เสรีภาพสื่อ: การนำเสนอข้อเท็จจริงกับเพดานความมั่นคงของรัฐ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ได้จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเสรีภาพสื่อ ประชาชน จะก้าวต่อไป สู้ทิศทางไหน? อย่างไร?’ สืบเนื่องจากที่มีการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลแพ่ง เรื่อง การออกข้อบังคับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 พ.ศ. 2548 ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่งผลให้มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อและประชาชนจำนวนมาก การยื่นฟ้องครั้งนี้นำโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และสื่ออีกหลายสำนัก ผลคือศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและนายกฯ ไม่สามารถออกคำสั่งตามข้อบังคับดังกล่าวได้

เอื้อบุญ จงสมชัย จาก Voice TV และ สันติวิธี พรหมบุตร สำนักข่าวไทย อสมท รับหน้าที่ดำเนินรายการ โดยมีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters, ณขวัญ ศรีอรุโณทัย จาก WAY magazine, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอาวุโส และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ช่างภาพ PLUS SEVEN

ข้อบังคับที่ 29 เนื้อหากำกวม ตีความเหมารวม ลิดรอนเสรีภาพประชาชน 

ฐปณีย์อธิบายว่า ข้อบังคับที่ 29 มีข้อกำหนดว่า หากผู้ใดเผยแพร่ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ทางรัฐบาลจะสั่งการให้ กสทช. ตัดสัญญาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้เผยแพร่ กลุ่มตัวแทนสื่อหลายสำนักจึงมีการยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ 29 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งศาลรับฟ้องและไต่สวนให้ระงับการใช้คำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถใช้ข้อบังคับเพื่อตัดสัญญาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทั้งสื่อมวลชนและประชาชน เพราะคำสั่งศาลหมายความรวมถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 

ข้อบังคับที่ 29 มีปัญหาเนื่องจากมีข้อความที่ค่อนข้างกำกวมและตีความได้กว้าง โดยณขวัญเผยว่า ก่อนการยื่นฟ้อง สมาพันธ์สื่อไทยที่ประกอบด้วยสื่อหลายสำนักเห็นตรงกันว่า ข้อกำหนดดังกล่าวอ้างอิงถึงการปล่อยข่าวปลอม (fake news) ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชน แต่การเขียนข้อบังคับมีประโยคที่กำกวม เช่น ข่าวสารที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ประโยคนี้สามารถตีความได้กว้าง ซึ่งจะส่งผลให้สื่อมีปัญหาในการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ เพราะเส้นแบ่งไม่ชัดเจน เช่น หากต้องนำเสนอข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียชีวิตรายวันจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวหรือไม่ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวขัดกับข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรมีอยู่ตั้งแต่แรก

ธนาพงศ์ชี้ว่า สำหรับสื่อใหม่โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสื่อจำเป็นต้องทำงานอยู่บนโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ต การออกข้อบังคับโดยไม่ได้เจาะจงว่าใครบ้างที่เป็นผู้ปล่อยข่าวปลอมใน IP address เดียวกันจะทำให้การติดต่อสื่อสารทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ได้แม้แต่ในองค์กร ซึ่งปัจจุบันคำว่าข่าวปลอมหรือ fake news ถูกใช้หลากหลายเกินไป ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงข้อมูลบางจุดที่ผิดพลาด ซึ่ง fake news คือการสร้างข่าวเพื่อหลอกลวง การที่ข้อกำหนดตีความได้กว้างจะทำให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเล็กน้อยถูกเหมารวม ทำให้สื่อให้ข้อมูลไม่ได้อีกต่อไป จึงไม่เป็นธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ 

สื่อเก่า-สื่อใหม่ กับวิธีการเคลื่อนไหวที่ต้องเปลี่ยนแปลง 

วันชัยเผยว่า รู้สึกแปลกใจที่มีแต่สื่อรุ่นใหม่ยื่นฟ้องในครั้งนี้ ขณะที่สมาคมสื่อทำได้เพียงออกแถลงการณ์ ทั้งที่ครั้งนี้รัฐบาลละเมิดสิทธิสื่ออย่างมาก วันชัยมีข้อสังเกตว่า สมาคมสื่อหลายแห่งเป็นองค์กรที่มีมานานและบริหารโดยกลุ่มคนเดิมหลายสิบปี สมาคมสื่อเหล่านี้ยึดโยงกับกลุ่มอาชีพอื่นเพื่อสร้างเครือข่ายในแวดวงต่างๆ ทั้งธุรกิจ ราชการ รวมถึง NGOs ดังนั้น เมื่อมีความสัมพันธ์กับหลายกลุ่มทำให้เกิดความเกรงใจและไม่มีระยะห่าง ทั้งที่เดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อให้คนจากหลายฝ่ายสร้างองค์ความรู้ให้กับสื่อ 

นอกจากนี้ วันชัยและฐปณีย์ยังเห็นตรงกันว่า โดยโครงสร้างขององค์กรทำให้สื่อขนาดเล็กประสานงานกันได้ง่ายกว่าองค์กรระดับสมาคมที่มีกระบวนการล่าช้า และมองว่าการออกแถลงการณ์หรือการจัดเสวนาก็เพียงพอแล้ว จึงอาจก้าวไม่ทันสื่อใหม่หรือคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าประเด็นการคุกคามเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องร้ายแรง 

ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อศาลสั่งคุ้มครองแล้ว ฐปณีย์เห็นว่าสื่อต้องใช้เสรีภาพให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อสร้างความปั่นป่วน และนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความรับผิดชอบ ส่วนวันชัยเน้นย้ำว่า สื่อที่อยู่มานานนั้นอยู่ได้เพราะความน่าเชื่อถือ หากสื่อมีความน่าเชื่อถือ สุดท้ายประชาชนก็จะช่วยกันปกป้อง นอกจากนี้สื่อจะต้องฉลาดในการตั้งคำถาม คำถามที่ดีคือการทำการบ้านที่หนัก เพราะเป็นการอาสาถามแทนประชาชนจำนวนมาก หากสื่อทำหน้าที่ได้ดี ถามแทนคนจำนวนมากได้ สื่อนั้นก็จะน่าเชื่อถือมาก

ณขวัญเห็นว่า ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีกฎหมายหลายข้อที่หมิ่นเหม่ต่อเสรีภาพ แต่สุดท้ายแล้วสื่อต้องหาวิธีทำงานเพื่อนำเสนอสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถามคำถามที่ควรจะถาม ตอบคำถามที่ควรจะตอบ และทำงานต่อไปภายใต้ข้อจำกัดในประเทศ

สื่อกับสถานะที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรง

ธนาพงศ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา และดำเนินการฟ้องศาลแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากตำรวจ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ช่วยเหลือเรื่องการฟ้องร้อง เนื่องจากการยิงโดยที่ยังไม่มีเหตุชุลมุนเป็นการจงใจทำร้ายและข่มขู่ให้สื่อกลัว การฟ้องดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ หนึ่ง-ชดเชยค่าเสียหายประมาณ 700,000 บาท สอง-ให้จำเลยกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และสาม-ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองการชุมนุมที่จะมาถึง ผลคือข้อเรียกร้องที่สามถูกยกคำร้องด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง คาดคะเนไม่ได้ ไม่ควรทึกทักว่าจะมีการใช้กำลัง ประเด็นสำคัญในกรณีดังกล่าวคือ ปลอกแขนสื่อที่ถูกกำหนดโดยฝ่ายตำรวจ ซึ่งสื่อจำนวนมากยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทำตามคำสั่งของตำรวจ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีตำรวจใส่ปลอกแขนแฝงมาเป็นสื่อ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการเลือกระหว่างความปลอดภัยในชีวิตและความปลอดภัยในเสรีภาพ 

ฐปณีย์เสริมว่า ปลอกแขนสื่อไม่ใช่หลักประกันความปลอดภัย สื่อทุกสำนักจึงต้องเตรียมสัญลักษณ์ที่ชัดเจนเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการประกาศมาตรการในการควบคุมการชุมนุมอย่างเป็นขั้นตอนตามมาตรฐานสากล จึงต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้ควบคุมการชุมนุมอย่างชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของสื่อและเพื่อความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล สื่อมีสิทธิในการยื่นฟ้องตามกฎหมาย

ประเด็นดังกล่าว วันชัยมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลักสากลทั่วโลก เมื่อเกิดวิกฤติ สิ่งที่ตายก่อนคือความจริง ผู้ที่นำความจริงมาเผยแพร่มักถูกทำร้ายก่อน หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้วมีการใช้ความรุนแรง โดยที่ผู้ก่อความรุนแรงไม่อยากให้คนภายนอกรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือไม่ก็กระทบทั้งหมด จึงไม่แปลกที่ในสถานการณ์สงครามจะมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตจำนวนมาก

เสรีภาพของสื่อ ประโยชน์ของประชาชน 

ฐปณีย์ชี้ให้เห็นว่า การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตแบบเหมารวม นอกจากจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้วยังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งหัวใจความเป็นมนุษย์อีกด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารเพื่อรักษาชีวิตตัวเองจากโรคระบาด หากมีการปิดกั้นจึงเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การยื่นฟ้องครั้งนี้ทำให้ตัวแทนสื่อมองว่าเป็นมากกว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชน คือทำหน้าที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เพิกเฉยต่อความตายของเพื่อนมนุษย์ ถึงแม้การสื่อสารเรื่องโรคระบาดนั้นน่าหวาดกลัว แต่จำเป็นต้องทำเพื่อช่วยรักษาชีวิตซึ่งกันและกัน

สิ่งหนึ่งที่ณขวัญเห็นว่ามีประโยชน์และควรเน้นย้ำคือ เมื่อรัฐบอกว่าข้อมูลข่าวสารเป็นภัยต่อความมั่นคง ควรพิจารณาให้ชัดเจนว่าเป็นภัยต่ออะไร หากเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ การใช้ข้อบังคับเพื่อปิดปากเป็นการป้องกันสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เช่น สถานการณ์โควิดที่มีแหล่งข่าวเป็นแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เป็นข่าวสารที่ควรเผยแพร่และส่งต่อให้ประชาชนเห็นสถานการณ์และปัญหา ข่าวสารเหล่านี้มาจากบุคคล ไม่ใช่สำนักข่าว การกำหนดว่าต้องระวังไม่ให้สิ่งที่พูดเป็นภัยต่อความมั่นคงและมีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สุดท้ายจะส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากรัฐเองก็จะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม การมีคำสั่งคุ้มครองจากศาลจึงเป็นผลดีกับประชาชนอย่างแน่นอน

วันชัยเสริมว่า ทุกวันนี้ข่าวโทรทัศน์มาจากคลิปวิดีโอของประชาชนทั่วไป หากประชาชนบันทึกวิดีโอที่มีผู้เสียชีวิตตามท้องถนนแล้วไม่สบอารมณ์ต่อผู้มีอำนาจ ประชาชนคนนั้นจะถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้น นอกจากจะกระทบเสรีภาพสื่อแล้วยังกระทบต่อชาวบ้านทั่วไปอย่างมหาศาล การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองจึงถือเป็นก้าวที่สำคัญ สิ่งที่รัฐประกาศต้องมีความชัดเจน การเขียนคำกำกวม เขียนให้กว้างเพื่อตีความ เป็นสิ่งที่ต้องสู้กันต่อไป หากศาลมีความยุติธรรมจริง ต้องพาสิ่งเหล่านี้ไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้ได้

วันชัยทิ้งท้ายว่า สื่อเป็นกระบอกเสียงของคนด้อยโอกาส แม้สื่อจำนวนหนึ่งเป็นกระบอกเสียงให้รัฐ แต่ความภูมิใจของคนทำสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในพื้นที่ คือการเป็นกระบอกเสียงให้คนด้อยโอกาส ส่งสารให้คนมีอำนาจรู้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคืออะไร ในขณะเดียวกัน สารที่ส่งออกไปต้องเป็นสารที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่สารที่ปรุงแต่งจากอารมณ์หรือความรู้สึก แต่เป็นเสียงที่มาจากประชาชนหรือคนที่เดือดร้อนจริง เมื่อคนด้อยโอกาสมีมากขึ้นในรัฐบาลปัจจุบัน สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลหันมามองได้จึงเป็นสื่อ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือรับฟังหรือปิดปาก เพราะสิ่งที่สั่นสะเทือนรัฐบาลได้มากที่สุดคือข้อเท็จจริง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะปิดบังหรือกล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในสังคม

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า