เพราะ ‘ยา’ เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นความตาย ยาจึงข้องเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ เป็นผลประโยชน์มหาศาลที่ตักตวงเอาจากความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ผ่านการค้ากำไรบนความเจ็บป่วยของผู้คน
การเติบโตของอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ระดับโลก แผ่อิทธิพลและอำนาจต่อรองครอบงำกติกาโลก ถึงขั้นแทรกแซงนโยบายและการออกกฎหมายของแต่ละประเทศได้
ความเป็นมหาอำนาจของอุตสาหกรรมยาไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ยังคงสะท้อนให้เห็นร่องรอยอิทธิพลบางอย่างในความพยายามที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎกติกา ดังปรากฏให้เห็นในร่าง พ.ร.บ.ยา ที่สร้างความปั่นป่วนในแวดวงสาธารณสุขเมื่อช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้
…
ในประเทศไทยราวปี 2518 หรือเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เกิดการรวมตัวกันของ ‘กลุ่มศึกษาปัญหายา’ หรือ กศย. กลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล โดยมีเสาหลักคือ ภญ.สำลี ใจดี ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวชาวเภสัชศาสตร์ก้าวออกจากห้องเรียนไปแสวงหาความรู้ในโลกความเป็นจริง เพื่อให้ได้รู้ ได้เห็น และสัมผัสความเป็นไปจากความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน ทั้งทุกข์จากความเจ็บป่วย ทุกข์จากการเข้าไม่ถึงยา ทุกข์จากความไม่รู้ในการใช้ยา
อุดมการณ์ตั้งต้นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มศึกษาปัญหายา เป็นเพียงความพยายามที่จะป้องกันและส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน ด้วยการให้ความรู้ในการใช้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ตกเป็นเหยื่อยาชุด ยาปลอม ยาลวงโลก แต่เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง โลกแห่งความเป็นจริงก็สอนให้พวกเขารู้ว่า ปัญหาเรื่องยายังมีอุปสรรคใหญ่ที่ท้าทายกว่านั้น และสิ่งนั้นอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของคำว่า ‘ผลประโยชน์’ ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมยาที่มีความซับซ้อนซ่อนกลยิ่งกว่าหนังเร่ขายยาตามหมู่บ้านชนบท
หนังสือ เขย่าสังคมด้วย “ปัญหายา”: พลิกประวัติศาสตร์ 4 ทศวรรษ “กลุ่มศึกษาปัญหายา” (กศย.) เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่พาไปสู่เรื่องราวการก่อตัวของขบวนการปัญญาชนด้านสาธารณสุขที่มีต้นธารจากยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน 14 ตุลาฯ ท่ามกลางบรรยากาศความตื่นตัวของนิสิตนักศึกษา
ใน ‘คำนิยม’ เขียนโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า กศย. วางบทบาทของตนเองด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ในฐานะ ‘กลุ่มศึกษา’ (study group) จึงทำให้สามารถแสวงหาความรู้ จนรู้จริง โดยยืนบนหลักวิชาการ เคลื่อนไหวบนฐานความรู้เพื่อรับใช้ประชาชน
“…โดยเฉพาะการ ‘เข้าหามวลชน’ เข้าไปในจุดที่อ่อนแอที่สุดของประเทศ และเป็นจุดที่คนในมหาวิทยาลัยโดยมากไม่รู้จัก คือชุมชนและชนบท เมื่อเคลื่อนไหวก็ไม่ลุยไปอย่างโดดเดี่ยว แต่มีการขับเคลื่อนมวลชนและแนวร่วมจนนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย”
ยามเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมสยาม 6 ตุลา 2519 กศย. ยังสามารถฟื้นตัวและทำงานเพื่อประชาชนสืบเนื่องมาจนปัจจุบันได้ “…เพราะงานของ กศย. เป็นงานเพื่อมนุษยธรรมโดยบริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ” นพ.วิชัย ให้ข้อสังเกตไว้เช่นนั้น
ดอกผลจากการทำงานของ กศย. สามารถช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้มากมาย ไม่ว่าจะด้วยการลงพื้นที่ศึกษาวิจัย สำรวจปัญหาการใช้ยาและการขายยาทั้งในเมืองและชนบท การรณรงค์แก้ไขปัญหายาชุด ยกเลิกยาซองแก้ปวดสูตรเอพีซี สนับสนุนการริเริ่มจัดทำนโยบายยาแห่งชาติ การใช้บัญชียาหลักแห่งชาติ การใช้ชื่อสามัญทางยา การตรวจสอบราคายา การจัดซื้อยา ตรวจสอบการสั่งใช้ยาของแพทย์และการจ่ายยาของเภสัชกร รวมถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเรื่องสิทธิบัตรยา และการร่วมเปิดโปงปัญหาทุจริตยา 1,400 ล้านของกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ
หนุ่มสาวรุ่นใหม่ในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุขยุคประชาธิปไตยแหว่งเว้า จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาวิธีคิด วิธีทำงาน และอุดมการณ์ของกลุ่มคนที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในนาม กศย. จากหนังสือเล่มนี้ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะรู้ว่าการต่อสู้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘กัดไม่ปล่อย’ นั้น ต้องอาศัยความอดทนและรอคอยมากแค่ไหน และกลุ่มคนเหล่านี้มีวิธีสร้างแนวร่วมอย่างไรจึงสามารถต่อกรกับความไม่ถูกต้องมาได้กว่าสี่ทศวรรษ
ท่ามกลางยุคครีมหน้าขาว โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพลวงโลกยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโซเชียลมีเดีย สงครามยายังไม่ยุติลงโดยง่าย อนาคตอาจต้องฝากไว้กับคนรุ่นหลังที่จะมาช่วยกันสานต่ออุดมการณ์วิชาชีพ ยกเว้นแต่เพียงว่า บุคลากรสาธารณสุขยุคปัจจุบันจะขายวิญญาณไปเป็นเซลส์แมนให้กับอุตสาหกรรมยาเสียเอง
เขย่าสังคมด้วย “ปัญหายา”: พลิกประวัติศาสตร์ 4 ทศวรรษ “กลุ่มศึกษาปัญหายา” (กศย.) จัดทำโดย กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา |