วาทะเด็ดแห่งปี 2020 ที่กลายเป็นภาระให้คนรุ่นถัดไป

ในปี 2563 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย วาทะจากบุคคล ตลอดทั้งปี 2563 ได้สร้างความ ‘อิหยังวะ’ ให้แก่สังคมอยู่เนืองนิจ หลายวาทะกลายเป็นภาระให้สังคมตีความ และกลายเป็นไวรัลแพร่กระจายไปทั่วโซเซียลมีเดีย มีการนำคำพูดไปทำเป็นแฮชแท็กล้อเลียน เสียดสี และถกเถียงประเด็นกันอย่างกว้างขวาง

หาก ‘คำพูด’ เปรียบประหนึ่งอาภรณ์ของความคิด นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าตรรกะของสังคมกำลังล้มเหลว?

WAY สำรวจ 11 วาทะแห่งปี 2563 ที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน

 

ปฏิรูป = ล้มล้าง

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงชื่อดังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ในประเด็น 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบัน นักแสดงใจกุศลมีความคิดเห็นว่า คำว่าปฏิรูปและคำว่าล้มล้างคือคำเดียวกัน หลังจากนั้น โฟกัส จีระกุล นักแสดงสาวชื่อดังที่แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง โดยโพสต์ความหมายของคำว่า ‘ปฏิรูป’ และคำว่า ‘ล้มล้าง’ ผ่านทางอินสตาแกรม พร้อมกับเขียนแคปชั่นว่า “ความจริงก็คือ…ความหมายไม่เหมือนกัน” โฟกัสยังเขียนแคปชั่นทิ้งท้ายอีกว่า “นี่คือความจริงที่เราควรอ่านหนังสือให้เยอะๆ เปิดพจนานุกรมให้บ่อยๆ ค่ะ และควรใช้สมองในการอ่านหนังสือ”

 

งดแปลว่ายังทำได้อยู่

เดือนมีนาคมที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่กระจายโรคโควิด-19 สส.ปารีณา ไกรคุปต์ กลับเดินทางไปร่วมงานปาร์ตี้วันเกิดภรรยาของสมาชิกร่วมพรรค เมื่อสังคมตั้งคำถาม สส.ปารีณา จึงได้ตั้งโต๊ะแถลงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จนทำให้เกิดวลีเด็ด “งดแปลว่ายังทำได้อยู่” และให้เหตุผลประกอบด้วยว่า ได้มีการเตรียมงานไปเยอะแล้ว ทำให้ไม่สามารถยกเลิกงานวันเกิดได้ หลังจากนั้นเธอได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊คเพื่อขยายความวลีดังกล่าวว่า “ห้ามคือห้าม งดไม่ได้แปลว่าห้าม เลื่อนไม่ได้แปลว่ายกเลิก”

จากวลี “งดแปลว่ายังทำได้อยู่” ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าสรุปแล้วประชาชนสามารถจัดงานรื่นเริงหรือไปร่วมงานสังสรรค์ได้เหมือนที่ สส.ปารีณาไปได้หรือไม่ และสุดท้ายก็ไม่มีบทสรุปให้กับสังคม วลี “งดแปลว่ายังทำได้อยู่” จึงกลายมาเป็นวลีล้อเลียน เสียดสีกันในโลกโซเชียลมีเดีย ว่าหรือนี่คือเพลงใหม่ของวง Getsunova

 

วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าใช้ได้เลย

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ จังหวัดสมุทรสาคร ออกมาแถลงเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งผู้ว่าฯ สมุทรสาครได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในการสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านและสแกนแอพพลิเคชั่นไทยชนะ เข้า-ออก ทุกครั้ง โดยผู้ว่าฯ จังหวัดสมุทรสาครได้ย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่เคร่งครัดและกล่าวปิดท้ายว่า “วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าใช้ได้เลย”

ในขณะที่ บริษัทสตาร์ทอัพ ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้เปิดโครงการ ‘วัคซีนเพื่อคนไทย’ โดยให้คนไทยร่วมบริจาคเงินคนละ 500 บาท จำนวน 1,000,000 คน เพื่อที่จะได้สิทธิในการรับวัคซีน จากโครงการนี้ทำให้สังคมเกิดคำถามถึงสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งในหลายประเทศซื้อวัคซีนและแจกจ่ายให้กับประชาชนในประเทศกันอย่างทั่วถึง เช่น อังกฤษและสิงคโปร์ เป็นต้น

จากคำกล่าวของผู้ว่าฯ จังหวัดสมุทรสาคร กลายมาเป็นความหวังและแรงกดดันจากประชาชนต่อรัฐบาลในการจัดสรรสวัสดิการของรัฐ และจัดหาวัคซีนที่เพียงพอต่อประชาชนคนไทยทุกคน

 

ประเทศไทยต้องชนะ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ในประเด็นการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ การทำงานของภาครัฐ และมาตรการการตรวจสอบโรคระบาด อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการป้องกันตัวทั้งสวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการชู 2 มือ พร้อมกล่าวว่า “ประเทศไทยต้องชนะครับ”

ทำเอาแฮชแท็ก #ประเทศไทยต้องชนะ ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนถึงการทำงานของรัฐบาล

ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า เขียนข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “แพ้ตั้งแต่เห็นหน้าผู้นำแล้วค่ะ ในห้วงยามวิกฤติแบบนี้ ผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ไม่ตื่นตระหนก แต่แถลงของพลเอกประยุทธ์ นอกจากเนื้อหาจะไม่มีรายละเอียดใดๆ มากกว่าข่าวต้นชั่วโมง ภาษากายยังย่ำแย่ด้วย”

รวมถึง พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในคลิปวิดีโอการแถลงการณ์ดังกล่าวบนอินสตาแกรม ความว่า “ชนะอะไร ไม่ได้แข่งโอลิมปิก” เพื่อเหน็บแนมการทำงานของรัฐบาล

นอกเหนือไปกว่านั้น ศิลปินของไทยได้ร่วมสร้างสรรค์บทเพลง โดยใช้ชื่อเพลง ‘ประเทศไทยต้องชนะ’ ตามมาอีกหลายบทเพลงเพื่อเป็นการส่งต่อกำลังใจห้วงยามวิกฤตการณ์เช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาลจวบจนปัจจุบัน

ทิศทางไหนบ้างที่ประเทศไทยจะชนะ อย่างถ้อยคำที่นายกรัฐมนตรีเคยเอ่ย

 

เงินเดือน สส. 1.2 แสน ไม่พอใช้

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อสภาถึงกรณีเงินเดือนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่พอใช้ เนื่องจากมีพื้นที่ในการดูแลมากโข เพียงก้าวออกจากบ้านก็มีเรื่องต้องใช้เงินแล้ว สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนที่กลับมาตั้งคำถามต่อสังคมประชาธิปไตยแห่งนี้ว่าถ้าเงินเดือน สส. จำนวน 1.2 แสน ยังไม่พอใช้ แล้วฐานเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานประชาชนที่จบปริญญาตรีเพียงแค่ 15,000 บาท นั่นคงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผล

 

เผด็จการจงเจริญ ประชาธิปไตยจงพินาศ

เกม-คชโยธี เฉียบแหลม แกนนำกลุ่มเยาวชนช่วยชาติ ประกาศผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ส่วนตัวว่า “เผด็จการจงเจริญ ประชาธิปไตยจงพินาศ” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 กลายเป็นกระแสจนหลายคนตั้งคำถามว่า เกมออกมาด้วยความสมัครใจ หรือว่าเขาเป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับคนบางกลุ่ม อาจเป็นเพราะการพูดของเกมดูไม่เป็นธรรมชาติ และทฤษฎีความรู้บางอย่างที่ไม่มีการอ้างอิง แม้เกมจะยืนยันว่าเขาออกมาด้วยตนเองเพื่อต่อสู้กับอีกฝ่ายที่ไม่เคารพกฎหมาย และเขารู้สึกว่าถูกล่วงเกินจากการที่มีคนต่อต้านสถาบัน จนกลายเป็นที่มาของวลีสุดพิสดารอย่าง “เผด็จการจงเจริญ ประชาธิปไตยจงพินาศ”

 

ท่านประวิตรเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก

ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งมียอดถูกใจบนแฟนเพจจำนวนกว่า 4 ล้านคน ก็เข้าตาจนหลังพิงฝา จุดเริ่มต้นของของเรื่องราวทั้งหมด คือการโพสต์คลิปวิดีโอ “ผมได้มาปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร” หรือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงนำไปสู่การขุดคุ้ยผู้อยู่เบื้องหลังผลประโยชน์

หลังจากคลิปวิดีโอดังกล่าวได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ได้เกิดกระแสวิพากษณ์วิจารย์อย่างหนัก หรือ ‘ทัวร์ลง’ จนทำให้ #ฌอนบูรณะหิรัญ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1

จนยอดถูกใจเพจตกลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าเปรียบเสมือนการรื้อผลประโยชน์ใต้พรมขึ้น เมื่อทางเพจเฟซบุ๊ค ‘แหม่มโพธิ์ดำ’ ออกมาตั้งคำถามกรณีเรื่องเงินบริจาคดับไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 875,741.53 บาท พร้อมหลักฐาน แต่มีความคลาดเคลื่อนกับยอดการบริจาคใหม่ที่ฌอนแจ้งไว้มากถึง 1.3 ล้านบาท ยิ่งเพิ่มข้อครหาถึงความโปร่งใสและรายได้จากการบริจาคเงินทั้งหมด

รวมถึงคดีความทางกฎหมาย โดยถูกดำเนินคดีความหลายกรณี อาทิ ศรีสุวรรณ จรรยา แจ้งความ ปอท. เอาผิดฐานฉ้อโกงยักยอกทรัพย์-ผิด พ.ร.บ.คอมฯ บุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอแม่ริม เรียกร้องสอบสวนเรื่องเงินบริจาค นอกจากนั้น ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ แจ้งความ กล่าวหา 3 ข้อหาคือ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เรี่ยไรเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน

ในขณะเดียวกัน ประชาชนตั้งข้อสงสัยการโพสต์คลิปวิดีโอดังกล่าว อาจจะเกี่ยวข้องกับการจ้างวาน แต่กลับได้คำตอบสั้นๆ จาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ความว่า “ไม่รู้จัก ไม่ได้จ้าง ไม่เคยเห็นหน้าฌอนมาก่อน” กระแสเดือดดาลที่เกิดขึ้นส่งผลให้ ฌอน บูรณะหิรัญ เงียบหายนับ 2 เดือน และกลับมาพร้อมคลิปวิดีโอ กล่าวขอโทษต่อสิ่งใดที่เคยทำ ขออภัยทุกท่าน ขอให้ยกโทษให้ด้วย จะยังคงใช้ชีวิตออฟไลน์อีกสักระยะ

เวลาล่วงเลยมาแล้วนับ 5 เดือน ประชาชนยังไม่ได้รับคำตอบในประเด็นเงินบริจาค และไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่คำตอบทั้งหมดจะได้รับความกระจ่าง

 

ผมยาวบังเพื่อน

ผมยาวบังเพื่อน – ประโยคจาก ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ทางรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนกลุ่มนักเรียน น้องมิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ และ น้องเพกา เลิศปริสัญญู ตัวแทนจาก เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ เกี่ยวกับ ม็อบนักเรียนเลว ซึ่งได้ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาไทย

เขาแสดงความคิดเห็นร่วมกันในหลายประเด็น เช่น ประเด็นทรงผม การแต่งกาย ระบบการศึกษาที่ล้าหลัง รวมถึงการคุกคามการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน การถกเถียงประเด็นทรงผม ได้มีประโยคจาก ดร.วีระ ว่า “สมมุติถ้าน้องไว้ผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนข้างหลัง นี่คือความรู้สึกคนอื่น”

สร้างภาวะ ‘อิหยังวะ’ ไปทั่วหล้า

 

โควิด กระจอกงอกง่อย

“โควิด กระจอกงอกง่อย” วลีจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 กรณีการแพร่ระบาดของโควิดในหลายพื้นที่ภาคเหนือ

“ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกจนเกินไปนัก เพราะสภาพของประเทศไทยวันนี้เราเข้าใจโควิดมากพอสมควร ระบบสาธารณสุขเข้าใจการรับมือกับเชื้อโรคโควิดได้ เรามียา มีโรงพยาบาล มีห้อง มีเครื่องช่วยหายใจ ยังไงก็ควบคุมได้ ต่อให้มีการแพร่ ไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด โธ่ เชื้อโรคโควิดกระจอกงอกง่อย”

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แถลงยืนยันตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ติดเชื้อภายในประเทศซึ่งไม่พบประวัติเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัด เป็นเจ้าของแพในตลาดกุ้ง ตำบลมหาชัย หลังพบผู้ติดเชื้อจึงทำให้ทีมสอบสวนโรคเร่งติดตามและคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ โดยคัดกรองแรงงานต่างชาติแล้ว 1,192 คน พบผู้ติดเชื้อ 516 คน คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด และกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแรงงานข้ามชาติ

จึงทำผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างพากันติดแฮชแท็ก #ถอดถอนอนุทิน ความว่า “1 สิทธิ 1 เสียง ร่วมถอดถอนอนุทินจากรัฐมนตรี” พร้อมกล่าวถึงคำสบประมาท และวิจารณ์การทำงานโดยไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 จนทำให้แฮชแท็กดังกล่าวติดอันดับความนิยมอันดับ 2

 

มันไม่ใช่เฮโรอีน มันเป็นแค่แป้ง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากเมื่อปี 2536 ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่เดิมใช้ชื่อว่า มนัส โบพรหม ได้ถูกทางการออสเตรเลียจับกุมข้อหานำเข้าเฮโรอีนและถูกคุมขังที่ออสเตรเลียนานถึง 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.

รวมถึงมาตรา 160 รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยนายธรรมนัสอ้างว่าสิ่งที่ตำรวจออสเตรเลียยึดเป็นเพียง ‘แป้ง’ ไม่ใช่เฮโรอีน และยังเคยโต้แย้งกับประธาน กมธ. ป.ป.ช. อีกว่าตนเคยติดคุกที่ออสเตรเลีย 4 ปีจริงแต่ไม่ใช่คดียาเสพติด ทั้งนี้ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สำเร็จ นายธรรมนัสยังคงสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่สะท้อนจากการอภิปรายไม่วางใจครั้งนี้ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่เห็นผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าข้อเท็จจริงหรือ? วลีที่ว่ามันไม่ใช่เฮโรอีนมันเป็นแค่แป้ง กลายมาเป็นวลีที่เสียดสีถึงความพิกลพิการของระบบยุติธรรมในประเทศไทย

 

คนไทยทั้งประเทศ ลุงตู่ห่วงใยนะจ๊ะ

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงความเป็นห่วงต่อประชาชน กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เตือนการ์ดอย่าตก และต้องประคองตัวต่อไปให้ได้ และจบท้ายด้วยคำพูดว่า “คนไทยทั้งประเทศ ลุงตู่ห่วงใยนะจ๊ะ”

ประชาชนที่ได้รับกำลังใจจากลุงตู่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ ‘นะจ๊ะ’ เป็นพิเศษ ประชาชนบางส่วนรู้สึกไม่พอใจจนเกิดเป็น #นะจ๊ะ บนทวิตเตอร์ เพราะการใช้คำว่านะจ๊ะเหมือนลดทอนความจริงใจ และไม่ถูกกาลเทศะ การพูดด้วยคำห้อยท้ายแถลงการณ์ที่ควรจะพูดอย่างเป็นทางการมากกว่า ขณะที่บางคนมองว่า ‘นะจ๊ะ’ เป็นการใช้คำพูดที่เข้าถึงง่าย น่าเอ็นดู และแสดงถึงความสัมพันธ์บางอย่างที่ซ่อนอยู่ตามการใช้บริบทความเป็นครอบครัวของคนไทย

อย่างไรก็ตาม การพูดในที่สาธารณะของผู้นำประเทศมักจะเป็นที่ถูกจับตามองเสมอ เนื่องจากเป็นภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศ และสะท้อนถึงตัวตนของผู้พูด การคิดคำนึงก่อนการพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไปไม่ได้

 

เหล่านี้คือวาทะเด็ดประจำปี 2563 ที่ได้กลายเป็นภาระให้คนรุ่นถัดไปต้องตีความว่าอะไรคือบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย


อ้างอิง
  • https://www.matichon.co.th/politics/news_1956174
  • https://www.matichon.co.th/entertainment/thai-entertainment/news_2482119https://www.komchadluek.net/news/politic/419281
  • https://www.komchadluek.net/news/regional/453063https
  • mthai.com/news/99306.htmlhttps
  • www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/132528
  • https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/138196https
  • www.posttoday.com/politic/news/590125
  • https://www.posttoday.com/ent/news/617897
  • https://www.posttoday.com/social/general/631987https
  • www.thaipost.net/main/detail/59958https
  • news.thaipbs.or.th/content/299367
  • https://news.thaipbs.or.th/content/299297
  • https://news.thaipbs.or.th/content/295046
  • https://news.thaipbs.or.th/content/289325https
  • www.khaosod.co.th/politics/news_5231484https
  • www.newtv.co.th/m/news/?id=68533
  • https://www.prachachat.net/breaking-news/news-578491
  • https://board.postjung.com/1203864https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000128298https
  • www.bangkokbiznews.com/news/detail/912946https
  • voicetv.co.th/read/DG71oshy
  • https://voicetv.co.th/read/QHrnBfhTw

 

 

 

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า