เสมอชัย พูลสุวรรณ: “คนไทยมาจากไหน” คำถามจากระดับพันธุกรรมสู่อุดมการณ์ชาตินิยม

“คนไทยมาจากไหน?” ประโยคคุ้นหูที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะยังเบลอๆ งงๆ เก็บเรื่องนี้ไว้กับเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ และตอบได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่นัก ว่าแท้ที่จริงแล้ว คนไทยมาจากไหน มาจากอัลไต หรือว่ามาจากน่านเจ้า หรือว่าเราไม่ได้มาจากไหน เราอยู่ที่นี่มาแต่ไหนแต่ไร

ที่ผ่านมา มีงานศึกษาค้นคว้าที่ตั้งสมมุติฐานเพื่อนำไปสู่การตอบคำถามเรื่อง “คนไทยมาจากไหน” ในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ซึ่งอธิบายด้วยหลักฐานและมุมมองที่ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่าง

ปัจจุบัน การศึกษาหาบรรพบุรุษของมนุษย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการศึกษามานุษยวิทยากายภาพผ่านพันธุกรรม หรือ DNA ทำให้สามารถสืบย้อนกลับไปได้อย่างตรงไปตรงมาว่า บรรพบุรุษของมนุษยชาติคือใคร

แต่นอกเหนือขอบเขตวิชาการแล้ว “คนไทยมาจากไหน” ถือเป็นคำถามสำคัญสำหรับการสร้างประวัติศาสตร์ในอุดมการณ์รัฐชาติ โดยเฉพาะแนวคิดชาตินิยม เพราะรัฐที่สมาทานตามทิศทางนี้ต้องการสร้างความชอบธรรมจากการหารากเหง้าว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะดำรงอยู่ ดังนั้นข้อมูลจากขอบเขตวิชาการ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม แต่จะตรงไปตรงมาแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

WAY Magazine ชวน ศาสตราจารย์เสมอชัย พูลสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษไทย โดยศึกษาจากหลักฐานทางพันธุกรรม หรือ DNA ตีพิมพ์เป็นวารสารวิชาการในปี 2008 เรื่อง Genetic history of Southeast Asian populations as revealed by ancient and modern human mitochondrial DNA analysis ใน American Journal of Physical Anthropology (AJPA) มาตอบคำถามว่า แท้จริงแล้วคนไทยมาจากไหน และคำตอบที่ได้นำไปสู่แนวคิดการสร้างชาติไทยได้อย่างไร

ก่อนที่จะถามว่า “คนไทยมาจากไหน” ข้อสงสัยเบื้องต้นคือ ทำไมเราต้องถามคำถามนี้

ย้อนเวลากลับเมื่อสักประมาณร้อยปีที่ผ่านมา เราเริ่มสงสัยว่าบรรพบุรุษของคนไทยมาจากไหน แล้วต้นเหตุของความสงสัยเกิดขึ้นมาจากช่วงระยะเวลานั้นมีการสำรวจภาคสนามเกี่ยวกับผู้คน วัฒนธรรม ภาษาในเอเชียอาคเนย์ เราพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือภาษาที่ปัจจุบันเราเรียกรวมๆ กันว่า ‘ภาษาตระกูลไท’ ถูกใช้แพร่กระจายกว้างขวาง ภาษาที่พูดกันในประเทศไทย คือภาษาไทย มีญาติทางภาษาที่สืบรากเหง้ามาจากต้นตระกูลเดียวกันกว้างขวางมาก

ถ้าจะลองรีวิวอย่างคร่าวๆ ก็ไล่ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในรัฐอัสสัม แล้วก็แพร่กระจายผ่านภาคเหนือของพม่า ภาคใต้ของจีน และภาคเหนือของเวียดนาม ฉะนั้นคาดว่าพื้นที่ภาคเหนือของเอเชียอาคเนย์ต่อเนื่องไปถึงจีนตอนใต้ คือขอบเขตการกระจายตัวที่กว้างขวางของภาษาตระกูลไท นั่นคือข้อสังเกตที่หนึ่ง

ข้อสังเกตที่สองคือ ภาษาตระกูลไทที่กระจายตัวกว้างขวางอย่างนี้ มีความหลากหลายไม่เท่ากันในแต่ละบริเวณ บางบริเวณภาษาหลากหลายสูง ขณะที่ในบางบริเวณภาษาหลากหลายต่ำ

เสมอชัย พูลสุวรรณ

ความหลากหลายของภาษาสัมพันธ์กับแหล่งกำเนิดของภาษาด้วยไหม

นักภาษาศาสตร์มีหลักอยู่ว่า หากภาษามีพัฒนาการอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานจะสั่งสมความหลากหลายเอาไว้ในตัวเอง จะแตกตัวเป็นภาษาถิ่นย่อยๆ แล้วมีความแตกต่างจากกันมากเป็นเงาตามตัว

ฉะนั้นบริเวณไหนที่ภาษามีความหลากหลายสูง ก็แสดงว่าภาษาน่าจะบ่มเพาะตัวเองในพื้นที่นั้นเป็นเวลานาน ถ้าความหลากหลายต่ำกว่า ก็แสดงว่าอยู่มาไม่นาน ในกรณีนี้ ภาษาตระกูลไทที่พูดกันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับขอบเขตการกระจายตัวของภาษาโดยภาพรวม

ส่วนทางตอนใต้ของจีน แถวมณฑลยูนนาน กว่างซี ต่อเนื่องกับภาคเหนือของเวียดนาม พบว่าภาษาตระกูลไทมีความหลากหลายสูง แสดงให้เห็นว่าภาษาอยู่มานานกว่าที่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ แล้ววิธีที่จะอนุมานว่าต้นกำเนิดของภาษาอยู่ที่ไหน นักภาษาศาสตร์ก็ใช้หลักที่ว่าพื้นที่ไหนที่มีความหลากหลายทางภาษาสูง แสดงว่าบริเวณนั้นภาษาอยู่มาเก่าแก่ เหมาะที่จะเป็น center of origin มากกว่าบริเวณที่มีความหลากหลายของภาษาต่ำ

นักภาษาศาสตร์มีข้อสรุปว่า ภาษาตระกูลไท ไม่ได้ถือกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่น่าจะเป็นถิ่นกำเนิดของภาษาคือภาคใต้ของจีน บริเวณรอยต่อของมณฑลยูนนาน มณฑลกว่างซี แล้วก็ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และเมื่อภาษาตระกูลไทไม่ได้อยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มานานถึงขั้นเก่าแก่ ก็แสดงว่าภาษาตระกูลไทต้องแพร่มาจากภาคใต้ของจีน ไม่ใช่ภาษาพื้นเมืองของภูมิภาค

จากการศึกษาของนักภาษาศาสตร์สรุปได้ไหมว่าบรรพบุรุษของคนไทยอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน

ผมคิดว่ามันเป็นคำอธิบายอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทยเคลื่อนย้ายมาจากตอนใต้ของจีนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แล้วเอาภาษาตระกูลไทมา และกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนไทย อันนี้คือความเป็นไปได้ทางหนึ่ง

มันยังมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือ ภาษาอาจเคลื่อนย้ายมาจากตอนใต้ของจีนโดยคนจำนวนไม่มากนัก แล้วอาจเป็นไปได้ด้วยกลไกทางวัฒนธรรมหรือทางการเมืองบางอย่างทำให้ภาษาบูมขึ้นมา

ความเป็นไปได้สองทางนี้คือที่มาว่าทำไมเราถึงสนใจว่าบรรพบุรุษของคนไทยมาจากไหน

เสมอชัย พูลสุวรรณ

จากความเป็นไปได้สองทางที่อาจารย์กล่าวมา เราจะมีวิธีพิสูจน์อย่างไรว่าทางไหนเป็นไปได้มากที่สุด

ผมคิดว่าวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือให้ความสำคัญทางพันธุกรรม สมมุติว่าการแพร่กระจายของภาษาตระกูลไทสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของบรรพบุรุษของคนไทยจากภาคใต้ของจีน ฉะนั้นโดยเชื้อสายเรามาจากภาคใต้ของจีน แต่ถ้าการแพร่กระจายของภาษาเกิดขึ้นด้วยบรรพบุรุษจำนวนน้อย แล้วกลืนกลายมาเป็นคนพื้นเมือง ทำให้คนพื้นเมืองที่อาจจะเคยพูดภาษากลุ่มมอญเขมร หรืออะไรก็ไม่รู้ กลืนกลายภาษาของตัวเองมาพูดภาษาตระกูลไท ถ้าเป็นกรณีนี้ โดยเชื้อสายคนที่พูดภาษาตระกูลไทในประเทศไทยปัจจุบันจะต้องมีบรรพบุรุษเป็นคนพื้นเมืองเดิม เราก็ควรมีพันธุกรรมที่คล้ายกับคนพื้นเมืองเดิมของภูมิภาค มากกว่าที่จะคล้ายกับคนที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน นี่คือวิธีที่จะตรวจสอบแบบตรงไปตรงมาที่สุด

ผมยกตัวอย่างงานศึกษาที่ผมมีส่วนร่วมด้วย Genetic history of Southeast Asian populations as revealed by ancient and modern human mitochondrial DNA analysis ตีพิมพ์ปี 2008 ใน American Journal of Physical Anthropology ฉบับ 137 หน้า 425–440 งานชิ้นนั้นเราดีไซน์ขึ้นมาเพื่ออยากจะตอบคำถามเรื่องถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษไทย เรามี material ในการศึกษาที่สำคัญคือ ตัวอย่าง DNA ทั้งประชากรโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และคนพื้นเมืองตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

  • ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์: ตัวอย่างจากภาคอีสานตอนล่าง มีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เข้าสู่ยุคโลหะ แล้วก็สืบเนื่องมาจนถึงประวัติศาสตร์ตอนต้น จากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BLK) เป็นตัวอย่างของคนโบราณที่อยู่ในพื้นที่
  • กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทจากท้องถิ่นต่างๆ:  ไทยโคราช (Th-K)ไทยภาคเหนือ (Th-N) ไทยขอนแก่น (Th-KK) ไทยเชียงใหม่ (Th-Cm) ผู้ไทย (PTh) ลาวโซ่ง (LSg)
  • กลุ่มมอญ-เขมร: พวกชอง (Chg) ที่มีถิ่นฐานอยู่แถวจังหวัดจันทบุรี กับกลุ่มเขมร (Khm) จากแถบชายแดนจังหวัดสระแก้ว
  • กลุ่มชาวเขา: ลีซอ (Lsu) มูเซอ (Msr)
  • กลุ่มคนภาคใต้ของจีน ในเขตมณฑลยูนนาน กว่างซี และกวางตุ้ง: ชาวฮั่น​ (ฮั่นยูนนาน (H-Yn) ฮั่นกวางตุ้ง (H-Gd) ฮั่นอู่ฮั่น (H-Wh) ฮั่นชิงเต่า (H-Qd) และจ้วง (Zhg))
  • ประชากรจากภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน: พวกอัลไต (Tu-Qinghai)

เมื่อได้ตัวอย่างมาก็ทำการสกัด Mitochondrial DNA เพื่อเปรียบเทียบและโยงความสัมพันธ์เป็น Genetic Tree

Genetic Tree บอกอะไร

เสมอชัย พูลสุวรรณ
ข้อมูลจากวารสารวิชาการ Genetic history of Southeast Asian populations as revealed by ancient and modern human mitochondrial DNA analysis

เมื่อเรานำข้อมูลไปวิเคราะห์ก็จะได้เป็นตัวเลขความสัมพันธ์ออกมา จากนั้นเราทำให้เป็นกราฟิกในพื้นฐานของพันธุกรรมว่ามันใกล้หรือห่างอย่างไร ภาพที่เห็นคือกราฟิกที่เราสร้างขึ้นมาได้ สิ่งที่เห็นเป็นจุดกลมๆ คือประชากรทั้ง 22 ประชากรที่เราศึกษา เชื่อมโยงถึงกันด้วยกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ ประชากรจะอยู่ใกล้ชิดหรือห่างจากกันมากน้อยแค่ไหน เราก็ดูจากโครงสร้างความสัมพันธ์นี้

ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่ง โบราณคดีเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BUK) มีพันธุกรรมใก้ชิดระหว่างกันมากที่สุด เราจึงอาจอนุมานได้ว่าประชากรก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองนี้ เป็นตัวแทน ทางเชื้อสายของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนถึงยุคต้นสมัยประวัติศาสตร์

แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในไทย อย่างไทยจากภาคเหนือ (Th-N) ไทยขอนแก่น (Th-KK) ไทยเชียงใหม่ (Th-Cm) ผู้ไทย (PTh) กลับมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมกับคนจ้วง (Zhg) จากมณฑลกว่างซีประเทศจีน และชาวฮั่นจากภาคใต้ของจีนได้แก่ ชาวฮั่นยูนนาน (H-Yn) ชาวฮั่นกวางตุ้ง (H-Dd) ชาวฮั่นอู่ฮั่น (H-Wh) มากกว่ากับประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ประเทศไทย จากเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BUK)

แต่ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากเนินอุโลกและบ้านหลุมข้าว มีความใกล้ชิดกับมอญ-เขมร โดยเฉพาะพวกชอง (Chg)

รูปแบบความสัมพันธ์ที่พบ สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าบรรพบุรุษของคนพูดภาษาไทยในเอเชียอาคเนย์ โดยทางเชื้อสายน่าจะเป็นพวกที่อพยพลงมาจากตอนใต้ของจีน และเป็นคนละกลุ่มกันกับประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่

ยังมีข้อสังเกตบางอย่างจากรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบ คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในประเทศไทย (ไทยภาคเหนือ ไทยขอนแก่น ไทยเชียงใหม่ ผู้ไทย) มีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก แสดงว่ามีความเป็นไปได้ว่ามันเพิ่งแยกตัวออกจากกันเป็นประชากรกลุ่มย่อยๆ ไม่ช้านานมากจึงสะสมความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่มาก

ประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ถ้ามีการอยู่อาศัยแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ เป็นเวลาช้านานจะสั่งสมความหลากหลายทางพันธุกรรมต่างจากกันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นกรณีของมอญ-เขมรที่เราพบว่า พวกชอง เขมร และชาวบน ค่อนข้างหลากหลายแตกต่างจากกันมากในทางพันธุกรรม แสดงว่ากลุ่มเหล่านี้ น่าจะมีการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยและแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ มาตั้งแต่ก่อนหน้าการเข้ามาตั้งหลักแหล่งในพื้นที่ ของกลุ่มบรรพบุรุษคนไทย ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่า

ดังนั้นโดยความเป็นไปได้ของหลักฐานมันสอดคล้องตรงกันว่าบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทยน่าจะเป็นพวกที่อพยพลงมาทีหลัง และเป็นคนละกลุ่มกับคนดั้งเดิมที่อยู่ในภูมิภาคที่พูดภาษาตระกูลมอญเขมร

ส่วนพวกอัลไต (Tu-Qinghai) ที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จากต้นไม้ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการจะเห็นว่ามันห่างออกไปมาก เอาเข้าจริงเราไม่ได้ซีเรียสมากเรื่องภูเขาอัลไต เราใส่มาเป็นข้อเปรียบเทียบเล่นๆ เฉยๆ อันนี้ก็ช่วยพิสูจน์ว่ามันอยู่ไกลมากในแง่ของเชื้อสาย

เสมอชัย พูลสุวรรณ

นี่ก็คือข้อค้นพบหลักๆ ของงาน แต่ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจว่า เวลาที่เราบอกว่า ‘คนไทย’ อาจไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของภูมิภาค บรรพบุรุษของเราอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาที่บรรพบุรุษของคนไทยอพยพลงมา มันมีคนพื้นเมืองอื่นๆ อาศัยอยู่ในภูมิภาคเต็มไปหมดแล้ว โดยเฉพาะพวกที่พูดภาษาในตระกูลมอญเขมร ออสโตรเอเชียติก

ที่อาจารย์พูดมาตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนี้ คือที่มาความสำคัญ วิธีวิทยา และคำตอบ ในโดเมน (ขอบเขต) ของวิชาการล้วนๆ แล้วนอกเหนือจากความสำคัญทางวิชาการ คำถามเรื่องคนไทยมาจากไหนยังมีความสำคัญในมิติอื่นๆ หรือไม่

ผมคิดว่ามันมีความสำคัญในมิติอื่นๆ ด้วย คำถามที่ว่า “คนไทยมาจากไหน” มีความสำคัญต่ออุดมการณ์รัฐชาติ ในประวัติศาสตร์ชาตินิยม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ชาตินิยม’ คือการสร้างฐานรากทางอุดมการณ์เพื่อจะรับรองความชอบธรรมของหน่วยทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐชาติ รัฐชาติเป็นสิ่งเกิดขึ้นใหม่ แล้วต้องการรับรองความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ ต้องมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่จะอธิบายได้

ตราบใดที่เรามีหน่วยทางการเมืองที่เรียกว่า ‘รัฐชาติ-ชาติ’ ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เสมอ เพราะตราบที่ยังมีหน่วยของความเป็นชาติ มันต้องการอุดมการณ์มาหล่อเลี้ยง แล้วชาตินิยมเป็นมิติหนึ่งในการปรุงแต่งของอุดมการณ์เพื่อจะรับรองความชอบธรรมความเป็นชาติ

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็ถูกปรุงแต่งมาเพื่อรับใช้วัตถุประสงค์นี้ ฉะนั้นหน้าที่ของประวัติศาสตร์ชาตินิยมนั้นตรงไปตรงมา คือต้องแสดงให้เห็นว่าชาติมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ปรุงแต่งหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าเวลาที่เราปรุงแต่งประวัติศาสตร์ชาตินิยม มันต้องอิงตัวเองกับวิชาการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของวิชาการ แต่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเป็นเรื่องของวิชาการบวกการเมือง ขาข้างหนึ่งจะยึดโยงกับวิชาการ ขาอีกข้างยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง ฉะนั้นเวลาเราพูดประวัติศาตร์ชาตินิยมมันมีมิติสองอันนี้ประกอบกัน

สมัยก่อนเรามีชาตินิยมที่ค่อนข้างเน้นความเป็นไทย เราให้ความสำคัญกับความเป็นไทยมากกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นเวลาที่เราอยากจะอธิบายความเป็นมาของชาติ ก็จะยึดโยงกับความเป็นมาของคนไทย แต่ความเป็นมาในที่นี้จะเป็นเชื้อมูลของชาตินิยมอย่างได้ผล ต้องเป็นความเป็นมาที่น่าภาคภูมิใจด้วย ฉะนั้นเราจะยึดโยงประวัติศาสตร์ชาติไทยกับความเป็นไทย แล้วความเป็นไทยนั้นจะต้องน่าภาคภูมิใจด้วย

จากข้อมูลทางวิชาการที่ว่า ‘คนไทยมาจากภาคใต้ของจีน’ น่าภาคภูมิใจตรงไหน

ผมคิดว่ามันมีจุดยึดโยงอยู่ตรงที่ว่า เราอพยพลงมาภาคใต้ของจีน ครั้งหนึ่งเรามีทฤษฎีว่าในอดีตเราเคยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรที่มีตัวตนอยู่จริงในทางประวัติศาตร์ อยู่ในมณฑลยูนนาน เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และตั้งตนเป็นอิสระจากอำนาจปกครองของจักรพรรดิจีน

เราไปยึดโยงคำอธิบายว่า ก่อนที่คนไทยจะลงมาจากจีน เราเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า ในอดีตเราเกรียงไกร แต่ด้วยเหตุที่ถูกจีนรุกราน เราก็ลงมา ถอยลงมาเรื่อยๆ แล้วเราถอยลงมาที่นี่ เพราะฉะนั้นจุดยึดโยงความน่าภาคภูมิใจก็ยึดอยู่กับน่านเจ้า

ปัจจุบัน ทฤษฎีที่ว่าบรรพบุรุษของคนไทยเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกครองอาณาจักรน่านเจ้าดูหมดความชอบธรรมลงเรื่อยๆ ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของอาณาจักรน่านเจ้า ไม่ได้ปฏิเสธความเกรียงไกรของอาณาจักรน่านเจ้า แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่คนไทยที่ปกครองอาณาจักรน่านเจ้า ถ้าจะมีคนไทยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้า ก็เป็นเพียงหนึ่งในความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ที่เป็นองค์ประกอบของประชากรอาณาจักรน่านเจ้าเท่านั้น

แล้วเราจะหาความภาคภูมิใจสำหรับชาตินิยมได้อย่างไร

ตรงนี้เราเห็นพัฒนาการของชาตินิยมเกิดขึ้นในสังคมไทย หรือแม้แต่วงการวิชาการไทยได้อย่างน่าสนใจ ตอนนี้เราพยายามหันมาสร้างความเป็นชาตินิยมอีกแนวหนึ่งว่า “บรรพบุรุษของเราอยู่ที่นี่มาแต่เดิม ความเป็นไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นมาจากการหล่อหลอมของความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ฉะนั้นผู้คนอยู่ที่นี่มาแต่เดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีส่วนสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยในปัจจุบัน”

ฉะนั้นในปัจจุบันในสังคมไทย ผมว่าเราเห็นพัฒนาการ เราเห็นการประชันกันระหว่างชาตินิยมสองแนว ระหว่างชาตินิยมที่บ่มเพาะความน่าภาคภูมิใจในความเป็นชาติจากกำเนิดอันเกรียงไกรของชนชาติไทย กับชาตินิยมที่บ่มเพาะความน่าภาคถูมิใจของความเป็นชาติในฐานะที่เป็นแหล่งสะสมอารยธรรมอันหลากหลาย ซึ่งล้วนมีส่วนประกอบสร้างความเป็นไทยขึ้นมาในปัจจุบัน

เสมอชัย พูลสุวรรณ

แล้วถ้าเราต้องอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยมสักแบบหนึ่ง แบบไหนน่าอยู่มากกว่ากัน

ผมคิดว่าชาตินิยมที่เรารู้สึกว่าสบายใจที่จะอยู่กับชาตินิยมที่จะไม่เป็นเชื้อมูลของความขัดแย้งในสังคมโดยตัวของมันเอง ในกรณีนี้ ชาตินิยมที่ยึดโยงตัวเองกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ดูเป็นเชื้อมูลของความขัดแย้งน้อยกว่าชาตินิยมที่เน้นความเป็นไทย

ในแง่ของชาตินิยม ผมคิดว่าถ้าต้องอยู่กับมัน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราอยู่ในแนวที่เน้นความหลากหลาย ก็น่าจะเป็นชาตินิยมที่เกื้อกูลการดำรงอยู่ของรัฐชาติในระยะยาวมากกว่ารัฐชาติที่เน้นเฉพาะความเป็นไทย

มีกรณีที่รัฐชาติให้ความสำคัญกับชาตินิยมจะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการไหม

เราพบปรากฏการณ์ที่ว่า น่านเจ้าก็ดูเหมือนว่าจะหมดความชอบธรรมไปตั้งนานแล้ว แต่เราอยากจะยึดโยงตัวเองกับประวัติศาสตร์ชุดนี้อยู่ อันนี้มีตัวอย่างในกรณีชาตินิยมของกลุ่มคนฉานในพม่า ยังพยายามอธิบายความเป็นมาของตัวเอง เพราะฉานเองก็เป็นปฏิปักษ์กับพม่า แล้วอยากให้รัฐฉานเป็นอิสระจากรัฐชาติของพม่า ฉะนั้นเขาก็ต้องการประวัติศาสตร์ชาตินิยมมาหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ของรัฐฉาน เขายังยึดโยงตัวเองกับน่านเจ้า บอกว่าบรรพบุรุษเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทำนองเดียวกันกับที่ชาวอาหมของอินเดีย ที่ยังพยายามยึดโยงตัวเองว่าเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า ฉะนั้นมันก็น่าสงสัยว่าทฤษฎีนี้น่าจะล้มไปด้วยการวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งนานแล้ว แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นจุดอ้างอิงของประวัติศาสตร์รัฐชาติอีก อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่าไม่รู้จะหาร่างทรงอื่นอย่างไร จึงต้องใช้อันนี้ไปก่อน ก็ต้องยืนกระต่ายขาเดียวแบบนี้ไปก่อน

เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตัดสินในแง่ไหน ถ้าตัดสินในแง่ของวิชาการ ขยับตัวเองอยู่ในโดเมนของวิชาการ ก็จะมองปรากฏการณ์แบบนี้ว่า เราเห็นการทำงานของชาตินิยม แล้วชาตินิยมนี้พยายามปรุงแต่งความชอบธรรมของตัวเองโดยยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์บางชุด แม้ว่าประวัติศาสตร์ชุดนั้นจะไม่สมเหตุผล และควรจะตกไปแล้วด้วยการวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์ เราอธิบายการดำรงอยู่ของมันได้ว่าทำไมมันยังดำรงอยู่ เพราะมันยังทำหน้าที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงในทางอุดมการณ์ มันจึงยังดำรงอยู่

แต่ถ้ามองในโดเมนของชาตินิยม คุณก็ต้องปกป้องฐานรากความชอบธรรมของคุณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณจะต้องกราดเกรี้ยวกับความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ นี่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นของโดเมนวิชาการ เราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ต้องมาฟังว่าสิ่งที่เขาพูดมันมีเหตุผลกว่าหลักฐานของเราหรือเปล่า ถ้ามีเหตุผลมากกว่าเราเถียงเขาไม่ได้แล้ว เราก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ยืนยันหัวชนฝา แบบเลิกเถียงกันทางวิชาการแล้วเอาไม้หน้าสามมาตีกันดีกว่า ปรากฏการณ์ที่ aggressive ต่อกันอย่างนี้ ถ้าสังเกตให้ดี มันกำลังย้ายตัวเองไปต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์ที่กำลังขัดแย้งกัน

เสมอชัย พูลสุวรรณ

ในฐานะนักวิชาการ อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับความรู้เชิงวิชาการที่มักถูกผนวกรวมและยึดโยงกับชาตินิยม

เราไม่สามารถห้ามได้นะ ตราบใดที่ยังมีหน่วยการเมืองที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ชาตินิยมจำเป็นต้องมีอยู่ ต้องอธิบายความเป็นมาของชาติที่น่าภาคภูมิใจ แต่มันจะอธิบายได้แยบยลมากแค่ไหน มันจะเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติของคนในชาติได้มากน้อยแค่ไหน อันนั้นเป็นคำถามสำหรับคนที่ปรุงแต่งประวัติศาสตร์ชาตินิยม

อุดมการณ์ชาตินิยมรับใช้ความชอบธรรมของการดำรงอยู่ของรัฐชาติ ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐชาติอยากอธิบายตัวเองแบบไหน แล้วประวัติศาสตร์ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับรัฐชาติที่ออกแบบไว้อย่างนั้น ถามว่ามันเหมาะสมหรือไม่ นี่ก็เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์

ผมคิดว่าวิธีที่จะตัดสินว่าชาติที่ถูกออกแบบไว้แบบไหนน่าจะเป็นแบบที่เหมาะสม ถ้าหากเรายังต้องรับรองความชอบธรรมในการมีอยู่ของรัฐชาติ คือวิธีการออกแบบที่จะทำให้คนที่เป็นองค์ประกอบทางพลเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ ขัดแย้งน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นการสร้างจินตภาพที่น่าจะสงบสุข และประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่น่าจะยอมรับมากกว่าแบบอื่นๆ คือประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมน้อยกว่าวิธีสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบอื่นๆ

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ ผมคิดว่าผมไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบอกว่าอะไรโอเคหรือไม่โอเค ตราบใดที่มีหน่วยการเมืองที่เรียกว่ารัฐชาติอยู่ อุดมการณ์รัฐชาติ ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเป็นของคู่กัน ไม่ว่าที่ไหนก็มีประวัติศาสตร์ชาตินิยมของตัวเอง ผมเพียงแค่บอกว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยม ถ้าดูพัฒนาการ มันก็เป็นการทดลองแบบหนึ่งว่าการอธิบายแบบนี้เวิร์คไหม คล้ายกับว่ามันขัดแย้งกับหลักฐานทางวิชาการเกินไปหรือเปล่า อย่างที่บอกว่ามันก็ต้องอธิบายตัวเองส่วนหนึ่งให้กลมกลืนไปกับวิชาการ ไม่ใช่จินตนาการหลุดโลกไปจากหลักฐานในทางเป็นจริง มันก็ยึดโยงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอสมควร เพียงแต่ว่าเมื่อยึดโยงไปแล้ว มันต้องลากไปสู่อุดมการณ์อย่างที่รัฐอยากจะให้เป็น

ในแง่นี้ผมคิดว่าผมยอมรับว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เน้นในเรื่องของความหลากหลาย การที่เรามีที่มาที่หลากหลายแล้วประกอบรวมขึ้นมาเป็นชาติไทยในปัจจุบัน เป็นชาตินิยมที่เป็นเชื้อมูลของความขัดแย้งน้อยกว่าชาตินิยมที่เน้นเฉพาะแค่ความเป็นไทย

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เน้นในเรื่องของความหลากหลายหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าเขาใช้องค์ประกอบของความเป็นไทยในปัจจุบันเป็นตัวอ้างอิง ในปัจจุบันประเทศไทยประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายทั้งภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ มาอยู่รวมกัน คนเหล่านั้น เมื่อสืบประวัติย้อนกลับขึ้นไปก็มีประวัติความเป็นมาอันหลากหลาย บางกลุ่มมีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ ฉะนั้นเหมือนกับว่าความเป็นไทยในปัจจุบัน เป็นที่รวมของประวัติศาสตร์หลากหลายชุด แล้วก็มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในอดีต มีรากฐานพัฒนาการในพื้นที่มาเก่าแก่มากน้อยไม่เท่ากัน บางพวกเป็นคนจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามา บางพวกที่อยู่มาเก่าแก่อย่างมอญเขมร ในประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบใหม่ คิดว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นไทยในปัจจุบันขึ้นมา

สิ่งที่อ้างอิงการหารากเหง้า คือเราอยากจะหารากเหง้าของความหลากหลายที่เป็นองค์ประกอบของความเป็นไทยในปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อสืบย้อนกลับไปก็จะพบความหลากหลาย มันเป็นคนละคำถามกับที่เราถามว่าคนไทยมาจากไหน ในโดเมนของวิชาการแล้วเราเห็นว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร มันเป็นคำถามที่ชอบธรรมทางวิชาการอย่างไร อันนี้ดูผิวเผินเหมือนกับคำถามที่ว่าคนไทยมาจากไหน แต่มันมีมิติที่แตกต่างกับชาตินิยม และมีจุดยึดโยงบนอุดมการณ์ที่ต่างกัน

เสมอชัย พูลสุวรรณ

แล้วเราจะวิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาตินิยมได้ไหม

ไม่มีใครมาห้าม เรามีเสรีภาพในทางวิชาการที่จะวิพากษ์ เพียงแต่ถ้าคุณอิงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป มันก็จะลดศักยภาพของคุณในการตรวจสอบชาตินิยมในแบบที่คุณสมาทาน เพราะคุณคิดว่าชาตินิยมแบบที่คุณสมาทานเป็นตัวแทนของความจริงสูงสุด ไม่ต้องการการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าคุณถอยห่างตัวเองออกจากมัน มันก็เป็นสิ่งที่คุณมองย้อนกลับไป แล้วก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

ผมก็พยายามถอยตัวเอง ผมถึงได้เห็นว่าชาตินิยมมีสองแบบ ถ้าเผื่อผมไปอยู่ชาตินิยมแบบหนึ่ง ผมก็จะเห็นแต่คู่ปฏิปักษ์ของผม ซึ่งจะเห็นชาตินิยมอีกแบบว่าไม่ดีอย่างไร ไม่เหมาะสมอย่างไร แต่จะไม่ตั้งคำถามกับตัวเอง คล้ายๆ ตัวเองเป็นตัวแทนของวิชาการได้ตรงไปตรงมา หรือตัวเองเป็นวิธีการที่จะนำวิชาการมารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองอีกแบบ

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Author

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า