What is Peacekeeper: ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 การเมืองโลกต้องเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศยอมรับการมีเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และลูฮันสค์ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากยูเครน ประกอบกับการพยายามส่ง ‘ทหารรักษาความสงบ’ (peacekeeper) เข้าไปภายในพื้นที่ขัดแย้ง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐโดเนตสค์และบางส่วนของรัฐลูฮันสค์มีประชากรที่ใช้ภาษารัสเซียค่อนข้างมาก รวมถึงยังเป็นหนึ่งในจุดที่มีความขัดแย้งภายในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนมาอย่างช้านาน ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้รัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลแทรกแซงทางการทหารและการเมืองได้ง่ายกว่าจุดอื่นของยูเครนหลังวิกฤติแหลมไครเมีย

กรณีพิพาทนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการระดมกำลังทหารของรัสเซียครั้งใหญ่กว่า 190,000 นาย รอบชายแดนรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์นี้ทำให้ประเทศในโลกตะวันตกไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการพยายามละเมิดหลักอธิปไตยของยูเครน ขณะที่รัสเซียเองก็อ้างคำกล่าวหานี้ต่อกลุ่มประเทศตะวันตกอย่างพันธมิตร NATO และคู่ขัดแย้งตลอดกาลอย่างสหรัฐอเมริกา

ความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับปัญหารัสเซีย-ยูเครน หากมองย้อนกลับไปในปี 2013 รัสเซียเคยผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเข้าสู่การ ‘อารักขา’ มาแล้ว ปัจจัยทั้งหมดเกิดจากการพยายามทวงคืนอิทธิพลของรัสเซียในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งดูเหมือนยูเครนจะเริ่มโอนเอนเข้าหาชาติตะวันตกและกลุ่มพันธมิตรทางการทหารอย่าง NATO มากขึ้น จนทำให้ประธานาธิบดีปูตินไม่พอใจ ไม่เพียงแต่การพยายามทวงคืนอิทธิพลของรัสเซียเท่านั้น ยูเครนยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียโดยตรง และเป็นทางออกสู่ทะเลดำของรัสเซียอีกด้วย จึงนับได้ว่า ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (Geo-politic) โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางการทหารนับได้ว่าเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในความขัดแย้งนี้

การยอมรับเอกราชของรัฐโดเนตสค์และลูฮันสค์ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญา Minsk 1 และสนธิสัญญา Minsk 2 ที่ลงนามกันเมื่อปี 2014 และปี 2015 ระหว่างยูเครน-รัสเซีย และองค์กรว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) ซึ่งพยายามยุติความขัดแย้งกับกลุ่มที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชในเขตพื้นที่ดังกล่าว แน่นอนว่าการประกาศรับรองเอกราชโดยทันทีของประธานาธิบดีปูตินและการเคลื่อนไหวทางการทหารในครั้งนี้ ส่งผลให้การหารือเพื่อหาทางออกภายใต้สนธิสัญญาตั้งแต่ปี 2014-2015 ของทั้งสามฝ่ายต้องยุติลงทันที 

หลังจากรัสเซียแสดงท่าทีดังกล่าว สหรัฐและกลุ่มประเทศพันธมิตรหลายชาติในสหภาพยุโรปประกาศต่อต้านการกระทำของรัสเซียทันที และอาจนำไปสู่การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังมีทีท่าสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสองรัฐของยูเครนต่อไป ทั้งอย่างเป็นทางการด้วยการลงนามรับรองสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และลูฮันสค์ และอย่างไม่เป็นทางการด้วยการเพิ่มจำนวนทหารและท่าทีที่แสดงถึงความก้าวร้าวทางการทหารเหนือพื้นที่พิพาท

มีการรายงานจากฝั่งรัฐบาลรัสเซียว่า มีทหารจำนวน 5 นาย เสียชีวิตจากการโจมตีของยูเครนในพื้นที่กรณีพิพาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยูเครนได้ให้การปฏิเสธว่าไม่มีการโจมตีเกิดขึ้น และประณามรัสเซียที่สร้าง ‘fake news’ ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศนี้จึงยากที่จะมีการรายงานข่าวความเสียหายหรือเสียชีวิตจากการปะทะที่แน่ชัด และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป 

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า