เกิดอะไรขึ้นกับเด็กชาวลาหู่คนนั้น

เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี
ภาพ: เฟซบุ๊คของ โกวิท โพธิสาร

วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา เรื่องราวการเสียชีวิตของ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ นักกิจกรรมไร้สัญชาติ เยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ แพร่กระจายไปตามสังคมออนไลน์ ภายหลังที่เขาถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อกังขาและความเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นวงกว้าง

ข้อเท็จจริงเท่าที่มี ดูเหมือนจะมีเพียงคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นเพียงเหตการณ์ ‘สุดวิสัย’

ข่าวที่เผยแพร่ระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารจากสังกัดกองร้อยทหารม้าที่ 2 บก.ควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 ร่วมกับ ชสท.ที่ 5 กองกำลังผาเมือง ตั้งด่านตรวจสกัดจับยาเสพติด และได้เรียกตรวจค้นรถ Honda Jazz สีดำ ป้ายทะเบียน ขก 3774 เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่อ้างว่า พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) กว่า 2,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในกรองอากาศของรถคันที่ชัยภูมิโดยสารมา

การวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นเมื่อผู้ตายพยายามขัดขืนการจับกุม โดยหยิบมีดจากหลังรถ และพยายามใช้มีดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตามไปพบว่า ผู้ตายกำลังจะปาระเบิดสังหารชนิดขว้างใส่ทหาร จึงได้ทำการวิสามัญโดยยิงเข้าที่ตัวผู้ตายหนึ่งนัด

โลกยังไม่โชคร้ายนัก เพราะยังมีพยานรู้เห็นอีกคนที่รอดชีวิตคือ พงศนัย แสงตะหล้า อายุ 19 ปี คนขับรถคันดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้ขออำนาจศาลฝากขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยล่าสุดยังไม่มีใครสามารถรับทราบความจริงอีกด้านจากพงศนัยได้

ปริศนาความรุนแรงนี้ ดูเหมือนจะนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม และยังนำมาสู่การทบทวนปัญหาในพื้นที่เชียงดาว ซึ่งทางการรัฐไทยเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดสายสำคัญ และยังเกี่ยวพันกับเรื่องอ่อนไหวอื่นๆ เช่น ปัญหาคนไร้สัญชาติที่แม้จะเกิดในผืนดินไทย แต่ก็ยังไม่มีสถานะบุคคลรับรอง ดังที่ชัยภูมิกล่าวในโครงการ ‘เด็กและเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม’ จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า

เรื่องสถานะส่วนบุคคล ต้องยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายแดนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสถานะส่วนบุคคล ผมเองขณะนี้ก็ยังไม่มีสถานะบุคคล ทั้งที่เกิดในประเทศไทย เมื่อไม่มีสัญชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตทางอำเภอ เวลาจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้สิทธิเหมือนคนไทย ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ส่วนแรงจูงใจในการเรียนสูงๆ ก็ไม่มี เนื่องจากจบมาสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานของราชการได้ จึงอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย”

มีบางฝ่ายเสนอให้แยกปัญหาการครอบครองยาเสพติดออกจากปัญหาคนไร้สัญชาติ หรือแยกความเป็นนักกิจกรรมของชัยภูมิออกจากการวิสามัญฆาตกรรม แต่นั่นดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เพราะนี่มิใช่ครั้งแรกที่มีการวิสามัญฆาตกรรมชาวลาหู่ด้วยข้อหาลักลอบขนยาเสพติด

นับตั้งแต่รัฐไทยประกาศสงครามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชาวลาหู่และชนกลุ่มน้อยจำนวนมากคือเป้าหมายในการ ‘ปราบปราม’ ของรัฐในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจับกุม คุมขัง การถูกทำให้หายสาบสูญ ซึ่งเกิดขึ้นราวดอกเห็ดยามหน้าฝน ระหว่างปี 2546-2549

ในรายงานข่าวเรื่อง ‘ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปีแห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ’ เขียนโดย ก้องภพ อารีราษฎร์ และ ทวีพร คุ้มเมธา เมื่อปี 2558 พบว่า พื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไทยมาโดยตลอด และชนเผ่าลาหู่กลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดมากที่สุด ด้วยสายตาของรัฐที่เชื่อว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการลำเลียงยาเสพติด สอดคล้องกับงานที่ศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเมืองไทยพบว่า ชนกลุ่มน้อยเป็นปัญหาสำคัญในสายตาของรัฐไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานมากแล้ว

สิ่งนี้เห็นได้จากข้อสังเกตในการค้นคว้าของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เธอเสนอว่า อัตลักษณ์ที่แตกต่างของผู้คน หรือแบบแผนการตั้งถิ่นฐานและการทำกสิกรรม ไม่ใช่เกณฑ์ในการแบ่งแยกชนเผ่า อย่างน้อยหกเผ่า (กะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ อาข่า ลาหู่ เมี่ยน) ออกจากชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาวไทย หากแต่มีความหมายพิเศษโดยนัยที่เกี่ยวกับการเมือง การสร้างความเป็นตัวตนของชาติ ดังคำนิยามของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของชาวเขาให้อยู่นอกอาณาบริเวณของ ‘เจ้าของประเทศ’ ซึ่งขีดเส้นไว้ว่าชนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย แต่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของชาติไทย และการดำรงอยู่ของคนเหล่านี้ได้สร้างปัญหาให้แก่ชาติเรา

ดังที่ ปณชัย จันตา ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื้อรังนี้ว่า

“เข้าใจว่าในพื้นที่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้มงวดในเรื่องยาเสพติด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งกับกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือเป็นข่าวเนื่องจากไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งทนายที่มีความเชี่ยวชาญและเคยทำงานร่วมกับชนเผ่ามาให้ความช่วยเหลือทางคดี และพร้อมจะดำเนินการอย่างถึงที่สุด”


ชัยภูมิ ป่าแส อาศัยอยู่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเครือข่ายทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อคนไร้สัญชาติมาโดยตลอด เป็นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนต้นกล้า จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมโครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมเพื่อเด็กและเยาวชน สถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) มีผลงานเพลงเชิงสร้างสรรค์ เช่น เพลงขอโทษ และเพลงจงภูมิใจ ที่มีความหมายกระตุ้นให้ชาติพันธุ์ที่ยังไร้สัญชาติภาคภูมิใจแปลงเปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อจรรโลงสังคมที่ตัวเองอยู่

แม้ว่าในปัจจุบันเกือบร้อยละ 90 ของชนชาติพันธุ์ลาหู่จำนวน 120,000-150,000 คน จะมีสัญชาติไทยแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถพูดภาษาไทยได้ เช่นเดียวกับ ชัยภูมิ ป่าแส ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยในหลากหลายรูปแบบทั้งการพูด การเขียน การแต่งเพลง แต่พวกเขาก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจับตามองว่าเป็นคนต่างด้าว

ในรายงานเรื่อง ‘ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปีแห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ’ แสดงให้เห็นว่า การเรียกร้องความยุติธรรมของชาวลาหู่แทบจะเป็นสิ่งสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเนื้อหาบางส่วนสะท้อนให้เห็นปมปัญหา ดังนี้

สีละ จะแฮ ประธานสมาคมชาวลาหู่ ผู้ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่ชนเผ่าลาหู่และชนกลุ่มน้อยชาวเขาเผ่าอื่นๆ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกทรมานและกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างไม่เป็นธรรม ภายใต้ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2546

อีกทั้งนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ซ้ำเติมชะตากรรมของชาวลาหู่ โดยสร้างผลกระทบอย่างสูงต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ ภายหลัง คสช. ออกคำสั่งหมายเลข 64/2014 เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เพื่อลงโทษผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย พื้นที่ทำการเกษตรหลายร้อยไร่ที่ชาวลาหู่เคยใช้ทำกิน บัดนี้ถูกยึดคืนไปโดยกรมป่าไม้

สำหรับ สีละ จะแฮ ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ในรายงานชิ้นเดิมระบุว่า

“สีละถูกขังในค่ายทหารพรานที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงสองครั้งในปี 2546 เขาเล่าว่า ทหารพรานจับเขากับชาวลาหู่คนอื่นๆ ขังในหลุมดินที่มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร และลึกประมาณ 4 เมตร ที่ค่ายกักกันแห่งนั้น พวกเขาถูกนำตัวขึ้นจากหลุมดินเพื่อทุบตี ข่มขู่ว่าจะเอาชีวิต ถูกเอาไฟฟ้าช๊อต และสอบปากคำ พ่อของสีละเป็นหนึ่งในเหยื่อของปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด พ่อของสีละถูกนำตัวไปจากไร่ลิ้นจี่เพื่อขังในหลุมดินถึงสองเดือน และถูกกล่าวหาอย่างลอยๆ ว่าพัวพันกับยาเสพติด ซึ่งจริงๆ แล้วพ่อของเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด”

ภายใต้ความคลุมเครือที่ปกคลุมความตายของ ชัยภูมิ ป่าแส ขณะนี้ภาพที่คมชัดที่สุดน่าจะมาจาก โฆษกรัฐบาลเอง เมื่อประชาชนรอฟังคำแถลงแสดงความเสียใจจากรัฐบาลหรือแสดงความจริงใจในการสืบค้นความจริง ทว่าสิ่งที่ได้ยินครั้งแรกจากโฆษกกองทัพบก คือ การด่วนออกมาปฏิเสธผลจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ โดยอธิบายว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่สุดวิสัย”


อ้างอิงข้อมูลจาก: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. 2541. วาทกรรมว่าด้วย ‘ชาวเขา’. ใน วารสารสังคมศาสตร์: สังคมศาสตร์การศึกษาชายขอบ. ปีที่ 15 ฉบับที่ 1
prachatai.org
matichon.co.th
prachatai.com
greennews.agency

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า