เพราะฉันมีใจให้กับเสียงเพลง ‘รัสมี Isan Soul’

rasmee-isan-soul-1
เรื่อง: อรปมน วงค์อินตา
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

เพราะโปรเจ็คต์มินิอัลบั้มแรกของ แป้ง-รัสมี เวระนะ ชื่อ Isan Soul คนฟังจึงจดจำเธอด้วยชื่อ รัสมี Isan Soul แต่แนวเพลงที่เธอถนัด ไล่เลียงได้ตั้งแต่อินเตอร์ไปจนถึงโลคอล ทั้งบลูส์ แจ๊ส โซล ลูกทุ่ง หมอลำ ไปจนถึงเพลงพื้นบ้านลาวและเขมร

และ ใช่ ทั้งหมดนั้นเข้ากันได้เป็นอย่างดีในอัลบั้มของเธอ หากได้ลองฟังทั้งเจ็ดเพลงในมินิอัลบั้ม จะรู้สึกถึงความหลากหลาย ตื่นตา ทว่าเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน

ความสำเร็จของรัสมีและ Isan Soul การันตีด้วยรางวัลสาขาเพลงจากคมชัดลึกอวอร์ดถึงสามรางวัล ไม่ว่าจะเป็นสาขาศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม Isan Soul EP. และยังคว้ารางวัลเพลงยอดเยี่ยมจากเพลง ‘มายา’ รวมถึงได้ไปร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่ฝรั่งเศสอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ในคลื่นเพลง Cat Radio มายายังเคยขึ้นอันดับ 1 ของเพลงที่ได้รับการขอมากที่สุด

แม้หนึ่งในสามรางวัลคมชัดลึกอวอร์ดที่เธอคว้ามาได้ จะเป็นรางวัลในฐานะศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม แต่รัสมีบอกเลยว่า เธอทำโปรเจ็คต์นี้คนเดียวไม่ได้ หากไม่มีทีมเวิร์คดีๆ อย่าง ก้อง-สาธุการ ทิยา ธิระ มารับหน้าที่มือกีตาร์ของวง

ถ้าให้พูดถึงจุดเด่นของพวกเขา รัสมีบอกว่า อย่างไรก็ต้องเป็นหมอลำ แต่เป็นหมอลำที่สามารถผสมผสานได้กับเครื่องดนตรีทุกอย่างบนโลก

rasmee-isan-soul-3

ส่วนผสมที่ลงตัว

เริ่มต้นจากความรักในเสียงเพลง รัสมีหัดร้องเพลงหมอลำมาตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อของเธอเป็นอาจารย์คนแรกที่บ้านเกิดในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อย้ายมาเชียงใหม่ เธอมีโอกาสทำความรู้จักดนตรีแบบอื่นๆ มากขึ้น และเมื่อรู้จักกับดนตรีแจ๊ส มันทำให้เธอเริ่มจับทางแล้วทดลองทำดนตรีแจ๊สกับหมอลำขึ้นมา

“ช่วงนั้นมีเพื่อนชวน มีนักดนตรีมาจากฝรั่งเศสเก่งมาก เขาไปอยู่แอฟริกามาแล้วอยากทำแบนด์ African Afro เราไม่รู้จัก เลยบอกให้เขาเปิดเพลงให้ฟัง พอฟังเพลงเรารู้สึกมันเหมือนเพลงกันตรึม* บ้านเรา เพลงเขมร เราก็โอเค ก็แต่งเพลงที่เป็นแอฟริกันแล้วใส่ภาษาเขมร ภาษาลาว ผสมผสานกัน”

ส่วนก้องเป็นนักดนตรีอยู่ที่เชียงใหม่อยู่แล้ว วันหนึ่งทั้งคู่มีโอกาสได้ร่วมวงกัน โดยเธอร้องหมอลำของเธอ ส่วนเขาก็เล่นกีตาร์ของเขา แต่ทางของทั้งคู่กลับไปด้วยกันได้

“ผมก็ฉุกคิด ทำไมเราเห็นตัวตนจริงๆ ของเขาได้ชัดมาก ก็ชมเขาว่าเจ๋งนะ แล้วจู่ๆ พี่รัสมีก็เลยชวนว่า เรามาทำเป็นโปรเจ็คต์จริงจังสักโปรเจ็คต์ไหม”

การใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวดนตรีแบบ Isan Soul เนื่องจากที่นั่นไม่ค่อยมีใครคุ้นกับหมอลำ ทั้งยังไม่ต้องติดกรอบดนตรีอีสานที่มีความเข้มงวดกับการลำ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงมีเสน่ห์ชวนฟัง

“หมอลำต้องมีกฎเกณฑ์ มีอาจารย์ มีประเภท แต่มารู้จักกับก้องที่ไม่เคยเล่นหมอลำมาก่อน เราเปิดดนตรีให้เขาฟัง แล้วเขาค่อยไปศึกษา ดนตรีเลยออกมาเป็นกลิ่นอายอีกแบบ ไม่ใช่หมอลำจ๋า” รัสมีเล่า

rasmee-isan-soul-6

รากเหง้าชาวอีสาน

จากชื่ออัลบั้มแรก Isan Soul เมื่อเห็นคำว่า ‘โซล’ อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นแนวเพลงที่มีกลิ่นอายต่างประเทศ เมื่อนำมารวมกับ อีสาน ซึ่งเป็นต้นทางของนักร้องนำ หากคุณได้ฟังเพลงจากอัลบั้มนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย อาจรู้สึกได้ถึงความเหมาะเจาะของชื่ออัลบั้ม

“ก็เป็นอีสาน เพราะรัสมีมาจากอีสาน แต่โซล สำหรับเรา เกี่ยวกับความเป็นรากเหง้าของคนอีสาน ความเป็นตัวเราก็คือจิตวิญญาณของเรา ที่เรามานำเสนอในรูปแบบงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง” นั่นคือคำจำกัดความจากเธอ

สำหรับก้อง มองว่าอีสานโซลเป็นเรื่องตัวตนจริงที่แท้จริงของคนอีสาน โดยเฉพาะเพลง ‘อ้ายอยู่ไส’ ที่เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งรอผู้ชายกลับบ้านมากินข้าวด้วยกัน โดยมีท่อนที่ร้องว่า “น้องแกงแมวรอพี่” อาจจะฟังดูโหดร้ายสำหรับหลายคน แต่นี่คือวัฒนธรรมการกินที่เกิดขึ้นจริงๆ ในหลายพื้นที่ของอีสาน

“ผมคิดว่าตัวตนข้างในเพลงยังคงไปเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม คิดว่าใครที่เป็นอีสาน เราจำลองเหตุการณ์นั้นมาให้รู้สึกได้” ก้องขยายความ

อาจเป็นภาพจำที่ลบออกยาก เมื่อพูดถึงอีสาน เราอาจคิดถึงอะไรที่สนุกสนาน ไม่ต้องคิดมาก ตลกชื่อดังส่วนใหญ่ก็เป็นคนอีสาน แต่คำว่าอีสานของรัสมี ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับความตลกเสมอไป

“สำหรับเรา อีสานมันเป็นจิตวิญญาณ เป็นรากเหง้าวัฒนธรรมที่ยาวนาน แต่คนชอบนำเพลงอีสานมาตีความเป็นเพลงตลก เราไม่อยากให้คนมองแบบนั้น เราอยากให้คนเห็นค่าเพลงอีสานอีกแบบหนึ่ง” รัสมีว่า

“เราเอามาทำให้ดูเป็นอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น ในมุมมองที่ไม่ใช่ตลก ผมคิดว่าคนมาฟังรัสมี เขาคงไม่ใช่คนฟังเพลงอีสานหมอลำ และเขาก็ไม่รู้สึกว่ามันตลก” ก้องเสริมด้วยน้ำเสียงจริงจัง และบอกว่าเสน่ห์ของอีสานโซลอยู่ที่เอกลักษณ์ของความเป็นอีสาน

“มันมีวิธีการร้องแบบอีสาน แบบหมอลำ มันมีดีของมันอยู่แล้วตั้งแต่แรก มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน มีการเอื้อนแบบนี้ ร้องเช่นนั้น จะเหมือนแร็พก็ไม่ใช่

“เมื่อเรานำตรงนี้มาขยายความก็เลยอาจจะดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ถ้ามองไปลึกๆ ตัวตนของวัฒนธรรมอีสานหรือวิธีการร้องมันสุดยอดอยู่แล้ว ผมว่านี่คือเสน่ห์ของจริง”

สำหรับรัสมีแล้ว เธอมีจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของอีสานที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าขบขัน เธอมองว่าอีสานมี ‘คุณค่า’ ในแบบของตัวเอง

rasmee-isan-soul-4

มายาในโลกดนตรี

ที่มาของเนื้อเพลงส่วนที่เป็นภาษาไทย รัสมีบอกว่า ส่วนใหญ่ก็ดึงมาจากเรื่องราวที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน

“เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เวลาแต่งเพลง อันดับแรกทุกคนก็ต้องกิน เราแต่งเพลงก็คิดว่า เอาง่ายๆ เอาเรื่องกิน ถ้าเราคิดถึงคนที่เรารัก เราก็คงทำแกงแมวไว้รอ แต่ทำไมเขายังไม่มา”

พลังทางดนตรีที่เกิดขึ้น นอกจากจะมาจากเรื่องธรรมดาสามัญแล้ว รัสมียังเพิ่มน้ำหนักและความลึกให้เนื้อเพลง ด้วยการเติมความเป็นตัวเองลงไป

“ด้วยความที่เราเป็นตัวของเราเอง ไม่โกหกตัวเอง เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นความรักแบบวัยรุ่น มันมีอะไรสอดแทรกอยู่ในนั้น เพลงที่แต่งก็เป็นความรู้สึกของตัวเองเป็นส่วนใหญ่”

รัสมีเล่าที่มาของ ‘มายา’ เพลงยอดเยี่ยมรางวัลคมชัดลึกอวอร์ดว่า มาจากประสบการณ์ที่เธอพบเจอด้วยตัวเอง

“คนพยายามไปหาอะไรข้างนอก พยายามค้นคว้าหาอันนี้ดี ไปนี่มานะ หรือคนนี้รวยมาก ถ้าให้เอาตัวเข้าแลกเพื่อจะดังก็ยอม พอได้ยินเรื่องแบบนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สำหรับเรา เรารู้สึกมันไร้สาระมาก” และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเขียนเนื้อเพลงจนจบด้วยเวลาเพียง 15 นาที

“ตอนนั้นรู้สึกเก็บกด อยากระบาย เพราะเรื่องแบบนี้มันมีจริง แต่เราไม่ได้ไปด่าเขา หรือไปสั่งสอนเขาว่าทำแบบนี้ไม่ดี ไม่ใช่ดีหรือไม่ดี เพียงแต่เราอยากบอกให้เขาหันกลับมามองตัวเขาเองว่า จริงๆ ในตัวเขามีอะไรที่สวยงามกว่านั้นเยอะ กว่าที่เขาจะต้องไปไขว่คว้าจากข้างนอกมา”

ในมุมมองรัสมี นี่แหละคือมายา

rasmee-isan-soul-5

เส้นทางนักดนตรี

รัสมีเล่าว่าเธอฝันอยากจะมีอัลบั้มเป็นของตัวเองตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่ตอบโจทย์ของตลาดกระแสหลัก ทำให้เธอพลาดหวังหลายครั้ง แม้ว่าจะได้รับการยื่นข้อเสนอจากหลายๆ ค่าย

“เราไม่สวย ร้องลูกทุ่งต้องผิวขาว สวย แต่เราไม่ใช่ลุคของเขา เราก็ไม่ได้ ก็เก็บกด เลิกร้องเพลงไปพักหนึ่ง”

แต่เมื่อมีพื้นที่เปิดให้กับงานดนตรีทดลอง เธอกับก้องจึงมีโอกาสจัดคอนเสิร์ตร่วมกันที่ท่าแพอีสต์ เปิดขายบัตรเพียง 100 ใบ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดีกว่าที่คิด

“เราออกมาจากห้องคอนเสิร์ตข้างบนพบคนรอฟังอยู่ข้างล่าง มันน่าประทับใจมาก บัตรขายหมด เรารู้สึกว่าเป็นครั้งแรกที่ทำ ก็ไม่คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้” งานแสดงครั้งนั้นจุดประกายให้รัสมีและก้องหันมาร่วมกันทำอัลบั้มอย่างจริงจัง

ใช่ว่าจะมีแต่ดอกไม้ช่อใหญ่ทำให้ใจพองโต เพราะก้อนอิฐหนาหนัก พวกเขาก็ยืดอกรับมาแล้วไม่น้อย

“กระทั่งตอนที่เราทำอัลบั้มยังไม่เสร็จ เราทำเพลงสองเพลงแล้วมีนักดนตรีเก่งๆ คนหนึ่งวิจารณ์ ผมว่าอย่างนี้ไม่ได้ ทำใหม่เถอะ” ก้องเล่าว่า ช่วงแรกๆ งานเพลงของเขาและเธอได้รับคำแนะนำจากนักดนตรีรุ่นพี่ว่าควรกลับไปทำมาใหม่ดีกว่าไหม

รัสมีบอกว่าถ้าฟังนักดนตรีวิจารณ์ในวันนั้น อัลบั้มของพวกเขาคงไม่มีทางเกิด และไม่ได้รับผลตอบรับที่อบอุ่นมากมายขนาดนี้

“พี่โจ้ รังสรรค์ (ราศีดิบ-ศิลปินในเชียงใหม่) ให้แง่คิดว่า ไม่ต้องรอ รออะไร รอใคร ไม่ต้องรอใครทั้งนั้น ทำเลย ถ้าไม่ดี อัลบั้มหน้าค่อยทำใหม่ อันนี้เอาออกไปก่อน แล้วเราจะรู้ว่าประตูอีกหลายๆ บานมันจะเปิด” รัสมีกล่าว

ในขณะที่การโปรโมทของนักดนตรีส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาค่ายเพลง แต่สำหรับทั้งคู่ พวกเขาทำทั้งหมดนั้นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขายซีดีหรือทำคอนเสิร์ต ครั้งแรกอีสานโซลทำซีดีเพียง 30 กว่าแผ่นเพราะทุนที่มีจำกัด แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาได้พบอะไรบางอย่างที่ทำให้ยิ้มได้เมื่อนึกถึง

“พอเราขายซีดี ก็จะได้เซ็นซีดี จ่าหน้าซองว่าเขาเป็นใคร เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ ได้รู้ว่า วันนี้คนซื้อจากหาดใหญ่ บางทีจากนครพนม เราได้ทำของเราอย่างนี้ทุกวัน เราก็มีความสุข

“พอเขาได้รับซีดีจากเรา เขาก็จะถ่ายรูปกลับมา แล้วเขียนอะไรดีๆ กลับมาหาเราเยอะมาก ก็น่ารักดี บางคนเขียนยาว เขียนชมเรื่องเสียงร้อง บอกว่าเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ แต่เรารู้สึกดีมาก”

ไม่เพียงรอยยิ้ม เรายังเห็นประกายในตาของเธอ

rasmee-isan-soul-2

บอกว่าอยากขอหมอลำ

ด้วยความที่หมอลำเป็นเพลงมีครู เมื่ออยากได้วิชาก็ต้องใช้เวลาไปเรียนรู้ ฝึกฝน คลุกคลีอยู่กับอาจารย์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้มีบ้างที่บอกว่ารัสมีทำไม่ถูกกฎเกณฑ์ แต่เธอยืนยันว่าไม่อยากให้เพลงหมอลำถูกแช่แข็ง เธออยากนำของที่ดีอยู่แล้วมาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น

“เหมือนเวลาเราเขียนลายไทย ลายกนก แล้วเราไปแตกเป็นลายอื่นๆ ออกมา ก็ต้องมีคนวิจารณ์อยู่แล้ว คนเฒ่าก็จะมีวิธีคิดของเขา แต่เราไม่ใช่ อย่างคนเป็นอาจารย์ กว่าจะได้วิชา รากฐานเขาเป็นมาแบบนั้น แล้วความเชื่อเขาก็จะไม่อยากเปลี่ยน เขาจะอยู่อย่างนั้น แต่สำหรับเรา เราแหวก เราก็ทำ”

เราทราบมาว่าอีสานโซลมีแฟนเพลงชาวต่างชาติค่อนข้างเหนียวแน่น เมื่อถามถึงสาเหตุที่มาที่ไป ก้องเล่าว่าสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะความแปลกใหม่ของเพลง

สำหรับฝรั่งเป็นอะไรที่เขาอยากมาฟัง อยากมาฟังแจ๊ส อยากฟังร็อค เพลงไทยในเชียงใหม่ที่ไหนไปได้ก็ไป แต่พอมาฟังหมอลำแล้ว เขาก็รู้สึกว่าแปลกดี ฝรั่งส่วนใหญ่ถึงขั้นร้องได้”

นอกจากจะได้การต้อนรับจากคนฟังต่างชาติในเมืองไทยอย่างอบอุ่นแล้ว รัสมี และ Isan Soul ยังได้รับเชิญไปแสดงคอนเสิร์ตที่ฝรั่งเศสถึงสามรอบ แม้ว่าจะเป็นสถานที่ไม่คุ้นเคย แต่ภาษาและเนื้อเพลงไม่ใช่อุปสรรคในการส่งผ่านไปถึงคนฟังแต่อย่างใด

รัสมีมองว่าดนตรีเป็นภาษาสากล ใช้ความรู้สึกเสพ บางครั้งคนฟังอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจในภาษา ก็สามารถเข้าถึงอารมณ์และสิ่งที่ต้องการสื่อได้

“เราไปร้องหมอลำ ก็เชื่อว่าคนไม่เข้าใจภาษาอีสานที่เราร้อง แต่เขาก็ฟังจนจบคอนเสิร์ต ก็ยังมาถามว่ายูร้องเพลงร็อคใช่ไหม เพราะสเกลดนตรีมันเป็นพื้นฐาน” รัสมีเล่าถึงฟีดแบ็คจากคนฟัง

เมื่อ Isan Soul ได้รับผลตอบรับอย่างดีในต่างประเทศ ก็เริ่มทำให้วงเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขึ้นตามไปด้วย กลายเป็นข้อสันนิษฐานว่า ดนตรีเฉพาะทางจะต้องดังที่ต่างประเทศก่อนจึงจะได้รับการยอมรับในเมืองไทยหรือไม่

“คนเสพอาจเป็นแบบนั้น แต่คนสร้างงานไม่ได้เป็น คนเสพจะชอบเห่อของนอก ถ้าฝรั่งยอมรับ คนไทยก็ต้องยอมรับ แต่เราไม่ได้ทำเพลงเพราะเราไปร้องเมืองนอก เราก็ยังเป็นตัวของเราเอง และเราเป็นหมอลำ” รัสมีย้ำ

พวกเขายอมรับว่ามีบ้างที่แฟนเพลงในเมืองไทยจะบอกว่า ฟังภาษาอีสานและภาษาเขมรไม่รู้เรื่อง แต่พวกเขายังยืนยันว่าภาษาอาจไม่สำคัญเท่าความรู้สึก

“ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ใช้ความรู้สึก บางครั้งมันไม่ต้องรู้เรื่องก็ได้ สำหรับรัสมี เวลาเราฟังเพลงละติน แอฟริกัน เราก็ไม่รู้เรื่อง แต่เราก็ชอบ ชอบที่ความรู้สึก”

ครั้งแรกที่ทำวง รัสมีและก้องบอกว่าพวกเขาเริ่มทำกันแค่สองคน แต่ตอนนี้สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 คน มีการเล่นแบบเต็มวง เครื่องดนตรีหลากหลายมากขึ้น

“คราวนี้จะผสมเยอะขึ้น มีร็อค มีแจ๊ส ในหนึ่งเพลงเรียกว่าได้เกือบครบ เพราะนักดนตรีหลากหลาย แล้วเราก็ไม่อยากไปสกัดกั้นความเป็นตัวเองของเขา”

ด้วยผลตอบรับที่ดีมากของ Isan Soul ทำให้พวกเขายอมรับว่าการทำอัลบั้มชุดที่ 2 ค่อนข้างเป็นเรื่องกดดัน แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมุ่งมั่นอยู่ในจุดเดิม

“คิดว่าเราก็ค่อยๆ ทำเหมือนเดิม ไม่อยากรีบ รีบแล้วตัวเองก็จะกลืนกลับไปเป็นการตลาด เราไม่อยากเป็น ไม่อยากเอาพวกนี้มาวัด อยากค่อยๆ ทำ ค่อยๆ อัดเพลงของเราไป” รัสมีกล่าว

ด้วยความพยายามจะรักษาและสะท้อนวัฒนธรรมไทยๆ จากใจกลางพระนคร ทำให้เสียงของภาษาถิ่นดูจะเบาลงไปเรื่อยๆ

การนำเสนอหมอลำแนวทดลองของรัสมีและ Isan Soul เสมือนการก้าวข้ามขีดจำกัดทางภาษา โดยอาศัยภาษาสากลทางดนตรีมาร่วมนำเสนอแง่งามและความภาคภูมิใจในความเป็นอีสานให้เปล่งประกายขึ้นมาอีกครั้ง

 


หมายเหตุ
* เพลงกันตรึม เป็นเพลงพื้นบ้านของแถบอีสานใต้ที่ใช้ภาษาเขมรในการขับร้อง ลักษณะคล้ายเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด เป็นที่นิยมในจังหวัดสุรินทร์

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า