ไม่เพียงหญิงสาวที่ควรหันมาใส่ใจกับส่วนผสมในเครื่องสำอางให้มากขึ้น แต่ชายหนุ่มและทุกคน น่าจะเริ่มสังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่ใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู หรือโลชั่น ว่าเราพอจะคุ้นหูสารเคมีตัวใดบ้าง เพราะแต่ละวัน ผู้หญิงชาวอเมริกันใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย 12 ชนิดต่อวัน ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีตั้งแต่ 126 ชนิดขึ้นไป
เครื่องสำอางของสาวๆ และสารเคมีที่พบได้
รองพื้น: โลหะหนัก อาทิ อาร์เซนิก ไทเทเนียมไดออกไซด์
อายแชโดว์: ฟอร์มัลดีไฮด์ / โลหะหนัก / mineral oils ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
อายไลเนอร์: โลหะหนัก / คาร์บอนแบล็ค
มาสคารา: ฟอร์มัลดีไฮด์ / คาร์บอนแบล็ค
บลัช: พาราเบนส์ (สารกันเสียยอดนิยม) / ทัลก์ / mineral oils
ลิปสติก: ตะกั่ว / BHA (สารกันเสีย) / mineral oils
โดยสารเคมีเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ส่งผลให้เกิดสภาวะมีบุตรยาก ไปจนถึงภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์
แจเน็ต นูเดลแมน ผู้อำนวยการด้านโครงการและนโยบายของกองทุนมะเร็งเต้านม (Breast Cancer Fund) และผู้จัดการโครงการ Campaign for Safe Cosmetics ในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลว่า มีสารเคมีกว่า 10,000 ชนิดอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย
ภายใต้กฎหมายสหรัฐ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและส่วนผสมต่างๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ก่อนการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ แม้จะพบสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว อาทิ พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ (สารตัวเดียวกับฟอร์มาลิน แต่ฟอร์มาลินอยู่ในสถานะของเหลว ส่วนฟอร์มัลดีไฮด์มีสถานะเป็นก๊าซ) ในผลิตภัณฑ์ของบรรษัทใหญ่บางราย แต่กลับไม่มีการเรียกคืนสินค้าแต่อย่างใด
นูเดลแมนเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ผู้บริโภคสหรัฐโดยเฉพาะหญิงสาวอยู่ในข่ายน่าเป็นห่วง จากสถิติที่สหภาพยุโรปแบนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากกว่า 1,300 ชนิด แต่ในสหรัฐมีการห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้เพียง 11 ชนิด
นอกจากคำแนะนำในการสังเกตส่วนผสมบนฉลากก่อนเลือกซื้อ โดยยิ่งมีส่วนผสมน้อยอย่างเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มจะปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น เธอยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมกลิ่น (fragrance) เพราะคำนี้คำเดียว อาจมีสารเคมีซ่อนตัวอยู่หลายสิบตัว ดังที่มีแคมเปญรณรงค์เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตสเปรย์ระงับกลิ่นกายให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าผสมสารเคมีตัวใดลงไปบ้าง เพราะมีข้อมูลว่า มีผู้แพ้กลิ่นสังเคราะห์เหล่านี้ระหว่าง 2-11 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่ปลอดภัยด้วยตัวเองได้ที่
Skin Deep
Think Dirty
Good Guide
อ้างอิงข้อมูลจาก:
breastcancerfund.org
safecosmetics.org
ajplus.net