ติโต…เร็วไปที่จะลืม?

ในห้องเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่ง คุณครูในชุดดูเคร่งขรึม ใส่แว่นตากรอบใส ผมตึงรวบแน่นไว้ด้านหลัง เธอเขียนหัวข้อที่จะสอนบนกระดานดำ

‘โซรัน’ เด็กชายวัย 10 ขวบใบหน้าจ้ำม่ำลอบมองไปที่หน้าต่าง…ภาพเด็กผู้หญิงรูปร่างสูงชะลูด ขายาวในชุดพละเสื้อยืดสีขาวกางเกงขาสั้น ยืนยืดเส้นยืดสายที่สนามกีฬาของโรงเรียน

เสียงของครูเริ่มต้น…

“นักเรียนทุกคน…ชีวิตวัยเยาว์ของติโตไม่สุขสบายนัก เขาต้องตื่นนอนแต่เช้า และเข้านอนดึกมาก ในวัยเด็ก ติโตต้องพาวัวออกไปที่ทุ่งหญ้า รวมถึงม้าชื่อพุดโก”

“โซรัน เธอกำลังจ้องอะไรอยู่”

คุณครูเปลี่ยนโทนเสียงเตือนเด็กชาย เขาหันหน้ากลับไปยังกระดานดำ ครูกล่าวต่อว่า

“ช่วงนี้ฉันขอยกคำกล่าวของเขา…พุดโกเชื่อฟังฉันคนเดียว” โซรันจดตามที่ครูสอนต่อ

ที่หน้าชั้นเรียนเหนือกระดานดำ รูปถ่ายใส่กรอบของ จอมพลติโต ในชุดทหารสีขาวสง่างามติดอยู่บนนั้น เมื่อโซรันเงยหน้าจากการจดตามที่ครูบอกอีกครั้ง จอมพลติโตหายไปจากกรอบรูป!!!

“ในเวลาทุกข์ยาก เขาไม่มีเงิน และไม่มีแม้แต่จะซื้อกางเกงขายาวใส่ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนอย่างติโตเลย เพราะเขามีเกมที่ชื่นชอบอยู่สามเกม…”

เสียงครูยังดำเนินต่อไป

ทันใดนั้น ติโตในชุดที่เห็นในภาพถ่ายปรากฏตัวเป็นคนจริงๆ อยู่หน้าห้องเรียน เขาสบตาโซรันที่มองไปที่เขาอย่างตื่นตะลึง จอมพลติโตทำสัญญาณว่าอย่ากระโตกกระตาก จากนั้นเดินเข้ามาในห้อง อ้อมหลังครูไปยังที่หน้าต่างห้องเรียน โซรันมองตามพร้อมหันไปมองรอบห้อง เด็กนักเรียนทั้งหญิงชายต่างจดตามที่ครูบอกอย่างขะมักเขม้นเหมือนพวกเขาไม่ได้เห็นอย่างที่เขาเห็น จอมพลติโตสบตาโซรันและหันมองไปนอกหน้าต่าง พลางชี้ชวนให้โซรันลอบมองเด็กผู้หญิงในชุดพละคนเดิมอีกครั้ง จอมพลติโตยิ้มกึ่งหัวเราะและทำสัญญาณมือว่าเห็นด้วย

“โซรัน เธอต้องการให้ครูโยนเธอออกไปนอกห้องใช่ไหม”

เสียงของครูดังขึ้น เด็กชายสะดุ้งและหันกลับมาจดตามที่ครูบอกอย่างใจจดใจจ่อ

ฉากในห้องเรียนจากภาพยนตร์ ‘Tito and Me’ (1992)

นี่คือฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง Tito and Me ที่สร้างในปี 1992 กำกับโดย โกรัน มาร์โควิช (Goran Marković) หนังเรื่องนี้พูดถึงยุคสมัยที่ติโตปกครองยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะช่วงที่เขาเรืองอำนาจและมีผู้คนมากมายนับถือเขาในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ในเวลานั้น เด็กนักเรียนทุกคนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวประวัติของจอมพลติโต

ภายใต้การนำของติโต เขาสร้างยูโกสลาเวียให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก ด้วยการสร้างรัฐสังคมนิยมที่พยายามไม่อิงกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย และสานสัมพันธ์อันดีกับประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล เช่น ในลาตินอเมริกาและแอฟริกา ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นเขาเดินทางไปต่างประเทศคือการแต่งชุดประจำชาติ พร้อมด้วยวงล้อมของผู้คนที่เปล่งเสียงเรียกชื่อ “ติโต” เมื่อเขาปรากฏตัวในที่สาธารณะ

รูปปั้นติโต

หนังสือท่องเที่ยวเซอร์เบียเขียนโดย ลอเรนซ์ มิทเชลล์ (Laurence Mitchell) ที่ฉันพูดถึงในบทที่แล้ว แนะนำว่า สถานที่ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งคือสถานที่บรรจุศพของจอมพลติโต

เพราะเป็นวันอาทิตย์ ฉันต้องวางแผนไปเยือนสุสานติโตในวันนั้น เพราะวันจันทร์สุสานปิดเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ดังนั้น ช่วงเช้าวันที่ 27 ธันวาคม หลังจากกินอาหารเช้าง่ายๆ แล้ว ฉันไปถามข้อมูลเรื่องขึ้นรถรางกับเด็กหนุ่มที่ดูแลเกสต์เฮาส์ให้แน่ใจว่าเดินไปป้ายรถรางไม่ผิดทาง เขาทำให้ฉันอดประหลาดใจไม่ได้ เพราะเหมือนไม่ค่อยรู้เรื่องหลุมศพติโตเท่าไร เขาเคยได้ยินเแต่ไม่เคยไป และไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหนแน่ๆ

ในเมื่อไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ฉันเลยเดินตามแผนที่ ก่อนขึ้นรถราง ฉันหาซุ้มขายตั๋ว เพราะจากหนังสือแนะนำท่องเที่ยวบอกว่า หากซื้อตั๋วจากซุ้มขายตั๋วด้านล่างจะถูกกว่าซื้อจากคนขับบนรถ ปรากฏว่าวันนั้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ซุ้มขายตั๋วตรงป้ายที่ฉันขึ้นดันปิด รถรางสายที่ต้องการมาแล้ว ฉันเลยต้องยอมจ่ายแพง ซึ่งพอไปเจรจากับคนขับ เขาก็ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษอีก ชายคนหนึ่งที่อยู่บนรถมาช่วยสื่อภาษาให้ ตกลงตั๋วเที่ยวเดียว ฉันต้องจ่ายแพงเกือบเท่าตัวถึง 150 ดีนาร์ จากที่ควรจะจ่ายแค่ 80 ดีนาร์

ฉันนั่งรถสายนี้ไปเพียงสามป้ายก็ถึงที่หมาย จากนั้นขึ้นรถราง แล้วต้องเดินต่อไปยังสุสานติโตที่อยู่ในสวนบนเนินด้านใน พร้อมๆ กับหนุ่มวัยกลางคนที่ช่วยฉันซื้อตั๋วเมื่อครู่ คุยไปคุยมาถึงได้รู้ว่าเขาเป็นเซอร์เบียนที่ไปอยู่นิวยอร์คนานแล้ว และคราวนี้กลับมาเยี่ยมประเทศบ้านเกิด

สุสานติโตเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ยูโกสลาเวีย (Museum of Yugoslav History) ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับอดีตอันหอมหวานที่ทำให้เบลเกรดกลายเป็นศูนย์กลางการบริหาร ทั้งๆ ที่จอมพลติโตเป็นคนโครแอท และมีบ้านเกิดอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่เขตแดนระหว่างโครเอเชียและสโสวีเนีย เขาเกิดในยุคที่หมู่บ้านยังอยู่ภายใต้จักรวรรดิฮับส์บวร์ก (Habsburg Empire) ฉันอยากไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นี้เพื่อทำความเข้าใจการกำเนิดขึ้นของยูโกสลาเวียก่อนจะไปรู้จักตัวตนของติโต

ปรากฏว่าเมื่อไปถึง ส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์กลับปิดบริการเพื่อเตรียมจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จะมีขึ้นอาทิตย์ถัดไป แต่ยังดีว่าในส่วนที่ฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับติโตความยาว 19 นาทียังเปิดให้ชม ซึ่งจะมาชมเมื่อไรก็ได้ เพราะฉายวนตลอดทั้งวันในช่วงเวลาทำการของพิพิธภัณฑ์

ฉันเดินไปยังส่วนหลุมศพติโต ตอนซื้อตั๋วเข้าชม คนขายบอกว่าให้รีบเข้าไป เพราะมีไกด์ฟรีเล่าประวัติศาสตร์แก่นักท่องเที่ยวที่เพิ่งเริ่มไปไม่นาน ฉันเลยต้องวิ่งกระหืดกระหอบตามไปสมทมกับกลุ่มทัวร์ เจอนักท่องเที่ยวสองคนจากแคนาดากับคนนำทัวร์เป็นผู้หญิง เธอเป็นนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเบลเกรด

ตอนที่ฉันไปสมทบ เธอกำลังอธิบายถึงพื้นที่สุสานติโตว่า ติโตมีความคิดที่จะสร้างศูนย์พันธุ์ไม้เขตร้อนสมัยยังครองอำนาจอยู่ เพราะเขามีความฝันต้องการสร้างสวนเรือนกระจกนำพันธุ์ไม้เขตร้อนมาประดับไว้ที่ยูโกสลาเวียซึ่งเป็นเมืองหนาว

ระหว่างอธิบายและเดินไปยังสุสานด้านใน เธอชี้ไปที่อาคารหลังหนึ่งในส่วนที่พักประธานาธิบดีที่ปัจจุบันยังไม่มีการซ่อมแซมตั้งแต่โดน NATO ถล่มในสงครามโคโซโว ภายนอกของสุสานเป็นสวนที่ประดับประดาด้วยรูปปั้นสไตล์โรมัน หนึ่งในนั้นที่ไม่ใช่รูปปั้นศิลปะสไตล์โรมัน คือรูปคนยืนก้มหน้าในชุดกึ่งทหารท่าทางมุ่งมั่น นั่นคือรูปปั้นจอมพลติโต เธอบอกว่าติโตให้เพื่อนศิลปินที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันเป็นคนออกแบบ เป็นท่าทางที่ติโตชอบ คือก้มหน้าเล็กน้อยและมองไปข้างหน้าอย่างแน่วแน่ และรูปปั้นจะถูกสร้างให้ใหญ่กว่าตัวจริง เพื่อให้ดูน่าเกรงขาม

ไกด์เล่าว่ามีรูปปั้นของติโตแบบเดียวกันนี้มากมาย อย่างในสวนของหลุมศพติโตก็มีรูปปั้นวางอยู่อีกด้าน และยังมีการสร้างกระจายไปตั้งในที่อื่นๆ ฉันสำทับว่าเห็นรูปปั้นแบบนี้ที่ซาราเยโวเหมือนกัน เธอบอกว่า ใช่แล้ว แต่ไม่ก็ไม่น่าแปลกใจมาก เพราะรูปปั้นติโตสามารถพบเจอได้ในประเทศที่เคยเป็นอดีตยูโกสลาเวีย

แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านั้น เธอเล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีนักท่องเที่ยวจากเม็กซิโกมาเยือนสุสานบอกกับเธอว่ามีรูปปั้นของติโตที่เม็กซิโกด้วย ทำให้เธอสนใจใคร่รู้ว่ายังมีรูปปั้นของติโตอีกกี่ตัว และมีอยู่ที่ไหนบ้างโดยที่เธอไม่รู้มาก่อน

ฉันสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่เธอเล่า เลยลองไปหาข้อมูลทางกูเกิล พบว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวบอกเธอเป็นเรื่องจริง รูปปั้นของติโตในท่ามุ่งมั่นเงยหน้ามองไปข้างหน้าของเขา ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Chapultepec ในเม็กซิโกซิตี เมืองหลวงของเม็กซิโก

การสร้างรูปปั้นของผู้นำในขณะที่มีชีวิตอยู่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างลัทธิผู้นำ (cult of leader) โดยเฉพาะผู้นำจากประเทศอดีตสังคมนิยม โดยมีโต้โผคือ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ในปี 2004 มีนักวิชาการศึกษาเรื่องนี้และตีพิมพ์หนังสือ The Leader Cult in Communist Dictatorships: Stalin and the Eastern Bloc โดยเสนอว่า ลัทธิผู้นำในยุคสตาลินคือการสร้างระบบที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และได้พัฒนากลายเป็นลัทธิของการนับถือเลื่อมใสในบุคลิกของคนเป็นผู้นำ บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เขียนโดย สตานิสลาฟ สเรเตโนวิช (Stanislav Sretenovic) และ อาร์ตัน ปูโต (Artan Puto) พูดถึงการสร้างลัทธิผู้นำของติโตระหว่างที่เขามีบทบาทต่อการเมือง รวมทั้งบริหารยูโกสลาเวีย รวมเป็นเวลา 43 ปี ตั้งแต่เขาได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ของยูโกสลาเวีย และบริหารประเทศจนเสียชีวิตในปี 1980

ชุดของจอมพลติโตที่เขาสวมในยามที่มีชีวิตอยู่

ลัทธิติโตในฐานะบุคคลถือกำเนิดขึ้นช่วงที่เขามีบทบาทรวมประเทศเป็นปึกแผ่นและนำประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะช่วงที่เขาดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และยอมแตกหักกับสตาลินในปี 1948 จนปี 1950 หนังสือพิมพ์ Politika ยกย่องความเป็นผู้นำนักคิดของติโตที่เปรียบเทียบกับ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ฟรีดริค เองเงิลส์ (Friedrich Engels) และ เลนิน ชื่อของติโตมักได้รับการขนามนามด้วยคำว่า ‘ยิ่งใหญ่’ ‘อัจริยภาพ’ เป็นผู้ปกป้องลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) และลัทธิเลนิน (Leninism)

จากปี 1956 เป็นต้นมา ติโตต้องการสร้างประเทศสังคมนิยมที่แตกต่างจากสตาลิน เขาตั้งหน่วยงานคนทำงานชื่อ ‘คนทำงานเยาวชน’ (Youth Staffs) และวันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันเกิดของติโต ถูกประกาศให้มีการเฉลิมฉลอง ‘วันเยาวชน’ เพื่อสร้างภาพความแนบแน่นของติโตกับเยาวชนของยูโกสลาเวีย ชีวประวัติของเขาได้รับการบรรจุลงในหลักสูตรการเรียน และรูปถ่ายของเขามักใช้เป็นหน้าปกตำราด้วย

เช่นเดียวกับบรรยากาศของหนังเรื่อง Tito and Me นักเรียนทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับผู้นำของเขา นอกจากนี้ บรรดาประเทศที่เป็นพันธมิตรกับยูโกสลาเวียต่างมอบตำแหน่งพิเศษให้กับเขา และมหาวิทยาลัยในประเทศโลกที่สามหลายแห่งมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านปรัชญาต่อบทบาทการเป็นผู้นำทางสันติภาพ

บทความของ สตานิสลาฟ สเรเตโนวิช และ อาร์ตัน ปูโต ยังเสนอด้วยว่า คุณลักษณะของจอมพลติโตสามารถสร้างลัทธิผู้นำในยูโกสลาเวียให้อยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากในปี 1930 ประชากรยูโกสลาฟกว่าร้อยละ 90 เป็นเกษตรกร ที่ต่อมาในปี 1945-1990 คน 7 ล้านคนของเกษตรกรเหล่านี้ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองและมีตำแหน่งทางการทหารและสถาบันทางเศรษฐกิจของรัฐ และมีส่วนในการสร้างลัทธิผู้นำให้กับติโตในช่วงเข้ามาบริหารประเทศ

ภาพลักษณ์ของติโตจึงเป็นส่วนผสมระหว่างผู้นำของเกษตรกร ผู้ปกป้องประเทศ และวีรบุรุษในตำนาน ขณะที่ประชากรรุ่นใหม่ที่เป็นเกษตรกรครึ่งเวลาและประชาชนทั่วไปสร้างภาพของจอมพลติโตที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า มหากษัตริย์ และพ่อของประเทศ

หนัง Tito and Me สะท้อนภาพตรงนี้อย่างชัดเจน เมื่อโซรันเขียนเรียงความเกี่ยวกับติโต โดยในตอนหนึ่งของเรียงความ เขาเผยความในใจว่ารักจอมพลติโตมากกว่าพ่อแม่ของเขาเสียอีก ตรงนี้พ่อแม่ของโซรันก็แอบกังวลใจ เพราะวันหนึ่งพ่อของเขาเห็นโซรันเขียนบนกำแพงว่า ‘โซรันรักติโต’ เพื่อตั้งใจให้พ่อของเขาเห็น เรียงความดังกล่าวทำให้โซรันเป็นเด็กในจำนวนไม่กี่คนที่ได้รับเลือกให้ร่วมทัศนศึกษาไปยังบ้านเกิดของติโตที่หมู่บ้านในโครเอเชีย

กลับมาเล่าเกี่ยวกับการแนะนำสุสานติโตของนักเรียนเอกประวัติศาสตร์ต่อ เมื่อเราเข้าสู่อาคารของสุสานซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมศพ มีภาพของติโตขณะมีชีวิตอยู่ประดับประดามากมาย รวมถึงของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องแบบนายทหาร ไปป์และยาสูบ โต๊ะทำงาน สาส์นที่ส่งมาจากอดีตผู้นำประเทศสังคมนิยมอื่นๆ แต่สิ่งที่ถือว่าพิเศษสุดคือคบเพลิงจากงานวิ่งแข่งคบเพลิงเยาวชน ซึ่งไกด์สาวให้พวกเราทุกคนทายก่อนเฉลยว่ามันคืออะไร แต่ไม่มีใครตอบถูก

คบเพลิงจำนวนมากเป็นของสะสมจากงานวิ่งแข่งที่จัดขึ้นทุกวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของติโตและวันเยาวชน การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1945 ต่อมาในปี 1957 รัฐบาลประกาศให้วันเยาวชนเป็นวันหยุดราชการ โดยกลุ่มเยาวชน องค์กรทางการเมือง และองค์กรอื่นๆ ได้นำคบเพลิงที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นมามอบให้ติโตกับมือ ในฐานะเป็นสาส์นอวยพรวันเกิดในงานที่จัดขึ้นที่สนามกีฬาในกรุงเบลเกรด แต่ละปีมีจำนวนคนและองค์กรเข้าร่วมและทำคบเพลิงเพิ่มขึ้นทุกปี งานแข่งขันวิ่งคบเพลิงนี้จัดมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าติโตจะเสียชีวิตไปแล้วจนเลิกราในปี 1988

เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ยูโกสลาเวียให้รายละเอียดว่า พิพิธภัณฑ์มีคบเพลิงสะสมอยู่ถึง 22,000 คบเพลิง และทางเจ้าหน้าที่เองยังคงภารกิจตามหาคบเพลิงที่อาจตกหล่นอยู่ตามที่ต่างๆ ในประเทศอดีตยูโกสลาเวีย เนื่องจากบางครั้งคนวิ่งคบเพลิงไม่ได้วิ่งมาถึงสนามกีฬาทุกคน โดยคบเพลิงที่ทำขึ้นล่าสุดที่พบคือปี 1987

คบเพลิงบางส่วนในพิพิธภัณฑ์

หลังจากอธิบายส่วนนี้ ไกด์สาวพาเรามายังจุดสุดท้ายคือ สุสานของติโต ซึ่งเป็นแท่นหินอ่อนตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้สีเขียว ไม่มีคำอธิบายในส่วนนี้มากนัก เพราะนี่คือจุดจบของอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ภายใต้แท่งหินสีขาว

เธออธิบายถึงการที่มาเป็นคนนำทัวร์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายว่า เพราะต้องการให้ความรู้กับผู้คน แม้ว่าเบลเกรดกำลังพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ประวัติศาสตร์บางส่วนกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร พิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดการที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครมีความรู้ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่รอบด้านพอ นักท่องเที่ยวจึงยังไม่ค่อยเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ที่ทำเอาฉันประหลาดใจ เมื่อไกด์สาวบอกว่าประวัติศาสตร์ช่วงยูโกสลาเวียเอง ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีใครรู้จัก เพราะไม่ถูกบรรจุในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ฉันคิดในใจว่า อะไรมันจะช่างแตกต่างจากช่วงที่ติโตอยู่และปกครองยูโกสลาเวียให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ที่หนังสือเรียนบรรจุเรื่องราวของเขาเอาไว้อย่างละเอียดในตำรา แต่เมื่อยูโกสลาเวียแตกสลาย เบลเกรดกลายเป็นแค่เมืองหลวงของประเทศเซอร์เบีย สถานการณ์และการรับรู้อดีตและประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปได้มากขนาดนี้ นี่ยังไม่ถึง 40 ปีหลังติโตถึงแก่อสัญกรรมไปด้วยซ้ำ

สถานการณ์ปัจจุบันต่างจากช่วงที่ติโตเพิ่งเสียชีวิตและระยะเวลา 10 ปีหลังจากนั้น ก่อนที่สงครามประกาศตัวเป็นเอกราชของสโลวีเนีย โครเอเชีย และบอสเนียฯ จะเริ่มขึ้น มีคนมาเยี่ยมชมสุสานติโตถึง 14 ล้านคน และมีหนังสือเรื่องราวของติโตออกมาเป็นร้อยเล่ม นอกจากนี้ เทศบาลเมืองและเมืองที่อยู่ภายใต้อดีตยูโกสลาเวียยังเอาชื่อติโตไปตั้งชื่อเมืองและถนนตามความแตกต่างของภาษาในแต่ละที่ เช่น คำว่า ‘ติโต’ บ้าง ‘ติตา’ (Tita) บ้าง ในปี 1984 รัฐบาลยูโกสลาเวียถึงกับต้องออกกฎหมายห้ามเอาชื่อติโตไปตั้งชื่อสถานที่อีก หลังจากพบว่ามีเมืองชื่อติโตซ้ำกันถึงแปดเมือง

สุสานของติโต

นอกจากหลุมศพติโต หลุมศพของภรรยาก็อยู่ในสุสานนี้ด้วย นักท่องเที่ยวคนหนึ่งในกลุ่มถามถึงลูกหลานติโต ไกด์สาวเล่าว่า ติโตมีลูกชายสองคนที่ตอนนี้อยู่ซาเกร็บ (Zagreb) เมืองหลวงโครเอเชีย หนึ่งในนั้นเปิดร้านเบเกอรี แต่ทั้งคู่ไม่ได้มีชีวิตพิเศษหรูหราอะไร เหมือนคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่มีสมบัติหลงเหลือ เธอบอกว่าอาจเป็นเพราะติโตปฏิบัติตามแนวคิดสังคมนิยม ครอบครัวเขาจึงไม่ได้มั่งคั่งอะไร แม้จะเป็นลูกหลานอดีตผู้นำก็ตาม

ข้อมูลตรงนี้ต่างจากสิ่งที่ฉันกลับมาหาอ่านเพิ่มเติม ในบทความที่เขียนถึงลัทธิผู้นำของติโตที่ฉันพูดถึงในตอนแรกบอกว่า ช่วงที่ติโตมีชีวิตอยู่ เขามีทรัพย์สินมากมาย และมีชีวิตที่สะดวกสบายหรูหรา ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย เรือยอชท์ หรือการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงชีวิตส่วนตัวเช่นมีภรรยาน้อยและลูกนอกสมรส เมื่อเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่เปิดเผยมากขึ้น และประเด็นค่าใช้จ่ายของรัฐที่ใช้ในการดูแลสุสานติโต ทำให้โครงการทุกอย่างเกี่ยวกับติโตต้องหยุดชะงักลง เช่นโครงการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับติโต 60 ตอน ที่โครงการเพิ่งดำเนินไปแค่ครึ่งทางเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นและสต็อกหนังสือเก่าที่ขายไม่ค่อยดีนัก

ลัทธิผู้นำที่มีต่อติโตอาจยังหลงเหลืออยู่แค่ในกลุ่มทหารพรรคคอมมิวนิสต์เก่าเท่านั้น ในที่สุดในวันที่ 4 พฤษภาคม 1990 หนังสือพิมพ์อย่าง Politika ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนลัทธิผู้นำออกมาประกาศว่า “ตำนานของติโตในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตั้งใจหรือจุดประสงค์ใดก็ตาม ได้ตายจากไปแล้ว”

ณ วันนี้ ความทรงจำของผู้คนที่มีต่อติโตเริ่มเลือนราง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2015 ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของโครเอเชีย โคลินดา กราบาร์-คิตาโรวิช (Kolinda Grabar-Kitarovic) มีแนวคิดรื้อถอนศิลปะโดยเฉพาะสถาปัตยกรรมและรูปปั้นที่เกี่ยวข้องกับยูโกสลาเวีย นั่นรวมถึงทำลายรูปปั้นของติโตในสวนที่พักประธานาธิบดี แนวคิดนี้สร้างประเด็นถกเถียงตามมาอย่างมาก เพราะสำหรับคนโครแอทในโครเอเชีย ติโตคือตำนานผู้นำที่มีความเข้มแข็ง กล้าต่อกรกับนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยอมยืนคนละขั้วกับสตาลิน ขณะที่บางคนเห็นเขาเป็นผู้นำเผด็จการที่ต่อต้านเสรีภาพในการแสดงออก สั่งคนเรือนพันให้เข้าคุกข้อหากระด้างกระเดื่องต่อผู้นำ และเคยสั่งฆ่าคนเกือบครึ่งล้านมาแล้ว

นี่คือส่วนหนึ่งของความเป็นติโต ผู้นำในตำนานประวัติศาสตร์โลก สำหรับฉันแล้ว ไม่อยากให้เขาถูกลืมเร็วเกินไป เราจะลืมอดีตที่เป็นมาได้อย่างไร สิ่งที่ควรจะทำคือเราควรรู้จักเขาทุกมิติ เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของคนที่มีบทบาทต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักบุญ พ่อพระ อวตาร หรือปีศาจก็ตาม

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า