Ralph Breaks the Internet: ไม่มีเจ้าชายในโลกอินเทอร์เน็ต

ตั้งแต่ประโยคที่ราล์ฟพูดเอาไว้ใน Wreck-It Ralph ราล์ฟ วายร้ายหัวใจฮีโร่ ว่า “ไว้มาต่อกันภาค 2” เราก็กรี๊ดในใจหนักมาก เพราะภาคแรกสนุกจริงๆ หลังจากนั้นก็ใจจดจ่อทุกครั้งที่ดิสนีย์ออกมาประกาศโปรเจ็คต์ใหม่ๆ เสมอ

แล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่จะได้ดูภาค 2 แล้ว วู้ววววว!

ขอเล่าย้อนไปที่ภาคแรกสักหน่อย Wreck-It Ralph เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเล่าเรื่องชีวิตของตัวละครในเกมตู้ช่วงยุค 80 เรื่องเริ่มต้นจาก ราล์ฟ ตัวร้ายในเกม Fix It Felix JR. ที่อยู่มาวันหนึ่งเขารู้สึกว่าการได้รับบทร้ายในเกมของตัวเองนั้นมันช่างน่าเศร้า ไม่มีใครยกย่องเชิดชู แค่เดินผ่านทุกคนต่างกลัว และวิ่งหนี ราล์ฟจึงอยากจะเป็นฮีโร่อย่างคนอื่นเขาดูบ้าง หลังจากนั้นราล์ฟได้พบกับ เวเนโลปี จากเกม Sugar Rush เรื่องราวดำเนินไปและราล์ฟได้เป็นฮีโร่สมใจ

ในภาค 2 นี้ เมื่อความสนุกส่วนใหญ่ของคนยุคปัจจุบันไม่ได้มาจากเกมตู้ แต่เป็นโลกอินเทอร์เน็ต ดิสนีย์จึงหยิบโลกอินเทอร์เน็ตในจินตนาการมาเล่า ซึ่งเล่าได้ตื่นตาตื่นใจทีเดียว Ralph Breaks the Internet หรือ ราล์ฟตะลุยโลกอินเทอร์เน็ต วายร้ายหัวใจฮีโร่ 2 เริ่มเรื่องด้วยการที่ราล์ฟและเวเนโลปีมีส่วนทำให้พวงมาลัยบังคับเกม Sugar Rush พัง ครั้นเจ้าของร้านจะซื้อใหม่ราคาก็ดันสูงเกินไป ไม่คุ้มที่จะซื้อมาเปลี่ยนเมื่อเทียบกับรายได้ของเกมตู้นี้ ตู้เกม Sugar Rush จึงต้องถูกถอดปลั๊กอย่างเลี่ยงไม่ได้ เวเนโลปีเคว้งคว้างมาก ต่อไปเธอจะทำอะไรในเมื่อไม่มีเกมให้กลับไปทำงานแล้ว

เมื่อเห็นเพื่อนเศร้า ราล์ฟจึงตัดสินใจชวนเวเนโลปีเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ต หวังจะไปหาพวงมาลัยบังคับเกมมาให้เจ้าของร้าน เพื่อที่เกมจะได้ไม่ถูกถอดปลั๊กไปตลอดกาล

ถ้าจักรวาล Marvel มี Avengers เป็นหนังรวมดาวฮีโร่ Ralph Breaks the Internet ก็เปรียบเหมือนหนังรวมดาวฝั่งการ์ตูนดิสนีย์เช่นกัน เพราะขนทุกอย่างในเครือดิสนีย์มาให้ชมบนจอ อยู่ที่ว่าจะดูทันรึเปล่า – ซึ่งรับรองเลยว่าดูไม่ทันแน่นอน เพราะรายละเอียดต่างๆ เยอะมากละลานตาไปหมด หนังเรื่องนี้ขึ้นชื่อว่ามี Easter Eggs ล้นหลามมาก ถึงไม่ตั้งใจหา แต่ Easter Eggs เด่นๆ ก็มีให้เห็นตำตา ส่วนถ้ามัวหาอยู่ มีอันต้องลืมโฟกัสเนื้อเรื่องแน่นอน เข้าธีมโลกอินเทอร์เน็ตทำให้คนสมาธิสั้นจริงๆ

หนึ่งใน Easter Eggs คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ลุงสแตน ลี

คุณลุงจะเห็นตัวเองจากบนฟ้าไหมนะ…

ถ้ามองหาความซับซ้อนทางบทภาพยนตร์บอกเลยว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีให้ หนังเล่าเรื่องแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อมซ่อนเงื่อนใดๆ อาจเป็นความตั้งใจของทีมงานที่ต้องการให้ชมได้ทุกวัย แต่ถ้าให้เทียบกับการ์ตูนดิสนีย์ที่ดำเนินเรื่องแบบไม่ซับซ้อนแล้ว ยังรู้สึกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ผูกเรื่องเก่งกว่า เอาเป็นว่าถ้าให้คะแนนแค่ส่วนของบท เราจะให้ 6/10 (ให้เลยค่ากลางมานิดนึง เพราะยังรักดิสนีย์อยู่ ฮ่าๆๆ)

ถ้าเรื่องไม่ซับซ้อนแล้วเวลาตั้งสองชั่วโมงหนังมัวเอาไปเล่าอะไรอยู่ล่ะ?

อย่างที่เราทุกคนรู้ โลกอินเทอร์เน็ตนั้นใหญ่มาก มากจนไม่สามารถวัดปริมาณข้อมูลได้ หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน เรียกว่า ไม่สามารถนับรายละเอียดที่ใส่ลงไปได้เลย ทุกอย่างเยอะแยะยุ่บยั่บเต็มไปหมด เยอะจนไม่รู้ว่าจะเอาตาไปโฟกัสที่ตรงไหน ซึ่งส่วนนี้ต้องให้คะแนนแบบเกิน 10 เกิน 100 ไปเยอะๆ เลย

สิ่งที่ชอบมากคือ ความช่างคิดของทีมผู้สร้าง ในเมื่อโลกอินเทอร์เน็ตจับต้องไม่ได้ ทุกอย่างต้องใช้จินตนาการสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ระบบค้นหาสิ่งต่างๆ จะเป็นยังไง พวกป็อปอัพโฆษณาที่ชอบกวนใจเราจะมีคาแรคเตอร์แบบไหน เส้นทางขนส่งข้อมูลควรเป็นยังไง หากความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เท่ากัน การที่คลิปต่างๆ ถูกเลือกมาให้เราดู มันต้องมีคนควบคุมแน่ๆ รวมถึงคาแรคเตอร์ของแต่ละเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นฮิตๆ ด้วย

เราถูกใจเหล่าฝูงนกสีฟ้า ที่พอนกตัวนึงพูดอย่างหนึ่ง นกตัวอื่นก็พูดเรื่องเดียวกันตามอย่างรวดเร็ว รวมถึงฉากที่ราล์ฟต่อสู้แล้วเอาหมุดมาเป็นอาวุธ (เดาออกกันไหมว่าสองเว็บที่พูดถึงนี้คือเว็บอะไร?) อยากรู้เลยว่าบรรยากาศตอนทีมงานคิดงานจะเป็นยังไง แค่คิดตามก็สนุกแล้ว ทุกคนคงโยนไอเดียเป็นร้อยเป็นพันลงมาอย่างสนุกสนานแน่นอน เราว่ามันมีกลิ่นของ Inside Out (2015) และ Zootopia (2016) ปนๆ อยู่ สังเกตว่าช่วงหลังดิสนีย์ทำงานแนวนี้ออกมาบ่อยเหมือนกัน

อย่างที่เล่าไปแล้วว่าในภาคนี้ราล์ฟและเวเนโลปีต้องช่วยกันหาพวงมาลัยบังคับมาเปลี่ยนให้เครื่องเล่น Sugar Rush ฉะนั้นพวกเขาต้องหาเงิน!

แล้วจะหาเงินได้จากไหนบ้างบนอินเทอร์เน็ต?

“หากคุณมีเวลาว่างสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ทำงานง่ายๆ ที่ไหนก็ได้…” ไม่ปฏิเสธกันใช่ไหมว่าเคยเห็นโฆษณาพวกนี้มาบ้าง ถ้าเป็นเราคงไม่มีทางคลิกเข้าไปตามโฆษณาชวนเชื่อพวกนี้แน่นอน แต่สำหรับราล์ฟและเวเนโลปีที่ไม่รู้จักโลกอินเทอร์เน็ตดีนัก พวกเขาเลือกที่จะคลิกเข้าไปโดยไม่ลังเล และสิ่งที่พวกเขาต้องทำ คือหาของในอินเทอร์เน็ตตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าต้องการ หากหาได้จะได้เงินเป็นค่าตอบแทน

งานนี้ทำให้ทั้งคู่ได้พบกับ แชงก์ สาวเท่นักซิ่งจากเกมออนไลน์ Slaughter Race เกมแข่งรถที่ค่อนข้างป่าเถื่อน เต็มไปด้วยอาชญากรรมและแก๊งสเตอร์ การขับรถในเกมนี้ไม่มีเส้นทางกำหนด ไม่มีสนาม ที่นี่เป็นเหมือนโลกใหม่ของเวเนโลปี เจ้าหญิงนักซิ่งประจำเกม Sugar Rush ที่สนามแข่งรถในเกมถูกกำหนดไว้แล้ว เธอรู้สึกเป็นอิสระและค้นพบความท้าทายครั้งใหม่ นี่เป็นสิ่งที่เธอตามหามานาน เวเลโลปีได้ประลองความเร็วกับแชงก์ ทั้งคู่มีทักษะการขับรถที่ยอดเยี่ยม และการไล่ล่ากันในครั้งนั้นทำให้ทั้งคู่ก็ยอมรับในฝีมือของกันและกัน เวเนโลปีจึงปลื้มแชงก์มาก เพราะเธอไม่เคยเจอใครที่เท่ขนาดนี้มาก่อน

แอบกระซิบนิดหนึ่งว่าในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ คงไม่มีใครเหมาะที่จะมาพากย์เสียงได้เท่า กัล กาด็อท (Gal Gadot) เจ้าของบท จีเซล (Gisele) สาวนักซิ่งจากหนังแฟรนไชส์ The Fast and the Furious เนื่องจากบทบาทที่ได้รับค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่ทีมงานเลือกเธอมาพากย์เสียง เราเดาว่าเพราะเธอแสดงเป็น วันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) จากจักรวาล DC สตูดิโอคู่แข่งของ Marvel อีกด้วย แน่ะยังจะมีความข้ามจักรวาล ไม่ได้หน้าเขามาได้เสียงมาก็ยังดี

แต่การหาของเพื่อแลกเงินในอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แชงก์จึงแนะนำให้ไปหา เยสสส เพื่อนของเธอ ที่ทำงานอยู่ที่เว็บไซต์ BuzzzTube (ในเรื่องเขาติ๊งต่างว่าเป็นคู่แข่ง YouTube) โดยคลิปแรกของราล์ฟเป็นคลิปที่ราล์ฟโดนลมเป่าปากจนผิดรูป พูดอะไรฟังไม่ได้ศัพท์ คลิปไร้สาระแบบนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะโกไวรัลสุดๆ ราล์ฟทำคลิปออกมาเรื่อยๆ ภายใต้การช่วยเหลือของเยสสส คลิปต่างๆ ของราล์ฟมียอดวิว ยอดไลค์ สูงมาก เงินที่เขาหาได้ก็พุ่งกระฉูดตามเช่นกัน

พูดถึงคลิปบนอินเทอร์เน็ต คิดว่าทุกคนคงเคยเจอคลิปดักมากันบ้าง คลิปดักสร้างขึ้นมาเพื่อแกล้งคนดู ให้ตกใจ หงุดหงิด หรือเสียอารมณ์ มุกยอดนิยมในบ้านเราคงหนีไม่พ้นคลิปผีตุ้งแช่ หลอกให้เราใจหายใจคว่ำ ทางฝั่งฝรั่งเขาก็มีเหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือคลิปที่มีเพลง ‘Never Gonna Give You Up’ ของ ริค แอสต์ลีย์ (Rick Astley) แทรกอยู่ เพลงนี้ดังมากในยุค 80 ยุคเดียวกับเกม Wreck-it Ralph การแกล้งกันแบบนี้นั้นฮิตมากจนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ริคโรลลิง (Rickrolling) และในปี 2017  การริคโรลลิงนี้มีอายุครบ 10 ปีแล้ว ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มีหรือทีมผู้สร้างจะพลาด จับเพลง ‘Never Gonna Give You Up’ มาแทรกอยู่ในหนังด้วย แต่จะอยู่ช่วงไหนของหนัง เราขออุบไว้ให้ไปขำกันเอง

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่แฟนเจ้าหญิงดิสนีย์เช่นเรารอคอย คือฉากที่จะได้เห็นเหล่าเจ้าหญิงทั้ง 14 พระองค์มารวมตัวกัน ซึ่งเราแอบสบประมาทไว้ว่าคงจะได้ออกมามีบทเท่าที่เห็นในตัวอย่างหนังนั่นแหละ แต่เปล่าเลย มีมากกว่านั้นอีก

หนังเก็บรายละเอียดบทพูดของเจ้าหญิงที่อิงมาจากเพลงประจำตัว และเรื่องราวของแต่ละคน แถมยังมีการแซวกันเองด้วยว่าที่ เมอริดา จากเรื่อง Brave นักรบสาวหัวใจมหากาฬ พูดไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะมาจากอีกสตูดิโอ ซึ่งก็คือ Pixar นั่นเอง

ที่ขำที่สุดคือ มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง อยู่ๆ ก็ร้องเพลงขึ้นมา ไฟรอบข้างมืดลงและมีสปอตไลท์ฉายลงมาที่ตัวเธอ เวเนโลปีงงมาก ทำไมอยู่ๆ ก็ร้องเพลง แล้วทำไมมีแสงส่องลงมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ เวเนโลปีลองทำตามแต่ไม่สำเร็จ จึงได้คำแนะนำว่าอาจจะต้องไปเพ่งจิตร้องเพลงต่อหน้าผืนน้ำ และไม่ใช่ว่าจะเป็นน้ำอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นน้ำที่มีความสำคัญ หรือมีความหมายต่อตัวเองด้วย เช่น สโนไวท์ร้องเพลงกับบ่อน้ำ หรือมู่หลานที่ขณะร้องเพลงก็มีเงาของตัวเองสะท้อนอยู่ในน้ำ รวมถึงแอเรียลที่ร้องเพลงในทะเล บ้านเกิดของเธอ

แล้วเวเนโลปีก็ได้ไปเพ่งจิตร้องเพลงต่อหน้าผืนน้ำ แต่แทนที่จะเป็นน้ำที่สำคัญตามที่เหล่าเจ้าหญิงบอก น้องกลับไปร้องอยู่หน้าน้ำนองที่หกอยู่ที่พื้น โถ่…แล้วมันจะได้ผลไหมเนี่ย

แต่ดันได้ผล

อยู่ๆ แสงรอบข้างก็มืดและมีสปอตไลท์ส่องมาที่ตัวเธอ อ้าว แล้วที่เจ้าหญิงบอกล่ะ? หรือว่าทฤษฎีนั่นมันจะไม่มีจริงแต่แรกอยู่แล้ว เพลงประจำตัวของเวเนโลปี ‘A Place Called Slaughter Race’ ได้นักประพันธ์ดนตรีเจ้าพ่อเพลงดิสนีย์อย่าง อลัน เมนเคน (Alan Menken) มาร่วมงาน ลุงเขาเป็นตำนานเพลงการ์ตูนดิสนีย์ที่เราฟังวนซ้ำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ได้ฟังผลงานใหม่ของลุงแล้วปลื้มใจ

อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอดคือ ไวรัส มันเกิดมาเพื่อสร้างความเสียหายแก่คอมพิวเตอร์ ราล์ฟและเวเนโลปีก็ไม่พลาดที่จะพบความพินาศจากไวรัสเช่นกัน ไวรัสตัวนี้ทำงานด้วยหลักการตรวจจับความผิดพลาดหรือความอ่อนแอ และผลิตสิ่งนั้นซ้ำๆ แพร่กระจายไปทั่วเมือง

จากที่ราล์ฟเคยพูดไว้ในภาคแรกว่า “ผมไม่จำเป็นต้องมีเหรียญรางวัลเพื่อบอกว่าผมเป็นคนดี เพราะถ้าเด็กคนนั้นชอบผม ผมคงไม่เลวนักหรอก” จะเห็นว่าเขารักเวเนโลปีมากจริงๆ ทั้งคู่เป็นเพื่อนรักที่แทบจะตัวติดกัน ราล์ฟไม่เคยคิดถึงความเปลี่ยนแปลง เขามีความสุขกับชีวิตตอนนี้มาก และหวังให้มันไม่เปลี่ยนไป

แต่สำหรับเวเนโลปี เธอเริ่มเบื่ออะไรเดิมๆ และมองหาความท้าทายใหม่ มันทำให้ใจของราล์ฟสั่นคลอน ความสั่นคลอนในใจราล์ฟนี่เองที่เป็นจุดอ่อน ทำให้ไวรัสแพร่เชื้อได้รวดเร็วและบ้าคลั่ง จนโลกอินเทอร์เน็ตแทบล่มสลาย แต่สุดท้ายเรื่องก็ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อราล์ฟแก้ไขที่ใจตัวเอง

“คนคิดว่าปัญหาต่างๆ ของเธอจะหมดไป เมื่อมีผู้ชายกล้ามใหญ่เข้ามาช่วย” ประโยคคำถามที่ราพันเซลพูดกับเวเนโลปีไว้กลางเรื่อง ย้อนกลับมาตอบคำถามในช่วงท้าย ใครๆ ก็คิดว่าปัญหาของเจ้าหญิงดิสนีย์จะแก้ไขได้ เพียงแค่มีเจ้าชายมาช่วยใช่ไหมล่ะ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เหล่าเจ้าหญิงโดนล้อมานาน แต่ใน Ralph Breaks the Internet จะไม่ใช่แบบนั้นแล้วนะคะ สาวๆ เราสตรองพอไม่ต้องรอหนุ่มกล้ามโตมาช่วยแล้ว แถมกลับกันเหล่าเจ้าหญิงยังออกไปบู๊ช่วยชายกล้ามโตอย่างราล์ฟอีกด้วย หนังออกแบบฉากต่อสู้ได้สร้างสรรค์มาก เอาพลังต่างๆ ที่เจ้าหญิงแต่ละคนมีมารวมกันได้สนุก แอบคิดถึงฉากต่อสู้ของเหล่า Avengers เลย

อย่างที่แชงก์เคยให้คำแนะนำกับเวเนโลปีว่า “มันไม่มีกฎว่า เพื่อนรักต้องมีความฝันเดียวกัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องคุยกัน” เราชอบประโยคนี้มาก ในทุกๆ ความสัมพันธ์ถ้ามันมีปัญหา การเปิดใจคุยแล้วหาทางออกร่วมกัน เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดแล้ว ก่อนที่เราจะต้องเสียมิตรภาพดีๆ ไป

สุดท้าย เวเนโลปีตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตก้าวใหม่ในเกม Slaughter Race แม้ราล์ฟจะเศร้าใจอยู่บ้าง แต่เขาก็ยินดีที่จะเห็นความสุขของเวเนโลปี

ก่อนจะแยกย้าย ราล์ฟนั่งคุยอยู่ข้างเวเนโลปีจนวินาทีสุดท้าย เขามองเธอวิ่งจากไปในบ้านหลังใหม่ที่เธอเลือกเอง ฉากนี้ได้อารมณ์พี่ชายมาส่งน้องสาวที่จะไปเรียนต่อไฮสคูลต่างรัฐในหนังฮอลลีวูดมากๆ เป็นฉากที่เรียบง่ายที่สุด แต่ดึงอารมณ์ได้ดีที่สุด ดูฉากนี้แล้วโหวงๆ อยู่เหมือนกัน แต่ก็คิดในใจ เฮ้ยยยย ไม่ต้องเศร้าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกลจะตาย ถึงตัวจะไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้กันได้หน่า แล้วพอหนังเขาดึงอารมณ์เราเสร็จ ตัดเข้าบทสรุป ทั้งคู่ก็วิดีโอคอลคุยกัน…แล้วที่ทำเราเศร้าเมื่อกี๊คืออะไร?

Ralph Breaks the Internet เป็นเหมือนหนังที่รวบรวมสิ่งฮิตในโลกอินเทอร์เน็ตตลอดระยะเวลาหลายๆ สิบปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน อีกสัก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีคงไปไกลกว่านี้มาก อะไรที่นิยมตอนนี้ ตอนนั้นคงเชยหมดแล้ว ถ้าอนาคตได้หยิบหนังเรื่องนี้มาดูอีก คงมีเรื่องให้คิดถึงเพียบเลย

หนังจบแล้ว end credit ขึ้นพร้อมเพลง ‘Zero’ ร้องโดย Imagine Dragons

พูดถึงทำไมน่ะหรอ?
ไม่มีอะไรหรอกมันเพราะดี อยากให้ไปฟังกัน

ป.ล. ท้าย end credit ยาว มีของแถมตามธรรมเนียม และเราไม่อยากให้ทุกคนพลาดจริงๆ

Author

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า