ซาราเยโวในม่านควัน

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซาราเยโวตัดสินใจปิดโรงเรียนประถมและมัธยมในวันที่พฤหัสบดี (24 ธันวาคม 2015) ขณะที่สภาเทศบาลเมืองเรียกร้องให้ประกาศวันหยุดช่วงฤดูหนาวปีนี้ให้เร็วกว่าปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องผจญกับควันพิษ

ส่วนหนึ่งของรายงานข่าวจากเว็บไซต์ PHYS.ORG

ฉันไม่คาดคิดมาก่อนว่าการเดินทางเพื่อเปิดหูเปิดตาของฉันในช่วงฤดูหนาวที่ยุโรปตะวันตกเฉียงใต้จะมาพบกับปัญหาควันพิษอย่างไม่ได้ตั้งใจที่ซาราเยโว

ระหว่างที่อยู่ในเมืองตุซลา ตอนเช้าๆ ฉันสังเกตเห็นแล้วว่าท้องฟ้าไม่โปร่งโล่ง เหมือนมีม่านหมอกบังสายตาอยู่ตลอด ช่วงนั้นควันอาจไม่หนามาก เมื่อมองออกจากหน้าต่างห้องพักไกลๆ ฉันเห็นควันที่พุ่งพวยออกมาจากบ้านแต่ละหลัง เหมือนมาจากปล่องควันที่ให้ความอบอุ่นยามค่ำคืนต่อเนื่องถึงยามเช้า แต่ตกกลางคืน รู้สึกเหมือนอยู่ในม่านควันบางๆ ที่เห็นอะไรรางเลือนอยู่ข้างหน้า แต่ตอนนั้นฉันเองยังไม่ได้เอะใจหาสาเหตุมากนัก…

ช่วงบ่ายของวันที่ 23 ธันวาคม 2015 ฉันนั่งรถบัสระหว่างเมืองร่วมสี่ชั่วโมง จากตุซลาไปยังซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียฯ ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ รถวิ่งตามเส้นทางบนถนนแคบสูงชันตามแนวพื้นที่สูง และผ่านเมืองบางแห่งอย่าง ชิวินิเซ (Živinice) และ โอโลโว (Olovo) เพื่อจอดแวะรับผู้โดยสารระหว่างทาง ตลอดเส้นทางผ่านหุบเขา ฉันเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทที่พื้นที่โล่งกว้างสำหรับเกษตรกรรมเรียงรายอย่างต่อเนื่อง สักอาทิตย์หนึ่งก่อนฉันเดินทางไปถึงบอสเนียฯ เริ่มมีหิมะตกบ้างแล้ว ทำให้เห็นภูเขามีแนวสีขาวเป็นพืดบ้างเป็นหย่อมบ้างจากหิมะที่ตกสะสมหลายวันและยังไม่ละลายอยู่สองข้างทาง

วันนั้นคนโดยสารขึ้นไม่เต็มคันรถ ฉันได้เพื่อนร่วมทางเป็นเด็กสาวมหาวิทยาลัยตุซลาสองคนที่กำลังเดินทางกลับบ้านที่เมืองมอสตาร์ (Mostar) เธอทั้งสองมีเชื้อสายโครแอทที่นับถือคาทอลิก แน่นอนว่าพวกเธอกำลังกลับไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวในช่วงหยุดเทศกาล

เพื่อนร่วมทาง สองนักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยตุซลา

จากสภาพชนบทในหุบเขาที่รถวิ่งมา เกือบ 6 โมงเย็น รถบัสไต่ลงพื้นราบอย่างต่อเนื่อง ไม่นานรถเริ่มชะลอตัวลง ถนนเริ่มติดขัดด้วยสภาพจราจรที่หนาแน่นขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าได้เข้าสู่เขตเมืองของซาราเยโวแล้ว แต่ที่น่าตกใจมากกว่าจราจรที่เริ่มแออัดคือสภาพที่มองอะไรแทบไม่เห็นอยู่ข้างหน้า ซาราเยโวปกคลุมไปด้วยควันที่หนาแน่น จนทำให้ฉันต้องหันไปถามเด็กสาวสองคนที่นั่งมาด้วยว่ามันคืออะไร เธอทั้งสองทำหน้าแหยๆ บอกว่าเป็นหมอกควัน หรือ ‘smog’ ในภาษาอังกฤษ ที่ลอยตัวอยู่ในชั้นอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะที่ไม่เป็นผลดีต่อทางเดินหายใจหากอยู่ในที่แจ้งนานๆ

ไม่นานหลังจากฝ่าจราจรที่เริ่มหนาแน่นเพราะเป็นช่วงหลังเลิกงานในวันทำงานกลางสัปดาห์ รถบัสเข้าไปจอดยังสถานีขนส่งเมืองซาราเยโว เพื่อให้คนที่มีจุดหมายปลางทางที่นี่ลงจากรถ และอาจรับคนต่อไปยังจุดหมายปลายอื่นๆ ฉันลงจากรถพร้อมกระเป๋าขนาดย่อมใบเดียวเพื่อต่อรถไปยังที่พักที่จองไว้ ตอนแรกตั้งใจนั่งรถรางประจำทางที่วิ่งผ่านไปยังตัวเมืองเก่าและเดินต่อไปยังที่พัก แต่เมื่อถามไถ่ทางไปป้ายรถรางที่ต้องเดินออกไปอีกครึ่งกิโลเมตร ฉันเปลี่ยนใจ ไม่ใช่เพราะระยะทาง แต่เป็นเพราะมองอะไรข้างหน้าไม่เห็นเลย สถานการณ์ควันพิษของซาราเยโวหนักหนากว่าที่ตุซลาในช่วงเวลาที่ฉันอยู่ค่อนข้างมากนัก

ฉันมารู้ในภายหลังว่า เป็นเวลาเกือบสามอาทิตย์ที่บอสเนียฯ ประสบปัญหามลภาวะหลังจากที่สภาพอากาศแปรปรวน หลายคนเชื่อว่าเกิดจากภาวะโลกร้อน ปลายปี 2015 ที่ฉันไปเยือน อุณหภูมิในซาราเยโวสูงกว่าปกติ ทำให้อากาศไม่หนาวมากเหมือนทุกปี คืออยู่ที่ระดับเหนือ 0 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย ขณะที่ปกติอากาศติดลบ 10 องศาฯ หรือต่ำกว่านั้น เมื่ออุณหภูมิไม่ต่ำพอ หิมะก็ไม่ตก บวกกับชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นเพราะฝนไม่ตกและไม่มีลมพัดผ่าน ช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงานของคนทำงานยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้นไปอีก เนื่องจากทุกคนต่างออกจากที่ทำงานกลับบ้านด้วยรถยนต์ที่เกือบทุกคันปล่อยควันเสียออกมา และเมื่อดึกยิ่งขึ้นปริมาณควันยิ่งหนาแน่นขึ้นจากควันไฟในครัวเรือนที่สร้างความอบอุ่นในหน้าหนาว

อีกสาเหตุของปัญหาควันพิษคือ บอสเนียฯ ได้รับผลกระทบจากสงครามเพื่อนบ้านระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นในปี 2014 เกี่ยวกับปัญหาสองแคว้นในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนที่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อไปรวมกับรัสเซีย ความขัดแย้งพัฒนาไปเป็นความรุนแรงต่อสู้กันระหว่างขบวนแบ่งแยกดินแดนที่หลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียให้การหนุนหลัง กับกองกำลังทหารของรัฐบาลยูเครน ความขัดแย้งดำเนินต่อเนื่องมากว่าสองปี ปัญหานี้ ทำให้รัสเซียดัดหลังยูเครนด้วยการปิดท่อส่งก๊าซข้ามแดน

รัสเซียใช้มาตรการปิดท่อหยุดส่งก๊าซให้ยูเครนครั้งแรกในช่วงฤดูหนาวปี 2014 ประจวบเหมาะอย่างตั้งใจที่เป็นช่วงเวลาเดียวกับสงครามแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นในชายแดนยูเครน ทำให้ยูเครนเกิดปัญหาพลังงานขาดแคลน เนื่องจากพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้พลังงานของยูเครนร่วมกับยุโรปในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งก๊าซที่ส่งจากท่อรัสเซียมายังยูเครนถูกส่งต่อผ่านท่อไปยังประเทศในภูมิภาคอย่างยิ่งมาซิโดเนีย มอลโดวา เซอร์เบีย และบอสเนียฯ ดังนั้น เมื่อสงครามแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นโดยมีรัสเซียอยู่เบื้องหลังขบวนการ จึงส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปที่ต้องพึ่งพาก๊าซที่ส่งท่อผ่านยูเครน เมื่อไม่มีก๊าซใช้ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพาการเผาไม้ให้ความอบอุ่นในตอนกลางคืนและรุ่งสาง ควันไฟจากการเผาไหม้จึงทำให้ชั้นบรรยากาศหนาแน่นด้วยควันพิษเพิ่มขึ้น

นี่คือปัญหาที่อยู่เบื้องหลังควันพิษในซาราเยโวที่เป็นทั้งเรื่องธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน และการเมืองระหว่างประเทศ!

ฟืนที่ใช้เผาเพื่อความอบอุ่นในหน้าหนาว

ด้วยควันที่หนาจนมองทางแทบไม่เห็นและเวลาใกล้ค่ำ ฉันเรียกแท็กซี่จากสถานีขนส่งให้ไปที่เกสต์เฮาส์ พอไปถึงที่พัก อิสเหม็ด เจ้าของเกสต์เฮาส์ยืนรอรับฉันอยู่ก่อนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้คนขับแท็กซี่ถามทางไปเกสต์เฮาส์กับเขาที่ต้องอาศัยคำอธิบายทางโทรศัพท์

เกสต์เฮาส์แห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาตรงข้ามกับพื้นที่ใจกลางเมืองเก่าซาราเยโว อิสเหม็ดให้ห้องชุดที่เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กกับฉันแม้ว่าจะมาคนเดียว เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ห้องพักไม่เต็ม ฉันพักอยู่ที่นี่สามคืนในราคาประมาณ 2,000 บาท ห้องชุดมีครัวเล็กๆ พร้อมโต๊ะกินข้าว ห้องนอน ห้องนั่งเล่นพร้อมโซฟาที่ใช้เป็นเตียงนอนได้ รวมถึงโถงด้านหน้าแยกต่างหากสำหรับวางเสื้อโค้ทและรองเท้า ไม่รวมกับระเบียงด้านนอกที่อาจไม่ได้ใช้มากนักเพราะอากาศหนาว อิสเหม็ดบอกว่าหากมีปัญหาอะไรเคาะเรียกเขาได้ เพราะเขาพักอยู่ห้องถัดไปจากฉันนั่นเอง

พอแนะนำการใช้งานเครื่องใช้ต่างๆ อิสเหม็ดขอตัวไปเจอเพื่อนที่ในเขตเมืองเก่าของซาราเยโว ฉันขอเดินตามไปด้วย เพราะยังงงกับเส้นทางที่แท็กซี่พาไปวนซะหลายรอบจนเริ่มไม่แน่ใจว่าจะเดินไปที่ใจกลางเมืองจากที่พักอย่างไร อิสเหม็ดบอกเคล็ดลับในการจำทางเดินตอนขากลับให้ พร้อมกับบ่นเกี่ยวกับสภาพควันพิษที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้เหมือนที่ฉันเล่าให้ฟังไปแล้ว เขาบอกว่าเอาเข้าจริงปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่ซาราเยโวเกิดปัญหาควันพิษ ปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่าปีนี้ เพราะอากาศหนาวพอและหิมะตกติดกันหลายวัน ควันพิษก็จะจางลงหรือหมดไป

หลายคนในเมืองต้องพึ่งหน้ากากใส่ปิดหน้าไว้เวลาออกนอกบ้าน ฉันไม่ได้เตรียมตัวมา แต่ก็คิดว่าน่าจะหาใส่สักอันหนึ่ง เพราะก็ได้กลิ่นควันเหม็นแสบจมูกอยู่ตลอด

และอย่างที่ฉันเอาข่าวมาเล่าให้ฟังในตอนต้นว่า สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นโรงเรียนต้องปิดภาคฤดูหนาวเร็วกว่าปกติ โดยประเพณีของบอสเนียฯ โรงเรียนจะปิดเทอมในช่วงฤดูหนาวก่อนสิ้นปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ซึ่งแตกต่างจากประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่ปิดโรงเรียนช่วงคริสต์มาสก่อนล่วงหน้าเกือบสองสัปดาห์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบอสเนียฯ มีเทศกาลคริสต์มาสสำหรับคาทอลิกและออธอดอกซ์ที่อยู่ในช่วงเวลาต่างกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ คริสต์มาสและช่วงปีใหม่สากลจึงไม่ได้หยุดยาวแตกต่างไปจากวันหยุดทางศาสนาอื่นๆ

อิสเหม็ดนำฉันเดินตรงมาจนถึงถนนหลัก เขาบอกว่าให้สังเกตตรงนี้ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าซอยบ้านเวลาขากลับ พร้อมชี้ไปยังสุสานที่เต็มไปด้วยหลุมศพสีขาวเรียงรายเป็นแท่งท่ามกลางเสาไฟฟ้าที่ยังเปิดให้แสดงสว่าง อิสเหม็ดบอกว่านี่คือสุสานของคนตายจากสงครามบอสเนีย จากการล้อมเมืองโดยชาวเซิร์บในบอสเนียฯ ฉันรู้สึกนิ่งขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากที่จดจ่อจำเส้นทางและสัญลักษณ์ของเกสต์เฮาส์ที่อิสเหม็ดแนะนำ

ซาราเยโวอาจให้ความรู้สึกการเข้าใกล้สงครามยิ่งกว่าตุซลา ซาราเยโวคือเป้าหมายหลักของการโจมตีด้วยอาวุธที่รุนแรงอย่างสไนเปอร์ ภาพจากหนังเรื่อง Welcome to Sarajevo ปี 1997 ที่สร้างจากเรื่องจริงจากหนังสือเล่าประสบการณ์ของนักข่าวภาคสนามชาวอังกฤษที่เข้าไปรายงานข่าวสงครามบอสเนีย ให้ภาพความรุนแรงของสไนเปอร์กระสุนแรกที่ยิงจากไหนไม่รู้มายังแม่และเจ้าสาวที่กำลังเดินไปร่วมงานแต่งงานที่โบสถ์ออธอดอกซ์ และภาพการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องคอยหลบห่ากระสุน ระเบิด และการโจมตีในแต่ละวัน สำหรับฉัน หลังจากนี้อีกสามวัน ต้องใช้สุสานเหยื่อสงครามเป็นหลักหมายเพื่อกลับที่พัก

บรรยากาศในวันนั้นให้ภาพที่ต่างจากสงครามบอสเนียที่เกิดขึ้นเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมามากนัก เมื่อฉันเดินลงไปตามทางลาดจนเจอเส้นทางหลักที่มีรถรางและรถเมล์ผ่าน เพียงข้ามถนนที่ไม่กว้างนัก ฉันก็ถึงใจกลางเมืองเก่าของซาราเยโวที่เรียกว่า บาสชาชิยา (Baščaršija) ทันที ตรงบริเวณที่เป็นหมุดหมายของเมืองที่เรียกว่า ‘จตุรัสนกพิราบ’ หรือ Sebilj Square ในภาษาบอสเนียน

ศูนย์กลางของเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยออตโตมัน และมีน้ำพุสัญลักษณ์ของเมืองตั้งโดดเด่นอยู่ ผู้คนเดินกันขวักไขว่เพราะเป็นช่วงหัวค่ำ ฉันเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวที่นี่ รวมทั้งคนเอเชียที่ดูเหมือนมาจากญี่ปุ่นหรือเกาหลี เลยเริ่มตื่นเต้นขึ้นมาหน่อยเพราะอย่างน้อยได้เห็นหน้าค่าตานักท่องเที่ยวบ้าง หลังจากที่ไม่เจอเลยสักคนตอนที่เดินอยู่ที่ตุซลา ซาราเยโวในวันนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่คนนิยมมาเที่ยวเพื่อเลี่ยงอากาศหนาวเหน็บ

สิ่งแรกเมื่อเห็นและจำได้ทันทีคือมัสยิดที่เป็นศูนย์กลางของเมือง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในโปสการ์ดที่มีขายดาษดื่น บริเวณนั้นแวดล้อมไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และคาเฟ่ ฉันยังไม่หิวมากนักเพราะฉันซื้อพิตา ขนมปังขดยัดไส้ชีสจากตุซลา กินรองท้องในรถบัสที่นั่งมา วันนั้นโบสถ์คาธอลิกของซาราเยโวที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิฮับส์บวร์กปกครองบอลข่าน ฉลองรับเทศกาลด้วยต้นคริสต์มาส และไฟประดับประดารอบๆ คนพาเด็กเล็กออกมาถ่ายรูปกับตัวการ์ตูนที่วางโชว์บริเวณลานกว้าง

แม้ว่าจะเป็นบรรยากาศเฉลิมฉลองคริสต์มาสของซาราเยโว แต่ฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าท่วมล้นและจัดเต็มเหมือนกับประเทศยุโรปที่ฉลองคริสต์มาสใหญ่โต เช่น เยอรมนี ที่มีตลาดคริสต์มาสที่ประดับประดาร้านค้าและแผงของกินอย่างสวยงาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะซาราเยโวเป็นเมืองใหญ่อันดับ 1 ของบอสเนียฯ ที่มีประชากรมุสลิมถึง 49 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดราว 700,000 คน อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเซิร์บ และอีก 7 เปอร์เซ็นต์เป็นโครแอท ส่วนสัดส่วนประชากรในแง่ของการนับถือศาสนาทั้งประเทศบอสเนียฯ คือนับถืออิสลาม 51 เปอร์เซ็นต์ คริสต์ออธอดอกซ์ 31 เปอร์เซ็นต์ โรมันคาทอลิก 15 เปอร์เซ็นต์ ความเชื่ออื่นๆ 2 เปอร์เซ็นต์ และไม่นับถือศาสนาใดอีก 1 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะประชากรสะท้อนสังคมของบอสเนียฯ เป็นไปตามที่เพื่อนเยอรมันของฉันแนะนำว่า หากไม่อยากเฉลิมฉลองคริสต์มาสก็ควรมาประเทศที่เป็นมุสลิม เมื่อฉันเห็นการเฉลิมฉลองและการประดับประดาเมืองก็คล้อยตามความเห็นของเขาจริงๆ

แม้ซาราเยโวเป็นเมืองที่มีมุสลิมเป็นประชากรหลัก แต่มีความเป็นฆราวาสหรือชีวิตทางโลกสูง และค่อนข้างเปิดกว้างกับวัฒนธรรมแตกต่าง สถิติระบุว่ามีมุสลิมบอสนิแอกราว 48 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในบอสเนียฯ แต่ที่นับถืออิสลามและปฏิบัติตามหลักศาสนามีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ (เคร่งครัดแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง!) แตกต่างจากประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ฉันไปเยี่ยมเยือนมาอย่างโมร็อคโคและอินโดนีเซีย หรือแม้แต่อินเดียที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีวางขายทั่วไปตามร้านขายของสะดวกซื้อ แต่ที่ซาราเยโว เมื่อฉันนั่งในร้านอาหารก็สามารถสั่งเบียร์มาดื่ม แตกต่างจากบางประเทศที่ยกตัวอย่างไป ที่การหาแอลกอฮอล์ดื่มเป็นเรื่องท้าทาย และหากต้องการก็ต้องทำในที่บ้านหรือที่มิดชิด หรือในซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติโครเอเชียอย่าง Konsum ที่ตั้งอยู่บนถนนใกล้ที่พักของฉัน ก็มีทั้งเหล้า เบียร์ และไวน์ดาษดื่น รวมทั้งมีไวน์ที่ผลิตจากบอสเนียฯ ด้วย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาตร์ของเมืองซาราเวโยเคยเป็นพื้นที่เปิดกว้างของทุกความเชื่อและศาสนา ทั้งยังมีโบสถ์ยิวหรือซีนาก็อก (synagogue) ถึงสองแห่งในบริเวณเมืองเก่า แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนและความเชื่อที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

โนเอล มัลคอล์ม (Noel Malcolm) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์บอสเนียฉบับย่อ เล่าว่า คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณบอสเนียฯ ในอดีตไม่ได้เปลี่ยนศาสนาจากโรมันคาทอลิกหรือออธอดอกซ์ในทันทีหลังจากที่ออตโตมันเข้ามายึดครองบอลข่านในศตวรรษที่ 15 หากการเปลี่ยนจากคริสต์ของคนในยุคนั้นมาถืออิสลามเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลาอยู่หลายชั่วอายุคนกว่าอิสลามจะลงหลักปักฐานในภูมิภาค

อีกทั้งมีหลักฐานที่พบภายหลังว่ามุสลิมบางคนในยุคนั้นมีความเชื่อทางไสยศาสตร์บางอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากคริสต์โรมันคาทอลิก เช่น การห้อยหรือพกพระเครื่องหรือวัตถุมงคล เช่น ซากงู ปลา กรงเล็บของเหยี่ยว และกิ่งเขากวางที่พบอยู่ที่คอของเด็ก หรือห้อยตามเสื้อผ้าและหมวกของผู้ชายมุสลิม (Fez) อีกตัวอย่างหนึ่งคือวิถีปฏิบัติของคนมุสลิมในยุคนั้นคือ มีการเฉลิมฉลองร่วมกันของคนนับถือคริสต์ออธอดอกซ์และอิสลามในวันสำคัญหรือเทศกาลทางศาสนา เช่น วันนักบุญจอร์จ (Saint George’s Day) และวันนักบุญเอเลียส (Saint Elias’s Day) และการที่คนมุสลิมยังเข้าโบสถ์คริสต์ออธอดอกซ์เพื่อสวด หรือจูบสัญญะของพระผู้เป็นเจ้าและรูปสัญญะอื่นๆ ทั้งยังพบหลักฐานว่าในต้นศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนโรมันคาทอลิกยืนในพิธีสะเดาะเคราะห์หน้าพระแม่มารีให้กับผู้ป่วยที่เป็นมุสลิม

ผู้คนภายใต้หน้ากากป้องกันการสูดควันพิษในเมืองซาราเยโว

จนถึงปัจจุบัน ระหว่างที่ฉันอยู่ในซาราเยโว ฉันสังเกตเห็นอีกอย่างคือผู้หญิงที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้แต่งกายแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมหรือบ่งบอกความเชื่อทางศาสนา ทำให้แยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าใครเป็นหรือไม่เป็นมุสลิม ในหนังสือบางเล่มและสารคดีที่ฉันอ่านและติดตามก็ย้ำว่าคนบอสเนียนและวิถีชีวิตในซาราเยโวเองไม่ต่างจากเมืองสมัยใหม่ เปิดกว้างและมีอิสระเสรีอย่างหลายเมืองในยุโรปตะวันตก ก่อนที่จะเกิดสงครามบอสเนีย จนกระทั่งช่วงหลังสงครามต่อเนื่องถึงปัจจุบัน บอสเนียฯ มีความหวังเหมือนประเทศอื่นในบอลข่านที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน ซาราเยโวก็พยายามทวงความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมและเปิดกว้างเหมือนในอดีตกลับคืนมา

ฉันไม่ได้เดินดูบรรยากาศจนดึกมากในคืนแรกในซาราเยโวที่ปกคลุมด้วยควันพิษที่หนาแน่นขึ้น ฉันรู้สึกได้ว่ากลิ่นของมันเริ่มติดตามเสื้อหนาวและหมวก และฉันก็ยังไม่มีหน้ากากป้องกันเลยแม้แต่น้อย

เอาเข้าจริงฉันรู้สึกรันทดใจที่เห็นบ้านเมืองปกคลุมด้วยควันพิษ ผู้คนต้องซ่อนหน้าภายใต้หน้ากากดูเป็นภาพที่สลดใจอย่างบอกไม่ถูก ปัญหาสำคัญของบอสเนียฯ ที่กำลังเผชิญในขณะนี้คือมลภาวะที่เพิ่มขึ้นทุกปี และยังปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราคนว่างงานที่คงเป็นปัญหา ฉันอยู่บอสเนียฯ มา ได้ 2-3 วัน หมดเงินไปไม่เท่าไรกับการกินอยู่ ค่าที่พัก ที่ห่างกันเกือบครึ่งจากเมืองอัมสเตอร์ดัมที่ฉันอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพและชีวิตของผู้คนที่นี่ได้ดี

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า