จากรายงานในปี 2018 ของ Global Slavery Index ระบุว่า ปี 2016 มีผู้คนราว 403,000 คนในสหรัฐต้องใช้ชีวิตและมีสภาพความเป็นอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ทาสยุคใหม่’ และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยนิยาม ‘ทาสยุคใหม่’ นั้นไม่ใช่แค่การบังคับใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงการบังคับให้แต่งงานอีกด้วย
Walk Free Foundation ได้จัดทำ ‘ดัชนีแรงงานทาสโลก’ (The Global Slavery Index: GSI) โดยระบุว่า ใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยและลงพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและกลุ่มธุรกิจได้ตระหนักถึงปัญหาของการใช้แรงงานทาส ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ GSI ยังใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นในระดับชาติ รายงานจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แห่งสหประชาชาติ รวมถึงข้อมูลจากผู้เคยเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
จากรายงาน GSI ในตัวเลขผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน 403,000 คนของสหรัฐ มีสัดส่วนผู้หญิงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ และหากดูในระดับโลก พื้นที่ที่พบว่ามีแรงงานทาสมากที่สุดคือเกาหลีเหนือ จำนวนโดยประมาณคือ 2.6 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรในประเทศ
แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ (Andrew Forrest) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Walk Free บอกกับสำนักข่าว Guardian ว่า แรงงานทาสในสหรัฐนั้น “อยู่ในสภาพโงนเงนจริงๆ” และ “ความเป็นไปได้อย่างเดียวคือต้องอดทนต่อการบังคับใช้แรงงาน”
นอกจากนี้ GSI ยังระบุว่า ในสหรัฐ การใช้แรงงานทาสเกิดขึ้นในหลายบริบท เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร โดยล่าสุด การดำเนินการทางกฎหมายกับ GEO Group, Inc. เปิดเผยให้เห็นการกักขังแรงงานทั้งในคุกของเอกชนเอง และสถานกักกันที่ทำสัญญาไว้กับกระทรวงความมั่นคงสหรัฐ (Department of Homeland Security)
รายงานเปิดเผยต่อไปว่า ผู้อพยพ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ต้องเผชิญความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ทั้งสถานะผู้อพยพ เข้าไม่ถึงการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย และในความเป็นจริงแล้ว แรงงานอพยพเหล่านี้มักทำงานที่ “ถูกซ่อนไว้จากสายตาของสาธารณะ และอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ” นอกจากนี้ รายงานยังเน้นว่า นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพที่เพิ่มมาตรการความเข้มงวด จะยิ่งทำให้จำนวนของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารแสดงตนตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายงานของ Guardian บอกว่าตัวเลข 403,000 คนที่เป็นแรงงานทาสสหรัฐนั้น ยังถือว่าไม่ครอบคลุม เพราะสหรัฐเกี่ยวพันกับระบบการใช้แรงงานทาสในหลายมุมโลก โดยเฉพาะการนำเข้าผลิตภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า ปลา โกโก้ และไม้ จำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมาจากมือของผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน
GSI มีการแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐหันมาสนใจประเด็นใช้แรงงานทาส ซึ่งนับรวมถึงการเข้มงวดกับกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำของการแต่งงานให้เป็น 18 ปีเหมือนกันทุกรัฐทั่วประเทศ เพราะปัญหาเรื่องการบังคับแต่งงานเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และการสร้างมาตรฐานการเก็บรวบรวมและปรับปรุงฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้สามารถประเมินจำนวนที่เป็นไปได้ของการใช้แรงงานทาสในยุคใหม่ได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน รายงานของ GSI แสดงให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจในความแพร่หลายของการใช้แรงงานทาสในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กฎหมายในระดับสากลยังต้องการนิยามที่ชัดเจนของ ‘แรงงานทาสยุคใหม่’
เมื่อเป็นเช่นนี้ รายงานของ Guardian ชี้ว่า กลุ่มต่อต้านการบังคับใช้แรงงานอื่นๆ จึงต้องตั้งคำถามถึงนิยาม ‘การใช้แรงงานทาส’ ของ Walk Free Foundation และระเบียบวิจัยที่ใช้เก็บข้อมูลจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ
ตัวอย่างเช่น ในรายงานล่าสุดของ Anti-Trafficking Review ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้ามนุษย์ โดย แอนน์ กัลลาเกอร์ (Anne Gallagher) แย้งข้อมูล GSI ในด้าน “ความเป็นสากล การคำนวณขนาดของปัญหาที่น่าเชื่อถือ วัตถุประสงค์สำคัญที่ต้องการ มันยังไม่น่าจะเป็นไปได้” เพราะยังขาดแคลนการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร มาตรฐาน และอุกปรณ์ในการชี้วัดตัวเลขที่ออกมา
ส่วนหนึ่งในรายงานของ Guardian ระบุว่า ในปี 2018 ข้อมูลของ GSI ถูกหยิบไปนำเสนออย่างจำกัด ทั้ง New York Times, CNN และ CBS News โดย New York Times เน้นนำเสนอเรื่องราวของอดีตแรงงานชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับความแพร่หลายของการใช้แรงงานทาสในสหรัฐอยู่ในย่อหน้ารองลงมา ซึ่ง CNN บอกเพียงว่า มีรายงานระบุว่า สหรัฐเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในห่วงโซ่การบังคับใช้แรงงาน
ขณะที่ CBS News รายงานว่า “สหรัฐทำได้ดีกว่าประเทศอื่นในการต่อต้านเรื่องนี้” และมีนาคม 2019 Forbes รายงานในวันรำลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานทาสและการค้าทาส (International Day of Remembrance of the Victims of Slavery and the Transatlantic Slave Trade) ของสหประชาชาติ โดยใช้ข้อมูลจาก GSI แต่ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเป็น ‘การจำกัด’ ข้อมูลการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ (modern slavery)