คำปลอบโยนจาก ‘หนังสือฮีลใจ’ ทางเลือกยอดนิยมในสังคมอันสิ้นหวัง

ถ้ามีเงินพอจะซื้อหนังสือสักเล่ม คุณจะเลือกซื้อหนังสือเล่มไหน?

คำถามปลายเปิดที่ไม่จำเป็นต้องเฟ้นหาคำตอบอันประกอบด้วยเหตุผลที่หนักแน่น อาจกลายเป็นคำถามที่ชวนให้คิดหนักในยุคสมัยที่ความบันเทิงไม่อาจซื้อหามาได้ด้วยเศษเงินในบัญชี

ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองไม่เพียงส่งผลต่อการเลือกซื้อหนังสือ แต่ยังกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในระดับโลก ไม่เว้นแม้แต่ความนิยมด้านการอ่านในประเทศไทย 

ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ซึ่งรวบรวมสถิติการอ่านและจับจ่ายหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ พบว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หนังสือในหมวดจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง กลายเป็น 1 ใน 5 อันดับของหมวดหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และยังคงไต่ระดับความนิยมขึ้นในทุกๆ ปี

หากลองสำรวจหนังสือขายดีในช่วงปีนี้ของตลาดร้านหนังสือซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้อ่านทั่วไปอย่าง SE-ED Book Center, B2S และนายอินทร์ ก็จะพบกับหนังสือหมวดจิตวิทยาและการพัฒนาตนเองอย่างน้อย 1 เล่ม จาก 20 เล่ม ของหนังสือขายดี ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับแปลภาษาต่างประเทศ 

เทรนด์การอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของสังคม บ่งบอกข้อมูลสำคัญบางอย่างภายใต้ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของผู้อ่าน ในขณะที่หนังสือหมวดวรรณกรรมและการ์ตูนยังผลัดกันครองตำแหน่งขวัญใจมหาชน หนังสือที่มีเนื้อหาชุบชูจิตใจผ่านการทำงานของหลักจิตวิทยาก็ได้คืบคลานเข้ามาครองพื้นที่บนชั้นหนังสือได้อย่างไม่ขัดเขิน

หนังสือพัฒนาตนเองยอดนิยมหลายต่อหลายเล่ม ไม่เพียงถูกจัดวางให้ค้นหาได้ง่ายในชั้น ‘ขายดี’ และ ‘หนังสือแนะนำ’ แต่ยังถูกพูดถึงในพื้นที่โซเชียลมีเดียผ่านการรีวิว และจุดกระแสให้ผู้ที่มีความสนใจไปสรรหามาไว้ในครอบครอง ตัวอย่างเช่น อิคิไก (The Little Book of Ikigai), ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid), เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข, แด่ผู้แหลกสลาย (REASONS TO STAY ALIVE), แล้วเราจะเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น เป็นต้น

จุดร่วมของหนังสือเหล่านี้ คือเนื้อหาซึ่งเกี่ยวกับการสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน ปลอบประโลมชีวิตที่เจ็บปวดและยากลำบาก มีเอกลักษณ์เป็นการสื่อสารอย่างเถรตรง เลือกใช้ถ้อยคำสละสลวยแต่เข้าถึงง่าย อีกทั้งสามารถเอื้อมไปสัมผัสกับจิตใจของผู้อ่านได้เพียงแค่อ่านชื่อหนังสือ

อาจพูดได้ว่าความทุกข์ยากจากการใช้ชีวิตในสังคมทุกวันนี้ ผลักให้ความนิยมของ ‘หนังสือฮีลใจ’ เติบโตขึ้นเป็นวงกว้าง

แม้หนังสือพัฒนาตัวเองจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับตลาดหนังสือในประเทศไทย แต่ความนิยมจากผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ถูกสะท้อนผ่านรูปแบบการผลิตหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ทั้งการออกแบบรูปเล่มให้ถูกจริตผู้อ่าน มีความทันสมัยและพกพาง่าย การเลือกสรรเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตใจที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม และการเรียบเรียงถ่ายทอดที่สร้างความใกล้ชิดกับผู้อ่านมากยิ่งขึ้น

เรามักพบกับแนวคิดซึ่งอาจไม่เคยถูกยอมรับในสังคมยุคเก่า แต่กลับกลายเป็นเรื่องธรรมชาติในหนังสือเหล่านี้ อย่างการเปิดเปลือยความเปราะบางในจิตใจของมนุษย์ การยอมรับว่าความพ่ายแพ้และความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่ การปฏิเสธการเป็นคนดีในสายตาผู้อื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ตัวเอง และการทำความเข้าใจตัวเองในด้านที่สังคมไม่อนุมัติให้มีอยู่

ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวของบาดแผลทางอารมณ์หลากหลายรูปแบบที่สร้างความเจ็บปวดและกัดเซาะตัวเรา ได้แก่ การถูกปฏิเสธ ความเหงา การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ ความรู้สึกผิด การครุ่นคิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ความล้มเหลว ความเคารพตัวเองต่ำ เรียบเรียงมาเป็นคู่มือแนะนำวิธีรักษาเยียวยาจิตใจ – ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid)

เมื่อกล้ายืนหยัดความคิดของตัวเอง กล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ทำไม่ได้ และสิ่งที่ทำไม่ไหว เราก็จะไม่ต้องเสแสร้ง ไม่อึดอัด และไม่ถูกคนอื่นเอาเปรียบอีกต่อไป – เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข

ขอให้หนังสือเล่มนี้เป็นดังเข็มทิศของผู้ต้องการเข้าใจโรคซึ่งกัดกินชีวิตของผู้คนนับล้าน เป็นมิตรแท้ปลอบประโลมในวันเศร้า และเหนือสิ่งอื่นใดคือเป็นความหวังแด่เหล่าผู้แหลกสลาย – แด่ผู้แหลกสลาย (REASONS TO STAY ALIVE)

ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อคนอื่น แต่เพื่อตัวของเราเอง

แค่มีความสุขที่ได้ทำในจุดมุ่งหมายที่เป็นตัวเรา เท่านี้ก็เพียงพอในความหมายของอิคิไกแล้ว – อิคิไก (The Little Book of Ikigai)

สุดท้ายแล้วคำตอบที่อยู่เบื้องหลังทุกความฝัน คือเราอยากโตขึ้นมาเป็นความสุข “เราอยากโตขึ้นมาเป็นความสุข” – แล้วเราจะเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น

นัยหนึ่ง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแนวทางการผลิตหนังสือเพื่อการปลอบโยนและส่งเสริมให้มนุษย์กล้ายอมรับความผิดพลาด แทนการสั่งสอนและกระตุ้นการเอาชนะซึ่งเป็นแนวทางที่เคยเป็นมาในอดีต กลายเป็นอาวุธสำคัญของการต่อสู้ในอุตสาหกรรมหนังสือไทยที่กำลังเผชิญกับสภาวะถดถอยอยู่ขณะนี้

แม้จะเป็นเช่นนั้น เป้าหมายเพื่อการเยียวยาและพัฒนาคุณสมบัติบางประการของมนุษย์ ทำให้หนังสือเหล่านี้เลือกจะสร้างฐานของ ‘ความเป็นมิตร’ ผ่านภาษาของผู้เขียน ด้วยการจัดวางตัวเองไว้ในเรื่องราวและอารมณ์ของผู้อ่านอย่างกลมกลืน ไม่มองผ่านมุมของสังคม แต่เลือกจะพูดแทนผู้อ่านซึ่งมีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน สิ่งนี้กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หนังสือจิตวิทยาและการพัฒนาตนเองเข้าครองใจของผู้อ่านที่กำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในชีวิตได้อย่างง่ายดาย


ในแง่มุมเล็กๆ ของหนังสือฮีลใจ จึงไม่เพียงฝากลายมือของผู้เขียน แต่ยังทิ้งร่องรอยที่สะท้อนตัวผู้อ่านไว้เช่นกัน

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า