ศิลปะสถาปัตยกรรมไม่ได้สะท้อนแต่เพียงความสวยงาม มอบสุนทรียภาพ หรือมีฟังก์ชันในการใช้งานเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าประวัติศาสตร์และการเมืองได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างสถาปัตยกรรมแห่งใหม่และศิลปะรูปแบบใหม่ขึ้นจำนวนไม่น้อย
‘เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์บนราชดำเนิน’ กิจกรรมทัวร์ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์มติชนร่วมกับศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ (วันที่ 29 สิงหาคม 2563) โดยมี ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามปี 2475 เป็นโต้โผ
นักวิชาการทั้งสองนำทางชมอาคารต่างๆ ตามแนวถนนราชดำเนินพร้อมเล่าประวัติศาสตร์การเมืองคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี 2475 ที่ไม่ถูกเคยเล่าอย่างเป็นทางการมาก่อน เริ่มตั้งแต่ที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ไปยังประตูสวัสดิโสภา เดินเลาะไปตามกลุ่มอาคารศาลฎีกา ก่อนเข้าสู่อาคารตามแนวถนนราชดำเนิน จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจบที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
ศิลปะคณะราษฎรนับว่ามีแนวทางของการเป็นศิลปะเพื่อการเมือง จากการที่รัฐบาลคณะราษฎรได้รื้อฟื้นกรมศิลปากรขึ้นใหม่ หลังจากถูกยุบไปในสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนองนโยบายทางการเมืองผ่านงานศิลปะ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดก็คือ ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ศิลปินชาวอิตาลีที่ถือเป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านศิลปะแห่งแรกในไทย
ศิลปะคณะราษฎรเป็นการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ทางศิลปะ เพื่อปลูกฝังแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการของคณะราษฎร รวมถึงงานประติมากรรมที่ตอบสนองนโยบายการสร้างชาติในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นคือรูปปั้นเปลือยที่แสดงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามให้เป็นไปตามเรือนร่างอุดมคติในแบบจารีตใหม่ของยุคคณะราษฎร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพแข็งแรง พยายามลบภาพเดิมของตัวละครพระเอกที่มักจะได้ดีโดยไม่ต้องลงแรงทำอะไร การยกย่องผู้ที่สุขสบายว่าเป็นผู้มีบุญ และพูดถึงคนที่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยว่าเป็นผู้มีกรรม เปลี่ยนค่านิยมนี้เสียใหม่ให้ตัวละครเอกมีลักษณะล่ำสัน ขยันขันแข็ง รักการทำงาน และทำงานด้วยความลำบากตรากตรำ จึงส่งผลให้งานประติมากรรมบุคคลในยุคนั้นดูกำยำ เช่นเดียวกับเรือนร่างของผู้หญิงที่ถูกวางภาพในอุดมคติให้มีลักษณะที่เข้มแข็งมากขึ้น ไม่อ้อนแอ้นตามแบบหญิงไทยในวรรณคดี
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 คณะราษฎรได้เลือกถนนราชดำเนินกลางเป็น ‘เมกะโปรเจ็คต์’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนเส้นนี้คือถนนสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่ใจกลาง ทว่าคนที่มีอคติต่อคณะราษฎรมักอ้างว่า การกระทำของคณะราษฎรคือการมุ่งรื้อหรือสร้างสิ่งอื่นทับสิ่งก่อสร้างเดิมที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5
ขณะที่อาจารย์ชาตรีกลับมองเรื่องนี้ว่า จากข้อมูลหลักฐานที่พบ สะท้อนถึงลักษณะประนีประนอมของคณะราษฎรอยู่บ้าง เนื่องจากคณะราษฎรนั้นเลือกบริเวณถนนราชดำเนินกลางที่ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างใดในเชิงสัญลักษณ์ เป็นส่วนเชื่อมต่อถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินนอก ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บริเวณถนนราชดำเนินในจะมีอาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนราชดำเนินนอกก็มีพระราชวังสวนดุสิตและวังต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารพอสมควร แต่ถนนราชดำเนินกลางเป็นส่วนเปิดโล่ง
“ในเชิงนโยบายด้านศิลปะสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร แม้จะมีหลายส่วนที่พูดถึงอุดมการณ์ใหม่และโจมตีอุดมการณ์เก่า แต่โดยรวมแล้วสามารถมองได้บนฐานที่มีลักษณะประนีประนอมอยู่พอสมควร แม้กระทั่ง ‘หมุดคณะราษฎร’ การที่เลือกฝังหมุดลงบนพื้นก็มีลักษณะประนีประนอมกับอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจจะย้ายพระบรมรูปทรงม้าออกด้วยซ้ำ”
ส่วนกลุ่มอาคารในสมัยนั้น คณะราษฎรพยายามผลักดันนโยบายข้ามชาติ ซึ่งหมายถึงชาตินิยมทางธุรกิจ โดยนำรูปแบบการพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ จึงมีการสร้างอาคารเหล่านี้ขึ้น เพราะอยากให้คนไทยเข้ามาประกอบการค้า ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมีนโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่เรียกว่า ‘กอุพากรรม’ ย่อมาจาก กสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยปลูกพืช ทำการเกษตร ปลูกเสร็จก็ต้องพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม ต่อด้วยพาณิชยกรรม ทำการค้าขาย นโยบายคณะราษฎรจึงยืนอยู่บน 3 ขาสำคัญดังกล่าวด้วยนโยบายแบบชาตินิยม
ปี 2430 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการปรับปรุงถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่เดิมคือ ‘ตึกดิน’ เป็นอาคารที่ก่อกำแพงหนา ภายในบรรจุดินปืนไว้ เป็นลักษณะเมืองยุคโบราณเพื่อใช้ในยามศึกสงคราม แต่การเก็บดินปืนไม่สามารถเก็บไว้ในเมืองได้ เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุระเบิด จึงมีการกระจายไปตามที่ต่างๆ รอบกรุง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่เก็บดินปืนที่ใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ และที่เรียกว่าตึกดิน เนื่องมาจากมีการเก็บวัตถุไวไฟจำนวนมาก จึงมีการกำหนดอาณาบริเวณโดยรอบขนาดใหญ่เพื่อทำเป็นร่องสวน ไม่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงอันตราย
ใจกลางของตึกดิน คือบริเวณด้านหลังของโชว์รูมเบนซ์ธนบุรีในปัจจุบัน มีพื้นที่โดยรอบเหนือสุดไปถึงวัดบวรนิเวศวิหาร ใต้สุดลงไปจนถึงคลองหลอด ส่วนด้านขวาถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และด้านซ้ายเกือบถึงลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ตึกดินจึงเป็นสถานที่ที่มีขนาดกว้างใหญ่ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเป็นพื้นที่ในการดูแลของวังหน้า ซึ่งในช่วงปี 2430 เป็นปีสำคัญที่มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า การยกเลิกนั้นมาพร้อมกับการตัดพื้นที่สนามหลวงในนามของการพัฒนาพื้นที่ตอนเหนือ แต่ก็มีการรื้อวังหน้าออกไปครึ่งหนึ่ง และได้สร้างพระราชวังดุสิตในพื้นที่ที่อยู่ในอาณาบริเวณของวังหน้าแต่เดิมอีกด้วย
ต่อมา หลังจากที่ได้ทำการตัดถนนราชดำเนินเสร็จแล้ว บริเวณที่เป็นวังหน้าก็เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งใช้พื้นที่ตึกดินที่อยู่ฝั่งโชว์รูมเบนซ์ในปัจจุบัน เพราะไม่มีการใช้งานดินปืนอีกแล้ว เปลี่ยนไปใช้อาวุธสมัยใหม่แทน จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลคณะราษฎรโดยจอมพล ป. เลือกพัฒนาพื้นที่เป็นเมกะโปรเจ็คต์บริเวณเส้นถนนราชดำเนิน มีการปลูกสร้างตึกแถว อาคารพาณิชย์ ตลอดสองข้างทาง ซึ่งกินพื้นที่ไปถึงบริเวณตึกดินเก่า จึงต้องย้ายโรงเรียนสตรีวิทยาไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงอยู่ภายในพื้นที่ของตึกดิน เพียงแต่อยู่ทางเหนือ
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ถูกลงหลักปักฐานบนศูนย์กลางของถนนราชดำเนินกลางก็คือ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมความเจริญทุกอย่างของประเทศนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งประชาธิปไตยให้ความหมายถึงความเจริญสมัยใหม่ แต่ในเชิงความหมายอีกอย่างหนึ่งนั้น หมายถึง ถนนทุกสายที่วิ่งออกจากกรุงเทพฯ และทุกสายที่อยู่ในประเทศไทย จะเริ่มนับกิโลเมตรที่ 0 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
แผ่นป้ายคอนกรีตที่เขียนว่า ‘ทางหลวง’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือหลักกิโลเมตรที่ 0 ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงนับด้วยระบบนี้อยู่ สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดของคนไทยในสมัยนั้นให้ค่าถนนสมัยใหม่เท่ากับความเจริญ และเป็นความคิดที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกวันนี้ที่มีการนำงบประมาณไปพัฒนาความเจริญในชุมชน สิ่งที่จะทำเป็นอย่างแรกก็คือการสร้างถนน เพราะถนนคือความเจริญนั่นเอง ตามที่ในรายงานวันเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ระบุไว้ว่า “นี่คือศูนย์กลางความเจริญ ทุกอย่างจะเริ่มนับกิโลเมตรที่ 0 ที่นี่”
นอกจากนี้ ในการออกแบบอนุสาวรีย์ฯ ยังแฝงไปด้วยคอนเซ็ปต์ที่มีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่วงเวียนที่มีรัศมีความยาว 24 เมตร ปีกทั้ง 4 ด้าน สูง 24 เมตร ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน, ปืนใหญ่ที่ฝังอยู่โดยรอบจำนวน 75 กระบอก บ่งบอกถึงปี 2475, ตัวพานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร คือเดือน 3 อันเป็นเดือนที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเดือนมิถุนายน เนื่องจากสมัยนั้นเริ่มต้นนับปีใหม่คือเดือนเมษายน, ป้อมตรงกลางอนุสาวรีย์ฯ ออกแบบเป็นอาคารผังหกเหลี่ยม มีประตู 6 บาน โดยประตูแต่ละบานออกแบบลวดลายกลางประตูด้วยลายดาบหรือพระขรรค์ทั้งหมด 6 เล่ม เหล่านี้สื่อถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ส่วนประติมากรรมนูนสูงตรงรอบตัวปีกทั้ง 4 ด้าน เป็นเรื่องราว 4 ตอน ว่าด้วยประวัติของคณะราษฎร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเป็นอนุสาวรีย์ที่รวมคอนเซ็ปต์ที่สะท้อนหลักการของคณะราษฎรไว้ทั้งหมด
ทางด้านอาจารย์ณัฐพล ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างขึ้นในปี 2483 และไม่กี่เดือนหลังจากเปิดอนุสาวรีย์ฯ ก็มีเหตุการณ์การชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ขณะนั้นมีการเรียกร้องดินแดนคืนโดยคนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งเดินมาจากหน้าวัดพระแก้ว บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหมมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
การชุมนุมครั้งที่ 2 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในปีถัดมา เป็นการสวนสนามเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนืออินโดจีน ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสงครามที่ไทยสามารถเอาชนะฝรั่งเศสได้ในกรณีพิพาทอินโดจีน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในการสวนสนามของทหารไทยทุกเหล่า ยุวชนทหาร ทั้งกองทัพ รถถัง เครื่องบิน ต่างมาสวนสนามกันที่นี่
ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง ขบวนการเสรีไทยก็ได้มาสวนสนามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้อีกครั้งในปี 2488 หลังจากประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ประกาศยกเลิกการสัมพันธมิตรและประกาศสันติภาพ หลังจากนั้นก็ได้มีการสวนสนามเสรีไทยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีประธานคือ นายปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย มีการเดินขบวนสวนสนามกองกำลังของเสรีไทยจากจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงความสามารถในการปกป้องประเทศชาติให้พ้นสงครามได้
ปลายเดือนธันวาคม ปี 2488 เมื่อสงครามจบสิ้นลง กองกำลังสัมพันธมิตรที่เข้ายึดครองไทย หลังปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเสร็จ ภายใต้การนำของ ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบตเทน (Louis Francis Albert Victor Nicholas Mountbatten, Earl Mountbatten of Burma) กองกำลังและทหารต้องถอยทัพออกจากไทย ในขณะนั้นรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนครแล้ว จึงมีการจัดพิธีสวนสนามของสัมพันธมิตรในการออกจากประเทศไทย โดยมีรัชกาลที่ 8 และลอร์ดหลุยส์ฯ ตรวจพลทหารอังกฤษเพื่อส่งทหารเหล่านี้กลับประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์ทางการเมืองต่อมาคือ การประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 สมัยนั้นรัฐบาลจอมพล ป. ได้จัดการเลือกตั้งขึ้น แต่มีการชิงชัยทางการเมืองระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน จนนำไปสู่ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง ในการประท้วงครั้งนั้น นำโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาธรรมศาสตร์ ต่างไปชุมนุมกันที่จุฬาฯ มีการลดธงลงครึ่งเสา และเดินมาถึงหน้ากระทรวงมหาดไทย เพื่อถามว่าจะให้เลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ หรือจะทำการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงมหาดไทย ทั้งหมดจึงมุ่งหน้าตรงมาชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็เดินไปหาจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้พูดคุยเจรจากับนักศึกษา จนกระทั่งพอใจและกลับบ้านไป ต่อจากนั้นไม่นาน ความขัดแย้งทางการเมืองก็ทวีสูงขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนผ่านอันนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500 สิ้นสุดยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำคนสุดท้ายที่มาจากคณะราษฎร
การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นอีกครั้งในเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ตามด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 มาจนถึงปี 2549, 2551, 2553 เรื่อยมาจนถึงล่าสุดในปี 2563 นี้เองก็ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อาจารย์ณัฐพลได้กล่าวสรุปไว้ว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีความหมายสำคัญกับกิจกรรมทางการเมืองเป็นอย่างมาก จากยุคสมัยของคณะราษฎรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และล่าสุดปี 2563 สถานการณ์การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับคำถามใหญ่ที่มีต่อระบอบการปกครองของไทย ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง