อาจารย์คนเดียวกับที่เคยเป็นพิธีกรสอนภาษาไทยในรายการทีวีระดับคลาสสิกเมื่อราว 30 ปีก่อน ‘ภาษาไทยวันละคำ’ ออกสู่หน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ออกมาเป็นแม่งานเสนอการแก้ไขปรับปรุงคำยืมภาษาอังกฤษ 176 คำ ให้เขียนตรงตามการออกเสียง
เป็นต้นว่า ไนต์คลับ ให้เขียนเป็น ไน้ต์ขลับ คาร์บอเนต ให้เขียนเป็น คาร์บอเหนต คาทอลิก ให้เขียนเป็น คาทอหลิก ยีราฟ ให้เขียนเป็น ยีร้าฟ
หลายคนอาจบอกว่ามันเป็นการเขียนที่พิสดารเกินไป
ถึงครั้งนี้จะเป็นการกระทำเชิง ‘ก้าวหน้า’ ของคนในราชบัณฑิต-สถาบันทรงอำนาจทางภาษาอ่านเขียนของสยามประเทศ ที่พยายามจะเปลี่ยนรูปแบบเก่าแก่ที่ถูกกำหนดด้วยราชบัณฑิตเอง แต่สิ่งที่อาจารย์กาญจนาได้รับกลับไม่ใช่ดอกไม้
ด้วยเสียงบ่นก่นด่าที่ถาโถม ประหนึ่งหลายมือประเคนก้อนอิฐมาให้ ด้วยเหตุผลว่า ความพยายามเปลี่ยนแปลงความเคยชินทางภาษาครั้งนี้ช่างไร้สาระ และพิลึกพิลั่นเกินกว่าใครจะปรับตัวให้เขียนตามได้ ทำให้ไม่กี่วันหลังจากนั้น ราชบัณฑิตผู้นี้ต้องยอมถอยไปหลายก้าว
แม้แนวทางที่อาจารย์กาญจนานำเสนอ จะเป็นสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ ตามอักขรวิธีก็ตาม
ไม่ว่าตอนสมัยเรียนเราจะนั่งหลังห้อง กลางห้อง หน้าห้อง จะรำคาญคำพร่ำบ่นของครูอาจารย์ในชุดผ้าไหมหรือเปล่า การเลือกจะเชื่อใครสอน ฟังใครสั่ง เป็นสิทธิ์ที่มีอยู่เคียงคู่กับความเสรีของโลก แต่วิจารณญาณก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเลือกที่เชื่อ ไม่เคยมีใครกำหนดว่าต้องเชื่อในสิ่งที่ฟัง และให้ฟังเฉพาะสิ่งที่เชื่อ เพราะนั่นอาจจะทำให้โลกแคบลงไปถนัดตา
คำกล่าวที่ว่า ‘ไม่มีครูบาอาจารย์คนไหนไม่หวังดีต่อศิษย์’ อาจจะดูโบร่ำโบราณ แต่เราก็ไม่อาจหาเหตุผลไปคัดง้างหรือลบล้างคำกล่าวที่ดูจะเป็นจริงนี้ได้
ด้วยวัยพ้นเกษียณอายุราชการมาแล้ว 15 ปี นายกสมาคมครูภาษาไทย ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย และผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครู อาจารย์กาญจนาเพียงอยากจะกล่าวสั่งสอนศิษย์ว่า “อาจจะนอกเรื่องไปบ้าง แต่นี่เป็นความรู้สึกของครูแก่ ครูที่อยากให้เด็กได้รับสิ่งที่ดี”
ดังนั้น การเปิดหูเปิดใจฟังครูบ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย
นอกจากงานราชบัณฑิตแล้ว อาจารย์ยังทำอะไรอีกบ้าง
ที่ทำอยู่คือเป็นนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยค่ะ ดูแลเรื่องการช่วยเหลือครู อบรมให้ความรู้ ถ้าครูเขาต้องการความรู้ที่จะไปสอน ทั้งในเรื่องการสอน หลักสูตรใหม่
ปีหน้า ก็มีครูขอร้องมาว่าอยากจะให้สอนเรื่องการอ่านทำนองเสนาะ เพราะเป็นลักษณะวิธีการเรียนของเด็กไทยอย่างหนึ่ง และทำนองเสนาะก็เป็นการอ่านที่เพราะ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจวรรณคดีไทย
ครูบางคนก็บอกมาว่า ครูเองก็อ่านไม่ได้ เลยต้องหาครูที่จะสามารถเป็นต้นแบบ ไปอ่านให้ฟัง ไปสอนให้ฟัง แล้วก็จัดทำเทปไว้ด้วยค่ะ คิดว่าประมาณปลายปีการศึกษานี้ เพราะครูจะเริ่มว่างกันแล้ว เราก็จะจัดอบรม เราก็มีครูที่เสียงดีๆ อ่านได้เพราะๆ หลายคนค่ะ
หมายความว่าต้องเริ่มสอนครูก่อนใช่ไหม
ค่ะ เราสอนครูที่สนใจ เพื่อให้เขาไปสอนเด็ก เพราะเราไม่มีหน้าที่สอนเด็ก เราเป็นสมาคมครู คือให้ครูมารวมกัน แล้วก็มาปรึกษาหารือกันว่ามีปัญหาอะไรบ้างเวลาสอน จะทำอย่างไรให้เด็กสนใจเวลาสอน
สมาคมฯ ก็จัดอบรมในกรุงเทพฯ แต่ก็ออกต่างจังหวัดด้วย ไปเชียงราย นครพนม ไปอุดรฯ ไปตรัง ไปหลายแห่ง
คือสมาคมฯ ต้องเป็นฝ่ายออกไปเองจัดการเองหมด?
ใช่ค่ะ เวลาจัดที่กรุงเทพฯ ก็ดีอย่างตรงที่ว่า ครูจากต่างจังหวัดได้เข้ามากรุงเทพฯ แต่มันต้องเสียเงินมาก เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีงบประมาณ ครูที่จะเข้ามาอบรมก็ต้องมาพักโรงแรม เสียค่าอบรมด้วย เพราะการอบรมเราก็ต้องจัดอาหาร จัดสถานที่ มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ถ้าไม่มีใครช่วย ครูก็ต้องออกเองด้วยส่วนหนึ่ง กรรมการของสมาคมฯ ก็ช่วยด้วยส่วนหนึ่ง
ถ้าอย่างนั้นตัวสมาคมฯ นี้ก็ไม่ได้มีใครสนับสนุนจริงจัง?
ไม่มี จริงๆ ก็ตั้งมาโดยที่ครูสอนภาษาไทยทั้งหลายช่วยกันคิด ช่วยกันดูว่า เราจะช่วยครูอย่างไร เพราะบางครั้งครูก็เกิดปัญหาแล้วครูก็ไม่รู้จะไปถามใคร เราเลยตั้งเป็นศูนย์กลางขึ้นเพื่อรับเรื่อง ครูคนไหนมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไรก็สอบถามเข้ามา เราก็จะช่วยกันหาผู้รู้ที่จะมาช่วยตอบให้ ทั้งเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์ คู่มือ เพราะครูแต่ละคนก็มีความสามารถและความรู้ต่างๆ กัน
ในแต่ละปี เราจะจัดอบรมและสอบถามความต้องการของครูว่าต้องการให้อบรมเรื่องอะไร เพราะครูที่สอนชั้นประถมก็ไม่ได้เรียนภาษาไทยมาเต็มที่ หรือไม่เคยเรียนภาษาไทยเลย ไม่ได้จบเอกไทย ก็ไม่แน่ว่าจะสอนได้ถูกต้องหรือเปล่า ครูเขาขอร้องมา เราก็จัดอบรมให้
ปัญหาของครูภาษาไทยในชั้นประถมและมัธยมเท่าที่อาจารย์เคยทราบมา แตกต่างกันบ้างไหม
มีปัญหาต่างกันมาก โดยครูประถมปัญหาส่วนมากจะมาจากที่เขาไม่ได้เรียนภาษาไทยมา และไม่ทราบว่าจะสอนอย่างไรถูก บางครั้งโรงเรียนก็ไม่ได้เลือกหนังสือแบบที่ควรจะเป็น เพราะกระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิ์โรงเรียนเลือกหนังสือเอง ดังนั้นหลักสูตรมันจะไม่เสมอกัน ก็แล้วแต่ครูเลย ครูบางคนก็สอนเรื่องการสะกดการันต์ ครูบางคนบอกไม่รู้จะสอนอะไรก็สอนให้อ่านไปเรื่อยๆ
เวลาที่สอนเด็กประถมครูก็ไม่ค่อยมีเวลา เพราะต้องทำกิจกรรมอะไรไม่ทราบเยอะแยะไปหมด ไม่ได้เคี่ยวเข็ญเด็กจริงๆ เหมือนสมัยก่อน ผลเลยออกมาว่าเด็กบางคนยังอ่านหนังสือไม่ออกก็มี อยู่ ป.3 ป.4 แล้วก็ยังอ่านไม่ออก อย่างเมื่อวานมีการแข่งขันการใช้ทักษะภาษาไทย โรงเรียนก็คัดเด็กเข้ามาแข่งขัน เด็กหลายๆ คนอ่านคำว่า ดุเหว่า ไม่ได้ อ่านเป็น ดุ-เห-ว่า ทั้งที่อยู่ ป.5 แล้ว ก็ไม่ทราบว่าเหตุผลเป็นเพราะเด็กเพราะครู หรือเพราะโรงเรียน แต่ผลที่ออกมามันไม่น่าพอใจ
อย่างคำบางคำที่เคยได้ยินมาบ้างก็น่าจะเขียนให้พอเดาได้ว่าเป็นคำอะไร แต่นี่เขียนผิดไปหมดเลย โดยเฉพาะวรรณยุกต์ อย่างเช่นคำว่า ปฏิสังขรณ์ เด็กก็เขียนเป็น ปฏิสังคร นี่แสดงว่าไม่ได้ผิดเรื่องการรับคำ แต่การรับเสียงวรรณยุกต์นั้นเพี้ยนไปแล้ว
นี่เป็นปัญหาใหม่ที่พบ อาจเพราะเด็กไทยไม่ค่อยฟัง เขาอาจจะใช้คอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์มากเกินไป เวลาเรียนครูก็ไม่ได้ให้เด็กอ่านออกเสียง พอไม่ได้อ่านออกเสียงก็ไม่ได้ยินเสียงว่าคำไหนเป็นยังไง
การฟังของเด็กน้อยลงไปจนน่าเป็นห่วง เพราะในการเรียนรู้การฟังเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสามารถฟังได้ชัดเจน ฟังแล้วจับประเด็นได้ แต่เดี๋ยวนี้ฟังกันไม่รู้เรื่องเลยพูดกันไม่รู้เรื่อง คนพูดมาอีกอย่าง คนฟังเข้าใจไปอีกอย่าง สื่อมวลชนไปอีกอย่าง ก็เกิดความเข้าใจผิดกัน
ตามที่อาจารย์บอกว่ารากฐานการเรียนภาษาไทยระดับประถมสำคัญที่สุด แต่ในเมื่อมีปัญหาตั้งแต่พื้นฐานแล้ว จะไปต่อได้อย่างไร
ก็ไม่ทราบจะทำยังไง เพราะคนที่อยู่วงการศึกษาเขาก็ไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย ที่จริงภาษาไทยเป็นภาษาของเรา มันไม่ได้มีไว้แค่สื่อเท่านั้น มันมีไว้คิด มันเป็นหัวใจ เป็นตัวของเราเอง เรามีวัฒนธรรมอย่างไร มีความรู้สึกในทางดีทางชั่วอย่างไรมันอยู่ที่ภาษาไทยทั้งนั้น แต่สมัยหลังไปคิดว่าภาษาไทยเป็นวิชาเรียนเหมือนวิชาทั่วไป ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ ทุกวันนี้ยังให้เด็กมาท่องว่าพยัญชนะมีกี่ตัว สระมีกี่ตัว แล้วก็มาเถียงกันว่าทำไมสระไม่ใช่ 20 รูป 32 เสียง แล้วก็วุ่นกันอยู่แค่นั้น
แสดงว่าปัญหาอยู่ที่วิธีการสอน?
การเรียนรู้ภาษามันต้องรู้เรื่องความเข้าใจ รู้เรื่องการใช้ ต้องศึกษาความคิด ศึกษาวัฒนธรรมของชาติด้วย ไม่ได้เอาแค่ว่าอ่านออกแล้วมาพะวงว่าจะอ่าน ปรัชญา ว่า ปรัด-ยา หรือ ปรัด-ชะ-ยา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่างเด็กในต่างประเทศ ม.3 เขาต้องเขียนเรียงความทุกวัน ไปอ่านไปหาความรู้มาเอง แล้วก็นำสิ่งนั้นมาเขียน แล้วต้องเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว ครูก็อ่านแล้วก็ตรวจแก้เรื่องไวยากรณ์ เรื่องคำสะกด เรื่องความถูกต้องของเนื้อความและความถูกต้องทางเหตุผล สิ่งที่เด็กเขียนมันถูกไหม คิดแบบเห็นแก่ตัวหรือเปล่า มีจิตสาธารณะหรือเปล่า เด็กของเขาจึงเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กของเรา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะนโยบาย
ไม่นิ่ง เปลี่ยนคนอยู่เรื่อยๆ
ทราบมาว่างบประมาณของกระทรวงศึกษามีมากที่สุด?
งบประมาณเยอะมากค่ะ แต่ว่าเอาไปทำอะไรก็ไม่ทราบ แล้วก็มามีเรื่องคอรัปชั่นอีกด้วย มันก็น่าห่วง เคยย้อนกลับไปดูตอนที่มีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว ตอนนั้นก็จัดการแต่เรื่องการแบ่งการปกครอง จัดการเรื่องการบริหาร แทนที่จะบอกว่าควรจะสอนอย่างไร ความจริงเราต้องดูข้อเสียของสังคมไทยเป็นหลัก สังคมเราเป็นสังคมที่ไม่มีระเบียบ เพราะฉะนั้นเราต้องสอนให้เด็กมีระเบียบ
อย่างแรกๆ เลยคือการแต่งกายเวลาไปเรียน อย่างนักเรียนในต่างประเทศแต่งชุดอะไรไปก็ได้ เพราะเป็นเมืองหนาว แต่อย่างบ้านเราเด็กก็จะตามแฟชั่นตลอด อย่างใส่กระโปรงนักศึกษาก็ต้องมีเข็มขัด แต่เข็มขัดก็ห้อยลงมา ที่จริงมีตรามหาวิทยาลัยอยู่กับตัวมันก็ต้องเชิดชูหน่อย ให้มันอยู่ตรงที่ดีๆ แต่ว่าเราจัดการอะไรไม่ได้ มันเป็นอิสระของเด็กที่จะทำ
บางคนก็ว่าถูกระเบียบมันก็ไม่ได้ดีอะไร ดูอย่างทหารสิ เข้าระเบียบแล้วก็ไม่เห็นจะดี มันก็มองกันหลายแง่หลายมุม แต่การที่จะสอนให้เด็กมีระเบียบ มีสัมมาคารวะก็เป็นสิ่งจำเป็น ควรจะปลูกฝังสิ่งดีๆ บ้าง ไม่ใช่ให้เด็กทำได้ตามใจ ยิ่งในโรงเรียนต้องสอนเด็กให้เป็นคนดี เคยถามครูท่านหนึ่งว่าทำไมไม่สอนเด็กเรื่องระเบียบวินัย ครูก็ตอบว่าไม่มีเวลาสอน แล้วก็ไปเรียนอะไรที่ยังไม่เป็นไปตามวัยแทน เด็ก ป.1 ป.2 ไม่ต้องสอนอะไรมาก แค่อ่านหนังสือให้ออก คิดเลขให้เป็น พอ ป.3 ก็ให้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ พอชั้นต่อๆ ไปก็เรียนไปเรื่อยๆ เด็กก็จะได้ความรู้ และยังได้ปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ เดี๋ยวนี้เด็ก ป.3 ต้องปลูกผัก บางคนต้องไปขายกล้วยแขก ก็น่าแปลกดี
การเรียนมันต้องไปเป็นขั้นๆ เรื่องแฟนเรื่องอื่นก็เอาไว้ก่อน วิชาเพศศึกษาของเด็กประถมก็สอนให้เด็กรู้จักคอนดอม ซึ่งมันยังไม่มีประโยชน์ที่เด็กจะรู้ สิ่งที่เด็กควรจะรู้คือการตั้งใจเรียนให้จบ มีงานการทำแล้วถึงจะมีครอบครัว
ประเด็นใหญ่อย่างการทำกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการอ่าน อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
การอ่านก็เป็นหนทางหนึ่งในการหาความรู้ เป็นการทำให้เด็กเข้าใจโลกมากขึ้น แต่ก่อนที่จะให้เด็กอ่าน ผู้ใหญ่ก็ต้องหาหนังสือดีให้เด็กด้วย ไม่ใช่อ่านเพื่อเสพสิ่งที่ผ่านเข้ามา ถ้าหากบอกว่าอ่านอะไรก็ได้ อ่านการ์ตูนก็ได้ อ่านข่าวดาราก็ได้ ความจริงคือมันอ่านได้ แต่สิ่งที่มากับการอ่านไม่ได้มีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว สิ่งที่ติดมาด้วยคือสาร ถ้าสารดีเด็กก็ได้รับสิ่งดีๆ แต่ถ้าเป็นสารที่ไม่ดีเด็กก็จะได้รับสิ่งไม่ดี
รัฐบาลก็บอกแต่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ มันมีคนอ่านมากกว่านั้นมาก คือคนอ่านก็อ่าน คนไม่อ่านก็ไม่อ่าน เราจะปลูกฝังเด็กเราก็ต้องให้เด็กอ่าน แต่ขอให้มีหนังสือราคาถูกหน่อยได้ไหม น่าอิจฉาเด็กต่างประเทศที่ได้อ่านหนังสือดีๆ สีสวยปกแข็ง มันน่าอ่าน เด็กเขาก็เลยชอบอ่าน ดิฉันมีหลานอายุ 6 ขวบ พ่อแม่เขาก็ซื้อสารานุกรมเด็ก ซื้อ National Geographic มาให้อ่าน ถึงแม้จะยังอ่านภาษาไม่ออก เขาก็ชอบเปิดอ่าน เปิดมาดูรูป ถ้าเราให้สิ่งที่ดีกับเขา เขาก็จะจำ การจะให้เด็กรักการอ่านต้องสอนตั้งแต่เด็ก และต้องมีหนังสือให้เขาอ่าน
นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด
เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมการอ่านก็เปลี่ยนไปด้วย?
เดี๋ยวนี้การอ่านของเด็กยิ่งแย่ เพราะเด็กไม่อ่านหนังสือ เอาเวลาไปเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเฟซบุ๊ค แล้วก็อ่านอะไรที่ไม่ได้มีใครรับรองว่ามันถูกต้อง เมื่อก่อนจะค้นข้อมูลอะไรก็ต้องหาในห้องสมุด แต่เดี๋ยวนี้หาในกูเกิลก็ได้แล้ว เด็กก็โหลดเนื้อหาไปส่งครูทั้งๆ ที่บางทีก็ยังไม่ได้อ่านเลย นั่นเป็นการสร้างนิสัยฉาบฉวย เด็กมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน อ่านอะไรแล้วก็ลืม การเรียนมันต้องมี ‘สุ-จิ-ปุ-ลิ’ เป็นยอดของการเรียน ซึ่งถ้าทำได้ความรู้มันจะติดตัวไป กระทรวงศึกษาธิการบอกเรียนให้คิดอย่างเดียว…มันไม่ใช่ เพราะถ้าไม่จำแล้วจะเอาอะไรมาคิด
สมมุติพูดถึงศีล 5 เขาก็ยังจำไม่ได้ พื้นฐานของมนุษย์เราควรมี 5 ข้อนี้ให้ได้ แล้วไม่รู้ว่าในอนาคตเขาจะทำอะไรถูกมั้ย มันผิดตั้งแต่ศีลตั้งแต่อะไรมาแล้ว ไปเอาของเพื่อนมา บางคนบอกว่า เอ๊ย…นิดเดียว จิ๊กหน่อย เหมือนที่ผู้ใหญ่บางคนชอบบอกว่า ไม่ได้เอา ไม่ได้ขโมยนะ ขอจิ๊ก เขาเรียกอะไรนะ แฮ้บ คือไม่ใช่ของตัวหรอก
แต่มันสร้างนิสัยอยากได้ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ของควรจะได้ หรือได้มาอย่างถูกวิธีหรือเปล่าก็ไม่รู้
คนแต่ก่อนนี้นะคะ ถนนมันแคบ คนเขาสละที่ให้หลวง เป็นทางเดินให้คนอื่นเดินได้สบาย แต่คนเดี๋ยวนี้รุกที่หลวงเอาไปเป็นของตัว มันผิดกัน การอบรมสั่งสอนให้รู้จักเสียสละ ให้รู้จักอะไรต่างๆ นี่มันเสียไปหมดเลย เราต้องพยายามฟื้นใหม่ ต้องพยายามใส่ไปในหนังสือเรียน ให้ครูคิดเรื่องนี้ให้มากๆ
ทักษะของคนในการใช้ภาษา อย่าง ‘สุ-จิ-ปุ-ลิ’ แสดงว่าปลายทางที่สำคัญที่สุดต้องอยู่ที่การเขียนหรือเปล่า
สมัยโบราณเราได้ยินได้ฟังความรู้ ได้เรียนจากการพูดก่อน เพราะเป็นการสื่อสารแท้ของคน แต่เนื่องจากเราไม่สามารถจดจำอะไรได้หมด เราก็ต้องหาเครื่องหมายที่จะจดบันทึก มันก็มีตัวอักษรเกิดขึ้น แล้วตัวอักษรก็จะเป็นเครื่องมือให้เราจดจำ ให้เรียนรู้ ให้ใช้ภาษาได้สะดวกขึ้น กว้างขวางขึ้น ทีนี้ถ้าเราไม่ทำให้ภาษามันชัดเจนก็จดจำอะไรไม่ได้ สมองเราอาจจะจำได้น้อย ถ้าเราเขียนไว้ บันทึกไว้ มันก็ดีขึ้น ทีนี้พอเป็นภาษาเขียนแล้ว เดิมทีเดียวเราก็เขียนเฉพาะที่เราพูดกัน แต่ต่อมาก็มีการศึกษา มีการประดิษฐ์ถ้อยคำ มีการแต่งหนังสือให้เด็ก มีวรรณคดี มีบทประพันธ์ ฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้นภาษาเขียนก็พัฒนามาเป็นภาษาที่มีรูปแบบที่ดีขึ้น กว้างขวาง และเป็นหลักสำหรับภาษาพูดต่อไปด้วย เพราะมันอิงกันไปอิงกันมา เราพูดยังไงเราก็เขียนอย่างนั้น เราเขียนยังไงเราก็ออกเสียงอย่างนั้น
ดังนั้นภาษาทั้งสองภาษามันก็พัฒนามาด้วยกัน
แล้วภาษาเขียนก็พัฒนาไปเป็นภาษาของวิชาการ ภาษาของนักวิจัย ภาษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็มีภาษาที่สูงขึ้น แปลกขึ้น เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ ภาษาพูดก็ยังมี เพราะเรามีภาษาสุภาพ ภาษาสื่อสารทางสื่อมวลชน ราชาศัพท์ พูดกับพระ กับขุนนาง ภาษาก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จะว่าอะไรสำคัญกว่ามันก็ไม่ถูกทีเดียวนัก ทั้งสองอย่างมันอาศัยซึ่งกันและกัน คนที่เขียนเก่งไม่ต้องพูดเก่งก็ได้ คนที่พูดเก่งไม่ต้องเขียนเก่งก็ได้ แต่คนที่ทั้งเขียนเก่งด้วยพูดเก่งด้วยก็มีเยอะ
พูดถึงปัญหาเรื่องการอ่าน คนไทยชอบอ่านอะไรที่สั้นๆ จริงไหมครับ เช่น อ่านแค่พาดหัวข่าว
แล้วก็ไม่ยอมอ่านข้างใน (ตอบทันที) ไม่ทราบรายละเอียดหรอก แล้วก็ติดแต่ส่วนย่อยๆ เหล่านั้น อันนี้เป็นข้อเสียอันหนึ่ง มันคือความอดทนไงคะ ไม่อดทนที่จะอ่านอะไรละเอียดให้ตลอด ถ้าหากว่าเราสอนมาตั้งแต่เด็กให้เขารู้จักอ่าน ต้องอ่านให้ได้ เรื่องความอดทนโบราณเขาสอนเยอะนะคะ คัดลายมือนี่เป็นวิชาที่สอนความอดทนที่ดีที่สุดเลย สุดจะเบื่อ นั่งเขียนกันกว่าจะจบหน้า แต่มันฝึกให้เราอดทนไงคะ รู้ว่าต้องทำให้เสร็จ ก็จะเขียนไป คัดไปแต่ละหน้าแต่ละตัว แล้วครูสมัยก่อนก็ให้เขียนทุกวัน ไม่ใช่เพียงแต่ฝึกลายมือสวย มันฝึกความอดทนด้วย ฝึกความรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จก่อน จะไปเล่นก็ต้องทำการบ้านก่อน
อย่างการที่คนชอบฟังหรือชอบดูทีวีเล่าข่าว ทำให้เราอ่านกันน้อยลงด้วยใช่ไหม
ก็มีส่วนค่ะ ทำให้เราไม่ต้องไปอ่านก็รู้เรื่องแล้ว แต่เขาก็ลืมคิดไปว่าเวลาคนที่มาเล่าข่าวเขาเล่าตรงหรือเปล่า หรือเอามาแค่ส่วนหนึ่ง หรือบางทีก็ผิวเผิน ข้อมูลที่ให้ครบทั้งหมดหรือเปล่า คือเราไม่ได้เพ่งเล็งไปว่าอยากให้คนรู้ความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้ทุกช่องทุกสถานีก็ใช้วิธีเล่าข่าวหมด
ในส่วนของหนังสือพิมพ์เองก็เล่ามามุมหนึ่งอยู่แล้ว มุมนั้นถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วบางทีก็เขียนใส่ความคิด ค่านิยม สิ่งที่ตัวคิดด้วย มันก็ไปอีกมุมแล้ว แล้วสื่อมวลชนทางวิทยุโทรทัศน์ก็เอาไปต่ออีกขั้นหนึ่ง พูดอีกแบบหนึ่ง หลายๆ เรื่องก็เลยไม่ตรงความจริง
อย่างดิฉันเองกำลังรณรงค์ให้เขียนภาษาไทย คำภาษาไทยที่มาจากภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง เต๊นท์ ต้องใช้ไม้ตรี อย่าไปใส่ไม้ไต่คู้ แต่คนก็มามองผ่านสื่อว่าดิฉันจะไปสอนภาษาอังกฤษ ให้พูดภาษาอังกฤษใส่วรรณยุกต์…มันคนละเรื่อง ดิฉันไม่ได้สอนภาษาอังกฤษ ดิฉันสอนภาษาไทย แต่ข่าวที่ออกไปโดนด่ามากมายเลย หาว่าจะทำให้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเสีย คนจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง เราจะเข้าอาเซียนแล้วยังงี่เง่าอยู่กับภาษาไทย อะไรอย่างนี้นะคะ มันคนละเรื่อง อย่างหนังสือนี่ถ้าเราไม่เรียกนิตยสาร เราจะเรียก แมกกาซีน จะเขียน แ-ม-ก มันก็เป็น แมก สิใช่มั้ย แม้ก ก็ต้อง แ-ม้-ก สิ ก็เขียนให้มันตรง
เดี๋ยวนี้เขามี Facebook เขียน เฟ้ซ ก็ต้องใส่ไม้โท บุ๊ก ก็ต้องใส่ไม้ตรี เสียงมันก็ตรง ถ้าเขียน เฟซบุก แล้วมันจะรู้เรื่องกันหรือเปล่า
หลักการถอดภาษาที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นตัว K เป็น ก ไก่ หรือ ค ควาย นี่เป็นอย่างไร
อันนี้ยังไม่ยาก เพราะถ้าเราออกเสียงคำว่า Cook เราจะออกเสียงว่า กุ๊ก หรือ คุก ก็แล้วแต่ ถ้าออก กุ๊ก ก็ใช้ ก ไก่ ถ้าออก คุก ก็ใช้ ค ควาย
หมายถึงเปลี่ยนได้ใช่ไหม
เปลี่ยนได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราออกเสียงอย่างไร สิ่งที่ต้องยึดถือก็คือว่า เราใช้อักขรวิธีไทย คือมีตัวหนังสือที่เป็นตัวพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เมื่อเราเขียนเป็นภาษาไทยแล้วไม่ว่าจะเขียนยังไงก็ตาม เราจะใส่ไม้เอก ไม้โท หรือไม่ใส่ก็ตาม มันมีวรรณยุกต์ทุกพยางค์ ก-า ก็อ่านว่า กา ข-า ก็อ่านว่า ขา แล้ว
อย่าง เต็นท์ คนเขาอ่านออกเสียงว่า เต๊น กันทั้งประเทศ อีกคำหนึ่งก็คือ อิฐบล๊อก ไม่เห็นมีใครเขาอ่าน อิฐบล็อก กันเลย ทำไมไม่เปลี่ยนล่ะ กีตาร์ ใส่ไม้โทมันก็ ต้า หรือ จะให้เขียน ตา แล้วออกเสียง ต้า ดิฉันก็ไม่เข้าใจ
คือเขาทำมาก่อนนานแล้ว เราก็พยายามจะเรียกร้องขอให้เปลี่ยน ขอให้เขียนให้ตรง ในเมื่อเรามีหลักอยู่ก็ขอให้ตามนี้ได้มั้ย เขาก็ไม่ยอม ราชบัณฑิตก็ยังไม่ยอม ดิฉันก็บอกว่า แนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้แล้ว แต่ท่านยังไม่ยอมทำ…ก็ช่วยไม่ได้ แล้วต่อไปนานๆ เข้า ภาษาเราจะเป็นยังไงคะ เพราะภาษาอังกฤษเข้ามาทุกวัน แล้วไม่รู้กี่คำต่อกี่คำ ถ้าเกิดเราเขียนอย่างนี้ กดไลค์ ไม่ใช้ ‘ไล้’ นะ กด ‘ไล’ กิกะไบต์ นี่มีกี่ กิก ก็เราเรียก กิ๊ก ก็เขียน กิ๊ก สิคะ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย
คือเขาไม่เข้าใจ เขาก็บอกว่ามันเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษมันเปลี่ยนเสียงได้ก็เปลี่ยนไปสิ คุณก็ไปเปลี่ยนเวลาคุณพูดภาษาอังกฤษ มันก็ต้องเปลี่ยนไปตามนั้น แต่เมื่อเขียนในภาษาไทย มันต้องเป็นภาษาไทย ใช่มั้ยคะ มันต้องใส่ตามเสียง ตามอักขรวิธีของเราที่มีอยู่ เพราะภาษาของเราต้องเรียกว่าเป็นภาษาวิเศษมากในโลก เพราะเราสามารถจะเขียนอย่างที่เราพูดได้ เราจะต้องการเสียงสูงเสียงต่ำมันเขียนได้ใกล้เคียง อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใกล้เคียงมากทีเดียว
อย่างรูปศัพท์ที่เราเคยใช้มาก่อนหน้านี้ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีแรกราชบัณฑิตเป็นคนบัญญัติใช่ไหม
เขากำหนดเลยว่า คำภาษาอังกฤษมาต้องไม่ใส่วรรณยุกต์ ดิฉันก็สู้กับเขามา 10 ปีแล้วนะคะว่ามันต้องใส่ ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์ ไม่ใส่ไม่ได้ เขาก็ยังตื๊ออยู่นั่นว่าภาษาอังกฤษไม่เปลี่ยน พระองค์วรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรณ์ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ – อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน) ท่านไม่ได้ใส่ ดิฉันบอกว่า ถ้าพระองค์วรรณท่านอยู่ถึงทุกวันนี้ท่านให้ใส่แล้ว เพราะท่านเป็นนักภาษา และสมัยก่อนก็ยังไม่รู้ว่าจะยังไงใช่มั้ยคะ คุณจะพูด คอมพิวเตอร์ กันยังไงก็ไม่ได้มีใครบอก ถ้ากำหนดกัน ณ เวลานี้ คนเรียก คอม-พิ้ว-เต้อ กันหมดทั้งประเทศ ไม่มีใครเรียก คอม-พิว-เตอ
อย่าง ทิงเจอร์ คนเรียก ทิง-เจอ กันทั้งประเทศ อันนี้ถูกต้อง แต่ เฟอร์นิเจอร์ เขียน เฟอ-นิ-เจอ อ้าว… เขาอ่าน เฟอ-นิ-เจ้อ กันทั้งนั้น ก็เขียน เฟอร์นิเจ้อร์ ได้มั้ย ไปเขียน ทิงเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ เด็กจะรู้ได้ยังไงว่าอันไหนอ่าน เจอ อันไหนอ่าน เจ้อ เขาก็ยังไม่ยอมแก้ คือมันคงเป็นความเคยชิน ความดื้อรั้น หรืออคติอะไรสักอย่าง (หัวเราะ)
มันเป็นเกณฑ์ที่ราชบัณฑิตกำหนดเองตั้งแต่ต้นเลยใช่ไหม
ใช่ เขาตั้งกันเองไงคะ ดิฉันว่าที่ตั้งอย่างนั้นน่ะมันผิด ไปตั้งสิ่งที่ผิดกับธรรมชาติของภาษาไทย ซึ่งไม่ได้ คือเราไม่ได้เหมือนภาษาอังกฤษนี่คะ เขามาเป็นคำ เขาเขียนอย่างนี้แหละ แต่ออกเสียงยังไงก็ว่ากันอีกที
หมายความว่าอาจารย์กำลังพยายามจะแก้กติกาของราชบัณฑิต?
ใช่ ก็บอกแล้วแต่เขาก็ไม่ยอมแก้ แต่เวลานี้เขาก็ยอมอย่างหนึ่ง ในหลักการทับศัพท์ของเขามีข้อหนึ่งว่า เดิมไม่ใส่
วรรณยุกต์นอกจากคำที่ซ้ำกับภาษาไทย เช่น โคมา ก็ใส่ไม้เอกได้เป็น โคม่า อย่าง โค้ก ใส่ไม้โทได้เพราะมันซ้ำกับคำว่า โคก แล้วทำไมจะต้องใส่เฉพาะคำที่ซ้ำล่ะ ทุกคำน่ะใส่ได้หมดแหละ
เหตุผลที่แท้จริงคือใส่ให้ถูกต้องเพื่อการออกเสียงเลยใช่ไหม
ตามที่เราใช้ (ตอบทันที) คือดิฉันถือว่าคำเหล่านี้มันเป็นคำที่เรายืมมาใช้ในภาษาเรา คือมันเป็นภาษาไทยแล้ว ไม่ใช่ภาษาอื่น ต้องถือเป็นภาษาไทย คือมันเปลี่ยนเสียงได้มั้ย ถ้า กีตาร์ คุณไม่เรียก กี-ต้า จะเรียก กีต๋า คุณเล่นกีต๋ามั้ย มันไม่ได้ เขาเรียก กี-ต้า กันทั้งประเทศ ภาษาอังกฤษจะเรียก ตา ต่า ต้า ต๊า ต๋า ก็แล้วแต่ แต่ภาษาไทยไม่เปลี่ยน
กรณีที่เป็นข่าว ในเมื่อภาษาเป็นของคนทั้งชาติ ก่อนที่ราชบัณฑิตจะกำหนดกฎกติกาได้ ต้องทำประชามติกันเลยหรือเปล่า
คือควรจะให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าเขาจะใช้ยังไง ออกเสียงยังไง สำหรับการเขียนนี่อาจจะมีหลักของราชบัณฑิตได้ เช่น อันนี้เอามาจากบาลีสันสกฤต เขาใช้ ศ ส ษ ยังไง คือถ้าเสียงมันไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ตามนั้น แต่ถ้าหากว่าคำว่า ศาสนา ต้นเดิมเป็นแบบนี้ คุณจะไปเขียน สาสนา ก็บอกได้ว่า เออ…อันนี้มันไม่ถูกต้อง
เขาก็ท้วงด้วยวิธีการต่างๆ อย่างคำว่า เพ็ชร นั่นน่ะถูกแล้ว ราชบัณฑิตไปแก้ให้ผิด เขาใช้ไม้ไต่คู้ทั้งนั้น คนชื่อเพชร สมัยก่อนเขาก็เขียน เพ็ชร กันทั้งนั้น แต่ราชบัณฑิตบอกว่าภาษาบาลีไม่มีไม้ไต่คู้ เลยไม่ใส่ มันก็เป็นตัวอย่างของการผิดมาแล้ว แล้วก็จะยังซ้ำตัวอย่างผิดเหมือนเดิมอีก
เ-น-ต-ร อ่านว่า เนด แปลว่าตาใช่มั้ยคะ แต่ เ-ม-ต-ร อ่านว่า เม้ด แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ก็มันอ่านว่า เมด ถ้าจะอ่าน เม้ด ก็ใส่ไม้โทก็จบ มันก็เป็น เม้ตร แล้วคำนี้มันก็ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษ มันมาจากภาษาฝรั่งเศส ‘แมตร’ (Mètre) ซึ่งเราไม่ได้ออกตามฝรั่งเศสด้วยซ้ำ เราออกตามภาษาไทยนี่แหละ
ถือว่าเป็นการขัดแย้งกันเองภายในราชบัณฑิตหรือเปล่า
ใช่ จริงๆ ก็คือภายในราชบัณฑิตนี่แหละ ดิฉันกลัวราชบัณฑิตจะทำไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่มันผิดก็ต้องแก้ให้มันถูก ไม่อย่างนั้นมันก็ผิดกันไปทั้งประเทศ
บางทีสังคมอาจจะไม่ได้อ่านคำอธิบาย หรือฟังอาจารย์อธิบายโดยละเอียด?
ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจ เคยชินเท่านั้น ดิฉันก็เสนอว่าทุกคำมันเขียนให้ถูกต้องได้ ทำไมไม่เขียน
บทบาทที่แท้จริงของราชบัณฑิตคืออะไร
ราชบัณฑิตมีหน้าที่รักษาภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางเสื่อม และส่งเสริมภาษาไทยให้โดดเด่น ก็มีความหมายตรงตัวเลยว่า ถ้าเกิดเรายังเขียนอย่างนี้มันจะเปลี่ยนไปในทางเสื่อมแน่นอน เพราะมันไม่มีระบบชัดเจน แต่เขาก็ยังยืนยันว่าเขียนมาตั้งแต่สมัยพระองค์วรรณ ท่านเขียนอย่างนี้เราก็ต้องเขียนอย่างนี้
ภาษามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องไปกับสังคม คำที่เรารับมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่าง Pipe โบราณเรียก แป๊ป แปลว่าท่อ เพราะออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ แล้วพอตอนหลังคนสูบ Pipe เราออกเสียงยังไง ไป๊ เพราะออกเสียง ไอ มากกว่า ไม่ใช่ แอ แค่คำเดียวก็เป็นอย่างนี้ มันอยู่ที่ว่าเราชิน เราได้รับมาแค่ไหน เรารู้แค่ไหน ก็แค่นั้นแหละ อย่างสมัยก่อนเราเรียก ไอติม เดี๋ยวนี้เราเรียก ไอศกรีม พอเป็นภาษาไทยบอกว่าไอติมไม่ใช่คำภาษาอังกฤษใช่มั้ย…ก็ใช่ มันออกเสียงผิดใช่มั้ย…ก็ใช่ ก็ของเราจะเรียกว่าไอติมอย่างนี้ ใครจะว่าอะไร
ถ้ามองว่าภาษาเป็นเรื่องของการดิ้นได้ ก็คงไม่ผิดนัก?
ภาษามันต้องเปลี่ยนไปตามสังคม สมมุติแต่ก่อนเราเรียกคู่รักเป็น ชิ้น ต่อมาก็เป็น คู่รัก แล้วก็มาเป็น แฟน แล้วก็มาเป็น กิ๊ก มันก็เปลี่ยนไปแล้วแต่จะเรียกอะไรก็ได้ ต่อไปอาจจะไม่ได้เรียก กิ๊ก อาจจะเรียกอะไรอย่างอื่น แล้วคำที่เรียกเดิมความหมายมันถูกต้องตรงตามนั้นหรือเปล่า…ก็ไม่ใช่ อย่างคำว่า ‘ชู้’ แต่ก่อนนี่น่ากลัวมากเลย เดี๋ยวนี้ก็ไม่เห็นเสียหาย เขาก็มีชู้ทางใจกันได้
ภาษาต้องเปลี่ยนไปตามสังคม เพราะไม่ใช่ภาษาตาย ถ้าหากสังคมเราตายแล้วก็เรื่องหนึ่ง แต่สังคมเรายังมีชีวิตอยู่ เรารับสิ่งใหม่ เรามีคนใหม่ เรามีความคิดใหม่ คำทั้งหลายมันไม่อยู่คงที่ มันเปลี่ยน แต่เราก็ต้องรักษาไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนเร็วเกินไป เปลี่ยนยังไงให้มันถูกต้อง เปลี่ยนยังไงให้มันมีหลักเกณฑ์ ถ้าเปลี่ยนแบบไม่มีหลักเกณฑ์มันจะทำให้ภาษาเสียมากกว่าดี วิบัติหรือพัฒนามันมองได้ทั้งสองแง่ ภาษามันเปลี่ยนจะเปลี่ยนแบบวิบัติก็ได้ อย่าง เมพขิงๆ อะไรอย่างนี้เราก็บอกว่ามันเปลี่ยนวิบัติล่ะ หรือ จุงเบย มันเปลี่ยนวิบัติ ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เราก็ไม่ต้องรับ แต่ว่าถ้าบางอันเปลี่ยนแล้วเกิดศัพท์ใหม่ มีพัฒนาการเยอะแยะ อย่าง โลกาภิวัตน์ สังคมออนไลน์ มันก็มีคำเกิดใหม่ขึ้นเยอะแยะ มันก็เป็นพัฒนาการของภาษา ไม่ใช่ว่าจะต้องคงที่เหมือนเดิม
คำใหม่ๆ ประเภท ‘จุงเบย’ เป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตต้องตามเก็บด้วยหรือเปล่า
ถ้าเราไม่สนใจจริงๆ อีกหน่อยก็หายไป ดิฉันทำอยู่นะคะ ที่เรียกว่า พจนานุกรมคำใหม่ คือดิฉันรู้สึกว่าภาษามันเปลี่ยนตลอด ทีนี้เมื่อมีคำใหม่เกิดขึ้น หรือคำเก่าใช้ความหมายใหม่ หรือคำเก่าใช้ในที่ใหม่ เราต้องเก็บบันทึกเอาไว้ ให้รู้ว่าช่วงนี้มันมีคำนี้นะ แต่คำนี้จะอยู่ต่อไปมั้ย…ก็ยังไม่ทราบ มันอาจจะเป็นคำสแลงเท่านั้น อีกหน่อย
คนอาจจะเลิกใช้ก็ได้ หรือจะเป็นคำที่อยู่ในภาษาต่อไปก็ได้ เหมือนอย่างคำว่า เชย สมัยก่อนก็เป็นสแลง เปิ๊ดสะก๊าด ก็เป็นสแลง เวลานี้คนก็ไม่พูด อาจจะมีคนเอามาใช้บ้าง แต่คำว่า ‘เชย’ อยู่แน่ คำว่า ‘ทึ่ง’ อยู่แน่ เพราะฉะนั้นมันบอกไม่ได้ว่าต่อไปจะเป็นยังไง แต่ในฐานะที่เราเป็นนักภาษาเรามีหน้าที่บันทึกเก็บเอาไว้ เหมือนยามภาษาน่ะ ว่ามันมีอย่างนี้เกิดขึ้นนะ ตรงนี้มันเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่เก็บ ต่อไปเราก็แปลไม่ออก สมมุติ ‘กิ๊ก’ อีกหน่อยจะรู้ได้ยังไงว่ามันแปลว่าอะไร หมายถึงเสียงหรืออะไรก็แปลไม่ได้
ในราชบัณฑิตมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบศัพท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยใช่ไหม
มีค่ะ เขาก็บัญญัติ จะเรียกบัญญัติก็ไม่เชิง คล้ายๆ แปลคำภาษาอังกฤษมา อย่างคำว่า ออนไลน์ ควรจะเรียกว่าอะไร ซอฟต์แวร์ ควรจะเรียกว่าอะไร พิมพ์มาเป็นเล่ม มีทุกสาขาวิชา แต่มันก็ไม่ได้ใช้ได้ทุกคำ บางคำมันก็เฉยๆ แปลกๆ อย่างคำว่า Sex Appeal เขาแปลว่า วอนเพศรส (หัวเราะ) ก็คือศัพท์บัญญัติ มันก็ไม่เลวนะคะ ก็ได้ความหมาย แต่ถ้าคนไม่ชอบ ไม่ใช้กัน มันก็หายไป
มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องบัญญัติศัพท์ต่างประเทศให้เป็นคำไทยทุกคำ
ไม่จำเป็น มันแล้วแต่ว่าสังคมจะใช้อันไหน อย่างคำว่า ซอฟต์แวร์ จะบัญญัติอะไรมาแทนมันก็ไม่สะดวกที่จะใช้ ก็ใช้ ซอฟต์แวร์ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเอามาใช้แล้วเราเขียนให้มันอ่านออกเสียงเป็น ซ้อบ-แว มั้ย ไม่ใช่เขียนให้อ่านเป็น ซอบ-แว ดิฉันคิดว่า ถ้ารับมาเป็นคำภาษาไทยแล้วก็คือคำภาษาไทย จะยืมมาก็ยืม ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะทุกภาษาก็ยืมกันมา
อาจารย์เป็นห่วงคนไทยที่ไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษด้วยใช่ไหม
ใช่ ตัวอย่างคือ เด็กๆ เวลานี้มีเด็กต่างชาติมาเรียนภาษาไทยเยอะมาก เขาก็บอกว่า ทำไมภาษาไทยถึงไม่มีระเบียบอะไรเลย สอนให้เขาผันวรรณยุกต์ สอนคำเป็นคำตาย เสร็จแล้วพอเขาอ่านทีไรผิดทุกที เขาบอกว่าทำไมไม่อ่านตามที่เขียน ทั้งๆ ที่บอกว่าภาษาเราเป็นภาษาแทนเสียง เขียนยังไงก็ผสมตัวอย่างนั้น คือไม่ได้เป็นคำๆ เหมือนภาษาอังกฤษ อย่างภาษาอังกฤษ ตัว O เขาก็ไม่ได้เป็น โอ เสมอไป แล้วแต่ไปอยู่คำไหนก็ว่าไป มันคนละระบบกับของเรา แล้วเขาก็ไปแยกกันเป็นคำๆ วิธีเขียนก็ไม่เหมือนกัน ภาษาจีนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ก็คนละกลุ่ม แต่ระบบของเราคือเอาตัวทั้งหลายมาผสม
การนำวรรณยุกต์มาใช้ในภาษาไทย เราได้รับอิทธิพลจากใครมาหรือเปล่า
เป็นของไทยเองมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงเลย มันเป็นของเรา เป็นเอกลักษณ์ของเรา ภาษาใดมีวรรณยุกต์ก็จะใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์เพื่อที่จะบอก เหมือนอย่างเวียดนามเขาก็มีเครื่องหมายบอกว่าคำไหนเสียงเป็นยังไง ลาวก็มีเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นจะออกเสียงถูกต้องได้ยังไง
มันเป็นส่วนที่ทำให้ภาษาทั้งสวยงามและยากไปในตัวใช่ไหม
ก็ไม่เชิงยากนะ เพราะภาษาของใครก็ของมัน คือภาษาของเราเราก็เรียนมาตั้งแต่เกิด ก็ใช้อย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่เราต้องรับรู้มา เหมือนอย่างภาษาอังกฤษเขาจะมีเสียงก้องเสียงไม่ก้องใช่มั้ยคะ อย่างเสียง S กับ Z เราไม่มี เราก็ไม่ต้องคำนึง ใครจะพูด ซู่ซ่า ยังไงมันก็คือคำเดียว แต่ในภาษาอังกฤษไม่ได้ มันจะเป็นคนละความหมาย คนชื่อ Sue กับ Zoo มันก็ออกเสียงคนละอย่าง
คือมันไม่ใช่เรื่องยาก มันเป็นการเรียนรู้ในวัฒนธรรม ในสังคมนั้นๆ เราก็เรียนมาตั้งแต่เกิดน่ะ
อาจารย์คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่าภาษาไทยไม่ใช่ของแท้ เพราะเกิดจากการผสมผสานหลายๆ ภาษาเข้าด้วยกัน
ก็มีส่วน เฉพาะไทย-สยาม เราเป็นชาติที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติเยอะ เรารับบาลีสันสกฤต เรารับชวา เรารับมลายู เรารับภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกส เรารับหมดล่ะค่ะ คือเป็นคนใจกว้าง ชอบต่างชาติหรือยังไงไม่ทราบ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราจึงเอาคำภาษาอื่นมาใช้ในภาษาไทยเยอะแยะ แต่เมื่อมาใช้แล้ว มันต้องเป็นภาษาไทย เราไม่ได้เปลี่ยนตามเขา อย่างคำว่า ฟุต ในภาษาอังกฤษ เขาใช้ 1 ฟุต (Foot) 2 ฟีต (Feet) แต่ภาษาไทยเรา 50 ฟุต 100 ฟุต ก็ใช้ ‘ฟุต’ เพราะภาษาไทยไม่ต้องเปลี่ยนการแสดงพจน์ เราก็ไม่ต้องเปลี่ยน ของเขามี I go today กับ They went yesterday ต้องเปลี่ยน tense ของเราไม่ต้องเปลี่ยน วันนี้ก็ไป เมื่อวานก็ไป พรุ่งนี้ก็ไป
ในเมื่อเรารับคำภาษาอื่นเขามาก็รับแต่คำมา แล้วเราก็ออกเสียงเหมือนภาษาไทย เราไม่ต้องออกเสียงเหมือนบาลีสันสกฤต ไม่ได้ออกเสียงเหมือนภาษาอังกฤษ ไม่ได้ออกเสียงเหมือนกับเขา ออกเสียงเป็นภาษาไทย เขียนเป็นภาษาไทย ใช้เป็นภาษาไทย
ในฐานะที่อาจารย์เชี่ยวชาญภาษาเขมรด้วย ภาษาไทยก็มาจากเขมรเยอะเหมือนกันใช่ไหม
มีเป็นร้อยคำเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าคนไทยชอบอะไรแปลกๆ บางทีก็ไม่อยากใช้ภาษาของเราเอง ใช้ภาษาอื่นแปลกดี โก้ดี หรือยังไงก็ไม่ทราบ แต่ก็มีคำเขมรมาใช้เยอะ
โดยออกเสียงเหมือนเลยใช่ไหมครับ
ไม่เหมือน คืออย่างนี้ค่ะ ไทยกับเขมรใช้ตัวอักษรระบบเดียวกัน แต่ของเรามีมากกว่า เพราะพ่อขุนรามคำแหงคิดตัวอักษรเพิ่มหลายตัวที่เป็นของไทยแท้ๆ เดิมทีเป็นตัวอักษรที่มาจากอินเดีย เทวนาครี เขมรก็เอามาจากเทวนาครีเหมือนกัน แต่เขมรไม่มีวรรณยุกต์ มี ก ข เหมือนกัน แต่การออกเสียงไม่เหมือนกัน
อย่างคำว่า เสด็จ เราใช้คำไทยว่า สะ-เด็ด เขมรออก สะ-แด็ด แล้วเขาก็ไม่ออกเสียงชัดอย่างนี้ ของเรา ส กับ ด ควบกันไม่ได้ ต้องใส่สระอะแทรก แต่ของเขาควบได้
แต่อย่างบางคำ เช่น ปัญญาชน ปฏิวัติ นี่ออกเสียงเหมือนเลย?
ก็มีหลายคำที่เหมือนกัน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คือศัพท์วิชาการสูงๆ จะเหมือนกันเยอะมากเลย
อย่างคำว่า สวัสดี ที่ของเขาเป็น ‘ซัวซเด็ย’ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาษาของเขา ซัว แปลว่าฐาน ซเด็ย แปลว่าพูด เราก็เชื่อ
ไม่ค่อยได้ ไม่รู้เอามาจาก สวัสดี ของเราหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ยืมกันไปยืมกันมาเยอะ เราก็ยืมเขาเยอะ เขาก็ยืมเราเยอะ อย่างราชาศัพท์นี่เรายืมเขามานะ บรรทม เสด็จ สมเด็จ เสวย ที่เขาเอาของเราไปก็อย่างจำนวนนับ ตั้งแต่ 30 เพราะของเขา 1-29 ยังเป็นเขมรอยู่ แต่พอขึ้น ซับห้า ซับหก ซับเจ็ด ไปหมดเลยไปถึงหมื่นแสนล้าน ก็ยืมกันไปมา คนเราอยู่ด้วยกัน อย่าไปคิดอะไรมาก
อย่างการออกเสียงควบ ร จริงๆ ของไทยไม่ค่อยมี แต่เป็นการยืมมาจากเขมร จริงหรือเปล่า
ที่จริงมันมีนะคะ เรามี บางถิ่นมี บางถิ่นก็ไม่มี บางถิ่นออกเสียงควบก็มี แต่ทีนี้เราก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า เดิมคำที่ควบ ร อาจจะมีน้อย แต่พอเรามารับคำบาลีสันสกฤตเข้าก็อาจจะคิดว่ามันเก๋ดีนะมีเสียงควบด้วย เราเลยเติมควบไปเยอะ แต่ความสามารถในการออกเสียงมันออกได้นะคะ แล้วยิ่งเราไปทางใต้ เขาออกเสียง ร ได้ชัดเจน แต่ถ้าเราไม่ระวัง ออกเสียงไม่ชัด นานๆ เข้ามันก็จะหายไปได้ เพราะมันเป็นเสียงที่ออกยาก อย่างในลาวมันหายไปเลย คำก็จะหายไป
คำเฉพาะที่มี ร ประกอบแต่ไม่ออกเสียง อย่าง ‘จริง’ แม้เสียงจะไม่ใช่ก็ยังต้องมี ร ต่อไปใช่ไหม
จริงๆ อันนี้มันเป็นเรื่องประวัติของคำนะคะ คือ บางถิ่นออกเสียงว่า จิง อีกถิ่นหนึ่งออกเสียงว่า ริง ก็เลยมารวมเขียนไว้ว่า จริง แต่ไม่ออกเสียงไงคะ จริงๆ คำเหล่านี้หลายคำก็กำหนดไว้ไม่ถูกเหมือนกัน เราใช้ไปตามความเคยชินทั้งนั้น อย่างคำว่า สร้าง ไม่จำเป็นต้องมี ร แต่เราก็เขียนอย่างนี้จนชินแล้ว พอเขียนเป็นความเคยชินแล้วเราก็ไม่ไปแก้ เพราะว่ามันก็อ่านได้
วิธีการอธิบายของเราคือมันมีคำอยู่กลุ่มหนึ่ง ดิฉันเรียกของดิฉันเองว่า ‘ร ใบ้’ คือเป็นตัวใบ้แทรกไว้เฉยๆ มี จริง สร้าง ทรง เศร้า มันมีจำนวนมากพอ เป็นกลุ่มหนึ่ง แล้วมันมีเพื่อน เราก็จัดเป็นกลุ่มไว้ว่า เอาล่ะ ถึงมันจะไม่ได้ออกเสียงเหมือนตัวเขียน แต่มันก็มีพรรคพวกที่เราจะเอาไว้อ้างเป็นแนวเทียบได้
การปรับภาษาตอนยุคจอมพล ป. ที่เรียกกันว่าภาษาวิบัติ ส่งผลกระทบกับภาษาไทยอย่างไร
มันเป็นความจำเป็นทางการเมือง คือการเขียนอย่างนั้นก็ง่าย อ่านง่ายเขียนง่าย ขณะเดียวกันมันไม่ทำให้ทราบที่มาของคำ แล้วก็ทำให้บางคำที่มาจากคนละที่เขียนเหมือนกันไปหมด มันก็ไม่เข้าใจ อย่าง รัฐ ที่แปลว่าประเทศ กับ รัด ที่เป็นกริยา พอเขียนเหมือนกันหมดมันจะงง
สมัยนั้นมีราชบัณฑิตแล้วหรือยัง
มี แต่ว่าถูกการเมืองบังคับ เขาบังคับว่าให้แก้ตัวเขียนให้ง่าย ถ้าไม่ง่ายเราจะต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเขามีอำนาจคุมอยู่ เราก็เลี่ยงว่าไม่ยากแล้ว…ง่ายแล้วเห็นมั้ย เหลือไม่กี่ตัว ตัวไหนยากๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็ตัดมันทิ้งมันไปก่อน เอาเฉพาะง่ายๆ ไว้ แล้วก็บอกญี่ปุ่นว่า ง่ายแล้ว ไม่มีอะไรยาก ญี่ปุ่นก็ยอม เผอิญหลังจากนั้นไม่นานญี่ปุ่นแพ้ มันก็เป็นกุศโลบายอันหนึ่ง ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่เขาไม่ได้อยากทำ แต่ว่ามันมีความจำเป็น มันก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์
ช่วงนั้นมีการทอนชนชั้นทางภาษาลงด้วยใช่ไหม เช่น ฉัน กับ คุณ
ใช่ เพื่อไม่ให้มันยุ่งยาก เพราะภาษาไทยเรามีสรรพนามเยอะ เอาแค่ ฉัน เธอ คำก็ง่ายลง ไม่ให้รู้สึกว่ามันมีความยุ่งยาก เพราะภาษาเป็นเรื่องใหญ่ ภาษาเป็นวัฒนธรรมซึ่งสร้างชาติได้ และญี่ปุ่นเขารู้ เขาก็พยายามจะกลืนเรา ให้รับอะไรที่เป็นญี่ปุ่นให้มากๆ เราก็ต้องหาทางประคับประคองรักษาตัวเราให้รอด ก็อาจจะยอมเท่าที่จะยอมได้
ตอนนั้นอาจารย์ทันไหมครับ
ทัน (หัวเราะ) เกิดปี 2480 ค่ะ ยังหนีสงครามอยู่ ต้องวิ่งหนีเสียงหวอ ตอนกลางคืนเสียงหวอดัง ก็ต้องลุกขึ้นเดินเข้าสวน เราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องนะ แต่เขาบอกว่าถ้าอยู่บนบ้านตอนเขาทิ้งระเบิดมันจะไม่รอด ก็ต้องไปอยู่ตามสวน คือคิดว่าต้นไม้มันจะบังได้ บางทีเอาใบตองมาบังหัว กลัวเขาจะมองเห็น (หัวเราะ) คือบ้านอยู่ใกล้กรมอู่ทหารเรือ แต่เราก็แคล้วคลาดมาได้ ตอนนั้นที่โดนคือแถวสะพานพุทธ กับบางกอกน้อย ที่มีเรื่อง คู่กรรม เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นสถานีรถไฟ
ตอนญี่ปุ่นเข้ามาเขาบังคับให้เราเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือเปล่า
เรียน ต้องเรียนค่ะ คือผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องติดต่อกันเป็นภาษาญี่ปุ่น ในสังคมทั่วไปเราไปไหนก็ อาริกาโตะ บันไซ พูดกันค่ะ มีติดต่อกันบ้าง บางทีเขาก็มาเดินซื้อข้าวซื้อของ
ถ้าอย่างนั้นเขาก็ต้องเรียนภาษาไทยด้วย?
รู้สึกว่าคงมีล่าม แล้วก่อนเริ่มสงคราม ญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเยอะ เข้ามาเป็นหมอ ตั้งร้านขายยา เหมือนคนธรรมดา พอกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาปุ๊บ รุ่งขึ้นเขาก็แต่งตัวเป็นทหารเลย คนพวกนี้
เขาก็เรียนภาษาไทย มีภรรยาเป็นคนไทย ก็เป็นล่ามให้เขาได้
ตอนที่ชาวต่างชาติเรียนภาษาไทย ขั้นตอนไหนยากที่สุด
วรรณยุกต์ค่ะ คือภาษาที่เขาไม่มีวรรณยุกต์จะมาเรียนวรรณยุกต์เรายาก ภาษาที่มีวรรณยุกต์ ก็เรียนวรรณยุกต์ยาก เหมือนของเราวรรณยุกต์ 5 เสียง ถ้าไปเรียนวรรณยุกต์ในภาษาเวียดนามก็เรียนยาก รู้สึกของเขาจะมี 6 เสียง ภาษารัสเซียก็มีระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ยาก คือต้องใช้การฝึกฝน ใช้ทักษะมาก กว่าจะเข้าใจกันดี
ทุกวันนี้บางคนพูดไทยคำอังกฤษคำจนเป็นปกติไปแล้ว อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ก็เป็นห่วง มันไม่ใช่เพียงแต่พูดภาษาอังกฤษได้ หนึ่ง คนไทยพูดภาษาไทยปนอังกฤษ ออกเสียงคำภาษาอังกฤษผิดเพี้ยน คือไม่ได้ใช้อังกฤษแบบอังกฤษ มันเป็นอังกฤษสำเนียงไทย แล้วคำภาษาไทยเองก็ออกเพี้ยนๆ เป็นสำเนียงอังกฤษ ฉะนั้นมันก็ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ถ้าจะพูดภาษาไทยก็ควรจะพูดภาษาไทยให้ชัด ถูกต้องตามจังหวะ ตามเสียงควบกล้ำ ตัวสะกด การันต์ ตามเสียงวรรณยุกต์ เมื่อใช้ภาษาอังกฤษก็ออกเสียงให้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วระบบไวยากรณ์ของเขากับของเราก็ไม่เหมือนกัน ต่างกันเยอะ ไวยากรณ์อังกฤษต้องเรียน ต้องใช้ให้ถูก เขามี tense มีเพศ พจน์ อะไรตั้งหลายอย่าง โครงสร้างของเขาไม่เหมือนของเรา เราต้องเรียนให้รู้ แล้วก็ใช้ให้ถูก ออกเสียงให้ได้
หรือเป็นเพราะเราจิตใจดีชอบรับภาษาประเทศอื่น?
รับมาแบบไม่เอาจริงเอาจัง คือเวลาเรียนก็ไม่เรียนจริงจัง เรียนอะไรก็ไม่ทราบ แล้วเวลานี้ให้ครูสอนภาษาอังกฤษกับเด็กประถม เราบอก ตายแล้ว ครูน่ะ…รู้แค่ไหน เหมือนที่เขาเล่ากันว่า มีครู ป.1 ให้อ่าน The ว่า ทะ-ฮี เด็กบอกว่าพี่ให้อ่าน เดอะ ครูถามพี่อยู่ ป. อะไร พี่อยู่ ป.2 งั้นขึ้น ป.2 ค่อยอ่านเดอะ อันนี้เป็นโจ๊กนะคะ แล้วก็มี โซเมตติเมส คือ Sometimes (หัวเราะ) มันได้ยังไง ครูบางคนเองก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แล้วยังไปสอนที่ผิดๆ ตั้งแต่ต้นอีก เด็กก็ยิ่งแย่
แนวโน้มจะยิ่งวิบัติไปมากกว่านี้หรือเปล่า โดยเฉพาะตอนที่เราต้องเรียนภาษาอื่นเพิ่มไปด้วย
ยิ่งแย่ลง ผลการเรียนเห็นชัดเลยว่าเด็กเราอ่อนลง เวลานี้หลายโรงเรียนเรียนทั้งไทย จีน อังกฤษ หลายภาษาเลย จริงๆ รู้มากน่ะดี เรียนหลายภาษาก็ไม่เป็นปัญหา แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละภาษามีลักษณะเฉพาะของตัว แล้วต้องเข้าใจภาษานั้นให้ถูกต้องจริงๆ ถ้าเรียนอย่างครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้ลำบาก ต่อไปเด็กไทยจะเป็นตัวตลก พูดอะไรก็ผิดๆ ถูกๆ เราก็อายเขาใช่มั้ยคะ
การถอดคำภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ชื่อคน ชื่อเฉพาะ มีหลักอย่างไร
อันนี้ก็มีระบบเหมือนกัน เมื่อสองสามวันก่อนเพิ่งมีคนมาถามว่า ทำไมสนามบินของเราไม่เขียน สุวรรณภูมิ ไปเขียน สุวรรณบูมิ (Suwannabhumi) แล้วเขาก็หาไม่เจอ (หัวเราะ) จริงๆ เราก็รักษาอะไรอยู่ก็ไม่ทราบ ทำให้เขาไม่รู้เรื่อง มันก็สื่อกันไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าภาษาเป็นเรื่องของการสื่อสาร เพื่อให้เข้าใจกัน แต่ถ้าใช้อย่างนี้มันไม่เข้าใจ
ชื่อคนก็เหมือนกัน อย่าง คุณอาภัสรา (หงสกุล) เวลาฝรั่งเรียก มิสอาภัสรา หงสกุลา (Apasra Hongsakula) คุณอาภัสราก็ไม่รู้เรื่องว่าเรียกตัวเอง
เวลาเราถอดชื่อคนภาษาอังกฤษมาเป็นไทย มีหลักการอะไรไหมครับ
(หยิบรูปและนามบัตร) ให้ดูชื่อเลย คนนี้ค่ะ คริสตี้ กิ๊บสัน
เขาไม่ได้อ่าน กิ๊บ-สั้น?
เขาไม่สั้น เขาบอกของเขากิ๊บสันเลย กิ๊บ ใช้ไม้ตรี คริสตี้ ใช้ไม้โท พอเห็นแล้วเราก็บอก ดี…ใช้ได้เลย ตรงแล้ว เขาบอกเขาเป็นคนไทย เขาเขียนชื่อภาษาไทยของเขาอย่างนี้แหละ
อาจารย์เคยอ่านงานของคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไหมครับ แบบนั้นเรียกภาษาอะไร
เป็นภาษาประดิษฐ์ เขาเป็นนักประพันธ์ไงคะ เขามีความสามารถที่จะประดิษฐ์ภาษาให้เกิดความรู้สึก ให้เกิดความประทับใจ ให้เกิดความแปลกใหม่ นักประพันธ์หรือกวีทั้งหลายต้องคิดภาษาเหล่านี้ทั้งนั้นค่ะ
แล้วภาษาของคุณ ’รงค์ ที่ถอดมาจากภาษาอังกฤษเอง เช่น พาร์ตี แพรีส?
ก็เป็นความเข้าใจของคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เอง ก็ใช้ได้ค่ะ อย่างน้อยก็คิดว่าควรจะเป็นอย่างนี้ตามความเห็นของท่าน แต่ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยนี่อีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเขามีจุดยืน มีลักษณะว่าต้องการจะเผยแพร่อย่างนี้นะ
มันมีคำหนึ่ง เขาเรียกว่า ‘อหังการ์ของกวี’ เคยได้ยินมั้ยคะ มันเป็นสิ่งที่บอกว่าคนที่เป็นกวี เป็นนักประพันธ์ จะมีความเป็นตัวของตัวเอง เขาก็จะสร้างอะไรที่เป็นจุดเด่นของเขา เพราะฉะนั้นคำอะไรที่มันประหลาดๆ สำนวนสวิงสวายหรือคำคม ที่มันไม่เหมือนกับภาษาของคนอื่นที่เขาใช้กันทั่วไป แล้วคนอื่นก็จะบอกว่า โอ้…ดีนะ ทันสมัยดีนะ มีเสียงดีนะ มันก็เกิดขึ้นไปได้เรื่อยๆ ที่เราใช้ภาษา สำนวน คำคม สุภาษิตอะไร ก็ท่านเหล่านี้แหละคิดขึ้นมา
ถ้ามีคนอย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เกิดขึ้นอีกตอนนี้ราชบัณฑิตจะเต้นไหมครับ
ไม่เต้น โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนาไม่เต้นแน่ (หัวเราะ) เราต้องเข้าใจว่าภาษามันมีชีวิต ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ เราจะปล่อยให้มันตายอยู่อย่างนั้นมันไม่ใช่หน้าที่ของภาษา ภาษามันต้องมีชีวิตที่ทำให้สังคมหมุนเวียนเปลี่ยนไป พัฒนาไป มีความเจริญความก้าวหน้า อะไรที่มันไม่ดี มันก็อยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวมันก็หายไปเอง คนก็ไม่อยากพูดถึง
คือมันไม่มีอะไรแพ้อะไรชนะ มันอยู่ที่ว่าคนรับกันได้แค่ไหน คนที่พูดไม่เหมือนคนอื่นว่าฉันจะออกเสียงอย่างนี้ ใครจะทำไม มันไม่ได้มีใครไปปรับหรือไปลงโทษจับเข้าคุกหรอกค่ะ
เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY#57
ธันวาคม 2555