ตั้งแต่สงครามซีเรียเริ่มต้นในปี 2011 ประชาชนกว่า 7 ล้านคนต้องอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง จำนวนไม่น้อยฝากชะตากรรมไว้กับท้องทะเลที่พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะเดินทางถึงฝั่งหรือเปล่า แม้บางประเทศจะอ้าแขนต้อนรับ แต่ยังมีอีกหลายชาติกังวลผลกระทบจากจำนวนผู้ลี้ภัยจนต้องเพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดขึ้น
ริอาเช (Riace) ชุมชนเก่าแก่เล็กๆ ในจังหวัดเรโจคาลาเบรีย (Reggio Calabria) แคว้นคาลาเบรีย (Calabria) เกือบใต้สุดของอิตาลี ช่วงทศวรรษที่ 1990 ประชากรส่วนใหญ่ของริอาเชพากันทิ้งบ้านเกิดไปสู่ทางตอนเหนือของประเทศเพื่อหางานทำ ทำให้ประชากรลดลงจาก 2,500 คนเหลือประมาณ 400 คน ชุมชนส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง ร้านค้าและโรงเรียนค่อยๆ ปิดตัวลง
ด้วยแนวคิดที่ผู้ว่าการเมือง โดเมนีโก ลูกาโน (Domenico Lucano) บอกว่า “ที่นี่มีบ้านที่ไม่มีคนอยู่ ขณะที่ข้างนอกนั้นมีคนที่ไม่มีบ้านอยู่” ริอาเชจึงกลายเป็นปลายทางของผู้ลี้ภัยนับร้อย
ริอาเชเริ่มเปิดต้อนรับผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 1998 เมื่อผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ด 218 คนเดินทางมาถึงชายฝั่งขณะกำลังจะเดินทางไปยังกรีซ ทั้งหมดได้รับโอกาสจากผู้ว่าการเมืองให้อยู่อาศัยในบ้านและอพาร์ตเมนต์ที่ถูกทิ้งร้าง จากนั้น ที่นี่ก็กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเขา
ปัจจุบันโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอิตาลีมีผู้ลี้ภัยราว 450 คนจาก 20 ประเทศมาอยู่รวมกันในชุมชนเดียว ทั้งซีเรีย เอธิโอเปีย เยเมน และโซมาเลีย ริอาเชไม่ใช่ศูนย์ผู้ลี้ภัยที่เต็มไปด้วยเต็นท์ที่ต้องเฝ้ารอการแจกจ่ายอาหาร สิ่งที่ผู้ลี้ภัยได้รับคือ การสร้างงาน ฝึกอาชีพ ให้การศึกษา ฝึกภาษาอิตาเลียน ลูกาโนบอกว่า บรรดาผู้ลี้ภัยคือผู้ชุบชีวิตริอาเชให้กลับมาเป็นชุมชนอีกครั้ง ไม่ล่มสลายไปตามกาลเวลา
ผู้ว่าการเมืองริอาเช โดเมนีโก ลูกาโน อยู่ในลำดับ 2 ของเวทีผู้ว่าการเมืองโลกประจำปี 2010 (2010 World Mayor Competition) และมีชื่อใน 50 ผู้นำโลก (World’s Greatest Leaders in 2016) โดยนิตยสาร Fortune ร่วมกับ โป๊ปฟรานซิส, ออง ซาน ซูจี, ทิม คุก จาก Apple และนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด
อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
amazyble.com
aljazeera.com