ทำอย่างไรถ้าใจวิกฤต: รู้จัก ‘การปฐมพยาบาลจิตใจ’ เยียวยาผู้สูญเสียจากความรุนแรง

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู สร้างความหวาดกลัวและสะเทือนจิตใจให้แก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ไปจนถึงประชาชนที่ทราบข่าว การสูญเสียจากเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูและผู้ปกครอง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นต่อกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ให้เผยแพร่ภาพความรุนแรง รวมถึงไม่กระทำการอันเป็นการตอกย้ำภาพ เสียง และบรรยากาศของเหตุการณ์ความรุนแรง

ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่กรมสุขภาพจิตและทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) นำมาใช้เพื่อให้การเยียวยาฟื้นฟูจิตใจของผู้สูญเสีย อยู่ภายใต้หลักที่เรียกว่า ‘การปฐมพยาบาลทางจิตวิทยา’ (Psychological First Aid: PFA) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจจากเหตุการณ์วิกฤตอย่างใกล้ชิดที่บัญญัติขึ้นโดย National Child Traumatic Stress Network และ National Center for PTSD ซึ่งหลัก PFA ถูกนำมาใช้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และประสบความสำเร็จในการเยียวยาจิตใจผู้สูญเสียจากเหตุการณ์การก่อการร้าย 9/11 ก่อนจะถูกปรับปรุงและพัฒนาต่อในปี 2001 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อรับมือต่อการสูญเสียจากความรุนแรงในเหตุการณ์กราดยิงและการก่อการร้าย

หลักปฏิบัติสำคัญของการปฐมพยาบาลทางจิตวิทยา (PFA) มีอยู่ 8 ข้อ

  1. ติดตามการตอบสนองของผู้สูญเสีย: รับฟังคำบอกเล่าหรือการตอบสนองของผู้สูญเสีย ในกรณีที่ผู้สูญเสียไม่สามารถเริ่มต้นบอกเล่าเองได้ ผู้ให้ความช่วยเหลือจะต้องเริ่มต้นพูดคุยอย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่ล่วงล้ำ และต้องเป็นการสื่อสารที่อยู่ภายใต้การแสวงหาประโยชน์เพื่อสร้างความช่วยเหลือผู้สูญเสีย
  2. สร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่พึ่ง: การสร้างความรู้สึกปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการทันทีและทำอย่างต่อเนื่องภายหลังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งนี้ต้องทำให้ผู้สูญเสียได้รับความอุ่นใจทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ไม่ชักจูงให้ผู้สูญเสียนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว หรือได้รับความไม่สบายทั้งทางกายและจิตใจ
  3. รักษาเสถียรภาพทางอารมณ์และจิตใจ: ควบคุมสถานการณ์ทางจิตใจของผู้สูญเสียให้สงบลง
  4. ทำความเข้าใจความต้องการและความกังวลของผู้สูญเสีย: รวบรวมข้อมูลจากผู้สูญเสียโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับวิธีการดูแลรักษาสภาพจิตใจ
  5. ให้ความช่วยเหลือในเชิงปฏิบัติ: หลังจากสังเคราะห์วิธีรับมือความกังวลและความต้องการของผู้สูญเสีย ให้ดำเนินการช่วยเหลือและให้คำแนะนำโดยเร็ว
  6. เปิดรับการปลอบประโลมจากสังคม: กระจายความช่วยเหลือสู่พื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและความร่วมมือจากองค์กรที่อยู่ในความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สูญเสีย เช่น เพื่อน ครอบครัว และชุมชน
  7. ให้ความรู้เรื่องการรับมือภาวะทางอารมณ์: สร้างความเข้าใจกับผู้สูญเสียเรื่องการเกิดความเครียดและการเผชิญหน้ากับปัญหา เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถรับมือและปรับตัวกับภาวะทางอารมณ์ดังกล่าวได้
  8. ประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ: จัดการให้ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้เข้าระบบเพื่อรับการดูแล

อย่างไรก็ตาม หลักปฏิบัติทั้ง 8 ข้อ อาจถูกนำไปใช้แตกต่างกันตามลักษณะเหตุการณ์และภาวะที่ผู้สูญเสียต้องเผชิญ การตอบสนองของผู้สูญเสียเป็นลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่สามารถควบคุมได้ ความต้องการและความกังวลก็แตกต่างกัน

สำหรับการดูแลจิตใจกลุ่มเด็กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ พญ.อัมพร ระบุว่า เบื้องต้นได้ให้การดูแลอย่างเร่งด่วนให้รู้สึกปลอดภัย เนื่องจากกำลังอยู่ในสภาพของความหวาดกลัวและตื่นตระหนก และรับฟังโดยทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกผ่านท่าทางการแสดงออก โดยเน้นย้ำให้ระมัดระวังเรื่องการใช้คำพูด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกหรือเกิดบาดแผลซ้ำๆ ในจิตใจของผู้สูญเสีย ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคามหรือทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก และจะต้องไม่ทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์รู้สึกผิด

เหล่านี้คือหลักปฏิบัติพื้นฐานที่คนไทยควรที่จะเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามเหตุการณ์อันเลวร้ายไปด้วยกัน

อ้างอิง

คู่มือ Psychological First Aid (PFA) Field Operations Guide: 2nd Edition

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า