ปรองดองกับวัฒนธรรม

chaiyan02
ภาพประกอบ: พีรเวทย์ กระแสโสม

 

ความขัดแย้งที่หนักหนารุนแรงในสังคมเกิดขึ้นได้เพราะมันขัดกับกติกาหรือบรรทัดฐานสำคัญบางอย่างของสังคมนั้น ขณะเดียวกัน ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นหลังความขัดแย้งนั้น จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อทำให้กติกาหรือบรรทัดฐานของสังคมกลับมาดำเนินไปได้ตามปกติ และกติกาหรือบรรทัดฐานที่สำคัญที่สุดของสังคมก็คือ ‘วัฒนธรรม’ โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมหนึ่งจะเป็นตัวกำหนดทั้งพฤติกรรมประจำวันของผู้คนและการบังคับใช้กฎหมายในสังคมนั้น

วัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละสังคมก็อาจจะมีส่วนคล้ายกัน แต่คงจะไม่เหมือนกันเป๊ะได้ และวัฒนธรรมทางการเมืองนี่เองที่จะเป็นตัวกำหนดให้พฤติกรรมประจำวันของผู้คนและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละสังคมแตกต่างกันไป

วัฒนธรรมคืออะไร? วัฒนธรรมตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรม ไว้สี่นัยคือ หนึ่ง-สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ สอง-วิถีชีวิตของหมู่คณะ สาม-ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน สี่-พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน”

ในสังคมไทย สิ่งที่เป็น ‘วิถีของหมู่คณะ’ ของเราก็คือ คนขับรถที่เห็นไฟแดงแล้วยังฝ่าไปอีกประมาณสองสามคัน ตำรวจก็ไม่ว่า คนขับรถอื่นๆ ก็ไม่ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนที่ขับมาในทางเดียวกัน หรือคนที่ขับมาในเส้นทางที่เป็นไฟเขียวแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมการขับรถดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย เนื่องจากมันเป็น ‘วิถีชีวิตของหมู่คณะ’ และเป็น ‘พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน’ และด้วยวิถีแบบนี้ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติบนท้องถนนที่เราเห็นว่ามันเป็น ‘สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ’ และเป็น ‘ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน’

ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองของเรา หากตำรวจจราจรคนใดออกมาจับรถที่ฝ่าไฟแดงเป็นคันแรกอย่างจริงจังทุกครั้งไป โดยไม่ได้มุ่งหมายหวังเงินค่าปรับเท่ากับบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด คนไทยทั่วไปย่อมถือว่าตำรวจคนนั้นเบี่ยงเบนไปจากวิถีหรือวัฒนธรรมไทย แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า ตำรวจคนนั้นทำถูกกฎหมาย แต่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ

การกระทำของตำรวจแบบนั้น หรือการที่คนขับรถคนใดคนหนึ่งจอดให้คนข้ามทางม้าลายทุกครั้ง ย่อมถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ ‘เบี่ยงเบน’ ไปจากวิถีที่ปกติ การเบี่ยงเบนที่ว่านี้ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะปกติใครๆ เขาก็ทำกันอีแบบนั้นอยู่ วันดีคืนดีมีคนออกมาทำผิดแผกไป ย่อมทำให้สังคม ‘เสียสมดุล’

ในแง่นี้เอง ที่นักวิชาการฝรั่งเขาเล็งเห็นเข้าไปในเบื้องลึกว่า ที่แท้แล้ว วัฒนธรรมก็คือ สภาวะหรือวิถีที่ก่อให้เกิดดุลยภาพ (equilibrium) เมื่อมันได้สมดุลในสังคม ทุกคนก็เห็นว่ามันเป็น ‘ปกติ’ ความปกติจึงเป็นเรื่องดีงามตามแต่ละสังคมจะ ‘ปกติ’ กันแบบไหน และคนในสังคมย่อมเห็นว่าสิ่งปกติเป็นเรื่องดีเรื่องชอบ มิฉะนั้นแล้วความปกติเช่นนั้นจะดำรงอยู่มาได้และอยู่ต่อไปอย่างไรเล่า!

เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะคิดออกกฎหมายอะไรมาก็ได้ กฎหมายจะขัดแย้งกับวิถีปกติของผู้คนในสังคมก็ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่การบังคับใช้ต่างหาก อย่างที่พูดกันเสมอว่า บ้านเมืองเรามีกฎหมายดีๆ อยู่หลายฉบับ แต่บังคับใช้ไม่ได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะบังคับไม่ได้เลย หรือใช้ได้แต่หลายมาตรฐาน หรือใช้ได้ในแบบ ‘ไทยๆ’ วิถีหรือวัฒนธรรม จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญมากกว่ากฎหมายหรือการตั้งคณะกรรมการหรือสถาบันอะไรขึ้นมา ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ส.ส. และมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากการคัดเลือกของตัวแทนประชาชนในสภาเป็นเรื่องดี แต่จะสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อเพียงแค่กระดาษที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ แผ่นเดียวแค่ช่วงข้ามคืน 24 มิถุนายน 2475 คงเป็นไปไม่ได้

เหมือนอย่างที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เพียงการออกกฎหมายรัฐธรรมนูญในชั่วข้ามคืนหรือจะลบพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่สืบสานมายาวนาน?

มีตัวอย่างในเรื่องกฎหมายกับวัฒนธรรม นั่นคือ กรณีพฤษภาทมิฬ 2535 รัฐธรรมนูญ 2534 (กระดาษ!) บัญญัติไว้ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 48 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับรองสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี” 

ตอนออกรัฐธรรมนูญมา ก็ไม่มีใครว่าอะไร หลังเลือกตั้ง มีปัญหาเฟ้นตัว ส.ส. ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร (หนึ่งในแกนนำการรัฐประหาร 2534) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกสุจินดาไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม

แต่ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ มีสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ท่านว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งท่านได้ตอบปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พอเป็นเข้าจริงๆ ก็เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่การยอมรับตำแหน่งของพลเอกสุจินดามิได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่มีการต่อต้าน แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐประหารครั้งนั้นได้ เพราะรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารเป็นรัฐบาลที่มีชื่อฉาวโฉ่ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจนได้รับฉายา ‘บุฟเฟต์คาบิเนต’ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการไม่รักษาคำพูดและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมืองจึงปะทุขึ้นอย่างรุนแรง โดยฝ่ายต่อต้านมีเหตุผลดังที่ได้กล่าวไป ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็มีเหตุผลว่า พรรคร่วมรัฐบาลอาศัยสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อพลเอกสุจินดา และการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดาก็หาได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

วิกฤติความขัดแย้งบานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายประท้วงพลเอกสุจินดา และต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรีได้เขียนไว้ในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี พ.ศ. 2554 ว่า

“ครั้นเดือนพฤษภาคม 2535 เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและประชาชนเดินขบวนขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุม และจับผู้นำการชุมนุมไปควบคุมไว้ เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจล มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่มีองค์กรทางการเมืองใดสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายกรัฐมนตรีและผู้นำการชุมนุมเข้าเฝ้าฯ และมีพระราชดำรัสเตือนสติคู่ขัดแย้งว่า หากยังเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไปประเทศไทยก็มีแต่ล่มจม ขอให้ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากันคิดถึงประเทศชาติและประชาชน หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติคู่ขัดแย้งแล้ว นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ยุติและมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่พร้อมกับมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น”  

จะเห็นได้ว่า เมื่อถึงเวลา ความสำคัญจะอยู่ที่ ‘วิถีหรือวัฒนธรรมทางการเมืองไทย’ มากกว่าเพียงการออกกฎหมายหรือการตั้งคณะอะไรขึ้นมาแก้ปัญหา ดังนั้น การปรองดองก็ดี การนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษก็ดี จะสามารถเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคมนั้นๆ ก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องกับดุลยภาพของวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมนั้นๆ แต่ปัญหาขณะนี้ก็คือ ดุลยภาพแตกตัวเป็นดุลยภาพเฉพาะกลุ่มย่อยต่างๆ (subgroups) ในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองชุดใหญ่ที่เคยเชื่อร่วมกันมันเริ่มสั่นคลอนและแตกกระจาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้น การจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองเดิมดูจะเป็นเรื่องยาก

พูดง่ายๆ อีกครั้งคือ เราอาจจะไม่สามารถกลับไปหาดุลยภาพเดิมได้ ไม่สามารถกลับไปมี ‘ความสุขตามวิถีเดิมๆ แบบไทยๆ’ ได้ตามที่ คสช. คาดหวังที่จะ ‘คืนความสุข’ ให้แก่ประชาชน

เราคงต้องหาทางช่วยกันสร้าง ‘จุดสมดุล’ หรือ ‘ดุลยภาพ’ ใหม่ขึ้นมา และที่ง่ายที่สุดก็คือ เริ่มต้นการบังคับใช้กฎหมายในชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด

ทางออกของปัญหาในระยะสั้นอาจจะเป็นว่า เราต้องการรัฐบาลที่สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ยั่งยืน และผลงานทุกอย่างอาจสิ้นสุดลงตามอายุรัฐบาล ดังนั้น ในระยะยาว เราต้องการการมีส่วนร่วมในการแสวงหาจุดสมดุลและสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่

บางครั้งการปล่อยทุกฝ่ายร่วมกันให้หา (แม้จะมีความขัดแย้ง) ก็เท่ากับการสร้างวัฒนธรรมและเป็นวัฒนธรรมอยู่แล้วในตัวมันเอง

 

 

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า