เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
หลังจาก ISIS เข้าสู่ซีเรียเพื่อก่อตั้งดินแดนของตนเองในรูปแบบรัฐคาลิเฟต (Caliphate) ในปี 2014 คลื่นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2011 จากการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล ฮัดซาด ก็เพิ่มจำนวนสูงขึ้น ผู้คนที่ต่างปรารถนาชีวิตสุขสงบ กลับต้องเร่ร่อนออกจาก ‘บ้าน’ เพื่อไปแสวงหา ‘บ้านใหม่’ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นได้เพียงที่พักพิงชั่วคราวในนามของค่ายผู้ลี้ภัยตามพรมแดนระหว่างประเทศที่ติดกับซีเรีย
หนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองมะฟรัค (Mafraq) ประเทศจอร์แดน เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลจอร์แดนเพื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามาจากซีเรียเป็นจำนวนถึง 85,000 คน
ไม่นับอีก 950,000 คนที่ลี้ภัยเข้าสู่ยุโรป บ้างรอด บ้างเสียชีวิต ในจำนวนนี้มีตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงผู้ใหญ่
ผู้คนเหล่านี้ล้วนเฝ้าฝันถึงวันคืนกลับสู่บ้านเกิด สำหรับบางคน บ้านเกิดของพวกเขาเป็นได้แต่เพียงวิหารอันว่างเปล่า ที่มีเพียงความทรงจำไว้ตอกย้ำสิ่งที่สูญเสียไป
เพื่อนบ้านที่ไกลเกินใกล้
ไกลออกไป สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศตะวันตกที่เปิดรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียก่อนการมาถึงของ ประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ แซค อินกราสกี (Zach Ingrasci) และ คริส เทมเปิล (Chris Temple) สองนักทำภาพยนตร์สารคดีอิสระ เริ่มต้นวิถีกระบอกเสียงผ่านภาพยนตร์ให้กับผู้คนชายขอบของสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พวกเขาคุยกันถึงสิ่งที่จะทำได้ สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนชาวซีเรียในฐานะมนุษย์เหมือนชาวอเมริกัน ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายกระหายเลือด ด้วยภาพจำที่กลุ่มอัลกออิดะห์ได้สร้างไว้ และ ISIS ได้ทำการสานต่อ เพื่อจะบอกกล่าวแก่ชนชาวอเมริกันว่าพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กว่าที่ชาวอเมริกันคิด แม้ความจริงแล้วซีเรียจะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก
ภาพยนตร์สารคดีในชื่อ Salam Neighbor จึงเกิดขึ้นมาเพื่อส่งต่อสารนั้น และได้ถูกรำมาจัดฉายพร้อมเวทีเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 11 กันยายน 2560
ใจกลางค่ายซะอะฮฺตารี
เมื่อแรกที่มาถึงเมืองมะฟรัค คริสและแซ็คยังไม่รู้พวกเขาจะเผชิญกับสิ่งใด จะถูกไล่กลับหรือต้อนรับด้วยไมตรีจากผู้คน เขาไม่มีทางรู้ จนเมื่อผู้ประสานงานของ UNHCR พาพวกเขาเข้าสู่ใจกลางค่ายซะอะฮฺตารี (Zaatari) พวกเขาจึงได้รู้ตลอดสองเดือนที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ลี้ภัยที่นั่นว่า พวกเขาคิดผิดไปไกลจากความเป็นจริง
ตัวแทนของ UNHCR บอกกล่าวแก่พวกเขาว่า ในแต่ละวัน น้ำเป็นปัจจัยสำคัญและมีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ภาพจากภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงสภาพของค่ายซะอะฮฺตารีที่ไม่ต่างจากเมืองเมืองหนึ่ง เต็นท์แต่ละหลังเปรียบได้ดั่งบ้านที่แออัดอยู่ภายในค่าย ใต้แสงแดดแผดเผากลางทะเลทราย ที่ดูจะไม่อาทรต่อชะตากรรมของมนุษย์ ทำให้อดนึกถึง ‘ดวงอาทิตย์’ ในฐานะตัวละครหนึ่งในนิยายรางวัลโนเบลของ อัลแบร์ กามูส์ ขึ้นมาไม่ได้
ในขณะที่น้ำและอาหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่ UN มีงบประมาณเกินครึ่งมาเล็กน้อยจากจำนวนประเทศที่ให้การสนับสนุน ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจึงต้องจับคู่กับชาวจอร์แดนเพื่อออกไปหางานทำ บ้างนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในค่าย จนตัวแทนของ UNHCR ถึงกลับเอ่ยปากว่า ไม่เคยเห็นค่ายผู้ลี้ภัยที่เงินสะพัดเท่านี้มาก่อน
เส้นทางผ่านทะเลทราย
ทุกๆ วันมีผู้คนอพยพมาจากซีเรีย อียิปต์ อิรัก เนื่องจากการสู้รบระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับ ISIS ยังคงดำเนินอยู่
สำหรับคนอาหรับแล้ว สถานะของการเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ คือคนที่ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านเกิดมา
“อารมณ์ของเราถูกทำลาย เราลืมที่จะรู้สึกไปเลย ถ้าไม่ใช่เพราะอัลลอฮฺ ผมคงฆ่าตัวตายไปแล้ว”
เสียงจาก อิสมาอิล ชายหนุ่มในวัยนักศึกษา ที่ปรารถนาเพียงได้กลับไปเรียนต่อ บอกกล่าวกับแซ็คและคริส ขณะที่ภาพฉายให้เห็นทิวทัศน์ของทะเลทรายยามค่ำที่งดงาม หากแต่แฝงด้วยอันตรายจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น
“ฉันไม่ได้เอาอะไรมาเลย นอกจากเสื้อชุดนี้เท่านั้น ถ้าไม่มีเสื้อผ้า ฉันคงหนาวตายในทะเลทราย” น้ำเสียงสั่นสะเทือนของหญิงสาวหนึ่งใน ‘ผู้ลี้ภัย’ บอกเล่า
แม่เลี้ยงเดี่ยวในมะฟรัค
ภาพตัดสลับกลับมายังมะฟรัค นอกจากผู้ลี้ภัยหญิงที่มีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียว ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โดยเฉพาะผู้หญิง จำต้องหาอะไรสักอย่างทำเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและลูก
กาลฮอลูซุน เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หนีภัยสู้รบมาอยู่ที่เมืองมะฟรัคก่อนมีค่าย และใช้ชีวิตด้วยการทำริบบิ้นประดับฮิญาบเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ขณะที่สามียังอยู่ในบ้านเกิด เหมือนกับผู้หญิงซีเรียอีกหลายคน ในแต่ละวัน เธอจะเดินเก็บถุงพลาสติกในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้พลัดพรากท่ามกลางเสียงหัวเราะ เพื่อนำกลับไปประดิษฐ์เป็นริบบิ้นประดับฮิญาบ ด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ งานประดิษฐ์เหล่านี้ก่อให้เกิดความสนใจต่อเจ้าหน้าที่ UN จนนำไปสู่การจัดแสดงนิทรรศการที่ดึงดูดผู้สนใจงานฝีมือเหล่านี้ และสามารถขายได้ถึงชิ้นละ 70 ดอลลาร์
“ฉันจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อวันเพื่อทำสิ่งนี้ เดือนหนึ่งขายได้ราว 200 ชิ้น สำหรับผู้หญิงเรา ฮิญาบเปรียบเหมือนมงกุฎ”
โรงเรียนในภาพฝัน
ถ้าการตระเวนเก็บถุงพลาสติกของกาลฮอลูซุน คือการประดิษฐ์สร้างมงกุฎขึ้นมาประดับ การเที่ยวเล่นและวิ่งไปทั่วค่ายของ ราอุฟ เด็กชายวัย 10 ขวบที่ควรจะอยู่ในโรงเรียนเพื่อก้าวตามฝันจะเป็นหมอรักษาคนเจ็บ ก็เป็นการลบลืมความทรงจำอันเจ็บปวดจากการที่โรงเรียนในบ้านเกิดต้องถูกทำลายด้วยระเบิดจากการสู้รบ
อาบู มูฮัมเหม็ด พ่อของราอุฟ ถ่ายทอดให้กับคริสและแซ็คฟัง แทนคำพูดที่เด็กชายไม่อยากจะเอ่ยถึง
“พ่ออย่าให้ผมไปโรงเรียนเลยนะ โรงเรียนผมพังหมดแล้ว”
สำหรับราอุฟ เกมบนสมาร์ทโฟนซึ่งมีเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างชนชาติต่างๆ ในอาหรับ เป็นความจริงเสียยิ่งกว่าความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า
สงครามของพวกเขา
23 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา สตาฟฟาน เดอ มิสทูรา (Staffan de Mistura) ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำซีเรีย บอกว่า เขา “ไม่ได้คาดหวังความก้าวหน้า” ในการเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วงที่มี ISIS เข้ามาร่วมสู้รบด้วย ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกล่าวอย่างถึงที่สุด อาจนับได้ว่าเป็นความน่าผิดหวังของประเทศมหาอำนาจที่จะแสดงความจริงใจในการยุติสงครามที่มีประชาชนอย่างน้อย 300,000 คนถูกฆ่าตาย นับตั้งแต่การสู้รบเริ่มต้นในปี 2011
ตัดกลับมาที่ภาพยนตร์ บรรยากาศในค่ายสับสนอลหม่าน ผู้คนต่างออกมาคลาคล่ำบน ‘ชองส์ เซลิเซส์’ ถนนที่ตัดผ่านใจกลางค่ายของพวกเขา เพื่อประท้วงต่อการเจรจาที่ล้มเหลว ณ กรุงเจนีวา ซึ่งอยู่ห่างจากค่ายไปเกือบ 5,000 กิโลเมตร ผู้อพยพในค่ายประกาศว่า จะไม่ยอมก้มหัวให้กับใครนอกจากอัลลอฮฺ ขณะที่ข้อเท็จจริง สงครามอยู่ห่างจากพวกเขาไปเพียง 11 กิโลเมตร
เกมบนสมาร์ทโฟนในมือของราอุฟยังคงผลัดกันแพ้ชนะเพื่อเริ่มต้นใหม่ต่อไป
เราต่างคือผู้ลี้ภัย
การประท้วงยุติ บรรยากาศในค่ายกลับคืนสู่ปกติ แต่ลึกลงไปภายใต้ความสงบนั้นมีบาดแผล มีความเจ็บปวดที่ไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนกี่ปีจึงจะคลี่คลาย
คัสเซ็ม เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการช่วยเหลือนานาชาติ (International Rescue Committee: IRC) ซึ่งทำหน้าที่เยียวยาผู้ลี้ภัย – เขา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยมองว่า การนั่งอยู่ในเต็นท์รังแต่จะอมทุกข์ จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง การใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อพูดคุยกับคนในค่าย คืองานที่ทำให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาเชื่อ นั่นคือ ช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อนมนุษย์
“ผู้หญิงและเด็กคือเหยื่อของสงคราม” เขาบอกกับคริสและแซ็ค ในขณะที่ภาพตัดไปยังบ้านของกาลฮอลูซุนที่มะฟรัค เธอและลูกทั้งสองยังคงใช้ชีวิตด้วยการประดิษฐ์ริบบิ้นประดับฮิญาบจากถุงพลาสติกที่ปลิวว่อนอยู่บนถนนจากลมทะเลทรายต่อไป โดยยังไม่มีคำตอบว่าเมื่อไหร่สงครามจะยุติ เช่นกันกับอิสมาอิล ที่ยังหวังถึงวันได้กลับไปเรียนต่อ และเช่นกันกับราอุฟ ที่ฝันถึงวันที่โรงเรียนเดิมกลับคืนมาหลังพังทลายไปด้วยไฟสงคราม
“จริงอยู่ที่เราคือผู้ลี้ภัย ไม่ใช่แค่ในจอร์แดน แต่ทั่วโลก” คำพูดของกาลฮอลูซุนบอกกับเรา ไม่ใช่แค่คริสและแซ็ค ซึ่งยิ่งตอกย้ำด้วยคำพูดของแซ็คที่กล่าวว่า
“ผมเดินทางมาที่นี่เพื่อจะนำเรื่องราวกลับไปบอกกล่าวให้คนอเมริกันเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนอเมริกาหรือซีเรีย สิ่งที่เราได้กลับมา คือเราต่างเป็นเพื่อนบ้านซึ่งกันและกัน”