‘ราชบัณฑิตยสภา’ จากผู้กำหนดกติกา สู่จำเลยภาษาไทย

อาจารย์​คน​เดียว​กับ​ที่​เคย​เป็น​พิธีกร​สอน​ภาษา​ไทย​ใน​รายการ​ทีวี​ระดับ​คลาส​สิก​เมื่อ​ราว 30 ปี​ก่อน ‘ภาษา​ไทย​วัน​ละ​คำ’ ออก​สู่​หน้า​สื่อ​อีก​ครั้ง เมื่อ​มี​ข่าว​ว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ออก​มา​เป็น​แม่งาน​เสนอ​การ​แก้ไข​ปรับปรุง​คำ​ยืม​ภาษา​อังกฤษ 176 คำ ให้​เขียน​ตรง​ตาม​การ​ออก​เสียง

เป็นต้นว่า ไนต์คลับ ให้​เขียน​เป็น ไน้ต์​ขลับ คาร์บอเนต ให้​เขียน​เป็น คาร์​บอ​เหนต  คาทอลิก ให้​เขียน​เป็น คา​ทอ​หลิก ยีราฟ ให้​เขียน​เป็น ยี​ร้า​ฟ

หลาย​คน​อาจ​บอก​ว่า​มัน​เป็นการ​เขียน​ที่​พิสดาร​เกิน​ไป

ถึง​ครั้ง​นี้​จะ​เป็นการ​กระทำ​เชิง ‘ก้าวหน้า’ ของ​คนใน​ราชบัณฑิต-สถาบัน​ทรง​อำนาจ​ทาง​ภาษา​อ่าน​เขียน​ของ​สยาม​ประเทศ ที่​พยายาม​จะ​เปลี่ยน​รูป​แบบ​เก่า​แก่​ที่​ถูก​กำหนด​ด้วย​ราช​บัณฑิต​เอง แต่​สิ่ง​ที่​อาจารย์​กาญจนา​ได้​รับ​กลับ​ไม่ใช่​ดอกไม้ 

ด้วย​เสียง​บ่น​ก่น​ด่า​ที่​ถาโถม ประหนึ่ง​หลาย​มือ​ประเคน​ก้อน​อิฐ​มา​ให้ ด้วย​เหตุผล​ว่า ความ​พยายาม​เปลี่ยนแปลง​ความ​เคยชิน​ทาง​ภาษา​ครั้ง​นี้​ช่าง​ไร้​สาระ และ​พิลึกพิลั่น​เกิน​กว่า​ใคร​จะ​ปรับ​ตัว​ให้​เขียน​ตาม​ได้ ทำให้​ไม่​กี่​วัน​หลัง​จาก​นั้น ราช​บัณฑิต​ผู้​นี้​ต้อง​ยอม​ถอย​ไป​หลาย​ก้าว 

แม้​แนวทาง​ที่​อาจารย์​กาญจนา​นำ​เสนอ จะ​เป็น​สิ่ง​ที่ ‘ถูก​ต้อง’ ตาม​อักขรวิธี​ก็ตาม

ไม่​ว่า​ตอน​สมัย​เรียน​เรา​จะ​นั่ง​หลัง​ห้อง กลาง​ห้อง หน้า​ห้อง จะ​รำคาญ​คำ​พร่ำ​บ่น​ของ​ครู​อาจารย์​ใน​ชุด​ผ้า​ไหม​หรือ​เปล่า การ​เลือก​จะ​เชื่อ​ใคร​สอน ฟัง​ใคร​สั่ง เป็น​สิทธิ์​ที่​มี​อยู่​เคียง​คู่​กับ​ความ​เสรี​ของ​โลก แต่​วิจารณญาณ​ก็​เป็น​เครื่อง​มือ​สำคัญ​สำหรับ​การ​เลือก​ที่​เชื่อ ไม่​เคย​มี​ใคร​กำหนด​ว่า​ต้อง​เชื่อ​ใน​สิ่ง​ที่​ฟัง และ​ให้​ฟัง​เฉพาะ​สิ่ง​ที่​เชื่อ เพราะ​นั่น​อาจ​จะ​ทำให้​โลก​แคบ​ลง​ไป​ถนัด​ตา 

คำ​กล่าว​ที่​ว่า ‘ไม่มี​ครูบา​อาจารย์​คน​ไหน​ไม่​หวัง​ดี​ต่อ​ศิษย์’ อาจ​จะ​ดู​โบ​ร่ำ​โบราณ แต่​เรา​ก็​ไม่​อาจ​หาเหตุ​ผล​ไป​คัด​ง้าง​หรือ​ลบล้าง​คำ​กล่าว​ที่​ดู​จะ​เป็น​จริง​นี้​ได้

ด้วย​วัย​พ้น​เกษียณ​อายุ​ราชการ​มา​แล้ว 15 ปี นายก​สมาคม​ครู​ภาษา​ไทย ราช​บัณฑิต​สำนัก​ศิลปกรรม ประเภท​วรรณศิลป์ สาขา​ภาษา​ไทย และ​ผู้​มี​จิต​วิญญาณ​ความ​เป็น​ครู อาจารย์​กาญจนา​เพียง​อยาก​จะ​กล่าว​สั่ง​สอน​ศิษย์​ว่า “อาจ​จะ​นอก​เรื่อง​ไป​บ้าง แต่​นี่​เป็น​ความ​รู้สึก​ของ​ครู​แก่ ครู​ที่​อยาก​ให้​เด็ก​ได้​รับ​สิ่ง​ที่​ดี”

ดัง​นั้น การ​เปิด​หู​เปิด​ใจ​ฟัง​ครู​บ้าง ก็​ไม่​น่า​จะ​เป็น​เรื่อง​เสีย​หาย

นอกจากงานราชบัณฑิตแล้ว อาจารย์ยังทำอะไรอีกบ้าง

ที่​ทำ​อยู่​คือ​เป็น​นายก​สมาคม​ครู​ภาษา​ไทย​แห่ง​ประเทศไทย​ค่ะ ดูแล​เรื่อง​การ​ช่วย​เหลือ​ครู อบรม​ให้​ความ​รู้ ถ้า​ครู​เขา​ต้องการ​ความ​รู้​ที่​จะ​ไป​สอน ทั้ง​ใน​เรื่อง​การ​สอน หลักสูตร​ใหม่ 

ปี​หน้า ก็​มี​ครู​ขอร้อง​มา​ว่า​อยาก​จะ​ให้​สอน​เรื่อง​การ​อ่าน​ทำนอง​เสนาะ เพราะ​เป็น​ลักษณะ​วิธี​การ​เรียน​ของ​เด็ก​ไทย​อย่าง​หนึ่ง และ​ทำนอง​เสนาะ​ก็​เป็นการ​อ่าน​ที่​เพราะ ที่​ทำให้​เกิด​ความ​เข้าใจ​วรรณคดี​ไทย 

ครู​บาง​คน​ก็​บอก​มา​ว่า ครู​เอง​ก็​อ่าน​ไม่​ได้ เลย​ต้องหา​ครู​ที่​จะ​สามารถ​เป็นต้น​แบบ ไป​อ่าน​ให้​ฟัง ไป​สอน​ให้​ฟัง แล้ว​ก็​จัด​ทำ​เทป​ไว้​ด้วย​ค่ะ คิด​ว่า​ประมาณ​ปลาย​ปี​การ​ศึกษา​นี้ เพราะ​ครู​จะ​เริ่ม​ว่าง​กัน​แล้ว เรา​ก็​จะ​จัด​อบรม เรา​ก็​มี​ครู​ที่​เสียง​ดีๆ อ่าน​ได้​เพ​ราะๆ หลาย​คน​ค่ะ

หมายความ​ว่า​ต้อง​เริ่ม​สอน​ครู​ก่อน​ใช่​ไหม

ค่ะ เรา​สอน​ครู​ที่​สนใจ เพื่อ​ให้​เขา​ไป​สอน​เด็ก เพราะ​เรา​ไม่มี​หน้าที่​สอน​เด็ก เรา​เป็น​สมาคม​ครู คือ​ให้​ครู​มา​รวม​กัน แล้ว​ก็​มา​ปรึกษา​หารือ​กัน​ว่า​มี​ปัญหา​อะไร​บ้าง​เวลา​สอน จะ​ทำ​อย่างไร​ให้​เด็ก​สนใจ​เวลา​สอน 

สมา​คมฯ ​ก็​จัด​อบรม​ใน​กรุงเทพฯ แต่​ก็​ออก​ต่าง​จังหวัด​ด้วย ไป​เชียงราย นครพนม ไป​อุ​ดรฯ ไป​ตรัง ไป​หลาย​แห่ง

คือ​สมา​คมฯ​ ต้อง​เป็น​ฝ่าย​ออก​ไป​เอง​จัดการ​เอง​หมด?

ใช่​ค่ะ เวลา​จัด​ที่​กรุงเทพฯ​ ก็​ดี​อย่าง​ตรง​ที่​ว่า ครู​จาก​ต่าง​จังหวัด​ได้​เข้า​มา​กรุงเทพฯ แต่​มัน​ต้อง​เสีย​เงิน​มาก เพราะ​เรา​ไม่ใช่​หน่วย​งาน​ของ​รัฐ ไม่มี​งบ​ประมาณ ครู​ที่​จะ​เข้า​มา​อบรม​ก็​ต้อง​มา​พัก​โรงแรม เสีย​ค่า​อบรม​ด้วย เพราะ​การ​อบรม​เรา​ก็​ต้อง​จัด​อาหาร จัด​สถาน​ที่ มี​ค่า​ใช้​จ่าย​ตรง​นี้ ถ้า​ไม่มี​ใคร​ช่วย ครู​ก็​ต้อง​ออก​เอง​ด้วย​ส่วน​หนึ่ง กรรมการ​ของ​สมา​คมฯ ​ก็​ช่วย​ด้วย​ส่วน​หนึ่ง 

ถ้า​อย่าง​นั้น​ตัว​สมา​คมฯ​ นี้​ก็​ไม่​ได้​มี​ใคร​สนับสนุน​จริงจัง?

ไม่มี จริงๆ ก็​ตั้ง​มา​โดยที่​ครู​สอน​ภาษา​ไทย​ทั้ง​หลาย​ช่วย​กัน​คิด ช่วย​กัน​ดู​ว่า เรา​จะ​ช่วย​ครู​อย่างไร เพราะ​บาง​ครั้ง​ครู​ก็​เกิด​ปัญหา​แล้ว​ครู​ก็​ไม่รู้​จะ​ไป​ถาม​ใคร เรา​เลย​ตั้ง​เป็น​ศูนย์กลาง​ขึ้น​เพื่อ​รับ​เรื่อง ครู​คน​ไหน​มี​ปัญหา​หรือ​ข้อ​สงสัย​อะไร​ก็​สอบถาม​เข้า​มา เรา​ก็​จะ​ช่วย​กัน​หา​ผู้​รู้​ที่​จะ​มา​ช่วย​ตอบ​ให้ ทั้ง​เรื่อง​หลักสูตร การ​จัดการ​เรียน​การ​สอน อุปกรณ์ คู่มือ เพราะ​ครู​แต่ละ​คน​ก็​มี​ความ​สามารถ​และ​ความ​รู้​ต่างๆ กัน 

ใน​แต่ละ​ปี เรา​จะ​จัด​อบรม​และ​สอบถาม​ความ​ต้องการ​ของ​ครู​ว่า​ต้องการ​ให้​อบรม​เรื่อง​อะไร เพราะครู​ที่​สอน​ชั้น​ประถม​ก็​ไม่​ได้​เรียน​ภาษา​ไทย​มา​เต็ม​ที่ หรือ​ไม่​เคย​เรียน​ภาษา​ไทย​เลย ไม่​ได้​จบ​เอก​ไทย ก็​ไม่​แน่​ว่า​จะ​สอน​ได้​ถูก​ต้อง​หรือ​เปล่า ครู​เขา​ขอร้อง​มา เรา​ก็​จัด​อบรม​ให้  

ปัญหา​ของ​ครู​ภาษา​ไทย​ใน​ชั้น​ประถม​และ​มัธยม​เท่า​ที่​อาจารย์​เคย​ทราบ​มา แตก​ต่าง​กัน​บ้าง​ไหม

มี​ปัญหา​ต่าง​กัน​มาก โดย​ครู​ประถม​ปัญหา​ส่วน​มาก​จะ​มา​จาก​ที่​เขา​ไม่​ได้​เรียน​ภาษา​ไทย​มา และ​ไม่​ทราบ​ว่า​จะ​สอน​อย่างไร​ถูก บาง​ครั้ง​โรงเรียน​ก็​ไม่​ได้​เลือก​หนังสือ​แบบ​ที่​ควร​จะ​เป็น เพราะ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ให้​สิทธิ์​โรงเรียน​เลือก​หนังสือ​เอง ดัง​นั้น​หลักสูตร​มัน​จะ​ไม่​เสมอ​กัน ก็​แล้ว​แต่​ครู​เลย ครู​บาง​คน​ก็​สอน​เรื่อง​การ​สะกด​การันต์ ครู​บาง​คน​บอก​ไม่รู้​จะ​สอน​อะไร​ก็​สอน​ให้​อ่าน​ไป​เรื่อยๆ 

เวลา​ที่​สอน​เด็ก​ประถม​ครู​ก็​ไม่​ค่อย​มี​เวลา เพราะ​ต้อง​ทำ​กิจกรรม​อะไร​ไม่​ทราบ​เยอะ​แยะ​ไป​หมด ไม่​ได้​เคี่ยวเข็ญ​เด็ก​จริงๆ เหมือน​สมัย​ก่อน ผล​เลย​ออก​มา​ว่า​เด็ก​บาง​คน​ยัง​อ่าน​หนังสือ​ไม่​ออก​ก็​มี อยู่ ป.3 ป.4 แล้ว​ก็​ยัง​อ่าน​ไม่​ออก อย่าง​เมื่อ​วาน​มี​การ​แข่งขัน​การ​ใช้​ทักษะ​ภาษา​ไทย โรงเรียน​ก็​คัด​เด็ก​เข้า​มา​แข่งขัน เด็ก​หลายๆ คน​อ่าน​คำ​ว่า ดุเหว่า ไม่​ได้ อ่าน​เป็น ดุ-เห-ว่า ทั้ง​ที่​อยู่ ป.5 แล้ว ก็​ไม่​ทราบ​ว่า​เหตุผล​เป็น​เพราะ​เด็ก​เพราะ​ครู หรือ​เพราะ​โรงเรียน แต่​ผล​ที่​ออก​มา​มัน​ไม่​น่า​พอใจ 

อย่าง​คำ​บาง​คำ​ที่​เคย​ได้ยิน​มา​บ้าง​ก็​น่า​จะ​เขียน​ให้​พอ​เดา​ได้​ว่า​เป็น​คำ​อะไร แต่​นี่​เขียน​ผิด​ไป​หมด​เลย โดย​เฉพาะ​วรรณยุกต์ อย่าง​เช่น​คำ​ว่า ปฏิสังขรณ์ เด็ก​ก็​เขียน​เป็น ปฏิ​สังค​ร นี่​แสดง​ว่า​ไม่​ได้​ผิด​เรื่อง​การ​รับคำ แต่​การ​รับ​เสียง​วรรณยุกต์​นั้น​เพี้ยน​ไป​แล้ว 

นี่​เป็น​ปัญหา​ใหม่​ที่​พบ อาจ​เพราะ​เด็ก​ไทย​ไม่​ค่อย​ฟัง เขา​อาจ​จะ​ใช้​คอมพิวเตอร์​หรือ​ดู​โทรทัศน์​มาก​เกิน​ไป เวลา​เรียน​ครู​ก็​ไม่​ได้​ให้​เด็ก​อ่าน​ออก​เสียง พอ​ไม่​ได้​อ่าน​ออก​เสียง​ก็​ไม่​ได้ยิน​เสียง​ว่า​คำ​ไหน​เป็น​ยัง​ไง 

การ​ฟัง​ของ​เด็ก​น้อย​ลง​ไป​จน​น่า​เป็น​ห่วง เพราะ​ใน​การ​เรียน​รู้​การ​ฟัง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ ต้อง​สามารถ​ฟังได้​ชัดเจน ฟัง​แล้ว​จับ​ประเด็น​ได้ แต่​เดี๋ยว​นี้​ฟัง​กัน​ไม่รู้​เรื่อง​เลย​พูด​กัน​ไม่รู้​เรื่อง คน​พูด​มา​อีก​อย่าง คน​ฟัง​เข้าใจ​ไป​อีก​อย่าง สื่อมวลชน​ไป​อีก​อย่าง ก็​เกิด​ความ​เข้าใจ​ผิด​กัน 

ตาม​ที่​อาจารย์​บอก​ว่า​รากฐาน​การ​เรียน​ภาษา​ไทย​ระดับ​ประถม​สำคัญ​ที่สุด แต่​ใน​เมื่อ​มี​ปัญหา​ตั้งแต่​พื้น​ฐาน​แล้ว จะ​ไป​ต่อ​ได้​อย่างไร

ก็​ไม่​ทราบ​จะ​ทำ​ยัง​ไง เพราะ​คน​ที่​อยู่​วงการ​ศึกษา​เขา​ก็​ไม่​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​ภาษา​ไทย ที่​จริง​ภาษา​ไทย​เป็น​ภาษา​ของ​เรา มัน​ไม่​ได้​มี​ไว้​แค่​สื่อ​เท่านั้น มัน​มี​ไว้​คิด มัน​เป็น​หัวใจ เป็น​ตัว​ของ​เรา​เอง เรา​มี​วัฒนธรรม​อย่างไร มี​ความ​รู้สึก​ใน​ทาง​ดี​ทาง​ชั่ว​อย่างไร​มัน​อยู่​ที่​ภาษา​ไทย​ทั้ง​นั้น แต่​สมัย​หลัง​ไป​คิด​ว่า​ภาษา​ไทย​เป็น​วิชา​เรียน​เหมือน​วิชา​ทั่วไป ซึ่ง​ความ​จริง​มัน​ไม่ใช่ ทุก​วัน​นี้​ยัง​ให้​เด็ก​มา​ท่อง​ว่า​พยัญชนะ​มี​กี่​ตัว สระ​มี​กี่​ตัว แล้ว​ก็​มา​เถียง​กัน​ว่า​ทำไม​สระ​ไม่ใช่ 20 รูป 32 เสียง แล้ว​ก็​วุ่น​กัน​อยู่​แค่​นั้น

แสดง​ว่า​ปัญหา​อยู่​ที่​วิธี​การ​สอน? 

การ​เรียน​รู้​ภาษา​มัน​ต้อง​รู้​เรื่อง​ความ​เข้าใจ รู้​เรื่อง​การ​ใช้ ต้อง​ศึกษา​ความ​คิด ศึกษา​วัฒนธรรม​ของ​ชาติ​ด้วย ไม่​ได้​เอา​แค่​ว่า​อ่าน​ออก​แล้ว​มา​พะวง​ว่า​จะ​อ่าน ปรัชญา ว่า ปรัด-ยา หรือ ปรัด-ชะ-ยา ซึ่ง​มัน​ไม่ใช่​เรื่อง​ใหญ่ อย่าง​เด็ก​ใน​ต่าง​ประเทศ ม.3 เขา​ต้อง​เขียน​เรียง​ความ​ทุก​วัน ไป​อ่าน​ไป​หาความ​รู้​มา​เอง แล้ว​ก็​นำ​สิ่ง​นั้น​มา​เขียน แล้ว​ต้อง​เขียน​ให้​เป็น​เรื่อง​เป็น​ราว ครู​ก็​อ่าน​แล้ว​ก็​ตรวจ​แก้​เรื่อง​ไวยากรณ์ เรื่อง​คำ​สะกด เรื่อง​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​เนื้อ​ความ​และ​ความ​ถูก​ต้อง​ทาง​เหตุผล สิ่ง​ที่​เด็ก​เขียน​มัน​ถูก​ไหม คิด​แบบ​เห็น​แก่​ตัว​หรือ​เปล่า มี​จิต​สาธารณะ​หรือ​เปล่า เด็ก​ของ​เขา​จึง​เป็น​ผู้ใหญ่​มากกว่า​เด็ก​ของ​เรา ทั้งนี้​ขึ้น​อยู่​กับ​กระทรวง​ศึกษาธิการ เพราะ​นโยบาย
​ไม่​นิ่ง เปลี่ยน​คน​อยู่​เรื่อยๆ 

ทราบ​มา​ว่า​งบ​ประมาณ​ของ​กระทรวง​ศึกษา​มี​มาก​ที่สุด?

งบ​ประมาณ​เยอะ​มาก​ค่ะ แต่​ว่า​เอา​ไป​ทำ​อะไร​ก็​ไม่​ทราบ แล้ว​ก็​มา​มี​เรื่อง​คอรัปชั่น​อีก​ด้วย มัน​ก็​น่า​ห่วง เคย​ย้อน​กลับ​ไป​ดู​ตอน​ที่​มี​การ​ปฏิรูป​การ​ศึกษา​เมื่อ​เกือบ 20 ปี​มา​แล้ว ตอน​นั้น​ก็​จัดการ​แต่​เรื่อง​การ​แบ่ง​การ​ปกครอง จัดการ​เรื่อง​การ​บริหาร แทนที่​จะ​บอก​ว่า​ควร​จะ​สอน​อย่างไร ความ​จริง​เรา​ต้อง​ดู​ข้อ​เสีย​ของ​สังคม​ไทย​เป็น​หลัก สังคม​เรา​เป็น​สังคม​ที่​ไม่มี​ระเบียบ เพราะ​ฉะนั้น​เรา​ต้อง​สอน​ให้​เด็ก​มี​ระเบียบ 

อย่าง​แรกๆ เลย​คือ​การ​แต่ง​กาย​เวลา​ไป​เรียน อย่าง​นักเรียน​ใน​ต่าง​ประเทศ​แต่ง​ชุด​อะไร​ไป​ก็ได้ เพราะ​เป็น​เมือง​หนาว แต่​อย่าง​บ้าน​เรา​เด็ก​ก็​จะ​ตาม​แฟชั่น​ตลอด อย่าง​ใส่​กระโปรง​นักศึกษา​ก็​ต้อง​มี​เข็มขัด แต่​เข็มขัด​ก็​ห้อย​ลง​มา ที่​จริง​มี​ตรา​มหาวิทยาลัย​อยู่​กับ​ตัว​มัน​ก็​ต้อง​เชิดชู​หน่อย ให้​มัน​อยู่​ตรง​ที่​ดีๆ แต่​ว่า​เรา​จัดการ​อะไร​ไม่​ได้ มัน​เป็น​อิสระ​ของ​เด็ก​ที่​จะ​ทำ 

บาง​คน​ก็​ว่า​ถูก​ระเบียบ​มัน​ก็​ไม่​ได้​ดี​อะไร ดู​อย่าง​ทหาร​สิ เข้า​ระเบียบ​แล้ว​ก็​ไม่​เห็นจะ​ดี มัน​ก็​มอง​กัน​หลาย​แง่​หลาย​มุม แต่​การ​ที่​จะ​สอน​ให้​เด็ก​มี​ระเบียบ มี​สัมมา​คารวะ​ก็​เป็น​สิ่ง​จำเป็น ควร​จะ​ปลูก​ฝัง​สิ่ง​ดีๆ บ้าง ไม่ใช่​ให้​เด็ก​ทำได้​ตามใจ ยิ่ง​ใน​โรงเรียน​ต้อง​สอน​เด็ก​ให้​เป็น​คน​ดี เคย​ถาม​ครู​ท่าน​หนึ่ง​ว่า​ทำไม​ไม่​สอน​เด็ก​เรื่อง​ระเบียบ​วินัย ครู​ก็​ตอบ​ว่า​ไม่มี​เวลา​สอน ​แล้ว​ก็​ไป​เรียน​อะไร​ที่​ยัง​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​วัย​แทน เด็ก ป.1 ป.2 ไม่​ต้อง​สอน​อะไร​มาก แค่​อ่าน​หนังสือ​ให้​ออก คิด​เลข​ให้​เป็น พอ ป.3 ก็​ให้​เรียน​เรื่อง​ประวัติศาสตร์ พอ​ชั้น​ต่อๆ ไป​ก็​เรียน​ไป​เรื่อยๆ เด็ก​ก็​จะ​ได้​ความ​รู้ และ​ยัง​ได้​ปลูก​ฝัง​สิ่ง​ที่​ดีๆ เดี๋ยว​นี้​เด็ก ป.3 ต้อง​ปลูก​ผัก บาง​คน​ต้อง​ไป​ขาย​กล้วย​แขก ก็​น่า​แปลก​ดี 

การ​เรียน​มัน​ต้อง​ไป​เป็น​ขั้นๆ เรื่อง​แฟน​เรื่อง​อื่น​ก็​เอา​ไว้​ก่อน วิชา​เพศ​ศึกษา​ของ​เด็ก​ประถม​ก็​สอน​ให้​เด็ก​รู้จัก​คอน​ดอม ซึ่ง​มัน​ยัง​ไม่มี​ประโยชน์​ที่​เด็ก​จะ​รู้ สิ่ง​ที่​เด็ก​ควร​จะ​รู้​คือ​การ​ตั้งใจ​เรียน​ให้​จบ มี​งานการ​ทำ​แล้ว​ถึง​จะ​มี​ครอบครัว 

ประเด็น​ใหญ่​อย่าง​การ​ทำ​กรุงเทพฯ​ ให้​เป็น​มหานคร​แห่ง​การ​อ่าน อาจารย์​มี​ความ​เห็น​อย่างไร

การ​อ่าน​ก็​เป็น​หนทาง​หนึ่ง​ใน​การ​หาความ​รู้ เป็นการ​ทำให้​เด็ก​เข้าใจ​โลก​มาก​ขึ้น แต่​ก่อน​ที่​จะ​ให้​เด็ก​อ่าน ผู้ใหญ่​ก็​ต้องหา​หนังสือ​ดี​ให้​เด็ก​ด้วย ไม่ใช่​อ่าน​เพื่อ​เสพ​สิ่ง​ที่​ผ่าน​เข้า​มา ถ้า​หาก​บอก​ว่า​อ่าน​อะไร​ก็ได้ อ่าน​การ์ตูน​ก็ได้ อ่าน​ข่าว​ดารา​ก็ได้ ความ​จริง​คือ​มัน​อ่าน​ได้ แต่​สิ่ง​ที่มา​กับ​การ​อ่าน​ไม่​ได้​มี​แต่​ตัว​หนังสือ​อย่าง​เดียว สิ่ง​ที่​ติด​มา​ด้วย​คือ​สาร ถ้า​สาร​ดี​เด็ก​ก็ได้​รับ​สิ่ง​ดีๆ แต่​ถ้า​เป็น​สาร​ที่​ไม่​ดี​เด็ก​ก็​จะ​ได้​รับ​สิ่ง​ไม่​ดี 

รัฐบาล​ก็​บอก​แต่​ว่า​คน​ไทย​อ่าน​หนังสือ​ปี​ละ 8 บรรทัด ซึ่ง​ความ​จริง​มัน​ไม่ใช่ มัน​มี​คน​อ่าน​มากกว่า​นั้น​มาก คือ​คน​อ่าน​ก็​อ่าน คน​ไม่​อ่าน​ก็​ไม่​อ่าน เรา​จะ​ปลูก​ฝัง​เด็ก​เรา​ก็​ต้อง​ให้​เด็ก​อ่าน แต่​ขอ​ให้​มี​หนังสือ​ราคา​ถูก​หน่อย​ได้​ไหม น่า​อิจฉา​เด็ก​ต่าง​ประเทศ​ที่​ได้​อ่าน​หนังสือ​ดีๆ สี​สวย​ปก​แข็ง มัน​น่า​อ่าน เด็ก​เขา​ก็​เลย​ชอบ​อ่าน ดิฉัน​มี​หลาน​อายุ 6 ขวบ พ่อ​แม่​เขา​ก็​ซื้อ​สารานุกรม​เด็ก ซื้อ National Geographic มา​ให้​อ่าน ถึง​แม้​จะ​ยัง​อ่าน​ภาษา​ไม่​ออก เขา​ก็​ชอบ​เปิด​อ่าน เปิด​มา​ดู​รูป ถ้า​เรา​ให้​สิ่ง​ที่​ดี​กับ​เขา เขา​ก็​จะ​จำ การ​จะ​ให้​เด็ก​รัก​การ​อ่าน​ต้อง​สอน​ตั้งแต่​เด็ก และ​ต้อง​มี​หนังสือ​ให้​เขา​อ่าน
​นั่น​คือ​สิ่ง​สำคัญ​ที่สุด

เดี๋ยว​นี้​วัฒนธรรม​การ​อ่าน​ก็​เปลี่ยน​ไป​ด้วย?

เดี๋ยว​นี้​การ​อ่าน​ของ​เด็ก​ยิ่ง​แย่ เพราะ​เด็ก​ไม่​อ่าน​หนังสือ เอา​เวลา​ไป​เล่น​อินเทอร์เน็ต เล่น​เฟ​ซบุ๊ค แล้ว​ก็​อ่าน​อะไร​ที่​ไม่​ได้​มี​ใคร​รับรอง​ว่า​มัน​ถูก​ต้อง เมื่อ​ก่อน​จะ​ค้น​ข้อมูล​อะไร​ก็​ต้องหา​ใน​ห้อง​สมุด แต่​เดี๋ยว​นี้​หา​ใน​กู​เกิล​ก็ได้​แล้ว เด็ก​ก็​โหลด​เนื้อหา​ไป​ส่ง​ครู​ทั้งๆ ที่​บางที​ก็​ยัง​ไม่​ได้​อ่าน​เลย นั่น​เป็นการ​สร้าง​นิสัย​ฉาบฉวย เด็ก​มหาวิทยาลัย​ก็​เหมือน​กัน อ่าน​อะไร​แล้ว​ก็​ลืม การ​เรียน​มัน​ต้อง​มี ‘สุ-จิ-ปุ-ลิ’ เป็น​ยอด​ของ​การ​เรียน ซึ่ง​ถ้า​ทำได้​ความ​รู้​มัน​จะ​ติดตัว​ไป กระทรวง​ศึกษาธิการ​บอก​เรียน​ให้​คิด​อย่าง​เดียว…มัน​ไม่ใช่ เพราะ​ถ้า​ไม่​จำ​แล้ว​จะ​เอา​อะไร​มา​คิด 

สมมุติ​พูด​ถึง​ศีล 5 เขา​ก็​ยัง​จำ​ไม่​ได้ พื้น​ฐาน​ของ​มนุษย์​เรา​ควร​มี 5 ข้อ​นี้​ให้​ได้ แล้ว​ไม่รู้​ว่า​ใน​อนาคต​เขา​จะ​ทำ​อะไร​ถู​กมั้ย มัน​ผิด​ตั้งแต่​ศีล​ตั้งแต่​อะไร​มา​แล้ว ไป​เอา​ของ​เพื่อน​มา บาง​คน​บอก​ว่า เอ๊ย…นิด​เดียว จิ๊ก​หน่อย เหมือน​ที่​ผู้ใหญ่​บาง​คน​ชอบ​บอก​ว่า ไม่​ได้​เอา ไม่​ได้​ขโมย​นะ ขอ​จิ๊ก เขา​เรียก​อะไร​นะ แฮ้บ คือ​ไม่ใช่​ของ​ตัว​หรอก
​แต่​มัน​สร้าง​นิสัย​อยาก​ได้​ทั้งๆ ที่​ไม่ใช่​ของ​ควร​จะ​ได้ หรือ​ได้​มา​อย่าง​ถูก​วิธี​หรือ​เปล่า​ก็​ไม่รู้ 

คน​แต่​ก่อน​นี้​นะ​คะ ถนน​มัน​แคบ คน​เขา​สละ​ที่​ให้​หลวง เป็น​ทาง​เดิน​ให้​คน​อื่น​เดิน​ได้​สบาย แต่​คน​เดี๋ยว​นี้​รุก​ที่​หลวง​เอา​ไป​เป็น​ของ​ตัว มัน​ผิด​กัน การ​อบรม​สั่ง​สอน​ให้​รู้จัก​เสีย​สละ ให้​รู้จัก​อะไร​ต่างๆ นี่​มัน​เสีย​ไป​หมด​เลย เรา​ต้อง​พยายาม​ฟื้น​ใหม่ ต้อง​พยายาม​ใส่​ไป​ใน​หนังสือ​เรียน ให้​ครู​คิด​เรื่อง​นี้​ให้​มากๆ 

ทักษะ​ของ​คนใน​การ​ใช้​ภาษา อย่าง ‘สุ-จิ-ปุ-ลิ’ แสดง​ว่า​ปลาย​ทาง​ที่​สำคัญ​ที่สุด​ต้อง​อยู่​ที่​การ​เขียน​หรือ​เปล่า

สมัย​โบราณ​เรา​ได้ยิน​ได้​ฟัง​ความ​รู้ ได้​เรียน​จาก​การ​พูด​ก่อน เพราะ​เป็นการ​สื่อสาร​แท้​ของ​คน แต่​เนื่องจาก​เรา​ไม่​สามารถ​จดจำ​อะไร​ได้​หมด เรา​ก็​ต้องหา​เครื่องหมาย​ที่​จะ​จด​บันทึก มัน​ก็​มี​ตัว​อักษร​เกิด​ขึ้น แล้ว​ตัว​อักษร​ก็​จะ​เป็น​เครื่อง​มือ​ให้​เรา​จดจำ ให้​เรียน​รู้ ให้​ใช้​ภาษา​ได้​สะดวก​ขึ้น กว้าง​ขวาง​ขึ้น ทีนี้​ถ้า​เรา​ไม่​ทำให้​ภาษา​มัน​ชัดเจน​ก็​จดจำ​อะไร​ไม่​ได้ สมอง​เรา​อาจ​จะ​จำ​ได้​น้อย ถ้า​เรา​เขียน​ไว้ บันทึก​ไว้ มัน​ก็​ดี​ขึ้น ทีนี้​พอ​เป็น​ภาษา​เขียน​แล้ว เดิมที​เดียว​เรา​ก็​เขียน​เฉพาะ​ที่​เรา​พูด​กัน แต่​ต่อ​มา​ก็​มี​การ​ศึกษา มี​การ​ประดิษฐ์​ถ้อยคำ มี​การ​แต่ง​หนังสือ​ให้​เด็ก มี​วรรณคดี มี​บท​ประพันธ์ ฉันทลักษณ์ เพราะ​ฉะนั้น​ภาษา​เขียน​ก็​พัฒนา​มา​เป็น​ภาษา​ที่​มี​รูป​แบบ​ที่​ดี​ขึ้น กว้าง​ขวาง และ​เป็น​หลัก​สำหรับ​ภาษา​พูด​ต่อ​ไป​ด้วย เพราะ​มัน​อิง​กัน​ไป​อิง​กัน​มา เรา​พูด​ยัง​ไง​เรา​ก็​เขียน​อย่าง​นั้น เรา​เขียน​ยัง​ไง​เรา​ก็​ออก​เสียง​อย่าง​นั้น 
ดัง​นั้น​ภาษา​ทั้ง​สอง​ภาษา​มัน​ก็​พัฒนา​มา​ด้วย​กัน  

แล้ว​ภาษา​เขียน​ก็​พัฒนา​ไป​เป็น​ภาษา​ของ​วิชาการ ภาษา​ของ​นัก​วิจัย ภาษา​ที่​เป็น​วิทยาศาสตร์ ก็​มี​ภาษา​ที่​สูง​ขึ้น แปลก​ขึ้น เจริญ​ขึ้น​ไป​เรื่อยๆ ภาษา​พูด​ก็​ยัง​มี เพราะ​เรา​มี​ภาษา​สุภาพ ภาษา​สื่อสาร​ทาง​สื่อมวลชน ราชาศัพท์ พูด​กับ​พระ กับ​ขุนนาง ภาษา​ก็​ต้อง​พัฒนา​ไป​เรื่อยๆ เพราะ​ฉะนั้น จะ​ว่า​อะไร​สำคัญ​กว่า​มัน​ก็​ไม่​ถูก​ที​เดียว​นัก ทั้ง​สอง​อย่าง​มัน​อาศัย​ซึ่ง​กัน​และ​กัน คน​ที่​เขียน​เก่ง​ไม่​ต้อง​พูด​เก่ง​ก็ได้ คน​ที่​พูด​เก่ง​ไม่​ต้อง​เขียน​เก่ง​ก็ได้ แต่​คน​ที่​ทั้ง​เขียน​เก่ง​ด้วย​พูด​เก่ง​ด้วย​ก็​มี​เยอะ 

พูด​ถึง​ปัญหา​เรื่อง​การ​อ่าน คน​ไทย​ชอบ​อ่าน​อะไร​ที่​สั้นๆ จริง​ไหม​ครับ เช่น อ่าน​แค่​พาด​หัว​ข่าว

แล้ว​ก็​ไม่​ยอม​อ่าน​ข้าง​ใน (ตอบ​ทันที) ไม่​ทราบ​ราย​ละเอียด​หรอก แล้ว​ก็​ติด​แต่​ส่วน​ย่อยๆ เหล่า​นั้น อัน​นี้​เป็น​ข้อ​เสีย​อัน​หนึ่ง มัน​คือ​ความ​อดทน​ไง​คะ ไม่​อดทน​ที่​จะ​อ่าน​อะไร​ละเอียด​ให้​ตลอด ถ้า​หากว่า​เรา​สอน​มา​ตั้งแต่​เด็ก​ให้​เขา​รู้จัก​อ่าน ต้อง​อ่าน​ให้​ได้ เรื่อง​ความ​อดทน​โบราณ​เขา​สอน​เยอะ​นะ​คะ คัด​ลายมือ​นี่​เป็น​วิชา​ที่​สอน​ความ​อดทน​ที่​ดี​ที่สุด​เลย สุด​จะ​เบื่อ นั่ง​เขียน​กัน​กว่า​จะ​จบ​หน้า แต่​มัน​ฝึก​ให้​เรา​อดทน​ไง​คะ รู้​ว่า​ต้อง​ทำให้​เสร็จ ก็​จะ​เขียน​ไป คัด​ไป​แต่ละ​หน้า​แต่ละ​ตัว แล้ว​ครู​สมัย​ก่อน​ก็​ให้​เขียน​ทุก​วัน ไม่ใช่​เพียง​แต่​ฝึก​ลายมือ​สวย มัน​ฝึก​ความ​อดทน​ด้วย ฝึก​ความ​รับ​ผิด​ชอบ ต้อง​ทำให้​เสร็จ​ก่อน จะ​ไป​เล่น​ก็​ต้อง​ทำการ​บ้าน​ก่อน  

อย่าง​การ​ที่​คน​ชอบ​ฟัง​หรือ​ชอบ​ดู​ทีวี​เล่า​ข่าว ทำให้​เรา​อ่าน​กัน​น้อย​ลงด้วย​ใช่​ไหม

ก็​มี​ส่วน​ค่ะ ทำให้​เรา​ไม่​ต้อง​ไป​อ่าน​ก็​รู้​เรื่อง​แล้ว แต่​เขา​ก็​ลืม​คิด​ไป​ว่า​เวลา​คน​ที่มา​เล่า​ข่าว​เขา​เล่า​ตรง​หรือ​เปล่า หรือ​เอา​มา​แค่​ส่วน​หนึ่ง หรือ​บางที​ก็​ผิว​เผิน ข้อมูล​ที่​ให้​ครบ​ทั้งหมด​หรือ​เปล่า คือ​เรา​ไม่​ได้​เพ่ง​เล็ง​ไป​ว่า​อยาก​ให้​คน​รู้​ความ​จริง​ร้อย​เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยว​นี้​ทุก​ช่อง​ทุก​สถานี​ก็​ใช้​วิธี​เล่า​ข่าว​หมด 

ใน​ส่วน​ของ​หนังสือพิมพ์​เอง​ก็​เล่า​มา​มุม​หนึ่ง​อยู่​แล้ว มุม​นั้น​ถูก​หรือ​เปล่า​ก็​ไม่รู้ แล้ว​บางที​ก็​เขียน​ใส่​ความ​คิด ค่า​นิยม สิ่ง​ที่​ตัว​คิด​ด้วย มัน​ก็​ไป​อีก​มุม​แล้ว แล้ว​สื่อมวลชน​ทาง​วิทยุ​โทรทัศน์​ก็​เอา​ไป​ต่อ​อีก​ขั้น​หนึ่ง พูด​อีก​แบบ​หนึ่ง หลายๆ เรื่อง​ก็​เลย​ไม่​ตรง​ความ​จริง 

อย่าง​ดิฉัน​เอง​กำลัง​รณรงค์​ให้​เขียน​ภาษา​ไทย คำ​ภาษา​ไทย​ที่มา​จาก​ภาษา​อังกฤษ​ให้​ถูก​ต้อง เต๊​นท์ ต้อง​ใช้​ไม้ตรี อย่า​ไป​ใส่​ไม้​ไต่คู้ แต่​คน​ก็​มา​มอง​ผ่าน​สื่อ​ว่า​ดิฉัน​จะ​ไป​สอน​ภาษา​อังกฤษ ให้​พูด​ภาษา​อังกฤษ​ใส่​วรรณยุกต์…มัน​คนละ​เรื่อง ดิฉัน​ไม่​ได้​สอน​ภาษา​อังกฤษ ดิฉัน​สอน​ภาษา​ไทย แต่​ข่าว​ที่​ออก​ไป​โดน​ด่า​มากมาย​เลย หา​ว่า​จะ​ทำให้​ทั้ง​ภาษา​ไทย​และ​ภาษา​อังกฤษ​เสีย คน​จะ​อ่าน​ภาษา​อังกฤษ​ไม่​ถูก​ต้อง เรา​จะ​เข้า​อาเซียน​แล้ว​ยัง​งี่​เง่า​อยู่​กับ​ภาษา​ไทย อะไร​อย่าง​นี้​นะ​คะ มัน​คนละ​เรื่อง อย่าง​หนังสือ​นี่​ถ้า​เรา​ไม่​เรียก​นิตยสาร เรา​จะ​เรียก แมกกาซีน จะ​เขียน แ-ม-ก มัน​ก็​เป็น แมก สิ​ใช่​มั้ย แม้​ก ก็​ต้อง แ-ม้-ก สิ ก็​เขียน​ให้​มัน​ตรง

เดี๋ยว​นี้​เขา​มี Facebook เขียน เฟ้ซ ก็​ต้อง​ใส่​ไม้โท บุ๊ก ก็​ต้อง​ใส่​ไม้ตรี เสียง​มัน​ก็​ตรง ถ้า​เขียน เฟ​ซบุก แล้ว​มัน​จะ​รู้​เรื่อง​กัน​หรือ​เปล่า

หลัก​การ​ถอด​ภาษา​ที่​ถูก​ต้อง ยก​ตัวอย่าง​เช่น​ตัว K เป็น ก ไก่ หรือ ค ควาย นี่​เป็น​อย่างไร

อัน​นี้​ยัง​ไม่​ยาก เพราะ​ถ้า​เรา​ออก​เสียง​คำ​ว่า Cook เรา​จะ​ออก​เสียง​ว่า กุ๊ก หรือ คุก ก็​แล้ว​แต่ ถ้า​ออก กุ๊ก ก็​ใช้ ก ไก่ ถ้า​ออก คุก ก็​ใช้ ค ควาย 

หมาย​ถึง​เปลี่ยน​ได้​ใช่​ไหม

เปลี่ยน​ได้ มัน​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เรา​ออก​เสียง​อย่างไร สิ่ง​ที่​ต้อง​ยึดถือ​ก็​คือ​ว่า เรา​ใช้​อักขรวิธี​ไทย คือ​มี​ตัว​หนังสือ​ที่​เป็น​ตัว​พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เมื่อ​เรา​เขียน​เป็น​ภาษา​ไทย​แล้ว​ไม่​ว่า​จะ​เขียน​ยัง​ไง​ก็ตาม เรา​จะ​ใส่​ไม้เอก ไม้โท หรือ​ไม่​ใส่​ก็ตาม มัน​มี​วรรณยุกต์​ทุก​พยางค์ ก-า ก็​อ่าน​ว่า กา ข-า ก็​อ่าน​ว่า ขา แล้ว 

อย่าง เต็นท์ คน​เขา​อ่าน​ออก​เสียง​ว่า เต๊น กัน​ทั้ง​ประเทศ อีก​คำ​หนึ่ง​ก็​คือ อิฐ​บล๊​อก ไม่​เห็น​มี​ใคร​เขา​อ่าน  อิฐ​บล็อก กัน​เลย ทำไม​ไม่​เปลี่ยน​ล่ะ กีตาร์ ใส่​ไม้โท​มัน​ก็ ต้า หรือ จะ​ให้​เขียน ตา แล้ว​ออก​เสียง ต้า ดิฉัน​ก็​ไม่​เข้าใจ 

คือ​เขา​ทำ​มา​ก่อน​นาน​แล้ว เรา​ก็​พยายาม​จะ​เรียก​ร้องขอ​ให้​เปลี่ยน ขอ​ให้​เขียน​ให้​ตรง ใน​เมื่อ​เรา​มี​หลัก​อยู่​ก็​ขอ​ให้​ตาม​นี้​ได้​มั้ย เขา​ก็​ไม่​ยอม ราช​บัณฑิต​ก็​ยัง​ไม่​ยอม ดิฉัน​ก็​บอก​ว่า แนะนำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ให้​แล้ว แต่​ท่าน​ยัง​ไม่​ยอม​ทำ…ก็​ช่วย​ไม่​ได้ แล้ว​ต่อ​ไป​นานๆ เข้า ภาษา​เรา​จะ​เป็น​ยัง​ไง​คะ เพราะ​ภาษา​อังกฤษ​เข้า​มา​ทุก​วัน แล้ว​ไม่รู้​กี่​คำ​ต่อ​กี่​คำ ถ้า​เกิด​เรา​เขียน​อย่าง​นี้ กดไลค์ ไม่​ใช้ ‘ไล้’ นะ กด ‘ไล’ กิกะไบต์ นี่​มี​กี่ กิก ก็​เรา​เรียก กิ๊ก ก็​เขียน กิ๊ก สิ​คะ ไม่​เห็น​เป็น​อะไร​เลย 

คือ​เขา​ไม่​เข้าใจ เขา​ก็​บอก​ว่า​มัน​เป็น​ภาษา​อังกฤษ ภาษา​อังกฤษ​มัน​เปลี่ยน​เสียง​ได้​ก็​เปลี่ยน​ไป​สิ คุณ​ก็​ไป​เปลี่ยน​เวลา​คุณ​พูด​ภาษา​อังกฤษ มัน​ก็​ต้อง​เปลี่ยน​ไป​ตาม​นั้น แต่​เมื่อ​เขียน​ใน​ภาษา​ไทย มัน​ต้อง​เป็น​ภาษา​ไทย ใช่​มั้ย​คะ มัน​ต้อง​ใส่​ตาม​เสียง ตาม​อักขรวิธี​ของ​เรา​ที่​มี​อยู่ เพราะ​ภาษา​ของ​เรา​ต้อง​เรียก​ว่า​เป็น​ภาษา​วิเศษ​มาก​ใน​โลก เพราะ​เรา​สามารถ​จะ​เขียน​อย่าง​ที่​เรา​พูด​ได้ เรา​จะ​ต้องการ​เสียง​สูง​เสียง​ต่ำ​มัน​เขียน​ได้​ใกล้​เคียง อาจ​จะ​ไม่​ร้อย​เปอร์เซ็นต์ แต่​ก็​ใกล้​เคียง​มาก​ที​เดียว 

อย่าง​รูป​ศัพท์​ที่​เรา​เคย​ใช้​มา​ก่อน​หน้า​นี้ เช่น คอมพิวเตอร์ ที​แรก​ราช​บัณฑิต​เป็น​คน​บัญญัติ​ใช่​ไหม

เขา​กำหนด​เลย​ว่า คำ​ภาษา​อังกฤษ​มา​ต้อง​ไม่​ใส่​วรรณยุกต์ ดิฉัน​ก็​สู้​กับ​เขา​มา 10 ปี​แล้ว​นะ​คะ​ว่า​มัน​ต้อง​ใส่ ภาษา​ไทย​เป็น​ภาษา​วรรณยุกต์ ไม่​ใส่​ไม่​ได้ เขา​ก็​ยัง​ตื๊อ​อยู่​นั่น​ว่า​ภาษา​อังกฤษ​ไม่​เปลี่ยน พระองค์​วรรณ (พระ​เจ้า​ว​รวง​ศ์​เธอ พระองค์​เจ้า​วรรณ​ไว​ทยา​กรณ์ กรม​หมื่น​นราธิป​พงศ์​ประพันธ์ – อดีต​นายก​ราชบัณฑิตยสถาน) ท่าน​ไม่​ได้​ใส่ ดิฉัน​บอก​ว่า ถ้า​พระองค์​วรรณ​ท่าน​อยู่​ถึง​ทุก​วัน​นี้​ท่าน​ให้​ใส่​แล้ว เพราะ​ท่าน​เป็น​นัก​ภาษา และ​สมัย​ก่อน​ก็​ยัง​ไม่รู้​ว่า​จะ​ยัง​ไง​ใช่​มั้ย​คะ คุณ​จะ​พูด คอมพิวเตอร์ กัน​ยัง​ไง​ก็​ไม่​ได้​มี​ใคร​บอก ถ้า​กำหนด​กัน ณ เวลา​นี้ คน​เรียก คอม-พิ้ว-เต้อ กัน​หมด​ทั้ง​ประเทศ ไม่มี​ใคร​เรียก คอม-พิว-เตอ 

อย่าง ทิงเจอร์ คน​เรียก ทิง-เจอ กัน​ทั้ง​ประเทศ อัน​นี้​ถูก​ต้อง แต่ เฟอร์นิเจอร์ เขียน เฟอ-นิ-เจอ อ้าว… เขา​อ่าน เฟอ-นิ-เจ้อ กัน​ทั้ง​นั้น ก็​เขียน เฟอร์​นิ​เจ้​อร์ ได้​มั้ย ไป​เขียน ทิงเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ เด็ก​จะ​รู้​ได้​ยัง​ไง​ว่า​อัน​ไหน​อ่าน เจอ อัน​ไหน​อ่าน เจ้อ เขา​ก็​ยัง​ไม่​ยอม​แก้ คือ​มัน​คง​เป็น​ความ​เคยชิน ความ​ดื้อ​รั้น หรือ​อคติ​อะไร​สัก​อย่าง (หัวเราะ) 

มัน​เป็น​เกณฑ์​ที่​ราช​บัณฑิต​กำหนด​เอง​ตั้งแต่​ต้น​เลย​ใช่​ไหม

ใช่ เขา​ตั้ง​กันเอง​ไง​คะ ดิฉัน​ว่าที่​ตั้ง​อย่าง​นั้น​น่ะ​มัน​ผิด ไป​ตั้ง​สิ่ง​ที่​ผิด​กับ​ธรรมชาติ​ของ​ภาษา​ไทย ซึ่ง​ไม่​ได้ คือ​เรา​ไม่​ได้​เหมือน​ภาษา​อังกฤษ​นี่​คะ เขา​มา​เป็น​คำ เขา​เขียน​อย่าง​นี้​แหละ แต่​ออก​เสียง​ยัง​ไง​ก็​ว่า​กัน​อีก​ที

หมายความ​ว่า​อาจารย์​กำลัง​พยายาม​จะ​แก้​กติกา​ของ​ราชบัณฑิต?

ใช่ ก็​บอก​แล้ว​แต่​เขา​ก็​ไม่​ยอม​แก้ แต่​เวลา​นี้​เขา​ก็​ยอม​อย่าง​หนึ่ง ใน​หลัก​การ​ทับ​ศัพท์​ของ​เขา​มี​ข้อ​หนึ่ง​ว่า เดิม​ไม่​ใส่​
วรรณยุกต์​นอกจาก​คำ​ที่​ซ้ำ​กับ​ภาษา​ไทย เช่น โค​มา ก็​ใส่​ไม้เอก​ได้​เป็น โคม่า อย่าง โค้ก ใส่​ไม้โท​ได้​เพราะ​มัน​ซ้ำ​กับ​คำ​ว่า โคก แล้ว​ทำไม​จะ​ต้อง​ใส่​เฉพาะ​คำ​ที่​ซ้ำ​ล่ะ ทุก​คำน่ะ​ใส่​ได้​หมด​แหละ 

เหตุผล​ที่แท้​จริง​คือ​ใส่​ให้​ถูก​ต้อง​เพื่อ​การ​ออก​เสียง​เลย​ใช่​ไหม

ตาม​ที่​เรา​ใช้ (ตอบ​ทันที) คือ​ดิฉัน​ถือว่า​คำ​เหล่า​นี้​มัน​เป็น​คำ​ที่​เรา​ยืม​มา​ใช้​ใน​ภาษา​เรา คือ​มัน​เป็น​ภาษา​ไทย​แล้ว ไม่ใช่​ภาษา​อื่น ต้อง​ถือ​เป็น​ภาษา​ไทย คือ​มัน​เปลี่ยน​เสียง​ได้​มั้ย ถ้า กีตาร์ คุณ​ไม่​เรียก กี-ต้า จะ​เรียก กีต๋า คุณ​เล่น​กีต๋ามั้ย มัน​ไม่​ได้ เขา​เรียก กี-ต้า กัน​ทั้ง​ประเทศ ภาษา​อังกฤษ​จะ​เรียก ตา ต่า ต้า ต๊า ต๋า ก็​แล้ว​แต่ แต่​ภาษา​ไทย​ไม่​เปลี่ยน

กรณี​ที่​เป็น​ข่าว ใน​เมื่อ​ภาษา​เป็น​ของ​คน​ทั้ง​ชาติ ก่อน​ที่​ราช​บัณฑิต​จะ​กำหนด​กฎ​กติกา​ได้ ต้อง​ทำ​ประชามติ​กัน​เลย​หรือ​เปล่า

คือ​ควร​จะ​ให้​ประชาชน​เป็น​คน​ตัดสิน​ว่า​เขา​จะ​ใช้​ยัง​ไง ออก​เสียง​ยัง​ไง สำหรับ​การ​เขียน​นี่​อาจ​จะ​มี​หลัก​ของ​ราช​บัณฑิต​ได้ เช่น อัน​นี้​เอา​มา​จาก​บาลี​สันสกฤต เขา​ใช้ ศ ส ษ ยัง​ไง คือ​ถ้า​เสียง​มัน​ไม่​เปลี่ยน​ก็​เปลี่ยน​ได้​ตาม​นั้น แต่​ถ้า​หากว่า​คำ​ว่า ศาสนา ต้น​เดิม​เป็น​แบบ​นี้ คุณ​จะ​ไป​เขียน สาสนา ก็​บอก​ได้​ว่า เออ…อัน​นี้​มัน​ไม่​ถูก​ต้อง

เขา​ก็​ท้วง​ด้วย​วิธี​การ​ต่างๆ อย่าง​คำ​ว่า เพ็​ชร นั่น​น่ะ​ถูก​แล้ว ราช​บัณฑิต​ไป​แก้​ให้​ผิด เขา​ใช้​ไม้​ไต่คู้​ทั้ง​นั้น คน​ชื่อ​เพชร สมัย​ก่อน​เขา​ก็​เขียน เพ็​ชร กัน​ทั้ง​นั้น แต่​ราช​บัณฑิต​บอก​ว่า​ภาษา​บาลี​ไม่มี​ไม้​ไต่คู้ เลย​ไม่​ใส่ มัน​ก็​เป็น​ตัวอย่าง​ของ​การ​ผิด​มา​แล้ว แล้ว​ก็​จะ​ยัง​ซ้ำ​ตัวอย่าง​ผิด​เหมือน​เดิม​อีก  

เ-น-ต-ร อ่าน​ว่า เนด แปล​ว่า​ตา​ใช่​มั้ย​คะ แต่ เ-ม-ต-ร อ่าน​ว่า เม้ด แล้ว​เรา​จะ​รู้​ได้​ยัง​ไง ก็​มัน​อ่าน​ว่า เมด ถ้า​จะ​อ่าน เม้ด ก็​ใส่​ไม้โท​ก็​จบ มัน​ก็​เป็น เม้ตร แล้ว​คำ​นี้​มัน​ก็​ไม่​ได้​มา​จาก​ภาษา​อังกฤษ มัน​มา​จาก​ภาษา​ฝรั่งเศส ‘แมตร’ (Mètre) ซึ่ง​เรา​ไม่​ได้​ออก​ตาม​ฝรั่งเศส​ด้วย​ซ้ำ เรา​ออก​ตาม​ภาษา​ไทย​นี่​แหละ  

ถือว่า​เป็นการ​ขัด​แย้ง​กันเอง​ภายใน​ราช​บัณฑิต​หรือ​เปล่า

ใช่ จริงๆ ก็​คือ​ภายใน​ราช​บัณฑิต​นี่​แหละ ดิฉัน​กลัว​ราช​บัณฑิต​จะ​ทำ​ไม่​ถูก​ต้อง เพราะ​สิ่ง​ที่​มัน​ผิด​ก็​ต้อง​แก้​ให้​มัน​ถูก ไม่​อย่าง​นั้นมัน​ก็​ผิด​กัน​ไป​ทั้ง​ประเทศ

บางที​สังคม​อาจ​จะ​ไม่​ได้​อ่าน​คำ​อธิบาย หรือ​ฟัง​อาจารย์​อธิบาย​โดย​ละเอียด?

ไม่​ได้​ฟัง ไม่​ได้​เข้าใจ เคยชิน​เท่านั้น ดิฉัน​ก็​เสนอ​ว่า​ทุก​คำ​มัน​เขียน​ให้​ถูก​ต้อง​ได้ ทำไม​ไม่​เขียน 

บทบาท​ที่แท้​จริง​ของ​ราช​บัณฑิต​คือ​อะไร

ราช​บัณฑิต​มีหน้า​ที่​รักษา​ภาษา​ไทย​ไม่​ให้​แปร​เปลี่ยน​ไป​ใน​ทาง​เสื่อม และ​ส่ง​เสริม​ภาษา​ไทย​ให้​โดด​เด่น ก็​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​เลย​ว่า ถ้า​เกิด​เรา​ยัง​เขียน​อย่าง​นี้​มัน​จะ​เปลี่ยน​ไป​ใน​ทาง​เสื่อม​แน่นอน เพราะ​มัน​ไม่มี​ระบบ​ชัดเจน แต่​เขา​ก็​ยัง​ยืนยัน​ว่า​เขียน​มา​ตั้งแต่​สมัย​พระองค์​วรรณ ท่าน​เขียน​อย่าง​นี้​เรา​ก็​ต้อง​เขียน​อย่าง​นี้ 

ภาษา​มัน​เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​ต้อง​ไป​กับ​สังคม คำ​ที่​เรา​รับ​มา​ตั้งแต่​สมัย​โบราณ​อย่าง Pipe โบราณ​เรียก แป๊ป แปล​ว่า​ท่อ เพราะ​ออก​เสียง​อย่าง​เขา​ไม่​ได้ แล้ว​พอ​ตอน​หลัง​คน​สูบ Pipe เรา​ออก​เสียง​ยัง​ไง ไป๊ เพราะ​ออก​เสียง ไอ มากกว่า ไม่ใช่ แอ แค่​คำ​เดียว​ก็​เป็น​อย่าง​นี้ มัน​อยู่​ที่​ว่า​เรา​ชิน เรา​ได้​รับ​มา​แค่​ไหน เรา​รู้​แค่​ไหน ก็​แค่​นั้น​แหละ อย่าง​สมัย​ก่อน​เรา​เรียก ไอ​ติม เดี๋ยว​นี้​เรา​เรียก ไอศกรีม พอ​เป็น​ภาษา​ไทย​บอก​ว่า​ไอ​ติม​ไม่ใช่​คำ​ภาษา​อังกฤษ​ใช่​มั้ย…ก็​ใช่ มัน​ออก​เสียง​ผิด​ใช่​มั้ย…ก็​ใช่ ก็​ของ​เรา​จะ​เรียก​ว่า​ไอ​ติ​มอ​ย่าง​นี้ ใคร​จะ​ว่า​อะไร

ถ้า​มอง​ว่า​ภาษา​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​ดิ้น​ได้ ก็​คง​ไม่​ผิดนัก?

ภาษา​มัน​ต้อง​เปลี่ยน​ไป​ตาม​สังคม สมมุติ​แต่​ก่อน​เรา​เรียก​คู่รัก​เป็น ชิ้น ต่อ​มา​ก็​เป็น คู่รัก แล้ว​ก็​มา​เป็น แฟน แล้ว​ก็​มา​เป็น กิ๊ก มัน​ก็​เปลี่ยน​ไป​แล้ว​แต่​จะ​เรียก​อะไร​ก็ได้ ต่อ​ไป​อาจ​จะ​ไม่​ได้​เรียก กิ๊ก อาจ​จะ​เรียก​อะไร​อย่าง​อื่น แล้ว​คำ​ที่​เรียก​เดิม​ความ​หมาย​มัน​ถูก​ต้อง​ตรง​ตาม​นั้น​หรือ​เปล่า…ก็​ไม่ใช่ อย่าง​คำ​ว่า ‘ชู้’ แต่​ก่อน​นี่​น่า​กลัว​มาก​เลย เดี๋ยว​นี้​ก็​ไม่​เห็น​เสีย​หาย เขา​ก็​มีชู้​ทาง​ใจ​กัน​ได้ 

ภาษา​ต้อง​เปลี่ยน​ไป​ตาม​สังคม เพราะ​ไม่ใช่​ภาษา​ตาย ถ้า​หาก​สังคม​เรา​ตาย​แล้ว​ก็​เรื่อง​หนึ่ง แต่​สังคม​เรา​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ เรา​รับ​สิ่ง​ใหม่ เรา​มี​คน​ใหม่ เรา​มี​ความ​คิด​ใหม่ คำ​ทั้ง​หลาย​มัน​ไม่​อยู่คง​ที่ มัน​เปลี่ยน แต่​เรา​ก็​ต้อง​รักษา​ไว้​ไม่​ให้​มัน​เปลี่ยน​เร็ว​เกิน​ไป เปลี่ยน​ยัง​ไง​ให้​มัน​ถูก​ต้อง เปลี่ยน​ยัง​ไง​ให้​มัน​มี​หลัก​เกณฑ์ ถ้า​เปลี่ยน​แบบ​ไม่มี​หลัก​เกณฑ์​มัน​จะ​ทำให้​ภาษา​เสีย​มากกว่า​ดี วิบัติ​หรือ​พัฒนา​มัน​มอง​ได้​ทั้ง​สอง​แง่ ภาษา​มัน​เปลี่ยน​จะ​เปลี่ยน​แบบ​วิบัติ​ก็ได้ อย่าง เมพ​ขิงๆ อะไร​อย่าง​นี้​เรา​ก็​บอก​ว่า​มัน​เปลี่ยน​วิบัติ​ล่ะ หรือ จุงเบย มัน​เปลี่ยน​วิบัติ ไม่​เป็น​เรื่อง​เป็น​ราว เรา​ก็​ไม่​ต้อง​รับ แต่​ว่า​ถ้า​บาง​อัน​เปลี่ยน​แล้ว​เกิด​ศัพท์​ใหม่ มี​พัฒนาการ​เยอะ​แยะ อย่าง โลกา​ภิ​วัต​น์ สังคม​ออนไลน์ มัน​ก็​มี​คำ​เกิด​ใหม่​ขึ้น​เยอะ​แยะ มัน​ก็​เป็น​พัฒนาการ​ของ​ภาษา ไม่ใช่​ว่า​จะ​ต้อง​คงที่​เหมือน​เดิม 

คำ​ใหม่ๆ ประเภท ‘จุงเบย’ เป็น​หน้าที่​ของ​ราช​บัณฑิต​ต้อง​ตาม​เก็บ​ด้วย​หรือ​เปล่า    

ถ้า​เรา​ไม่​สน​ใจ​จริงๆ อีก​หน่อย​ก็​หาย​ไป ดิฉัน​ทำ​อยู่​นะ​คะ ที่​เรียก​ว่า พจนานุกรม​คำ​ใหม่ คือ​ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ภาษา​มัน​เปลี่ยน​ตลอด ทีนี้​เมื่อ​มี​คำ​ใหม่​เกิด​ขึ้น หรือ​คำ​เก่า​ใช้​ความ​หมาย​ใหม่ หรือ​คำ​เก่า​ใช้​ใน​ที่​ใหม่ เรา​ต้อง​เก็บ​บันทึก​เอา​ไว้ ให้​รู้​ว่า​ช่วง​นี้​มัน​มี​คำ​นี้​นะ แต่​คำ​นี้​จะ​อยู่​ต่อ​ไป​มั้ย…ก็​ยัง​ไม่​ทราบ มัน​อาจ​จะ​เป็น​คำ​สแลง​เท่านั้น อีก​หน่อย
​คน​อาจ​จะ​เลิก​ใช้​ก็ได้ หรือ​จะ​เป็น​คำ​ที่​อยู่​ใน​ภาษา​ต่อ​ไป​ก็ได้ เหมือน​อย่าง​คำ​ว่า เชย สมัย​ก่อน​ก็​เป็น​สแลง เปิ๊ด​สะ​ก๊าด ก็​เป็น​สแลง เวลา​นี้​คน​ก็​ไม่​พูด อาจ​จะ​มี​คน​เอา​มา​ใช้​บ้าง แต่​คำ​ว่า ‘เชย’ อยู่​แน่ คำ​ว่า ‘ทึ่ง’ อยู่​แน่ เพราะ​ฉะนั้น​มัน​บอก​ไม่​ได้​ว่า​ต่อ​ไป​จะ​เป็น​ยัง​ไง แต่​ใน​ฐานะ​ที่​เรา​เป็น​นัก​ภาษา​เรา​มีหน้า​ที่​บันทึก​เก็บ​เอา​ไว้ เหมือน​ยาม​ภาษา​น่ะ ว่า​มัน​มี​อย่าง​นี้​เกิด​ขึ้น​นะ ตรง​นี้​มัน​เป็น​อย่าง​นี้​นะ ถ้า​เรา​ไม่​เก็บ ต่อ​ไป​เรา​ก็​แปล​ไม่​ออก สมมุติ ‘กิ๊ก’ อีก​หน่อย​จะ​รู้​ได้​ยัง​ไง​ว่า​มัน​แปล​ว่า​อะไร หมาย​ถึง​เสียง​หรือ​อะไร​ก็​แปล​ไม่​ได้ 

ใน​ราช​บัณฑิต​มี​หน่วย​งาน​ที่​ต้อง​รับ​ผิด​ชอบ​ศัพท์​เกี่ยว​กับ​เทคโนโลยี​สารสนเทศ​ด้วย​ใช่​ไหม

มี​ค่ะ เขา​ก็​บัญญัติ จะ​เรียก​บัญญัติ​ก็​ไม่​เชิง คล้ายๆ แปล​คำ​ภาษา​อังกฤษ​มา อย่าง​คำ​ว่า ออนไลน์ ควร​จะ​เรียก​ว่า​อะไร ซอฟต์แวร์ ควร​จะ​เรียก​ว่า​อะไร พิมพ์​มา​เป็น​เล่ม มี​ทุก​สาขา​วิชา แต่​มัน​ก็​ไม่​ได้​ใช้ได้​ทุก​คำ บาง​คำ​มัน​ก็​เฉยๆ แปลกๆ อย่าง​คำ​ว่า Sex Appeal เขา​แปล​ว่า วอน​เพศ​รส (หัวเราะ) ก็​คือ​ศัพท์​บัญญัติ มัน​ก็​ไม่​เลวนะ​คะ ก็ได้​ความ​หมาย แต่​ถ้า​คน​ไม่​ชอบ ไม่​ใช้​กัน มัน​ก็​หาย​ไป 

มี​ความ​จำเป็น​มาก​น้อย​แค่​ไหน​ที่​ต้อง​บัญญัติ​ศัพท์​ต่าง​ประเทศ​ให้​เป็น​คำ​ไทย​ทุก​คำ

ไม่​จำเป็น มัน​แล้ว​แต่​ว่า​สังคม​จะ​ใช้​อัน​ไหน อย่าง​คำ​ว่า ซอฟต์แวร์ จะ​บัญญัติ​อะไร​มา​แทน​มัน​ก็​ไม่​สะดวก​ที่​จะ​ใช้ ก็​ใช้ ซอฟต์แวร์ ทีนี้​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า เรา​เอา​มา​ใช้​แล้ว​เรา​เขียน​ให้​มัน​อ่าน​ออก​เสียง​เป็น ซ้อ​บ-แว มั้ย ไม่ใช่​เขียน​ให้​อ่าน​เป็น ซอบ-แว ดิฉัน​คิด​ว่า ถ้า​รับ​มา​เป็น​คำ​ภาษา​ไทย​แล้ว​ก็​คือ​คำ​ภาษา​ไทย จะ​ยืม​มา​ก็​ยืม ไม่​ได้​เสีย​หาย​อะไร เพราะ​ทุก​ภาษา​ก็​ยืม​กัน​มา 

อาจารย์​เป็น​ห่วง​คน​ไทย​ที่​ไม่​ได้​รู้​ภาษา​อังกฤษ​ด้วย​ใช่​ไหม

ใช่ ตัวอย่าง​คือ เด็กๆ เวลา​นี้​มี​เด็ก​ต่าง​ชาติ​มา​เรียน​ภาษา​ไทยเยอะ​มาก เขา​ก็​บอก​ว่า ทำไม​ภาษา​ไทย​ถึง​ไม่มี​ระเบียบ​อะไร​เลย สอน​ให้​เขา​ผัน​วรรณยุกต์ สอน​คำเป็น​คำตาย เสร็จ​แล้ว​พอ​เขา​อ่าน​ที​ไร​ผิด​ทุกที เขา​บอก​ว่า​ทำไม​ไม่​อ่าน​ตาม​ที่​เขียน ทั้งๆ ที่​บอก​ว่า​ภาษา​เรา​เป็น​ภาษา​แทน​เสียง เขียน​ยัง​ไง​ก็​ผสม​ตัวอย่าง​นั้น คือ​ไม่​ได้​เป็น​คำๆ เหมือน​ภาษา​อังกฤษ อย่าง​ภาษา​อังกฤษ ตัว O เขา​ก็​ไม่​ได้​เป็น โอ เสมอ​ไป แล้ว​แต่​ไป​อยู่​คำ​ไหน​ก็​ว่า​ไป มัน​คนละ​ระบบ​กับ​ของ​เรา แล้ว​เขา​ก็​ไป​แยก​กัน​เป็น​คำๆ วิธี​เขียน​ก็​ไม่​เหมือน​กัน ภาษา​จีน​ก็​เป็น​อีก​แบบ​หนึ่ง ก็​คนละ​กลุ่ม แต่​ระบบ​ของ​เรา​คือ​เอา​ตัว​ทั้ง​หลาย​มา​ผสม

การนำ​วรรณยุกต์​มา​ใช้​ใน​ภาษา​ไทย เรา​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ใคร​มา​หรือ​เปล่า

เป็น​ของ​ไทย​เอง​มา​ตั้งแต่​พ่อขุน​รามคำแหง​เลย มัน​เป็น​ของ​เรา เป็น​เอกลักษณ์​ของ​เรา ภาษา​ใด​มี​วรรณยุกต์​ก็​จะ​ใช้​เครื่องหมาย​วรรณยุกต์​เพื่อ​ที่​จะ​บอก เหมือน​อย่าง​เวียดนาม​เขา​ก็​มี​เครื่องหมาย​บอก​ว่า​คำ​ไหน​เสียง​เป็น​ยัง​ไง ลาว​ก็​มี​เหมือน​กัน ไม่​เช่น​นั้น​จะ​ออก​เสียง​ถูก​ต้อง​ได้​ยัง​ไง 

มัน​เป็น​ส่วน​ที่​ทำให้​ภาษา​ทั้ง​สวยงาม​และ​ยาก​ไป​ใน​ตัว​ใช่​ไหม

ก็​ไม่​เชิง​ยาก​นะ เพราะ​ภาษา​ของ​ใคร​ก็​ของ​มัน คือ​ภาษา​ของ​เรา​เรา​ก็​เรียน​มา​ตั้งแต่​เกิด ก็​ใช้​อย่าง​นั้น มัน​เป็น​สิ่ง​ที่​เรา​ต้อง​รับ​รู้มา เหมือน​อย่าง​ภาษา​อังกฤษ​เขา​จะ​มี​เสียง​ก้อง​เสียง​ไม่​ก้อง​ใช่​มั้ย​คะ อย่าง​เสียง S กับ Z เรา​ไม่มี เรา​ก็​ไม่​ต้อง​คำนึง ใคร​จะ​พูด ซู่ซ่า ยัง​ไงมัน​ก็​คือ​คำ​เดียว แต่​ใน​ภาษา​อังกฤษ​ไม่​ได้ มัน​จะ​เป็น​คนละ​ความ​หมาย คน​ชื่อ Sue กับ Zoo มัน​ก็​ออก​เสียง​คนละ​อย่าง

คือ​มัน​ไม่ใช่​เรื่อง​ยาก มัน​เป็นการ​เรียน​รู้​ใน​วัฒนธรรม ใน​สังค​มนั้นๆ เรา​ก็​เรียน​มา​ตั้ง​แต่​เกิด​น่ะ 

อาจารย์​คิด​อย่างไร​กับ​คำ​พูด​ที่​ว่า​ภาษา​ไทย​ไม่ใช่​ของ​แท้ เพราะ​เกิด​จาก​การ​ผสม​ผสาน​หลายๆ ภาษา​เข้า​ด้วย​กัน

ก็​มี​ส่วน เฉพาะ​ไทย-สยาม เรา​เป็น​ชาติ​ที่​เปิด​รับ​วัฒนธรรม​ต่าง​ชาติ​เยอะ เรา​รับ​บาลี​สันสกฤต เรา​รับ​ชวา เรา​รับ​มลายู เรา​รับ​ภาษา​อังกฤษ ภาษา​โปรตุเกส เรา​รับ​หมด​ล่ะ​ค่ะ คือ​เป็น​คน​ใจ​กว้าง ชอบ​ต่าง​ชาติ​หรือ​ยัง​ไง​ไม่​ทราบ (หัวเราะ) เพราะ​ฉะนั้น​เรา​จึง​เอา​คำ​ภาษา​อื่น​มา​ใช้​ใน​ภาษา​ไทย​เยอะ​แยะ แต่​เมื่อ​มา​ใช้​แล้ว มัน​ต้อง​เป็น​ภาษา​ไทย เรา​ไม่​ได้​เปลี่ยน​ตาม​เขา อย่าง​คำ​ว่า ฟุต ใน​ภาษา​อังกฤษ เขา​ใช้ 1 ฟุต (Foot) 2 ฟีต (Feet) แต่​ภาษา​ไทย​เรา 50 ฟุต 100 ฟุต ก็​ใช้ ‘ฟุต’ เพราะ​ภาษา​ไทย​ไม่​ต้อง​เปลี่ยน​การ​แสดง​พจน์ เรา​ก็​ไม่​ต้อง​เปลี่ยน ของ​เขา​มี I go today กับ They went yesterday ต้อง​เปลี่ยน tense ของ​เรา​ไม่​ต้อง​เปลี่ยน วัน​นี้​ก็​ไป เมื่อ​วาน​ก็​ไป พรุ่ง​นี้​ก็​ไป 

ใน​เมื่อ​เรา​รับคำ​ภาษา​อื่น​เขา​มา​ก็​รับ​แต่​คำ​มา แล้ว​เรา​ก็​ออก​เสียง​เหมือน​ภาษา​ไทย เรา​ไม่​ต้อง​ออก​เสียง​เหมือน​บาลี​สันสกฤต ไม่​ได้​ออก​เสียง​เหมือน​ภาษา​อังกฤษ ไม่​ได้​ออก​เสียง​เหมือน​กับ​เขา ออก​เสียง​เป็น​ภาษา​ไทย เขียน​เป็น​ภาษา​ไทย ใช้​เป็น​ภาษา​ไทย 

ใน​ฐานะ​ที่​อาจารย์​เชี่ยวชาญ​ภาษา​เขมร​ด้วย ภาษา​ไทย​ก็​มา​จาก​เขมร​เยอะ​เหมือน​กัน​ใช่​ไหม

มี​เป็น​ร้อย​คำ​เหมือน​กัน อย่าง​ที่​บอก​ว่า​คน​ไทย​ชอบ​อะไร​แปลกๆ บางที​ก็​ไม่​อยาก​ใช้​ภาษา​ของ​เรา​เอง ใช้​ภาษา​อื่น​แปลก​ดี โก้​ดี หรือ​ยัง​ไง​ก็​ไม่​ทราบ แต่​ก็​มี​คำ​เขมร​มา​ใช้​เยอะ

โดย​ออก​เสียง​เหมือน​เลย​ใช่​ไหม​ครับ

ไม่​เหมือน คือ​อย่าง​นี้​ค่ะ ไทย​กับ​เขมร​ใช้​ตัว​อักษร​ระบบ​เดียวกัน แต่​ของ​เรา​มี​มากกว่า เพราะ​พ่อขุน​รามคำแหง​คิด​ตัว​อักษร​เพิ่ม​หลาย​ตัว​ที่​เป็น​ของ​ไทย​แท้ๆ เดิมที​เป็น​ตัว​อักษร​ที่มา​จาก​อินเดีย เทว​นาค​รี เขมร​ก็​เอา​มา​จาก​เทว​นาค​รี​เหมือน​กัน แต่​เขมร​ไม่มี​วรรณยุกต์ มี ก ข เหมือน​กัน แต่​การ​ออก​เสียง​ไม่​เหมือน​กัน

อย่าง​คำ​ว่า เสด็จ เรา​ใช้​คำ​ไทย​ว่า สะ-เด็ด เขมร​ออก สะ-แด็ด แล้ว​เขา​ก็​ไม่​ออก​เสียง​ชัด​อย่าง​นี้ ของ​เรา ส กับ ด ควบ​กัน​ไม่​ได้ ต้อง​ใส่​สระ​อะ​แทรก แต่​ของ​เขา​ควบ​ได้ 

แต่​อย่าง​บาง​คำ เช่น ปัญญา​ชน ปฏิวัติ นี่​ออก​เสียง​เหมือน​เลย​?

ก็​มี​หลาย​คำ​ที่​เหมือน​กัน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คือศัพท์​วิชา​กา​รสูงๆ จะ​เหมือน​กัน​เยอะ​มาก​เลย 

อย่าง​คำ​ว่า สวัสดี ที่​ของ​เขา​เป็น ‘ซัวซเด็ย’ ซึ่ง​เขา​บอก​ว่า​เป็น​ภาษา​ของ​เขา ซัว แปล​ว่า​ฐาน ซเด็ย แปล​ว่า​พูด เรา​ก็​เชื่อ
​ไม่​ค่อย​ได้ ไม่รู้​เอา​มาจาก สวัสดี ของ​เรา​หรือ​เปล่า (หัวเราะ) แต่​ก็​ไม่​เป็นไร เพราะ​เรา​ก็​ยืม​กัน​ไป​ยืม​กัน​มา​เยอะ เรา​ก็​ยืม​เขา​เยอะ เขา​ก็​ยืม​เรา​เยอะ อย่าง​ราชาศัพท์​นี่​เรา​ยืม​เขา​มานะ บรรทม เสด็จ สมเด็จ เสวย ที่​เขา​เอา​ของ​เรา​ไป​ก็​อย่าง​จำนวนนับ ตั้งแต่ 30 เพราะ​ของ​เขา 1-29 ยัง​เป็น​เขมร​อยู่ แต่​พอ​ขึ้น ซับ​ห้า ซับ​หก ซับ​เจ็ด ไป​หมด​เลย​ไป​ถึง​หมื่น​แสน​ล้าน ก็​ยืม​กัน​ไป​มา คน​เรา​อยู่​ด้วย​กัน อย่า​ไป​คิด​อะไร​มาก 

อย่าง​การ​ออก​เสียง​ควบ ร จริงๆ ของ​ไทย​ไม่​ค่อย​มี แต่​เป็นการ​ยืม​มา​จาก​เขมร จริง​หรือ​เปล่า

ที่​จริง​มัน​มี​นะ​คะ เรา​มี บาง​ถิ่น​มี บาง​ถิ่น​ก็​ไม่มี บาง​ถิ่น​ออก​เสียง​ควบ​ก็​มี แต่​ทีนี้​เรา​ก็​ไม่​ค่อย​แน่ใจ​เหมือน​กัน​ว่า เดิม​คำ​ที่​ควบ ร อาจ​จะ​มี​น้อย แต่​พอ​เรา​มา​รับคำ​บาลี​สันสกฤต​เข้า​ก็​อาจ​จะ​คิด​ว่า​มัน​เก๋​ดี​นะ​มี​เสียง​ควบ​ด้วย เรา​เลย​เติม​ควบ​ไป​เยอะ แต่​ความ​สามารถ​ใน​การ​ออก​เสียง​มัน​ออก​ได้​นะ​คะ แล้ว​ยิ่ง​เรา​ไป​ทาง​ใต้ เขา​ออก​เสียง ร ได้​ชัดเจน แต่​ถ้า​เรา​ไม่​ระวัง ออก​เสียง​ไม่​ชัด นานๆ เข้า​มัน​ก็​จะ​หาย​ไป​ได้ เพราะ​มัน​เป็น​เสียง​ที่​ออก​ยาก อย่าง​ใน​ลาว​มัน​หาย​ไป​เลย คำ​ก็​จะ​หาย​ไป

คำ​เฉพาะ​ที่​มี ร ประกอบ​แต่​ไม่​ออก​เสียง อย่าง ‘จริง’ แม้​เสียง​จะ​ไม่ใช่​ก็​ยัง​ต้อง​มี ร ต่อ​ไป​ใช่​ไหม

จริงๆ อัน​นี้​มัน​เป็น​เรื่อง​ประวัติ​ของ​คำ​นะ​คะ คือ บาง​ถิ่น​ออก​เสียง​ว่า จิง อีก​ถิ่น​หนึ่ง​ออก​เสียง​ว่า ริง ก็​เลย​มา​รวม​เขียน​ไว้​ว่า จริง แต่​ไม่​ออก​เสียง​ไง​คะ จริงๆ คำ​เหล่า​นี้​หลาย​คำ​ก็​กำหนด​ไว้​ไม่​ถูก​เหมือน​กัน เรา​ใช้​ไป​ตาม​ความ​เคยชิน​ทั้ง​นั้น อย่าง​คำ​ว่า สร้าง ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี ร แต่​เรา​ก็​เขียน​อย่าง​นี้​จน​ชิน​แล้ว พอ​เขียน​เป็น​ความ​เคยชิน​แล้ว​เรา​ก็​ไม่​ไป​แก้ เพราะ​ว่า​มัน​ก็​อ่าน​ได้ 

วิธี​การ​อธิบาย​ของ​เรา​คือ​มัน​มี​คำ​อยู่​กลุ่ม​หนึ่ง ดิฉัน​เรียก​ของ​ดิฉัน​เอง​ว่า ‘ร ใบ้’ คือ​เป็น​ตัว​ใบ้​แทรก​ไว้​เฉยๆ มี จริง สร้าง ทรง เศร้า มัน​มี​จำนวน​มาก​พอ เป็นก​ลุ่ม​หนึ่ง แล้ว​มัน​มี​เพื่อน เรา​ก็​จัด​เป็นก​ลุ่ม​ไว้​ว่า เอา​ล่ะ ถึง​มัน​จะ​ไม่​ได้​ออก​เสียง​เหมือน​ตัว​เขียน แต่​มัน​ก็​มี​พรรค​พวก​ที่​เรา​จะ​เอา​ไว้​อ้าง​เป็น​แนว​เทียบ​ได้

การ​ปรับ​ภาษา​ตอน​ยุค​จอมพล ป. ที่​เรียก​กัน​ว่า​ภาษา​วิบัติ ส่ง​ผลก​ระ​ทบ​กับ​ภาษา​ไทย​อย่างไร

มัน​เป็น​ความ​จำเป็น​ทางการ​เมือง คือ​การ​เขียน​อย่าง​นั้น​ก็​ง่าย อ่าน​ง่าย​เขียน​ง่าย ขณะ​เดียวกัน​มัน​ไม่​ทำให้​ทราบ​ที่มา​ของ​คำ แล้ว​ก็​ทำให้​บาง​คำ​ที่มา​จาก​คนละ​ที่​เขียน​เหมือน​กัน​ไป​หมด มัน​ก็​ไม่​เข้าใจ อย่าง รัฐ ที่​แปล​ว่า​ประเทศ กับ รัด ที่​เป็นก​ริยา พอ​เขียน​เหมือน​กัน​หมด​มัน​จะ​งง

สมัย​นั้น​มี​ราช​บัณฑิต​แล้ว​หรือ​ยัง

มี แต่​ว่า​ถูก​การเมือง​บังคับ เขา​บังคับ​ว่า​ให้​แก้ตัว​เขียน​ให้​ง่าย ถ้า​ไม่​ง่าย​เรา​จะ​ต้อง​ไป​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น เพราะ​ญี่ปุ่น​เขา​มี​อำนาจ​คุม​อยู่ เรา​ก็​เลี่ยง​ว่า​ไม่​ยาก​แล้ว…ง่าย​แล้ว​เห็น​มั้ย เหลือ​ไม่​กี่​ตัว ตัว​ไหน​ยากๆ ที่​ไม่​ค่อย​ได้​ใช้​ก็​ตัด​มัน​ทิ้ง​มัน​ไป​ก่อน เอา​เฉพาะ​ง่ายๆ ไว้ แล้ว​ก็​บอก​ญี่ปุ่น​ว่า ง่าย​แล้ว ไม่มี​อะไร​ยาก ญี่ปุ่น​ก็​ยอม เผอิญ​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ญี่ปุ่น​แพ้ มัน​ก็​เป็น​กุศโลบาย​อัน​หนึ่ง ต้อง​เข้าใจ​ว่า​มัน​เป็น​เรื่อง​ที่​เขา​ไม่​ได้​อยาก​ทำ แต่​ว่า​มัน​มี​ความ​จำเป็น มัน​ก็​เป็น​เรื่อง​ของ​ประวัติศาสตร์

ช่วง​นั้น​มี​การ​ทอน​ชนชั้น​ทาง​ภาษา​ลง​ด้วย​ใช่​ไหม เช่น ฉัน กับ คุณ

ใช่ เพื่อ​ไม่​ให้​มัน​ยุ่ง​ยาก เพราะ​ภาษา​ไทย​เรา​มี​สรรพนาม​เยอะ เอา​แค่ ฉัน เธอ คำ​ก็​ง่าย​ลง ไม่​ให้​รู้สึก​ว่า​มัน​มี​ความ​ยุ่ง​ยาก เพราะ​ภาษา​เป็น​เรื่อง​ใหญ่ ภาษา​เป็น​วัฒนธรรม​ซึ่ง​สร้าง​ชาติ​ได้ และ​ญี่ปุ่น​เขา​รู้ เขา​ก็​พยายาม​จะ​กลืน​เรา ให้​รับ​อะไร​ที่​เป็น​ญี่ปุ่น​ให้​มากๆ เรา​ก็​ต้องหา​ทาง​ประ​คับ​ประคอง​รักษา​ตัว​เรา​ให้​รอด ก็​อาจ​จะ​ยอม​เท่า​ที่​จะ​ยอม​ได้ 

ตอน​นั้น​อาจารย์​ทัน​ไหม​ครับ

ทัน (หัวเราะ) เกิด​ปี 2480 ค่ะ ยัง​หนี​สงคราม​อยู่ ต้อง​วิ่ง​หนี​เสียง​หวอ ตอน​กลาง​คืน​เสียง​หวอ​ดัง ก็​ต้อง​ลุก​ขึ้น​เดิน​เข้า​สวน เรา​ก็​ยัง​ไม่​ค่อย​รู้​เรื่อง​นะ แต่​เขา​บอก​ว่า​ถ้า​อยู่​บน​บ้าน​ตอน​เขา​ทิ้ง​ระเบิด​มัน​จะ​ไม่​รอด ก็​ต้อง​ไป​อยู่​ตาม​สวน คือ​คิด​ว่า​ต้นไม้​มัน​จะ​บัง​ได้ บางที​เอา​ใบตอง​มา​บัง​หัว กลัว​เขา​จะ​มอง​เห็น (หัวเราะ) คือ​บ้าน​อยู่​ใกล้​กรม​อู่​ทหาร​เรือ แต่​เรา​ก็​แคล้วคลาด​มา​ได้ ตอน​นั้น​ที่​โดน​คือ​แถว​สะพาน​พุทธ กับ​บางกอกน้อย ที่​มี​เรื่อง คู่​กรรม เพราะ​เป็น​จุดยุทธศาสตร์ เป็น​สถานี​รถไฟ 

ตอน​ญี่ปุ่น​เข้า​มา​เขา​บังคับ​ให้​เรา​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น​หรือ​เปล่า

เรียน ต้อง​เรียน​ค่ะ คือ​ผู้ใหญ่​ก็​อาจ​จะ​ต้อง​ติดต่อ​กัน​เป็น​ภาษา​ญี่ปุ่น ใน​สังคม​ทั่วไป​เรา​ไป​ไหน​ก็ อา​ริ​กา​โตะ บัน​ไซ พูด​กัน​ค่ะ มี​ติดต่อ​กัน​บ้าง บางที​เขา​ก็​มา​เดิน​ซื้อ​ข้าว​ซื้อ​ของ

ถ้า​อย่าง​นั้น​เขา​ก็​ต้อง​เรียน​ภาษา​ไทย​ด้วย?

รู้สึก​ว่า​คง​มี​ล่าม แล้ว​ก่อน​เริ่ม​สงคราม ญี่ปุ่น​เข้า​มา​อยู่​ใน​เมือง​ไทย​เยอะ เข้า​มา​เป็น​หมอ ตั้ง​ร้าน​ขาย​ยา เหมือน​คน​ธรรมดา พอก​อง​ทัพ​ญี่ปุ่น​เข้า​มา​ปุ๊บ รุ่ง​ขึ้น​เขา​ก็​แต่ง​ตัว​เป็น​ทหาร​เลย คน​พวก​นี้​
เขา​ก็​เรียน​ภาษา​ไทย มี​ภรรยา​เป็น​คน​ไทย ก็​เป็น​ล่าม​ให้​เขา​ได้

ตอน​ที่​ชาว​ต่าง​ชาติ​เรียน​ภาษา​ไทย ขั้น​ตอน​ไหน​ยาก​ที่สุด

วรรณยุกต์​ค่ะ คือ​ภาษา​ที่​เขา​ไม่มี​วรรณยุกต์​จะ​มา​เรียน​วรรณยุกต์​เรา​ยาก ภาษา​ที่​มี​วรรณยุกต์ ก็​เรียน​วรรณยุกต์​ยาก เหมือน​ของ​เรา​วรรณยุกต์ 5 เสียง ถ้า​ไป​เรียน​วรรณยุกต์​ใน​ภาษา​เวียดนาม​ก็​เรียน​ยาก รู้สึก​ของ​เขา​จะ​มี 6 เสียง ภาษา​รัสเซีย​ก็​มี​ระดับ​เสียง​วรรณยุกต์​ที่​ยาก คือ​ต้อง​ใช้​การ​ฝึกฝน ใช้​ทักษะ​มาก กว่า​จะ​เข้าใจ​กัน​ดี 

ทุก​วัน​นี้​บาง​คน​พูด​ไทย​คำ​อังกฤษ​คำ​จน​เป็น​ปกติ​ไป​แล้ว อาจารย์​มอง​เรื่อง​นี้​อย่างไร

ก็​เป็น​ห่วง มัน​ไม่ใช่​เพียง​แต่​พูด​ภาษา​อังกฤษ​ได้ หนึ่ง คน​ไทยพูด​ภาษา​ไทย​ปน​อังกฤษ ออก​เสียง​คำ​ภาษา​อังกฤษ​ผิด​เพี้ยน คือ​ไม่​ได้​ใช้​อังกฤษ​แบบ​อังกฤษ มัน​เป็น​อังกฤษ​สำเนียง​ไทย แล้ว​คำ​ภาษา​ไทย​เอง​ก็​ออก​เพี้ยนๆ เป็น​สำเนียง​อังกฤษ ฉะนั้น​มัน​ก็​ไม่​เป็น​อะไร​สัก​อย่าง ถ้า​จะ​พูด​ภาษา​ไทย​ก็​ควร​จะ​พูด​ภาษา​ไทย​ให้​ชัด ถูก​ต้อง​ตาม​จังหวะ ตาม​เสียง​ควบ​กล้ำ ตัว​สะกด การันต์ ตาม​เสียง​วรรณยุกต์ เมื่อ​ใช้​ภาษา​อังกฤษ​ก็​ออก​เสียง​ให้​เป็น​ภาษา​อังกฤษ แล้ว​ระบบ​ไวยากรณ์​ของ​เขา​กับ​ของ​เรา​ก็​ไม่​เหมือน​กัน ต่าง​กัน​เยอะ ไวยากรณ์​อังกฤษ​ต้อง​เรียน ต้อง​ใช้​ให้​ถูก เขา​มี tense มี​เพศ พจน์ อะไร​ตั้ง​หลาย​อย่าง โครงสร้าง​ของ​เขา​ไม่​เหมือน​ของ​เรา เรา​ต้อง​เรียน​ให้​รู้ แล้ว​ก็​ใช้​ให้​ถูก ออก​เสียง​ให้​ได้ 

หรือ​เป็น​เพราะ​เรา​จิตใจ​ดี​ชอบ​รับ​ภาษา​ประเทศ​อื่น?

รับ​มา​แบบ​ไม่​เอา​จริง​เอา​จัง คือ​เวลา​เรียน​ก็​ไม่​เรียน​จริงจัง เรียน​อะไร​ก็​ไม่​ทราบ แล้ว​เวลา​นี้​ให้​ครู​สอน​ภาษา​อังกฤษ​กับ​เด็ก​ประถม เรา​บอก ตาย​แล้ว ครู​น่ะ…รู้​แค่​ไหน เหมือน​ที่​เขา​เล่า​กัน​ว่า มี​ครู ป.1 ให้​อ่าน The ว่า ทะ-ฮี เด็ก​บอก​ว่า​พี่​ให้​อ่าน เดอะ ครู​ถาม​พี่​อยู่ ป. อะไร พี่​อยู่ ป.2 งั้น​ขึ้น ป.2 ค่อย​อ่าน​เดอะ อัน​นี้​เป็น​โจ๊ก​นะ​คะ แล้ว​ก็​มี โซ​เม​ต​ติ​เมส คือ Sometimes (หัวเราะ) มัน​ได้​ยัง​ไง ครู​บาง​คน​เอง​ก็​จะ​เอา​ตัว​ไม่​รอด​อยู่​แล้ว แล้ว​ยัง​ไป​สอน​ที่​ผิดๆ ตั้งแต่​ต้น​อีก เด็ก​ก็​ยิ่ง​แย่ 

แนว​โน้ม​จะ​ยิ่ง​วิบัติ​ไป​มากกว่า​นี้​หรือ​เปล่า โดย​เฉพาะ​ตอน​ที่​เรา​ต้อง​เรียน​ภาษา​อื่น​เพิ่ม​ไป​ด้วย

ยิ่ง​แย่​ลง ผล​การ​เรียน​เห็น​ชัด​เลย​ว่า​เด็ก​เรา​อ่อน​ลง เวลา​นี้​หลาย​โรงเรียน​เรียน​ทั้ง​ไทย จีน อังกฤษ หลาย​ภาษา​เลย จริงๆ รู้​มา​กน่ะ​ดี เรียน​หลาย​ภาษา​ก็​ไม่​เป็น​ปัญหา แต่​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​แต่ละ​ภาษา​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​ตัว แล้ว​ต้อง​เข้าใจ​ภาษา​นั้น​ให้​ถูก​ต้อง​จริงๆ ถ้า​เรียน​อย่าง​ครึ่งๆ กลางๆ อย่าง​นี้​ลำบาก ต่อ​ไป​เด็ก​ไทย​จะ​เป็น​ตัว​ตลก พูด​อะไร​ก็​ผิดๆ ถูกๆ เรา​ก็​อาย​เขา​ใช่​มั้ย​คะ

การ​ถอด​คำ​ภาษา​ไทย​เป็น​ภาษา​อังกฤษ เช่น ชื่อ​คน ชื่อ​เฉพาะ มี​หลัก​อย่างไร

อัน​นี้​ก็​มี​ระบบ​เหมือน​กัน เมื่อ​สอง​สาม​วัน​ก่อน​เพิ่ง​มี​คน​มา​ถาม​ว่า ทำไม​สนาม​บิน​ของ​เรา​ไม่​เขียน สุวรรณภูมิ ไป​เขียน สุ​วรรณ​บูมิ (Suwannabhumi) แล้ว​เขา​ก็​หาไม่​เจอ (หัวเราะ) จริงๆ เรา​ก็​รักษา​อะไร​อยู่​ก็​ไม่​ทราบ ทำให้​เขา​ไม่รู้​เรื่อง มัน​ก็​สื่อ​กัน​ไม่​ได้ ต้อง​เข้าใจ​ว่า​ภาษา​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​สื่อสาร เพื่อ​ให้​เข้าใจ​กัน แต่​ถ้า​ใช้​อย่าง​นี้​มัน​ไม่​เข้าใจ 

ชื่อ​คน​ก็​เหมือน​กัน อย่าง คุณ​อา​ภัส​รา (หงส​กุล) เวลา​ฝรั่ง​เรียก มิ​สอาภัส​รา หงส​กุลา (Apasra Hongsakula) คุณ​อา​ภัส​รา​ก็​ไม่รู้​เรื่อง​ว่า​เรียก​ตัว​เอง

เวลา​เรา​ถอด​ชื่อ​คน​ภาษา​อังกฤษ​มา​เป็น​ไทย มี​หลัก​การ​อะไร​ไหม​ครับ

(หยิบ​รูป​และ​นามบัตร) ให้​ดู​ชื่อ​เลย คน​นี้​ค่ะ ค​ริ​สตี้ กิ๊บ​สัน   

เขา​ไม่​ได้​อ่าน กิ๊บ-สั้น?

เขา​ไม่​สั้น เขา​บอก​ของ​เขา​กิ๊บ​สัน​เลย กิ๊บ ใช้​ไม้ตรี ค​ริ​สตี้ ใช้​ไม้โท พอ​เห็น​แล้ว​เรา​ก็​บอก ดี…ใช้ได้​เลย ตรง​แล้ว เขา​บอก​เขา​เป็น​คน​ไทย เขา​เขียน​ชื่อ​ภาษา​ไทย​ของ​เขา​อย่าง​นี้​แหละ  

อาจารย์​เคย​อ่าน​งาน​ของ​คุณ ’รงค์ วงษ์​สวรรค์ ไหม​ครับ แบบ​นั้น​เรียก​ภาษา​อะไร

เป็น​ภาษา​ประดิษฐ์ เขา​เป็น​นัก​ประพันธ์​ไง​คะ เขา​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ประดิษฐ์​ภาษา​ให้​เกิด​ความ​รู้สึก ให้​เกิด​ความ​ประทับ​ใจ ให้​เกิด​ความ​แปลก​ใหม่ นัก​ประพันธ์​หรือ​กวี​ทั้ง​หลาย​ต้อง​คิด​ภาษา​เหล่า​นี้​ทั้ง​นั้น​ค่ะ

แล้ว​ภาษา​ของ​คุณ ’รงค์ ที่​ถอด​มา​จาก​ภาษา​อังกฤษ​เอง เช่น  พาร์​ตี แพ​รีส?

ก็​เป็น​ความ​เข้าใจ​ของ​คุณ ’รงค์ วงษ์​สวรรค์ เอง ก็​ใช้ได้​ค่ะ อย่าง​น้อย​ก็​คิด​ว่า​ควร​จะ​เป็น​อย่าง​นี้​ตาม​ความ​เห็น​ของ​ท่าน แต่​ใคร​จะ​เห็น​ด้วย​ไม่​เห็น​ด้วย​นี่​อีก​เรื่อง​หนึ่ง อย่าง​น้อย​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เขา​มี​จุดยืน มี​ลักษณะ​ว่า​ต้องการ​จะ​เผย​แพร่​อย่าง​นี้​นะ 

มัน​มี​คำ​หนึ่ง เขา​เรียก​ว่า ‘อหังการ์​ของ​กวี’ เคย​ได้​ยิน​มั้ย​คะ มัน​เป็น​สิ่ง​ที่​บอก​ว่า​คน​ที่​เป็นก​วี เป็น​นัก​ประพันธ์ จะ​มี​ความ​เป็น​ตัว​ของ​ตัว​เอง เขา​ก็​จะ​สร้าง​อะไร​ที่​เป็น​จุด​เด่น​ของ​เขา เพราะ​ฉะนั้น​คำ​อะไร​ที่​มัน​ประ​หลา​ดๆ สำนวน​สวิง​สวาย​หรือ​คำคม ที่​มัน​ไม่​เหมือน​กับ​ภาษา​ของ​คน​อื่น​ที่​เขา​ใช้​กัน​ทั่วไป แล้ว​คน​อื่น​ก็​จะ​บอก​ว่า โอ้…ดี​นะ ทัน​สมัย​ดี​นะ มี​เสียง​ดี​นะ มัน​ก็​เกิด​ขึ้น​ไป​ได้​เรื่อยๆ ที่​เรา​ใช้​ภาษา สำนวน คำคม สุภาษิต​อะไร ก็​ท่าน​เหล่า​นี้​แหละ​คิด​ขึ้น​มา

ถ้า​มี​คน​อย่าง ’รงค์ วงษ์​สวรรค์ เกิด​ขึ้น​อีก​ตอน​นี้​ราช​บัณฑิต​จะ​เต้น​ไหม​ครับ

ไม่​เต้น โดย​เฉพาะ​อาจารย์​กาญจนา​ไม่​เต้น​แน่ (หัวเราะ) เรา​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​ภาษา​มัน​มี​ชีวิต ไม่ใช่​อยู่​นิ่งๆ เรา​จะ​ปล่อย​ให้​มันตา​ยอ​ยู่​อย่าง​นั้น​มัน​ไม่ใช่​หน้าที่​ของ​ภาษา ภาษา​มัน​ต้อง​มี​ชีวิต​ที่​ทำให้​สังคม​หมุนเวียน​เปลี่ยน​ไป พัฒนา​ไป มี​ความ​เจริญ​ความ​ก้าวหน้า อะไร​ที่​มัน​ไม่​ดี มัน​ก็​อยู่​ได้​ไม่​นาน เดี๋ยว​มัน​ก็​หาย​ไป​เอง คน​ก็​ไม่​อยาก​พูด​ถึง

คือ​มัน​ไม่มี​อะไร​แพ้​อะไร​ชนะ มัน​อยู่​ที่​ว่า​คน​รับ​กัน​ได้​แค่​ไหน คน​ที่​พูด​ไม่​เหมือน​คน​อื่น​ว่า​ฉัน​จะ​ออก​เสียง​อย่าง​นี้ ใคร​จะ​ทำไม มัน​ไม่​ได้​มี​ใคร​ไป​ปรับ​หรือ​ไป​ลงโทษ​จับ​เข้า​คุก​หรอก​ค่ะ

เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY#57
ธันวาคม 2555

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า