ภาพประกอบ: Shhhh
กลายเป็นกระแสร้อนล่าสุดในโลกเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกาส่งอีเมล ‘ขอความร่วมมือ’ จาก เจนนิเฟอร์ โบเวน (Jennifer Bowen) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts) ให้ลบคำว่า ‘climate change’ และ ‘global warming’ ออกจากแผนวิจัยที่เธอได้จัดทำร่วมกับกระทรวงดังกล่าวทิ้ง
แน่นอนว่าเธอไม่ยอม พร้อมทั้งแคปภาพอีเมลดังกล่าวโพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัว ท่ามกลางเสียงคอมเมนต์ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาล และยังคงไร้วี่แววของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อสถานการณ์นี้
ตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางภาครัฐ ออกมา ‘ขอความร่วมมือ’ จากเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อม ซ้ำร้ายกว่านั้นเหล่าข้าราชการต่างก็โดนกันเรียบร้อยแล้ว
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่สังกัดอยู่ใน 13 หน่วยงานของรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยตนเอง เนื่องจากหวาดกลัวว่า หากปล่อยให้ภาครัฐเผยแพร่ถ้อยคำหรือเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ข้อความสำคัญที่พวกเขาต้องการสื่ออาจถูกเซ็นเซอร์และลบเลือนหายไป
สอดคล้องกับรายงานของ The Guardian ที่เปิดเผยมหากาพย์อีเมลโต้ตอบระหว่างข้าราชการในกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ด้วยกันเอง เมื่อทางเบื้องบนมีคำสั่งให้ข้าราชการและนักวิทยาศาสตร์ในสังกัด หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘climate change’ ให้เปลี่ยนเป็น ‘weather extremes’ แทน
นี่คือลิสต์คำที่เหล่าข้าราชการในกระทรวงเกษตรสหรัฐ ต้องหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ในงานเอกสารใดๆ ก็ตาม
-
climate change (การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) → weather extremes (สภาพอากาศรุนแรง)
-
climate change adaptation (การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) → resilience to weather extremes/intense weather events: drought, heavy rain (ความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศรุนแรง/สภาพอากาศมีความเข้มข้นสูง เช่น แห้งแล้งอย่างหนัก ฝนตกอย่างหนัก)
-
reduce greenhouse gases (การลดก๊าซเรือนกระจก) → build soil organic matter, increase nutrient use efficiency (ผลิตอินทรีย์วัตถุในดินหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ธาตุอาหารมากขึ้น)
-
sequester carbon (การกักเก็บคาร์บอน) → build soil organic matter (ผลิตอินทรีย์วัตถุในดิน)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่า สร้างความกังวลและไม่พอใจให้เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขามองว่า รัฐบาลทรัมป์กำลังเข้ามาแทรกแซงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เป็นไปตามวาระทางการเมืองของตัวเอง กล่าวคือ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ตัวท่านประธานาธิบดีสหรัฐผู้นี้ไม่เชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ (หลักฐานชัดๆ คือไม่กี่วันก่อน ทรัมป์ออกมายืนทำตาหยีมองปรากฏการณ์สุริยุปราคาด้วยตาเปล่า) ไม่เชื่อว่าโลกกำลังประสบปัญหากับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่เชื่อว่า ชุดคำเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของสหรัฐ
เพราะเช่นนี้เอง โดนัลด์ ทรัมป์ จึงประกาศให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างภาระและเป็นอุปสรรคให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐ นำมาสู่เสียงก่นด่าและเสียงประณามจากประชาคมโลก