การชุมนุมหลายจุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ประชาชนหลายกลุ่มออกมารวมตัวกันชุมนุมในหลายสถานที่ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานคนเมือง รวมถึงพยายามเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล และจุดอื่นๆ อย่างแยกนางเลิ้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจัดการชุมนุมแบบดาวกระจายนี้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากประเทศไทยพ้นช่วงการระบาดขนาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 มาไม่นาน และเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเกิด ‘วิกฤตศรัทธา’ กับขบวนการเคลื่อนไหวหลายภาคส่วน ทั้งเป้าหมาย วิธีการต่อสู้ ไปจนถึงกำลังใจและความคาดหวัง
WAY จึงได้ร่วมพูดคุยกับเหล่าผู้ชุมนุมหลายช่วงวัย หลายบทบาท หลายอาชีพ จากกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงความคิดเห็นต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการพยายามหาจุดร่วมอีกครั้งหลังขบวนการต่อสู้ของหลายกลุ่มขับเคลื่อนมาแล้วกว่า 3 ปี เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีคนเดียวคนเดิม
เพราะทุกคนคือเหยื่อ การชุมนุมจึงไม่ต้องมีแกนนำเหมือนเดิมก็ได้
“การไปม็อบเราไม่ต้องมีคนนำอยู่แล้ว เพราะทุกคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนกัน จากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ผู้ชุมนุมรายหนึ่งตอบ เมื่อถูกถามว่ายังเชื่อมั่นกับการจัดการชุมนุมแบบ ‘ม็อบไร้หัว’ หรือการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำอยู่หรือไม่ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จุดเด่นสำคัญของการชุมนุมคือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในหลักการกระจายอำนาจ แต่ในแง่หนึ่งก็มีข้อครหาว่าทำให้การชุมนุมไร้แนวทางร่วมกัน
“เราต้องยกระดับการกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ผู้ชุมนุมรายนี้ยังกล่าวย้ำเช่นเดิม แสดงให้เห็นว่าเขายังคงเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้แบบที่ผ่านมา ซึ่งอาจกลายเป็นแนวทางการต่อสู้รูปแบบใหม่ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ในอนาคตของการเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมรายนี้ยังคงติดกำไล EM ไว้ที่ข้อเท้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหยื่อของรัฐบาลชุดนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่รวมพลังกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ประชาชนต้องชุมนุมต่อไป เพราะกลไกรัฐสภายังทำงานไม่ดีพอ
“เราต้องยกระดับ”
ตัวแทน ‘กลุ่มโรนิน’ คนหนึ่งกล่าว เมื่อถูกถามถึงรูปขบวนของการชุมนุม แน่นอนว่าการชุมนุมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง เพราะหากอยู่เกินวาระที่กำหนดไว้จะเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่สิ่งที่สะท้อนได้จากคำตอบของกลุ่มโรนินคือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะต้องดำเนินต่อไป และเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทุกคนมี
“การเมืองบนถนนคือเครื่องมือที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเราไม่อาจเชื่อใจรัฐสภาได้”
ดูเหมือนว่ากลไกของรัฐสภาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ชุมนุมบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยทางตรง โดยเฉพาะการออกมาแสดงความต้องการของตนเองบนถนน
“พวกเราออกมาชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีอะไรเลย เรามาด้วยใจทุกคน ไม่มีใครจ้างนะครับ”
ประชาชนต้องชุมนุมต่อไป เพราะองค์กรอิสระไม่อาจเชื่อถือได้
“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีที่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหนทางเดียวที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งได้ก็คือ การชุมนุมของพี่น้องประชาชนเท่านั้น”
คำตอบของผู้ปราศรัยรายหนึ่งจาก ‘กลุ่มแดงก้าวหน้า’ หลังถูกถามว่ายังคงเชื่อมั่นในแนวทางการชุมนุมอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการชุมนุมจัดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีจำนวนผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากจนน่าตื่นตา และหลายครั้งก็น้อยจนน่าใจหาย บางครั้งคำถามสำคัญที่สังคมตั้งไว้ในใจลึกๆ คือ การชุมนุมยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดจริงหรือไม่
“อย่าลืมว่าศาลรัฐธรรนูญ ป.ป.ช. ก.ก.ต. และอะไรต่างๆ เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหมด”
เขากล่าวเน้นย้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรอิสระถดถอยลงไปมากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารยังคงมีปัญหา ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจำเป็นต้องหวนกลับมาที่ประชาชนอีกครั้ง
สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป กับความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
“ถ้ารัฐประหารอีกก็อยู่ไม่ได้หรอก ประชาชนไม่ใช่คนโง่ ทุกวันนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว”
หนึ่งในผู้ชุมนุมที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ตอบเมื่อถูกถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับการพยายามโยงการชุมนุมว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้เกิดการรัฐประหาร แน่นอนว่าผู้ชุมนุมรายนี้ไม่เห็นด้วย พร้อมกล่าวย้ำว่าโลกเปลี่ยนไปมากกว่าสมัยก่อนแล้ว การเข้าถึงข้อมูลความจริงทำได้ง่ายกว่ามาก
“เมื่อก่อนกูอาจจะอนาล็อก แต่ทุกวันนี้มึงอย่ามาหลอกกู”
ปัจจัยสำคัญที่ผู้ชุมนุมรายนี้นำมาชี้วัด คือการที่คนหลายชนชั้นมีโอกาสเข้าถึงสมาร์ตโฟนได้มากขึ้น ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตหรือการรับข่าวสารมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มหลายชนชั้นมีส่วนร่วมและรู้เห็นสภาพปัญหาบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น
“สมัยก่อนคนรวยมีไอโฟน สมัยนี้ขอโทษเถอะ กูก็มี”
เพราะการชุมนุมไม่ใช่เงื่อนไขของการรัฐประหาร
จากเสียงสะท้อนของผู้ชุมนุม แน่นอนว่ายังเชื่อมั่นในแนวทางการชุมนุมไม่แปรเปลี่ยน ขณะเดียวกันก็ยังเห็นร่วมกันว่าภาคประชาชนต้องยกระดับการชุมนุมมากขึ้นหากท่าทีของรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อครหาสำคัญตลอดมาของการชุมนุมคือ การชุมนุมอาจจะเป็นเงื่อนไขให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารอีกครั้ง
“การรัฐประหารมันเกิดได้ตลอดเวลาไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม การชุมนุมไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารนะครับ”
เสียงหนึ่งจากผู้สวมใส่กำไล EM ตอบขึ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับคำตอบของสมาชิกกลุ่มโรนินที่มาชุมนุมด้วยเช่นกัน
“มันทำไม่ได้สิ ในเมื่อเรามาชุมนุมกันแบบสันติ ใช้การลงถนน มันก็ไม่สามารถมารัฐประหารเราได้”
แต่เมื่อถูกถามว่า หากเกิดการรัฐประหารอีกครั้งขึ้นมาจริงๆ ภาคประชาชนจะทำอย่างไรนั้น กลุ่มแดงก้าวหน้าระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า ความเหลืออดของประชาชนปัจจุบันมีมากกว่าแต่ก่อนแน่นอน
“หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ผมเชื่อว่าครั้งนี้จะไม่มีประชาชนไปมอบดอกกุหลาบให้เหมือนครั้งที่ผ่านมาแน่นอน”
ขณะเดียวกัน หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพลิกผันขึ้นมา โดยตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ทางฝั่งผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เคยผ่านเหตุการณ์การสังหารหมู่ พ.ศ. 2553 ก็ได้กล่าวยืนยันเป็นการปิดท้ายว่า
“ถ้าไม่ออก กูก็อยู่แบบนี้ ก็สู้ต่อ ไม่กลัวตาย เพราะปี 53 ก็เคยเกือบตายมาแล้ว”
ดูเหมือนว่า หากการวินิจฉัยกรณีการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ยืดเยื้อออกไป การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะยิ่งทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม และจะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับผู้ชุมนุม ด้วยเหตุนี้การกลับมาของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนขนาดใหญ่จึงยังคงน่าจับตาต่อไปในอนาคต