ความหวานในวัยเรียน

ความหวานก็เหมือนความรัก รู้ทั้งรู้ว่าเสี่ยง แต่ทำไมผู้คนมักไม่ห้ามใจ ถลำตัวเข้าไปติดรสชาติของมัน วิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่หากอธิบายสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ตกหลุมรักความหวาน วิทยาศาสตร์บอกว่าก็เป็นเพราะในลิ้นมีต่อมรับรสหวานมากกว่ารับรสอื่นๆ จึงไม่แปลกที่มนุษย์จะมีความไวต่อความรู้สึกในรสหวานมากกว่ารสอื่น

เพราะความชินชากับความหวานสังเคราะห์ อาหารรสหวานจึงกลายเป็นความเสี่ยง

น้ำตาลคือสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการดำรงอยู่ แต่หากย้อนไปในอดีต ไม่ว่าจะน้ำตาล เกลือ หรือไขมัน สารอาหารเหล่านี้ถือเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์ มนุษย์ต้องยากลำบากกว่าจะได้มา มนุษย์ค้นเจอความหวานได้จากผลไม้สุกหรือน้ำผึ้งในป่า ค้นเจอความเค็มจากการระเหยของน้ำในทะเล เรียกได้ว่ากว่าจะได้เกลือหรือน้ำตาลมาต้องผ่านหลายขั้นตอน

ในเมื่อมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องกิน และเทคโนโลยีหมุนก้าวไกลไปข้างหน้า วงการอาหารและวัฒนธรรมการกินจึงปรับเปลี่ยนและแปรรูปไปตามกาลเวลา น้ำตาลและเกลือเริ่มนำมาใช้ถนอมอาหาร ขนมหวานถือกำเนิดขึ้น วิวัฒนาการของอาหารไปไกลจนเกินจินตนาการ อาจกล่าวได้ว่าอาหารแทบทุกประเภทที่ขายตามท้องตลาดมักมีส่วนประกอบของน้ำตาลสังเคราะห์ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เริ่มชินกับความหวานมากขึ้น

นอกจากนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริโภคน้ำตาลเข้ามาอยู่ในชีวิตประวันการกินของมนุษย์ได้อย่างแยบยล เป็นเพราะน้ำตาลที่เป็นสารประกอบหลักในอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานยังมีผลต่อระบบสื่อประสาทที่เรียกว่า Mesolimbic Dopamine System โดยระบบสื่อประสาทนี้จะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ‘โดพามีน’ (Dopamine) ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุข และรู้สึกคล้ายการได้รับ ‘รางวัล’

สารนี้สามารถหลั่งออกมาจากการประสบความสำเร็จในกิจกรรมการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ การสังสรรค์ การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า น้ำตาลเป็นหนึ่งในสารที่ทำหน้าที่ปลุกโดพามีนในร่างกายมนุษย์ และเป็นสารทำหน้าที่ด้าน rewarding system (ระบบการให้รางวัล) ได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นไม่แปลกที่เราจะรู้สึกฟินเมื่อร่างกายได้ปะทะน้ำตาล

แม้ว่าน้ำตาลจะไม่ใช่สารเสพติด แต่สมองของผู้ที่กินน้ำตาลจะมีการตอบสนองด้วยการหลั่งสารเคมีออกมา ทําให้เกิดความพึงพอใจ และความอยากกินหวาน เราเรียกภาวะนี้ว่า การพึ่งพาน้ำตาล (sugar dependency) หรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรมการติดหวาน

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ควรเติมในอาหาร ไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน โดยปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันคือ ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี และไม่เกิน 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี

ขัดแย้งกับผลการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุไว้ว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่า 3 เท่า ในขณะที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะเด็กไทยที่มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมติดหวาน

หยุดอาการติดหวาน เริ่มได้ตั้งแต่ในวัยเรียน

การลงทุนกับวัยเด็ก-วัยเรียน ถือเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด คล้ายกับการวางรากฐานเพื่อพัฒนาให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตอย่างมีความพร้อมทั้งร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์ และสังคม

ทว่าผลสำรวจจากการขับเคลื่อนของ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พบว่า นักเรียนอนุบาลถึงนักเรียนประถมศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกิดปัญหาฟันผุเฉลี่ย 1-2 ซี่ต่อคน นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่รุนแรงในเด็กอายุ 5 ปี เพราะเด็กวัยนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดโรคฟันน้ำนมผุ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจำกัดการบริโภคน้ำตาลจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ

เพราะการติดน้ำตาลหรือติดรสหวานนั้นมักมาจากนิสัยการกินตั้งแต่วัยเด็ก ข้อมูลระบุว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยนมรสหวาน ดื่มน้ำหวาน และกินขนมหวานปริมาณมากโดยไม่มีการควบคุม พวกเขาจะคุ้นเคยกับรสชาติหวาน และมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลหรือของหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มักหยิบยื่นขนมให้เด็กตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากขนมทำให้เด็กมีความสุข หรือบางครั้งใช้ขนมแทนอาหารมื้อหลัก หรือนิยมเติมน้ำตาลลงในอาหารที่ปรุงให้ลูก พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากในยุคนี้จึงมีภาวะน้ำหนักเกิน และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

ธรรมชาติในการเลือกและความอยากในการบริโภคอาหารของเด็ก ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการที่ส่งผลตรงข้ามกัน คือ ความพึงพอใจในรสชาติและความรู้สึกอิ่ม ในกลุ่มอาหารหวานมันที่ให้พลังงานสูง เมื่อเด็กได้กินจะแสดงความพอใจออกมา แค่เห็นก็อยากรับประทาน อาจจะไม่ได้รู้สึกอิ่ม แต่สําหรับอาหารที่ให้พลังงานต่ํา เช่น ธัญพืช ผัก ใยอาหาร เด็กจะรู้สึกว่าไม่น่ารับประทาน กินได้น้อย รู้สึกอิ่มเร็ว

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศเรื่องมาตรการและแนวทางการสร้างเสริมความรอบรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากและการเลือกรับบริการทางทันตกรรม ซึ่งมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานให้กับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 3 มาตรการด้วยกัน ได้แก่

1. สร้างเสริมความรอบรู้และความตระหนักถึงสุขภาพช่องปากที่เชื่อมโยงกับสุขภาพโดยรวม

2. จัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาลและความหวานในโรงเรียนเพื่อลดวิกฤติปัญหาสุขภาพ

  • จัดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำความสะอาดช่องปากและฟันได้อย่างสะดวก โดยมีน้ำสะอาดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน-นักศึกษา
  • หลีกเลี่ยงการจำหน่ายและการจัดให้บริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาลสูง (น้ำตาลเกินร้อยละ 5) ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบในสถานศึกษา และสร้างความรู้ความเข้าใจกับร้านค้าบริเวณรอบรั้วโรงเรียน เพื่อขอความร่วมมืออีกทางหนึ่ง
  • สื่อสารกับผู้ปกครองถึงความร่วมมือในการดูแลนักเรียน นักศึกษาที่บ้านเสมือนอยู่ที่สถานศึกษา เพื่อความยั่งยืนของความมีวินัยและพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษา
  • ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทในสถานศึกษา

3. พัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการทางทันตกรรม ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน นักศึกษา

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อธิบายว่า ประกาศดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการบริโภคหวานของเด็กไทยเข้าไปด้วย เพราะนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และรบกวนการดำเนินชีวิต กระทบต่อพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs

เปิด 10 เมนูยอดฮิต-อันตราย หน้าโรงเรียน

อาหารและขนมที่มีวางขายอยู่หน้าโรงเรียนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • เครื่องดื่มมีรสหวาน น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำปั่น
  • ปิ้ง ย่าง เช่น ลูกชิ้นปิ้ง หมูย่าง
  • ขนมหวาน เช่น ขนมโตเกียว ขนมกรุบกรอบ

1. ชานมไข่มุก

ในชานม 1 แก้วมีทั้งแป้งจากไข่มุก นับเป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีทั้งปริมาณนมและน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก หากบริโภคเป็นประจำ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนได้

2. ขนมโตเกียว

ขนมโตเกียวทำมาจากแป้ง มีไส้ครีม รสชาติต่างๆ ที่มีความหวานให้เลือก ข้อควรระวังคืออาจได้รับปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินไป

3. ทาโกะยากิ หรือ ขนมครกญี่ปุ่น

ส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นแป้ง มีเพียงผักชิ้นเล็กๆ ผสมอยู่เท่านั้น ข้อควรระวังคือวิธีการทำให้แป้งสุกจะต้องใช้น้ำมันในปริมาณที่เยอะมากๆ

4. ซูชิ

แม้จะขายในราคาประหยัด แต่ซูชิที่มักขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนหรือสถานศึกษามักไม่ได้ถูกควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจทำให้ส่วนประกอบต่างๆ เน่าเสียได้ในเวลาอันรวดเร็ว

5. ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

เป็นอาหารที่ต้องปรุงรสชาติให้จัดจ้าน ข้อควรระวังคือการบริโภคผงปรุงรส น้ำตาล เกลือ น้ำปลา ในปริมาณมากเกินไป เพราะมีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

6. เครป

ประกอบด้วยแป้งเป็นหลัก ราดด้วยซอสรสชาติหวานและไส้เครปต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

7. ลูกชิ้นทอด-ปิ้ง

มักพบเมนูนี้วางขายเกือบทุกหน้าโรงเรียน ข้อควรระวังคือ ลูกชิ้นปิ้งที่บริโภคเข้าไปอาจมีส่วนผสมของแป้งมากกว่าเนื้อสัตว์ ฉะนั้นคุณค่าทางสารอาหารโปรตีนจึงมีน้อยมาก นอกจากนี้วิธีการปิ้งหรือทอดล้วนเป็นวิธีการที่มีความอันตรายและมีความเสี่ยง

8. มันฝรั่งเกลียวกรอบโรยผงรสชาติต่างๆ

ควรระวังการบริโภคผงปรุงรสในปริมาณมาก เพราะมีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

9. ผลไม้รถเข็น

แม้ผลไม้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะมีวิตามินหลายชนิด แต่ข้อระวังคือการแช่ส่วนผสมที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่น สี หรือส่วนผสมที่ทำให้ผลไม้กรอบ แนะนำให้เลือกกินผลไม้สดและสะอาดดีกว่า

10. ขนมปังสังขยา

ความหวานหอมของครีมสังขยาอาจมีปริมาณน้ำตาลสูง

สนับสนุนโดย

มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า