ซีเรีย สงครามกลางเมืองในมือรัสเซีย

 

ถอยย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 สงครามกลางเมืองซีเรีย ก่อตัวขึ้นในบรรยากาศของอาหรับสปริง โดยตั้งต้นจากการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเพื่อขับไล่ ‘ระบอบอัสซาด’ สถานการณ์เริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่แนวโน้มความรุนแรงเมื่อเด็กหนุ่ม 15 คนถูกจับกุมและซ้อมทรมานจากการพ่นกราฟิตีบนกำแพงในเขตเมืองดารัยอา (Daraa) ด้วยสโลแกนร่วมของการลุกฮือของอาหรับสปริงในประเทศต่างๆ ว่า

“الشعب يريد إسقاط النظام‎‎”

อันหมายถึง “(พวกเรา) ประชาชน ต้องการโค่นล้มระบอบ!” (The people want to topple the regime!) โดย ฮัมซะ อัล-คอตีบ เด็กวัย 13 ปี หนึ่งในผู้ถูกจับกุมถูกสังหารระหว่างการซ้อมทรมานอย่างโหดร้าย กล่าวได้ว่านี่อาจเป็นชนวนเหตุจุดไฟให้กับการเคลื่อนไหวประท้วงที่ขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น ติดตามมาด้วยการที่รัฐบาลของอัสซาดเลือกตอบโต้ประชาชนอย่างหนักหน่วงกว่าเดิม และการก่อตัวขึ้นของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบกลุ่มติดอาวุธ (ซึ่งหลายครั้งกลุ่มเหล่านี้ก็ห้ำหั่นกันเอง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อความรุนแรงกระจายตัวไปทั่ว สงคราม ‘กลางเมือง’ ซีเรีย ก็ไม่เคยเป็นเพียงเรื่อง ‘ภายใน’ ประเทศของพวกเขาอีกต่อไป การสู้รบอันยืดเยื้อ หลายกลุ่มเกี่ยวข้องและห้ำหั่นกันอย่างซับซ้อนราวกับเส้นก๋วยเตี๋ยวที่พันกันไปมา เป็นผลอย่างมากมาจากการแทรกแซงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของตัวแสดงภายนอกประเทศ หนึ่งในนั้นที่มีบทบาทสำคัญก็คือ รัสเซีย อันทำให้ ‘สงครามกลางเมือง’ (civil war) ซีเรีย มีมิติของความเป็น ‘สงครามตัวแทน’ (proxy war) ซ้อนทับอยู่ด้วยในที และสภาพการณ์นี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากในการคลี่คลายยุติความรุนแรงที่ดำเนินมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงพูดกลับกันได้ว่า …และดังนั้นการแสวงหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเหตุการณ์ซีเรีย ก็จำต้องพิจารณาลักษณะสภาพของสงครามตัวแทนที่ว่านี้ด้วยอย่างเลี่ยงมิได้ โดยบทความชิ้นนี้มุ่งนำเสนอหนึ่งในแนวการทำความเข้าใจว่า ทำไมรัสเซียจึงต้องเข้ามาเกี่ยวพันอย่างเข้มข้นในสงครามนี้

ข้อเสนอหลักของผู้เขียนคือ เราจะเข้าใจประเด็นนี้ได้มากขึ้น หากวางเรื่องราวของซีเรียไว้ในฐานะส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อันว่าด้วยการพิจารณาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Consideration) ที่มีขอบเขตระดับโลกของรัสเซีย

1. ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในที่นี้หมายถึงอะไร

ผู้เขียนถอยย้อนกลับไปตั้งหลักจากนิยามของ ซอล บี. โคเฮน (Saul B. Cohen)[1] ที่เสนอว่าภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ของอำนาจการเมืองระหว่างประเทศกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์” (the relation of international political power to the geographical setting) คำว่าภูมิศาสตร์ (geography) ในความสัมพันธ์ข้างต้นนี้ครอบคลุมหลากมิติ ทั้งภูมิศาสตร์ทางกายภาพ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ ขณะเดียวกัน ก็มักถูกใช้บ่อยครั้งไปในทิศทางที่หมายถึง “ที่ตั้งทางกายภาพสำหรับกิจกรรมของมนุษย์” (physical setting for human activity)

การศึกษาภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ได้วางอยู่บนสมุติฐานที่แข็งทื่อว่า สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดเรียกร้องพฤติกรรมทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจง แต่วางอยู่บนสมมุติฐานพื้นฐานห้าเรื่องหลัก คือ

1. สภาพภูมิศาสตร์กำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอาณาเขตของชาติ
2. สภาพภูมิศาสตร์วาดภาพลักษณะทางกายภาพให้กับอาณาเขตนั้นๆ
3. สภาพภูมิศาสตร์แยกความแตกต่างระหว่างอาณาเขตของรัฐหนึ่งจากรัฐอื่น รวมทั้งกำหนดเลือกเพื่อนบ้าน มิตร ศัตรูที่แวดล้อมให้กับอาณาเขตแห่งรัฐนั้น
4. สภาพภูมิศาสตร์กำหนดเขตลุ่มอารยธรรม หรือเขตพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กับหน่วยทางการเมือง
5. สภาพภูมิศาสตร์วางเงื่อนไข ฉาบเคลือบ ส่งอิทธิพลต่อขบวนแห่งทางเลือกทางประวัติศาสตร์ของหน่วยทางการเมืองนั้นๆ

2. ภูมิรัฐศาสตร์กับจินตภาพว่าด้วย ‘โลกของรัสเซีย’

งานวิเคราะห์ของ จอร์จ ฟรีดแมน (George Friedman)[2] เสนอว่า เราจะสามารถเข้าใจตำแหน่งยืนและบทบาทของรัสเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ผ่านการสำรวจตรวจสอบแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อกระแสธารประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียตั้งแต่อดีต ฟรีดแมนอธิบายว่า สภาพที่ตั้งของศูนย์กลางอำนาจ (the core) ของรัสเซียมีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากศูนย์กลางรัฐอื่นหลายแห่ง ประการสำคัญคือ การขาดความสามารถในการป้องกัน (indefensibility) ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเช่นนี้นับตั้งแต่อาณาจักรยุคโบราณอย่าง Muscovy เรื่อยมา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากการตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ปราศจากซึ่งแม่น้ำ หนองน้ำ มหาสมุทร หรือภูเขาในการกั้นขอบเขตอาณาบริเวณ เครื่องป้องกันเขตอำนาจของศูนย์กลางตามธรรมชาติมีเพียงสภาพอากาศอันไม่เป็นมิตรและแนวป่าเพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์ของรัสเซียจึงมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากบันทึกเหตุการณ์ของการดิ้นรนเอาตัวรอดจากการรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งในอดีตนั้น คุกคามเข้ามาจากสองทิศทางหลัก คือแถบทุ่งหญ้าสเต็ปป์จากฝั่งเอเชียกลางและไกลออกไป อันเป็นทิศทางการรุกรานเข้ามาของพวกมองโกล กับอีกทิศทางหนึ่ง คือที่ราบยุโรปตอนเหนือ ตามทัศนะของ Friedman แล้ว การขาดแนวป้องกันตามธรรมชาติเป็นปัจจัย (เชิงภูมิศาสตร์) ที่ผลักดันให้รัสเซียโบราณดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจจนกระทั่งบรรลุความเป็นจักรวรรดิในยุคสมัยของอิวานที่ 4 (Ivan IV Vasilyevich)

ถ้าเราเชื่อตาม Friedman ก็อาจกล่าวได้ว่า ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของศูนย์กลางอำนาจไม่ว่าจะสำหรับรัสเซียโบราณหรือรัสเซียใหม่ ต่างวางเงื่อนไขบังคับให้พวกเขาไม่สามารถวางใจกับการป้องกันประเทศให้กับปัจจัยทางธรรมชาติได้เลย

จากรอยต่อตรงนี้ มาร์ลีน ลารูเอล (Marlene Laruelle) พาเราไปต่อโดยนำเสนอกรอบคิดเรื่อง ‘โลกของรัสเซีย’ (russkii mir; the Russian World) ไว้ในงานศึกษาที่เขียนให้ The Center on Global Interests (CGI) เมื่อปี 2015[3] อันช่วยสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากตัวของสภาพทางภูมิศาสตร์จะกำหนดฉากหลังของการดำเนินพฤติกรรมทางการเมืองในตัวของมันเองแล้ว ‘การให้ความหมาย/ประกอบสร้างความหมาย’ ของมนุษย์ต่อภูมิศาสตร์ที่ตนดำรงและเผชิญอยู่ก็เป็นงานจินตกรรมที่หลอมอัตลักษณ์ ผลประโยชน์ อันกำหนดตำแหน่งที่ยืนและบทบาทอันควรจะเป็นของรัฐตนเองเช่นกัน

ลารูเอลเสนอว่า มโนทัศน์ ‘โลกของรัสเซีย’ นั้นเป็นจินตกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical imagination) ที่มีรากประวัติศาสตร์สืบย้อนกลับไปได้ถึงยุคโบราณ อย่างน้อยคือศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา อันระบุถึงพื้นที่ทางอารยธรรม (civilizational space) ที่รัสเซียเป็นศูนย์กลางของระบบค่านิยม ศูนย์รวมความจงรักภักดีทางการเมือง และเป็นจุดบูรณาการการจัดสรรทางเศรษฐกิจ แต่รูปแบบการตีความในยุคสมัยปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากข้อเขียนของ Petr Shchedrovitsky กับ Efim Ostrovsky เมื่อปี 1999 ซึ่งนิยาม ‘โลกของรัสเซีย’ ว่าหมายถึงเครือข่ายของชุมชนน้อยใหญ่ที่พูดและคิดในภาษาของรัสเซีย รวมทั้งยอมเข้าร่วมเดินในเส้นทางชะตากรรมเดียวกับรัสเซีย โดยมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นศูนย์กลาง

“…It is not a secret that the territory of the Russian Federation
contains only half of this Russian World…” [4]

‘โลกของรัสเซีย’ จึงมีความหมายที่กว้างออกไปเกินขอบเขตอาณาของสหพันธรัฐอย่างกว้างขวาง พร้อมกับมีลักษณะพหุชาติพันธุ์ ทั้งเป็นจินตกรรมนำทางรัสเซียเข้าสู่บริบทของโลกาภิวัตน์โดยไม่เป็นเพียงผู้ตั้งรับ แต่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยง กระชับแน่นทางพื้นที่และเวลาของโลกในยุคสมัยใหม่

…The Russian World, it is the means, the instrument to make Russia and the Russian Federation adapt to globalization. Small countries adapt themselves by letting globalization into them; large ones do so by entering the space of globalization…[5]

ลารูเอลสรุปว่า การผลิตจินตกรรม ‘โลกของรัสเซีย’ เป็นการระบุตำแหน่งที่ยืนของสหพันธรัฐรัสเซียในโลกยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งมีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทน/กระบอกเสียง/ที่รวมเสียงประสานของชนชาติที่ถูกขีดวงอยู่ใน ‘โลก’ ของรัสเซีย ดังนั้นจะเห็นว่า โลกของรัสเซียเป็นจินตกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์[6] ที่รองรับความชอบธรรมให้กับรัสเซียในการ ‘เข้าไป’ ยังพื้นที่รายรอบ โดยเฉพาะอดีตพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่ง หรือเคยเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ยิ่งไปกว่านั้นคือการย้อนกลับไปถึงพื้นที่ที่เคยอยู่ใต้จักรวรรดิของพระเจ้าซาร์ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเห็นว่า ‘พื้นที่อิทธิพล’ ในการรับรู้ หรือการประกาศตำแหน่งยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียปัจจุบันนั้น ครอบคลุมทั้งในเอเชียกลาง ยุโรปตะวันออก และรัฐในคาบสมุทรบอลข่าน

3. ตะวันออกกลางใน ‘โลกของรัสเซีย’

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกมุสลิมในภาพรวม ด้วยแว่นมุมมองต่อภูมิรัฐศาสตร์แบบที่งานชิ้นนี้ใช้ ก็อาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยโบราณที่จักรวรรดิรัสเซียดำเนินนโยบายต่อโลกมุสลิมด้วยตรรกะของการขยายอำนาจที่ตีขอบแผ่อิทธิพลปกคลุมดินแดนแถบคอเคซัส และเอเชียกลาง โดยมีอัฟกานิสถานเป็นเสมือนปีกตอนล่าง (Southern Flank) และต่อมาในยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตได้สร้างความเป็นพันธมิตรกับประเทศอาหรับหลายแห่ง อาทิ อียิปต์ อัลจีเรีย ลิเบีย ซีเรีย อิรัก เยเมน รวมถึงปาเลสไตน์[7]

กระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง รัสเซียจำเป็นต้องพิจารณาแบบแผนความสัมพันธ์ใหม่ต่อพื้นที่เหล่านี้ โดยพยายามดึงเอาพื้นที่ประชิดเข้าอยู่ใน ‘โลกของรัสเซีย’ อย่างชัดเจนและบริหารจัดการได้ ผ่านการสร้างสถาบันระหว่างประเทศกับบรรดาชาติรายรอบ (the Near Abroad) ที่สำคัญคือ

1. องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai Cooperation Organization: SCO) ในปี 1996 ซึ่งนอกจากรัสเซียกับจีน ยังประกอบไปด้วย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน และผู้สังเกตการณ์สี่ชาติ คือ อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน และมองโกเลีย
2. องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (The Collective Security Treaty Organization: CSTO) ในปี 2002 ประกอบด้วย รัสเซีย อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน รวมไปถึงอาร์เมเนีย และเบลารุส
3. สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (The Eurasian Economic Union: EEU) ในปี 2014 อันประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน และอาร์เมเนีย[8]

ส่วนในตะวันออกกลางปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังช่วงอาหรับสปริง เมื่อปี 2011 (The Post Arab Spring World) กล่าวได้ว่า รัสเซียวางข้อพิจารณาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญอยู่สองประการ คือ

ประการแรก รัสเซียมองปรากฏการณ์อาหรับสปริงว่าเป็น ‘สิ่งที่ถูกบงการ’ หรืออย่างน้อยคือ ถูกสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างกระแสเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ เหตุการณ์ที่ประจักษ์ชัดและทำให้รัสเซียหวาดระแวงเจตนาของอเมริกาอย่างมากคือการแทรกแซงลิเบีย และการสนับสนุนทางการเงินให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดในซีเรีย

นอกจากนี้รัสเซียยังมองว่า บทบาทดังกล่าวของอเมริกาและพันธมิตร ส่งผลกระทบข้างเคียงคือการสร้างสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อการเบ่งบานของกลุ่มก่อการร้าย อันจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้นโยบายของรัสเซียต่อตะวันออกกลางจึงสะท้อนปฏิกิริยาโต้ตอบโดยตรงต่อความพยายามของอเมริกาในการรื้อสร้างระเบียบในตะวันออกกลางใหม่ และ

ประการที่สอง ข้อกังวลต่อปัญหาภายในของรัสเซียเอง โดยความหวาดระแวงว่ากระแสการลุกฮือในโลกอาหรับจะส่งผลเชิงจิตวิทยาไหลล้น (spillover effect) ไปปลุกตื่นประชาชนทั้งในประเทศแถบเอเชียกลาง คอเคซัส และภายในรัสเซียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจกระตุ้นแรงบันดาลใจ หรือสนับสนุนร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ หรือคอเคซัสเหนือ การเข้าสนับสนุนช่วยเหลือระบอบการเมืองของประเทศพันธมิตรในตะวันออกกลางที่ถูกท้าทายจากประชาชนตนเอง จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัสเซีย ในการป้องปรามยับยั้งการไหลล้นของกระแสลุกฮือเอาอย่างเช่นเดียวกัน[9]

4. ยุทธศาสตร์ของรัสเซียต่อตะวันออกกลางในยุคหลังเหตุการณ์ไครเมีย

วิกฤตการณ์ยูเครนและการผนวกรวมคาบสมุทรไครเมีย เมื่อปี 2015 ยังเป็นอีกตัวแปรที่ฉาบเคลือบสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศให้มีโฉมหน้าต่างออกไปจากเดิม ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกว่าเป็น ‘โลกยุคหลังเหตุการณ์ไครเมีย’ (The Post-Crimea World) โดยเป็นยุคสมัยที่บรรยากาศแบบสงครามเย็นหวนกลับมาอีกครั้ง ตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและชาติในยุโรปตะวันตก เผชิญหน้ากับรัสเซียอย่างตึงเครียดมากขึ้น โดยต่างแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่อยู่ในพื้นที่แนวเขตปะทะทางอิทธิพลอย่างยูเครน ความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับตะวันตกในยุคหลังเหตุการณ์ไครเมียเป็นปัจจัยเร่งรัดให้รัสเซียต้องจริงจังมากขึ้นในการดำเนินยุทธศาสตร์สองเรื่อง คือ

1. ยุทธศาสตร์ปักหมุดตะวันออก (Pivot to the East)
2. ยุทธศาสตร์ต้านทานอิทธิพลของตะวันตกในตะวันออกกลาง

ทั้งหมดเพื่อย้อนกลับมาตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ของการต่างประเทศรัสเซียที่กำหนดไว้มานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังเป็นแก่นแกนการต่างประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันคือ การสถาปนาโลกแบบหลายขั้วอำนาจ (multipolar world) และรับประกันสถานะมหาอำนาจของรัสเซียในเวทีการเมืองโลก (global status)

การที่รัสเซียตัดสินใจเข้าเกี่ยวพันในสงครามกลางเมืองซีเรียถูกพิจารณาในกรอบของภาพใหญ่ที่กล่าวมาทั้งหมด โดยผู้เขียนคิดว่ามีอย่างน้อยสองแนวการอธิบายที่น่าสนใจจะช่วยถักทอภาพความเข้าใจของเราต่อเหตุการณ์ได้อย่างละเมียดมากขึ้น คือ

1. การพิจารณาเชื่อมโยงกับการเมืองภายในประเทศของรัสเซีย

แนวคำอธิบายนี้ตั้งต้นจากสมมุติฐานที่ว่า ชนชั้นนำรัสเซียมองการเกิดขึ้นของอาหรับสปริงด้วยสายตาหวาดระแวง[10] โดยเห็นว่าอาหรับสปริงเป็นผลจากการครอบงำแทรกแซงของรัฐตะวันตกที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของโลกอาหรับให้เข้าอยู่ในร่องในรอยอันสนองตอบผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตะวันตกเอง และถึงแม้รัสเซียจะแสดงออกถึงมุมมองดังกล่าว รวมทั้งวิพากษ์และประณามการเคลื่อนไหวของมวลชนในบรรดาประเทศที่เกิดอาหรับสปริง

งานของ อเล็กซานเดอร์ ชูมิลิน (Alexander Shumilin) วิเคราะห์ว่า แม้นัยสำคัญของฐานทัพเรือตาร์ตัสและความสัมพันธ์พิเศษอันยาวนานระหว่างรัสเซียกับซีเรียจะเป็นปัจจัยอธิบายเหตุผลได้ดีพอสมควร แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่าในการผลักดันให้รัสเซีย คือ “พลวัตการเมืองภายในรัสเซียอันเชื่อมร้อยกับความคำนึงต่อปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจในการเมืองโลก”

กล่าวคือ ช่วงระยะแรกที่เกิดการลุกฮือในซีเรียนั้น ผู้นำฝ่ายต่อต้านก็ได้พยายามโน้มน้าวให้รัสเซียสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบอัสซาด โดยรับปากว่ารัสเซียจะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานที่เคยมีกับซีเรียตามเดิมหากพวกเขาชนะ แต่จุดที่ชูมิลินมองว่านำไปสู่การขยับของรัสเซียไปสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดอย่างเด่นชัด เป็นผลมาจากการเมืองภายในรัสเซียเองที่การไต่ระดับขึ้นสู่จุดรุนแรงของวิกฤติซีเรียในช่วงสิ้นสุดปี 2011 และเข้าสู่ปี 2012 คาบเกี่ยวกับช่วงจังหวะที่ วลาดิมีร์ ปูติน กลับขึ้นสู่อำนาจในเดือนมีนาคม ปี 2012 ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสโบลอตนายา (Bolotnaya) ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนับเป็นการประท้วงใหญ่ที่สุดในรัสเซียตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990

พลวัตทางการเมืองภายในข้างต้นนี้ รัฐบาลรัสเซียมองว่าเป็นผลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิสมคบคิดที่ขยายไปทั่วโลก (worldwide conspiracy) อันมีอเมริกาและยุโรปเป็นตัวผลักดันจุดกระแส โดยพยายามจะปราบซีเรียก่อน จากนั้นรายถัดไปคือรัสเซีย ด้วยมุมมองเช่นนี้ การปกป้องสนับสนุน ‘รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย’ (legal government) ของ บาชารฺ อัล-อัสซาด จึงเป็นผลประโยชน์ระดับพื้นฐานของรัสเซียด้วยเช่นกัน[11]

2. ความพยายามเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในระบบระหว่างประเทศ

ในงานของ มาคัส คาอีม (Markus Kaim) และ โอลิเวอร์ แทมมินกา (Oliver Tamminga)[12] พวกเขาพาเราไปพิจารณาสำรวจรายละเอียดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในซีเรีย แล้วสร้างข้อวิเคราะห์สรุปที่ว่า รัสเซียเข้าเกี่ยวพันในซีเรียด้วยบทบาทของการปกป้องระบอบอัสซาดจากการต่อต้านของแนวร่วมกลุ่มต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนว่ารัสเซียจะให้น้ำหนักกลุ่มไอเอสเป็นภัยคุกคามลำดับรองของรัฐบาลอัสซาด แต่เป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะเอาไว้ใช้อ้างความชอบธรรมสำหรับการเข้าเกี่ยวพันในซีเรีย

บทบาทปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว รวมทั้งการรัสเซียตัดสินใจเข้าเกี่ยวพันในสงครามกลางเมืองซีเรียอย่างเต็มตัว เป็นผลมาจากการมุ่งบรรลุเป้าหมายสำคัญของการปรับดุลอำนาจโลกด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายของการต่างประเทศรัสเซียที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 นั่นคือ การปรับโครงสร้างอำนาจโลกไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ (multipolar world) และการยืนยันตำแหน่งสถานะของรัสเซียในเวทีโลกในฐานะมหาอำนาจ (Derzhavnost)[13]

โดยจะพบว่า หลังวิกฤติยูเครนเป็นต้นมา รัสเซียเชื่อมโยงการแทรกแซงทางการทหารของตนเองในซีเรียเข้ากับความพยายามทำให้ประชาคมนานาชาติตระหนักในบทบาทของรัสเซีย ในฐานะตัวแสดงศูนย์กลางที่จะช่วยยับยั้งหรือกระทั่งแก้ไขปัญหาซีเรีย ขณะเดียวกัน รัสเซียก็พยายามสร้างแนวร่วมพันธมิตรในโลกอาหรับที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอเมริกา ประกอบด้วยซีเรีย อิหร่าน และอิรัก ซึ่งรัสเซียมองว่ามีความชอบธรรมมากกว่าแนวเครือข่ายอำนาจของอเมริกา เพราะเป็นการสร้างแนวร่วมบนฐานของรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘อยู่บนดิน’ (on the groud)

ส่วนอเมริกานั้น ถูกบ่อนทำลายความชอบธรรมลงไปมากจากกรณีซีเรียที่เข้าไปสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลตามกฎหมาย ซึ่งจัดเป็นความสัมพันธ์แบบใต้ดิน (underground)[14]

ข้อสรุปของคาอีมและแทมมินกาดังกล่าวสำคัญมาก ตรงที่ช่วยยืนยันภาพว่า หากเราพิจารณาภาพรวมของทั้งโลก จะเห็น ‘สงครามตัวแทน’ (proxy war) ที่ซีเรีย เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ นั่นคือ สงครามเย็นยุคใหม่ (new cold war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร NATO ในยุโรป เผชิญหน้ารัสเซียและพันธมิตรในโลกภายนอกยุโรป แนวขัดแย้งในพื้นที่แต่ละแห่งทั้งยูเครนและไครเมีย จอร์เจียและแถบคอเคซัส ซีเรียและแถบอาหรับ รวมไปถึงในกรณีที่เกี่ยวพันกับจีนมากกว่าที่กล่าวมา คือคาบสมุทรเกาหลี และกรณีทะเลจีนใต้ ล้วนสะท้อนภาพใหญ่ที่ว่า โลกยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในห้วงระยะของการปรับโครงสร้างดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจใหม่ (restructuring the balance of power)

5. สรุป

บทความชิ้นนี้มุ่งนำเสนอว่า เราอาจเข้าใจบทบาทของรัสเซียในเหตุการณ์ซีเรียได้รอบด้านขึ้น หากวางอยู่บนแนวความเข้าใจว่า สำหรับรัสเซีย การเข้ามาเกี่ยวพันในสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในระดับโลก (global struggle) การเข้ามาเกี่ยวพันของรัสเซียเป็นไปอย่างมุ่งจัดระเบียบดุลอำนาจในภาพใหญ่ดังที่กล่าวมา เพื่อรับประกันการเข้าถึงเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก และขณะเดียวกันก็จัดการยับยั้งความเสี่ยงภัยคุกคามจาก ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ที่อาจเชื่อมโยงกับกลุ่มในเชเชน คอเคซัส และเอเชียกลาง เสียตั้งแต่ในซีเรีย แทนที่จะรอจัดการในแผ่นดินตนเองอันอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติมากกว่า

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนของรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรียก็ยังมุ่งหมายที่จะยืนยันตำแหน่งแห่งที่ในเวทีการเมืองโลกที่ต้านทานอิทธิพลของตะวันตก (โดยเฉพาะอเมริกา) ในพื้นที่ที่มิใช่ตะวันตก (โดยเฉพาะภูมิภาคที่รัสเซียพยายามสร้างแนวร่วมกำหนดระเบียบกติกา และแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตนได้เปรียบ) แล้วผลักดันให้อเมริกาจำต้องยอมรับโลกแบบหลายขั้วอำนาจที่รัสเซียกับจีนเล่นบทบาทสำคัญในการตัดสินใจความเป็นไปของโลกได้เทียมเท่ากับอเมริกาและยุโรปตะวันตก [15]

ในแง่นี้แล้วจะเห็นว่า หากย้อนกลับไปพูดในภาษาของบริซินสกี (Zbigniew Brzezinski) เจ้าของงานชิ้นเอกเรื่อง ‘The Grand Chessboard’ อันกล่าวกันว่า สะท้อนโลกทัศน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ของอเมริกาในช่วงสงครามเย็นได้เป็นอย่างดีแล้ว สิ่งที่อาจเป็นเจตนาของรัสเซียในการเข้าเกี่ยวพันเหตุการณ์ซีเรีย รวมทั้งตะวันออกกลาง ก็คือ การทำให้เกมกระดานอำนาจนั้นยุ่งเหยิงปั่นป่วนและเสียกระบวน (Disrupting Chessboard) เพื่อวางเงื่อนไขให้การเดินหมากของฝ่ายตรงข้ามเป็นไปในเกมที่รัสเซียต้องการ[16]

กล่าวคือ หากพิจารณาในภาพใหญ่ รัสเซียมีองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) เป็นจุดศูนย์ดุลของความสัมพันธ์ร่วมกับจีนในแถบเอเชียกลาง และมีแกนของแนวร่วมในตะวันออกกลางที่เรียกว่า ‘RSII Coalition’ อันประกอบด้วยรัสเซีย ซีเรีย อิหร่าน และอิรัก แนวร่วมนี้มีอีกชื่อเล่นว่า แนวร่วม ‘4+1’ เพราะนอกจากสี่ประเทศที่กล่าวมาแล้ว บางครั้งก็นับรวมกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะฮฺ เป็น ‘plus 1’ เข้ามาในแกนนี้ด้วย แนวร่วม RSII หรือ 4+1 นี้ประกาศจุดประสงค์อย่างเป็นทางการว่าคือการร่วมกันต่อสู้กับไอซิส ตลอดจนช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียต่อสู้กับ ‘กลุ่มก่อการร้าย’ โดยมีการตั้งศูนย์ข้อมูลร่วมและศูนย์ประสานงานอยู่ที่แบกแดด และดามัสกัส แต่กระนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ‘การแยกวง’ กับอเมริกาในตัวของมันเองแล้วก็สะท้อนถึงการสร้างแนวร่วมขึ้นมาบนฐานของการไม่เอาอเมริกานั่นเอง

ความน่าสนใจมีมากขึ้น หากเราพิจารณาจากมุมของอิหร่านประกอบ อิหร่านเองก็มีแนวร่วมที่เรียกกันว่า ‘แกน (ชีอะฮฺ) เพื่อการต่อต้านขัดขืน’ (Shiite’s Axis of Resistance) อันประกอบด้วยอิหร่าน ซีเรีย อิรัก และกลุ่มฮิซบอลเลาะฮฺ บางครั้งก็นับรวมกลุ่มฮูธี (Houthi) ในเยเมนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ เป็นพันธมิตรต่อต้านตะวันตกและอิสราเอล[17] ต่อมาเมื่อรัสเซียส่งกองกำลังเข้ามาช่วยรัฐบาลอัสซาด ในท้องตลาดดามัสกัสก็ปรากฏภาพโปสเตอร์ผู้นำชาติอิหร่าน ซีเรีย กองกำลังฮิซบอลเลาะฮฺ และปูติน ขึ้นเคียงข้างกัน [18] อันสะท้อนแนวโน้มของการขยายความลึกและเข้มข้นของแนวร่วมที่รัสเซียเกี่ยวพันในภูมิภาคไม่มากก็น้อย นอกไปจากนี้แล้ว อีกแนวร่วมที่มักถูกพูดถึงกันหลังเหตุรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีคือแกนระหว่างรัสเซีย อิหร่าน และตุรกี ว่าจะเป็นแกนความร่วมมือระหว่างรัฐที่มีบทบาทหลักในการรักษาดุลอำนาจของตะวันออกกลางในอนาคต[19]

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดคือแนวร่วมที่รัสเซียมีบทบาทนำนั้นได้ขยายวงออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในตะวันออกกลาง คู่ขนานกันกับแนวร่วมของอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และประเทศริมอ่าวอาหรับ แนวร่วมของรัสเซียนั้นดูเหมือนจะมีจุดร่วมกันอยู่ที่การต้านทานอิทธิพลของตะวันตกในตะวันออกกลาง และถักทอความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันระหว่างรัฐในยูเรเซีย เพื่อสร้างดุลอำนาจใหม่ในการต่อสู้ต่อรองกับตะวันตกในภาพของโลกหลายขั้วอำนาจ


[1] Saul B. Cohen. Geography and Politics in a Divided World. London: Methuen, 1964. p.4, cited in Colin S. Gray. “The Continued Primacy of Geography”, in Orbis.

[2] George Friedman. “The Geopolitics of Russia: Permanent Struggle”, in Stratfor. (online), http://www.colo rado.edu/geography/class_homepages/geog_4892_sum10/Geopoliticsofrussia_stratfor.pdf. access 4 Feb 2017.

[3] Marlene Laruelle. The “Russian World”: Russia’s Soft Power and Geopolitical Imagination. Washington DC: The Center on Global Interests (CGI), 2015. (online). http://globalinterests.org/wp-content/uploads/2015/ 05/FINAL-CGI_Russian-World_Marlene-Laruelle.pdf. access 4 Feb 2017.

[4] Efim Ostrovskii, Petr Shchedrovitskii, “Rossiia: strana, kotoroi ne bylo. Sozdat’ ‘imidzh’ Rossii segodnia oznachaet postroit’ novoiu sistemu sviazei mezhdu russkimi,” Russkii Arkhipelag, 1999, http://www.archipelag.ru/ru_mir/history/history99-00/shedrovicky-possia-no/, cited in Marlene Laruelle. The “Russian World”: Russia’s Soft Power and Geopolitical Imagination.

[5] Petr Shchedrovitskii, “Russkii Mir: vosstanovlenie konteksta,” Russkii Arkhipelag , September 2001, http://www.archipelag.ru/ru_mir/history/history01/shedrovitsky-russmir/, cited in Marlene Laruelle. The “Russian World”: Russia’s Soft Power and Geopolitical Imagination.

[6] นอกจากบรรดางานเขียนของสถาบันแห่งรัสเซีย (Russian Institute) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างความหมายของ “โลกของรัสเซีย” ในบริบทช่วงทศวรรษที่ 1990 แล้ว ในเวลาถัดมา ช่วง ค.ศ.2001-2002 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังได้ประดิษฐ์คำใหม่ขึ้นมาเสริมในกรอบคิดโลกของรัสเซียข้างต้น คือคำว่า “เพื่อนร่วมชาติ” (compatriots) ซึ่งเป็นการขยับขยายความหมายของ “คนชาติ” จากพลเมืองรัสเซีย ไปสู่การขีดวงรวมเอาคนจำนวนมากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งสำนึก ตราบใดที่พวกเขาเหล่านั้น พูดภาษารัสเซีย นิยมวัฒนธรรมรัสเซีย และนิยามตัวตนพวกเขาเองอยู่ในชะตากรรมทางเดินของรัสเซีย, in Marlene Laruelle. The “Russian World”: Russia’s Soft Power and Geopolitical Imagination. p.7-8.

[7] Eric Walberg. “Russia and the Muslim World”, in Leonard Savin (ed.). Journal of Eurasian Affairs. Vol.1, No.1, 2013. p.85.

[8] Ibid. p.86.

[9] Ibid. p.86-87.

[10] เช่น Alexander Shumilin. “Russia’s Diplomacy in the Middle East: Back to Geopolitics”, in Russie.Nei.Visions. No.93, May 2016; อนึ่ง ยังมีงานวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่วิเคราะห์ในภาพมุมมองแบบนี้ แต่ด้วยเงื่อนเวลาอันจำกัด ผู้เขียนจึงไม่สามารถรวบรวมมาเป็นหลักฐานสนับสนุนได้มากเท่าที่ควรจะเป็น.

[11] Alexander Shumilin. “Russia’s Diplomacy in the Middle East: Back to Geopolitics”. p.11-12.

[12] Markus Kaim and Oliver Tamminga. Russia’s Military Intervention in Syria. Stiftung Wissenschaft und Politik (SWP;) Comments 48. November 2015.

[13] Jeffrey Mankoff. Russian Foreign Policy: The Return of Great Power Politics (2nd ed.). Plymouth, UK: Rowman & Littlefield Publishers, 2012. p.63 and; Julie Newton and William Tompson (eds.). Institutions, Ideas and Leadership in Russian Politics. NY: Palgrave Macmillan, 2010. p.99.

[14] Markus Kaim and Oliver Tamminga. Russia’s Military Intervention in Syria. p.3.

[15] Jamal Wakim. “Russian Troops in Syria: Ensuring Access to the East Mediterranean”. p.29.

[16] Payam Mohseni (ed.). Disrupting the Chessboard: Perspectives on the Russian Intervention in Syria. Belfer Center for Science and International Affairs, Harvard Kennedy School, 2015.

[17] International Crisis Group. Drums of War: Israel and the “Axis of Resistance”. Middle East Report N°97, 2 August 2010 and; Jubin Goodarzi. Iran and Syria at the Crossroads: The Fall of the Tehran-Damascus Axis?. Wilson Center, Viewpoints No.35, August 2013. (online). https://www.wilsoncenter.org/sites/default/files/iran_syria_crossroads_fall _tehran_damascus_axis.pdf. access 19 May 2017.

[18] David Schenker. “Putin and the Shiite ‘Axis of Resistance'”, in the Hill. (online). http://thehill.com/blogs/pundits-blog/defense/256164-putin-and-the-shiite-axis-of-resistance. access 19 May 2017.

[19] Kenneth R. Timmerman. “THE TURKEY-RUSSIA-IRAN AXIS”, in Frontpage Mag. (online). http://www.frontpagemag.com/ fpm/263922/turkey-russia-iran-axis-kenneth-r-timmerman. access 19 May 2017.

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า