การได้ประกันตัวของ ‘หมู่อาร์ม’ หรือ สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี ที่ศาลทหารหลังถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘หนีราชการ’ หลังต้องหลบหนีจากการถูกข่มขู่คุกคามเพราะออกมาเปิดโปงการทุจริตภายในกองทัพ นับเป็นก้าวแรกของปฏิบัติการ ‘ไม้ซีกงัดไม้ซุง’ ที่คนตัวเล็กๆ กำลังต่อสู้กับองคาพยพของกองทัพที่ออกแบบมาอย่างเอื้อเฟื้อต่อสโลแกนที่ว่า ‘ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน’ ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเรื่องราวของการออกมาเปิดโปงการทุจริตในระบบราชการที่นำไปสู่การข่มขู่คุกคามจะเป็นเพียง ‘เรื่องเดิมๆ’ ในสังคมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ คือ การเห็นสภาพแวดล้อมภายในกองทัพที่เอื้อต่อการปกปิด และนำไปสู่คำถามสำคัญถึงการปฏิรูปกองทัพซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ภายในสังคมไทย
‘หมู่อาร์ม’ จากผู้เปิดโปงทุจริตสู่ทหารผิดวินัย
‘หมู่อาร์ม’ เข้ารับราชการทหารเมื่อปี 2554 และมีตำแหน่งสุดท้ายในกองทัพเป็นเสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณ กองแผนและโครงการ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ‘หมู่อาร์ม’ พบเห็นเอกสารเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่ผิดปกติ เช่น พบชื่อตัวเองปรากฏอยู่ในรายการ ‘เบิกค่าเดินทางไปราชการ’ ทั้งที่เขาไม่ได้ไป และยังพบว่ามีการเบิกจ่ายงบที่ไม่ถูกต้องอีกจำนวนหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2555
การทุจริตดังกล่าวเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกองทัพ เมื่อ ‘หมู่อาร์ม’ ตัดสินใจร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการทุจริต แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา และนำมาซึ่งการกลั่นแกล้งด้วยเรื่อง ‘วินัยทหาร’ ก่อนจะถูกข่มขู่คุกคามถึงชีวิต
เมื่อสถานการณ์บานปลาย หมู่อาร์มเลือกใช้วิธี ‘ไม่เข้าไปทำงาน’ ในขณะที่กองทัพมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพบว่า การทุจริตเบี้ยเลี้ยงภายในกรมสรรพาวุธทหารบก นั้น ‘มีมูล’ ก่อนจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทว่า ‘หมู่อาร์ม’ นายทหารผู้ออกมาเปิดโปงทุจริตกลับกลายเป็น ‘ทหารผิดวินัย’ เนื่องจากขาดราชการเกิน 15 วัน อันเป็นความผิดฐานหนีราชการทหาร ส่งผลให้เขาถูกออกหมายจับ และเสี่ยงต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี อีกทั้งยังถูกกองทัพปลดจากราชการพร้อมทั้งยังมีโอกาสถูกถอดยศทหารอีก
สภาพแวดล้อมภายในกองทัพเอื้อต่อการปกปิด
จากกรณีของ ‘หมู่อาร์ม’ จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมภายในกองทัพเอื้อต่อการปกปิดเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร ปี 2476 (พ.ร.บ.วินัยทหารฯ) ที่ทำให้ทหารชั้นผู้น้อยต้องสยบต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ โดย มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วินัยทหารฯ บัญญัติว่า
“มาตรา 5 วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษา โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด
ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้
- ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
- ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
- ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
- ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
- เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
- กล่าวคำเท็จ
- ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
- ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
- เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะพบว่าเป็นการเขียนที่เปิดช่องให้ตีความอย่างกว้างขวาง อีกทั้ง โทษของการทำผิดวินัยก็มีหลายระดับ ซึ่งตาม มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.วินัยทหารฯ กำหนดให้ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ (ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง) และอาจต้องถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร
จนสุดท้ายตัว พ.ร.บ.วินัยทหารฯ กลายเป็นเครื่องมือในการ ‘กลั่นแกล้ง’ นายทหารชั้นผู้น้อยที่ขัดขืนไม่เชื่อฟังคำสั่ง หรือ จัดการกับพวกผ่าเหลาผ่ากอ
นอกจากนี้ แม้ว่าจะเปิดช่องให้ผู้น้อยร้องทุกข์ได้ถ้าผู้บังคับบัญชาลุแก่อำนาจ แต่การร้องเรียนนั้นก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นการห้ามร้องทุกข์แทนคนอื่น หรือการห้ามรวมตัวกันร้องทุกข์ อีกทั้งยังต้องเปิดเผยตัวผู้ร้องทุกข์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างสภาวะกดดันและโดดเดี่ยวให้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหา
เท่านั้นยังไม่พอ หากมีการกลั่นแกล้งกันจนต้องหันหน้าเข้าสู่ระบบยุติธรรม นายทหารชั้นผู้น้อยก็ต้องเผชิญหน้ากับ ‘ระบบยุติธรรมแบบลายพราง’ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้กองทัพมีศาลเฉพาะเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า ‘ศาลทหาร’ ซึ่งแตกต่างจากศาลปกติหลายประการ อาทิ โครงสร้างของศาลทหารที่สังกัดกระทรวงกลาโหมไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหาร หรือ การที่ตุลาการศาลทหารมาจากการแต่งตั้งกันเองโดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา หรือ พูดง่ายๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมลายพรางก็ถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ดี
จาก #saveหมู่อาร์ม สู่การปฏิรูปกองทัพ
กรณี #saveหมู่อาร์ม สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่ที่หมักหมมของกองทัพนั่นคือ การได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่มากจนเกินจำเป็นจนกองทัพสามารถนำมาใช้หาประโยชน์หรือสั่งสมความมั่งคั่งส่วนบุคคลได้ หรือที่เรียกว่าระบอบ ‘เสนาพาณิชย์’
ทั้งนี้ ระบอบ ‘เสนาพาณิชย์’ แยกไม่ขาดกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน ที่ผ่านมากองทัพเข้ามามีบทบาททั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารที่ทำให้กองทัพมีความสัมพันธ์ที่เป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือน และขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน รวมถึงทำให้สาธารณะไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบกองทัพได้
สุดท้ายแล้ว การปกป้องปัญหาแบบ ‘หมู่อาร์ม’ จึงต้องฝากความหวังไว้กับสังคมที่จะถอนรากถอนโคนปัญหาที่หมักหมมของกองทัพ ไล่ตั้งแต่การจัดการกับทรัพยากรต่างๆ ที่กองทัพถือครองเอาไว้จนเกินจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน คลื่นวิทยุ หรือกำลังพล ฯลฯ และยกระดับความโปร่งใสในการใช้จ่ายกองทัพทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ รวมถึงการจัดการให้ผู้นำเหล่าทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ยึดโยงกับประชาชน