– 1 –
การผลิตไอศกรีม เป็นภารกิจแรกๆ หลังจากคิวบาแตกหักกับอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ฟิเดล กัสโตร บิดาผู้ก่อการปฏิวัติได้ดำริให้ผลิตไอศกรีมแบบคิวบา และมุ่งมาดว่าไอศกรีมคิวบาต้องเลิศรสกว่าไอศกรีมของสหรัฐอเมริกา
ซีเลีย ซานเชซ คือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เธอตั้งชื่อร้านไอศกรีมตามชื่อนักบัลเลต์คนโปรดของเธอว่า ‘คอปเปเลีย’ ออกแบบโลโก้เป็นรูปขาอวบคู่หนึ่ง สวมกระโปรงตูตูกับรองเท้าบัลเลต์ “นี่คือการเตือนไม่ให้สาวนักบัลเลต์กินไอศกรีมมากจนเกินไป”
ตำนานความชื่นชอบไอศกรีมของ ฟิเดล กัสโตร ถูกบันทึกในหนังสือ Milk! A 10,000-Year Food Fracas ของ มาร์ค เคอร์ลันสกี แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ ซึ่งในบทที่เล่าเรื่องไอศกรีม เคอร์ลันสกีได้อ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่ชื่อ A Personal Portrait of Fidel มาร์เกซบันทึกว่า กัสโตรเคยกินไอศกรีม 18 ลูก เป็นของหวานหลังมื้อเที่ยง
ความชอบไอศกรีมของกัสโตรไม่สามารถพ้นหูตาของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐ เคอร์ลันสกีเล่าว่า ความชอบของหวานเย็นของกัสโตรถูกบันทึกในเอกสารของซีไอเอ ซึ่งเปิดเผยในปี 2007 เจ้าหน้าที่ซีไอเอได้วางยาพิษกัสโตรด้วยการใส่ไว้ในมิลค์เชคช็อกโกแลตสุดโปรดของ ฟิเดล กัสโตร แต่ล้มเหลว
การผลิตไอศกรีมเป็นหนึ่งในความพยายามพึ่งพาตัวเองของคิวบาหลังจากสหรัฐยกเลิกการค้าทั้งหมดกับคิวบาในปี 1962 เคอร์ลันสกีเล่าเรื่องนี้ประหนึ่งปรัมปรา เพราะไม่มีใครรู้ชัดถึงสูตรไอศกรีมของ ฟิเดล กัสโตร ได้แต่สันนิษฐานว่า “เขาส่งช่างไปยังแคนาดาเพื่อเรียนวิธีการสังเคราะห์รสชาติ และซื้อเครื่องจักรที่ดีที่สุดจากสวีเดนและเนเธอร์แลนด์มาใช้ เขาต้องการสร้างร้านไอศกรีมที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับขายไอศกรีมที่ดีที่สุดในโลกให้กับ ‘ผู้คนที่ดีที่สุดในโลก’” (หน้า 201)
ความโปรดปรานไอศกรีมของ ฟิเดล กัสโตร ทำให้เรานึกถึงไอศกรีมของ สันติสุข และ สิริกัญญา กาญจนประกร ทั้งสองเรียกไอศกรีมของตัวเองว่า ‘Flavorful no sugar ice cream’
ถ้า ฟิเดล กัสโตร ทะเยอทะยานอยากให้คิวบามีร้านไอศกรีมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความทะเยอทะยานของ Flavorful no sugar ice cream ก็คือการผลิตไอศกรีมปราศจากน้ำตาล แต่ยังคงมีรสหวานที่ดีที่ไอศกรีมที่ดีพึงมีกัน
วิทยาศาสตร์บอกว่า การดึงน้ำตาลออกจากไอศกรีมจะทำให้เนื้อของไอศกรีมกระด้าง ทั้งสองจึงต้องหาวิธีคิดใหม่ทำใหม่ จนได้คุณสมบัติเชิงโภชนาการและรสสัมผัสดั่งปรารถนา ผลิตออกมาทั้งหมด 14 รสชาติ
‘Flavorful no sugar ice cream’ คือชื่อแบรนด์ไอศกรีมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย หลากหลายรสชาติสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคน้ำตาล และต้องการดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น เพราะยุคปัจจุบันผู้คนตื่นตัวเรื่องโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และในชีวิตประจำวันนั้นเราต่างบริโภคน้ำตาลกันมากพอแล้วโดยไม่รู้ตัว
ไอศกรีมของสันติสุขและสิริกัญญาจึงไม่ผสมน้ำตาลทราย แต่มอบความหวานและรสสัมผัสไม่ต่างไอศกรีมปกติ ด้วยสูตรที่คิดค้นขึ้นใหม่ทั้ง 14 รสชาติ
– 2 –
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ เกิดจาก สันติสุข กาญจนประกร อดีตบรรณาธิการ WAY Magazine ยุคสิ่งพิมพ์ และ สิริกัญญา กาญจนประกร นักทำหนังสืออิสระ ต้องการผลิตไอศกรีมที่ไม่เจือปนน้ำตาลทราย เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองในเบื้องต้น เพราะในช่วงหนึ่งของชีวิตมีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้คลีนที่สุด
“ผมมีโรคประจำตัว” สันติสุขกล่าว “ถ้าโรคกำเริบต้องไปฉีดสเตียรอยด์เพื่อระงับอาการ ยาตัวนี้ทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนหมอต้องสั่งจ่ายยาควบคุมน้ำตาล ตอนที่นอนพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเงียบๆ ผมตระหนักกับตนเองเลยว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตคนเรา คือการมีสุขภาพที่ดี หลังจากนั้นจึงพยายามดูแลตนเองให้มากที่สุด และสิ่งสำคัญคืออาหารนี่ล่ะครับ”
สิริกัญญาซึ่งเป็นคู่ชีวิตทราบดีว่า สันติสุขชื่นชอบขนมหวานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไอศกรีม ยามใดอารมณ์มัวหมองหม่นเศร้า ความหวานและเย็นของไอศกรีมจะเป็นเสมือนเพื่อนช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ ทั้งสองคนจึงตระเวนออกตามหาไอศกรีมแบบไม่ผสมน้ำตาลทราย ผลปรากฏว่าในท้องตลาดมีน้อยมาก และรสชาติก็ยังไม่ถูกปาก
นี่จึงเป็นไอเดียตั้งต้นที่ทำให้อยากผลิตไอศกรีมแบบไม่ผสมน้ำตาล โดยที่ความอร่อยยังเข้มข้นไม่ต่างไอศกรีมทั่วไป
“หากเป็นรสที่เราสองคนชอบ ให้ผ่าน คนอื่นๆ ที่มีความต้องการคล้ายกัน ก็น่าจะชอบ” ทั้งคู่กล่าว
“สูตรการทำเจลาโตปกตินั้น นอกจากน้ำตาลทรายแล้ว ยังต้องเติมเด็กซ์โตรสและกลูโคส ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะทำให้เนื้อไอศกรีมมีความเนียนและข้นเหนียว เมื่อได้เห็นปริมาณน้ำตาล 3 ชนิดที่ใช้ต่อสูตร เราถึงกับยกมือทาบอก มันเยอะจนน่าตกใจ จากการสอบถามผู้รู้จึงได้ทราบว่า มีสารให้ความหวานที่ใช้ทดแทนได้ คือ ‘ไซลิทอล’ ซึ่งสกัดจากธรรมชาติ”
กระบวนการถัดมาที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน คือการหาข้อมูลสารให้ความหวานชนิดนี้ ร่วมกับชนิดอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ได้ เพราะแม้มาจากธรรมชาติ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ และจำกัดปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน
ความยากคือการคิดสูตรไอศกรีมใหม่ทั้งหมด! เนื่องจากที่เรียนมาแทบไม่สามารถใช้อ้างอิงได้เลย… คำนวณแล้วทำ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้ทั้งรสชาติและสัมผัสที่ดี กระนั้นก็ยังไม่ได้ดั่งใจ จนเกือบล้มเลิก ต่อเมื่อเห็นระยะเวลาที่ใช้กับเรื่องนี้ไปแล้วเกือบ 2 ปี จึงไม่อยากให้ทุกสิ่งสูญเปล่า การแก้โจทย์ที่ดีที่สุดไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากลงมือทำ ทำ และทำ ลดและเพิ่มวัตถุดิบตัวนั้นตัวนี้เยี่ยงนักทดลอง
ยากจนสิริกัญญาแอบปาดน้ำตา เพราะต้องคัดทิ้งนับไม่ถ้วน
“ช่วงทดลอง 2 ปี เราทดลองทำที่บ้าน ทำไปทิ้งไป” สันติสุขเอ่ยถึงช่วงเวลาที่มีรสขม
“หลังจากไปเรียนทำเจลาโตจากโรงเรียนแถวปากเกร็ด เราก็กลับมาทดลองทำที่บ้านหมดเลย จริงๆ มันช้าเพราะว่าระหว่างนั้นก็ทำงานหนังสือไปด้วยเกือบสิบเล่ม” สิริกัญญา ช่วยเสริมคนรักและเผยให้สัมผัสถึงรสหวาน
สุดท้ายได้สูตรที่ดีที่สุด รวมถึงรสชาติที่คนรักไอศกรีมน่าจะชื่นชอบ ผ่านลิ้นหลายลิ้นของมิตรสหาย จากนั้นส่งสูตรให้เพื่อนซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์สารอาหารทำข้อมูลโภชนาการเพื่อตอบคำถามผู้บริโภค ด้วยความตั้งใจนี้เองทำให้ทั้งสองคนเกิดความผูกพันและความรัก และอยากส่งต่อความรักนั้นสู่คนรักไอศกรีมเช่นเดียวกัน
ขึ้นฉ่าย, มินต์ และแอปเปิลเขียว นมชมพูสตรอว์เบอร์รี
– 3 –
Flavorful no sugar ice cream คือแบรนด์ไอศกรีมที่ไม่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน เพราะไม่ต้องการผลิตแบบสูญเสียทรัพยากรจากการสต็อกสินค้าจำนวนมาก แต่เน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าอย่างไม่ล้นเกิน หลังเปิดกิจการแล้ว ทั้งสองรู้สึกดีใจที่ได้รับคำชมในรสชาติ และเห็นว่ามีกลุ่มคนที่ต้องการลดการบริโภคน้ำตาลอยู่ไม่น้อย
การผลิตตอนนี้ ทำในสตูดิโอเล็กๆ โอบล้อมด้วยความเขียวของแนวต้นไม้รั้วบ้าน สถานที่ที่ทั้งสองลองผิดลองถูก ความตั้งใจละลายไปพร้อมกับไอศกรีมรสทดลองลูกแล้วลูกเล่า แต่คู่รักคนทำไอศกรีมไม่ยอมแพ้
“ช่วงเปิดกิจการใหม่ๆ ทั้งผลิตเองและจัดส่งให้ลูกค้าด้วยตัวเอง ทั้งใน กทม. นนทบุรี และบางพื้นที่ของนครปฐม เพราะเราอยากเห็นหน้าลูกค้า ยื่นของให้ถึงมือ ผลที่ได้รับกลับมาคือรอยยิ้มและคำอวยพร ที่ผ่านมาลูกค้าสั่งเข้าทาง inbox ของเพจ Flavorful no sugar ice cream ตอนนี้ยังส่งได้เฉพาะ กทม. และ นนทบุรี ด้วยขนส่งเอกชน ในอนาคตข้างหน้าจะพยายามขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น”
ไอศกรีมเป็นสินค้าที่ทำตลาดยาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ละลายได้ ทว่าด้วยความที่ทั้งคู่เริ่มต้นจากศูนย์และทำเองทุกขั้นตอน จึงค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตไปอย่างช้าๆ
หลังจากชิมไอศกรีมรสชีสของทั้งสอง เรานึกถึงความทะเยอทะยานของ ฟิเดล กัสโตร โรคภัยรสขมของสันติสุข และความหวานไม่มีน้ำตาลของสิริกัญญา