ก่อนการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่นั้น หลายองค์กร/หน่วยงาน รวมถึงภาคประชาสังคม ต่างแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีโดยทันที เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ชัดว่าเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทำลายความมั่นคงทางอาหาร
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘ยกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562’ โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า…
จากการศึกษาข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ สภาเภสัชกรรมได้พิจารณาหลักการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต สำหรับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาประเทศ พร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สรุปเป็น 3 ประการ ดังนี้
- หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle) ซึ่งเป็นหลักสากลในการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย
- เกษตรกรควรมีสิทธิและทางเลือกที่จะทำเกษตรกรรมที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้บริโภค
- นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาการเกษตรกรรมของไทย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”
จากหลักการทั้งสามข้อ สภาเภสัชกรรมจึงขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายที่จะกำหนดมาตรการในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดดังกล่าว โดยขอให้ยกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ด้วยเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด มีพิษสูง เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4
เจาะลึก 3 สารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ
สภาเภสัชกรรมได้สรุปข้อมูลการศึกษาวิจัยผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ดังนี้
1. พาราควอต
- เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต มีงานวิจัยมากมายแสดงว่า พาราควอตเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และทำลายสมองโดยการสร้างสาร α -synuclein เช่นเดียวกับที่พบในสมองของผู้ที่ตายจากการได้รับพาราควอตและผู้ป่วยอัลไซเมอร์
- จากการศึกษาหาปริมาณพาราควอตในคนไทย พบทั้งเลือดหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือ และขี้เทาทารกแรกเกิด รวมถึงยังพบปริมาณสารนี้ในสิ่งแวดล้อม น้ำ พืช และอาหาร
- นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้พาราควอตและได้ผลผลิตสูงแม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม
- ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้พาราควอตจำนวน 53 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพาราควอตแหล่งใหญ่ที่สุด
2. คลอร์ไพริฟอส
- เป็นสารที่มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า มีผลต่อสมองเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบคลอร์ไพริฟอสในสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในคนไทยพบปริมาณคลอร์ไพริฟอสในเลือดหญิงตั้งครรภ์และในสายสะดือของทารก
- นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้คลอร์ไพริฟอสและมีผลผลิตสูงได้ แม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม
- หลายประเทศยกเลิกการใช้สารนี้แล้ว และต้นเดือนสิงหาคม 2561 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ให้ห้ามขายคลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน
3. ไกลโฟเสต
- เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (Group 2A)
- ผลการวิจัยที่ผ่านมา พบไกลโฟเสตตกค้างในซีรัมของแม่และสายสะดือของทารก ในมารดาที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเสต
- ประเทศต่างๆ หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้สารนี้ และจากข้อมูลล่าสุด บริษัทไบเออร์มอนซานโตในเยอรมนี แพ้คดีจากการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากไกลโฟเสต และขณะนี้มีการฟ้องร้องถึงเกือบหมื่นกรณี
แถลงการณ์สภาเภสัชกรรมระบุด้วยว่า ข้อมูลวิชาการข้างต้น ชี้ชัดถึงพิษภัยร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ประกอบกับปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีดังกล่าว
สภาเภสัชกรรมจึงมีมติเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามชนิดภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต
ลงนามโดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม 13 กุมภาพันธ์ 2562
สนับสนุนโดย