นี่คือผลงานวิชาการเต็มรูปแบบที่ WAY of BOOK ภาคภูมิใจ ชื่อเต็มของหนังสือคือ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุผล (Rational Choice Theory) มีที่มาจากงานวิจัยซึ่ง ไชยันต์ ไชยพร ใช้เวลาเขียนร่วม 10 ปี
Rational Choice Theory พิมพ์ครั้งแรกโดย WAY of BOOK ในปี 2557 สำหรับการพิมพ์ครั้งที่สอง เปลี่ยนรูปแบบเป็นปกอ่อนเพื่อให้ราคาปกลดลง แต่ยังคงรักษาวิธีเข้าเล่มด้วยการเย็บกี่เพื่อให้หนังสือมีอายุยืนยาว หนังสือขนาด 16 หน้ายกพิเศษ ความหนา 464 หน้า ราคาปกเพียง 350 บาท
และต่อไปนี้คือเหตุผลบางประการที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้
หนึ่ง
เนื่องจากขณะนี้เรากำลังหายใจในสังคมที่ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล’ ล่มสลาย แต่ละฝ่ายต่างอ้างอิง ‘เหตุผล’ ของตนเอง คำถามเบื้องต้นจึงมีอยู่ว่า ถ้าในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิงเหตุผล แล้วทำไมเหตุผลที่แข็งแรงที่สุดจึงไม่สามารถหักล้าง และสถาปนาการยอมรับให้บังเกิดแก่ผู้ที่ยืนพิงกับเหตุผลที่อ่อนกว่าได้
หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้มีพื้นฐานการคิดและการสำแดงพฤติกรรม ‘อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ ตามข้อตกลงที่ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจ
สอง
หากใครบังเกิดความเวียนหัวจากการฟังวิธีใช้เหตุใช้ผลของฝ่ายจารีต หนังสือเล่มนี้อาจช่วยบรรเทาอาการเช่นที่ว่า หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่คือภูมิปัญญาของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ยังอยู่ในร่องในรอย เพียงพอที่จะแลกเปลี่ยนสนทนา
สาม
โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้อ่านและศึกษาความคิดเชิงปรัชญาการเมืองที่นิ่งแล้ว (หรือคนเขียนตายแล้ว) แต่ ไชยันต์ ไชยพร เลือกที่จะศึกษา Rational Choice Theory ผ่าน จอน เอลสเตอร์ นักทฤษฎีชาวนอร์เวย์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 1940 และยังมีชีวิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน เอลสเตอร์มีผลงานด้านทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลมาตั้งแต่ยุค 1970 และยังพัฒนาต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ผลงานล่าสุดของเอลสเตอร์ที่อ้างอิงในหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2009
สี่
แม้นว่า Rational Choice Theory จะเป็นศาสตร์ที่แทรกอยู่ในสาขาวิชาหลักๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา การบริหารจัดการ ฯลฯ เนื่องจากมันเป็นทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีนักวิชาการไทยค้นคว้า วิจัย และเรียบเรียงเนื้อหาออกมาอย่างจริงจัง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นผลงานทางวิชาการเล่มแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงทฤษฎีนี้อย่างเป็นระบบ
ห้า
Rational Choice Theory เหมาะกับคนที่ชอบถามว่า – “มีอะไรใหม่ๆ มาขาย!”
สำหรับผู้ที่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดโพสต์โมเดิร์น คำบอกกล่าวสั้นๆ มีอยู่ว่า Rational Choice Theory คือ ‘คู่ชกทางวิชาการ’ ของโพสต์โมเดิร์น กล่าวคือ หากอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยสายโพสต์โมเดิร์น คือพวกที่ชอบนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมยืดย้วยไปสอนหนังสือ อาจารย์สาย Rational Choice Theory ก็คือพวกที่สวมสแล็คสลิมฟิต ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวกลีบโง้ง ที่เดินเข้าไปประสานสายตากับพวกโพสต์โมเดิร์น แล้วตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลสุภาพเรียบร้อย (แต่สีหน้าแววตาดึงดูดอวัยวะใช้เดินไม่แพ้อีกฝ่าย) ว่า การสวมเสื้อยืดคอย้วย กางเกงขาสั้นโชว์ขนหน้าแข้งมาสอนหนังสือ ก็นับเป็นวิธีการผลิตอัตลักษณ์เพื่อสร้างตัวตนและเพิ่มมูลค่าอย่างหนึ่ง – ใช่หรือไม่
ประเด็นคือ ในขณะที่บรรดานักรื้อสร้างเผ่าโพสต์โมเดิร์นตั้งคำถามกับเหตุผลที่กำกับพฤติกรรมทุกชนิดที่มีอยู่บนโลก ชาวเผ่า Rational Choice Theory จะสามารถขุดหาความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อรองรับพฤติกรรมนั้นๆ ได้เสมอ
หก
ในสารบบของ Rational Choice Theory ไม่มีที่ว่างให้คำว่า ‘ศีลธรรม-จริยธรรม’ แต่เชื่อเรื่องการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด พูดง่ายๆ อย่าได้เที่ยวสวมเสื้อคลุมนักศีลธรรมแอบอ้างคุณงามความดี ความสูงส่งของระดับจิตใจ หรือความเป็นผู้เสียสละเสียให้ยาก เพราะ Rational Choice Theory จะสามารถหาคำอธิบายเบื้องหลังพฤติกรรมได้เสมอว่า ประกอบไปด้วยผลประโยชน์และความพึงพอใจชนิดใดบ้าง
ถ้าฉันแสร้งทำให้คนภายนอกมองเห็นว่า ฉันเป็นคนชอบช่วยเหลือและชอบทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น บุคคลอื่นๆ ก็จะรู้สึกชอบฉันและเป็นห่วงเป็นใยถึงความอยู่ดีมีสุขของฉัน เพราะมันทำให้พวกเขาได้อรรถประโยชน์เชิงบวกจากการบริโภคของฉันตามไปด้วย นี่หมายความว่า พวกเขาจะมีแนวโน้มจะกระทำสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของฉัน และผลลัพธ์สุทธิที่จะตามมาก็คือ ความอยู่ดีมีสุขของฉันจะมากกว่าการที่ฉันทำตัวเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดจากการเสียสละซึ่งกระทำให้แก่บุคคลบุคคลหนึ่ง ต่อบุคคลที่เป็นผู้รับจะสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้เสียสละ ดังนั้นเมื่อคิดว่าคนทุกคนจะเสียสละให้แก่ฉัน ผลประโยชน์ของการเสียสละที่พวกเขาทำให้แก่ฉันนั้นย่อมสูงเกินกว่าต้นทุนของการเสียสละที่ฉันทำให้เพื่อคนอื่นๆ เป็นแน่
(ความเป็นเหตุเป็นผลเชิงยุทธศาสตร์)
เจ็ด
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสามารถปะติดปะต่อคิดไปถึงสำนักคิดทางปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียงในความเจ้าเล่ห์เพทุบายสกุลมาเคียเวลเลียน โดย นิโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli) ซึ่งสำหรับเอลสเตอร์แล้ว มาเคียเวลเลียนเป็นแนวคิดทางปรัชญาการเมืองที่ยังเจ้าเล่ห์ไม่ถึงขีดสุด เนื่องจากต่อให้จะเสนอว่าเจ้าผู้ปกครองต้องแสดงตัวเยี่ยงสุนัขจิ้งจอกด้วยไม่ใช่ราชสีห์เท่านั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ แต่ปัญหาของวิธีคิดแบบมาเคียเวลเลียน คือการยืนอยู่บนเงื่อนไขว่าผู้คนรายรอบจะสถิตหยุดนิ่ง โดยที่เจ้าผู้ปกครองเคลื่อนไหวทางความคิดแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่เอลสเตอร์กล่าวถึงการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในสภาวะที่ทุกฝ่ายต่างเคลื่อนไหวและมีความคิดเสมอกัน ประเด็นที่เอลสเตอร์คัดง้างกับมาเคียเวลลีจึงไม่ใช่ประเด็นทางศีลธรรม แต่มันเป็นข้อแตกต่างคัดง้างบนฐานคิดเดียวกัน – นั่นคือการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด
ในแง่นี้ เราอาจกล่าวได้ว่า Rational Choice Theory ของเอลสเตอร์ ก็คือมาเคียเวลเลียน พ.ศ.ปัจจุบันนั่นเอง
แปด
ผลจากการทดสอบ โดยยื่นต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้นักอ่านชาวสยามที่มีจุดยืนทางการเมืองปัจจุบันแตกต่างกันคนละขั้ว หลังการทดสอบปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองขั้วไม่ยอมตอบคำถาม เอาแต่ก้มลงกราบหนังสือเล่มนี้ แล้วพึมพำเหมือนๆ กันว่า – ข้าพเจ้าได้ค้นพบบิดาทางความคิดคนใหม่แล้ว
เก้า
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มิใช่เพราะต้องการสถาปนาศาสดาองค์ใหม่ เนื่องจากผู้อ่านย่อมมี ‘สิทธิในการเลือก’ ที่จะชอบหรือไม่ชอบ จะสมาทานหรือไม่สมาทานแนวคิดนี้ได้โดยอิสระ แต่การจะเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านอย่างถี่ถ้วนและเข้าใจ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้อ่านประสบความสำเร็จในการเดินสำรวจเขาวงกตที่ จอน เอลสเตอร์ และ ไชยันต์ ไชยพร ออกแบบดักเอาไว้ด้วยความเพลิดเพลิน
สิบ
เหตุผลทั้งปวงที่ยกมานั้น จะบังเกิดความเป็นเหตุเป็นผลต่อเมื่อผู้อ่านพร้อมใจกันควักกระเป๋าซื้อหนังสือเล่มนี้โดยสมัครใจ!