนื่องทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ แต่ในระบบการเมืองและระบบราชการ ความจำสั้นหรือขาดความต่อเนื่องทางปัญญา ทำให้ประเทศเสียหายหรือขาดประโยชน์ที่ควรได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวไกล จะไม่มีปัญญาที่ติดแผ่นดิน หรือภูมิปัญญา ซึ่งหมายถึงปัญญาในวิถีชีวิตร่วมกันที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ที่อยู่ในการปฏิบัติและถ่ายทอดต่อๆ กันมา จะขอยกตัวอย่างเพียง 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ เรื่อง กัญชา ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านมานาน ผ่านการลองใช้และการเอามาทำป็นยา ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านมานาน ผ่านการทดลองใช้และการเอามาทำเป็นยา ชาวบ้านรู้คุณ รู้โทษ รู้จักใช้ รัฐราชการขาดความรู้ในภูมิปัญญา ตัดตอนความรู้มาจากต่างประเทศ ไม่ได้ต่อยอดความรู้จากฐานภูมิปัญญาไทย ออกบัญญัติว่ากัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ต้องซื้อยาจากต่างประเทศด้วยราคาแพง มาใช้แทนที่ยาจากกัญชา ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส และเสียหายจากการพัฒนาต่อยอดประโยชน์ของกัญชาไทยทางการแพทย์และเศรษฐกิจ ความเสียหายโดยรวมนั้นมหาศาลยิ่งนัก เพราะการขาดความจำในภูมิปัญญาไทย

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง ‘สระน้ำประจำครอบครัว’ จากประสบการณ์ของชาวบ้าน ถ้าครอบครัวใดมีสระน้ำประจำครอบครัวที่เก็บน้ำได้ตลอดปีจะหายจน เพราะสามารถเลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกไม้ยืนต้น เลี้ยงไก่ ขี้ไก่เป็นอาหารปลา น้ำเลี้ยงปลาเป็นปุ๋ยต้นไม้ ธรรมชาติเชื่อมโยงสมดุลเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ถ้ามีนโยบายส่งเสริมสระน้ำประจำครอบครัวทั่วประเทศ จะมีผลกระทบอย่างมหาศาล ทางเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และสังคม แต่รัฐก็ไม่มีความทรงจำเช่นนี้

เรามีมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่ง นิสิตกว่า 1 ล้านคน ถ้ามหาวิทยาลัยเป็น People-oriented Universities สนใจและเห็นคุณค่าความริเริ่มดีๆ ของชาวบ้าน สนับสนุนและพัฒนาต่อยอด แผ่นดินจะมีพลังทางปัญญาสักเพียงใด

กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรพัฒนาระบบข้อมูลทางภูมิปัญญาจากพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งทำ Human Mapping คือสำรวจความรู้ ความชำนาญในตัวคนไทยทุกคนทั่วประเทศ กระบวนการและข้อมูลนี้จะสร้างนิเวศทางปัญญาของมหาชนอย่างมหาศาล และยกระดับศักดิ์ศรีและศักยภาพของคนทั้งปวง

ขยายความมรรคที่ 2
อุดมศึกษาจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤตได้อย่างไร

ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 แห่ง มีนิสิต นักศึกษา รวมกันกว่า 1 ล้านคน ประกอบด้วย ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ อีกหลายแสนคน ทั้งหมดรวมกันเป็นขุมพลังทางปัญญา เช่นนี้จะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤตได้อย่างไร

‘สอนหนังสือไปเรื่อยๆ อย่างเคย’ นั้นคือความคุ้นชิน หรือที่เรียกว่า mindset ของมหาวิทยาลัย
ความจริงมหาวิทยาลัยมีศักยภาพในตัวเองอย่างมหาศาล

แต่โลกทัศน์วิธีคิดจิตสำนึก ที่รวมเรียกว่า mindset หรือวิธีคิดว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือการ ‘สอนหนังสือ’ หรือถ่ายทอดวิชา ทำให้ไม่เห็นศักยภาพอันมหาศาลในตัวเอง

จักต้องหาวิธีจุดชนวนให้มีการระเบิดพลังศักยภาพออกมาจากภายใน ประดุจการจุดชนวนให้พลังนิวเคลียร์ที่ซ่อนอยู่ภายในระเบิดออกมา

กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรตั้งศูนย์จุดชนวนที่ว่านี้ อาจเรียกว่า ‘ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพสถาบันอุดมศึกษา’ ประกอบด้วยผู้รู้การจุดชนวนที่ว่านี้

กระบวนการจุดชนวนระเบิดพลังศักยภาพสถาบันอุดมศึกษา อาจประกอบด้วยขั้นตอน ดังต่อไปนี้

I. สร้างความฝันใหญ่ (Big Dream) ประเทศไทย
ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้ากระบวนการสร้างความฝันใหญ่ หรือจินตนาการถึงประเทศไทยที่ดีที่สุดว่าเป็นอย่างไร จินตนาการยิ่งใหญ่ยิ่งมีพลังมาก

II. การสัมผัสข้อมูลและสถานการณ์ความเป็นจริงของประเทศไทย
การรู้ข้อมูลทำให้เกิดความคิด การคิดโดยไม่มีข้อมูลนั้นคิดไม่ออก อาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นเอาความรู้หรือเทคนิคที่ตัวมีเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้สัมผัสความเป็นจริงของประเทศไทย จึงคิดไม่ออกว่าจะใช้ศักยภาพที่ตนมีไปทำอะไรได้บ้าง ฉะนั้น ควรจัดให้ประชาคมมหาวิทยาลัยสัมผัสกับข้อมูลความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งใครหรือองค์กรใด กำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง รวมทั้งสถานการณ์ของโลกด้วย ในลักษณะที่เข้าใจง่ายและเร้าใจ เช่น ทำเป็นภาพยนต์ดีๆ การสัมผัสข้อมูลความเป็นจริงจะทำให้คิดออก และคิดใหญ่ได้

III. การคิดใหญ่เพื่อประเทศไทย
ตามปรกติอาจารย์และนักวิชาการจะคิดเล็ก หรือคิดเชิงเทคนิคหรือที่เรียกว่า technic-driven คือใครมีเทคนิคอะไรก็เอาเทคนิคนั้นเป็นตัวตั้ง แต่ขาดความคิดเชิงระบบ เช่น ไม่ตั้งคำถามว่า ‘ทำอย่างไรสิ่งที่เรารู้ว่าดีจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งมวล’ คำถามนี้จะมีค่ามาก เพราะการตอบคำถามนี้ จะต้องคิดเชิงระบบ การคิดเชิงระบบจะพามหาวิทยาลัยไปไกลแสนไกล

แต่หลังจากผ่านกระบวนการสร้างความฝันใหญ่ และสัมผัสความเป็นจริงของประเทศไทยมาแล้ว ประชาคมจะมองออกว่ามหาวิทาลัยจะทำอะไรเพื่อประเทศไทย เพื่อบรรลุความฝันใหญ่ได้บ้าง เช่น

(1) มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ 1 จังหวัด

ควรมีมหาวิทยาลัย 1 แห่งทำงานกับพื้นที่ 1 จังหวัด ที่เรียกว่า ‘1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด’ โดยเฉลี่ยมี 10 อำเภอ 100 ตำบล 1,000 หมู่บ้าน

มหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมเรียนรู้และพัฒนากับองค์กรชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการพัฒนา 8 ด้าน เชื่อมโยงกันคือ

เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย

‘กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ในสถานการณ์จริง’ เพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด เป็นกระบวนการทางปัญญาขนาดใหญ่มหาศาล และเมื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 ด้าน เป็นผลสัมฤทธิ์ จะเกิดสังคมศานติสุขประดุจสวรรค์บนดิน และถ้าทุกมหาวิทยาลัยทำ ทุกจังหวัดทำ สวรรค์บนดินก็จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ และมวลปัญญาของมหาชนที่เกี่ยวข้องนั้นใหญ่มหาศาล คลอบคลุมทั่งประเทศ เป็นฐานที่ยกระดับศักยภาพของคนไทย และประเทศไทยให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

(2) กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของชาติ

กระบวนทัศน์เก่าทางการศึกษาทำให้ชาติอ่อนแอ ชุดความคิดเก่าได้แก่ ‘การศึกษาคือการท่องวิชา’ ทำให้สร้างคนไทยที่อ่อนแอ หยิบโหย่ง ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ คิดใม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น จัดการไม่เป็น

การศึกษาต้องนำไปสู่การสร้างคนไทยที่ขยันขันแข็ง ทำงานเป็น อดทน รับผิดชอบ คิดเป็น อยู่ร่วมกันเป็น จัดการเป็น

การที่จะเกิดผลอย่างหลังต้องเปลี่ยนตัวตั้งในการเรียนรู้ จากการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็นเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ธรรมชาติของชีวิตต้องเรียนรู้ให้ทำเป็น คิดเป็น อยู่ร่วมกันเป็น จัดการเป็น และพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น การศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ต้องช่วยให้กระบวนการชีวิตดังกล่าวดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

กระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาคือ การศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เพื่อความเข้มแข็งของคนไทยทุกคน และยกระดับสมรรถนะของชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญญา มหาวิทยาลัยอาจจัดระบบการเรียนรู้เป็น 4 ระบบ เป็นภาพ 4 วง ที่ซ้อนกันเป็นบางส่วน ดังข้างล่าง ดังนี้

วงที่ 1 ระบบการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตชุมชน
วงที่ 2 ระบบการเรียนรู้ในการทำงาน (Work-based learning)
วงที 3 ระบบการเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ
วงที่ 4 นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์

วงที่ 1 ระบบการเรียนรู้ในวิถีชีวิตชุมชน เป็นวงใหญ่ที่สุดได้แก่ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ในสถานการณ์จริง ในการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ที่กล่าวถึงในตอนที่ 3 และมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในพื้นที่ 1 จังหวัด (1 มหาวิทยาลัย : 1 จังหวัด) เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดและของประชากรจำนวนมากที่สุด และเพื่อความเข้มแข็งของฐานประเทศ

วงที่ 2 ระบบการเรียนรู้ในการทำงาน (Work-based Learning) มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการและองค์กรอาชีพอื่นๆ จัดให้ผู้เรียนทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย โดยมีงานทำและมีรายได้ไปด้วย โดยจัดการเรียนรู้ให้สนับสนุนให้ผู้ฝึกงานทำงานได้ดีขึ้น วิธีนี้จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเป็น อดทน รับผิดชอบ คิดเป็น จัดการเป็น ปัองกันการไม่มีงานทำ พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และพัฒนาวิชาการให้ปรับตัวได้ทันตามสภาพงานและการเปลี่ยนแปลง วงการศึกษานี้จะใหญ่เป็นที่ 2

วงที่ 3 ระบบการเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ ระบบการศึกษาในปัจจุบันทำให้เราเสมือนต้องการสร้างบัณฑิตทุกคนให้เป็นนักวิชาการซึ่งทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ ไม่ควรทำ ทำให้วิชาการของประเทศอ่อนแอ ในกระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษา ระบบการศึกษาวงที่ 1 กับวงที่ 2 จะเกี่ยวคนส่วนใหญ่เข้าไปใน 2 ระบบนั้น เหลือคนส่วนน้อยที่เหมาะและต้องการเป็นนักวิชาการที่เก่งกล้า มหาวิทยาลัยสามารถทุ่มเทคนจำนวนน้อยนี้อย่างสุดๆ เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ

วงที่ 4 นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรมีนโยบายให้แต่ละมหาวิทยาลัย สร้างผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลก มหาวิทยาลัยละประมาณ 100 คน โดยมาจากคณะ และสถาบันต่างๆ ไม่ใช่จากคณะศึกษาศาสตร์เท่านั้น เพราะการเรียนรู้ที่ดีเป็นหัวใจของทุกคณะและสถาบัน ปัจจุบันการค้นคว้าหาความรู้จากทั่วโลก ทำได้ไม่ยาก ทุกมหาวิทยาลัยควรจะค้นคว้าอย่างที่เรียกว่า จนสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร ว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดจะพัฒนาคนให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์นั้นคืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลก มหาวิทยาลัยละ 100 คน นอกจากเป็นพลังในการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมพัฒนาศักยภาพคนไทย เพื่อพัฒนาคนไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาศักยภาพอย่างสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลกจากทุกมหาวิทยาลัยรวมกันประมาณ 10,000 คน จะเป็นพลังยกระดับสมรรถนะของคนไทยและของชาติ

ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับโลก 10,000 คน การที่จะสร้างคนไทยที่มีศักยภาพสูงสัก 1 ล้านคน ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ประเทศไทยมีทรัพยากรและมีโอกาสพัฒนาทั้งเรื่องในประเทศและระหว่างประเทส เพราะเราไม่มีคนไทยที่มีศักยภาพสูง อันเป็นผลมาจากภูมิประเทศ + ระบบราชการ + ระบบการศึกษาบนกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาด ฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างคนไทยที่มีศักยภาพสูงให้ได้ 1 ล้านคน หรือแม้แต่ 500,000 คน ย่อมเป็นเครื่องมือที่จะไปพัฒนาประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

(3) วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีในการพัฒนาความเข้มแข็งของพื้นที่และของภาคอุตสาหกรรม

1 มหาวิทยาลัย : 1 จังหวัด จะทำให้มหาวิทยาลัยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของการพัฒนาในพื้นที่ และกระตุ้นให้มีการพัฒนาวิชาการทุกแขนงด้วย

มหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรจะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ และต้องสามารถแก้ปัญหาการขาดดุลทางเทคโนโลยีให้ได้ ในการนี้จะกระตุ้นให้วิทยาศาสตร์พื้นฐานเข้มแข็งขึ้นด้วย เพราะเทคโนโลยียากๆ จะทำไม่ได้ ถ้าขาดความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

(4) การสังเคราะห์และขับเคลี่อนนโยบายสาธารณะ

นโยบายสาธารณะเป็นการรวบยอดทางปัญญาของประเทศว่าจะตัดสินใจดำเนินประเทศไปในทิศทางใด จะทำหรือไม่ทำอะไร และทำอย่างไร นโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ผลกระทบทุกอณูของสังคมทั้งในทางดีหรือทางร้าย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกือบไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพราะติดอยู่กับการทำงานที่เรียกว่า technic-driven แต่ขาดความคิดเชิงระบบ ถ้ามหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤตได้ ต้องจัดการตัวเองให้สามารถสังเคราะห์นโยบายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้

IV. การพัฒนาระบบและความเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยควรมีพลังสร้างสรรค์มหาศาล แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

มหาวิทยาลัยควรเป็นดินแดนแห่งความสุข แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ คิดแต่ว่าดีชั่วเป็นกรรมส่วนบุคคล จึงทะเลาะกันสูงและขาดความสุข แท้ที่จริงระบบโครงสร้างและการจัดการมีผลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมของบุคคล เมื่อไม่สนใจประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีปัญหาเรื้อรังเรื่อยมา ‘เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ’ ซึ่งพยายามกันมาถึงครึ่งศตวรรษ เท่านั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องการพัฒนาระบบและความเป็นองค์กร

การขาดความเป็นระบบและความเป็นองค์กร ทำให้เกิดความติดขัดและด้อยสมรรถนะ ถ้าเปรียบกับระบบรถยนต์ ซึ่งมีองค์ประกอบประมาณ 10,000 ส่วน ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้ถูกต้อง อยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง และสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง ก็เป็นระบบที่สมบูรณ์ เกิดความเป็นรถยนต์ที่วิ่งไปสู่เป้าหมายอย่างราบรื่น โดยผู้ขับขี่และผู้โดยสารมีความสุข แต่ถ้าไม่เป็นระบบก็จะติดขัดหรือรถวิ่งไม่ได้

มหาวิทยาลัยขาดความเป็นระบบที่สมบูรณ์ ทำให้ขลุกขลัก ขัดข้อง ลำบาก และขาดพลังสร้างสรรค์ที่ควร เช่น สภามหาวิทยาลัยยังไม่สามารถใช้ผู้ทรงคุณวุฒิให้คุ้มค่า สภามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปก็ยังไม่สามารถมีวิสัยทัศน์และนโยบายใหญ่เพื่อประเทศ ที่จะนำผู้บริหารซึ่งควรมีปฏิสัมพันธ์สองทางกับสภามหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนโยบายซึ่งเป็นทิศทางใหญ่ อันผู้บริหารจะนำไปแปลเป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติต่อไป

คณะและสถาบันต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ยังขาดความเป็นองค์กร

คงเป็นที่รวมของอาจารย์และนักวิชาการที่มีศาสตร์หรือเทคนิคของตนๆ ต่างๆ กันไป แต่ขาดพฤติกรรมองค์กร

ถ้ามีความเป็นองค์กร สมาชิกทั้งหมดในองค์กรจะต้องมีกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมขององค์กร การมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมจะทำให้เกิดความร่วมมือกันแปลงวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมไปเป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติ อาจารย์เกือบทั้งหมดจะคิดเชิงเทคนิค (ของตนๆ) แต่คิดเชิงยุทธศาสตร์และทำแผนปฏิบัติไม่เป็น ซึ่งเป็นเรื่องของระบบและการจัดการ

ถ้าอาจารย์และนักวิชาการทุกคณะสถาบัน นอกจากมีความรู้เชิงเทคนิคแล้ว มีสมรรถนะเชิงระบบด้วย คือ สามารถคิดและมีทักษะเชิงระบบ เช่น สร้างนโยบายร่วมกัน ทำยุทธศาสตร์ ทำแผนปฏิบัติเป็น คนทั้งหมดจะรักกันมาก มีความสุขความสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยจะมีพลังสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เมื่อ นโยบาย – ยุทธศาสตร์ – แผนปฏิบัติ – การปฏิบัติ – การสนับสนุนการปฏิบัติ – การประเมินผลการปฏิบัติ – การปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันเป็นระบบที่มีพลวัตที่หมุนวนปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในแต่ละรอบที่หมุนวน แต่ละเรื่องก็ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ

นี้คือโดยสังเขปของความเป็นระบบและความเป็นองค์กร แต่ที่กล่าวมานี้อาจารย์จะทำไม่เป็น เพราะอาจารย์เติบโตมาจากความรู้ทางเทคนิคเป็นเรื่องๆ ไม่เข้าใจระบบ โครงสร้าง และการจัดการ

เพราะฉะนั้นจึงต้องการตัวช่วย ตัวช่วยคือ

  1. กระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยปฏิรูประบบการบริหารจัดการและพัฒนาความเป็นองค์กร และมีศูนย์ส่งเสริมศักยภาพของมหาวิทยาลัยคอยช่วย
  2. มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีสถาบันพัฒนาองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาความเป็นองค์กร ไปช่วยคณะและสถาบันต่างๆ พัฒนาความเป็นองค์กร

การพัฒนาระบบและความเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง จะเป็นการสร้างพลังทางปัญญาอย่างมหาศาลให้ประเทศ

V. คลังสมองมหาวิทยาลัย (University Think Tank)
สภามหาวิทยาลัยเป็นคลังสมองได้เป็นบางส่วน แต่ด้วยองค์ประกอบความเป็นองค์กรอำนาจ หน้าที่ในการบริหาร และการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ทำให้ไม่มีอิสระที่จะเป็นคลังสมองได้อย่างสมบูรณ์ จึงควรมีองค์คณะอีกคณะหนึ่งที่ปลอดการเมืองของมหาวิทยาลัย ปลอดอำนาจ และรูปแบบพิธีกรรมใดๆ เป็นกลุ่มนักคิดที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยหนึ่งๆ สามารถหามาได้ ทำหน้าที่คิดเรื่องที่สำคัญๆ อันสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารสามารถเลือกรับมาพัฒนาเป็นนโยบายได้ คลังสมองของมหาวิทยาลัยจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวเชิงอำนาจใดๆ ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงอยู่ในฐานะจะได้กำไรฟรีๆ จากการมีคลังสมอง และถ้ามหาวิทยาลัยทั้งหมดกว่า 100 แห่ง ต่างมีคลังสมองของตน ก็เท่ากับว่าประเทศไทยที่ดำเนินมาโดยเกือบไม่มีสำนักคิดเลย มีคลังสมองเพิ่มขึ้นมา 100 กว่าแห่ง และถ้าเชื่อมโยงกัน และเชื่อมโยงกับคลังสมองทางปัญญากลางที่ สกสว. ดังกล่าวในมรรคที่ 8 ก็จะเกิดเป็นเครือข่ายสำนักคิดที่ค่อนข้างใหญ่ เพิ่มพลังทางปัญญาให้ประเทศได้อย่างมหาศาล

ข้างต้นคือการขยายความมรรคที่ 1 และมรรคที่ 2 ทางปัญญา ที่เหลืออีก 6 มรรค ก็สามารถขยายความได้ทำนองเดียวกัน แต่ขอยุติไว้พอเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้

เส้นทางสายปัญญาคือมัชฌิมาปฏิปทา

ไม่แยกข้างแยกขั้ว

เส้นทางทางปัญญาใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ธรรมะในความหมายหนึ่งคือความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในกระแสของความเป็นเหตุปัจจัยอย่างต่อเนื่องไม่มีการแยกเป็นข้างเป็นขั้ว การเกิดความเป็นข้างเป็นขั้ว เกิดจากคิดแบบตายตัว เมื่อตายตัวจึงแยกส่วน เมื่อแยกส่วนจึงเกิดสภาวะสุดโต่ง เป็นขั้วไปข้างใดข้างหนึ่ง การคิดแบบแยกส่วนก็คือการคิดเชิงอำนาจนั่นเอง

เนื่องจากเส้นทางสายปัญญาไม่นำไปสู่การแยกส่วนสุดโต่งเป็นข้างเป็นขั้ว จึงเป็นเส้นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติล้วนคิดแบบตายตัวแยกส่วน จึงเป็นประวัติศาสตร์ของความขัดแย้ง รุนแรง และสงคราม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการคิดแบบแบ่งขั้วไม่สามารถนำไปสู่สันติสุข หรือสันติสุขภาวรได้ ยิ่งสังคมปัจจุบันที่เป็นระบบซับซ้อน (Complex System) ที่ยากต่อความเข้าใจ พลิกผัน และวิกฤตได้รวดเร็ว การคิดเชิงแบ่งขั้วยิ่งไม่มีทางฝ่ากับดักของความซับซ้อนออกไปได้

สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจมาอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา การคิดเชิงอำนาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถออกจากสภาวะวิกฤตได้

เส้นทางสายปัญญาหรือมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าทำให้มากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ด้วยสันติวิธี จากสังคมอำนาจจะเป็นพลานุภาพหรือธนานุภาพก็ตามไปสู่สังคมอุดมปัญญาหรือสังคมปัญญานุภาพ

เมื่อถอนตัวจากอำนาจ ความเมตตากรุณาก็เพิ่มขึ้น สังคมที่เป็นธรรมและสันติสุขจะปราศจากความเมตตากรุณา หรือความมีหัวใจของความเป็นมนุษย์หาได้ไม่ เส้นทางสายปัญญาหรือมัชฌิมาปฏิปทา จะเพิ่มหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นในสังคมไทยด้วย

คำว่าปัญญานั้นมีความหมายคลอบคลุมมาก ซึ่งรวมถึงปัญญาในการปฏิบัติ และปัญญาในการจัดการด้วย การจัดการเป็นอิทธิปัญญา หรือปัญญาที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

การที่จะสร้างสังคมสันติสุข หรือประเทศไทยยุคใหม่ที่เจริญพร้อม จึงต้องการที่เรียกว่า 3H คือ

หนึ่ง – หัวใจของความเป็นมนุษย์ (Heart)
สอง – การใช้ข้อมูล ความรู้ ความคิด (Head)
สาม – การลงมือปฏิบัติและการจัดการ (Hand)

อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่างก็ไม่พอ ต้องการครบทั้ง 3H ยุทธศาสตร์ทางปัญญานำมาซึ่งองค์ประกอบทั้งสามผนวกกัน จึงเป็นพลังของความสำเร็จ

เส้นทางสายปัญญา หรือมัชฌิมาปฏิปทา จึงน่าจะเป็นเส้นทางที่นำประเทศไทยไปสู่การมีพลังแผ่นดินที่จะพาประเทศไปสู่ยุคใหม่ที่มีความเจริญอย่างแท้จริง และโดยที่โลกก็วิกฤตเพราะคิดแบบแยกส่วน พลังแห่งมัชฌิมาปฏิปทาของไทยจึงอาจช่วยโลกได้ด้วย

นิเวศทางปัญญาของมหาชน ยุทธศาสตร์ทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ปาฐกถาในการประชุม เรื่อง Wisdom Movement: ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า