ThaiArmedForce: ส่องแดนสนธยาอาวุธปืน ผ่านโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู

“ผมไม่เคยได้ยินว่าใครถูกยึดปืนเลย” 

คำตอบจากทีมงานเพจรวมข้อมูลข่าวสารด้านอาวุธและกองทัพฉบับประชาชนอย่าง ThaiArmedForce (TAF) แสดงให้เห็นถึงความงุนงงผสมไม่พอใจ เมื่อถูกถามถึงประเด็นขั้นตอนการขอใบอนุญาต การถือครอง รวมไปถึงการใช้งานอาวุธปืน ซึ่งมักเป็นที่รู้กันว่ามีคนจำนวนมากอาศัยรูรั่วของราชการในการอำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

ความหละหลวมของระบบเช่นนี้เองที่ทำให้ดาบตำรวจ สภ.ปากเกร็ดขโมยปืนหลวงไปจำนำได้มากกว่าหนึ่งร้อยกระบอกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงยังทำให้คนที่ไม่สมควรจะถืออาวุธปืนยังมีในครอบครองอยู่ได้ เช่น กรณีการสังหารหมู่ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา 

“สมมุติว่าผมมีปืน 2 กระบอก วันหนึ่งผมไปปล้นร้านทอง ผมโดนจับ ศาลสั่งติดคุก สั่งยึดของกลาง ของกลางนั้นก็คือปืนที่ผมเอาไปใช้ปล้น ถ้าวันหนึ่งผมออกจากคุก ผมก็จะมีปืนอีกกระบอกหนึ่งซึ่งไม่ใช่ของกลาง ฟังแล้วสลดมั้ยครับ”

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ WAY ใคร่รู้ถึงสภาพปัญหาเรื่องอาวุธปืนในเมืองไทย ผ่านการพูดคุยกับ อนาลโย กอสกุล (โย) และ ปวินท์ ทัพกรุง (ปืน) สองทีมงานเพจ ThaiArmedForce ผ่านปรากฏการณ์ ‘Active Shooters’ ที่เกิดขึ้นในไทยด้วยน้ำมือของคนในเครื่องแบบให้กระจ่างมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำเพจ ThaiArmedForce

โย: เพจนี้ตั้งขึ้นมาได้ 13 ปีแล้ว สมัยก่อนทำเป็นเว็บไซต์ ก่อนจะมีเฟซบุ๊ก พวกผมสัก 7-8 คน ก็เป็นพลเรือนทั้งนั้น ไม่มีทหารเลยสักคน แต่เราสนใจเรื่องความมั่นคง เทคโนโลยี แต่ว่าเราอ่านตามสื่อเอา ซึ่งสื่อในช่วงนั้นก็มีแต่ข่าวเรื่องเสนาธิการคนไหนจะปฏิวัติ รุ่นนี้จะขึ้นมายังไง อันนี้ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากรู้ เราอยากรู้ว่าที่คุณซื้ออาวุธมา ซื้อมาทำไม มองความมั่นคงของประเทศยังไง ภัยคุกคามคืออะไร การเปลี่ยนแปลงภูมิภาคคืออะไร ไม่มีใครเขียนเรื่องแบบนี้ให้เราอ่าน เราก็เลยเขียนเองอ่านเองแล้วกัน

โย – อนาลโย กอสกุล

เราอยากอ่านเรื่องที่อยากอ่าน อยากรู้เรื่องที่อยากรู้ แล้วก็อยากเข้าใจ อยากรับข้อมูลในเรื่องการป้องกันประเทศจริงๆ ไม่ใช่การเมือง ไม่ใช่มานั่งลุ้นว่ารุ่นไหนย้ายไปไหน เรื่องพวกนั้นเราถือว่า out of scope เราเอาเรื่องทางทหารมาบอกพลเรือน แล้วเราก็เอาความคิดของพลเรือนมาบอกทหาร 

เราตกลงกันว่าเราจะไม่รับการสนับสนุนทางการเงินจากใครเลย พวกเราจ่ายกันเอง 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันข้อหาของหน่วยราชการหรือเอกชนที่คิดว่าเรารับเงินมาด่าแน่ๆ หรือมองว่าเราไปรับเงินใครมาเชียร์แน่ๆ เราก็ทำของเรา อันนี้ก็เป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืนนะ แต่ ณ ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันเหมาะสมที่สุดแล้วที่จะทำแบบนั้น

ตั้งแต่ทำเพจมา อะไรเป็นอุปสรรคที่เคยเจอบ้าง 

ปืน: บางทีเขียนอะไรไปก็โดน ‘เขา’ เรียกเข้าไปคุยบ้าง เขาถามว่ารู้ได้ยังไง ทำไมถึงรู้ เป็นพลเรือนทำไมมาสนใจ ไปรับเงินใครมาหรือเปล่า หรือสุดท้ายเขาบอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องความมั่นคงนะ มันสุ่มเสี่ยงที่จะผิดนะ ก็โดนกันมาหมด ถามว่าอุปสรรคใหญ่มั้ย เรื่องพวกนี้ผมเฉยๆ

ปืน – ปวินท์ ทัพกรุง

อะไรทำให้หลงใหลในเรื่องอาวุธ เทคโนโลยี และความมั่นคง รวมถึงในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ที่อยู่ที่ยืนของเพจคืออะไร 

โย: พวกเราก็เป็นพลเรือนธรรมดา ทำงานบริษัทธรรมดากันเลย แล้วหน้าที่การงานแต่ละคนอาจจะพูดไม่ได้ เพราะจะกระทบกับบริษัท แต่บอกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับอาวุธ แต่มันคืองานอดิเรก อย่างบางคนชอบปลูกแคคตัส บางคนชอบถ่ายรูป บางคนชอบฟังเพลงเกาหลี แต่พวกผมคือชอบศึกษาอาวุธ 

เคยก็มีข้อครหาหนึ่งนะ มีคนบอกว่าเพราะไปดูงานวันเด็กใช่ไหมเลยชอบอาวุธ ก็ดูอย่างผมสิ ผมคัดค้านปืนเสรีทุกวันนี้ก็เพราะผมเข้าใจดีว่า การมีอาวุธไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เลย ส่วนตัวผมชอบอาวุธเพราะเป็นอาวุธเท่านั้นเอง ไม่ได้ชอบอาวุธเพราะมันเอาไปฆ่าใครได้ ดังนั้น แค่เราชอบแล้วเราก็ไปเจอกันในอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นในเว็บบอร์ดก็คุยกันเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนตัวผมเองตอนนั้นเรียนอยู่ปี 2 รู้สึกว่าข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมันมีจำกัดและค่อนข้างน้อยมาก แต่ข้อมูลภาษาอังกฤษมีเยอะ ผมเองพอรู้ภาษาอังกฤษก็เลยเขียนบล็อก แรกๆ คือใช้วิธีแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็พอมีความรู้บ้าง แล้วก็เขียนบทวิเคราะห์เอง 

เรามีช่องทางพูดได้เราก็พูด เราก็อยากสื่อสารกับคนที่อยากจะสื่อสารกับเรา เช่น กองทัพ เขาก็อยากให้เราเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชน หรือ บริษัทเอกชน ภาคพลเรือน และนักการเมือง ซึ่งอภิปรายทีไรก็จะมีข้อมูลจากเพจพวกเราไปขึ้นหน้าจอรัฐสภาทุกทีเลย 

เหมือนเราเติม agenda อะไรบางอย่างให้สังคมได้ ผมรู้สึกว่าเมื่อกองทัพได้รับการนิยามเป็นอาชีพ ก็ต้องมีความโปร่งใส อาวุธที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อ ต้องอธิบายประชาชนได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ใช่บอกว่าเรื่องอาวุธเป็นเรื่องความลับ เรื่องความมั่นคง ซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ที่เรารู้ก็รู้จากฝรั่งทั้งนั้นเลย ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากมาสื่อสารกับประชาชนเสียบ้าง ถ้าดีจริงประชาชนก็สนับสนุน แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องถูกตีตกไป

เข้าถึงข้อมูลยากแค่ไหน โดยเฉพาะข้อมูลของประเทศไทย 

ปืน: ยากที่สุดเลยครับ ยิ่งข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง แทบทั้งหมดเราดูจากข่าวต่างประเทศ ดูจากบริษัทที่เขาขายได้ เจ้าใหญ่ๆ อย่างสมมุติว่าบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เขา award contract ให้กองทัพไทยได้ เราก็เลย อ๋อ…ไทยไปซื้อของเขาเหรอวะ เราก็เลยต้องไปดูข้อมูลจากคนขายในต่างประเทศ ว่าประเทศไทยจะซื้ออะไรบ้าง ซึ่งคนในชาติเองยังไม่รู้กันเลย

โย: ยุคนี้ก็ดีอย่างหนึ่ง พอมีกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่บังคับให้ต้องเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นเว็บไซต์ เป็นแนวคิดด้าน open data ตามแบบของต่างประเทศ ทีนี้เวลาทหารจะทำอะไรก็ต้องเผยแพร่ขึ้นเว็บ จะซื้ออะไร งบประมาณเท่าไร ก็ต้องมีเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง TOR ด้วย ซึ่งพูดตรงๆ ก็ยังทำได้ไม่ครบตามข้อกำหนดกฎหมายหรอก ยังมีการแอบซ่อนกันอยู่ แต่ก็ยังดีกว่ายุคก่อนที่พี่ปืนบอกว่า ไปรู้อีกทีคือฝรั่งบอก แต่กับคนไทยเองกลับไม่บอก มันก็ตลกดี

เว็บจัดซื้อจัดจ้างล่มบ่อยไหม เพราะมักได้ยินว่าเข้าไปดูลำบากมาก

โย: มันก็ไม่ได้ล่มบ่อย ส่วนใหญ่ผมจะใช้เทคนิคคือเข้าไปตามหน่วยเล็กๆ เพียงแต่จะมีปัญหาว่าเขาไม่นำข้อมูลขึ้นเว็บเท่านั้นเอง เรายังคุยกันเลยว่า ถ้าไปฟ้องกรมบัญชีกลางนี่น่าจะคุกกันระนาวเลยนะ เพราะเอาขึ้นเว็บไม่ครบ 

สมัยนี้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น และในต่างประเทศก็มักมีงานอย่างหนึ่งที่ผมเรียกว่าเป็น ‘มอเตอร์โชว์ของทหาร’ จะมีบริษัทอาวุธมาตั้งโชว์ เราก็เดินเข้าไปคุย เขาก็ให้ข้อมูลเราดี เป็นข้อมูลชั้นต้นเลย 

หลังจากทำเพจมาสิบกว่าปี ได้เห็นสังคมผ่านมุมมองของการคอมเมนต์และการแชร์เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

โย: ผมรู้สึกว่า ด้วยภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป การที่สังคมเราเปิดกว้างมากขึ้น มันเหมือนปกป้องคนพูดเหมือนกันนะ คือถ้าพูดแล้วโดนอะไร ก็มีสังคมช่วยปกป้องอยู่ เหมือนกับคนที่มาคอมเมนต์ แต่ก่อนเขาก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไรตรงๆ แต่เดี๋ยวนี้คือกล้ามากขึ้น 

แล้วถ้าจะแตะการเมืองนิดๆ ก็คือ สมัยก่อนพอมีรัฐประหารขึ้นมา เราก็จะเห็นคอมเมนต์ของคนที่ชอบกับไม่ชอบทหารเข้ามาด่ากัน ซึ่งในเพจเราปล่อยฟรีเลยนะ เอาให้เต็มที่ ใครเห็นอะไรก็ตาม เข้ามาด่ากันได้เลย แต่ก่อนมันก็ยังไม่แยกกันขนาดนี้ ช่วงหลังนี่มีการแยกกันชัดเจนแล้วว่าอันนี้เราสนับสนุนทหาร อันนี้เราคัดค้านทหาร ก็ทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ แม้แต่ทีมแอดมินเองก็มี 2 ฝ่ายอยู่ด้วยกัน อันนี้เป็นการออกแบบเพจให้มีความคิดเห็นต่างกันมาอยู่ด้วยกัน ความคิดเห็นอย่างนี้แหละ แย้งกันอย่างนี้ ทะเลาะกันอย่างนี้ แต่ทะเลาะกันด้วยสันติ ผมคิดว่าถ้าสังคมไทยทำแบบนี้ได้ คือทะเลาะกันด้วยความคิดจริงๆ สังคมก็จะพัฒนา ไม่ใช่มานั่งรับทราบรับฟัง ปฏิบัติตามอย่างเดียว 

สังเกตว่าหน้าเพจเราจะแกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวก็จะออกแดง ออกสามนิ้ว ออกโน่นนี่นั่น ซึ่งเราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว 

พูดถึงกรณี active shooting ที่หนองบัวลำภู รวมถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น เช่น กราดยิงโคราช เห็นจุดร่วมของปัญหาอย่างไรบ้าง

ปืน: เรื่อง active shooting เท่าที่เรานับกันมา ถามว่ามีจุดร่วมมั้ย มีเยอะ จุดต่างก็เยอะ เดี๋ยวผมจะลองไล่ให้ฟังนะ ส่วนมากคนจะพูดถึง 3 เหตุการณ์หลักๆ หนึ่ง -กราดยิงโคราช ก่อเหตุโดยจ่าทหารบก สอง – คือกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนไปปล้นร้านทอง บางคนก็เรียกว่าเป็น active shooting แต่ผมจะไม่เรียกแบบนั้น สาม – คือที่จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ จุดร่วมของ 3 เหตุการณ์นี้ก็คือ ทุกคนเป็นข้าราชการหรืออดีตราชการ แต่ความยากอย่างหนึ่งคือ เราแทบจะไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เพราะส่วนมากถ้าผู้ก่อเหตุไม่ฆ่าตัวตายก็ถูกยิงตาย

ส่วนจุดต่างของทั้ง 3 เหตุการณ์คือ เหตุการณ์แรก จ่าคลั่งเขาบอกว่าโดนผู้บังคับบัญชาโกงเงิน จากการกู้ยืมเงินมาสร้างบ้าน เหตุการณ์ที่สอง ผมคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เขาจะไปปล้นร้านทอง แล้วเหตุการณ์ก็เลยตามเลย ยิงคนเพื่อเปิดทางหนี แต่ยิงเยอะไปหน่อย เหตุการณ์ที่สาม มองไม่ออกเลย จากตรงนี้ ทุกคนเบนไปที่เรื่องยาเสพติด ความต่างตรงนี้ไม่มีอะไรที่ทับซ้อนกันเลย 

เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู คนร้ายใช้อาวุธปืนแบบไหน หาซื้อได้ทั่วไปหรือเปล่า

ปืน: ถ้าด้านเทคนิค คนร้ายใช้ปืนกับมีด เป็นมีดทั่วไป กับปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. ยี่ห้อ Sig Sauer รุ่น P320 มีขายที่วังบูรพา ลองไปเดินดูมีขายแน่นอน เป็นปืนปกติ แต่หลายคนจะพูดกันว่าทำไมปืนกระบอกนี้ไม่ปกติ ผมเองไม่ได้ไปดูรายละเอียดว่ามาจากไหนนะ แต่ฟันธงเลยว่าเป็นปืนที่ผู้ก่อเหตุได้มาจากโครงการสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโครงการนี้ทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถซื้อปืนพกรุ่นนี้ได้ในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดถึง 1 ใน 3 ซึ่งราคาท้องตลาดรุ่นนี้อยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท แต่ถ้าซื้อจากสวัสดิการจะตกที่ 28,000 บาท

ปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. ยี่ห้อ Sig Sauer รุ่น P320

โย: สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับหน่วยงานทหาร เขาชอบจัดพวกโครงการสวัสดิการ คือขายปืนสวัสดิการ ยกเว้นภาษี ยกเว้นทุกอย่าง ที่พิเศษกว่านั้นในกรณีของปืนรุ่นนี้คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่คล้ายร้านปืน คือนำเข้าปืนมา สต็อกไว้ และจำหน่ายจ่ายแจกในราคาสวัสดิการ ซึ่งราคาสวัสดิการก็เหมือนกับว่าให้เจ้าหน้าที่ของเขาซื้อได้ในราคาถูกกว่า แล้วยอดขายปืนรุ่นนี้สูงถึง 100,000 กว่ากระบอกในรอบหลายปีที่ผ่านมา เผลอๆ ยอดอาจจะเพิ่มไปเรื่อยๆ นี่แค่รุ่นเดียวนะ ยังไม่นับรุ่นอื่น ยี่ห้ออื่นอีก 

ปืน: ถ้ายี่ห้อ Sig Sauer จะมีอีกรุ่นหนึ่งคือ P365 รวมกันประมาณ 150,000 กระบอก สำหรับโครงการของตำรวจและโครงการของกรมการปกครอง เยอะมาก มหาศาล

ทราบมาว่าถ้าตำรวจเบิกปืนหลวงไปใช้ทำงานแล้วปืนเสียหาย ต้องจ่ายประมาณ 80,000 บาท ส่วนมากจึงเลือกซื้อปืนส่วนตัวมากกว่า คำถามคือ เมื่อพ้นจากราชการ ไม่ว่าจะโดนไล่ออกหรือเกษียณ ทำไมจึงไม่มีการทบทวนการครอบครองปืนของบุคคลเหล่านี้ เหตุเพราะคุณไม่ได้อยู่ในอภิสิทธิ์ของวิชาชีพแล้ว โดยเฉพาะเมื่อถูกไล่ออกจากราชการเรื่องยาเสพติด

ปืน: ผมไม่เคยได้ยินว่าใครถูกยึดปืนเลย เพราะเขาจะมองว่า เวลาซื้อปืนสวัสดิการ คุณก็ต้องไปขอใบอนุญาตที่อำเภอ หรือที่กรมการปกครอง พอซื้อมาแล้วมันก็กลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของคุณเอง แล้วใบอนุญาตที่ออกมา ถ้าผมจำภาษาไม่ผิดก็คือ “ตลอดการครอบครอง” แปลว่า ถ้าคุณยังไม่โอนให้ใครใช้ หลวงก็อนุญาตให้คุณใช้ไปจนตาย

โย: ระบบตอนนี้เหมือนการออกใบขับขี่ตลอดชีพ พอสอบใบขับขี่ที่กรมขนส่งฯ แล้วก็ถือว่าคุณขับรถเป็น ขับรถเก่ง ขับปลอดภัยตลอดชีวิตเลย กรณีปืนก็คล้ายกันคือตลอดชีวิตของคุณ คุณสามารถใช้ปืนนี้ได้อย่างปลอดภัย คุณมี capacity ที่จะใช้ปืนตลอด จนกว่าคุณจะถ่ายโอนปืนนี้ออกไป

จริงๆ กฎหมายมีเขียนไว้นะ เรื่องกลไกการยึดใบอนุญาตและยึดปืนคืน แต่ชาตินี้ผมไม่ได้ยินเลยว่า มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.อาวุธปืน เคยถูกใช้ พูดง่ายๆ คือ ไม่เคยได้ยินว่าใครได้ใบอนุญาตมาแล้วถูกยึดอาวุธคืนเลย

ปืน: ถ้าพูดถึงเรื่องกฎหมาย อาจฟังดูตลกนิดหนึ่งนะ สมมุติว่าผมมีปืน 2 กระบอก วันหนึ่งผมไปปล้นร้านทอง ผมโดนจับ ศาลสั่งติดคุก ศาลสั่งริบของกลาง ของกลางนั้นก็คือปืนที่ผมเอาไปใช้ปล้น แล้วถ้าวันหนึ่งผมออกจากคุก ผมก็จะมีปืนอีกกระบอกหนึ่งซึ่งไม่ใช่ของกลาง ฟังแล้วสลดมั้ยครับ

โย: ถ้ามี 10 กระบอก เอาไปก่อเหตุ 1 กระบอก เขาก็ยึดแค่กระบอกนั้น ส่วนอีก 9 กระบอก คุณเก็บไว้ได้ ใช้ต่อได้ ปล้นได้อีก 9 ครั้ง 

เข้าใจถูกไหมว่า การขอซื้อปืนต้องมีผู้ออกใบรับรองความประพฤติก่อน ก่อนที่จะออกใบอนุญาต 

ปืน: ผมตอบในฐานะของคนที่เคยขอใบอนุญาตมาเหมือนกัน บางคนก็ไปหาคนที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซี 6 หรือเป็นทหาร-ตำรวจยศพันเอกขึ้นไป แต่บางครั้งก็มีบริการพิเศษ ราคาพาร์น่าจะอยู่ที่ 500 บาท ผมเดินไปถึงเขาก็เซ็นชื่อให้ จ่าย 500 บาท นั่นคือขั้นตอนการรับรองความประพฤติ ณ ปัจจุบัน เพราะต่อให้ผมได้ปืน แล้วไปฆ่าใครตาย คนรับรองความประพฤติก็ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบอะไร ดังนั้นถ้าคุณเป็นข้าราชการซี 6 ก็สามารถเซ็นได้ เพราะจะไม่ส่งผลต่อหน้าที่การงานคุณเลย

โย: อันนี้เป็นช่องโหว่ของกฎหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกมันตลก เราให้ข้าราชการที่ไหนไม่รู้เซ็นรับรอง ซึ่งเราก็ไม่รู้จัก กฎหมายก็ไม่ได้บอกนะว่าคุณต้องมีขีดความสามารถในการประเมินผู้ถือปืน มีความรู้เรื่องปืน ไม่ใช่ ผมเดินไปหาครูอนุบาลที่ไหนก็ได้ที่ซีถึง ให้เขาเซ็น เขาก็เซ็นได้เลย อะพี่ๆ เซ็นหน่อย ผมมีค่าน้ำชาให้ 500-1,000 บาท เอาไปยื่น จบ ราชการถือว่าคุณมีความน่าเชื่อถือในการครอบครองปืนทันที

ปืน: ถ้าในกรุงเทพฯ ก็ง่ายหน่อย คุณเดินเข้าไปร้านปืนเลย เขาจะมีอีกราคาหนึ่ง ราคานี้มีพร้อมใบ ป.3 หมายถึงว่าใบอนุญาตที่เซ็นแล้วด้วยนะ เขาก็จะบอกมาเลย 3,000-4,000 บาท หน้าที่คุณแค่เอาเอกสารวางไว้ให้เขา พิมพ์ลายนิ้วมือที่ร้าน แล้วใบรับรองต่างๆ ที่เหลือร้านจัดการให้ ถึงเวลาเขาจะโทรมาแจ้งว่าใบ ป.3 ออกแล้วนะ มารับได้เลย จบ คว้าปืนกลับบ้าน คนรับรองเป็นใครยังไม่รู้เลยนะ 

ในต่างประเทศเขาอุดรูรั่วพวกนี้ยังไง ช่วยยกตัวอย่างหน่อย

โย: ถ้าสุดโต่งคือไม่อนุญาตเลย เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีปืนได้ แต่เพื่อการกีฬาเท่านั้น แล้วต้องฝากไว้ที่ shooting club เอากลับบ้านไม่ได้ ยกเว้นบางแห่งที่มันกันดารจริงๆ เอาไว้ล่าสัตว์ก็ยังมีอยู่ หรืออย่างสหรัฐอเมริกา รัฐที่ผมพอรู้บ้าง ก่อนซื้อคุณก็ต้องเดินไปที่ police report เพื่อขอ background check แต่เขาเช็กอะไรบ้างผมก็ไม่รู้นะ เพราะผมไม่เคยขอ ถามเพื่อนมาอย่างเดียว ถ้ามี background check ได้ คุณก็ไปซื้อปืนที่ร้านได้ 

พอคุณจ่ายเงินเรียบร้อย ถ้าปืนยาวคุณเอากลับบ้านได้เลย ถ้าปืนสั้นต้องรอ 3 วัน ค่อยไปเอา เพราะเขากลัวคุณซื้อเสร็จแล้วไปยิงตัวตายหน้าร้าน อันนี้เหตุผลจริงๆ 

คิดเห็นอย่างไรกับการเปิดเสรีอาวุธแบบมลรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

โย: ผมบอกได้เลยว่าไม่มีที่ไหนเสรีในโลกนี้ ยกตัวอย่างมลรัฐเท็กซัส คุณอาจจะคิดว่าซื้อปืนได้ พกปืนได้ แต่ถ้ามองจริงๆ เท็กซัสก็ยังไม่เสรีที่สุด คุณมีสิทธิซื้อปืนได้ พกไว้ในบ้านได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณจะพกไปข้างนอกต้องขอใบอนุญาตเพื่อพกพา (conceal carry weapon) โดยจะต้องถูกตรวจประวัติก่อน แล้วต้องไปฝึกเหมือนเดิม แล้วคุณต้องเสียค่าใบอนุญาตปีละ 60 เหรียญสหรัฐ เพื่อที่จะพกพาได้ แต่การ conceal คือพกแบบซ่อน จะพกแบบคาวบอย ห้อยเอวไม่ได้ ผู้หญิงอาจจะใส่กระเป๋าของผู้หญิง ผู้ชายถ้าใส่ในกางเกงก็ต้องเอาเสื้อคลุมไว้

credit: fieldandstream.com

แต่บางมลรัฐหนักหน่วงนั้น เช่น เนบราสกา คุณสามารถขอใบอนุญาตที่เป็น open carry ได้ คุณจะห้อยปืนเป็นแรมโบ้ไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งไม่ใช่แค่จ่ายเงินแล้วได้ พวกนี้ทุกอันจะต้องตรวจประวัติ แล้วคุณต้องผ่านการฝึกฝนจากสถาบันใดก็ตามที่ทางการมอบอำนาจให้ว่าสามารถฝึกคนอื่นได้ด้วย

ในประเทศไทยก็มีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธได้เหมือนกันใช่ไหม

โย: อันนั้นคือ ป.12 ซึ่งมี 2 หน่วยงานที่ออกให้ได้ หน่วยงานแรกคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ โดยผู้ว่าฯ จะอนุญาตได้เฉพาะในเขตจังหวัดตัวเอง เช่น ถ้าผมไปขอที่จังหวัดนนทบุรี ผมก็จะพกได้เฉพาะในจังหวัดนนทบุรี แต่ถ้าจะพกพาทั่วประเทศ คนที่อนุญาตคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ตรงนี้ผมบอกเลยว่า คนธรรมดา คนทั่วไป ผมแทบไม่เจอนะว่าใครจะสามารถขอ ป.12 ได้เลย ส่วนมากก็จะเป็นข้าราชการเก่าๆ ต้องชั้นผู้ใหญ่ด้วยถึงจะขอได้ 

ส่วนเอกชนหรือประชาชนที่ขอได้ ผมมองว่าที่เขาขอได้เพราะมีอภิสิทธิ์บางอย่าง ซึ่งเหนือกว่าประชาชนทั่วไป เอาอย่างนี้ จริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไปที่พกก็ยังต้องมีใบอนุญาตนี้ แต่ร้อยละ 90 ของทั้งหมดก็ไม่มีใบอนุญาตพกพา

คิดเห็นยังไงกับการที่มีคนบอกว่า ถ้าให้ครูพกปืนไว้ป้องกันตัวบ้าง เหตุการณ์พวกนี้จะเกิดขึ้นน้อยลง

โย: ถามว่าจำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้นทั่วโลกน้อยลงไหม ไม่ใช่ครับ เพราะ active shooter ส่วนมากจะมีคำอธิบายในวงการเรียกว่า ‘lone wolf’ คือ หมาป่าเดียวดาย อยู่คนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร วางแผนคนเดียว ทำคนเดียว ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ถ้าถามว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นน้อยลงไหม บอกเลยว่าไม่มีทาง 

แต่มันจะมีแนวคิดในสหรัฐฯ ถ้าฝั่งขวาจัดจะพูดว่าแนวคิดเรื่อง ‘Good Samaritan’ ก็คือ ‘คนดีที่มีปืน’ คุณไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ได้ แต่คุณสามารถทำให้เหตุการณ์นั้นยุติลงโดยเร็วลงได้ ถ้า active shooting หยุดเร็ว แปลว่าคนตายน้อยลง นี่คือแนวคิดฝั่งขวาจัดของสหรัฐฯ รวมถึงคนเล่นปืนของไทยจำนวนมากด้วย ในกลุ่มปืนวันนั้นหลายคนก็บอกพร้อมแลก ประมาณว่า “ถ้าวันนั้นผมอยู่ตรงนั้นแล้วไม่ได้มีแค่มือเปล่า ผมก็พร้อมบวกครับ ผมไม่ยอมให้ใครมายิงเด็ก” 

พูดถึงการป้องกันตัวแบบนี้ มันมีปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67 ด้วยใช่ไหมที่ทางเพจเคยพูดถึง ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย

ปืน: ประมวลกฎหมายอาญาจะมีอยู่ 2 ติ่งนะ ติ่งแรกคือถ้าถูกบังคับให้ทำ เช่น ถ้าผมถูกเอาปืนจี้หัวให้ทำอะไรไม่ดี ผมก็ต้องรับผิด กับอีกอย่างคือ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ ปัญหาตรงนี้คิดได้สองอย่าง คำว่า ‘ภยันตรายที่ใกล้จะถึง’ ถ้าอ่านฎีกาหลายอัน ศาลจะตีความคำว่า ใกล้จะถึงขนาดไหน บางคนจะเอามีดมาฟันเรา แต่เรายิงไปก่อน ศาลก็บอกว่า เฮ้ย มันผิด ไม่เกินระยะมีด คุณยังหนีทัน แต่ถ้าคุณยิงก็โดนข้อหาป้องกันตัวโดยเกินเหตุ 

หรือคำว่า ‘ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้’ คำนี้ผมเดาว่าเจตนารมณ์ของผู้ออกกฎหมาย เขาเอามาจากแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘duty to retreat’ คือคุณมีหน้าที่ต้องหนี คำนี้หมายถึงว่า ต่อให้ผมอยู่ในบ้าน โจรจะเข้ามาทำอะไรผม ผมต้องหนีก่อน ผมหนีออกหลังบ้านได้มั้ย ผมล็อกประตูได้มั้ย ถ้าผมหนีได้ ผมมีหน้าที่ต้องหนี นี่คือเจตนารมณ์ของผู้ออกกฎหมายเขาคิดอย่างนี้ 

ทั้งสองอย่างนี้เลยกลายเป็นความกลัวของคนที่จะป้องกันตัวเองเหมือนกันนะ ข้อหนึ่ง อันตรายใกล้จะถึง เราหนีได้หรือยัง แล้วเราหลีกเลี่ยงได้มั้ย แล้วอีกอย่าง เรื่องการสมเหตุสมผล หลายครั้งที่ศาลตัดสินว่า ถ้าเขาแค่ถือไม้ แล้วเราไปยิงเขา ศาลมีแนวคิดว่า ไม้ตีไม่ตายหรอก อย่างมากแค่เจ็บ แค่แขนขาหัก คุณไปยิงเขาตาย มันเกินกว่าเหตุ ซึ่งเขาเรียกว่ามันเกินสัดส่วน อันนี้เป็นปัญหาเพราะว่า ถ้ากรณีตรงนี้ศาลเองก็ไม่เคยกำหนดอย่างชัดเจนเลยว่า เราทำอะไรได้ขนาดไหน แต่ถ้าถามใจคนปอดแหกอย่างผม เฮ้ย ทำไมล่ะ สมมุติเขามือเปล่า ประมาณพี่บัวขาว ผมมีปืน เขามาซัดผมสองที ก้านคอผมที ผมอาจจะหัวฟาดพื้นตาย หรือเขาถือไม้มา ผมถือปืน ผมยิงเขาไม่ได้ถ้ามันไม่สมเหตุสมผล แต่ไม้ตีทีเดียวผมแข้งขาหัก หูหนวก ตาบอดไป ใครรับผิดชอบชีวิตผม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันในสองกลุ่ม 

กลุ่มขวาจัดบอกว่า ทำไมเราต้องเสี่ยงกับคนพวกนี้ เราต้องเอาตัวเองให้รอดสิ เรามีชีวิตเดียว แต่อีกกลุ่มหนึ่ง เฮ้ย มันเกินเหตุนะ มันรุนแรงเกินไป เขาแค่ชักมีดมา เขาแค่ขู่หรือเปล่า ไปยิงเขาตายเลยมันก็เกินไป 

credit: washingtongunlaw.com

ปัญหาของกฎหมายมันอยู่ตรงนี้ เพราะมันไม่ชัดเจน สุดท้ายก็ต้องเข้าใจศาล เพราะศาลใช้กฎหมายข้อเดียวกับเรา พอศาลอ่านตามกฎหมายที่เขียนไว้อย่างนี้ ท่านก็ต้องตีความตามแนวคิดของท่าน

โย: มีเรื่องที่ผมอยากเสริมอีกก็คือว่า เมืองไทยจะออกแนว ‘duty to retreat’ คือคุณต้องถอยก่อน ในต่างประเทศมีแนวคิดทางกฎหมายของการใช้อาวุธอยู่ 2 อย่าง หลักๆ คือ stand your ground กับ duty to retreat 

‘stand your ground’ ก็คือตรงตัวเลย ถ้าคุณอยู่นิ่งๆ แล้วมีคนเข้ามาทำร้าย คุณมีสิทธิใช้อาวุธได้ คราวนี้ไม่ว่าแนวคิดไหนก็ตาม ไม่ว่าหรอก อยากจะใช้อันไหนก็ใช้ไป แม้แต่ผมเองที่ผมก็อาจจะซ้ายหน่อย เพราะผมโดยส่วนตัวก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องปืนเสรีเหมือนกัน แต่ผมก็รู้สึกว่าถ้าคนมีปืนแล้วใช้เพื่อการป้องกันตัว คนที่ถือปืนควรจะต้องรู้ว่าเราป้องกันตัวแบบไหนถึงจะไม่เกินเหตุ ไม่เกินสัดส่วน ซึ่งสุดท้ายแล้วมีแต่คนที่ถือปืนกับตำรวจจะมาสอนกัน น้องต้องยิงอย่างนี้นะ น้องยิงไปก่อน ยิงเพดานหนึ่งนัด ยิงหน้าต่างหนึ่งนัด แล้วค่อยยิงหัวมัน จะได้บอกศาลว่าผมวิ่งหนี ยิงมั่วๆ แล้วโดนหัวมัน อันนี้จะรอด หรือยิงขาก่อนแล้วค่อยยิงหัว ต้องมานั่งสอนกันแบบนี้ แต่สุดท้ายเราไม่รู้ว่ามาตรฐานคืออะไร 

คราวนี้เราอยากรู้บรรทัดฐานของการตีความกฎหมาย เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าคุณจะป้องกันตัวแท้ๆ หรือป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ มันต้องไปจบที่ศาลเสมอ เราคิดว่าศาลควรจะสื่อสารกับประชาชนให้มาก ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มันมีกรณีคลาสสิกอันหนึ่งของต่างประเทศที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงคนร้ายซึ่งถือมีด เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า ไม่ได้ ระยะใกล้ถือมีดอันตรายกว่าปืนเสียอีก ศาลไม่เชื่อ ศาลก็คือศาล ศาลไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เขาก็จัดทดสอบเลย ให้ศาลลองมานั่งดู ลองมาป้องกันตัวเองจากคนถือมีดและคนถือปืน สุดท้ายก็ได้กฎมา กฎกี่ฟุตผมจำชื่อไม่ได้ แต่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์เลยนะว่า ถ้าคนนั้นถือมีดห่างจากเราแค่ไม่กี่ฟุต ปืนก็ยังอันตรายน้อยกว่ามีด อันนี้คือบรรทัดฐาน 

แต่ศาลไทยไม่รู้เลยว่าคุณจะใช้วิธีอะไร ฎีกาของศาลก็จะเหวี่ยง จากคดีลุงวิศวะ ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ไปคนละโยชน์เลย เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าศาลจะใช้บรรทัดฐานไหน แล้วผมก็เดาเอาเองนะว่า แม้แต่ศาลก็ไม่มีบรรทัดฐานของตัวเองในการตัดสินคดีแบบนี้ ซึ่งถ้าศาลสร้างบรรทัดฐานได้ อย่างน้อยเป็นไกด์ไลน์ของการใช้วิจารณญาณ ไกด์ไลน์ของการใช้กฎหมาย นอกจากจะทำให้ศาลทำงานได้สะดวกแล้ว ประชาชนอย่างผมก็จะได้รู้ว่า ถ้ากูจะป้องกันตัวโดยที่มีกฎหมายควบคุมจะต้องทำกันยังไง แหม ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เดินมาเฉยๆ พวกยิงโป้ง แล้วบอกป้องกันตัว อันนี้ก็ไม่ใช่ แต่คือเราต้องรู้ก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้พลเรือนหรือประชาชนอย่างเราตีความ ซึ่งเราไม่ใช่จะตีความกฎหมายได้ทุกคน

พูดถึงการตีความกฎหมาย ทั้งหมดที่คุยกันมาคือสิ่งที่เพจ ThaiArmedForce เคยบอกเอาไว้หรือเปล่าว่า “กฎหมายออกแบบมาด้วยความคิดที่ว่า คนถืออาวุธคือคนเลวเสมอ”

โย: อันนี้ออกตัวก่อนว่าเป็นความเห็นของเราเองที่รู้สึกว่า กฎหมายตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าคนถืออาวุธคือคนเลวเสมอ ดูอย่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน 2490 ซึ่งออกมาเมื่อ 75 ปีที่แล้ว จะสังเกตได้ว่ามีแต่การควบคุม แต่ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้เลย ผมรู้สึกว่า ถ้าต้องควบคุมอะไรสักอย่าง แปลว่าเราไม่ไว้ใจสิ่งนั้น อย่าง พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 เจตนาคือเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถตั้งโรงงานผลิตอาวุธ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แต่พออ่านในข้อกฎหมาย มีแต่การควบคุมทั้งนั้น แทบไม่มีการส่งเสริมเลย

นอกจากนี้ ในกระบวนการขออนุญาตครอบครองอาวุธ ก็คือการตรวจสอบว่าคุณเป็นคนเลวหรือเปล่า แต่ไม่มีกระบวนการอำนวยความสะดวกที่ ‘Positive Approach’ ว่าคุณมีความเหมาะสมที่จะถือปืนหรือไม่ ซึ่งวิธีคิดของรัฐมองว่าคุณจะถือปืนไปทำไม คุณต้องมีเจตนาไม่ดีแน่ๆ เลย ถ้าพูดตรงๆ ก็เหมือนที่รัฐชอบมองประชาชนว่าทำอะไรแปลกแยกต่อรัฐหรือไม่ ถ้าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ คุณจะถือปืนทำไม รัฐก็มีตำรวจ ทหาร อยู่แล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องถือปืน 

ผมเข้าใจว่าคนที่อยากถือปืน เพราะเขารู้สึกว่ารัฐป้องกันเขาไม่ได้ เขาเลยอยากมีอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ คือถ้าตราบใดที่กฎหมายและรัฐยังไม่เปลี่ยนแนวคิด นอกจากจะสร้างความยากลำบากให้คนที่เป็นผู้บริสุทธิ์และมีความเหมาะสมในการจะถือปืนแล้ว กลับกันมันยังสร้างเส้นทางการทุจริตอีกด้วย

ว่ากันตรงๆ กระบวนการขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนมีการทุจริตทุกขั้นตอนจริงๆ อันนี้ไม่ได้บอกว่าใครทุจริตนะ แต่เราพูดได้แบบไม่ต้องกลัว เพราะว่าหลักฐานเต็มไปหมด แล้วกระบวนการแบบนี้ก็เอื้อให้มีผลประโยชน์กัน ถามว่าใครจะแก้เรื่องนี้

ทุกครั้งที่สังคมถกเถียงกันเรื่องปืน หลายคนมักให้ความเห็นว่าต้องเพิ่มบทลงโทษ จะได้หลาบจำ จะได้ไม่เกิดเหตุซ้ำอีก ทีมงาน ThaiArmedForce มองว่าถ้าเพิ่มบทลงโทษแล้วแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

โย: ผมคิดว่าบทลงโทษทุกวันนี้ก็รุนแรงอยู่แล้วนะ กฎหมายอาญาก็ค่อนข้างจะเข้มงวด แต่ถึงขนาดเข้มงวดก็ยังเละเทะอยู่เลย ถ้าพูดปั่นๆ หน่อยก็เหมือนเรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน ที่บอกคุณต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนสิ จะได้มีวินัย หรืออย่างกฎจราจร คุณลองเดินไปดูสี่แยกหน้าปากซอยสิว่ามีใครขับรถไม่ฝ่าไฟแดงบ้าง ฉันใดฉันนั้น ทุกวันนี้เราก็เข้มงวดอยู่แล้ว เข้มงวดกว่าหลายมลรัฐของสหรัฐฯ อีก แต่คุณก็ยังไม่สามารถลดอาชญากรรมจากปืนลงได้ และเป็นที่รู้กันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ประเทศไทยหาซื้อปืนได้เสรีมาก เวลาคนมาเลเซียยิงกัน ถามว่าได้ปืนมาจากไหน เขาก็บอกว่าไทยแลนด์แทบทั้งนั้น

ดังนั้น ถ้าคุณบอกว่าควรเพิ่มความเข้มงวดมากกว่านี้ ผมก็ขอแย้งว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไรมากขึ้น เหมือนเราต้องใส่เครื่องแบบตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย งั้นต้องใส่เครื่องแบบไปจนตายเหรอคุณถึงจะมีวินัยมากขึ้น มันใช่หรือเปล่า แก้ปัญหาอะไรหรือเปล่า อีกประเด็นคือยิ่งคุณทำให้มันเข้มงวดขึ้น ยากขึ้นเรื่อยๆ มันก็มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คุณทำเรื่องนี้แค่ขาเดียว แต่อีกขาที่คุณไม่ได้ทำคือการปราบปรามอาวุธนอกกฎหมาย ในญี่ปุ่นเขาทำสองขานะ เขาถึงกำหนดได้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีปืน แล้วเขาก็ปราบอาวุธนอกกฎหมายได้ แต่ประเทศไทยเรา ถ้ายิ่งเข้มงวดก็จะเกิดผลข้างเคียงคือยิ่งแก้ยากมากขึ้น เพราะคนก็จะหันไปหาปืนเถื่อนแทน ทุกวันนี้แค่คุณไปดูตามเพจก็ซื้อปืนได้แล้ว โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ไม่ต้องหาข้าราชการมาเซ็นเลย ถูกกว่าเยอะด้วย 

หรือแม้แต่กรณีผมซื้อปืนถูกกฎหมาย ผมก็ไปแจ้งหายได้ จบ รัฐเชื่อเลยนะว่าผมทำหาย แม้ว่าผมจะเก็บไว้ที่หลังตู้ก็ตาม ผมก็ไปซื้อปืนใหม่ แล้วปืนกระบอกนั้นจากที่ถูกกฎหมายก็กลายเป็นปืนเถื่อน ไม่มีกระบวนการอะไรที่จะควบคุมตรงนี้ได้เลย ดังนั้นผมไม่เชื่อเลยว่าการเพิ่มความเข้มงวดจะแก้ได้ มันเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป 

ปืน: ผมเสริมหน่อย ที่ว่าเข้มงวด ก็อยู่ที่ว่าคุณจะเข้มงวดยังไง คุณเพิ่มโทษหรือเพิ่มอะไร แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะคุณทำวิธีการแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร 40-50 ปีแล้ว ตัวเลขลดไปบ้างมั้ย เหมือนกรณียาเสพติด ต่อให้มีบทลงโทษประหารชีวิต แต่ทำไมยาเสพติดไม่ลด 

บางทีต้องถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคนถึงคิดอยากมีปืน แล้วทำไมเขาถึงต้องไปซื้อปืนเถื่อน  

ถ้าพูดถึงปัญหาทางจิตเวช ในหน่วยงานที่ถืออาวุธ ทั้งทหารและตำรวจ มีการตรวจสอบสุขภาพจิตมากน้อยและจริงจังกันแค่ไหน

โย: เพจเคยเสนอบทความหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องจิตเวชควรจะต้องจริงจังได้แล้วในหมู่ผู้ถืออาวุธ ซึ่งก็มีคนมาคอมเมนต์มาแชร์เหมือนกันว่า หน่วยเขามีการตรวจจริงจัง คือเขาจะมีแบบสอบถาม แบบฟอร์มประเมินเบื้องต้น ก็เหมือนบริษัทเอกชนที่มีการตรวจสุขภาพประจำปี หน่วยทหาร ตำรวจ เขาก็จริงจังนะ ถ้าคุณมีความเสี่ยงก็ส่งไปหาหมอ 

แต่บางหน่วยก็จะมองว่า การที่คุณเปิดเผยตัวเองว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางจิตเวช คุณจะถูกมองเป็นพวกอ่อนแอ ไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นทหาร ตำรวจ ที่ต้องทำงานในสภาพกดดัน แล้วพอคนไม่กล้าออกมาพูดถึงปัญหาตัวเอง ก็กลายเป็นความเสี่ยงขึ้นมาอีก

อีกประเด็นคือ จิตแพทย์กับนักจิตวิทยาในประเทศไทยมีน้อย ในโรงพยาบาลรัฐยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็แพงมาก คุยกับจิตแพทย์ชั่วโมงหนึ่ง 2,000 กว่าบาท แต่ได้คุยแบบเจาะลึกสุดๆ ลึกเข้าไปถึงก้านสมองเลย แต่ถ้าไปหาหมอโรงพยาบาลรัฐ คุยได้อย่างเก่งก็ 10 นาที เกินกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะอีก 30 คน รอคิวต่อ 

อันนี้ก็เป็นปัญหาคอขวดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็เห็นใจแพทย์ จะให้เขาตรวจสอบทหาร ตำรวจ เกือบ 500,000 คนในประเทศไทย มันต้องใช้ทรัพยากรขนาดไหน แต่เรื่องแบบนี้ก็ต้องทำจริงจัง ถ้าจริงจังกับการตรวจสอบ ไม่เล่นปาหี่ ไม่เอาตัวเลขไปโชว์นายว่าหน่วยผมไม่มีใครเสี่ยงเลยครับ แล้วปฏิบัติกับคนที่มีความเสี่ยงว่าเขาก็แค่ป่วย หรือเขาก็แค่มีปัญหา ไม่ได้บอกว่าเขาอ่อนแอ แล้วหาทางสนับสนุนช่วยเหลือเขา แบบนี้ก็น่าจะลดความเสี่ยงลงได้มาก

ถ้าสังเกตให้ดี หลายกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งนั้นเลย ทั้งทหาร ตำรวจ แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียน มันมีความแปลกๆ อะไรหรือเปล่าในวงการราชการ ลองไปดูตัวเลขที่เป็น fact สิ สิบกว่าปีมานี้ตำรวจฆ่าตัวตายไป 400 กว่าคน นี่คือตัวเลขที่น่าตกใจมากๆ ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะ 400 กว่าคน คือเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตำรวจที่มีหน้าที่ในการดูแลประชาชน แปลว่าต้องเกิดอะไรขึ้นสักอย่างในวงการผู้ถืออาวุธ 

ปืน: อย่างกรณีของจ่าที่กราดยิงโคราช ค่อนข้างชัดเจน คือมันเกิดจากปัญหาความไม่ยุติธรรมในหน่วยงาน หรือกรณีที่ตำรวจยิงตัวตาย ส่วนใหญ่ก็เพราะภาระงานเยอะเกินไป และส่วนมากเป็นพนักงานสอบสวน ยิงกันคาโต๊ะทำงาน ยิงกันคาโน้ตบุ๊กตัวเองเลย แล้วถามว่าตำรวจดูแลคนของคุณขนาดไหน

ในช่วงสัปดาห์ที่เกิดเหตุหนองบัวลำภูมีแต่ความหมองหม่น ทางเพจได้เห็นแง่มุมหรือทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้นหรือไม่จากเหตุการณ์นี้ 

โย: แม้แต่ตัวผมเองยังโกรธ ยังคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้เลย การที่จะมีคอมเมนต์โกรธ ด่าทอ ไม่ว่าด่าใครก็ตาม ก็อาจเป็นเรื่องปกติไปแล้วกับเหตุการณ์แบบนี้ แต่ถามว่าทิศทางดีขึ้นบ้างไหม ผมรู้สึกว่าก็ไม่ได้ดีขึ้นหรอก เราก็ยังโทษกันไปมา หรือคนที่ควรจะต้องหาทางแก้ไขก็ยังพยายามปกป้องตัวเองว่าไม่ต้องแก้หรอก ถ้าหากมีความจริงใจในการแก้ ก็คงไม่มีคำพูดว่า “ก็ติดยา จะให้ทำยังไง” หลุดออกจากปาก 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าประชาชนทั่วไปมีความพยายามในการจะโยนโจทย์ห้สังคมช่วยกันคิดมากขึ้น แล้วดีเบตกันมากขึ้น เช่น เรามาแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ดีไหม ซึ่งส่วนตัวผมมักจะเห็นแย้งกับคนที่สนับสนุนเรื่องปืนเสรีเป็นประจำ ผมไม่เถียงนะว่า ถ้าปืนอยู่ในมือคนดี อย่างที่อเมริกาถ้าจะมีคนเข้ามายิงคนในโบสถ์ แล้วอีกคนหนึ่งพกปืนอยู่พอดี พอเห็นท่าไม่ดีก็ยิงสวนเลย หมอนั่นตาย คนในโบสถ์ก็รอดกันหมด ปืนอยู่ในมือคนดีจึงทำให้สังคมปลอดภัย ผมไม่เถียง แต่ผมมีคำถาม 3 ข้อ หนึ่ง – ช่วยนิยามให้ผมหน่อยว่าคนดีคืออะไร สอง – เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนั้นเป็นคนดี สาม – ถ้าวันหนึ่งคนดีเปลี่ยนเป็นคนไม่ดี เราจะเอาปืนออกจากมือเขาได้อย่างไร ถ้าตอบ 3 คำถามนี้ได้ ผมสนับสนุนเลยนะ 

การออกกฎหมายต้องวัดได้ ไม่ใช่ใช้แค่ดุลยพินิจ ถ้าใช้ดุลยพินิจมากๆ แค่แต่งชุดไทยก็เป็นคนเลวแล้ว แต่ถ้ามีหลักเกณฑ์ชัดเจน เช่น คนดีคือคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม ผ่านการทดสอบสภาวะจิตใจ มีหน้าที่การงานมั่นคง ก็อาจจะตอบได้ส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นคือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนนั้นเป็นคนดี มีกระบวนการอะไร หน่วยงานไหนเกี่ยวข้อง แล้วกระบวนการนั้นต้องโปร่งใสด้วยนะ ไม่ใช่กระบวนการอย่างทุกวันนี้ที่มีเรื่องของการทุจริตและผลประโยชน์ แบบนี้ยิ่งทำยิ่งล้มเหลว

สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าวันหนึ่งคนดีเปลี่ยนเป็นคนไม่ดีล่ะ มันเกิดขึ้นได้ แล้วจะเอาปืนออกจากมือเขายังไง เพราะเขาใบอนุญาตเหมือนใบขับขี่ตลอดชีพ เราไม่เคยเรียกคนเข้ามาตรวจสอบซ้ำ ไม่เรียกเข้ามาฝึกอบรมเลย ไม่เรียกเขามาดูเลยว่าคุณยังมีความเหมาะสมที่จะดูแลปืนให้อยู่ในมืออย่างถูกต้องไหม 

ผมอยากให้สังคมไทยดีเบตกันเยอะๆ เพราะถ้าจะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงจากรัฐน่าจะยาก เราต้องให้ประชาชนสร้างกระแส จนถึงจุดหนึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงกันได้

ปืน: ผมไม่เห็นความหวังอะไรเลย แต่สิ่งที่ผมกลัวก็คือ กลัวว่าเราจะลืมมันไปอีก แล้วถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เราก็จะพูดว่า “อีกแล้วเหรอ” แล้วเราก็จะฟูมฟายโศกเศร้าไปอีก 2-3 วัน พอวันที่ 5-6-7 ประเทศไทยก็จะมีดราม่าใหม่มาให้เราเสพ ผมกลัวว่าเราจะชินชา กลัวมากนะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เผอิญเรื่องนี้เป็นดราม่าที่มีชีวิตคนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเราไม่เห็นความหวังว่าจะมีใครมาขายแนวคิดในการแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นคนไทยทำได้แค่ต้องทนกันต่อไป 

ผมสิ้นหวังครับ

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า