วันที่ 8 กันยายน 2022 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระพลานามัยทรุดลง และกำลังเข้าสู่การรักษาพระวรกาย ณ ปราสาทบัลมอรัลในความดูแลของคณะแพทย์ ต่อมาในเวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พระราชวังบักกิงแฮมยืนยันข่าวสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตอย่างสงบในพระชนมายุ 96 พรรษา
นับตั้งแต่ปี 1953 ที่พระองค์ทรงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกผ่านโทรทัศน์ต่อหน้าผู้ชมกว่า 20 ล้านคน 70 ปีที่พระองค์เสวยราชสมบัติมาจนมีพระชนมายุถึง 96 พรรษา พระองค์ได้ใช้ช่วงเวลาผ่านประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน ได้ผ่านยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 15 คน ได้เห็นความล้มเหลวในการพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ รวมไปถึงความสำเร็จในการแยกสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และมีบทบาทเคลื่อนไหวในฐานะประมุขและตัวแทนของประชาชนชาวอังกฤษในระดับโลกอีกเป็นจำนวนมาก
ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของยุคสมัยใหม่ นับตั้งแต่สมัยของความขัดแย้งสู่วันที่โลกพยายามเดินหน้าหาสันติภาพและการพูดคุย บทบาททางสังคมการเมืองในฐานะประมุขของรัฐและสถาบันกษัตริย์ในโลกตะวันตกของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรื้อฟื้นเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้ง
กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แต่ยังมีช่องโหว่กฎหมายในบางคราว
ประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบของสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่ประเทศอื่นๆ นำไปใช้ต่อยอด ทว่ากฎสำคัญทั้งในทางกฎหมายและทางธรรมเนียมปฏิบัติระบุไว้ว่า กษัตริย์ต้องทรงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันที่กษัตริย์ถูกมองว่าเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งจากมุมมองของโลกตะวันตก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เองก็เคย ‘แอบ’ ใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการผลักดันความต้องการทางการเมืองของตนเองเช่นกัน
4 วันก่อนการลงประชามติที่อาจจะมีผลให้สกอตแลนด์แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร (18 พฤศจิกายน 2014) สมเด็จพระราชินีนาถขณะกำลังกลับจากโบสถ์เครธีเคิร์ก (Crathie Kirk) บริเวณใกล้ปราสาทบัลมอรัลของพระองค์ในเขตอาเบอร์ดีนเชอร์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้กล่าวแก่ประชาชนผู้มาร่วมต้อนรับว่า “เราหวังว่าประชาชนทุกคนจะไตร่ตรองให้รอบคอบถึงอนาคตของตนเอง” (“Well, I hope people will think very carefully about the future.”) ซึ่งโฆษกประจำสำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ระบุว่า ทางสำนักพระราชวังไม่เคยวิพากษ์การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือบทสนทนาแบบส่วนตัวใดๆ ของสมเด็จพระราชินีนาถ
ครั้งต่อมา พระองค์ตรัสไว้ในวันที่ 24 มกราคม 2019 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสถาบันสตรีแห่งแซนดริงแฮม (Women’s Institute: WI) ถึงกรณี Brexit ในทำนองว่า ในความแตกต่างที่ขัดแย้งกันของสังคม พระองค์คือคนประเภทที่ยังเชื่อมั่นในการพูดคุยกัน ร่วมมือกันเพื่อรักษาสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันเอาไว้โดยไม่กระทบต่อวิสัยทัศน์ภาพรวม แน่นอนว่า พระองค์ใช้โอกาสพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนี้ในเวลาอันรวดเร็วกับฝูงชนที่มารับเสด็จ
ข้อครหาเรื่องการใช้ภาษีประชาชน บาดแผลฝังลึกของราชวงศ์
เดือนมิถุนายน 2018 มีการใช้งบปรับปรุงพระราชวังบักกิงแฮมถึง 369 ล้านปอนด์ และพระองค์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายไปถึง 45.7 ล้านปอนด์ ในปีงบประมาณเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ผ่าน Twitter ว่าพระองค์ทรงเป็น ‘ผู้ร่ำรวยที่สุดบนเกาะอังกฤษ’ ที่ใช้จ่ายด้วยเงินภาษีของประชาชน รวมไปถึงกรณีที่ประชาชนรับรู้การมีอยู่ของเปียโนทองคำจากคลิปพระราชดำรัสวันคริสต์มาสปี 2018 ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก
รายงานด้านการเงินอย่างเป็นทางการของ The Royal Household ระบุว่า ในปี 2020-2021 รายรับจากเงินอุดหนุนดังกล่าวจะสูงถึง 85.9 ล้านปอนด์ ขณะที่สำนักข่าว BBC คำนวณออกมาแล้วว่า จำนวนเงินดังกล่าวจะเทียบเท่ากับการจ่ายภาษีที่ 1.29 ปอนด์ต่อหัวสำหรับประชากร ซึ่ง TaxPayers’ Alliance (องค์กรอิสระที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูประบบภาษีของอังกฤษ) ระบุว่า งบประมาณอุดหนุนสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ลดลง แม้ว่าประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤตอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากหน่วยงานพระคลังจะให้งบช่วยเหลือ เพื่อให้แน่ใจว่างบประมาณอุดหนุนของราชวงศ์จะไม่ได้รับผลกระทบในปีงบประมาณถัดไป
จากข้อครหาเหล่านี้ ทำให้เกิดกลุ่มต่อต้านพระองค์และสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยมากขึ้นในปีเดียวกัน ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘Republic’ การเคลื่อนไหวแรกคือ โครงการระดมทุนเพื่อติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วเกาะอังกฤษ โดยมีข้อความในเชิงตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ว่า “ปกปิด แตกแยก ไม่เป็นประชาธิปไตย ร่วมล้มล้างระบอบกษัตริย์” (“Secretive, Divisive, Undemocratic. Abolish the monarchy.”) รวมไปถึงถ้อยคำกล่าวหาเหนือรูปสมาชิกราชวงศ์ กลุ่มดังกล่าวระดมทุนได้ถึง 30,000 ปอนด์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2021 และยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
เรื่องอื้อฉาวและข่าวซุบซิบ
พระองค์ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่ฐานะประมุขของประเทศและหนึ่งในตัวละครทางการเมืองคนสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าสายตาในแวดวงข่าวบันเทิงและเรื่องอื้อฉาวอีกด้วย โดยเฉพาะการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา (Diana) เมื่อปี 1997 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เหตุการณ์ครั้งนั้นทางการระบุว่าเป็นอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการกล่าวโทษไปยังนักข่าวที่ไล่ตามรถของเจ้าหญิงไดอานาจนเกิดอุบัติเหตุ (และอาจตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกายคนขับ) ทว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์นี้คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกประชาชนมองด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ไม่ได้จัดพิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมหลังการสิ้นพระชนม์ เช่น ปฏิเสธการลดธงลงครึ่ีงเสา เป็นต้น ด้วยมูลเหตุจำนวนมากทำให้มีกลุ่มทฤษฎีสมคบคิดนำไปเชื่อมโยงว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอยู่เบื้องหลังการสิ้นพระชนม์ครั้งนี้
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2021 เจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนให้สัมภาษณ์กับพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ ว่า ในราชสำนักอังกฤษยังมีการกีดกันทางเชื้อชาติอย่างรุนแรงอยู่ ซึ่งสำนักพระราชวังต้องใช้เวลาถึง 2 วัน กว่าจะเผยแพร่แถลงการณ์ออกมาตอบโต้ ใจความสำคัญหลักนอกจากระบุว่ามีตัวแปรอื่นประกอบอยู่ด้วยแล้ว เรื่องอื้อฉาวทั้งหมดนี้จะถูกชี้แจงโดยสมาชิกครอบครัว (ราชวงศ์) เป็นการส่วนตัวเท่านั้นอีกด้วย
ที่มา
- Queen Elizabeth II’s 15 prime ministers
- ควีนอังกฤษ : สำนักพระราชวังแถลงสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 สวรรคตแล้ว