“เราใช้ตัวเองเป็นตัวชี้วัด ถ้ามันกระแทกเรา มันก็กระแทกคนอื่น” ปู–เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ภัณฑารักษ์ผู้ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม ว่าถึงความรู้สึกเมื่อครั้งสัมผัสเข้ากับ ‘ความเป็นของจริง’ จากแรงกระเพื่อมในเสียงกลองของ ‘ราษฎร์ดรัมส์’ จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อแรงกระเพื่อมนั้นไปเสนอกับเนื้อคู่ทางศิลปะอย่าง ส้ม–สมรัก ศิลา ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นภัณฑ์รักษ์ร่วมกับปู ในโครงการ ‘โปรเจกต์ไพร่ 02 X ราษฎร์ดรัมส์’ ซึ่งกำลังจัดขึ้น ณ WTF Gallery and Café ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 8 พฤษภาคม ปีนี้
สำหรับเลข 02 ในชื่อโครงการนั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน มันเพียงบ่งชี้ว่าการจัดงานครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่โปรเจกต์ไพร่ได้ดำเนินการครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา
แต่ปูก็เล่าว่า การจัดงานครั้งที่ 2 นี้ มีความท้าทายกว่าครั้งที่ 1 อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องการคัดสรรศิลปินผู้เข้าร่วม
“มันยากตอนคิดหาศิลปิน เพราะโปรเจกต์ไพร่ 01 มันง่ายตรงที่เราเจองานศิลปะก่อน แล้วเอางานศิลปะเป็น base แต่อันนี้ตรงกันข้าม เราเห็น figure ก่อนแล้วค่อยมาหาศิลปินที่เหมาะ”
ผลลัพธ์ของการเฟ้นหาศิลปินที่เหมาะสำหรับโปรเจกต์ครั้งที่ 2 นี้ คือการได้ตัวศิลปินอย่าง สร้อย–สร้อยฟ้า แสนคำก้อน และ ทิพย์–ทิพย์วรรณ นรินทร เจ้าของผลงาน video archive ‘ราษฎร์ดรัมส์: เสียงกลองจากราษฎร’ และ ณัท–ณัท เศรษฐ์ธนา เจ้าของผลงาน ‘The Curtain Appears’ ที่ถูกติดตั้งและถ่ายทอดอยู่บนชั้น 2 และ 3 ของแกลลอรี่
เสียงจากภัณฑารักษ์
สำหรับที่มาที่ไปของทั้งสองงานนี้ ปูเล่าว่า ตัวงานที่เกี่ยวกับราษฎร์ดรัมส์เป็นการทำไปตามแนวทางการทำงานที่ต้องการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์
“ทุกอย่างมันต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ได้ ไม่ว่าใครจะบันทึกหรือไม่ แต่เราต้องบันทึกตัวเอง เราสนใจในประเด็นว่าราษฎร์ดรัมส์เป็นกลุ่มที่ยืนเคียงข้างผู้ชุมนุมแบบชัดเจน สำหรับเรามันค่อนข้างทรงพลังและสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่าง แม้ว่ามันจะหยุดไปบ้าง แต่ถ้ามันกระเพื่อมแล้ว เราว่ามันก็จะส่งต่อกันได้ อย่างเราทำออกมาก็รู้สึกว่า เราอาจส่งต่อให้ใครได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ต้องทำเหมือนกับพวกเขา ต้องส่งต่อ และต้องการบันทึก
“สร้อยกับทิพย์เป็นคนไปม็อบอยู่แล้ว แล้วก็เป็นคนทำ film ด้วย casting director ด้วย ซึ่งเราต้องการจับบุคลิกของความเป็นราษฎร์ดรัมส์ ทั้งบุคลิกของภาพรวมและบุคลิกของแต่ละคน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อยู่ร่วมกันอย่างไร สิ่งพวกนี้มันจะต้องถูกบันทึกไว้ เพราะมันเป็น nature ของการเป็น collective สองคนนี้ก็จะเก่งเรื่องนี้ และมันก็ไม่มีใครแล้ว มันต้องสองคนนี้แหละมาเป็นศิลปิน”
ในฐานะภัณฑารักษ์ ปูเห็นว่านอกจากการบันทึกราษฎร์ดรัมส์เป็น video archrive แล้ว ยังจำเป็นต้องมีงานศิลปะที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นฐานทางความคิด (conceptual base) เพื่อให้ผู้ชมได้เปรียบเทียบด้วย แต่ด้วย ‘ความเป็นไพร่’ งานที่จะนำเข้ามาก็ต้องไม่เป็นลักษณะ conceptual มากจนเกินไป จุดนี้เองที่งานของณัทเข้ามาเติมเต็ม
“พอณัทเสนอมาว่า อยากทำงานเรื่องพื้นที่ภายนอก-ภายใน เพราะมันเป็นเรื่องของการทะลุกรอบบางอย่าง เป็นสิ่งที่บางคนมองไม่เห็นสักที หรือบางคนก็มีอะไรมาบังตา กระทั่งบางคนถือว่าสิ่งที่บังตาเป็นประสบการณ์หรือความท้าทายที่รอให้เปิดมันออก ก็เอาเลย”
The Curtain Appears กับการแลกเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวม
“งานของผมจะใช้ทุกอย่างเป็นม่าน ถ้าดูจากกำแพงที่ฉายจากโปรเจกเตอร์เป็นหน้าต่าง จะเห็นว่ามันคือวิวภายนอก เพียงแค่ว่ามีตัวอะไรกั้นไว้ไม่ให้เรามองผ่านทะลุไปได้ มันคือม่านชนิดหนึ่งที่กันเราไว้ ตัวปฏิทินก็เป็นม่านเหมือนกัน มันทำหน้าที่บังแสง แล้วช่องบนปฏิทินคือวันที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้น ซึ่งเหมือนกับการทลายม่านให้แสงส่องไปได้ ส่วนตัวงานปรินท์ จริงๆ แล้วเป็นผ้าม่าน แต่ process ของมันคือการทำไปเรื่อยๆ คือการปรินท์แล้วปรินท์อีก ซึ่งงานทั้งหมดถูกครอบไว้ด้วย narrative ของตัวงานเขียนที่ผมทำ”
ม่านในงานณัทยังตั้งคำถามอย่างหนักต่อเส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นส่วนรวม
“ผมมองว่าประเด็นนี้นอกจากจะหมายถึงการที่เราไปม็อบแล้ว เราเหมือนเคลื่อนจากพื้นที่แบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง ผมมองว่า movement ทางการเมืองเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พยายามตั้งคำถามว่าอะไรบ้างที่เป็นเรื่องส่วนตัว อะไรบ้างเป็นเรื่องส่วนรวม การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน เป็นการตั้งคำถามว่าองค์กรที่เป็นการเมืองมากๆ ควรเป็นเรื่องของทุกคนหรือเป็นเรื่องของส่วนรวมไหม ไม่ใช่ถูกตัดออกไปหรือถูกกั้นไว้หลังม่าน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์กรที่เป็นการเมืองมากๆ และพยายามเรียกองค์กรทางการเมืองให้กลับมาอยู่ในบริบทของการเมือง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ด้วยกลไกทางการเมืองต่างๆ”
การพยายามตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่สองชนิดนี้ ยิ่งทำให้งาน video archive ราษฎร์ดรัมส์ แหลมคมมากขึ้น กระทั่งทำให้งานในโปรเจกต์ไพร่ 02 มีความแนบแน่นจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
“งานของผมกับราษฎร์ดรัมส์มันต้องทำงานอยู่ด้วยกัน เพราะผมเริ่มคิดงานชิ้นนี้มาจากลักษณะการทำงานของราษฎร์ดรัมส์กับการไปม็อบ ผมสนใจประเด็นพื้นที่ทั้งสองแบบ ซึ่งการไปม็อบมันคือการเอากำแพงความเป็นส่วนตัวออก แล้วเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนรวม ผมเลยมองว่า ชั้น 2 (ที่จัดแสดง video archive ราษฎร์ดรัมส์) ได้พูดถึงเรื่องภายนอกเรียบร้อยแล้ว ผมเลยพูดถึงเรื่องภายใน ให้มันเป็น space 2 แบบ ซึ่งเคลื่อนที่เข้าหากัน”
ราษฎร์ดรัมส์: เสียงกลองจากราษฎร
ในฐานะที่นำเสนอในรูปแบบวิดีโอ (ซึ่งได้ footage มาจากหลากหลายแหล่ง ตัดต่อโดย เค–กมลธร เอกวัฒนกิจ) ให้ผู้เข้าร่วมได้รับชมผ่านสายตาไปพร้อมๆ กับเสียงกระหึ่ม ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่า สำหรับตัวศิลปินรู้สึกอย่างไรกันบ้างเมื่อได้ปะทะกับพลังของราษฎร์ดรัมส์ในครั้งแรก
“เห็นว่าน้องแม่งแข็งแรงฉิบหายเลย มันแข็งแรงมาก มันเป็นเด็กผู้หญิงที่ถือกลองใบใหญ่ๆ แล้วก็ตีเสียงดัง” สร้อยเริ่มเล่าก่อน
“เห็นความหลากหลายในที่มาที่ไปของแต่ละคน เห็นว่าแต่ละคนต่างเป็นวัยรุ่นยุคนี้ รุ่นที่ใหม่มากๆ แล้ว background เขาก็มาจากครอบครัวที่หลากหลาย เช่น เป็นครอบครัวเสื้อแดง เป็นสลิ่ม ซึ่งก็เป็นชีวิตของวัยรุ่นยุคนี้จริงๆ ที่สมัยเรียนเขาถูกพาไปอยู่ในม็อบ โตมาเขาก็เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง รับรู้ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เรื่องความหลากหลายเป็นเรื่องที่เราว่าน่าสนใจและสะท้อนถึงชีวิตวัยรุ่นยุคนี้ได้จริงๆ” ทิพย์เอ่ยปากเล่าเสริม
และนับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ คาเงะ–ธีระวัฒน์ มุลวิไล หนึ่งในสมาชิกตัวตั้งตัวตีของราษฎร์ดรัมส์ เข้ามาอยู่ในการสนทนาแลกเปลี่ยนด้วย คาเงะเล่าถึงความรู้สึกเมื่อรู้ว่ากำลังมีคนสนใจที่จะบันทึกราษฎร์ดรัมส์ไว้ว่า
“ผมก็รู้สึกดี เหมือนกับว่าเรามาทำงานเป็น backup ให้คนอื่น แต่ตอนนี้มีคนพูดถึง เลือกที่จะนำเสนอพวกเรา หรือว่าทำให้ audience ได้เห็นอะไรบางอย่างในมิติอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ได้ออกสื่ออะไรมากมาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนั่นนิด เป็นนี่หน่อย กึ่งๆ annonymous แต่จะเรียกว่าเป็น annonymous ก็ไม่ได้ เพราะเวลาเขาเรียกใช้เรา เราจะอยู่ข้างหน้าตลอดเลย คือถ้ามีเรื่องก็คงโดนก่อน แต่เราก็พยายามกำชับถ้าม็อบไหนไม่ปลอดภัย เพราะว่ากลองบริจาคมา (หัวเราะ) เดี๋ยวเราจะไม่มีตังค์ซื้อ”
สำหรับมิติอื่นๆ นอกจากท่าทีภายนอกที่ดูเข้มแข็งมีพลัง การเล่าถึงเจตนาส่วนตัวของผู้ร่วมตีกลองในราษฎร์ดรัมส์ผ่านสร้อยและทิพย์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดอันหนึ่ง
สร้อย: “น้องราษฎร์ดรัมส์คนหนึ่งบอกว่า เขามาตีกลองเพื่อบำบัดตัวเอง แล้วเขาก็แชร์ให้ฟังว่า รู้สึกโกรธกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น พอได้มาตีกลองแล้วเขาได้ปลดปล่อย ได้เยียวยาตัวเอง ได้แสดงออกและทำให้ตัวเองเดินไปต่อได้”
ทิพย์: “เราว่ามันก็เหมือนการไปม็อบนะ เหมือนไปเจอสังคม ไปเจอ community ที่เราสามารถแสดงออกความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ มันก็เป็นพื้นที่ให้ได้ปลดปล่อยเหมือนกัน เหมือนเวลาบางทีหงุดหงิดหรือผิดหวังกับสังคม เราก็จะไปม็อบ”
คาเงะยังเล่าถึงจุดยืนของราษฎร์ดรัมส์ว่าดำรงตนเป็นผู้ส่งต่อเสียงและสนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมแต่ละครั้ง เพื่อผลักไปสู่เป้าหมายใหญ่ มากกว่าจะเป็นผู้ประเมินเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง
“เราพยายามบอกตัวเองว่า ไม่ควรไปเลือกที่รักมักที่ชัง เรามีจุดยืนในการ support ถ้าใครทะเลาะกันก็ปล่อยเขาทะเลาะกัน แต่เราต้อง support เรายังมองเห็นเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้า มันอาจจะไกล ในระหว่างทางมันอาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง กลุ่มไหนขิงกัน เราไม่ใส่ใจ ถ้าเรารู้สึกเข้าข้างฝ่ายนี้ ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนี้ เราก็คงหยุดไปตั้งแต่แรก”
ขยายพรมแดนศิลปะ กับ drumming as resistance ที่ใครๆ ก็ร่วมได้
นอกจากการส่งต่อแรงบันดาลใจ ส่งต่อจังหวะแรงกระเพื่อม ความน่าสนใจของงานแสดงครั้งนี้ ยังรวมไปถึงความพยายามที่จะขยายพรมแดนศิลปะไทยให้กว้างออกไปด้วย
รูปธรรมของความต้องการดังกล่าวแสดงออกผ่านการทำงานร่วมกับ ถนอม ชาภักดี บุคคลที่อาจนิยามอย่างกว้างๆ ได้ว่าเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรม นักวิจารณ์ศิลปะ และนักปฏิบัติการทางศิลปะ
ถนอมถูกเชื้อเชิญให้มาร่วมแบ่งปันแนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยการแสดงดนตรีในฐานะสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน ดังที่ปรากฏผ่านรูปแบบงานเขียนที่มีการเผยแพร่เป็นบทความออนไลน์ กลองศึกขับขาน: ดั่งเสียงปลุกจิตวิญญาณนักสู้ ผู้ไม่จำนน ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันกับแผ่นกระดาษพร้อมลายมือถนอมที่แขวนไว้ในการแสดงงาน
หากถามว่าทำไมต้องขยายพรมแดนศิลปะไทย และทำไมงานนี้ต้องมีถนอมด้วย คำตอบของเขาคือ
“วงการศิลปะบ้านเรา สิ่งหนึ่งที่ยังขาดอยู่มากก็คือ การทำงานเชิง collective และ artistic activist อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก มันจึงไม่เคยก้าวไปไหนเลย มีแต่ ปู ส้ม หรือคนไม่กี่คน ที่โฟกัสงานที่มีลักษณะการเข้าไปมีส่วนร่วมถึงรากเหง้าของโครงสร้างปัญหา มันมีเท่านี้แหละ ฉะนั้นเวลาทำงานผมต้องการที่จะหาความเป็นกัลยาณมิตรในสายงานเดียวกัน ตอนเราทำ Khonkaen Manifesto 2018 หรือ UBON AGENDA 2020 หรือ UBON AGENDA 2022 ทั้ง 3 โครงการ มันก็เป็นการต่อสู้กับโครงสร้างศิลปะกระแสหลักอย่างหนัก
“ฉะนั้นพอพูดถึงว่าจะทำโปรเจกต์ไพร่ครั้งที่ 2 ว่าด้วยราษฎร์ดรัมส์ ผมนี่ใจพองโตมาก ด้วยความรู้สึกว่า โอเค เราก็รู้จักกับมิตรสหายทั้งนั้น ร่วมเดินตากแดดตากฝนด้วยกันมา เราก็คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องการให้เกิด คือการเคลื่อนไหวภาคการเมืองและสังคม ก็คือการเอาปฏิบัติการทางศิลปะลงไปร่วมด้วย ฉะนั้นทั้งราษฎร์ดรัมส์เอย free art เอย นักเรียนเลวเอย มันกลายเป็นโครงสร้างแบบ collective movement ที่น่าสนใจมาก”
ถามว่าทำไมต้องใช้คำว่า ‘นักปฏิบัติการทางศิลปะ’
“ผมเกลียดคำว่า ‘artist’ หรือ ‘ศิลปิน’ ในประเทศนี้มาก เพราะมันมี hierarchy (การจัดลำดับชั้น) ว่ากูเป็นศิลปิน กูไปทำงานประท้วงไม่ได้ เดี๋ยวเสียสถานะ ซึ่ง artistic practice หรือ artistic activist มันมีมานานแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ลากไปถึงช่วงปี 1980 สำหรับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างกลุ่มในสโลวาเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักดนตรีเล็กๆ เป็นลูกกรรมกรเหมืองถ่านหิน รวมตัวกันเพื่อที่จะทำเสียงรบกวนเสียงของรัฐ เวลาเปิดเพลงชาติยูโกสลาเวียขึ้นมา พวกนี้ก็จะใช้เสียงเคาะให้มันเกิดการรบกวน”
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับราษฎร์ดรัมส์ หรือศิลปะชนิดอื่นๆ ล่ะ?
“ผมว่ามันเป็นการใช้รูปแบบการต่อสู้ของแต่ละคนในพื้นที่ปฏิบัติการที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนบางคนอาจจะเก่งเรื่อง performance ก็ดึงเข้ามา บางคนอาจจะเก่งเรื่อง graffity ก็ดึงเข้ามา หรือใครคนตีกลองได้ก็ตีไป
“ผมว่า drumming as resistance เป็น priority สำหรับ mass protest มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ เราจะเห็นกลองคือตัวเปิดศึก เพราะเสียงกลองมันเป็น beat ที่ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิม ฉะนั้นคำว่ากลองศึกจึงไม่ได้มีความหมายแค่การตีกลอง แต่มันหมายความถึงการส่งสัญญาณ การก้าวไปข้างหน้า การใช้กลองสำหรับผมจึงถือเป็นจุดเริ่มของการประท้วง การชุมนุม การต่อต้าน
“ถ้ากลองที่อยู่กับทหารคือการสู้รบ กลองที่อยู่กับประชาชนก็คือการสู้รบ ผมถือว่าเป็นลักษณะ collective ชั้นดี”
ฟังเสียงกลองเพื่อเติมกำลังใจและเรียกความฮึกเหิมกลับมา
สุดท้าย แม้กระแสการเคลื่อนไหวจะดูสงบลงไปบ้าง แต่นั่นก็ดูจะสงบเพียงแค่ในระดับพื้นผิว เพราะในเบื้องลึกคลื่นแห่งประชาธิปไตยยังคงไหลเชี่ยว และพร้อมเสมอที่จะกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อโครงสร้างอันมหึมา งานในโปรเจกต์ไพร่ 02 X ราษฎร์ดรัมส์ และผู้มีส่วนร่วมในโครงการบอกเราแบบนั้น
คาเงะ: “ในสภาวะที่ม็อบหรือการเคลื่อนไหวข้างนอกมัน slowdown มันก็อาจจะต้องกลับมาแบบนี้ กลับมาทำงานในแกลเลอรี่ ทำงานโรงละคร ทำงานในที่ใหญ่ๆ เพื่อที่จะย่อย สั่งสม หรือสร้างงานขึ้นมา ในพื้นที่ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่บนท้องถนนก็ได้ กลับมาใน artistic way แบบตัวของเราก็ได้”
สร้อย: “ตอนแรกเราจะทำเป็น archive เฉยๆ แต่พอทำไปแล้วรู้สึกว่า มันเหมือนการให้กำลังใจกันด้วย น้องๆ ที่เราไปเอาคลิปส่วนตัวเขามาใช้ก็เป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไป น่ารักๆ สดใส เหมือนกับว่าสิ่งที่ทำมันน่าจะให้กำลังใจกันและกัน แล้วพวกงานภาพที่ผ่านมา 2 ปี มันก็ทำให้เรารู้สึกหวนระลึกถึงกลุ่มคนต่างๆ ที่เคยออกมาร่วมต่อสู้บนท้องถนนด้วยกัน ก็อยากฝากว่า ไปต่อนะ”
ถนอม: “ผมคิดว่ามันไม่สิ้นสุดหรอก เสียงกลองจากกลุ่มคนเล็กๆ แบบนี้มันจะขยายไป เป็นแนวราบ เป็น collective จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง เพราะทุกคนสามารถตีได้ ฉะนั้น rhythm ของมันจึงไม่จำกัด จังหวะกลองอีสาน กลองสะบัดชัยทางเหนือ กลองหนังตะลุงทางใต้ มันเป็น mass project มันเป็น resistance ที่ต่อกรกับเสียงกลองของอำนาจรัฐได้ ผมหวังว่า โปรเจกต์ collective นี้ จะเป็นเหมือน springboard เป็นเหมือน drumming spring ให้เราตระหนักรู้ว่า งานเชิง collective มันมีกำลังมากน้อยแค่ไหน”
ปู: “ในมุม curator งานได้ดั่งใจมาก มันออกมาอย่างที่เราคาดหวังว่า มันจะทำให้เรากลับมาฮึกเหิมอีกรอบหนึ่ง มันจะมีหลายมุมให้มอง ไม่ว่าคนมาดูจะเลือกดูอันไหนก็ตาม ก็จะได้อะไรกลับไปแน่ๆ และหวังว่ามันจะเป็นแรงกระเพื่อมต่อไป”