Sarajevo Siege และอุโมงค์แห่งความหวัง

สาเหตุของสงครามบอสเนียเกิดจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ อันเนื่องมาจากชาวเซิร์บในบอสเนียฯ ต้องการเป็นใหญ่ แต่ผมก็ขอเตือนก่อนว่าสิ่งที่กำลังจะเล่าเป็นแค่เวอร์ชั่นหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายสื่อที่พูดถึงเรื่องนี้จากหลายมุมมอง เพราะสงครามบอสเนียค่อนข้างซับซ้อนจากประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมาที่ยาวนาน

มิโคร (Mikro) ไกด์หนุ่มจากบริษัทกรุ๊ปทัวร์ท้องถิ่น Sarajevofunkytours กล่าวขึ้นหลังจากขับรถตู้ขนาดเล็กของบริษัทไปรับลูกทัวร์สี่คน คือนักท่องเที่ยวอเมริกันที่มาด้วยกันสามคน และฉันจากเมืองไทย

เช้าวันที่ 24 ธันวาคม 2015 เขาเริ่มแนะนำทัวร์ ‘การปิดล้อมของสงครามซาราเยโวและอุโมงค์แห่งความหวัง’ (Sarajevo Total Siege Tour-War Tunnel) ซึ่งเป็นทัวร์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาซาราเยโวเข้าร่วม ฉันเห็นด้วยกับกิจกรรมนี้เพราะทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามแบบรวบรัดภายในเวลาครึ่งวัน อีกอย่างสถานที่หลายแห่งอยู่ไกลหรืออยู่ในเขตซาราเยโวใหม่ ซึ่งไม่สะดวกสำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ที่สุดท้ายอาจเสียค่าใช้จ่ายที่มากกว่าซื้อทัวร์แบบเหมาเช่นนี้

ฉันได้ข้อมูลบริษัทนี้จากเพื่อนชาวออสเตรียที่เคยทำงานอยู่ซาราเยโวมาก่อน และฉันก็ค่อนข้างประทับใจในความเป็นกลุ่มทัวร์ที่กะทัดรัด ยืดหยุ่น และมีความเป็นกันเอง แต่ทัวร์วันนั้นค่อนข้างทุลักทุเลในแง่ที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ อาคารสถานที่ที่เป็นเศษซากของสงครามหรืออาคารที่ซ่อมแซมปรับปรุงใหม่นั้นมองไม่ค่อยเห็น เพราะปกคลุมไปด้วยควันและหมอกในยามเช้า ฉันจึงเห็นอาคารรัฐสภา โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ และสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่อยู่ลิบๆ หลังม่านควันผสมหมอกที่แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่

สถานที่ที่กล่าวมานั้นมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของสงครามบอสเนีย เพราะถูกปักหมุดหมายว่าเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้ระหว่างกองกำลังทหารเซิร์บในบอสเนียฯ และมุสลิมบอสนิแอก รวมถึงการถล่มด้วยขีปนาวุธทางอากาศจากกองกำลังขององค์กรสหประชาชาติและสหรัฐ

อย่างโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เริ่มแรกเป็นฐานของกองกำลังเซิร์บในการจู่โจมพลเรือนบอสนิแอก ต่อมากลายเป็นที่รวมตัวของผู้สื่อข่าวในการรับและส่งข่าว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับตรอกที่คนเดินเข้าออกที่เป็นเป้าห่ากระสุนของกองกำลังทั้งสองฝ่าย จนได้รับฉายาว่า ‘ตรอกสไนเปอร์’ (Sniper Alley) หลังสงครามบอสเนีย โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ปิดตัวจนถึงปี 2003 ก่อนที่นักธุรกิจชาวออสเตรียมาซื้อกิจการ แต่ต่อมาต้องขายช่วงต่อกิจการให้นักธุรกิจชาวบอสเนียนที่บริหารจนเกิดล้มละลายจนต้องปิดตัวลงอีกครั้งในปี 2014 และถูกขายต่อให้กับบริษัทสัญชาติออสเตรียที่เปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็น ‘โฮเทล ฮอลิเดย์’ (Hotel Holiday)

สถานที่สำคัญอีกแห่งคือสำนักงานสหประชาชาติ ช่วงสงครามบอสเนียในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 หน่วยงานสหประชาชาติที่มีทั้งทหารและพลเรือนในนามของกองกำลังป้องกันของสหประชาชาติ (United Nation Protection Forces: UNPROFOR) ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ โดยตั้งสำนักงานใหญ่ที่ซาราเยโว ก่อนที่จะย้ายสำนักงานไปที่เมืองเบลเกรดในเดือนพฤษภาคม 1993

บทบาทในการทำงานขององค์กรนี้ได้รับวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้เข้าไปช่วยสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง หากทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีสหประชาชาติมติคว่ำบาตรไม่ให้ฝ่ายมุสลิมบอสนิแอกซื้อขายอาวุธไว้ในครอบครองเพื่อเป็นการยุติการก่อสงคราม แต่ฝ่ายกองกำลังทหารเซิร์บในบอสเนียกลับได้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย นอกจากนี้กองกำลังป้องกันสหประชาชาติยังมีภาพลักษณ์การใช้งบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่าย จนถูกกล่าวขานว่าเป็นองค์กรสร้างสันติภาพราคาแพงที่สุดที่เคยมีมาภายใต้องค์กรสหประชาชาติ

มิโครเองยังแอบหัวเราะเบาๆ ไม่ได้ตอนที่พูดถึงตึกของสหประชาชาติ แล้วเลยมาพูดถึงหมวกกันน็อกสีฟ้าที่มีตัวอักษร UN สีขาวสกรีนเป็นโลโก้ ส่วนหนึ่งของเครื่องแบบที่เจ้าหน้าที่ใส่เวลาปฏิบัติหน้าที่

หากใครสนใจเรื่องการทำงานของสหประชาชาติในสงครามบอสเนียเพิ่มเติม ฉันแนะนำให้ดูหนังชนะรางวัลภาพยนตร์ออสการ์และลูกโลกทองคำ สาขาต่างประเทศยอดเยี่ยมปี 2002 เรื่อง No Man’s Land ของผู้กำกับ ดานิส ทาโนวิช (Danis Tanović) ที่เล่าเรื่องราวของทหารสามนาย ขณะติดอยู่ในสนามเพลาะระหว่างเขตแดนของเซิร์บและบอสนิแอก บริเวณชายแดนเมืองตุซลา ทหารบอสนิแอกถูกทำร้ายโดยทหารเซิร์บและถูกผูกติดกับทุ่นระเบิดที่หากขยับตัวแม้แต่นิดเดียวก็ทำให้ระเบิดทำงานได้ ขณะที่ทหารบอสนิแอกอีกคนและทหารเซิร์บต้องเผชิญหน้ากัน นำมาซึ่งการทำร้ายและกล่าวโทษกันไปมากับคำถาม “ใครเป็นคนก่อสงคราม” จนทหารของกองกำลังป้องกันของสหประชาชาติมาพบและพยายามช่วยกู้ระเบิด แต่ไม่สำเร็จ ภายใต้การทำงานที่ถูกสื่อจับตามอง ทำให้กองกำลังสหประชาชาติต้องสร้างสถานการณ์เพื่อกู้ภาพลักษณ์ที่เสียไป

หัวใจของทัวร์เมืองซาราเยโวคือเรียนรู้เรื่องราวการปิดล้อมเมือง Sarajevo Siege ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มกองกำลังทหารเซิร์บในปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแปดปีหลังจากซาราเยโวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1984 ที่ดึงดูดชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวมากมายให้มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ในเวลาต่อมา และแนวการปิดล้อมเมืองดังกล่าวทำให้ชาวเซิร์บในบอสเนียฯ จู่โจมประชาชนมุสลิมบอสนิแอกตลอดช่วงสงครามเป็นเวลาสามปีด้วยอาวุธสงครามอย่างสไนเปอร์

แนวปิดล้อมเมืองซาราเยโว

‘Sarajevo Siege’ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแนวการปิดล้อมที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย และคร่าชีวิตผู้คนในซาราเยโวราวๆ 5,000-10,000 คน จากประชากรราว 500,000 คนก่อนเกิดสงคราม

หนึ่งในนั้นคือคู่รักที่ฝ่ายชายเป็นชาวเซิร์บชื่อ บอสโก บรคิก (Boško Brkić) และฝ่ายหญิงเชื้อสายบอสนิแอกชื่อ อัดมีรา อิสมิก (Admira Ismić) ทั้งคู่เกิดในปีเดียวกันคือ 1968 การเสียชีวิตของทั้งคู่ทำให้ภายหลังได้รับการเรียกขานว่าเป็นคู่รัก ‘โรมิโอและจูเลียตแห่งซาราเยโว’ (Romeo and Juliet in Sarajevo) ซึ่งเป็นชื่อของสารคดีที่ผลิตขึ้นโดยในปี 1994 โดยทีมงานจากประเทศแคนาดาร่วมกับเยอรมนี

ทั้งสองถูกยิงตายระหว่างเดินผ่านไปยังพื้นที่กองกำลังชาวเซิร์บ กระสุนที่ไม่ทราบทิศทางปลิดชีวิตเขาทั้งคู่ในท่าทางที่ยังกอดกันอยู่ในบริเวณด่านหน้าใกล้กับตรอกสไนเปอร์ ส่วนที่เป็นดินแดนตรงกลางระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย จนมีช่างภาพชาวอเมริกันชื่อ เคิร์ท ชอร์ค (Kurt Schork) ได้บันทึกภาพเอาไว้และเผยแพร่ ทำให้คู่รักคู่นี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เพราะเป็นกรณีถูกปัดความรับผิดชอบของทั้งกองกำลังทหารเซิร์บและบอสนิแอกว่ากระสุนที่ปลิดชีพทั้งสองนั้นมาจากฝ่ายไหนกันแน่

ศพของทั้งคู่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุถึง 2-3 วันโดยที่ญาติฝ่ายหญิงต้องการเข้าไปนำศพออกมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานของสหประประชาชาติ (จะเข้าใจมากขึ้นหากดูแผนที่ข้างล่างประกอบ) พ่อของฝ่ายหญิงเองได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดี แสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของกองกำลังของสหประชาชาติที่ไม่พยายามช่วยเหลือเขาให้เข้าไปเอาศพของลูกสาวออกมา

นี่คือเรื่องการเมืองของผู้มีอำนาจผสานกับความขัดแย้งชาติพันธุ์ จนขยายกลายเป็นสงครามที่คนธรรมดาสามัญต้องมาได้รับผลกระทบและระทมทุกข์ อีกหนึ่งในนั้นคือ เด็กหญิงชื่อ ซลาตา ฟิลิโปวิช ผู้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในบันทึกของเธอที่แปลเป็นภาษาไทยโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ ในชื่อ บันทึกของซลาตา เด็กหญิงจากซาราเยโว

“เพื่อนๆ ฉัน เพื่อนพ่อแม่ ครอบครัวเรา มีทั้งชาวเซิร์บ ชาวโครอัต (โครแอท) ชาวมุสลิม เป็นกลุ่มคนที่คละเคล้าปนเปกันที่สุด และฉันไม่เคยรู้เลยว่า คนไหนเป็นเซิร์บ เป็นโครอัต เป็นมุสลิม แต่วันนี้การเมืองยื่นหน้าเข้ามา แล้วก็เขียน ‘ซ’ ให้พวกเซิร์บ ตัว ‘ม’ ให้พวกมุสลิม ตัว ‘ค’ ให้พวกโครอัต การเมืองต้องการแบ่งแยก และวิธีการเขียนตัวย่อ การเมืองก็เลือกใช้ดินสอที่เลวที่สุด สีดำที่สุด การเมืองเลือกใช้ดินสอสงครามที่เขียนเป็นแต่ความทุกข์และความตาย” (หน้า 97)

และการเมืองก็เลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ในหนัง No Man’s Land ทหารฝ่ายเซิร์บและบอสนิแอกพยายามตั้งคำถาม “ใครกันแน่ที่ก่อสงคราม” และการพยายามโยนความผิดให้อีกฝ่ายระหว่างทหารเซิร์บและบอสนิแอก ผลลัพธ์คือทหารทั้งสองยิงปืนสวนกันจนเสียชีวิต ย้ำในสิ่งที่มิโครเล่าว่าสงครามยกระดับกลายเป็นการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน มีการซื้ออาวุธระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันแบบใต้ดินของคนที่ต้องการหาผลประโยชน์ เพื่อเอามาต่อสู้กับอีกฝ่ายบนดิน ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามก็เป็นญาติ เพื่อนสนิท หรือคนรู้จักกันทั้งนั้น ไม่มีใครแยกกันอยู่อย่างเด็ดขาด

ซ้าย: มิโคร ผู้นำทัวร์ ‘การปิดล้อมของสงครามซาราเยโวและอุโมงค์แห่งความหวัง’ (Sarajevo Total Siege Tour-War Tunnel)

สำหรับมิโครเองก็เช่นกัน เขาไม่เคยมีสำนึกในการแยกแยะเชื้อชาติเลย เนื่องจากมีพ่อเป็นโครแอทและมีแม่เป็นบอสนิแอก ขณะที่เแฟนสาวอยู่ที่โครเอเชีย คำพูดของมิโครสะท้อนทัศนะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงคราม เป็นเหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับการอยู่ร่วมกันของปัจจุบันและในอนาคต ที่ฉันสัมผัสได้

หลังมิโครเล่าประวัติศาสตร์สงครามบอสเนียแบบคร่าวๆ เขาพาเราไปยังอุโมงค์ Dobrinja ที่ขุดขึ้นโดยกลุ่มบอสนิแอกในการส่งเสบียงระหว่างพื้นที่ถูกปิดล้อมโดยชาวเซิร์บ พื้นที่ที่มีการขุดอุโมงค์เป็นพื้นที่ของสนามบินเก่าในเมืองบุทเมียร์ (Butmir) ฝั่งหนึ่งของอุโมงค์เป็นบ้านของหญิงชราคนหนึ่งที่อนุญาตให้มีการขุดอุโมงค์เชื่อมของบอสนิแอกที่ติดอยู่ในวงล้อมและอุโมงค์แสงสว่างแห่งความหวังช่วยชีวิตคนทั้งเมืองที่ติดในซาราเยโว

ปัจจุบันพื้นที่ประวัติศาสตร์ได้แปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ Tunel Spasa เพื่อให้คนเข้าชมได้ โดยมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นห้องแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในระหว่างสงคราม และถัดไปเป็นห้องวิดีโอประมาณ 15 นาที ซึ่งเป็นภาพถ่ายจริงจากกล้องวีดีโอมือสมัครเล่นที่คนบอสนิแอกเป็นเจ้าของ ทำให้คนเยี่ยมชมสัมผัสได้ถึงสภาพใต้อุโมงค์ช่วงสงครามที่ส่งของกิน เสบียง และอุปกรณ์ต่างๆ

อีกส่วนเป็นอุโมงค์จริงที่ผู้คนใช้เดินเชื่อมกันมีความยาว 800 เมตร แต่ทางพิพิธภัณฑ์จัดพื้นที่ให้คนลงไปสัมผัสสถานที่จริงเพียง 25 เมตร ทุกคนต้องก้มหัวขณะเดินเพราะอุโมงค์ต่ำกว่าความสูงของคนทั่วไปมาก ขณะที่อากาศก็หนาวขึ้นเหมือนจะลงไปที่ 0 องศาฯ และติดลบ ฉันรู้สึกว่าทุกคนก็หนาวเช่นกัน จากอาการปากสั่นขณะเดินอยู่ในอุโมงค์ พอขึ้นมาจากถึงอีกฝั่งของอุโมงค์ มิโครเดินมารับและพาไปดูในส่วนของตู้จัดแสดงของ และชี้ให้ดูเป้กระเป๋าที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องแบกของที่หนักราว 30 กิโลกรัมและเดินระหว่างสองฝั่งของอุโมงค์ ฉันคิดในใจว่าน้ำหนักมากกว่ากระเป๋าเดินทางที่โหลดใต้เครื่องบินเสียอีก

กลับขึ้นมาด้านบนอีกครั้ง ฉันสังเกตเห็นพื้นที่บางส่วนของพิพิธภัณฑ์ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด บางส่วนของพื้นที่มีรั้วกั้นและกล้องวงจรปิดติดอยู่ เห็นได้ชัดว่าบริเวณใต้รั้วเหล็กนั้นยังมีทุ่นระเบิดฝังอยู่ในผืนดินเป็นจำนวนมาก ผ่านมาแล้วเกือบสองทศวรรษ รัฐบาลยังจัดการกำจัดทุ่นระเบิดไม่หมดสิ้น เพราะพื้นที่ที่ยังเสี่ยงต่อระเบิดยังมีมากเกินกว่าจะจัดการให้หมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการลำเลียงเสบียงและสิ่งจำเป็นในช่วงสงคราม และในเมืองใหญ่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ซึ่งรวมถึงซาราเยโว ตุซลา เซเบรนิกา และมอสตาร์

ช่วงท้ายของสงครามบอสเนียในปี 1995 มีการสำรวจและรายงานว่าบอสเนียฯ มีทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ถึง 6 ล้านลูก และส่วนหนึ่งเป็นระเบิดผลิตเองแบบราคาถูก ทำจากวัสดุคล้ายพลาสติกที่ไม่สามารถปลดสลักระเบิดได้ ในหนังเรื่อง No Man’s Land ให้ภาพระเบิดประเภทนี้ เมื่อนักกู้ระเบิดของกองกำลังป้องกันสหประชาชาติพยายามถอดสลักแต่ก็ล้มเหลว

ปัจจุบัน พื้นที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของบอสเนียฯ จากทั้งหมด 51,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิด และถือเป็นประเทศหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มีระเบิดร้ายแรงฝังอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก พื้นที่ฝังทุ่นระเบิดยังสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่จะกลับบ้านเกิดหลังสงครามและไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งที่การถือครองที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลังสงคราม

และเราก็ไปเยี่ยมชมจุดสุดท้ายของทัวร์วันนั้นคือ สถานที่จัดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ยอดเขา Trebević ที่ซาราเยโวเป็นเจ้าภาพในปี 1984 ซึ่งรัฐบาลยูโกสลาเวียในขณะนั้นต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝั่งตะวันตกและตะวันออก ซาราเยโวได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองได้อย่างดีในเวลาต่อมา ทุกวันนี้ซีเมนต์ที่สร้างขึ้นเป็นทางให้ล้อเลื่อนหรือสเลดยังอยู่ทนทานเป็นอนุสรณ์สถานย้ำเตือนถึงความรุ่งเรืองของยูโกสลาเวียในอดีต แต่บัดนี้ซีเมนต์ถูกพ่นสีและวาดลวดลายกราฟฟิตีให้คนได้ปีนป่ายและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแทน

การไต่ขึ้นมาบนยอดเขาที่ความสูง 1,600 เมตรของที่นี่ทำให้ได้เห็นท้องฟ้าสีจัดจ้านเพราะเป็นวันอากาศดีและแดดออก ขับให้สีต้นไม้ใบหญ้าตามแนวป่าเขียวเด่นชัดขึ้น ฉันเห็นคนบอสเนียนขับรถวนเขาขึ้นมาเป็นระลอก และหลายคนเตรียมอาหารและสัมภาระมาสำหรับปิกนิก มิโครอธิบายว่า คนที่นี่มีประเพณีขึ้นมาบนป่านี้ก่อนวันคริสต์มาส และมีพิธีกรรมตอนกลางคืนที่ป่าแห่งนี้ด้วย ฉันแอบเสียดายที่มาคนเดียว ไม่เช่นนั้นคงได้ลากใครสักคนขึ้นมาสังเกตการณ์เป็นแน่

ผ่านไปสักพัก มิโครเร่งลูกทัวร์ของเขาให้ขึ้นรถ แน่นอนพวกเราไม่อยากกลับ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นท้องฟ้าใสไร้มลพิษ เพราะเราไต่ระดับขึ้นมาสูงกว่าชั้นบรรยากาศที่ควันพิษจากในเมืองจะลอยขึ้นมาถึงได้ และได้รับความอบอุ่นจากแสงแดดตรงๆ หลังจากที่อากาศในเมืองข้างล่างตอนเช้าติดลบ

หลังจบการนำทัวร์วันนี้ มิโครวางแผนเดินทางไปฉลองคริสต์มาสกับแฟนสาวที่โครเอเชียด้วยรถทัวร์ที่เขาซื้อตั๋วล่วงหน้าไว้แล้ว นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งทำให้เห็นว่าชีวิตคนธรรมดาก็อยู่ด้วยกันมาอย่างดี เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศที่เคยอยู่ใต้ร่มยูโกสลาเวียอย่างเสรี เหลือแต่ก็เพียงทำอย่างไรให้ความรู้สึกแบ่งแยกที่ยังมีอยู่กลายเป็นแค่อดีต และไม่อยู่ภายใต้กระแสของชาตินิยม หรือเอาให้ชัดคือเชื้อชาตินิยมที่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจมักเอามาเล่นกับความรู้สึกของผู้คนก็พอ

เมื่อถึงจุดสุดท้ายของทัวร์ มิโครส่งพวกเราลงในตัวเมืองเก่า แต่ฉันขอลงตรงหน้าเทศบาลเมืองที่ต่อมาถูกปรับเป็นห้องสมุด Vijećnica ที่ถูกทำลายเสียย่อยยับจนไม่เหลือเค้าของห้องสมุดในช่วงสงคราม หนังสือจำนวนมากถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ที่ชั้นหนึ่งของห้องสมุดจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของซาราเยโวในรอบ 100 ปี ตั้งแต่แต่ปี 1914-2014 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย โปสเตอร์ของนิทรรศการทำให้ฉันสับสนเล็กน้อยว่าเป็นนิทรรศการถาวรหรือชั่วคราว เพราะเนื้อหาบอกว่าแสดงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ปี 2014 แต่ช่วงที่ฉันไปผ่านมาแล้วหนึ่งปีพอดี แต่นิทรรศการก็ยังแสดงอยู่ ส่วนด้านล่างเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนบอสเนียนจากอดีตถึงปัจจุบัน ที่คล้ายกับเป็นนิทรรศการถาวร

ออกจากห้องสมุด ฉันอยากเดินเล่นในเมืองอีกด้านหนึ่งของเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดสดกลางแจ้งขายผักผลไม้ มิโครไกด์ของฉันพูดตอนขับรถผ่านเมื่อเช้าว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทหารเซิร์บขว้างระเบิดใส่ในเดือนกุมภาพันธ์ 1994 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 68 คน และบาดเจ็บร่วม 200 คน จากนั้น ฉันเดินต่อไปยังฝั่งตรงข้ามของตลาดแห่งนี้ บังเอิญไปเจอกับตลาดที่ขายของสดและแห้งตั้งเป็นแผงสะอาดสะอ้านภายในอาคารที่ตกแต่งอย่างสวยงามชื่อ Gradska Trznica สร้างขึ้นในปี 1895 ซึ่งทุกคนเรียกติดปากว่า Markale ในวันที่ 28 สิงหาคม 1995 ตลาดนี้ถูกจู่โจมและทำให้มีผู้เสียชีวิต 43 คน และบาดเจ็บ 84 คน

หลังการโจมตีครั้งนี้ ทำให้สหรัฐ โดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประกาศจู่โจมทางอากาศ ในที่สุด หลังจากแสดงท่าทียืดเยื้อมาหลายปีว่าสหรัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามในประเทศอดีตยูโกสลาเวียหรือไม่

ในหนังสือ บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา: แดนมิคสัญญี โดย กิติมา อมรทัต อ้างบทสัมภาษณ์ความเห็นของเจ้าหน้าที่สหรัฐคนหนึ่งที่มีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งต้องคำนึงถึงกระแสมวลชนว่า

“ไม่ทราบว่าประชาชนจะให้การสนับสนุนมากแค่ไหนในการเอาชีวิตคนหนุ่มๆ ชาวอเมริกันไปเสี่ยงเพื่อประเทศที่ชาวอเมริกันส่วนมากแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเลย”

– หน้า 216

หลังจากการถล่มทางอากาศในเดือนสิงหาคม 1995 ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน มีการเปิดโต๊ะเซ็นสัญญาใน ‘ข้อตกลงเดย์ตัน’ ที่สหรัฐ เพื่อยุติสงครามกลางเมืองในบอสเนียฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ การล้อมปราบซาราเยโวเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ที่ถูกจารึก ความเป็นไปของเมืองนี้จึงเริ่มต้นใหม่จากการนับศูนย์หลังสงครามเสร็จสิ้น ผ่านมาเกือบสองทศวรรษ ซาราเยโวกำลังพัฒนาให้เป็นเมืองที่ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว สร้างแบรนด์ใหม่ที่ก่อตัวและพัฒนามาจากเมืองแห่งสงครามกลางเมือง เช่นการจัดการท่องเที่ยวรำลึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงคราม

ในทางวัฒนธรรม มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซาราเยโว (Sarajevo Film Festival) ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เทศกาลนี้เริ่มจัดขึ้นในขณะที่สงครามยังไม่ดับสนิทเสียด้วยซ้ำ โดยศิลปินจากศูนย์ศิลปะโอบาลา (Obala Art Center) และกลุ่มภาพยนตร์สงคราม โดยครั้งแรกที่มีการจัดคือปี 1995 มีหนังขนาดสั้นและยาวเข้าฉายถึง 37 เรื่อง จาก 11 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมชมถึง 15,000 คน เทศกาลนี้ยังเป็นเวทีฉายหนังเรื่อง No Man’s Land ในปี 2001 และชนะรางวัลสูงสุดของเทศกาล จนไปคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์และลูกโลกทองคำในปีถัดมา

ซาราเยโวยยังมีโรงหนังอิสระ Kriterion เปิดในปี 2011 เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับฉายหนัง จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และสื่อด้านศิลปะ ที่บริหารโดยกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการหารายได้ระหว่างเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดจากนักศึกษาจากอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่ทำงานที่โรงหนังชื่อเดียวกันที่อัมสเตอร์ดัม มาช่วยให้แนวคิดในการเปิดโรงหนังแห่งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์หลังสงครามกลางเมือง

ซาราเยโวยังมีความหวัง ไม่ต่างจากอุโมงค์ 800 เมตรที่ผู้คนใช้สื่อสารและขนถ่ายสิ่งของเพื่อความอยู่รอดในระหว่างสงคราม วันนี้ของซาราเยโวยังต้องเดินทางอีกไกลในการกลับมาเป็นเมืองสำคัญและเมืองแถวหน้าอีกแห่งในยุโรป

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า