การออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มาตรการที่นำมาปรับใช้มีทั้งการใช้มาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
การประกาศขึ้นภาษีน้ำตาลของกรมสรรพสามิตเมื่อปี 2560 เป็นหนึ่งในมาตรการภาษีในการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในไทย
การเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มของกรมสรรพสามิต มีจุดประสงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคหวาน แต่ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า เครื่องดื่มรสหวานยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งดูได้จากตัวเลขปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคหันไปบริโภคเครื่องดื่มประเภทชงสดมากขึ้น โดยเฉพาะชานมไข่มุก
ข้อมูลของนีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยปี 2019 มีมูลค่า 155,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2018 มีตัวเลขอยู่ที่ 154,000 ล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลของ Grab Food ผู้บริโภคชาวไทยเป็นกลุ่มที่บริโภคชานมไข่มุกสูงที่สุดในภูมิภาค เฉลี่ยคนละ 6 แก้วต่อเดือน มูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 2,500-3,000 ล้านบาท
ในมุมมองของนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา มองว่า การขึ้นราคาสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ แต่ไม่ได้ส่งผลให้สุขภาพผู้บริโภคดีขึ้น
“มาตรการภาษีเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคได้ จึงต้องมาคิดกันเป็นภาพรวมว่าควรใช้มาตรการอะไรที่จะทำให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการกิน ให้มีสุขภาพดีขึ้น เราอาจต้องเน้นการรณรงค์ให้ความรู้ ให้เกิดการตระหนักเรื่องสุขภาพ สิ่งที่เราต้องทำอย่างหนักแน่นก็คือการรณรงค์ความรู้เรื่องอาหารกับสุขภาพ”
เพราะความต้องการของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดความต้องการของตลาด
นอกจากมาตรการการจัดเก็บภาษีน้ำตาลที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ในอนาคตอันใกล้ มาตรการภาษีเกลือและโซเดียม ก็กำลังจะเกิดขึ้น วิสิษฐ์มองว่า ต้องสร้างโอกาสในการรับรู้ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกเอง
“ต้องให้ความรู้ผู้บริโภคก่อนว่าคุณกินอะไรได้วันละเท่าไร เพราะทุกวันนี้เรามีข้อมูลบนฉลากบอกอยู่แล้วว่า เขาจะได้รับอะไรจากการกินสิ่งนี้ เพราะสินค้าจะมีฉลาก GDA”
ฉลาก GDA หรือ (Guideline Daily Amounts) คือ การแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ บางคนเรียกฉลาก GDA ว่า ‘ฉลากหวาน มัน เค็ม’
“ผมสังเกตคนรุ่นใหม่ส่วนมากจะดูข้อมูลบนฉลากก่อน อาหารที่เขากินให้พลังงานเท่าไร มีโซเดียมเท่าไร หรือดูแค่โซเดียมอย่างเดียวก็มี อันนี้ในเชิงของการสื่อสารผู้บริโภค แต่ในเชิงของผู้ผลิต เราก็กำลังพัฒนา ตอนนี้ผู้ผลิตพัฒนาสูตรใหม่ออกมาด้วยเรื่อยๆ อยู่แล้ว อาจจะเป็นสูตรที่โซเดียมต่ำ”
เขายกตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทถ้วยของญี่ปุ่น โดยออกแบบถ้วยบะหมี่ให้มีขีดแสดงถึงปริมาณน้ำร้อนที่แนะนำว่า หากใส่น้ำร้อนในปริมาณที่แนะนำจะช่วยลดปริมาณเกลือและโซเดียมในการบริโภค
“สำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือพฤติกรรมผู้บริโภค ผมให้เป็นข้อหนึ่งเลย เราจะทำยังไงที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ นั่นเป็นโจทย์ เพราะว่าผู้ผลิตสินค้ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำตามความต้องการผู้บริโภค อาจจะมีสัก 20 เปอร์เซ็นต์ พยายามสวนกระแสหรือว่าเป็นผู้นำกระแส แต่นั่นหมายความว่า เขาต้องมีทุนซัพพอร์ตมากพอ เขาต้องผ่านความเสี่ยงเรื่องการลงทุนที่อาจจะเฟลได้ เพราะมันสวนกระแสปกติ”
และในการสวนกระแสของผู้ผลิต วิสิษฐ์มองว่า ภาครัฐควรสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเพิ่มไลน์ของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
“ถ้าคุณสามารถลดน้ำตาล ลดเกลือได้ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ รัฐอาจจะลดภาษีให้เท่านั้นเท่านี้ – ก็ว่าไป หากเป็นเช่นนี้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตผลิตออกมาเยอะๆ เพราะโอกาสในการทำตลาดสวนกระแสนั้นเสี่ยงกว่าสินค้าที่คนบริโภคเยอะอยู่แล้ว”
มุมมองของผู้ผลิตย่อมไม่ต้องการมาตรการที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการผลิต แต่สังคมไทยก็เดินหน้ามาไกล เพราะตั้งแต่ปี 2558 เรามีมติรับรองนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุการป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กระทั่งจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568’
การจะไปถึงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ จะต้องมีหลายภาคส่วนในการร่วมมือกันตามบทบาท
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหน่วยงานที่กำหนดเกณฑ์การบริโภคโซเดียมที่เพียงพอของประชากรทั่วโลกไว้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- สมัชชาสุขภาพ เป็นหน่วยงานนำเสนอนโยบายการจัดทำยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มีเป้าหมายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568
- หน่วยงานรัฐ ขับเคลื่อนนโยบายด้วยการออกมาตรการทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทในการกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กรมสรรพมิต มีบทบาทในการกำหนดมาตรการภาษี
- ผู้ประกอบการอาหาร มีบทบาทผลิตอาหารตามความต้องการผู้บริโภค
- ผู้จำหน่าย เป็นแหล่งกระจายอาหารที่สำคัญ มีบทบาทช่วยส่งเสริมการขาย
- ผู้บริโภค เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการของตลาด
- นักวิชาการ มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลและงานวิจัยที่น่าเชื่อถือและถูกต้อง เพิ่มองค์ความรู้และทักษะแก่ผู้บริโภค
- ภาคประชาสังคม มีบทความในการชี้นำความคิดที่ถูกต้องและรอบด้านแก่ผู้บริโภค เพื่อการตัดสินใจเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม
- เกษตรกรทำนาเกลือ เป็นผู้ผลิตเกลือต้นทาง
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปผู้นี้ย้ำว่า ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกันตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน ผู้บริโภคคือปัจจัยสำคัญของตลาด ผู้บริโภคต้องมีข้อมูล มีสิทธิที่จะเลือกท่ามกลางข้อมูลที่รอบด้านและถูกต้อง ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้บริโภค โดยภาครัฐอาจจะให้การสนับสนุน
นี่คืออีกหนึ่งมุมมองต่อเรื่องมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่สัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
สนับสนุนโดย
มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD