นักวิจัยชาวบ้าน: ฟื้นฟูวิถี ‘ควายทาม’ พัฒนาวิถีชุมชน

‘ทาม’ เมื่อแรกที่ได้ยินคำนี้ ความเข้าใจหยุดลงเพียงแค่คำจำกัดความในนิยามของคำศัพท์ท้องถิ่น อาจกล่าวให้ชัดลงไปได้เลยด้วยซ้ำอย่างซื่อๆ ว่า ไม่เข้าใจ กระนั้น คำว่าทามในอีกบริบท ในอีกพื้นที่ คำคำนี้ไม่ใช่เพียงคำหนึ่งคำ แต่เป็นคำที่มีความหมายสลักสำคัญยิ่งต่อวิถีการดำรงชีวิต วิถีการหาอยู่หากิน ความผูกพันระหว่างคนกับควาย ระหว่างควายกับป่า ระหว่างป่ากับคน ก่อเกิดเป็นวัฏจักรของระบบนิเวศที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อทามจมลงสู่ใต้น้ำ เมื่อควายหายไปจากทาม และคนกับควายแยกทางกันเดิน

การลุกขึ้นทวงถามในคุณค่าที่ถูกลืมของคำว่า ‘ทาม’ จึงเกิดขึ้น และเริ่มต้นจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่ยังจดจำภาพทามในอดีตได้เป็นอย่างดี ภายใต้การนำของอดีตนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิจากการสูญเสียที่ดินทำกินหลังมีการสร้างเขื่อนราษีไศล บุญมี โสภัง ซึ่งได้บอกเล่าให้เห็นภาพจากเมื่อครั้งอดีตของคนทาม ควายทาม และป่าทาม มีความเป็นมาเช่นไร ภายใต้งานวิจัยที่ชื่อ ‘การฟื้นฟูวิถีชีวิตควายทามเพื่อการพัฒนาวิถีชุมชนลุ่มน้ำมูลตอนกลาง กรณีศึกษา: พื้นที่ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์’ ปี 2550 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อจะตอบสิ่งที่เป็นมากกว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง

เพื่อจะตอบคำถามในท้ายสุดว่า อะไรคือความหมายแท้จริงของคำว่า ‘ทาม’

มรดกป่าทาม

ตำบลดอนแรดมีพื้นที่ทามประมาณ 30,000 ไร่ ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นลูกคลื่นที่ลุ่มและที่ดอนสลับกัน ความยาวพื้นที่ 12 กิโลเมตร ความกว้าง 4 กิโลเมตร อยู่บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล คำว่า ‘ป่าทาม’ จึงหมายถึงพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง คู่กับ ‘ป่าบุ่ง’ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม มีลักษณะเป็นแอ่งหรือบึง

ป่าทามในพื้นที่ตำบลดอนแรดผ่านการบุกเบิกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ราวปี พ.ศ. 2440-2449 เมื่อเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำ การใช้ทรัพยากรในช่วงแรกจะเป็นการบุกเบิกพื้นที่ในเขตทุ่ง พรรณไม้ที่สำคัญสมัยป่าทามยังอุดมสมบูรณ์ เช่น ตะเคียน หว้า ซาด มัง ทม พอก ยาง (งานวิจัยของบุญระบุว่า เคยมีต้นยางใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 4-5 คน เข้าไปนั่งกินข้าวได้) เป็นไม้รุ่นแรก ส่วนในที่ลุ่มจะมีไม้พุ่มหนาทึบ จำพวกเบ็นน้ำ หำอีปู่ หูลิง เสียว ลุมพุก ถม (ทำแอกไถนา) หวาย เนียมช้าง เครือตาไก้ เครือตาปลา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น นกยูง ไก่ป่า จิ้งจอกป่า กระต่าย อีเห็น หมูป่า เสือแมว ลิง ลิงลม จระเข้ รวมทั้งสัตว์น้ำ ปู ปลา ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ผ่านคำพูดที่ว่า “ปลาแต่ก่อนหากินตามฮองที่ควายนอน ฮองหนึ่งได้ปลาเป็นตะกร้า”

จนในช่วงปี 2469-2475 เกิดทางรถไฟสายนครราชสีมา-สุรินทร์ และมีพ่อค้าชาวจีนมาตั้งฉางรับซื้อข้าวริมทางรถไฟเพื่อนำไปขายที่นครราชสีมาซึ่งเป็นตลาดค้าข้าวแหล่งใหญ่ก่อนจะลำเลียงต่อไปยังกรุงเทพฯ จวบถึงปี 2475 เกิดภัยแล้งรุนแรง ชาวบ้านเพาะปลูกในนาทุ่งไม่ได้ผล จึงเริ่มมาบุกเบิกทำนาทาม โดยอาศัยการเพาะปลูกตามกุดหนอง มีการจับจองหนองในการทำเกษตรกรรมและเป็นกรรมสิทธิ์สืบทอดเป็นมรดกกันมา โดยใช้วิธีที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมายไฮ่ให้ขอด (ผูก) หญ้าคา หมายนาให้ขอด (ผูก) หญ้าแฝก ผู้ใดแฮกก่อนได้ก่อน”

ลุถึงปี 2500 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏ มีการถางป่าในเขตทุ่งจนไม้ใหญ่เหลือน้อย สัตว์ป่าลดลง เพราะเริ่มมีปืนแก๊ป ส่วนไม้ใหญ่ในเขตทามเป็นไม้รุ่น 2 เช่น ต้นหว้า ต้นชาด นอกจากนั้นยังมีไม้พุ่มซึ่งเป็นไม้ขึ้นเร็ว ยิ่งตัดยิ่งแตกกอขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ

จากนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ประกอบกับการสร้างเขื่อนต่างๆ ในช่วงต้นน้ำ ทำให้โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมไหลหลากลดความรุนแรงลง ลักษณะการจับจองและบุกเบิกพื้นที่ในทามเริ่มมีมากขึ้น เพราะนอกจากการทำนาแล้ว ยังมีการปลูกปอด้วย ชาวบ้านเล่าว่าจะเริ่มจากการฟันไม้เล็กๆ ได้แก่ ป่าหูลิง เนียมช้าง เครือตาไก้ เครือตาปลา เป็นต้น ฟันป่าแล้ว ‘จุดสุม’ (เผา) ช่วงเดือนสาม ฟันป่าทุกวันด้วยตนเอง และ ‘หาแขก’ (ลงแขก) ลงฟันผลัดกันได้ปีละ 3-4 ไร่ ตรงไหนที่มีโนนน้ำขังจะขุดปรับบริเวณขอบเพื่อปลูกข้าวหยอด

กระทั่งปี 2521 เกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ ในปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการปลูกข้าวในเขตทุ่ง จากเดิมปลูกเพื่อกินเปลี่ยนเป็นปลูกเพื่อขาย มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การบุกเบิกพื้นที่ทามในช่วงนี้ยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก และการใช้พื้นที่ก็ยังเป็นการใช้บริเวณใกล้แหล่งน้ำคือ กุด หนอง

หลังยุคขยายแปลงนา มาจนถึงปี 2527 มีการบุกเบิกถางป่าบุ่งป่าทามมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคการผลิตเพื่อขาย นาในเขตทุ่งชาวบ้านจะปลูกข้าวหอมมะลิไว้เพื่อขาย ส่วนเขตทามยังคงมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่เอาไว้บริโภคในครอบครัว จนมีคำกล่าวว่า “นาบ้านเอาไว้ขาย นาทามเอาไว้กิน”

ปี 2528-2535 เริ่มมีรถไถใหญ่เข้าไปรับจ้างไถบุกเบิก พื้นที่ถูกปรับระดับยกร่องเป็นคันนา มีการจับจองครอบครองอย่างถาวร มีการทำนาในเขตทามมากขึ้น ต่อมาบางพื้นที่เริ่มมีการนำข้าวมะลิ 105 ข้าว กข. เข้าไปปลูกในเขตทามบ้าง เพราะราคาดีกว่าข้าวพันธุ์พื้นเมือง พบมากทางเขตอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ผักพื้นบ้านในเขตทาม ชาวบ้านเอามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ รายได้ดี ส่วนผักกระเฉดน้ำ ปลูกตามที่โนนและในกุด เป็นรายได้เสริม

ในช่วงนี้การบุกเบิกพื้นที่หรือจับจองที่ใหม่เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะทุกพื้นที่ล้วนแล้วแต่มีเจ้าของ และมีการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง

‘ป่าบุ่งป่าทาม’ ทางคนและทางควาย

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำมูลตอนกลางได้อาศัยพึ่งพา เก็บอาหาร สมุนไพร และของป่านานาชนิด เพื่อดำรงชีวิตประจำวันมานานนับร้อยปี และอาศัยพื้นที่ที่เป็นดินตะกอน อุดมด้วยธาตุอาหารในการทำเกษตรเลี้ยงชีพ พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจึงเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ชุมชนที่พึ่งพาอาศัยป่าบุ่งป่าทามมาแต่อดีตจะตระหนักในคุณค่าของป่าบุ่งป่าทามและการใช้ประโยชน์ เข้าใจในระบบธรรมชาติและความยั่งยืนของทรัพยากรที่จะสืบทอดถึงลูกหลานเป็นอย่างดี

ในอดีตจนถึงก่อนปี 2520 ชาวบ้านตำบลดอนแรดเลี้ยงวัวควายทั้งในพื้นที่ทุ่งและพื้นที่ทาม พื้นที่ทุ่งจะใช้สำหรับเลี้ยงวัวควายในฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนและฤดูน้ำหลากพื้นที่ทามจะถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับชาวบ้านกำลังทำนาทุ่ง พื้นที่ทามจึงทำหน้าที่รองรับวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้

ชีวิตประจำวันของการเลี้ยงวัวควาย ก่อนฟ้าสางชาวบ้านจะตื่นขึ้นมาหุงหาอาหาร หลังกินข้าวเสร็จแล้วก็จะไล่ต้อนวัวควายออกจากคอก เสียงกระดิ่ง กะโหล่ง และขิด ที่คล้องคอวัวควายก็จะเริ่มส่งเสียงเป็นสัญญาณว่าวัวควายเริ่มเดินออกจากหมู่บ้าน เพื่อออกหากินผ่านทุ่งไปจนถึงทาม

ในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พื้นที่ทุ่งอยู่ในระหว่างการทำนา การเก็บเกี่ยวผลผลิตยังไม่เสร็จ เจ้าของวัวควายต้องดูแลวัวควายของตัวเองอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ไปทำลายพืชผลทางการเกษตรเสียหาย คนเลี้ยงวัวควายจะไล่ต้อนวัวควายลงสู่ทาม ไม่ให้หยุดแวะกินหญ้าในทุ่ง หากวัวควายผู้ใดไปทำลายพืชผลเสียหายจะโดนตักเตือนหรือมีการปรับเป็นเงิน ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ เจ้าของต้องขายวัวควายตัวที่ไปสร้างความเสียหายเพื่อนำเงินมาเสียค่าปรับ

เมื่อตะวันเคลื่อนบ่ายคล้อย ฝูงวัวควายในทามก็เริ่มบ่ายหน้าขึ้นสู่ทุ่ง เตรียมตัวกลับสู่หมู่บ้าน เจ้าของวัวควายจะนับจำนวนวัวควายของตนเองว่าครบหรือไม่ โดยการเรียกชื่อวัวควายตามที่เจ้าของตั้งไว้ โดยจะนิยมตั้งชื่อให้เป็นสิริมงคลกับตัวเอง และตั้งชื่อให้คล้องจองกันเพื่อความสะดวกในการนับจำนวน ชื่อที่ชาวบ้านนิยมตั้งให้แก่วัวควาย เช่น คำ ค้ำ คูน มูน มัง เงิน ทอง และแก้ว

นอกจากเรียกชื่อแล้ว ชาวบ้านจะทำเครื่องส่งสัญญาณเสียง เช่น 1) เกราะ ทำจากไม้ยูง ไม้ประดู่ หรือไม้แดง 2) เขาะ ทำจากไม้ไผ่ 3) กะโหล่ง ทำจากเหล็กหรือทองเหลือง 4) กระแหล่ง ทำจากทองเหลืองหรือเหล็ก แต่มีขนาดเล็กกว่ากะโหล่ง 5) กระดิ่ง ทำจากทองเหลืองมีขนาดเล็กที่สุด โดยจะใช้คล้องตามคอวัวหรือควาย ตัวที่เป็นจ่าฝูงหรือหัวหน้าฝูง สัญญาณเสียงที่คล้องตามคอวัวควายมีไว้เพื่อติดตามดูว่า วัวควายของตนกำลังหากินอยู่ที่ไหน และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน เพื่อให้เจ้าของวัวควายได้ติดตามได้ง่ายขึ้น

การฟังเสียงเกราะ เขาะ กะโหล่ง กระแหล่ง และกระดิ่ง ชาวบ้านจะปีนต้นไม้หรือยืนบนที่สูงแล้วฟังเสียงสัญญาณจากอุปกรณ์ที่ห้อยคอวัวควาย ก็จะรู้ได้ว่าวัวควายของตนกำลังหากินอยู่ที่เนินไหน และกำลังมุ่งหน้าไปทิศทางใด

การมาเยือนของเขื่อนราษีไศล

ชาวบ้านตำบลดอนแรด บางครอบครัวจะมีการจัดสรรพื้นที่ทามส่วนหนึ่งสำหรับทำการเกษตร อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับเลี้ยงวัวควายในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน เมื่อไล่ต้อนวัวควายลงไปเลี้ยงในทามก็จะไม่ไล่ต้อนกลับคืนสู่บ้าน แต่จะทำคอกเลี้ยงวัวควายอยู่ในทามให้นอนอยู่ในทามทั้งเจ้าของและวัวควาย เมื่อถึงช่วงเดือนกันยายน หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในทามเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของวัวควายจะตัดสายสนตะพาย เหลือเพียงกระดิ่ง กะโหล่ง และขิด เท่านั้น และจะปล่อยวัวควายให้หากินอยู่ในทาม นี่คือที่มาของคำว่า ‘ควายทาม’ เพราะเจ้าของปล่อยไว้ในทามเป็นเวลานาน ทำให้วัวควายจะต้องดูแลตัวเองอยู่ในทามตามลำพัง ควายทามจึงมีนิสัยที่ดุร้าย คนที่สามารถเข้าใกล้ได้ก็เฉพาะเจ้าของเท่านั้น ส่วนเจ้าของเมื่อปล่อยวัวควายหากินอยู่ในทามแล้ว ตนเองก็จะกลับขึ้นทุ่งมุ่งสู่บ้านเพื่อเตรียมตัวทำการเกษตรในทุ่ง คือทำนาทุ่ง ปลูกปอต่อไป ประมาณ 3 วัน หรือ 5 วัน ก็จะกลับลงไปดูวัวควายที่ปล่อยอยู่ในทามสักครั้งหนึ่ง

สภาพป่าทามจากดั้งเดิมมาจนถึงวิถีการเลี้ยงวัวควาย สะท้อนให้เห็นภาพของการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาระหว่างป่าทาม คน และควาย กระทั่งเมื่อมีการสร้างเขื่อนราษีไศลขึ้นในปี พ.ศ. 2541-2542 วิถีชีวิตเหล่านี้จึงหายไป ไม่มีทาม ไม่มีควาย ไม่มีควายจึงไม่มีคน

“งานวิจัยนี้เดิมทีผมไม่ได้เข้าร่วมวิจัยตั้งแต่ต้น ก่อนหน้านี้ผมทำงานเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล เรียกร้องค่าชดเชย ทวงถามความเป็นธรรม ชาวบ้านก็เดินเผชิญหน้าอย่างเดียว แต่พอไปเจอทางตันในเวทีเจรจา เราไม่มีข้อมูลไปสู้กับรัฐ ไม่มีข้อมูลไปอธิบายกับเขา ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า ทำอย่างไรถึงจะสู้เขาได้ ทำอย่างไรถึงจะมีข้อมูลไปอธิบายกับสาธารณะ กับสังคม กับหน่วยงานของรัฐ ให้เขาเชื่อเรา ให้เขาเห็นด้วยกับเราอย่างมีเหตุมีผล ผมจึงอาศัยกระบวนการทำวิจัยของชาวบ้านเป็นฐานความรู้” บุญมีเล่าถึงจุดเริ่มก่อนการลงมือทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นวี่แววชัยชนะของประชาชนเลย เห็นแต่คำมั่นสัญญาเหมือนยาหอมที่ชาวบ้านถูกหว่านโปรยมาตลอด คำว่ายาหอมกับยารักษามันต่างกัน ยาหอมไม่นานก็จืดจาง คำมั่นสัญญาระหว่างรัฐกับชาวบ้านก็ไม่ต่างกับยาหอม ยาดม ยาหม่อง ยาทาเท่านั้นเอง”

จากโจทย์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่สูญเสียไปหลังเขื่อนราษีไศลถูกสร้างขึ้น บทเรียนจากการเดินขบวนเรียกร้อง ทำให้บุญมีมองย้อนกลับไปถึงวันแห่งการต่อสู้กับอำนาจรัฐ และวันแห่งความสำเร็จเมื่อพี่น้องที่ได้รับผลกระทบร่วมกันต่างได้รับเงินชดเชย

“เราเดินขบวนกันตั้งแต่ปี 2537-2539 พอปี 2540 ได้รับค่าชดเชยมาส่วนหนึ่ง ตอนนั้นเงินสามล้านสี่แสนแปดหมื่นสี่พันบาท โอ้โห! เยอะมาก ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่เคยชนะมากมายขนาดนี้ พี่น้อง 1,154 ราย ได้รับค่าชดเชย ดูเหมือนว่าลุ่มน้ำทั้งลุ่ม ป่าทามทั้งป่าทาม เรานี่สุดยอด สุดท้ายพอเรามองลึกลงไป เราไม่ได้ชนะเลย ปัญหาก็ยังเรื้อรังอยู่ แล้วพอเราไปเจรจาเรามุ่งอย่างเดียวคือ เงิน”

เงินกลายเป็นคำตอบในการมุ่งหมายเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เรียกว่าสิทธิของประชาชน สิทธิของชุมชน จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสได้ค้นหาคำตอบผ่านงานวิจัย คำตอบที่นำไปสู่คำถามที่แท้จริงของคำว่า ‘สิทธิ’ จึงไม่ได้หมายถึงเงินเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งที่จะส่งต่อให้ลูกหลานได้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ระหว่างคนกับป่าทาม ระหว่างควายกับคน ระหว่างรัฐและประชาชน

งานวิจัยท้องถิ่นที่ไปไกลมากกว่าคำว่าเงินจึงเริ่มต้น

“ปี 2545 ศูนย์ร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ หรือ GRID เขาบอกว่าหน่วยงาน สกว. กำลังสนใจเรื่องการต่อสู้เคลื่อนไหว อยากแก้ปัญหาให้กับชุมชน ให้ชาวบ้านได้ทำวิจัยเอง ใช้เอง พัฒนาเอง เขาเลยมาชักชวนว่า เราอยากจะทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นไหม”

แต่การจะเริ่มต้นทำวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย บุญมีตระหนักดีว่า การพลิกฟื้นป่าทามผ่านงานวิจัยเพียงลำพังคนเดียวย่อมไม่มีวันสำเร็จ บุญมีจึงเริ่มงานของตนด้วยการรวบรวมผู้คนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีปัญหาขัดแย้งทางความคิดจากกรณีการสร้างเขื่อน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องขึ้นกับการสร้างความเข้าใจ

บุญมีไม่ได้ใช้งานวิจัยนำในการพูดคุย แต่ใช้วิธีจับเข่าคุยประสาพี่น้อง ถามไถ่ด้วยความห่วงใย โดยหัวข้อใหญ่ที่ชวนชาวบ้านพูดคุยคือ วิถีควายทามที่เปลี่ยนแปลง

“ตอนนั่งคุยกับชาวบ้าน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องงานวิจัยเลย เราเพียงถามไถ่กันกันว่าเป็นอย่างไรวัวควายทุกวันนี้ เป็นอย่างไรสารเคมีทุกวันนี้ เป็นอย่างไรบ้างมูนมัง (มรดก) ยังขายควายส่งลูกเรียนได้อยู่ไหม ทำให้เขามองเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้น ที่จริงเขาก็ไม่อยากคุยเท่าไหร่หรอก เพราะหัวหน้ากลุ่มเขาจะไม่พอใจ เราก็บอกว่างานวิจัยนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับกลุ่มของเขา เราจะทำเป็นครอบครัว ทำเป็นชุมชน ช่วยกันเก็บข้อมูล”

หลังพูดคุยทำความเข้าใจกันกับชาวบ้านในพื้นที่ หลายคนสะท้อนเรื่องราวให้ฟังว่า ในอดีตยุคพ่อยุคแม่นั้นอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน มีข้าวเต็มยุ้ง ปลาแดกเต็มไห วัวควายเต็มคอก เงินเต็มถุง ไม่อดไม่อยาก ไม่ขาดไม่แคลน แต่ในวันนี้ วัวควายไม่มี ปลาแดกหมดไห เงินทองต้องกู้ยืม เต็มไปด้วยหนี้สิน

เช่นนั้นแล้วจะฟื้นคืนอย่างไร ให้ยุคสมัยซึ่งครั้งหนึ่งข้าวเคยเต็มยุ้ง ปลาแดกเต็มไห กลับคืนมา

“ถามว่าเราจะฟื้นอะไรก่อน? ผมก็ถามกลับว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเลี้ยงควายทำไม เลี้ยงไว้เป็นแรงงาน เลี้ยงไว้เป็นมูนมัง เป็นกระปุกออมสินประจำบ้าน ธนาคารประจำครัวเรือน เป็นโรงงานปุ๋ยเคลื่อนที่ ชาวบ้านก็เริ่มมองเห็นว่า เฮ้ย! วันนี้วัวควายจะต้องกลับมา อย่างน้อยก็ได้เอาขี้มันไปใส่ผัก พอหน้าแล้งเราก็เอาไปใส่นา แล้ววัวควายก็มีราคา”

หลังจากรวบรวมกำลังคนที่มองเห็นเป้าหมายปลายทางเดียวกันขึ้นเป็นทีมวิจัย โจทย์แรกของบุญมีก็คือจะพลิกฟื้นวิถีทามกลับคืนมาอย่างไร คำตอบนั้นอยู่ที่ควาย

“เรานึกถึงควายที่เขาเลี้ยงอยู่ในทาม แม้มีเขื่อน แม้น้ำจะท่วม ควายก็ต้องอยู่ได้ ทามต้องอยู่ได้ เราจึงจะอยู่ได้ เราต้องต่อรองกับนโยบายรัฐเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน ทำอย่างไรให้สอดคล้องกับวิถีควายทาม สุดท้ายก็เกิดพลัง พอเกิดพลัง อำนาจของชุมชนก็ตามมา”

นี่คือจุดเริ่มต้นจากควาย

วัวพันทาง

การเลี้ยงวัวควายในอดีตเป็นการเลี้ยงเพื่อใช้งาน คือไถนาเทียมเกวียน หรือเป็นมูนมัง (มรดก) ให้กับลูกหลาน จะมีการซื้อขายกันบ้างก็เพียงภายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงเท่านั้น แต่เมื่อประชากรวัวควายมีจำนวนมากเกินกว่าความต้องการ อีกทั้งคนอีสานไม่นิยมฆ่าวัวควายเป็นอาหาร เพราะถือเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อคน จึงมีการนำวัวควายไปขายภาคกลางซึ่งได้ราคาสูงกว่า และเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของครอบครัวคนแถบทุ่งกุลาร้องไห้

ในอดีตวัวควายที่เลี้ยงในภาคอีสานเป็นพันธุ์พื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยขี้แก่น โดยมี ‘นายฮ้อย’ หรือพ่อค้าวัวควายนำไปเร่ขายที่ภาคกลาง และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับวัวภาคกลางซึ่งตัวโตและใหญ่กว่า โดยวัวไทยขี้แก่น 5-7 ตัว จะแลกกับวัวภาคกลางได้ 1 ตัว คนอีสานจะซื้อมาเป็นพ่อพันธุ์และเรียกว่า ‘วัวแม้ว’ หรือ ‘วัวฮาด’ เมื่อนำมาผสมพันธุ์กับวัวพื้นบ้านจึงเกิดวัวพันธุ์ใหม่เรียกว่า ‘พันธุ์ลูกครึ่ง’ แต่ปัญหาก็คือเลี้ยงยาก โตช้า ไม่ทนทานต่อโรค พยศ และเกเร จึงเป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ทุ่งกุลาฯ สาเหตุเพราะชาวบ้านไม่รู้จักสายพันธุ์ดีพอ

เหลือเพียงกลิ่นโคลนสาบควาย

ก่อนมีการสร้างเชื่อนราษีไศลในปี พ.ศ. 2536 มีการบุกเบิกพื้นที่ทุ่ง พื้นที่โนน เพื่อทำการเกษตรก่อนจะขยายลุกลามไปสู่พื้นที่ทาม จากเดิมใช้แรงงานคนถางป่าถางไร่ ต่อมามีการใช้รถแทรคเตอร์และเครื่องจักร ทำให้ที่โนนและหนองในเขตทุ่งหายไปอย่างรวดเร็ว เช่น โนนหนามแท่ง โนนอีบุญมา โนนโมง โนนหนองเกาะ

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทุ่งและทามส่งผลให้วัวควายในตำบลดอนแรดลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย อีกทั้งวิถีการทำนาของชาวบ้านเองก็เปลี่ยนไป จากเดิมใช้ควายไถนามาเป็นการใช้รถไถเดินตามแทน เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานวัวควายแล้ว ชาวบ้านจึงเลี้ยงไว้เพื่อขายเป็นหลัก

ทว่าปัจจัยสำคัญคือ เมื่อเขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2536 และเริ่มมีการเก็บกักน้ำ ป่าทามที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยของวัวควายอันมีคุณค่ามหาศาลของชาวบ้านในเขตตำบลดอนแรดถูกน้ำท่วมสูง วัวควายที่เคยเลี้ยงในทามต้องถูกต้อนขึ้นไปบนทุ่งที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้การเลี้ยงวัวควายยากลำบากมากขึ้น ชาวบ้านต้องใช้รถเข็นเข็นฟางจากบ้านไปให้วัวควายเป็นระยะทาง 2-3 กิโลเมตร เพราะหญ้าฟางในโนนทุ่งไม่เพียงพอ ยิ่งเมื่อพื้นที่ป่าทามถูกน้ำท่วมขยายวงมากขึ้น สุดท้ายชาวบ้านจึงจำเป็นต้องขายวัวควาย

งานวิจัยของบุญมีระบุว่า ในช่วงนี้ชาวบ้านต้องขายวัวควายด้วยความจำใจในราคาที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อลดภาระของตนเอง จากจำนวนวัวควายที่เคยเลี้ยงเป็นฝูง เหลือเพียงครัวเรือนละไม่กี่ตัว ไม่มีการเลี้ยงตามทุ่งเหมือนก่อน แต่เปลี่ยนมาเลี้ยงแบบขังคอกและหาอาหารเสริมให้กินแทน การใช้แรงงานวัวควายลดลงอย่างเห็นได้ชัด บางครอบครัวถึงกับต้องอพยพไปขายแรงงานที่อื่น เทคโนโลยีเข้าสู่ชุมชน เสียงรถไถนาดังขึ้นในโนนและในทุ่งแทนเสียงกระดิ่ง กะโหล่ง และขิดที่แขวนบนคอวัวควาย โรงเรือนหรือคอก กลายเป็นโรงสำหรับจอดรถไถ

“ป่าทามบ่มี น้ำท่วมไปเบิ๊ด สิเอาวัวควายไปเลี้ยงบ่อนได๋” เสียงใครบางคนในหมู่บ้านเล่าด้วยความน้อยใจ บางคนบอกว่า “รถไถนามันโก้ ทันสมัย ขนของได้หลาย บ่ต้องเลี้ยงเหมือนวัวควาย”

งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า เมื่อพื้นที่ป่าทามหดหาย และมีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาแทนที่ การเลี้ยงวัวควายจึงเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเลี้ยงพันธุ์ไทยพื้นบ้านมาเป็นเลี้ยงวัวตัวใหญ่ จากเดิมเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงเพื่อขาย โดยหันมาเลี้ยงวัวพันธุ์ใหญ่ อย่างบราห์มัน โซโลเล่ ฮินดูบราซิล เพราะเห็นว่ารูปร่าง สีสัน ลักษณะท่าทางดี จนลืมพันธุ์ไทยขี้แก่นและไทยดง ซึ่งเคยอยู่คู่กับป่าทามมาช้านาน

ลักษณะที่ดีของวัวควาย

  • หนังหนา ส่าใหญ่ ผิวเป็นมัน ขนเรียบเกลี้ยง มีโครงสร้างใหญ่ เลี้ยงแล้วอ้วน
  • เขากาง โคนหางใหญ่
  • ปากใหญ่ ฟันดี กินหญ้ากินฟางดี
  • เล็บมนเสมอกัน เหมาะสำหรับใช้งานและเดินทางไกล และทนทานต่อโรคเท้าเปื่อย
  • ขาหลังตรง เป็นลักษณะของวัวควายที่แข็งแรง
  • ตะคุบสูง คือส่วนปลายสุดของกระดูกสันหลัง ทำให้มีรูปร่างเสมอกันทั้งด้านหน้า ด้านหลัง
  • หน้าโหนก เขาตกซ้อน คือเขาโค้งออกด้านหลังและสะบัดมาด้านหน้า เป็นลักษณะของวัวควายนิสัยดี ไม่เกเร
  • พวงนมใหญ่ หากมีลูกจะเลี้ยงลูกได้ดี มีน้ำนมมาก
  • อวัยวะเพศใหญ่ (ตัวเมีย) หากตั้งท้อง ลูกในท้องจะสมบูรณ์ ตัวใหญ่ เวลาคลอดอวัยวะเพศจะไม่ฉีกขาด มดลูกไม่ทะลัก หรือหลุดออกมาด้านนอก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
  • ลูกอัณฑะใหญ่เสมอกัน ทำให้มีน้ำเชื้อมาก เหมาะที่จะเป็นพ่อพันธุ์
  • หางยาวถึงพื้น เป็นลักษณะที่สวยงามของวัวควาย และมีประโยชน์สำหรับไล่แมลงที่มารบกวน

ลักษณะที่ไม่ดีของวัวควาย

  • ตีนซาง หางดอก หมายถึง เล็บขาว หางขาว เป็นลักษณะที่ไม่ดี ไม่เหมาะที่จะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ นายฮ้อยถือว่าเป็นกาลกิณี ไม่นิยมซื้อขาย หรือนำมาเลี้ยง
  • ลูกอัณฑะเล็ก บ้องลึงค์ยาน ไม่เหมาะที่จะเป็นพ่อพันธุ์ น้ำเชื้อน้อย
  • ขาหลังไม่ตรง เล็บเท้าไม่เสมอ เป็นวัวควายที่ไม่แข็งแรงและเดินทางไกลไม่ดี เป็นโรคเท้าเปื่อยได้ง่าย
  • ปากเล็ก ฟันห่าง กินหญ้ากินฟางไม่ดี
  • เขาตู้ (คันซิง) หรือเขาตู้สักสุ่ม หมายถึง วัวควายที่มีเขาโค้งงอไปด้านหน้า ตลาดไม่นิยม มีนิสัยพยศ อาจทำร้ายตัวเองจนเป็นแผล และดูแลรักษายาก
  • กระดูกข้างหลอด หมายถึง กระดูกซี่โครงซี่สุดท้ายสั้นไม่เสมอกัน เป็นโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ เลี้ยงแล้วไม่อ้วน
  • วัว 3 นม 5 นม เป็นลักษณะที่เลี้ยงแล้วไม่ดี เป็นกาลกิณี นายฮ้อยไม่นิยมเลี้ยง แต่ไม่เป็นปัญหาในการซื้อขาย

กลับคืนบ้านเกิด

วิถีคน วิถีควาย เริ่มหายไปเมื่อมีเขื่อน แต่ป่าทามยังคงอยู่แม้จมน้ำ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 มีมติคณะรัฐมนตรีให้เปิดเขื่อนราษีไศล น้ำที่เคยท่วมจึงเริ่มลด ป่าทามเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้น หากแต่ป่าที่ไร้ควาย-คน ก็มีสภาพเป็นเพียงป่าที่ไร้จิตวิญญาณ

งานวิจัยของบุญมี ไม่เพียงแต่ต้องการทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่หายไปและจะฟื้นกลับคืนมาได้อย่างไรเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า วิถีชีวิตควายทามนั้นสร้างความยั่งยืนได้

“เมื่อก่อนพื้นที่ป่าทามถูกน้ำท่วมเกือบหมด แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเราได้ประชุมร่วมกับเขา ถ้าเมื่อไหร่เขาจะกักน้ำในเขื่อน ก็ต้องดูว่าจะกระทบกับอะไร ไม่กระทบกับอะไร ชาวบ้านอยู่ได้ไหม แล้วเราก็ค่อยๆ ตั้งรับปรับตัว” บุญมีเล่าถึงวิธีบริหารจัดการน้ำที่ชาวบ้านควรเข้าไปมีส่วนร่วม

“ผมอยากสร้างงานวิจัยเพื่อติดอาวุธทางปัญญา ดีกว่าก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้เหตุผล ไร้ทิศทาง เมื่อก่อนเราเคยยกขบวนไปนอนหน้าทำเนียบ อากาศร้อน ฝนตก รถติด คนด่า วันนี้เรามานั่งทบทวนว่า ในเมื่อบ้านเราก็มี นาเราก็มี ควายเราก็มี ครอบครัวเราก็มี เรามานอนตรงนี้เพื่ออะไร เพียงเพื่อเงินค่าเยียวยาใช่ไหม แล้วเงินนั้นก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด”

จากคำถามในใจที่นำไปสู่การแผ้วถางสมรภูมิสู้รบใหม่ที่บุญมีเรียกว่า เป็นการสร้างสมรภูมิทางความคิด คือการย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าทุกการเคลื่อนไหว ทุกการเรียกร้องนั้น จำเป็นเพียงใดที่ต้องรอให้ภาครัฐเท่านั้นมาแก้ไข ในเมื่ออำนาจนั้นอยู่ที่คน อยู่ที่ควาย อยู่ที่ทาม แม้รัฐจะมีอำนาจ แต่เมื่อกลไกลรัฐไม่ตอบสนอง ชาวบ้านจึงไม่อาจมุ่งหวังจากรัฐเพียงฝ่ายเดียวได้

“อำนาจอยู่ที่เรา อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น อำนาจอยู่ที่พื้นที่ โจทย์ใหญ่อยู่ตรงนี้ ต้นตอปัญหาอยู่ที่นี่ เราต้องกลับมาฟื้นฟูที่นี่ก่อน ข้าวต้องคืนนา ปลาต้องคืนวัง คนต้องคืนกลับบ้าน นี่คือถิ่นเกิด วันนี้มีทรัพยากรพร้อมแล้ว แล้วชาวบ้านล่ะพร้อมจะกลับมาหรือยัง”

เมื่อทามเริ่มโผล่พ้นบาดาล หลังจมน้ำเป็นเวลานานหลายปี โนนทามเริ่มมีเสียงเกราะคอควาย คนในชุมชนมุ่งหน้ากลับคืนสู่ทามด้วยความดีใจ พ่อใหญ่แม่ใหญ่พากันลงทาม หาอยู่หากิน ความมีชีวิตชีวาทั้งทาม คน ควาย หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

คุณค่าป่าทาม

‘ทาม’ คือ พื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกบริเวณที่ราบต่ำจากชุมชน เป็นรอยต่อระหว่างทุ่งกับแม่น้ำมูล ทาม ประกอบไปด้วยภูมิสัณฐานหลากหลาย เช่น โนน คือที่สูง คุย คือแนวสันโนนกับร่องน้ำ มาบ คือพื้นที่ราบต่ำริมบึง หรือกุดขนาดใหญ่ เป็นต้น ในพื้นที่ทามยังมีแหล่งน้ำกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ประเภท กุด หรือบึง แหล่งน้ำขนาดกลางประเภท หนองน้ำ แอ่งน้ำ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากความหลากหลายด้านภูมิสัณฐาน ทามยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีพันธุ์พืชมากกว่า 118 ชนิด ส่วนมากเป็นพืชที่มีความทนต่อน้ำท่วมขังได้นาน และเป็นไม้พุ่มต่ำซึ่งมีอยู่อย่างหนาแน่น มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่มากกว่า 93 ชนิด มีนก แมลง และสัตว์ป่า ใช้ชีวิตอยู่ในทามจำนวนกว่า 85 ชนิด การดำรงอยู่ของสัตว์ป่าทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ล้วนสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทามได้อย่างดี

ความสำคัญต่อระบบนิเวศ

  • ชะลอการไหลแรงของกระแสน้ำในช่วงฤดูฝน โดยพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา มีอาณาเขตลุ่มน้ำมูลกว้างใหญ่ถึง 10 จังหวัดในภาคอีสาน จำนวน 3.5 ล้านไร่ เมื่อปริมาณน้ำฝนล้นเกินจากการดูดซับของดิน น้ำจะไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำมูล ทำให้แม่น้ำมูลต้องรองรับปริมาณน้ำจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพทางกายภาพที่มีทั้งโนน หนอง และร่องน้ำ รวมทั้งมีพันธุ์พืชที่เป็นไม้พุ่มต่ำ ได้ทำหน้าที่ชะลอการไหลของน้ำ ลดความแรงลง ทำให้พื้นที่ทำกินและชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำมูลเสียหายน้อยลง
  • รักษาสมดุลระหว่างน้ำผิวดินกับน้ำใต้ดิน ในช่วงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำมูลจะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ทาม บรรดาแหล่งน้ำ กุด หนอง ฮ่อง บึง ก็จะเก็บกักน้ำเอาไว้ โดยมีพันธุ์ไม้ในทามช่วยดูดซับน้ำไว้ในดิน เมื่อถึงฤดูแล้งระดับน้ำจะลดลงจนเหลือน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ประกอบกับต้นไม้จะคายน้ำออกมาตามตาน้ำริมสองฝั่ง (ชาวบ้านเรียกตาน้ำว่า ‘น้ำจั่น’) ฤดูแล้งในพื้นที่ทาม จึงมีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี
  • ช่วยเก็บกักธาตุอาหาร ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะพัดพาหน้าดิน ซึ่งมีธาตุอาหารปะปนมากับกระแสน้ำ ต้นไม้ในทามจะทำหน้าที่เก็บกักธาตุอาหารเหล่านั้นไว้ และยังช่วยกรองสารเคมีที่พัดพามากับน้ำให้เจือจางลงด้วย ดินในพื้นที่ทามจึงมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การทำการเกษตร
  • ช่วยปกป้องรักษาชายฝั่งแม่น้ำ พันธุ์ไม้ในป่าบุ่งป่าทามจะมีลักษณะเป็นไม้พุ่มต่ำ ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้ ในฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากจากที่สูงจะพัดพาทุกสิ่งที่ขวางหน้า แต่พันธุ์พืชในป่าบุ่งป่าทาม เช่น เบ็น (ตะขบป่า) นมวัว ไคร้หางนาค จะทำหน้าที่ยึดเกาะตลิ่งและชายน้ำไม่ให้พังทลายไปกับกระแสน้ำ
  • มีความสำคัญต่อวงจรชีวิตสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะกุ้ง ปู ปลาบางชนิดจะอพยพมาอยู่ในป่าบุ่งป่าทามเป็นระยะเวลาสั้นๆ การเดินทางของสัตว์น้ำเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวัฏจักรของน้ำ ปลาบางชนิดมาพร้อมกับน้ำแรกที่เอ่อท่วมเพื่อมาวางไข่ ทามจึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด

โรงเรียนนายฮ้อย

หมุดหมายต่อไปที่บุญมีและคณะวิจัยมองเห็นคือ การส่งต่อวิถีชีวิตควายทามให้แก่คนรุ่นหลัง ให้คน ควาย ป่าทาม อยู่ร่วมกันได้กับเขื่อน ด้วยเหตุนี้ ‘โรงเรียนเตรียมนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้’ จึงเกิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนในตำบลดอนแรดได้มาใช้พื้นที่ป่าทามร่วมกันด้วยความเข้าใจ

โรงเรียนเตรียมนายฮ้อยเกิดจากแนวคิดของบุญมี โสภัง ที่บอกว่า

“ในเมื่อเขามีโรงเรียนเตรียมทหาร เขามีโรงเรียนเตรียมอุดม เราก็น่าจะมีโรงเรียนเตรียมกับเขาบ้าง เพื่อจะเพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิดให้กับคนในชุมชน จนเกิดเป็นโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย ซึ่งไม่ได้มุ่งค้าขายวัวควาย แต่เรามุ่งที่จะร้อยความคิดคน”

ฮ้อยความคิดคน ฮ้อยภูมิปัญญา ฮ้อยป่า ฮ้อยดิน ฮ้อยน้ำ ให้กลับมาสู่ชุมชนตำบลดอนแรด ภายใต้การฟื้นฟูวิถีชีวิตควายทาม เพื่อฟื้นวิถีชีวิตคน

บุญมีใช้กระบวนการสืบเสาะหาผู้รู้ในเรื่องต่างๆ ที่เรียกว่า ‘เซียน’ หรือ ‘ปราชญ์’ และนำผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นมาเป็น ‘ครูบา’ ถ่ายทอดความรู้ที่ไม่จำกัดแต่เพียงเรื่องราวของควาย แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวของนาทาม สมุนไพร ป่าไผ่ มันแซง หน่อไม้ ที่เคยอุดมสมบูรณ์ กระทั่งความหมายความเข้าใจต่อคำว่า ‘นายฮ้อย’ โดยแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร

“ตอนก่อตั้งโรงเรียน เราเริ่มจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ คนแก่คนเฒ่าที่มีภูมิปัญญา มีความรู้เต็มไปหมด แต่ในหลักสูตรกระทรวงไม่มี ในโรงเรียนไม่มี เราก็เลยตั้งโรงเรียนเตรียมนายฮ้อยขึ้นมา โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เราเรียกว่าครูบา มีทั้งเซียนปลา เซียนผัก เซียนนาทาม เซียนป่า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ความคาดหวังของเราคือ นกต้องคืนฟ้า ไม้ต้องคืนป่า ข้าวต้องคืนนา ปลาต้องคืนวัง คนทามต้องคืนเฮือน เพื่อมาร่วมกันฟื้นฟู”

ฮ้อยคน ฮ้อยความคิด ฮ้อยภูมิปัญญา

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน นับว่าเป็นข้อจำกัดของโครงการวิจัยอย่างมาก เพราะผลพวงจากการสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านเกิดความแตกแยกทางความคิดและแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ระหว่างกลุ่มที่อยากเห็นการพัฒนากับกลุ่มที่ต้องการรักษาทรัพยากร ระหว่างกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยากับกลุ่มที่ไม่ได้รับ

จากประเด็นความขัดแย้งของชุมชน ทีมวิจัย ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมกระบวนการวิจัย จึงได้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ ความพร้อมของชุมชน จนมีข้อสรุปร่วมกันให้มีการจัดตั้ง ‘โรงเรียนเตรียมนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้’ เป็นศูนย์อำนวยการฟื้นฟูจิตสำนึกชุมชน โดยผ่านกระบวนการปฏิบัติการจริงในพื้นที่ เรียนรู้จากของจริง สัมผัสจริง ใช้ประโยชน์ได้จริง

แนวทางการเรียนรู้เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ลูกหลานตำบลดอนแรดให้เกิดจิตสำนึกในความเป็นคนทาม มีความรักต่อทรัพยากรของตนเอง ตลอดจนรู้จักวิธีการฟื้นฟูป่าทาม และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นการเชื่อมร้อยชุมชนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรร่วมกัน แล้วหันกลับมาร่วมมือกันฟื้นฟูพื้นที่ทาม

ฉวี กลีบบัว ผู้เป็นทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้คนปัจจุบัน และเป็นทั้งผู้ต้อนวัวควายไปลงนาทุกย่ำเช้าและย่ำเย็น ได้บอกเล่าภาพความทรงจำจากเมื่อครั้งอดีตเมื่อกว่า 50 ปีก่อนไว้ว่า

“ในอดีตเท่าที่จำความได้ ชีวิตผมสิอยู่กับนากับควายตั้งแต่เด็ก พอเริ่มฮู้จักความก็ไปอยู่กับปู่เฒ่า สมัยนั้นเฮามีเกวียน ความสุขของผมคือได้ไปอยู่กลางทุ่ง ปู่เฒ่ามีควายบ่ต่ำกว่า 70 ตัว เฮามีหน้าที่เอาวัวเอาควายออกมาล่าม ล่ามเสร็จเฮาก็หาหนังสติ๊กออกไปยิงนกอยู่ในทุ่งนานี่แหละ นั่นคือความสุขที่เฮาผูกพัน”

ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลดอนแรดยังคงพึ่งพิงทรัพยากรป่าทาม ก่อเกิดสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น และเมื่อวิถีชีวิตควายทามได้รับการฟื้นฟู ป่าบุ่งป่าทามก็ได้รับการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกันกับบุญมีที่มองว่า แม้บทสรุปของงานวิจัยจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ผูกโยงระหว่างคนกับควายและป่าทาม แต่นอกเหนือจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ความสุขที่แท้จริงของคนทามนั้นคือสิ่งใด

“สิ่งที่ได้จากงานวิจัยคือ ได้สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ได้สลายความขัดแย้ง ดอกผลของงานวิจัยทำให้คนเข้าใจกัน คนเข้าใจงานวิจัย ทำให้ชุมชนตื่นตัวเรื่องน้ำ ป่า ดิน และสนใจปัญหาที่เกิดจากนโยบายรัฐมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า การระเบิดจากภายใน” บุญมีบอก

ทั้งหมดทั้งมวลของงานวิจัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลดอนแรด ภายใต้การนำของบุญมี โสภัง อาจมีความหมายหลากหลายที่ไม่อาจบรรจุถ้อยคำลงได้ในประโยคสั้นๆ แต่หากจะมีสักประโยค มีสักคำจำกัดความที่พอจะเทียบเคียงได้ ประโยคนั้นอยู่ที่คำพูดทิ้งท้ายของบุญมีที่ว่า

“งานวิจัยที่จบลงไปนี้ บทสรุปก็คือ ความกตัญญู แสนซื่อ เหมือนควายทามที่ทั้งซื่อ ทั้งกตัญญู อยู่กับเราอย่างมีความสุข”

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

Photographer

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า