อีกไม่กี่อึดใจก็จะถึงวันชี้ชะตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่…” ดังนั้น หากนับจากการขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งแรกหลังรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ส.ส. พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภา เพื่อส่งคำร้องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องสิ้นสุดสถานภาพแล้วลงจากตำแหน่งนายกฯ เพราะสาเหตุดังกล่าวหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 82 และมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ 2560
แม้จะยังไม่ทราบว่าผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาหน้าไหน แต่หากอิงจากสถิติที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มักได้รับคำตัดสินที่เป็นคุณอยู่เสมอ จนทำให้เขายังคงยึดเก้าอี้ตำแหน่งนายกฯ ได้อย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด
กล่าวได้ว่า หากเครื่องรางของขลังบางอย่างมี ‘พุทธคุณ’ ที่ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย นายกฯ คนที่ 29 ของไทยคนนี้ ก็น่าจะมี ‘ยุทธคุณ’ อะไรสักอย่างที่ทำให้เหนียวแน่นทนทานมาจนถึงปี พ.ศ. 2565 นี้
ยุทธคุณครั้งที่ 1
พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปีเดียวกัน จนในที่สุด เขาได้รับการลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมร่วม 2 สภา ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค จึงร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกฯ หรือไม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งถือเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ จึงถือว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ซึ่งระบุว่า นายกฯ จะต้องไม่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”
ในเดือนกันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า หัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานราชการ เพราะไม่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง หากแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งได้เพราะยึดอำนาจการปกครอง แล้วมีการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แต่งตั้งขึ้น เพื่อบริหารบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยเป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ถือเป็นเจ้าหน้าอื่นของรัฐ และสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้
ยุทธคุณครั้งที่ 2
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นายกฯ และรัฐมนตรีจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเป็นการตรวจสอบมิให้เกิดการทุจริตในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. กลับอนุญาตให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินซ้ำสอง หลังเคยยื่นมาแล้วเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกในปี 2557 โดยอ้างอิงจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีอีก (แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามหากบุคคลนั้นต้องการยื่นหลักฐานต่อ ป.ป.ช. ใหม่)
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอ้างว่าได้ยื่นหลักฐานไปอีกรอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ ป.ป.ช. กลับปฏิเสธที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งเดิม จึงไม่จำเป็นต้องเผยแพร่
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ ป.ป.ช. ระบุว่านายกฯ ไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินอีก เพราะไม่ได้เป็นการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ได้ถูกใช้เป็นหลักฐานเด็ดของพรรคฝ่ายค้านเพื่อใช้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะหากอิงตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 แล้ว
ยุทธคุณครั้งที่ 3
วันที่ 20 สิงหาคม 2562 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงคนหนึ่งยื่นเรื่องให้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำปฏิญาณถวายสัตย์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบถ้วน ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 และละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่ เพราะอาจมีผลให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีหรือการแถลงนโยบาย มีผลโมฆะในทางกฎหมาย
แต่ในเวลาต่อมา ยุทธคุณก็ได้แสดงผลอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากการถวายสัตย์ถือเป็น ‘การกระทำทางการเมือง’ และเป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นใด
ยุทธคุณครั้งที่ 4
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้เปิดประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอาศัยในบ้านพักของทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557
นี่นับเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 184 และมาตรา 186 ซึ่งห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว. หรือ รมต. รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และขัดต่อมาตรา 128 ของกฎหมาย ป.ป.ช. 2561 ซึ่งห้ามมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท รวมไปถึงขัดมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะผ่านศึกซักฟอกด้วยมติไว้วางใจอย่างล้นหลามจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แต่ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านก็ร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัตินายกฯ จากกรณีอยู่บ้านพักฟรี เนื่องจากเป็นไปตาม ‘ระเบียบภายใน’ ของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 เรื่อง บ้านพักรับรองบุคคลสำคัญ โดย ทบ. อ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของ ทบ.
ที่มา
- ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะหัวหน้า คสช. “ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”
- 8 ปี นายกฯ สะดุด ปมไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
- อ่าน 6 เหตุผลคำร้องฝ่ายค้านมัดแน่น “24 ส.ค. 2565” ประยุทธ์ครบ 8 ปี
- ศาลรัฐธรรมนูญ: สำรวจข้อกฎหมาย-ข้อวิเคราะห์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา พล.อ. ประยุทธ์ คดีพักบ้านหลวง
- ปมถวายสัตย์ ไม่ครบ-ขัดรธน. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย