ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ
ฉันถามเธอ ‘ทัศนคติอะไรที่คุณพบ หลังต้องอยู่กับความพิการ’
เธอตอบ…
นี่ไง ทัศนคติที่เห็นเราเป็นอื่น พอมีความพิการ เราก็ไม่ใช่คนแล้ว ต่ำกว่าคน คือจะทำอะไรก็ได้ไม่ต้องมาถามเรา จัดการไป คิดแทนได้เลย เราไม่มีสิทธิ์ ไม่ต้องไปรอ พี่ก็เริ่มเรียนรู้จากคำพูดของคนรอบๆ ว่า ‘เราไม่ใช่คนเดิม’ แต่ใจเรามันค้านนะ ใจมันค้านตลอด เพราะเราน่ะ ‘เป็นคนเดิม’ เรายืนยันและย้ำกับตัวเองตลอดเวลา เขาต่างหาก เขาต่างหากที่มองว่าเราไม่ใช่คนเดิม
ฉันเหลือบดูจุดเวลาของเครื่องอัดเสียง ตำแหน่งของบทสนทนานี้อยู่ที่ 0.45.39 นาที และมีเรื่องราวอีกหลายร้อยประโยคที่เราคุยกัน แต่ฉันไม่ได้บันทึกเอาไว้
สี่สิบห้านาทีแล้ว แต่ประโยคที่ฉันยกมานั่นแค่จุดเริ่มต้นของเรื่อง ประเด็นก่อนหน้านาทีที่สี่สิบห้า เสาว์-เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ (แต่เธอบอกฉันไว้ว่า ‘อย่ามาบอกว่าพี่ต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการนะ ที่ทำอยู่นี่ ทำเรื่องนโยบายสาธารณะ ‘public policy’ ทั้งนั้น) ที่กำลังเล่าอยู่นั้น มีว่า…
หลังอายุ 27 ปี ขณะชีวิตกำลังโชติช่วงทั้งในเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว เป็นสาวสะพรั่ง เป็น ‘สาวแบงก์’ พราวเสน่ห์ พ่วงตำแหน่งดาวเขตภาคเหนือ 2 หลังจากนั้น เธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
ในช่วงเกริ่นนำฉันจะขอข้ามรายละเอียดชีวิตตลอดสองชั่วโมงตามเวลาเครื่องอัดเสียงไปก่อน จะ (เอาแต่ใจ) ตัดตอนไปยังฉากที่เธอประสบอุบัติเหตุแล้ว มีผู้คนมาเยี่ยมเธอจำนวนมาก แต่เธอแกล้งหลับ เพราะเหนื่อยอย่างสาหัสและได้แต่นอนซ่อนคราบน้ำตาให้กับ ‘ความสงสาร’ อย่างปรารถนาดี และมอบให้ด้วยความรักจริงใจจากคนรอบข้าง
ในระหว่างหลับ เธอได้ยินความเห็น ข้อเสนอแนะ คำแนะนำจากคนรอบข้างที่มาเยี่ยม ต่อครอบครัวของเธอ
“ยกให้แฟนไปเลย ไม่ต้องเรียกร้องอะไร หรือไม่ก็จับทำหมันซะ”
ฉันจะจบการสปอยล์ (อย่างทนไม่ไหว เพราะอ่านเทปดิบแล้ว ‘ครั่น’ ต้องหยิบยกขึ้นมาปาดไว้ย่อหน้าแรกก่อน) ไว้เพียงเท่านี้
เกริ่นนำตามขนบจริงๆ ฉันจะเริ่มว่า…
เจอเสาวลักษณ์ครั้งแรกที่งาน ThisAble Talk งาน ‘ทอล์ค’ ประเด็นคนพิการที่โยนความสงสาร (แม่ง) ทิ้งไป เสาวลักษณ์ขึ้นพูดบนเวที มีประเด็นหนึ่งที่มิตรสหายท่านหนึ่งชวนฉันคิดต่อว่า ประเด็นนี้น่าสนใจจัง… มันคือบทที่ว่า
ครั้งหนึ่งในชีวิตบนความพิการ เธอถูกครอบครัวจับไปหาหมอผี กินน้ำมนต์ ดูดวง ฟังพระเทศน์ ไหว้ขอขมาวิญญาณและเจ้ากรรมนายเวร เธอโวยวายปัดสะบัดน้ำมนต์ทิ้ง และนั่นทำให้ครอบครัวยิ่งมั่นใจว่า ‘นั่น ชัวร์ นี่ไง ว่าไม่ผิด ผีเข้าจริงๆ’
ฉันฟังแล้วเนื้อเต้น ติดต่อขอฟังชีวิตของเธอต่อ โดยจะโฟกัสไปที่เส้นเรื่องและประสบการณ์ (ซึ่งฉันคิดว่า) ‘ร่วม’ ของคนพิการจำนวนหนึ่ง ที่ต้องเคยถูกครอบครัวจับพาไปหาหมอผี หรือโบ้ยให้เป็นความผิดของเวรกรรม
หากพอถึงเวลาจริง เรากลับคุยกันเพริด หัวเราะเสียงดังไปกับเส้นชีวิตสุดฤทธิ์สุดเดชที่เธอเล่า ก่อนจะหยุดพักหยิบทิชชูขึ้นเช็ดคราบมาสคาร่าที่ไหลเปื้อน ก่อนเธอจะสะบัดหน้ากลับไปคุ้ยเส้นชีวิตที่แสนสุดเหวี่ยงของเธออีกครั้งหนึ่ง
ฉันพับสคริปต์ตั้งแต่สิบนาทีแรก หันไปช่วยเธอรื้อลิ้นชักแห่งกาลเวลาและให้เธอเล่ามันออกมาจนหมดแมกซ์ ซึ่งดูทีท่าว่า สองชั่วโมงที่ได้อัดไว้ เป็นช่วงชีวิตฉบับย่นย่อเท่านั้น
เสาวลักษณ์: ชีวิตก่อนอายุ 27 ปี
เธอเกิดที่จังหวัดพิจิตร เป็นพี่สาวของน้องชายคนกลาง และน้องสาวคนเล็ก เสาวลักษณ์เป็นคนแอคทีฟ เรียนเก่ง ช่างซักถามและสงสัย ถ้าให้เลือกตำแหน่งเก้าอี้ในห้องเรียนประถมและมัธยม เธอจะต้องเป็นสาวหน้าห้องแถวกลาง สนใจเรียน คุณครูรัก แต่ถ้าหนุ่มหลังห้องแซวเธอล่ะก็ แน่นอนว่าหนุ่มแก๊งนั้นต้องโดนเธอแหวกลับ ทะเลาะกันเล็กน้อย และจะเป็นเพื่อนซี้และส่งความเอื้ออาทรให้กันในตอนท้ายแน่นอน
เธอ ‘ในความเห็นฉัน’ เป็นภาพบรรยายแบบนั้น…
เสาวลักษณ์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อคณะบริหารธุรกิจ เอกการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังเรียนจบ เธอตัดสินใจกลับบ้าน เลือกทำในสายงานเกี่ยวกับการบัญชีอยู่หลายที่ หลายตำแหน่ง ก่อนจะลงหลักปักฐานเป็นสมุห์บัญชีของธนาคารแห่งหนึ่ง
ชีวิต ณ ขณะนั้น ด้วยวัย อาชีพการงาน ชีวิตส่วนตัว และคนรอบข้าง ทั้งหมดกำลัง ‘ไปได้สวย’
“ตอนที่ทำงานธนาคาร จำได้ว่าไม่ใช่แค่ทำงานหน้าเคาน์เตอร์ แต่เราได้ลงพื้นที่ ได้คุยกับชาวบ้าน ซึ่งมันพอดีกับความฝันอีกอย่างของเราคือ อยากเป็นพัฒนากร (งานพัฒนาชุมชน) รวมทั้งการทำงานธนาคารมันฝึกเราให้คิดอย่างเป็นระบบ ท้าทายแก้ปัญหาอยู่ทุกวัน เลยรู้สึกว่าชีวิตช่วงนั้นของเราสนุกมาก อยากได้อะไรก็หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ทำงานดีก็มีคนชม อาชีพการงานมั่นคง เป็นความภาคภูมิใจของคนในครอบครัว”
เธอชอบกิจวัตรประจำวันของตัวเอง ตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว เปิดตู้หยิบเสื้อผ้าตัวใด ลายไหนก็ได้ที่ชอบใจ
ใส่ส้นสูงสามนิ้ว กระโปรงสั้น ได้แต่งตัว เงินเดือนก็ได้ดีขึ้น การยอมรับก็ได้ เรารู้สึกสมบูรณ์แบบมากเลย จนวันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ มันก็ทำให้… (หยุดคิด) อธิบายอย่างไรดี ไม่รู้จะเริ่มยังไงนะ แต่แวบแรกมันไม่ใช่ความผิดหวัง แต่เหมือนเรายังเฝ้าคิดถึงจุดเวลานั้น คิดว่ามันไม่น่าจะเป็นแบบนั้นเลย
เสาวลักษณ์: ในปีที่ 27
“ทำไมต้องเป็นแกด้วย”
คนรอบข้างจะถามเธอแบบนี้ และถามซ้ำทุกครั้งที่มีคนมาเยี่ยม ซึ่ง หนึ่ง-มันทั้งฝังและกักขัง ให้เธอคิดย้อนถามตัวเองแบบนี้ทุกครั้ง สอง-มันเป็นคำถามที่ทำให้เธอต้องเฝ้าอธิบายและเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก
“การต้องเล่าซ้ำๆ มันน่ากลัวมาก เพราะมันกดทับให้เราต้องรื้อเหตุการณ์นั้นขึ้นมาพูดอีกอยู่เรื่อย ไม่ได้ไปไหน พายเรือในอ่าง สุดท้ายเราไม่รู้จะทำอย่างไร เลยหลับ… แกล้งหลับไปเลย ซึ่งมันเป็นทางออกที่ดีมาก เพราะในระหว่างนั้น เราได้ฟังว่าคนอื่นเขาคิดกับเราอย่างไร”
‘ให้ทำหมัน ยกให้ใครไปเลยก็ได้ ทำไปเลย ไม่ต้องถาม’ นี่คือข้อความที่เธอได้ยินจากปากของญาติที่เคยชื่นชมในความสำเร็จของเธอ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เสาวลักษณ์ฉุกคิดว่า ไม่มีใครมองเธอเหมือนเดิมเลย
“และทั้งหมดนั้น มาจากปากคนที่เคยชื่นชม เคยรักเราทั้งนั้นเลย แต่เราเข้าใจนะ มันเป็นคำพูดที่ ลึกๆ แล้วมาจากความรักความสงสารที่มีให้กับเรา สำหรับเขา นั่นคือทางแก้ปัญหา”
และไม่ใช่แค่คำพูด หากผ่านการกระทำ
“เพื่อนรักกันแท้ๆ มาเยี่ยม เอาเสื้อผ้าที่ตัวเองใส่ไม่ได้แล้วโยนใส่กล่องใส่ลังไว้แล้วเอามาให้เรา แกก็เห็นตอนที่คบกัน ชั้นใส่เสื้อผ้าแบบนี้หรือ? ไซส์มันก็ผิดกันด้วย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราใส่ไม่ได้ แต่เขาลืมคิดไปเลย เพราะสิ่งที่เขาคิดในการมาเยี่ยมคนพิการ คืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช้แล้ว มันเป็นฟอร์แมท เป็นรูปแบบของสังคม ทุกอย่างสำหรับคนพิการ คือการสงเคราะห์
“แต่สุดท้ายที่ทำให้เราน้ำตาไหลหนักกว่าเดิม คือคำตอบของเตี่ยที่ว่า ‘ลูกผมคนเดียว ผมจะเลี้ยงเขาไปจนเขาตายก็ได้’ ตอนนั้นเรารู้สึกขอบคุณที่เตี่ยพูดคำนี้”
เสาวลักษณ์มองตาฉันนิ่งนาน …
เสาวลักษณ์: กับความ ‘ก้าวร้าว’ ของเธอ
‘ก้าวร้าว’ ต่อมาคือคำนี้
“คำนี้เหมือนแปะอยู่ที่หน้าผากเราเลยนะ”
เธอยกตัวอย่าง “อย่างตอนนั้นอยากจะกินผัดไทย อยากกินมาก แต่แม่บอกว่าไม่ไปซื้อให้ เหนื่อยแล้ว เราก็เข้าใจนะ ดูแลคนพิการตลอดเวลา เหนื่อยจะตาย แต่เช้าวันต่อมาเขาออกไปซื้อให้ แต่เราไม่ได้อยากกินแล้ว เลยไม่กิน เราเลยทะเลาะกัน ซึ่งเราเองรู้สึกน้อยใจมาก แค่ไม่กินผัดไทยนี่มันผิดขนาดนี้เลยเหรอ กับเรื่องเท่านี้ก็ต้องทะเลาะกันเหรอ มันเลยทำให้เราต้องฝืนตัวเอง ทำในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าดี ว่าถูก อยู่ตลอดเวลา
“อุปสรรคคืออะไร หนึ่ง เราไปซื้อเองไม่ได้ สอง การดูแลคนพิการมันเหนื่อยมากนะ แค่เรื่องนี้ก็เห็นอุปสรรค (barrier) จากความพิการหลายอย่างเลย”
พอเธอเริ่มอธิบาย ตั้งคำถามกับการไม่อยากฝืนกินของตัวเอง พฤติกรรมนั้นจึงถูกระบุลงบัญชี ‘ความก้าวร้าวของเสาวลักษณ์’ และไม่ใช่แค่จากคนในครอบครัว แต่ได้รับจากผู้ช่วยคนพิการ (Personal Assistance: PA) ด้วยเช่นกัน
“เราจ้างคนมาดูแล แต่เราไม่มีสิทธิ์แม้จะเลือกเสื้อผ้าใส่เอง เราอาบน้ำเองได้มานานแล้วเพราะฝึกมา แต่ตอนนั้นยังไม่ได้นั่งรถเข็นเพราะเดินวอร์คเกอร์จึงไม่สะดวกในการเปิดตู้เสื้อผ้า เขาจะรู้เลยว่าถ้าเราอาบน้ำ ก็จะเปิดตู้เสื้อผ้าไว้รอและดึงตัวไหนก็ได้ออกมาให้ใส่ แต่เราอยากเลือกเอง
เราก็ทนอยู่พักหนึ่งก่อนจะตัดสินใจว่าเราต้องพูด เพราะเรามีสิทธิ์เลือกนี่นา อย่างน้อยเราก็จ้างเขามาเพื่อดูแลเรา เราบอกเขาว่าไม่เอา ไม่ใส่ตัวนี้ จะใส่ตัวนี้นะ เขาสวนกลับมาทันทีว่าพี่เรื่องมากนะ รู้ตัวไหม เรานิ่งเลย หรืออย่างตอนไปทำกายภาพบำบัดที่เชียงใหม่ ก็มีคนช่วยดูแล ทุกเย็นเขาจะไปซื้อของกิน และถ้าเราบอกว่าวันนี้อยากจะกินอะไร คำตอบที่ได้ คือพี่ ‘เยอะ’ นะ
ทั้งหมดเพียงเพื่อจะชี้ว่า ความคิดว่างานช่วยเหลือคนพิการคือการ ‘สงเคราะห์’ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับญาติ พ่อแม่ คนในครอบครัว แต่ลึกลงไปฝังอยู่ในระดับความคิดของปัจเจกบุคคล แม้กระทั่งงาน PA ผู้ช่วยคนพิการ ที่มีอุดมการณ์อำนวยความสะดวก และฟื้นคืนความเป็นคนของคนพิการด้วย
“นี่ไม่ต้องพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับ PA ที่จะเกิดขึ้นเลยนะ การให้ค่าแรง PA ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ฝันไปเลย นโยบายนี้ไม่ได้ถูกคิดจากความเข้าใจปัญหาจริงๆ”
เสาวลักษณ์: ชีวิตที่ต้องวิ่งหนีหมอผี
อาจไม่ใช่จุดพลิกผันจริงๆ ที่ทำให้เธอมาถึงวันนี้ได้ แต่นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ครอบครัวเธอกลับมาเชื่อว่า ‘เธอ’ คือเสาวลักษณ์จริงๆ ไม่ได้ถูกผีเข้า เพราะการ ‘ยืนยัน’ ว่าแม้จะอยู่บนความพิการ นั่นก็ยังเป็นตัวเธอ ไม่ใช่เพราะผี ไม่ใช่เพราะเวรกรรม และเป็นเธอบนความพิการ ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตอีกครั้งให้ดู!
“ที่โกรธยิ่งกว่าคือ เขาคิดว่าเราเป็นผี ผีที่ไม่ใช่ผีเสาวลักษณ์ด้วยนะ เป็นผีอื่นที่มาสิงร่างเราอ่ะ”
เราขอให้เธอเล่าว่า เรื่องทั้งหมดเริ่มจากจุดไหนก่อน
“มันจะเป็นฟอร์แมทว่า พี่ป้าน้าอาพ่อแม่จะไปดูหมอ ไปไหว้สถานที่ที่เราประสบอุบัติเหตุ แล้วก็บอกว่า เราไปทำผิดนะ ผีจะเล่นเอา เล่นอะไรล่ะ… พิการนี่วิทยาศาสตร์นะ แล้วที่ประสบอุบัติเหตุ ก็รู้แก่ใจว่าประมาทเห็นๆ”
ต่อมาคือเรื่องเล่าที่ว่า เพราะทำบาปกรรมไว้ในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงต้องมาหลังหัก ประสบอุบัติเหตุ
“ที่หลังหักนี่ ตีงูมาแน่ๆ หรือไม่ก็ บ้านนี้มันต้องทำไม่ดีไว้ ทำชั่วไว้แน่นอน พอทุกคนคิดถึงกรรมเก่า หน้าที่เราก็ต้องไปแก้กรรม ถึงแม้จะไม่หายในชาตินี้ แต่ชาติหน้าจะไม่เป็นแบบนี้อีกแน่ๆ ทีนี้ทำยังไง? ก็ต้องไปทำบุญ ปล่อยปลา ปล่อยเต่า แล้วเป็นอย่างนี้ยิ่งต้องปล่อยมากกว่าคนอื่น ถ้าคนอื่นปล่อยเก้าตัว คุณปล่อยไปเลยเท่านี้ตัว คูณอายุเข้าไป
แล้วพระก็ชอบเทศน์อีกว่า ‘อีหนูเอ๊ย เกิดมาชาตินี้กรรมหนักนัก’ เชื่อมั้ย เราไม่เคยอยากเข้าวัดเลย เพราะต้องเจอคำแบบนี้จากพระ ยิ่งตอกย้ำเราเข้าไปอีก จะเป็นแพทเทิร์นว่า ‘อย่าไปคิดอะไรมาก มันเป็นกรรมของเรา ยอมรับมันไป’ บางทีก็เถียงพระ ‘ยอมรับอยู่ตลอดเลย แต่แค่ไม่ยอมแพ้’ อะไรแบบนี้
เสาวลักษณ์ย้ำว่า เธอไม่ใช่คนต่อต้านศาสนา เธอเชื่อในหลักคำสอนที่ว่าทำอะไรได้อย่างนั้น เพียงแต่ชี้ว่า หากเธอเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘กรรม’ ทั้งหมด ต้องยอมรับและไม่พัฒนาตัวเองต่อ เธอเชื่อเช่นนั้นไม่ได้
นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด เหตุการณ์ที่สุดแห่งความไสยศาสตร์ คือตอนที่เธอถูกจับขึ้นรถไปหาหมอผี แต่เรื่องตั้งต้นที่ทำให้เธอถูกส่งตัวไปนั้น เริ่มจากทางบ้านเห็นว่าเธอ ‘ก้าวร้าว’ ผิดปกติไปแล้ว
“ตอนนั้นที่บ้านเอาน้ำมนต์ใส่ขวดกลับมาให้กิน น้ำในนั้นขุ่นคลั่กเลย แถมมีลูกน้ำในนั้นอีก บ้าแล้ว ใครจะกินลง เราก็เรียกเขามาดู นี่นะ เห็นมั้ย มันสกปรกมาก มีลูกน้ำด้วย วิทยาศาสตร์ทั้งนั้น ใครจะกล้ากิน เราก็สาดทิ้ง พอเราทำแบบนั้น คนที่บ้านบอกเลย เห็นมั้ยๆ ผีแน่ๆ ผีกลัวน้ำมนต์ มันร้อน
“แต่เขายังไม่เลิกความพยายาม ก็ไปหามาใหม่ แต่ทีนี้ไม่มีลูกน้ำแล้ว แต่คิดดู น้ำมนต์ที่อยู่ในวัด เขาทำพิธีกันยังไง ที่เอาเทียนไปจุ่มน้ำ ไม่เอาหรอก เรากินไม่ได้ เขาเลยยิ่งฝังใจว่า นี่ไม่ใช่เราแล้ว ผีเข้าแน่นอน”
แน่นอนว่าในช่วงเวลาแห่งการ ‘ยืนยัน’ ว่านั่นคือเธอแน่ๆ เสาวลักษณ์น้อยใจแทบตายที่เธอหมดคุณค่า คำพูดเธอไม่มีน้ำหนักถึงเพียงนี้ เธอบอกว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องพาไปรักษากับหมอผี แต่เธอสูญเสียความไว้ใจต่อครอบครัว เพราะไม่มีใครเชื่อมั่นในตัวเธอ และครั้งสุดท้าย ถึงขั้นโกหกว่าจะไปเที่ยว หลอกเธอขึ้นรถพาไปให้หมอผีทำพิธี
“พอเรารู้ว่าโดนหลอกแล้ว เขาจะอุ้มขึ้นรถ เรารีบโหนรถตัวลอยเลย ไม่ยอมลงไป โกรธมากๆ ทำไมต้องโกหกกัน หมอผีเห็นอย่างนั้นก็มาทำพิธีที่ตัวรถ ด่าทอเราเสียๆ หายๆ แต่จริงๆ เขาด่าผีนั่นแหละ แต่นั่นมันตัวเราไง น้ำตาเราตกเลย บอกพ่อแม่ว่า นี่ยอมให้ใครก็ไม่รู้ด่าทอกันขนาดนี้เลยเหรอ ยอมได้ยังไงกัน
“หมอผีกำลังจะเอาแส้ฟาดอยู่แล้ว แต่พ่อแม่นึกได้ก่อน เลยบอกหมอผีว่าไม่เอาแล้ว พากลับบ้าน”
หลังจากวันนั้นเธอใช้สองมือต่อยกำแพงจนเลือดสาด ขังตัวเองอยู่ในห้อง ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มทำความเข้าใจ นี่คือตัวเธอเอง ลูก พี่สาว และหลาน ของครอบครัวนี้จริงๆ
ถ้าเขาเชื่อในความเป็นมนุษย์ เชื่อว่าคนพิการเป็นมนุษย์ เราจะถูกปฏิบัติแบบมนุษย์
เสาวลักษณ์ย้ำอย่างนี้
เสาวลักษณ์: เธออีกครั้ง กับเช้าวันใหม่ วันแรกของวันที่เหลือ
เธอบอกว่า ชีวิตหลังเช้าวันประสบเหตุ เธอต้องยืนยันตัวตนกับคนรอบข้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่วันที่เรียกว่าเหมือนได้ลุกขึ้นอย่างแข็งแรงอีกครั้งจริงๆ ก็คือวันเดียวกับที่เธอไม่เคยรู้ตัวเลยว่า ตลอดมาเป็นเธอเองที่หลอกตัวเองว่าเข้มแข็งมาโดยตลอด
“หลังจากประสบอุบัติเหตุ เราต้องขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อทำกายภาพบำบัดอยู่ 2 ปี น้องสาวตอนนั้นขึ้น ม. 4 ก็ขึ้นมาคอยดูแลทุกๆ ปิดเทอม น้องชายก็ผลัดเปลี่ยนกันมา ตอนนั้นเราคิดว่าเราโอเคนะ แต่มันมีช่วงหนึ่งที่ชอบฝัน คือจะชอบคิดว่าโลกจริงๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ คือความฝัน ช่วงที่นอนหลับต่างหากคือความจริง ชอบมองออกไปไกลๆ มองหน้าต่าง มองฟ้า มองดอกไม้แล้วก็บอกว่า เมื่อไรน้า…เราจะตื่น จนอาจารย์ที่เราเคารพมากท่านหนึ่งเดินมาบอกว่า รู้ตัวไหมว่าอ่อนแอมากเลย”
อาจารย์ท่านนั้น คือผู้ที่สอนปั้นปูนปลาสเตอร์ทำแขน-ขาเทียม อยู่แผนกฟื้นฟูของโรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เขาช่วยเสาวลักษณ์ทำกายภาพบำบัด แต่ทนไม่ไหวกับอาการป่วยที่ใจของเธอ และความซูบผอมที่นับวันดูจะซีดเซียวลงไปเรื่อยๆ
“รู้ไหมว่าต้องเข้มแข็งกว่านี้ ร่างกายแข็งแรงแล้ว แต่จิตใจอ่อนแอมาก แล้วเขาก็บอกให้เราตามไปที่แห่งหนึ่ง จะพาไปดูอะไรบางอย่าง”
บทเรียนที่อาจารย์มอบให้ คือ หลักฐานโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์ที่เธอเคารพ ใจความที่อาจารย์อยากบอกคือ ไม่มีใครไม่เคยสูญเสีย
“เขาคงกลัวเราไม่เข้าใจ เลยพาไปเจอกับพยาบาลคนหนึ่งที่ก่อนหน้านั้นเราแทบไม่เคยมองเห็นเขาเลย เป็นพยาบาลหญิงนั่งอยู่ในวีลแชร์ เข็นรถไปมาท่าทางคล่องแคล่วมาก อาจารย์บอกเราว่า อาการทางสรีระเหมือนกับเราทุกประการเลยนะ เราแบบ… เฮ้ย ทำไมพี่คนนี้คล่องจัง เรายังเข็นรถตัวเองไม่ได้เลยนะ”
หลังจากนั้นเสาวลักษณ์และพี่พยาบาลคนนี้จึงเริ่มมองเห็นกัน
“เขาเริ่มมาคุยกับเราบ่อยๆ ชวนไปซื้อของ ไปเล่นเทนนิส เราแบบ… ห๊ะ ตีเทนนิสได้? เขาทำได้ทุกอย่าง วันดีคืนดีเขาก็บอกจะไปเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว จะไปซื้อแพมเพิร์ส แต่วันนี้จะไม่ซื้ออย่างเดียว เพราะการจัดวางของเขาจะเอาแพมเพิร์สไว้ชั้นบน ซึ่งเราหยิบไม่ถึง และเราก็เข้าไม่ได้เพราะมันมีสเต็ป เราจะต้องไปบอกเขาให้เอาแพมเพิร์สไว้ข้างล่าง และต้องทำทางลาดด้วย เราแบบ…มีงี้ด้วยเหรอวะ? (หัวเราะ)”
นั่นคือ role model หรือบุคคลต้นแบบ ให้เห็นว่ามีเคส มีคนที่ใกล้เคียงกับเรื่องราวของตัวเอง สร้างและเป็นแรงบันดาลใจ และเริ่มทำให้เสาวลักษณ์เชื่อว่า การช่วยคนพิการไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่มันมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ คนพิการ… ต้องพิการ
เสาวลักษณ์: ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ
ใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายตัวเองสองปีที่เชียงใหม่ แต่ใช้เวลาอีกหลายปีในการทำความเข้าใจกับคนในสังคมรอบตัว เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ไม่ได้การแล้ว… เธอใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไม่ได้อีกแล้ว เธอต้องออกไปทำงาน
แม้จะเปลี่ยนงานหลากหลาย แต่รูปแบบการต่อสู้ของเธอเริ่มและจบลงคล้ายเดิม ช่วงแรกทุกคนจะจดจ้องไปยังขาที่เดินไม่ได้ ตั้งแง่ในตัวเธอ เสาวลักษณ์ต้องต่อสู้พิสูจน์ด้วยการทำงาน เธอทำได้ดีและได้รับการยอมรับ แต่ท้ายที่สุด มักจะจบลงที่ความรู้สึกว่า ‘ยังไม่ใช่งานที่เธอมองหา’
ยกตัวอย่างเช่น
“ตอนนั้นมีคอร์สของอาจารย์ท่านหนึ่ง สอนทำเบเกอรีแบบสิงคโปร์ที่สีลม เราก็ไปทำกับน้องสะใภ้ กลับมาพิจิตรก็เปิดร้านทำกันเป็นล่ำเป็นสันเลย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้คนเริ่มรู้จัก เพื่อนๆ เริ่มซื้อไปแจกหรือใช้ในงานประชุม แต่พอคนเริ่มรู้ว่าเราเป็นเจ้าของ สิ่งนั้นมันก็กลับมาอีกแล้ว
นี่ไงๆ เจ้าของเป็นคนพิการ เราต้องมาช่วยเขาซื้อนะ เขาน่าสงสาร เขาไม่ได้วิจารณ์ขนมของเราอีกแล้ว เขาพูดแต่เรื่องความพิการของเรา
เธอบอกว่า เวลาที่เธอถูกคนอื่นสงสาร เธอกลับสมเพชตัวเอง และความรู้สึกนี้มันขมเป็นบ้า เธอเลิกเด็ดขาด ทั้งที่กิจการกำลังไปได้ดี เธอตัดสินใจยกมันให้น้องสะใภ้
ชีวิตเธอเปลี่ยนอีกครั้งอย่างจริงจัง เมื่อเห็นทุนการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สอนภาษาอังกฤษสำหรับคนพิการ สถานศึกษาตั้งอยู่ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี เธอตัดสินใจ… ทุนนี้จะเปลี่ยนชีวิตเธอ
“วันที่เข้าไปในบ้านนั้นวันแรก สภาพมันแย่มาก เพราะมันเป็นปีแรกที่เปิดให้เรียน มันยังไม่สะดวกสบาย น้องชายเห็นเข้าก็รับไม่ได้ บอกให้กลับอย่างเดียว แต่ถ้าเรากลับวันนี้ เราคงไม่ได้ออกจากบ้านอีกเลยตลอดชีวิตแน่ เพราะต่อไปการตัดสินใจของเรามันจะไม่มีความหมาย
“เราบอกน้องชายว่าไม่กลับ แต่น้ำตานองหน้าเลย”
แต่ทุนการศึกษานี้ก็เปลี่ยนชีวิตเธอจริงๆ
เราถามเธอ นับจากวันที่ยืนยันกับครอบครัวว่านี่คือเธอจริงๆ ไม่ใช่ใครอื่น วันที่ยืนยันกับ PA ว่าจะขอเลือกเสื้อผ้าใส่เอง วันที่เลิกกิจการทำขนม เพราะทุกคนบอกว่าจะช่วยซื้อเพราะคนพิการทำ จวบจนถึงวันนี้ ค้นพบแล้วหรือยังว่าเส้นเรื่องสำคัญในโลกแห่งการ ‘สงเคราะห์’ มันคืออะไร
“ปัญหาคือคนอื่น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่คนพิการ มันคืออุปสรรค อุปสรรคทางทัศนคติ และทางกายภาพ เช่น ลิฟต์ ทางลาด อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์ช่วยความพิการ สุดท้าย คือกฎหมาย ที่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
คราวนี้ทฤษฎีมาครบ เริ่มเข้าใจปัญหาเป็นชั้นๆ เลย คนรอบข้างไม่ผิดเลย เพราะเราอยู่ในสังคมแบบนี้ เอาจริงๆ กว่าจะเข้าไปสู่เรื่องพ่อมดหมอผีนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ทำไมจึงคิดกับเราแบบนี้ ก็เพราะเราโตมากับความเชื่อเรื่อง ‘กรรม’ เป็นกรรมก็แก้ไม่ได้ อะไรแบบนี้
เข้าใจได้ว่า อาจเพราะเธอใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา ที่ถูกสอนให้ ‘ไฟต์’ ให้ตั้งคำถาม ให้เคารพในสิทธิร่างกายตัวเอง และตระหนักรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า อย่างคน ‘ปกติ’ อย่างน้อยๆ ก็ตลอด 27 ปี แต่สำหรับคนพิการบางคนและครอบครัวบางรูปแบบ พร้อมจะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบาปกรรม…
มันง่ายในการทำความเข้าใจ ในการใช้ชีวิต และการยอมรับกว่าหรือเปล่า?
ภาษาอังกฤษบอกว่า You are sinner and then you deserve it. จบ ไม่ต้องไป development อะไร จบเลยตรงนั้น deserve (สมควรได้รับ) นะ ไม่ใช่ acceptant (ยอมรับ)”
เธอตอบอย่างโกรธๆ กับคนตั้งคำถามแบบนี้ ราวกับว่า ‘ทำไมตั้งคำถามอย่างสิ้นหวังและแสนดูถูกตัวเองขนาดนี้นะ!’
เสาวลักษณ์อธิบายต่อว่า ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นผักปลา อย่างคนที่สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความเป็นคน ไม่มี human being
“การเป็น human being ต้องภูมิใจในความเป็นตัวเองก่อน ก่อนที่จะมี self-confidence เพื่อจะบอกว่า คุณจะอยู่แบบนี้ไม่ได้นะ และเอาจริงๆ ตัวเราเองเป็นคนเดียวที่จะปลดโซ่นี้ได้ ไม่ใช่ใครอื่น แล้วทำไมเราจะไม่ลุกขึ้นมา”
ก่อนปิดท้าย เธอเล่าเหตุการณ์หนึ่งในช่วงชีวิต ซึ่งฉันคิดว่ามันช่าง ‘เด็ดเดี่ยว’ เหลือเกิน
“ก่อนหน้านั้นน้องสาวกำลังจะแต่งงาน น้องสาวดูแลเรามาตั้งแต่เขาอยู่ ม.4 เทียวไปเทียวมาเชียงใหม่ตลอด วันหนึ่งน้องไปคุยกับที่บ้านว่าจะแต่งงานแล้วนะ แต่ไม่รู้ไปคุยกันอีท่าไหน วันหนึ่งน้องเดินมาบอกว่า เจ๊ต้องช่วยหนูแล้วนะ พ่อแม่บอกว่าไม่ให้แต่ง เพราะกลัวหนูจะทิ้งเจ๊ หนูจะทิ้งเจ๊ได้ไง น้องก็หัวเราะ ทำเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ ขำๆ
“เราบอกว่า ได้ยังไง เลยบอกน้องว่าเดี๋ยวเจ๊จะจัดการเอง วันแต่งงานของน้องพี่ไม่ได้ไป บอกเขาด้วยว่าเราไม่ไปงานนะ เพราะเราจะไปดูงานที่ต่างประเทศ 4 ประเทศติดกัน ทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า เราจะอยู่กันแบบนี้นะ เราช่วยเหลือกัน ดูแลกัน แต่ไม่มีพี่ในงาน ชีวิตเธอก็อยู่ได้นะ”
อยู่ได้ ใช้ชีวิตของตัวเอง ลดภาระการพึ่งพิงทางความช่วยเหลือ และอารมณ์ความเป็นห่วง
อาจเป็นทั้งหมดนี้ที่เธอสู้มาทั้งชีวิต ก่อนปิดเครื่องอัดเสียง เธอทิ้งท้ายว่า
“อย่างน้อยๆ พี่ทำให้พ่อแม่นอนตายได้อย่างไม่มีห่วงแล้ว”