จากเจ๊กเชย…ถึงเสาไห้ ตำนานพันธุ์ข้าวหนึ่งเดียวแห่งสระบุรี

สภาพภูมิประเทศ

ที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำป่าสัก มีคลองชลประทาน ลักษณะของดินอุ้มน้ำได้ดีเหมาะสำหรับการเพาะปลูก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร

สภาพภูมิอากาศ

อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด ซึ่งพัดประจำเป็นฤดูกาล คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้ง และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตก อากาศหนาวถึงหนาวจัดช่วงธันวาคมถึงมกราคม ร้อนที่สุดคือเมษายน ฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

ภูมิหลังชุมชนท้องถิ่น

เชื่อว่าประชากรดั้งเดิมเป็นชาวลาวเวียงอพยพมาจากลาวสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชนไทยวน หรือไทโยนก มาจากเมืองเชียงแสน ทำนาเป็นอาชีพสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตปัจจุบันก็ยังคงเลื่องชื่อด้านแข่งเรือยาว ผ้าทอ และข้าวสาร

พันธุ์ข้าว

กลุ่มข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ อาทิ ขาวกอเดียว เหลืองทอง เหรียญทอง ขาวสมนึก ขาวตาหมี

รอบการปลูก

นาปี

ข้าว ‘เสาไห้’ ที่เห็นวางขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด ไม่ว่าข้าวสารหรือข้าวสวยหุงใส่ถุงถุงละ 5 บาท อันที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อพันธุ์ข้าวแต่อย่างใด เป็นชื่อสถานที่เพาะปลูกข้าวแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี

“เคยถามนักวิชาการทำไมปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้าเขียนป้ายติดว่าเสาไห้ทั่วไปหมดอย่างนี้ ทั้งๆ จริงแล้วไม่ได้ปลูกที่เสาไห้ เขาบอกถ้าไม่ติดป้ายเสาไห้วางไว้สองปีก็ไม่มีใครซื้อ” 

ไฉน ฟักเขียว ปราชญ์ชาวนา แห่งตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ คลี่คลายข้อสงสัย

“พอเขียนคำว่าเสาไห้ลงไป เขาบอกไม่นานก็ขายออก วางขายเป็นกระสอบๆ ก็มีคนมาซื้อถึงร้าน”

ชายวัยค่อนคนอธิบายว่าคำ ‘เสาไห้’ นั้นไม่ใช่ชื่อชนิดพันธุ์ดั้งเดิมของข้าว เป็นชื่ออำเภอเสาไห้ ใน จังหวัดสระบุรี เมื่อข้าวพันธุ์หนึ่งถูกนำมาปลูกที่นี่แล้วได้ผลดี จึงถูกเล่าต่อแบบปากต่อปาก

“พื้นที่แถบอำเภอเสาไห้ บ้านเราปลูกข้าวเจ้าพันธุ์เจ๊กเชยได้ดีมาก ข้าวพันธุ์นี้เองแหละที่หุงขึ้นหม้อ เม็ดข้าวร่วนไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป หุงเสร็จแล้วยังไม่บูดง่าย เมื่อปลูกที่อำเภอเสาไห้ ได้ผลผลิตดี นานวันเข้าข้าวพันธุ์นี้ก็ถูกเรียกว่าข้าวเสาไห้”

ข้าว ‘เจ๊กเชย’ จึงกลายเป็น ‘เสาไห้’ อันเป็นชื่อใหม่ที่ใครๆ ต่างเรียกขาน คนท้องถิ่นอาจเรียกรวมกันว่าข้าว ‘เจ๊กเชยเส้าไห้’ 

ปริศนาเรื่องพันธุ์ข้าวคลี่คลายลงไปแต่คงต้องใช้เวลาอีกนานหากคิดจะไถ่ถามพ่อค้าแม่ค้าทุกหย่อมย่าน ว่าข้าวที่วางขายเป็นข้าวเจ้าจากอำเภอเสาไห้หรือไม่

จากเวียงจันทน์…ถึงสระบุรี

ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ผ่านเขตหนองจอกเข้าสู่จังหวัดปทุมธานี ข้ามรอยต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

เราเดินทางมาถึงศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโคกคาม แหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสระบุรีประมาณสิบกว่ากิโลเมตร 

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโคกคามตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา โมเดล และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเสาไห้ โดยมี วนิดา ดำรงค์ไชย กำนันหญิงแห่งตำบลม่วงงาม เป็นเจ้าของสถานที่

พื้นที่อำเภอเสาไห้ มีประวัติการปลูกข้าวอันยาวนาน เคยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นยุ้งฉางเป็นพื้นที่รวบรวมเสบียงไว้สำหรับยามศึกสงครามมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่าปี พ.ศ. 2125 

“พวกเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์” ไฉน ฟักเขียว ปราชญ์ชาวบ้านและปราชญ์ชาวนาเริ่มต้นอธิบาย

วนิดา ดำรงค์ไชย

กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงในพื้นที่อำเภอเสาไห้ เป็นผู้สืบเชื้อสายคนลาวจากเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งอพยพหลบหนีกองทัพพม่าเข้ามาบนแผ่นดินสยามเมื่อครั้งกองทัพพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ตรงกับยุคแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีบันทึกว่ากลุ่มคนลาวจากเวียงจันทน์ส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี หลายครอบครัวตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่อำเภอเสาไห้

ไฉนเล่าต่อไปว่า กองทัพพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีสัตนาคนหุตอีกครั้งยุคแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นเหตุให้ชาวเวียงจันทน์ต้องอพยพหลบภัยสงครามอีกครั้ง พระเจ้าตากก็ทรงอนุญาตให้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในแขวงเมืองสระบุรี 

ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินส่งกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงได้เกณฑ์ชาวเวียงจันทน์กลับมาอาศัยในพื้นที่แถบนี้อีก

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรับสั่งให้จัดกองทัพไปตีเมืองเชียงแสน กวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนเดินทางมากรุงเทพฯ ขณะผ่านเมืองสระบุรี บริเวณอำเภอเสาไห้ ชาวเมืองเชียงแสนส่วนหนึ่งมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของแถบนี้จึงตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ปลูกพืชผักผลไม้จนเป็นชุมชนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ต้นตระกูลของคนอำเภอเสาไห้ นอกจากลาวเวียงแล้วจึงเป็นกลุ่มชนไทยวน หรือ ไทโยนก มีภาษาพูดและวัฒนธรรมคล้ายคนภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย 

ทุกวันนี้การประกอบอาชีพของชาวอำเภอเสาไห้นั้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ทำสวนผลไม้ และทำนา

จากมะม่วงมันหนองแซง…ถึงข้าวเจ้าเสาไห้

ข้าวเจ๊กเชยเนี่ยไม่ใช่ว่าปลูกที่ไหนแล้วจะได้คุณภาพเหมือนกันหมด มันต้องปลูกในที่เหมาะสมข้าวถึงจะมีคุณภาพสูง” วนิดา ดำรงค์ไชย เจ้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโคกคาม ชี้ให้เห็นความสำคัญของแหล่งปลูกข้าว

เธออธิบายต่อว่า “ข้าวเจ๊กเชยได้ชื่อว่าเม็ดเรียว เปลือกบาง น้ำหนักดี ถึงเอาไปปลูกที่อื่นข้าวจะงอกขึ้นมาเหมือนกัน ออกรวงเหมือนกัน แต่คุณภาพนั้นแตกต่าง รสชาติก็แตกต่าง คุณรู้จักมะม่วงมันหนองแซงมั้ย” กำนันหญิงตั้งคำถามข้ามไปถึงพืชผลไม้อีกชนิด 

“รู้มั้ยมะม่วงมันหนองแซง ปลูกที่อำเภอหนองแซง มันมากนะ แต่เอาไปปลูกที่อื่นรสชาติจะออกเปรี้ยวๆ มันๆ แปร่งๆ อย่างเอาไปปลูกแถวอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เหมือนกัน แต่ก็ไม่มันเหมือนปลูกที่อำเภอหนองแซง”

ต้นข้าวก็คล้ายกัน เธอบอกว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงดินฟ้าอากาศ 

“มะม่วงก็ไม่ต่างจากข้าว” 

วนิดาชี้ว่าพื้นที่อำเภอหนองแซง เป็นแหล่งปลูกมะม่วงมันพันธุ์หนองแซงเลื่องชื่อมานาน ครั้งหนึ่งในอดีตกาลเมื่อไม่นานนักพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอเล็กๆ ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสระบุรีแห่งนี้ก็เคยขึ้นกับอำเภอเสาไห้ 

“เมื่อก่อนตอนที่อำเภอหนองแซงยังไม่แยกออกไป ทุกตำบลของอำเภอหนองแซงขึ้นกับอำเภอเสาไห้มาก่อน ต่อมาถึงได้ยกฐานะให้เป็นกิ่งอำเภอ ถึงปี พ.ศ. 2496 จึงยกขึ้นเป็นอำเภอหนองแซง พื้นที่ส่วนที่เคยปลูกข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ก็แยกไปอยู่กับอำเภอหนองแซง ทุกวันนี้ข้าวเจ๊กเชยถึงปลูกได้ดีทั้งที่อำเภอหนองแซง และอำเภอเส้าไห้ แต่ถ้าเป็นมะม่วงมันหนองแซงต้องยกให้อำเภอหนองแซงเท่านั้น”

คำถามและข้อสังเกตมีอยู่ว่า อำเภอหนองแซงกับอำเภอเสาไห้อยู่ติดกัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก มีลำห้วยหลายสายไหลผ่านเหมือนกัน เหตุใดรสชาติของมะม่วงจึงต่างกัน 

ไฉน ฟักเขียว ที่นั่งฟังการสนทนาอยู่ข้างๆ ช่วยตั้งสมมติฐานอธิบายว่า

“มีคนสันนิษฐานว่าเมื่อก่อนตอนยังไม่ค่อยมีถนนหนทาง ยังไม่มีการตัดถนนมิตรภาพไปยังภาคอีสาน น้ำคงจะไหลบ่ามาจากทางด้านหนึ่ง ชะเอาตะกอนหินปูนตามน้ำมา ทับถมเป็นร้อยเป็นพันหรือกี่ล้านปีก็ไม่อาจจะทราบ ลุงคิดว่าที่พื้นตรงอำเภอหนองแซง คุณภาพของดิน น้ำ อากาศ คงพอเหมาะกับมะม่วงมันพันธุ์หนองแซง”

ไฉน ฟักเขียว

ปัจจุบัน อำเภอเสาไห้มี 12 ตำบล อำเภอหนองแซงมี 9 ตำบล เป็นอำเภอพี่อำเภอพี่น้องที่มีอาณาเขตติดต่อกัน

ถึงตอนนี้ลุงไฉนไม่ลืมถ่ายทอดความทรงจำ ถึงเรื่องราวความเป็นมาของมะม่วงมันหนองแซง ก่อนลงหลักปักฐานในถิ่นนี้ 

“เรื่องมันนานมาแล้วนะ กำนันอำเภอหนองแซง ชื่อกำนันพู เดินทางไปเยี่ยมญาติบวชอยู่ที่วัดในกรุงเทพฯ เห็นเม็ดมะม่วงเหลือจากพระฉัน หลังจากมีคนนำมาถวาย พระฉันเสร็จก็เก็บเม็ดไว้ กำนันพูเห็นเข้าเลยขอเม็ดมาปลูกที่อำเภอหนองแซง”

ผลปรากฏว่ารสชาติของมะม่วงนั้นมันมาก 

“แต่เอาไปปลูกที่ห้วยบ่ากลับไม่มัน ปลูกที่อำเภอเสาไห้ที่อยู่ติดกันก็มันน้อย ไม่อร่อยเหมือนที่หนองแซง เอาไปปลูกแถวสะพานใหม่เปรี้ยวถึงกับต้องจิ้มน้ำปลาหวาน”

นับเป็นจุดเริ่มต้นตำนานมะม่วงมันหนองแซงที่ตอนนั้นกำนันพูก็ไม่รู้ว่าเป็นมะม่วงพันธุ์อะไร

วันเวลาล่วงผ่านเลยไป กำนันพูจากโลกนี้ไป กำนันทรที่เป็นกำนันต่อจากกำนันพูก็ตายจากไป กำนันอ๋อที่เป็นกำนันลำดับถัดมาจากกำนันทรเกษียณอายุ กระทั่งถึงกำนันรุ่นลูก 

“กำนันเปลี่ยนหน้าแล้วหลายคน แต่มะม่วงที่อำเภอหนองแซงก็ยังมันอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลงไป” ลุงไฉนอธิบาย

ชื่อมะม่วงมันพันธุ์หนองแซงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าแหล่งที่เพาะปลูกมีความสำคัญ หลายครั้งถึงกับกลายเป็นชื่อพันธุ์ ไม่ว่ามะม่วงมันพันธุ์หนองแซงหรือข้าวเจ้าพันธุ์เสาไห้

จากเจ๊กเชย…ถึงเสาไห้

สีหน้าลุงไฉนดูอิ่มเอิบ แววตาเป็นประกายเมื่อได้ถ่ายทอดเรื่องราวแต่หนหลังให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานฟังเป็นฉากๆ 

ถึงตอนนี้ชายวัย 74 ปี ไม่ลืมที่จะวกกลับมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของข้าวพันธุ์พิเศษเฉพาะถิ่น – ‘เจ๊กเชยเสาไห้’

“เมื่อก่อนนี้คนเสาไห้หรือคนหนองแซงเวลาจะขายข้าวต้องไปที่แม่น้ำป่าสัก ที่นั่นจะมีท่าข้าวที่เขาเอาไว้แลกเปลี่ยนสินค้า เรียกว่าท่าเจ๊กเฮง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านยาง แถววัดมะกรูด จังหวัดสระบุรี เรือพ่อค้าจากปทุมธานีจะเอาโอ่ง เอาอ่าง เอากะปิ น้ำปลา หมาก ปูน น้ำตาล มะพร้าว ใส่เรือมาจอดไว้ที่ท่านี้ แล้วทีนี้ไม่แน่ใจว่าน้องหรือพี่เจ้าของท่า คนทั่วไปเรียกหลงจู้ ชื่อว่า ‘เชย’ ชอบข้าวพันธุ์นี้มาก บอกว่าน้ำหนักและรสชาติดี หุงขึ้นหม้อ เม็ดแข็งนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง เวลาคนเอาสินค้ามาแลกข้าวแกก็จะคอยเชียร์ว่าให้เลือกข้าวพันธุ์นี้”

ลุงไฉนอธิบายต่อไปอีกอย่างออกรส 

ข้าวห่อใบตองของตำบลม่วงงาม ชนะเลิศประกวดในงานประเพณีทำบุญข้าวห่อ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

“หลังแลกข้าวกับสินค้าต่างๆ หรือเมื่อมีพ่อค้ามาซื้อข้าวแล้วก็จะเอาไปสี จำได้ว่าโรงสีแห่งแรกแถวนี้คือโรงสีวัดตองกุ ตรงข้ามตลาดหัวรอ จังหวัดอยุธยา เมื่อสีแล้วข้าวสารก็ถูกนำไปขายต่อ ขึ้นเรือไปขายถึงแถวเยาวราช ปากน้ำ ใครถามพ่อค้าก็บอกว่าเป็นข้าวจากตลาดหัวรอ มาจากอำเภอเสาไห้ 

“เวลานั้นทุกคนรู้กันว่าถ้าเป็นข้าวดั้งเดิมจากอยุธยาจะเป็นข้าวเละหรือข้าวอ่อน เพราะเป็นข้าวน้ำลึก พอได้ลองกินข้าวเจ๊กเชยก็ถูกปาก เพราะเม็ดร่วน ไม่เละ 

“เอาไปขายคนจีนที่ชอบกินข้าวต้ม เขาบอกยิ่งใส่น้ำ ยิ่งได้มาก เม็ดข้าวสารมันแน่น ใส่น้ำแล้วไม่เละ แทนที่จะขายได้สี่สิบถ้วย ก็ขายได้สี่สิบสองถ้วย พ่อค้าคนจีนก็ยิ่งชอบเพราะขายได้มาก” 

ครั้งหนึ่งประมาณปี พ.ศ. 2538 ลุงไฉนไปรับจ้างทำถุงข้าวสาร นำข้าวเสาไห้ไปให้คนจีนที่เป็นเจ้าของร้าน ลุงเล่าว่า “เขาถึงกับเขียนหนังสือขอบคุณที่เราเอาข้าวเสาไห้ไปให้ บอกว่าอยากได้ข้าวพันธุ์นี้ไปขายเพราะชอบเหลือเกิน ไม่เหมือนข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ขายกันตามท้องตลาด” 

“ถึงตอนนั้น ใครๆ ก็ถามพ่อค้าจากตลาดหัวรอว่าเอาข้าวมาจากไหน พ่อค้าก็บอกเอามาจากเสาไห้ คนนั้นก็รอข้าวเสาไห้ คนนี้ก็รอข้าวเสาไห้ จนกลายเป็นชื่อข้าวเสาไห้ขึ้นมา จากที่เคยเรียกว่าข้าวเจ๊กเชยก็เลยค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวเสาไห้”

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องเล่าอีกแง่มุมหนึ่งจาก เผ่า จันทรประสิทธิ์ อดีตคหบดีและพ่อค้าข้าวแหล่ง อำเภอเสาไห้ โดย ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช เป็นผู้บันทึกเรื่องเล่าไว้ในบทความ ‘เรื่องราวของข้าวไทย’ หัวข้อ ‘ตำนานข้าว จีไอ (ข้าวที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)’ ว่า

ข้าวนี้มีชื่อพันธุ์ที่เรียกตามชื่อพ่อค้าคนจีนชื่อ ‘เจ๊กชัย’ ผู้ล่องเรือทำการค้าขายอยู่ละแวกลำน้ำป่าสัก 

เจ๊กชัยเป็นผู้นำพันธุ์ข้าวมาจากบ้านสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มาให้ชาวนาในอำเภอเสาไห้ เป็นผู้ปลูก แล้วเจ๊กชัยจะรับซื้อข้าวกลับไปแร่ขายตามเส้นทางแม่น้ำป่าสัก เพราะรู้ดีว่านี่เป็นข้าวที่มีคุณภาพการหุงต้มดี เป็นที่พึงพอใจของชาวบ้าน 

คนเสาไห้เองเมื่อปลูกข้าวพันธุ์นี้แล้วนำไปบริโภคก็เกิดความพึงพอใจ นอกจากขายให้เจ๊กชัยแล้วส่วนหนึ่งจึงเก็บไว้บริโภคเอง 

การปลูกข้าวพันธุ์นี้ขยายไปทั่วพื้นที่อำเภอเสาไห้ รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง ทำให้ชื่อเสียงของข้าวเจ้าเสาไห้ชื่อพันธุ์เจ๊กชัยขจรขจายไปอย่างไร้ขอบเขต 

ต่อมาการเรียกชื่อข้าวพันธุ์นี้ได้เพี้ยนไปจากเก่า คือจากข้าวพันธุ์เจ๊กชัย ไปเป็นข้าวพันธุ์เจ๊กเชย ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบข้าวเสาไห้คุณภาพดี 

กล่าวโดยสรุปคือ ข้าวเสาไห้เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่ปลูกโดยข้าวพันธุ์เจ๊กเชย คุณสมบัติของข้าวพันธุ์นี้ เป็นข้าวที่มีลักษณะเมล็ดเรียวยาว (long grain) มีน้ำหนักเมล็ดดี เมื่อหุงสุกจะหุงขึ้นหม้อมากกว่าข้าวชนิดอื่นๆ เมล็ดข้าวเมื่อหุงสุกจะสวย เมล็ดร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อน 

เจ้าของร้านข้าวราดแกงหลายแห่งจะชอบข้าวพันธุ์นี้มาก เพราะเม็ดข้าวเมื่อหุงสุกแล้วจะยังคงเป็นเม็ดร่วนซุย ไม่แฉะ ไม่เละ ไม่ยุบตัวเมื่อนำแกงมาราด แต่ดูดซับน้ำแกงได้ดี ถึงทิ้งไว้จนเย็น คุณภาพก็ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่บูดง่าย

นอกจากร้านข้าวราดแกงแล้วร้านอาหารที่ทำข้าวผัดก็นิยมใช้ข้าวที่มีลักษณะแบบข้าวเสาไห้ ที่เม็ดมีความแข็งร่วน 

คุณภาพแป้งที่ทำจากข้าวเสาไห้ ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นและขนม เนื่องจากเป็นข้าวที่มีเยื่อใยหรือไฟเบอร์ (Fiber) ดี ทำให้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นที่เหนียว ไม่ยุ่ย หรือขาดง่าย อีกทั้งยังมีสัดส่วนอมิโลสในเมล็ดสูงมากกว่า 26 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาขายปลายข้าวจะสูงกว่าปลายข้าวทั่วไปถึงกระสอบละ 200-300 บาท หรือประมาณ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ปลายข้าวทั่วไปนั้นจะมีราคาประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากมูลค่าของแป้งข้าวเจ๊กเชยเสาไห้นั้นสูงกว่าแป้งจากข้าวพันธุ์อื่นๆ

“ข้าวที่มาจากที่อื่นความเหนียวของแป้งจะต่างกัน ความเหนียวหนึบของแป้งมันไม่ได้ จะเอาไปทำเส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ได้ ทำขนมจีนก็ไม่ผ่าน ทำลอดช่องก็ไม่เหนียว ขาด เอามากวนขนม ทำแป้งมันก็ไม่ขึ้น ก็บูดง่าย พ่อค้าทุกรายถึงกับต้องเอาแป้งมันมาผสม” 

ลุงไฉนยืนยันว่าข้าวเจ๊กเชยเสาไห้นั้นเป็นข้าวคุณภาพดีที่เหมาะกับรสนิยมการบริโภคอาหารหลักของคนไทย

จากใจรักข้าว…ถึง โคก หนอง นา

ป้ายแผนผัง ‘ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโคก ม.๘ ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี’ เผยพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ถูกแบ่งออกเป็นเขตใช้สอยต่างๆ อย่างเป็นสัดเป็นส่วน จากเหนือลงใต้ ได้แก่ แปลงผักสวนครัว เถียงนาคนมีใจ แปลงสมุนไพร ซุ้มผัก พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของส่วนเหนือนี้แบ่งให้กับสระกักเก็บน้ำ 

ทางด้านใต้มีโรงปุ๋ย ไส้เดือน เตาเผาถ่าน น้ำส้มควันไม้ แปลงชะอม แปลงผักสวนครัว อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโคก พื้นที่ทั้งหมดล้อมรอบด้วยคลองไส้ไก่ โดยมี ‘หลุมขนมครก’ กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่

หลุมขนมครกเกิดจากการขุดดินเป็นหลุมสำหรับกักเก็บน้ำไว้ตามท้องไร่ท้องนา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

ไม่มีแปลงนาอยู่บนป้ายแผนผัง แต่ในความเป็นจริงมีแปลงนาอยู่รอบผังอีกชั้นหนึ่ง

วนิดา ดำรงค์ไชย ประธานศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี อธิบายว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นหลักการจัดการน้ำและออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เป็นการจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่กลางน้ำโดยผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้หลักการเก็บน้ำไว้ทั้งบนดินและใต้ดิน

โคก หนอง นา โมเดล สามารถประยุกต์ตามสภาพพื้นที่โดยยึดหลักสำคัญประมาณ 5 ข้อ คือ 

หนึ่ง พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ด้วยการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ และการระบายน้ำยามน้ำหลาก

สอง ดินที่ขุดออกจากหนองน้ำให้นำมาทำโคก และบนโคกปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อให้มีรากพืชยึดเกาะหน้าดินและช่วยอุ้มน้ำ และปลูกพืชที่ใช้ประโยชน์ได้

สาม เพื่อให้น้ำกระจายไปเต็มพื้นที่ ให้ขุดคลองไส้ไก่หรือคลองระบายน้ำเล็กๆ รอบพื้นที่ โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่ เพิ่มความชุ่มชื้นและลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้สปริงเกอร์

สี่ พื้นที่นาให้ยกคันนาให้สูงและกว้างตามความเหมาะสม เพื่อให้นากักเก็บน้ำไว้ได้ในยามน้ำหลาก ถ้ามีพื้นที่เหลือมากให้เพิ่มคลองไส้ไก่ไว้บนคันนาด้วย

ห้า บนคันนาและโดยรอบพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน

“หากในพื้นที่ของเรามีการจัดการน้ำที่ดี จะเป็นการช่วยดูแลลุ่มน้ำที่อยู่ใกล้เคียงด้วย” วนิดาย้ำ

เธอเป็นผู้นำการเรียนรู้เรื่อง โคก หนอง นา โมเดล นำความรู้เรื่องนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงเรื่องการทำนา และเป็นผู้นำเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่น

จากอดีตข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ที่รู้จักกันดีมี 3 พันธุ์ คือ เจ๊กเชยน้อย เจ๊กเชยกลาง และเจ๊กเชยหนัก ทุกพันธุ์มีลักษณะคล้ายกัน คือ เมล็ดมีก้นจุด ข้าวมัน สีออกเหลือง แตกต่างกันตามอายุเก็บเกี่ยว 

“เมื่อก่อนตรงบริเวณก้นของข้าวเจ๊กเชยจะมีจุดสีม่วงเป็นลักษณะเด่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้าวได้ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์จนจุดที่เคยมีอยู่ตรงก้นหายไป ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีส่วนใหญ่เป็นเมล็ดที่เขาปรับปรุงพันธุ์แล้ว จะไม่เอาก้นจุดไว้ ทางกรมการข้าวจะเลือกต้นข้าวที่ลำต้นมีกาบสีเขียว เราจะเห็นต้นเป็นสีเขียว เอามาตั้งชื่อใหม่ว่า เจ๊กเชยกาบเขียว และลำต้นมีกาบสีม่วงตั้งชื่อว่าเจ๊กเชยกาบม่วง”

ขณะที่บทความ ‘เรื่องราวของข้าวไทย’ ของ ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ระบุถึงชื่อเสียงของข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ส่วนหนึ่งระบุถึงเรื่องชนิดพันธุ์ว่า ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้เป็นข้าวพื้นเมืองที่ปลูกในบริเวณภาคกลาง ในกลุ่มของข้าวพันธุ์เจ๊กเชย ขาวกอเดียว เหลืองทอง เหรียญทอง ขาวสมนึก ขาวตาหมี ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบัน ชาวนาในอำเภอเสาไห้ยังปลูกข้าวพันธุ์เจ๊กเชยที่มีคุณภาพการหุงต้มที่ดี เพราะข้าวนี้มีลักษณะพิเศษ

ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้เป็นข้าวที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันตลอดจนการเกื้อกูลกันของกลุ่มชนต่างชาติพันธุ์ในอำเภอเสาไห้ได้ดี 

เป็นตัวแทนความผูกพันรักใคร่ของชาวนาผู้ปลูกข้าวกับพ่อค้าที่มักเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน 

เป็นข้าวที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาชั่วลูกหลาน 

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้จะให้ผลผลิตน้อยกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ชาวนาหันมาปลูกเน้นทั้งข้าวนาปีและนาปรัง ข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ก็ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคข้าว โดยเฉพาะชาวนาชาวบ้านในอำเภอเสาไห้ หลายคนยังคงแบ่งปันที่นาไว้สำหรับปลูกข้าวเจ๊กเชยเสากินเองในครอบครัว

ประวัติความเป็นมาอันยาวนานของข้าวเจ้าพันธุ์พิเศษนี้ดูเหมือนจะมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญารับรองให้ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical Indication) อันเป็นเครื่องหมายเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง คุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว 

GI เปรียบเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า

เอกสาร ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ข้าว GI ไทย’ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่าข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เจ้าของรหัส 50100024 “เป็นข้าวเจ้าพันธุ์เจ๊กเชย ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองปลูกในฤดูนาปีในพื้นที่อำเภอเสาไห้ อำเภอเมือง อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน และกิ่งอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี พื้นที่ปลูกมีลักษณะดินเป็นดินตะกอนน้ำ ระบายน้ำไม่ดี มีการสะสมของปูนขาว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง เป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีคุณภาพดี นุ่ม ไม่แฉะ ไม่แข็งกระด้าง ไม่เหนียวเละ เมื่อหุงสุกจะร่วนเป็นตัวไม่เกาะกันเป็นก้อน หุงขึ้นหม้อ ไม่ยุบตัวเมื่อเป็นข้าวราดแกง ไม่บูดง่ายแม้ทิ้งไว้เย็นข้ามวัน ข้าวเก่าเมื่อนำมาหุงไม่มีกลิ่นสาบ”

ถึงแม้วันนี้ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ได้รับยกย่องอย่างเลิศเลอไร้ข้อกังขา แต่สำหรับลูกหลานชาวนาแท้ๆ ที่ยังคงยึดมั่นในวิถีชาวนาอย่างปราชญ์ไฉน ฟักเขียว ก็ยังมีคำถามคาใจ 

“ผมเคยถกเถียงกับนักวิชาการ เพราะรู้ว่าข้าวเสาไห้ตามท้องตลาดมันไม่ใช่ข้าวพันธุ์ที่เราปลูก ไม่ใช่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอเสาไห้ มาอ้างว่าเป็นข้าวเสาไห้ได้อย่างไร 

 “ข้าวเสาไห้มันต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนี้จริงๆ เท่านั้น”

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า