เลขาธิการสหประชาชาติ: ไม่มีที่ทางสำหรับโทษประหารชีวิตในศตวรรษนี้

อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

10 ตุลาคม คือวันต่อต้านโทษประหารโลก (World Day Against Death Penalty)

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (Antonio Guterres) เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้ส่งเสียงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายกเลิกการลงโทษประหารชีวิตอันมี ‘ลักษณะสุดป่าเถื่อน’ เสียที

นี่เป็นแถลงการณ์ครั้งแรกของผู้นำแห่งองค์กรโลกเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต กูแตร์เรสกล่าวอภิปรายในงานแห่งหนึ่งซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์คในหัวข้อ ‘ความโปร่งใสและโทษประหารชีวิต’ (Transparency and the Death Penalty) โดยระบุชัดเจนว่า “กรุณาหยุดการประหารชีวิต”

เขากล่าวย้ำว่า “โทษประหารชีวิตไม่มีที่ทางอย่างใดในศตวรรษที่ 21”

กูแตร์เรสเอ่ยถึงประเทศบ้านเกิดโปรตุเกสของตนด้วยว่าได้ยกเลิกโทษประหารเมื่อเกือบ 150 ปีมาแล้ว และอีกสองประเทศในแอฟริกา คือ แกมเบีย กับมาดากัสการ์ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ‘ขั้นตอนสำคัญ’ หลายอย่างเพื่อยกเลิกโทษลักษณะ ‘สุดป่าเถื่อน’ นี้

ในปี 2016 การประหารชีวิตทั่วโลกลดลง 37 เปอร์เซ็นต์จากปี 2015 เนื่องจาก 170 ประเทศตัดสินใจยกเลิกการประหารไปแล้ว กูแตร์เรสกล่าว

‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ หรือ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ระบุว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของการประหารชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นในสี่ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน

เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศจีนมีสถิติการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ตัวเลขสำหรับเรื่องนี้ยากที่จะนำมาแสดงได้เนื่องจากการควบคุมเข้มงวดของรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะสูงกว่ารายงานที่แอมเนสตี้ได้รับ คือจำนวน 1,032 รายในปี 2016 ตามการเฝ้าระวังขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งนี้

สหรัฐอเมริการวมอยู่ในห้าอันดับแรก ระหว่างปี 2006 ถึง 2016 แต่จำนวนได้ลดลงไปเมื่อปีที่แล้ว

การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาปีที่ผ่านมามีจำนวน 20 ครั้ง นับเป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 อยู่ในอันดับที่ 7 ซึ่งต่ำกว่าอียิปต์เพียงเล็กน้อย และเป็นประเทศเดียวในภาคพื้นอเมริกาทั้งสองทวีปที่ยังคงลงโทษด้วยการประหารชีวิต

ห้ามลรัฐอเมริกันดำเนินการประหารชีวิตลงไปเมื่อปีที่แล้ว และอีก 31 มลรัฐยังคงมีบทลงโทษประหารอยู่ตามกฎหมาย ในปี 2017 นี้ มีการประหารชีวิตทั้งหมด 19 ครั้งโดยผ่านการฉีดยาให้ตาย ในจำนวนนี้รัฐเท็กซัสแห่งเดียวลงมือประหารชีวิตนักโทษไปแล้วห้าราย

เดือนสิงหาคม ที่รัฐฟลอริดา เจ้าหน้าที่รัฐแถลงว่า ชายผิวขาวคนหนึ่งอายุ 53 ปีถูกตัดสินลงโทษในคดีฆาตกรรมสองครั้งเมื่อปี 1987 ที่มีสาเหตุมาจากการเหยียดเชื้อชาติ นักโทษรายนี้ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาซึ่งผสมรวมกับยาเสพติดบางชนิดที่ไม่เคยใช้มาก่อนในขั้นตอนดำเนินการลงโทษประหารของสหรัฐ

มาร์ค อเซย์ (Mark Asay) เป็นคนผิวขาวรายแรกที่ถูกประหารชีวิตในฟลอริดาตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลโทษประหารชีวิต (Death Penalty Information Center)
อัยการรัฐฟลอริดากล่าวว่า อเซย์ได้ประกาศถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติขณะลงมือยิงชายผิวดำอายุ 34 ปีจนเสียชีวิต นอกจากนี้เขาเคยถูกตัดสินลงโทษในคดีฆาตกรรม โรเบิร์ต แมคโดเวล (Robert McDowell) อายุ 26 เมื่อปี 1987 ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ตายเป็นคนครึ่งชาติพันธุ์ผิวขาวและฮิสแปนิก

เมื่อไม่นานมานี้ คณะบริหารรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งลงมติออกเสียงคัดค้านญัตติข้อเสนอของสหประชาชาติเพื่อประณามการลงโทษประหารชีวิตสำหรับคนเพศทางเลือก (LGBTQ)

ญัตติดังกล่าวได้ส่งผ่านจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: UNHRC ) ที่เจนีวามาแล้ว ข้อสำคัญของญัตตินี้คือการเรียกร้องให้ประเทศที่มีโทษประหารชีวิตถูกต้องตามกฎหมาย ออกมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าพลเมืองจะไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายในลักษณะ ‘โดยพลการหรือเลือกปฏิบัติ’ หรือสำหรับรูปแบบพฤติกรรมอย่างเช่น ละทิ้งศาสนา หมิ่นศาสนา มีประเวณีโดยความยินยอมในความสัมพันธ์รักร่วมเพศ

สหรัฐตกอยู่ในอยู่กลุ่มเดียวกันกับผู้ออกเสียง ‘คัดค้านการประณาม’ (vote ‘No’) แบบเดียวกันรวมกัน 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย บังคลาเทศ อิรัก บอตสวานา บุรุนดี อียิปต์ กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ด้วย 27 เสียงจากประเทศอื่นๆ ที่เห็นด้วยทำให้ญัตติผ่านไปได้

นักสิทธิมนุษยชนพากันแห่ออกมาประณามรัฐบาลทรัมป์ รวมทั้งเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ นิคกิ เฮลีย์ (Nikki Haley) ทันที

นิคกิ เฮลีย์ เอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ

“เอกอัครรัฐทูตเฮลีย์สร้างความผิดหวังแก่ชุมชน LGBTQ เพราะไม่ได้ออกเสียงต่อต้านพฤติกรรมป่าเถื่อนที่ใช้การประหารชีวิตเพื่อลงโทษบุคคลผู้มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน” ไท คอบบ์ (Ty Cobb) ผู้อำนวยการ HRC Global กล่าว “ในขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ริเริ่มขั้นตอนที่มีความหมายมากสุดของมาตรการนี้ คณะบริหารของรัฐบาลทรัมป์กลับล้มเหลวที่จะแสดงความเป็นผู้นำบนเวทีโลก โดยไม่ได้ออกมาให้การสนับสนุนมาตรการสำคัญดังกล่าว การดูหมิ่นสิทธิมนุษยชนรวมถึงสมาชิกเพศทางเลือก LGBTQ ทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัดของคณะผู้บริหารรัฐบาลนี้ เป็นสิ่งที่หนักหนาล้นพ้นกว่าจะเรียกว่า ‘น่าอับอาย’ เสียอีก”

เอกอัครรัฐทูตสหรัฐเฮลีย์ โต้ตอบการวิจารณ์ประณามจากชาวชุมชน LGBTQ และรวมถึงการวิพากษ์ของ ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) อดีตทูตประจำยูเอ็นคนก่อนหน้าเธอ ผู้ที่ได้ส่งข้อความทวีต “เป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับสหรัฐ!” หลังการลงมติดังกล่าว และไรซ์เสริมว่า “ดิฉันภูมิใจมากที่ได้หนุนนำความพยายามของสหรัฐในสหประชาชาติเพื่อปกป้องชาว LGBTQ เพราะขณะนั้นอเมริกายืนหยัดในหลักการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มกำลัง”

คำอธิบายของเฮลีย์มีความสับสนเล็กน้อย เนื่องจากเธอทวีตว่า “งดออกเสียง” (no vote) เพื่อไม่สนับสนุนญัตติ แต่ตามจริงแล้ว Newsweek รายงานว่า “ในปี 2014 รัฐบาลโอบามาก็ได้งดออกเสียงสำหรับญัตติเรื่องการลงโทษประหารในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ว่าในครั้งนั้นญัตติไม่ได้มีส่วนใดเน้นย้ำถึงสิทธิของ LGBTQ โดยเฉพาะ”

แต่โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ เฮเธอร์ เนาเอิร์ต (Heather Nauert) ชี้แจงถึงการลงคะแนนโดยกล่าวว่า “เราออกเสียงไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากความกังวลโดยกว้างขวางทั่วไปต่อแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อจะประณามการลงโทษประหารชีวิตในทุกสถานการณ์ และมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปทั้งหมด”

ในความเป็นจริง ไม่เคยมีรัฐบาลสหรัฐคณะใดสนับสนุนญัตติของสหประชาชาติที่ต่อต้านประณามโทษประหารชีวิตเนื่องจากสาเหตุนี้ และมักเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนน

เลขาธิการกูแตร์เรสกล่าวชี้แจงอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการ “ยืนยันความไม่เห็นพ้องกับการใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณี”

ในซาอุดีอาระเบีย เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการลงโทษประหารชีวิตชายสี่คนในวันเดียวกัน หลังจากชายทั้งสี่ถูกกล่าวหาว่าก่อการโจมตีในเขตกาติฟ (Qatif) ที่กลุ่มชีอะห์ได้เกิดเหตุปะทะกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยก่อนหน้านั้น

เดือนเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 10 ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษอีกหกคน ในข้อหาฆาตกรรมและครอบครองยาเสพติด ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในหนึ่งวันนับตั้งแต่ต้นปี

คาดกันว่าการประหารดังกล่าวทำให้สถิติการลงโทษประหารชีวิตเท่าที่รัฐบาลบันทึกไว้ในปีนี้พุ่งขึ้นไปถึง 44 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแถลงว่า นักโทษชายปากีสถานคนหนึ่งถูกประหารเนื่องจากค้ายาเสพติด รวมกับชาวซาอุดีอาระเบียอีกห้าคนถูกลงโทษหลังก่อความผิดข้อหาฆาตกรรม

ราชอาณาจักรซาอุดิมีอัตราการประหารชีวิตที่สูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยศาลมักตัดสินลงโทษประหารสำหรับความผิดเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมประเภทก่อการร้าย ฆาตกรรม ข่มขืน โจรกรรมด้วยอาวุธ และค้ายาเสพติด

ปี 2014 ซาอุดีอาระเบียทำสถิติการประหารตามที่บันทึกไว้จำนวน 158 ราย เมื่อปีที่แล้ว 153 ราย ลดลงเล็กน้อย

รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนโดยองค์กรสิทธิมนุษยชน ‘บรรเทาโทษ’ (Reprieve) พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบียปีนี้ หลังจากนักโทษถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอย่างใด เช่นเข้าร่วมการประท้วงทางการเมือง

กลุ่ม ‘บรรเทาโทษ’ กล่าวแสดงความห่วงใยว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศจำนวนมากถูกหลอกลวงเข้าสู่วงการลักลอบนำเข้ายาเสพติด แล้วต่อมาก็จะถูกจับกุม และต้องโทษประหาร

อย่างน้อย 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาในประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันเป็นชาวปากีสถาน ตามการวิเคราะห์ของ กลุ่ม ‘บรรเทาโทษ’

ระหว่างเดือนพฤษภาคมปีนี้ หลังจากการเยือนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ศาลอาญาของซาอุดีอาระเบียก็ยังได้ออกคำตัดสินประหารชีวิตต่อนักโทษที่ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการประท้วงต่อทางการหลายราย รวมทั้งชายพิการ มุนีร์ อาดัม (Munir Adam) ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ยุติการประหารชีวิตในข้อหากระทำผิดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ทางการซาอุดีอาระเบียอ้างว่า บทลงโทษประหารชีวิตเป็นตัวยับยั้งเพื่อต้านทานอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ

รูปแบบการประหารชีวิตที่ใช้มากที่สุดในราชอาณาจักรซึ่งบังคับใช้กฎหมายอิสลามแบบสุดยอดเคร่งครัด คือ การตัดศีรษะด้วยดาบ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
aljazeera.com
Newsweek

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า