The Real Kwon Ji Yong เรียกผมว่าควอนจียง

บุคคลที่คุณกำลังเห็นอยู่บนจอนี้ กับบางคนเขาเป็นลูกชาย, เป็นเพื่อน, เป็นคนที่รัก อาจจะเป็นศิลปินคนโปรดหรือคนดัง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมเป็นใคร

ในคอนเสิร์ต ‘G dragon 2017 World Tour Act III, M.O.T.T.E. moment of truth the end.’ มี VTR ช่วงหนึ่งฉายขึ้นระหว่างเบรก เป็นวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนรอบตัวจียง ว่า Who is Kwon Ji Yong to you? ช็อตหนึ่งพ่อของจียงตอบว่า “เขาเป็นเด็กที่ไม่เคยตอบว่า ไม่ กับพวกเราเลยสักครั้ง”

แล้วบรรยากาศในคอนเสิร์ตที่ห่างจากครั้งล่าสุดถึง 4 ปีก็ลุกฮือ

ไอดอลและคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ที่ปรากฏในวิดีโอ เช่น PSY, SE7EN, Suzy Menkes บรรณาธิการนิตยสาร Vogue หรือครูประจำชั้นตอนประถมก็ชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ว่าจะควอนจียงหรือ G Dragon เขาก็คือเด็กหนุ่มที่เก่งและสร้างปรากฏการณ์ ครูประถมของเขาบอกว่า

“ความตั้งใจในการเป็นศิลปินของเขามันชัดเจนมาก”

ในรายการวาไรตี้รายการหนึ่งในเกาหลี จียงก็เคยตอบว่า “ผมไม่รู้เลยว่าผมจะเป็นอะไรถ้าไม่ได้เป็นนักร้อง ผมคิดว่าถ้าผมยังไม่ได้เป็นนักร้อง ผมก็คงกำลังฝึกเพื่อที่จะเป็นอยู่” ไม่รู้ว่าโม้หรือเปล่า แต่ในสมัยวัยกระเตาะ จียงเคยบอกว่าประธานค่ายหยาง ฮยอน ซอก ตั้งโจทย์ให้เขาแต่งเพลงทุกวันจนเป็นนิสัย จนช่วงหนึ่งแค่นั่งแล้วลุกขึ้น เพลงก็วาร์ปเข้ามาในหัวเลย

photo credit : บ้านแฟนคลับ Number G

ดูขี้โอ่แต่น่าเชื่ออย่างบอกไม่ถูกเมื่อเทียบกับสเกลงานในวงการบันเทิงทั้งนอกและในประเทศที่จียงเคยทำมาจนถึงตอนนี้

แฟนคลับต่างรู้ดีว่า GD คือบุคคลอายุน้อยที่มีอิทธิพลต่อคนทั้งในและนอกวงการ ด้วยความที่จียงขยันผลิตผลงานตั้งแต่เด็กอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนดูที่สังเกตได้ในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้จึงหลากหลาย เต็มไปด้วยเด็กวัยรุ่นที่ใส่ที่คาดผมรูปมงกุฎสีเหลืองเรืองแสง (สัญลักษณ์ของวง Big Bang), สุภาพสตรีวัยกลางคน, มนุษย์ออฟฟิศ รวมถึงผู้สูงอายุ (จริงๆ) ที่อยู่ในโซนบัตรราคา 5,500 บาท

และเมื่อดนตรีเพลง ‘Heartbreaker’ ดังขึ้นพร้อมกับผู้ชายในชุดแดงตรงกลางเวที แท่งไฟสีเหลืองก็โบกว่อนไปทั่วคอนเสิร์ตพร้อมเสียงที่สะท้อนกันไปมาไม่ได้ศัพท์ GD หรือควอนจียงกำลังร้องเพลงเหมือนไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับฝูงชนตรงหน้าเสียเท่าไหร่เลย

“ผมมักจะพยายามแต่งตัวให้ดูดีเมื่อเป็น GD แต่ในความเป็นจริง บางครั้งมันก็รู้สึกหนักเกินไป แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังรู้สึกกลัวถ้าจะต้องถอดมันออก”

ในวัย 28 ปี ชีวิตส่วนตัวของเขาอยู่คู่กับแสงแฟลช ควอนจียงไม่ได้เป็นแค่นักร้องที่มีลิขสิทธิ์เพลงของตัวเอง, Big Bang และวงอื่นๆ มากกว่า 100 เพลง ออกเพลงโซโลหรือกลุ่มก็ขึ้นชาร์ตตลอดเวลา (ล่าสุด Solo อัลบั้ม Kwon Ji Yong ก็ perfect all kills แปลว่า ไปทั้งชาร์ตเกาหลี ณ เวลาปล่อย และไปป้วนเปี้ยนใน Billboard ได้ในเวลาอันสั้น) แต่เขายังได้รับการระบุไว้ใน ’50 Reasons Why Seoul is the Best City’ ที่ CNN จัดทำไว้ในปี 2554 ด้วย

ในปี 2558 G dragon ทำรายได้จากลิขสิทธิ์การแต่งเพลงไปมากกว่า 700,000 ดอลลาร์ และเป็นศิลปินที่อายุน้อยที่สุดในบรรดานักแต่งเพลงชาวเกาหลีใต้ที่ทำรายได้มากที่สุดในปี 2555 เขาทำบีทส์ให้ Runway show ของ Nicola Formichetti และร่วม featuring กับศิลปินดังต่างชาติอย่าง Missy Elliot หรือ M.I.A. ที่สำคัญคือเป็น Influencer และ Fashion Icon ของเกาหลีใต้และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือควอนจียงเป็น Muse ของ Chanel อยู่หลายปี เป็นหนึ่งในชาวเอเชียไม่กี่คนที่ได้รับเชิญไปงาน Gala ต่างๆ และปาร์ตี้ราษฎร์หลวงของ Chanel (ล่าสุดก็สะพาย Gabrielle bag ซึ่งเป็นแคมเปญของ Chanel ขึ้นไปเล่นบนคอนเสิร์ตด้วย เพนท์ซะฉูดฉาดจนลืมไปว่าเป็นของ Chanel กันเลยทีเดียว)

จียงกับกระเป๋า chanel / photo credit : บ้าน always-GD

แต่รางวัลแฟชั่นล้านแปดที่ได้มา แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะจียงแต่งตัว ‘ดี’ แต่เป็นคนแต่ง ‘อะไรก็ได้’ ที่เป็นตัวเอง ไม่ค่อยมีใครแต่งตัวทำผมทรงสาหร่ายทะเล, ซูชิไข่ม้วน หรือย้อมผมสียูนิคอร์นในเวลานั้น (และแฟชั่น homeless น่าเอ็นดูในเวลานี้) สไตลิสต์ก็มีส่วนด้วยเพราะจีอึนเคยได้รับรางวัล Best Style Award ในงานประกาศของเกาหลี The 5th Gaon Chart Kpop Awards เช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วการเพนท์รองเท้าแตะบนเครื่องบินแล้วใส่ลงมาคนละข้างไม่เหมือนกันก็เป็นสิ่งที่สไตลิสต์ไม่น่าจะควบคุมได้

สไตลิสต์คนเก่าแก่ (น่าจะของ Big Bang) เคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนแรกก็กังวลว่าศิลปินจะยอมใส่ชุดที่จัดมาให้ไหม แต่สุดท้ายแล้วพอเป็นจียง เขาก็ไม่เคยบอกว่า “นูนา ผมใส่อันนี้ไม่ได้” เลยสักครั้ง

สรุปคือมั่นหน้ามั่นใจเอามากๆ นั่นเอง

แฟชั่นของ G Dragon เป็น Hype ที่ยาวนานสำหรับแฟนคลับ แต่จะพูดว่ามันขึ้นๆ ลงๆ ก็ไม่ได้เพราะความน่าตื่นตาตกใจไม่เคยน้อยลงเลย เช่นในคอนเสิร์ตครั้งนี้ จียงใส่ชุดที่มีธีมเป็นสีแดงและไว้ทรงผมไถข้าง เต้นและวิ่งไปรอบๆ เวที และไม่ว่าจะนำวัตถุแฟชั่นที่คล้ายที่ครอบผลไม้มาครอบศีรษะอย่างไร แฟนคลับก็ยังคงยืนยันว่านั่นคือความน่ารักน่าเอ็นดู (แม้ว่าจะโก่งคิ้วขอเวลางงเล็กน้อย)

จียงเคยมีโปรเจ็คต์แฟชั่นมหาศาล เช่น เคยร่วมกับแบรนด์อิตาลี Giuseppe Zanotti ออกรองเท้ารุ่นพิเศษซึ่งราคาสูงมาก หรือลงปก Vogue ในพล็อตพิสดารกับ Soo Joo นางแบบชื่อดังเมื่อหลายปีมาแล้ว เคยพีคถึงขนาดที่ว่าเคยมีแฟนอาร์ตส้น teen ของจียง (ส้น teen จริงๆ) เพราะแฟนๆ เห็นว่าน่ารักดีเมื่อเขาใส่รองเท้าแวนฯ เหยียบส้นไปในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์, ห้างร้านยันงาน Chanel

ก็คงจะพีคจริงๆ เพราะเมื่อปีที่แล้วหัวหน้าวง Big Bang เปิดตัวแบรนด์ใหม่ peaceminusone (อ่านจากโลโก้ได้ว่า GD เป็นสัญลักษณ์ peace ที่มีแง่งหายไป 1 แง่ง) เป็นแบรนด์ที่ประกอบด้วยสินค้าไร้ซึ่งความจำเป็น เช่น คลิปหนีบกระดาษราคาเกือบพัน (ซึ่งจียงใช้หนีบหมวกหนีบเสื้อไปเล่นคอนเสิร์ตและออกงาน จากนั้นไม่นานก็มีเซเล็บหนีบตามด้วยมากมาย) และหมวกแก๊บที่มีหางยาวมากๆ มีฟังก์ชันเพื่อเกะกะโดยแท้ในราคาหลายพัน มีเสื้อและสินค้าต่างๆ ที่ตัวละเป็นหมื่น และถึงแม้ว่าเราจะมองว่ามันตลกและดูงงงวยเหลือเกินว่าใครจะซื้อ แต่คลิปหนีบกระดาษและเสื้อบาติกประตูน้ำหลายหมื่นเหล่านั้นก็ได้ sold out ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีดี

(ก้มกราบ)

 

อาจจะดูเหมือนว่าผมมีชีวิตที่ดี แต่ในเวลานี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทุกอย่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย ชีวิตอิสระและ limelight ก็แพงนั่นแหละ คนรักเยอะคนเกลียดก็เยอะ แล้วมันก็อาจจะแพงมากกว่าราคาคลิปหนีบกระดาษนั่นหลายเท่าเพราะอิสระเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

“เพราะว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเลยรู้สึกเหมือนกับที่คนทั่วไปรู้สึก เรา (Big Bang) เคยเล่นคอนเสิร์ตที่ Tokyo dome ซึ่งเต็มไปด้วยคนประมาณ 60,000 คน หลังจากที่เจอกับแฟนๆ เราก็กลับโรงแรมไปอาบน้ำนอน นั่นทำให้ผมรู้สึกว่างเปล่าแปลกๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเราจะไปปาร์ตี้ในที่หรูๆ ต่อ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง”

จียงมีชีวิตวัยเด็กที่โตเร็วกว่าปกติ เป็นเด็กที่ความฝันถีบยิกๆ ว่าต้องโตเป็นผู้ใหญ่ตอนนี้เลย ทำตัวเป็นกระดาษทรายตอนก่อนเดบิวต์ สากระคายกับเพื่อนร่วมวงเวลามีใครทำได้ไม่ดี รองรับความกดดันจากฝ่ายความฝันและความเป็นจริง ไปฝึกอยู่ในที่ที่ไม่ใช่เกือบ 5 ปี และถึงแม้จะอยู่ใน YG ซึ่งเป็นที่ที่ใช่ ก็ยังต้องพยายามอย่างหนัก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า

“ผมโดนต่อว่าเมื่อทำหน้าที่ที่โรงเรียนได้ไม่ดี และพอมาฝึกแล้วทำได้ไม่ดี ก็โดนต่อว่าอีก”

จียงเคยบอกว่าตัวเองเหมือนสุนัขจิ้งจอกและหลายคนก็บอกแบบนั้น ในความร้ายๆ แต่เขาก็ปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีคนเคยถามว่าทำไมได้เป็นหัวหน้าวงเขาก็ตอบว่า ก็ประธานหยางบอกให้เป็นก็เลยต้องเป็น…แค่นั้นเอง

ท่ามกลางวงการไอดอลเกาหลีที่มีเด็กมากมายอยากอยู่ในสปอตไลท์และฉายแสง พวกเขาไม่ได้แค่ต้องฝึกซ้อมอย่างหนักและหาตัวตนให้เจอ จียงเคยให้สัมภาษณ์ว่าการฝึกทำซ้ำๆ ย้ำๆ นั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่คุณก็ต้องหาทางของตัวเองให้เจอด้วย มันจะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นถ้าคุณอยู่ในบริษัทใหญ่ที่มีศิลปินดังๆ เยอะอยู่แล้ว เพราะในยุคที่ยังไม่ได้มีใครจับตามอง G Dragon วัยจิ๋วก็ต้องไปช็อปปิ้งเสื้อผ้ากับยองเบ (แทยังวัยจิ๋วเช่นกัน) ที่ตลาดทงแดมุนตอนเช้ามืดด้วยเงินของตัวเองเพื่อมาเล่นเป็นวงเปิดให้ Se7en ครั้งหนึ่งเขาก็เคยรอที่สถานีออกอากาศ 8-9 ชั่วโมงอย่างว่างเปล่า เพราะสตาฟลืมโทรบอกว่ามีคิวคนอื่นมาแสดงแทนแล้ว

“เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงที่ยังเป็นเทรนนี แล้วสุดท้ายวันต่อมาผม (กับยองเบ) ก็ต้องกลับมาถูพื้นที่บริษัทต่อ”

“ผมร้องไห้บ่อยมากเวลาอยู่คนเดียว”

เด็กชายควอน จียง อายุ 10 กว่าขวบจึงขี้อดทน เขาบอกเองว่ารู้สึกตัวเองไม่ค่อยเหมือนคนเกาหลีทั่วไป อยากเป็นแรปเปอร์ตั้งแต่เกรดสี่ ฝึกห้าหกปีเพื่อเดบิวต์ และชัดเจนมากๆ ว่าต้องการทำอะไรต่อไปในอนาคต โฟกัสงานตรงหน้าด้วยความตั้งใจ แอ็คติ้งหรือเปล่าไม่รู้แต่คลิปทั้งหลายที่อัดมาตอนทำเพลงดูโหดมาก (เคยให้ Park Bom วง 2NE1 มาร้อง Feat ให้เพลงหนึ่งและสั่งให้เขาร้องท่อนเดียวไปเป็นสิบรอบ แล้วสุดท้ายก็ไม่เอาเพราะคิดว่าไม่เหมาะ) อย่างคอนเสิร์ต OOAK WT ที่โอซาก้าเมื่อปี 2556 จียงข้อเท้าแพลงแต่ก็ยังออกทัวร์ต่อ อาจจะขุ่นหงุดหงิดใจ แต่เหยียบไว้หมดจนไม่เห็นตอนแสดงเลยว่ากังวล

จียงมักจะบอกว่าเอาจริงๆ ไม่ตื่นเวทีเท่าไหร่เลย เพราะมีเวลาจำกัดและมันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เลยไม่แปลกที่เรามักจะเห็นเขาวิ่งเล่นไปมาราวเวทีเป็นสวนสนุก หรือนั่งเล่นนอนเล่นเหมือนอยู่บ้าน (สรุปจ่ายตังค์มาดูอะไร) เหมือนในคอนเสิร์ตครั้งนี้ หลายเพลงก็ลงไปกลิ้งๆ อยู่กับพื้นเวที (แล้วแฟนๆ ก็กรี๊ดดังมาก)

“ผมไม่ค่อยตื่นเวทีเพราะอยู่บนนั้นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เวลาแสดงผมจึงสนุกกับมัน พอเล่นเสร็จก็มักจะจำอะไรไม่ได้เลยนอกเสียจากว่าทำอะไรผิดพลาดไปเท่านั้น แล้วก็ต้องฝึกหนักเพื่อไม่ให้พลาดอีก แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถว่าเราจะทำได้ดีขึ้นไหมในสถานการณ์จริงๆ ตรงนั้น”

(ก็น่าเชื่ออยู่เพราะขนาดกำลังจะตกเวทีในคอนเสิร์ตวันที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ก็ยังสามารถกระโดดลงได้อย่างโปรและขึ้นมาแร็ปต่อได้)

คอนเสิร์ต World tour ครั้งที่สองของนายควอนจียง (คาดว่าก่อนจะเข้ากรม) ว่ากันว่าเป็นคอนเสิร์ตแห่งตัวตน ทั้ง visual และ VTR ต่างๆ สื่อชัดมากว่าโตแล้ว เสียงแฟนคลับที่กรี๊ดสนั่นทั่วฮอลล์ช่วงเปิดคอนเสิร์ตยังดังก้องเหมือนว่าพวกเขารอเวลานี้มานานหลายปี

วิดีโอ Transition ทำคลอดระหว่างเบรก Act I ครั้งยังเป็น A Boy G Dragon ยังเด็กน้อย ไปยัง Act II ที่ Yes sir, I’m one of a kind ผมเก่ง ผมยังเด็ก ผมซ่า แต่ก็รวยมาก แล้วเข้าสู่ Act III ที่ BULLSHIT แล้ว ใครจะว่ายังไงไม่สนใจเ_ี้ยอะไรแล้ว เปิด Act สุดท้ายด้วยเพลง ‘Super Star’ ว่าด้วยความไม่เหลือใคร แม้จะเหมือนมีบ้านเป็นแกลเลอรี มีป่าในโซลเป็นสวน มีชื่อเสียงเงินทอง แต่ก็ยังรู้สึกเศร้าและว่างเปล่า

ราวกับว่า World tour ครั้งนี้เป็นสเปซแห่งการระบายและทิ้งท้ายอะไรก็ตามที่เคยโดนสังคมกดดัน และรู้สึกอยากเป็นอิสระเสียที

Who let the dogs out?

ควอนจียง หรือ G Dragon หรือ GD (หรือ จวง ที่แฟนๆ ชาวไทยเรียกกัน) ปิดฉากเพลงสุดท้ายไว้ให้แฟนคลับพูดถึงกันอีกยาวนาน เพราะเขาเดินลงมาข้างล่างเวที ค่อยๆ ขยับใกล้ชิดกับแฟนคลับด้านหน้าและร้องเพลง Untitled, 2014 ช้าๆ ซึ้งๆ ตามไปด้วย รวมถึงขอบคุณและบอกกับแฟนๆ ในช่วงทอล์คว่า

“You guys made me.”

Motte (ม็อทเท)ในภาษาเกาหลีแปลว่า มดลูกของแม่ แปลได้อีกแง่ว่า ตั้งแต่เกิด คอนเสิร์ตครั้งที่ 3 ของควอนจียงส่งต่อความเป็นจริงของการเป็นศิลปิน โดดเดี่ยว อ้างว้าง และไม่สวยหรูเหมือนที่คนนอกจินตนาการไว้ ความสำเร็จและเงินทองเหมือนว่าจะสร้างความสุขให้มากมาย ทำตามความฝันได้แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

เป็นคอนเสิร์ตที่จียงบอกว่าพวกคุณอาจจะคิดว่าชีวิตผมมีทุกอย่าง และมีความสุขมากๆ แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอกครับ

“ผมใช้ชีวิตเป็น G Dragon มาจนถึงตอนนี้ และตอนนี้ผมอยากจะเป็นควอนจียงแล้ว ผมไม่รู้ว่าพวกคุณอยากให้ผมเป็นอะไร แต่สิ่งที่คุณจะได้เห็นตอนนี้…คือทุกอย่าง”

“G ain’t no bullshit, bitch, I’m real.”

 

Author

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า