Roma: ฉากแรกคือหนัง ฉากหลังคือใบหน้าผู้คน

“เราต่างเป็นลูกของผู้หญิงที่ถูกข่มขืน”

หนึ่งผู้ร่วมเข้าฟังเสวนาที่โรงภาพยนตร์ House RCA เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม กับภาพยนตร์เรื่อง Roma ผลงานกำกับของ อัลฟองโซ คัวรอน (Alfonso Cuarón) ลำดับที่ 6 เอ่ยขึ้นในช่วงแลกเปลี่ยนกับวิทยากรเพื่อขยายให้เห็นว่าเหตุใดผู้กำกับถึงเลือกเล่าเรื่องราวของ เกลโอ เด็กสาวที่ทำงานเป็นแม่บ้านให้กับครอบครัวของ โซฟี ภรรยาสาวของ อันโตนิโอ นายแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Colonia Roma ใกล้ๆ กับกรุงเม็กซิโกซิตี้ในฉากของทศวรรษ 1970 ตั้งท้องกับแฟนหนุ่มฐานะยากจนที่ในภายหลังละทิ้งเธอกับลูก เช่นเดียวกันกับโซฟี นายจ้างสาว ซึ่งต่อมาได้ถูกอันโตนิโอละทิ้งเธอกับลูกอีกสี่คนให้อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ถูกเรียกขานทั่วไปว่า ‘Roma’ ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองภายในของเม็กซิโกซิตี้

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม, ทั้งคำพูดประโยคนั้น ทั้งฉากและผู้คนใน Roma ทำให้เราอดกระหวัดนึกถึงฉากและผู้คนที่คล้ายคลึงกันใน ‘กรุงเทพฯ ซิตี้’ อย่างเปรียบเทียบไม่ได้

“ไม่ว่าพวกเขาจะบอกเธอยังไง เราต่างต้องอยู่กันลำพัง”

ในฐานะผู้นำภาพยนตร์ Roma เข้ามาฉาย ภาณุ อารี ตัวแทนของสหมงคลฟิล์ม เกริ่นว่า หนังเรื่องนี้แม้ฉากจะอยู่ในปี 1970 และอยู่ในฝั่งอเมริกาใต้ แต่มีบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยในยุคเดียวกันคือ ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา ในปี 1973 และ 6 ตุลา ในปี 1976

ผศ.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกา กล่าวว่านับตั้งแต่ยุคปฏิวัติ เม็กซิโกปกครองด้วยพรรคเดียวมาตลอด ช่วงเวลาในหนังเรื่องนี้อยู่ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น ซึ่งผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทราบกันดีว่าเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายคอมมิวนิสต์

“ฉากของหนังเรื่องนี้อยู่ในปี 1971 จุดสำคัญก็คือ เมื่อเราหวนมาดู 14 ตุลา ซึ่งเกิดในปี 1973 จะเห็นได้ว่ามันเบียดอยู่ใกล้ๆ กัน”

เชาวฤทธิ์ยังบอกเล่าอีกว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา จุดพลิกที่สำคัญของลาตินอเมริกาคือปี 1959 เมื่อเกิดการปฏิวัติในคิวบาโดย ฟิเดล คาสโตร และ เช เกวารา ซึ่งสำหรับอเมริกาถือว่าเป็นการเสียหน้า เพราะหลังจากอเมริกาปลดปล่อยคิวบาจากสเปนในปี 1898 คิวบาก็อยู่ในฐานะลูกไล่ของอเมริกามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อมองดูฉากและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Roma เราจะเห็นภาพของความพยายามแทรกแซงการเมืองภายในของเม็กซิโกผ่านการฝึกศิลปะการต่อสู้ให้คนหนุ่มที่ยากจนในเม็กซิโกซิตี้ โดยแฟนหนุ่มของเกลโอก็เป็นหนึ่งในนั้น

“ชื่อของตัวละครนี้ก็ประหลาด เพราะชื่อ ‘เกลโอ’ แปลว่าคนผิวขาว เหมือนเป็น symbolic อะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าเราดูบริบทของเม็กซิโกจะเห็นว่านางเอกนั้นมาจากทางตอนใต้ แต่เม็กซิโกนั้นอยู่ทางตอนเหนือที่ติดกับอเมริกา เป็นเขตอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นทางตอนใต้จะยากจน”

ความเหลื่อมล้ำในสัดส่วนระหว่างบริบทรอบชายขอบเม็กซิโกซิตี้นำมาสู่ความขัดแย้งของขบวนการศึกษา ขบวนการชาวนา จนนำไปสู่การปะทะในปี 1968 มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน และยังนำมาซึ่งความพยายามจัดตั้งกองกำลังนอกกำลังนอกกฎหมายโดย CIA เพื่อปราบปรามขบวนการนักศึกษา ซึ่งเปรียบแล้วไม่ต่างกับขบวนการที่คนไทยเราน่าจะคุ้นเคยกันดีในชื่อ ‘นวพล’ และ ‘กระทิงแดง’

การจัดตั้งกลุ่มกองกำลังนอกกฎหมายที่อาศัยคนหนุ่มฐานะยากจนในชนบทนี้เองได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของ Roma ในฉากที่เกลโอติดตามเจ้าของบ้านไปเลือกซื้อเปลให้กับลูกในครรภ์ แล้วพบกับแฟนหนุ่มที่ทิ้งเธอกับลูกเป็นหนึ่งในกองกำลังนอกกฎหมายที่ปราบปรามนักศึกษา มิหนำซ้ำยังถูกขู่ว่าหากมาติดตามอีกจะฆ่าให้ตายทั้งสองคน

การเพิกเฉยทางการเมืองกับการถือกำเนิด/การตาย

ขณะที่ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค นักวิจารณ์และนักทำหนังอิสระ ได้เขียนวิเคราะห์ไว้บนเฟซบุ๊คส่วนตัวในเรื่องการใช้เทคนิคภาพ long take บนเลนส์ 65 mm. เพื่อให้ได้ภาพมุมกว้างฉายให้เห็นทั้งภาพบุคคลและภาพของสังคม

“หนังเรื่องนี้มีความ contrast มากๆ ระหว่างเรื่องราวเล็กๆ ของครอบครัวหนึ่งกับเรื่องราวที่ epic มากๆ อย่างเช่นฉากที่เกลโอมาบอกเรื่องตั้งท้องกับแฟนหนุ่มในโรงภาพยนตร์แบบสกาล่าที่เล่นใหญ่มากๆ เพราะตัวละครสมทบในฉากนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากดูหนัง”

ในมุมของรัชฏ์ภูมิ เทคนิคการถ่ายทำหนังของคัวรอนในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความน่าสนใจในแง่ที่ว่าตัวบ้านของโซฟี ซึ่งเกลโอเป็นแม่บ้านอยู่นั้นไม่ได้มีสำนึกทางการเมืองเท่าไหร่ นอกจากฉากต้นเรื่องที่ลูกๆ ของโซฟีพูดถึงเรื่องทหารยิงนักศึกษา แต่ละซีนในหนัง คนดูแทบไม่เห็นตัวละครพูดคุยกันถึงเรื่องการเมืองว่าอย่างไรบ้าง โดยเรื่องใหญ่คือ “ผัวทิ้ง แฟนทิ้ง” ซึ่งการไม่ตระหนักถึงการเมืองในมุมของรัชฏ์ภูมิก็คือ background ในขณะที่ชีวิตของเกลโอและโซฟีที่ต่างเป็นผู้หญิงต่างชั้น ต่างสถานะในสังคมเม็กซิโกซีตี้ต่างถูกทอดทิ้งเหมือนๆ กันนั้น คือ foreground ที่ไม่ว่าหนังจะโฟกัสไปที่เรื่องราวของเกลโอเพียงไร ภาพของ background ก็ห่อหุ้มหนังทั้งเรื่องไว้อย่างหนักอึ้งตลอดทั้งเรื่อง จนเหตุการณ์ในวันกองกำลังนอกกฎหมายปะทะกับขบวนการนักศึกษาจนนำไปสู่การเสียชีวิตของลูกในครรภ์เกลโอ

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจมากๆ คือซีนคลอดลูก เพราะมันเป็นโมเมนต์ที่ไม่เพียงเล่นกับ foreground/background มันคือโมเมนต์ที่ลูกจะตาย ซึ่งเกิดจากผลของ background ที่ตัวละครเพิกเฉยใช่หรือไม่?”

คำถามของรัชฏ์ภูมิไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เมื่อหวนนึกถึงชีวิตของเกลโอ ของโซฟี ของทุกตัวละครใน Roma แม้แต่ตัวละครผู้ชายที่ถูกผลักให้แทบกลายเป็นภาพแทนของความชั่วร้ายกับสภาวะพึ่งพาไม่ได้ จนคำพูดของเกลโอที่เอ่ยว่า ฉันไม่ได้ต้องการให้เด็กคนนี้เกิดมา อาจเป็นหลักใหญ่ใจความของสิ่งที่คัวรอนต้องการจะสื่อเหมือนคำกล่าวของหนึ่งในผู้เข้าฟังและผ่านการเข้าชมมาแล้วที่ว่า “เราต่างเป็นลูกของผู้หญิงที่ถูกข่มขืน” ซึ่งทางเดียวที่เราจะแก้แค้นการถูกทำร้าย และถูกทอดทิ้งเช่นนั้นได้ คือการไม่ให้ลูกของคนที่ข่มขืนได้มีโอกาสถือกำเนิดออกมา

นั่นก็เป็นการคะเนหนึ่ง ที่ไม่ว่าผิดหรือถูก แต่…ใช่หรือไม่ หากมองดูให้ดีแล้วเราจะเห็นใบหน้าของเกลโอปะปนอยู่ในกรุงเทพฯ ซิตี้ ที่คราบน้ำตาของหญิงสาวมากมายถูกซ่อนซุกไว้ภายใต้ใบหน้าเปื้อนยิ้มของผู้คนในนครแห่งนี้

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า