ผลทดสอบของเล่นเด็กที่ผลิตจากพลาสติก PVC พบการปนเปื้อน ‘สารทาเลท’ (Phthalate) เกินค่ามาตรฐานสากล 300 เท่า แพทย์เตือนอาจมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศทั้งเด็กชายและเด็กหญิง
ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กในครั้งนี้ดำเนินการโดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า สารทาเลทถูกใช้เป็นส่วนผสมในของเล่นพลาสติกชนิด PVC เพื่อให้เกิดความอ่อนนุ่ม ทำให้เด็กๆ เกิดความสนุกสนานจากการสัมผัส
การปนเปื้อนของสารทาเลทเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมของเด็ก เริ่มตั้งแต่การสัมผัส การบีบ การนำของเล่นเข้าปาก การกัด การเคี้ยว รวมถึงการระเหยของสาร โดยของเล่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ได้แก่ ของเล่นที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ห่วงยาง เสื้อกันฝน เป็นต้น
“สารทาเลทถูกใช้ในของเล่นมานาน จนกระทั่งหลายประเทศได้มีการศึกษาผลกระทบและนำมาสู่การออกมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังกล่าว”
“จากการศึกษาผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ทดลอง พบว่า หากได้รับสารทาเลทในปริมาณสูงจะเกิดอันตรายต่อตับ ไต แต่หากได้รับในปริมาณต่ำเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการสร้างสเปิร์ม การทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และฮอร์โมนเพศ หากเป็นสัตว์ทดลองเพศเมียจะมีผลต่อภาวะการตกไข่ เนื่องจากสารทาเลทจะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และหากกำลังตั้งครรภ์ ลูกที่ออกมาจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งในตับหากได้รับสารเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า แม้จะยังไม่มีการศึกษาทดลองกับมนุษย์โดยตรง แต่มีการตรวจสอบสารทาเลทที่อยู่ในร่างกายเด็ก พบว่ามีผลกระทบอย่างยิ่งต่อฮอร์โมนเพศชาย โดยอาจทำให้ลักษณะอวัยวะเพศมีความกำกวมตั้งแต่กำเนิด ลูกอัณฑะไม่ลงถุง การสร้างสเปิร์มมีความผิดปกติ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะมีโอกาสเป็นหมันได้
“เป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่ประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีการควบคุมสารทาเลทอย่างน้อย 6 ชนิด โดยไม่ให้เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ และมีแนวโน้มว่าจะมีการควบคุมสารทาเลทชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ขณะที่มาตรฐานอุตสาหกรรมในบ้านเรายังไม่มีข้อกำหนดที่ครอบคลุมถึงสารดังกล่าว”
สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก 51 ตัวอย่าง ทั้งจากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ตามท้องตลาดทั่วไป หน้าโรงเรียน และในตลาดออนไลน์ พบว่ามีสารทาเลทปนเปื้อนมากถึง 18 ตัวอย่าง และสูงเกินค่ามาตรฐานสากล (EU) กว่า 300 เท่า
“ของเล่นที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นตุ๊กตายางสำหรับบีบและไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 11 ตัวอย่าง ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบสารทาเลทเกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ มีอยู่จำนวน 7 ตัวอย่าง”
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ฉลาดซื้อ กล่าวอีกว่า จากผลทดสอบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมต่อไป
สนับสนุนโดย