ซัลมาน รัชดี: นักเขียนผู้ถูกตั้งค่าหัว ความน่าหวาดกลัวจากความคิดสุดโต่ง

ปากกาทรงพลังกว่าอาวุธ คำกล่าวทรงพลังในหน้าประวัติศาสตร์อาจลืมนึกไปว่า บางครั้งอาวุธก็ถูกใช้กับมือที่ถือปากกาเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญในขณะนี้คือความพยายามลอบสังหาร ซัลมาน รัชดี นักเขียนนิยายชื่อดัง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2022 ในงานกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองชาโตกัว (Chautauqua) มลรัฐนิวยอร์ก ที่ผ่านมา

แม้ขณะนี้สื่อหลายแห่งยังไม่ทราบอาการที่แน่ชัดหลังรัชดีถูกแทงด้วยมีด แต่หากมองย้อนกลับในจะพบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามลอบสังหาร นักเขียนผู้นี้จำเป็นต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ มาตั้งแต่ปี 1988 และมีการตั้งค่าหัวของเขาเป็นเงินปริมาณมหาศาลจากผู้นำสูงสุดของอิหร่านอีกด้วย

ดูเหมือนว่าทิศทางของความคิดสร้างสรรค์และเสรีภาพในการพูดนั้นถูกสั่นคลอนอยู่เรื่อยๆ หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของงานเขียนที่ส่งผลให้ชีวิตรัชดีต้องไปยืนอยู่บนเส้นแบ่งของชีวิตและความตายเช่นนี้ นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในการเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว

ว่าด้วยศาสนาและการวิพากษ์ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เขาต้องหลบซ่อน

รัชดีเกิดที่อินเดียแต่ไปศึกษาต่อยังอังกฤษ เมื่อมีความฝันที่จะเป็นนักเขียนก็ทำให้นิยายเล่มแรกของเขาลืมตาดูโลกในปี 1975 ทว่าเรื่อง Grimus กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนต้องรอถึงปี 1981 ที่เขาแต่งนิยายเล่มที่สองชื่อ Midnight’s Children ขึ้นจนเป็นที่รู้จักในสังคม และได้รางวัล Booker Prize ในปี 1981 ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนิยายเล่มที่ดีที่สุดในหมู่เล่มที่ได้รับรางวัล โดยเนื้อเรื่องเล่าถึงเด็กอินเดียคนหนึ่งที่เกิดมีพลังวิเศษขึ้นมาในคืนที่อินเดียกำลังสร้างรัฐชาติขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับงานชิ้นที่สามของเขา ‘Shame’ ในปี 1983 ที่เล่าถึงความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในปากีสถาน

ในปี 1988 เขาได้เขียนงานที่จะส่งผลระยะยาวตลอดชีวิตของเขาออกมา นั่นคือ ‘The Satanic Veres’ ประกอบด้วยเรื่องเล่าหลายเรื่อง โดยหนึ่งในนั้นเล่าเรื่องของตัวเอกสองคนผู้กำลังเดินทางจากอินเดียไปอังกฤษ ทว่าเครื่องบินกลับตกลงบริเวณช่องแคบอังกฤษและเมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมาหลังรอดชีวิต ตัวเอกคนหนึ่งมีอัตลักษณ์แบบเทวดา ‘กาเบรียล’ ขณะที่อีกคนกลับมีอัตลักษณ์เป็นปีศาจ ซึ่งทำให้ทั้งสองต้องเจอกับความวุ่นวายด้านกฎหมายคนเข้าเมืองที่มองพวกเขาเป็นคนต่างด้าว ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะทางจิตที่ถดถอย

อย่างไรก็ตาม การใช้ชื่อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์กุรอาน และเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นอย่างมาก ทำให้ชุมชนมุสลิมหลายแห่งทั่วโลกไม่พอใจ ถึงขนาดที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ตั้งค่าหัวเขาผ่านสถานีวิทยุเตหะราน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1989 จนทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนในความดูแลของตำรวจไปอีกหลายปี รวมถึงยังเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรและอิหร่านขาดสะบั้นลงในช่วงปี 1989 อีกด้วย

หนังสือที่ถูกต่อต้าน สู่การเผาตำรา พยายามฆ่าผู้เกี่ยวข้อง

มีประเทศในโลกนี้ประมาณ 13 แห่งที่แบนหนังสือ The Satanic Veres ของรัชดี ซึ่งรัชดีก็ได้ออกมาตอบโต้ในปี 1989 จากบทสัมภาษณ์ใน The Observer ว่า “หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือต่อต้านศาสนา แต่เขียนถึงผู้ลี้ภัย ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น”

หลังจากนั้น ร้านหนังสือที่มีผลงานของรัชดีวางขายอยู่ต่างถูกวางเพลิง ขณะเดียวกันในหลายประเทศมุสลิมทั่วโลกก็จัดการเดินขบวนประท้วงเผาหนังสือเล่มนี้ เกิดความรุนแรงจากการเดินขบวนตามจุดต่างๆ ประปราย ที่สำคัญที่สุดคือมีการโจมตีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ The Satanic Veres จนบาดเจ็บ เช่น ฮิโตชิ อิงาราชิ (Hitoshi Igarashi) ผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาญี่ปุ่น ถูกแทงหลายแผลจนเสียชีวิตที่มหาวิทยาลัยสึกุบะ (University of Tsukuba) ปี 1991 และ เอตโตเร คาปริโอโล (Ettore Capriolo) นักแปลชาวอิตาลี ก็ถูกจู่โจมด้วยมีดในลักษณะเดียวกัน แต่เขารอดชีวิต

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ค่าหัวในการสังหารรัชดีถูกยกเลิกโดยรัฐบาลอิหร่านอย่างเป็นทางการในปี 1998 แต่ก็ยังคงไม่สามารถยุติความโกรธแค้นของมุสลิมหลายคนทั่วโลกได้ ทำให้เขายังคงค้องหลบซ่อนและระมัดระวังต่อไปอีกหลายปี

การลอบสังหารในวันที่ 12 สิงหาคม 2022

ขณะที่กำลังกล่าวสุนทรพจน์อยู่ที่สถาบันชาโตกัว (Chautauqua Institution) มลรัฐนิวยอร์ก ผู้ต้องหาวิ่งขึ้นไปบนเวทีและแทงรัชดีหลายครั้ง ปัจจุบันตัวแทนของรัชดีระบุว่า เขาอาจจะต้องสูญเสียดวงตาหนึ่งข้าง เส้นประสาทที่ท่อนแขนบาดเจ็บสาหัส และตับได้รับความเสียหายจากการแทง อาการโดยรวมตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่านายรัชดีจะเป็นอย่างไรต่อ

ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้คือ ฮาดิ มาทาร์ (Hadi Matar) วัย 24 ปี จากมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่ก็ยังไม่ทราบแรงจูงใจที่แน่ชัดหรือมีการตั้งข้อหาแต่อย่างใด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังขอหมายศาลเพื่อตรวจสอบกระเป๋าเป้ของมาทาร์พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดที่ถูกพบในอาคารที่เกิดเหตุ คาดหมายว่าจะค้นหาความจริงในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ไม่ใช่แค่รัชดีที่ได้รับบาดเจ็บ แต่พิธีกรร่วมเวทีอย่างเฮนรี รีส (Henry Reese) เองก็ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ศีรษะ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรีสเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนองค์การไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อมอบพื้นที่พักพิงให้แก่บรรดานักเขียนลี้ภัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งย้ำเตือนสิ่งที่เขาทำมากยิ่งขึ้นว่าสำคัญแค่ไหน

การโจมตีในงานดังกล่าวถูกหยุดลงด้วยเจ้าหน้าที่ในงานและผู้ร่วมงาน ที่ตรงไปยังผู้โจมตีแล้วจัดการกดเขาลงกับพื้น มิเช่นนั้นความเสียหายอาจจะมีมากกว่านี้ โดยต้องใช้คนถึง 5 คนในการจัดการผู้ต้องสงสัยลง การสืบสวนผู้ต้องสงสัยรายนี้จึงยังคงเป็นที่น่าติดตามต่อไป

ซัลมาน รัชดี ถือเป็นผู้มีคุณูปการสำคัญต่อวงการวรรณกรรมคนหนึ่ง เป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และฝากผลงานไว้มากมายในโลกวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม เขากลับต้องจ่ายสิ่งที่ได้มาด้วยราคาที่แพงกว่าที่ควร และยิ่งย้ำเตือนถึงความไม่ปลอดภัยของการแสดงออกในโลกปัจจุบันมากยิ่งกว่าที่ผ่านมา

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า