ร่างกายใต้บงการ สัญญะของ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ และการขบถของเยาวชนโลก

เครื่องแบบนักเรียนเป็นวัฒนธรรมร่วมประการหนึ่งของระบบการศึกษาในเกือบทุกประเทศที่มักมีข้อกำหนดเรื่องการแต่งกายของนักเรียน ครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จากเสื้อผ้าชั้นนอกถึงเสื้อผ้าชั้นใน 

รายละเอียดการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียน มักมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ หรือแนวคิดหลักของชาติ ภายใต้ข้ออ้างร่วมหลัก 3 ประการ

หนึ่ง เพื่อความเป็นระเบียบ (โรงเรียนเกือบทุกแห่งมักอ้างเหตุผลนี้)

สอง เพื่อให้นักเรียนภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษานั้นๆ (มักเป็นเหตุผลของโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของชนชั้นนำ)

สาม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจถูกแสดงออกผ่านการแต่งกายของนักเรียนหากไม่มีเครื่องแบบ (โรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่มักอ้างข้อนี้) 

ยังไม่เคยปรากฏเหตุผลของการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียนที่เชื่อมโยงกับคุณภาพและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน หรือส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีงานศึกษาวิจัยใดนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องแบบนักเรียนกับคุณภาพการเรียนการสอน 

แต่ข้ออ้างทั้ง 3 ประการ ก็สามารถทำให้ร่างกายของเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาต้องตกอยู่ใต้บงการของ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ มานานนับศตวรรษ จนถึงวันที่พวกเขาลุกมาตั้งคำถามถึงเหตุและผลที่แท้จริง รวมถึงประโยชน์ของการมีเครื่องแบบนักเรียน 

ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ระบบการศึกษาทั่วโลกเกิดวัฒนธรรมร่วมใหม่ประการหนึ่งคือ การประท้วงต่อต้านเครื่องแบบนักเรียน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเครื่องแบบนักเรียนในหลายประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะยืนหยัดในวิถีปฏิบัติเดิม

การประท้วงต่อต้านเครื่องแบบนักเรียนเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศที่มีการบังคับใช้เครื่องแบบ และเกิดขึ้นภายใต้กรอบคิดของสมการเดียวกัน ‘เครื่องแบบนักเรียน = การลิดรอนเสรีภาพร่างกาย’

ญี่ปุ่น: นักเรียนไม่ทนกับแฟชั่นผมดำแห่งยุคเฮอัน (Heian)

นักเรียนญี่ปุ่นเจ็บปวดกับกฎระเบียบเข้มงวดและลงลึกถึงรายละเอียดที่พวกเขามองว่ากลืนกินสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายตนเองของพวกเขาไป โดยเฉพาะสีผมที่ถูกกำหนดว่าต้องดำเท่านั้น 

ผมสีดำถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ความงามของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ในยุคนั้นผู้หญิงต้องมีผมสีดำ สางอย่างประณีต และยาวจรดพื้น มามิ ซูซูกิ (Mami Suzuki) นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่าผมสีดำหรือคุโรคามิ (kurokami) คนญี่ปุ่นจะนึกถึงผู้หญิงในอุดมคติที่มีความอ่อนน้อม เป็นระเบียบ และสะอาด เรียบร้อย ซึ่งนักวิจารณ์สังคมรุ่นปัจจุบันเชื่อกันว่าระเบียบว่าด้วยผมสีดำของนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มีพื้นฐานมาจากจินตนาการของผู้มีอำนาจที่มีต่อความงามของหญิงในอุดมคติ 

ไม่เพียงแต่สีผม เครื่องแบบนักเรียนในญี่ปุ่นยังควบคุมล้วงทะลุเข้าไปถึงชุดชั้นใน เสื้อทับต้องสีอ่อนอย่างเบจหรือมอคคา เพื่อไม่ให้มองเห็นเด่นชัดทะลุเสื้อนักเรียนออกมา ส่วนชุดชั้นในต้องขาว เทา กรมท่า หรือดำ เท่านั้น

นักเรียนญี่ปุ่นเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยสีผม และรายละเอียดอื่นๆ ที่จุกจิกกับร่างกายมานานนับทศวรรษ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนปี ค.ศ. 2021 ศาลกรุงโอซากามีคำพิพากษาต่อคดีที่นักเรียนหญิงวัย 18 ปีคนหนึ่งฟ้องคณะกรรมการการศึกษากรุงโอซากาเมื่อหลายปีก่อน หลังจากที่เธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพียงเพราะปฏิเสธที่จะย้อมผมสีน้ำตาลตามธรรมชาติของเธอให้เป็นสีดำตามข้อบังคับของโรงเรียน 

ศาลให้เธอเป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ใช่ด้วยเหตุที่เธอถูกบังคับให้ย้อมผม แต่ด้วยเหตุผลที่โรงเรียนคัดชื่อเธอออกจากระบบว่าเป็นการกระทำอันมิชอบ ศาลสั่งให้คณะกรรมการการศึกษากรุงโอซากาชดใช้ค่าเสียหายให้เธอเป็นเงิน 330,000 เยน (ประมาณ 80,500 บาท) 

คำพิพากษาคดีนี้ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วระบบการศึกษาของญี่ปุ่น คณะกรรมการการศึกษาในหลายเมืองเร่งทบทวนระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกาย มีการสำรวจความเห็นนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนระเบียบของตนเอง คณะกรรมการการศึกษากรุงมิเอะ ตัดสินใจยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับทรงผม สีชุดชั้นใน และระเบียบว่าด้วยการออกเดทของนักเรียน รวมถึงอนุญาตให้เสื้อผ้าของยูนิโคล่ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียนแบบไม่ทางการ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่ศาลโอซากามีคำพิพากษา ขณะที่บางเมืองขยับไปไกลกว่านั้นด้วยการอนุญาตให้นักเรียนหญิงเลือกได้ว่าจะสวมกระโปรงหรือกางเกงไปโรงเรียน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องประการหนึ่งของนักเรียนญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี

ล่าสุดเดือนมีนาคม 2022 คณะกรรมการการศึกษาแห่งมหานครโตเกียวเพิ่งประกาศยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายนักเรียน 5 ข้อ รวมถึงข้อที่ว่าด้วยสีผมและชุดชั้นใน มีผลบังคับใช้กับโรงเรียนมัธยมปลายของรัฐบาลกว่า 200 แห่งในกรุงโตเกียวในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่าในคำประกาศยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ เหล่านั้น คณะกรรมการการศึกษาของแต่ละเมือง จะมีคำอธิบายว่ากฎระเบียบที่ยกเลิกไปนั้นล้าสมัย เป็นมรดกตกทอดของสังคมต่างยุคสมัย

อังกฤษ: การสร้าง ‘เครื่องแบบในเครื่องแบบ’

ครั้งหนึ่งเครื่องแบบนักเรียนอังกฤษเคยถูกมองเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ จากประวัติศาสตร์การมีเครื่องแบบนักเรียนยาวนานที่สุดในโลก เริ่มจากในสถาบันการศึกษาของสังคมชั้นสูงที่มีการแต่งเครื่องแบบตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ก่อนจะแพร่หลายสู่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศในศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศกำหนดให้เครื่องแบบนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา แต่ในศตวรรษที่ 21 อังกฤษก็ยังต้องเผชิญกับการประท้วงของนักเรียน 

ระบบโรงเรียนของอังกฤษควบคุมร่างกายนักเรียนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าด้วยสิ่งที่มาห่อหุ้มร่างกาย หมวก เสื้อเชิ้ต โค้ต ผ้าพันคอ กางเกง กระโปรง เข็มขัด ถุงมือ รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ บางแห่งควบคุมไปถึงเนื้อผ้า และวิธีการตัดเย็บ แต่นักเรียนหลายคนก็สามารถประกาศให้โรงเรียนรู้ว่า เครื่องแบบไม่สามารถบงการร่างกายพวกเขาได้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องทำสิ่งที่ผิดระเบียบโรงเรียน 

“(เครื่องแบบ) เหมือนอย่างกับคุก แต่แม้ต้องสวมเครื่องแบบก็ยังสักได้นะ ตรงไหนก็ได้ โกนหัวไปโรงเรียนก็ได้ ถ้ารู้จักนำกฎระเบียบมาผสานกับความเป็นตัวเอง คุณก็จะสามารถส่งสัญญาณให้เพื่อนๆ รับรู้ สร้างลำดับชั้นโครงสร้างทางสังคมใหม่ได้ คุณสร้างเครื่องแบบใหม่ในเครื่องแบบได้” ริช อิวานส์ (Rich Evans) เจ้าของแอ็กเคานต์ Classroom Culture ในอินสตาแกรมกล่าว

คำกล่าวของอิวานส์เป็นบทสรุปจากข้อค้นพบจากการศึกษาภาพถ่ายเก่าๆ ของนักเรียนอังกฤษที่เขาทำขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

อิวานส์ ผู้กำกับโฆษณาของเอเจนซีแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เปิด Classroom Culture เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นำเสนอภาพถ่ายแฟชั่นในรูปแบบต่างๆ หนึ่งในผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงมากในสังคมอังกฤษคือ การรวบรวมภาพถ่ายในชุดนักเรียนยุคสมัยต่างๆ ที่เขาและช่างภาพชื่อเกวิน วัตสัน (Gavin Watson) ถ่ายและรวบรวมไว้ 

จากการศึกษาภาพถ่ายเก่าๆ ทำให้อิวานส์มองเห็นความเคลื่อนไหวของสังคมอังกฤษประการหนึ่งคือ เด็กอังกฤษใช้เครื่องแบบนักเรียนที่กดทับร่างกายพวกเขาอยู่ เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นขบถในตัวเองมานานหลายทศวรรษ

นักเรียนอังกฤษไม่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้โรงเรียนยกเลิกกฎระเบียบที่ควบคุมร่างกายตนเอง แต่พวกเขาเลือกที่จะแสดงความเป็นขบถผ่านเครื่องแบบนักเรียน สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องแบบในเครื่องแบบ’ ขึ้นมา เพื่อให้เครื่องแบบเป็นเครื่องมือประกาศตัวตนและส่งสารที่พวกเขาต้องการสื่อ 

เนคไทเป็นเครื่องมือแสดงตัวตนที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักเรียนชาย พวกที่คลั่งไคล้ดนตรีร็อกและอยากให้โลกรับรู้ถึงความฝันอยากเป็นร็อกสตาร์ของตนเองจะเลือกสวมเนคไทอ้วนๆ สั้นๆ 

อิวานส์ค้นพบว่าเด็กๆ สามารถทำให้เครื่องแบบนักเรียนของพวกเขาสื่อสารกับผู้คนระยะไกลได้ ด้วยรหัสลับที่พวกเขาสร้างขึ้นและซ่อนอยู่ในเครื่องแบบนั้น เช่น วันใดที่ ‘เสื้อโค้ตสีดำ’ ตามระเบียบโรงเรียนถูกตีความเป็น สโตน ไอแลนด์ (Stone Island) และพวกเขาสวมมันโดยคลุมฮู้ด พร้อมสวมถุงมือไนกี้ มันคือการส่งสัญญาณให้ทุกคน (ที่เข้าใจรหัสลับนี้) รู้ว่าวันนั้นพวกเขาอยู่ในสถานะ ‘กูพร้อม’ ที่จะไปเจอกับนักเรียนโรงเรียนคู่อริ

หากนักเรียนหญิงคนใดตีความ ‘รองเท้าสุภาพสีดำ’ ของโรงเรียนว่าคือ ดอกเตอร์มาร์ติน ที่พวกเธอสวมมันพร้อมด้วยถุงน่องลายตาข่าย และทาเล็บสีดำ พวกเธอกำลังประกาศให้เพื่อนร่วมโรงเรียนรู้ว่า ‘ฉันคือขบถ’

การตีความเครื่องแบบนักเรียนใหม่ แต่งแบบที่อยากแต่งที่เห็นได้บ่อยในอังกฤษ คือการที่นักเรียนชายนำกระโปรงนักเรียนมาสวมใส่ในหน้าร้อน เพราะตามระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายอนุญาตเฉพาะกางเกงขายาวและกระโปรงเท่านั้น เมื่อร้อนและไม่สามารถสวมกางเกงขาสั้นไปโรงเรียนได้เพราะไม่ได้อยู่ในนิยามของเครื่องแบบนักเรียน พวกเขาจึงเลือกสวมใส่กระโปรงนักเรียนที่ยืมเพื่อน พี่ หรือน้องสาวมาสวม 

การประท้วงด้วยวิธีนี้เริ่มขยายตัวไปสู่เวลส์ประเทศในเครือจักรภพด้วยกันมากขึ้น กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักเรียน 6 คนของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเวลส์ ประท้วงนโยบายห้ามสวมกางเกงขาสั้นของโรงเรียนด้วยการสวมกระโปรงไปสอบแทนการสวมกางเกงขายาวสีดำ ในวันที่อุณหภูมิสูงถึง 20 องศา (ถือว่าสูงสำหรับประเทศเวลส์)

“มันร้อนมากถ้าต้องใส่กางเกงขายาวไปสอบ ผมก็แค่สวมกระโปรงไป ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎระเบียบโรงเรียน กระโปรงเย็นกว่าตั้งเยอะ และผมก็มีสมาธิทำข้อสอบได้ดีขึ้น” นักเรียนคนหนึ่งบอกเหตุผล 

การแสดงออกที่ทำให้เห็นว่าเครื่องแบบนักเรียนที่ยังคงเป็นความภาคภูมิใจของอังกฤษ อาจกำลังเริ่มไม่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวนักเรียนเท่านั้น แต่มีเสียงดังมาจากผู้ปกครองด้วย ครูโรงเรียนรัฐบาลหลายแห่งเริ่มสังเกตว่านักเรียนบางคนจะไปเรียนและขาดเรียนเป็นช่วงๆ เมื่อสอบถามก็ได้คำตอบว่าต้องสลับกันไปโรงเรียนกับพี่หรือน้อง เพราะครอบครัวไม่สามารถซื้อชุดนักเรียนให้ลูกได้ครบทุกคน 

สิ่งที่ระบบการศึกษาของอังกฤษทำเพื่อตอบสนองความเคลื่อนไหวของผู้ปกครอง แทนที่จะเป็นการตั้งคำถามใหม่ถึงความจำเป็นของเครื่องแบบนักเรียน พวกเขากลับพยายามแก้ปัญหาบนจุดยืนของการธำรงเครื่องแบบนักเรียนไว้ในระบบ เมื่อเครื่องแบบแพงต้องทำให้ราคาถูกลง เช่น การพิจารณาถึงการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของเครื่องแบบนักเรียน หรือการให้เงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบกับครอบครัวยากจน กางเกงขายาวสีดำร้อนก็ประสานกับฟากฝั่งอุตสาหกรรมเพื่อหาเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับหน้าร้อน การสวมกระโปรงทำให้นักเรียนหญิงที่ปั่นจักรยานไปโรงเรียนเดินทางไม่สะดวก ก็อาจพิจารณาให้สวมชุดพละที่เป็นกางเกงสัปดาห์ละ 4 วัน

อเมริกา: จากเครื่องแบบสู่เดรสโค้ด (dress code)

อเมริกา รวมถึงบางประเทศในทวีปยุโรปและออสเตรเลีย ต้องการส่งเสริมสิทธิในร่างกายตนเองของนักเรียนควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโรงเรียน เลือกที่จะใช้สิ่งที่เรียกว่า เดรสโค้ด (dress code) หรือกรอบแนวทางการแต่งกาย แทนการใช้เครื่องแบบ (uniform) ที่กำหนดให้นักเรียนต้องแต่งตัวเหมือนกันหัวจรดเท้า

เดรสโค้ดคือการวางกรอบคร่าวๆ ของเสื้อผ้าที่ได้รับอนุญาตและที่ถูกห้าม เช่น อนุญาตเฉพาะเสื้อเชิ้ต หรือโปโล ห้ามเสื้อยืดทีเชิ้ต เดรสโค้ดของโรงเรียนแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป บางแห่งมีข้อกำหนดประเภทของเครื่องแต่งกายน้อย แต่ต้องมีสัญลักษณ์ของโรงเรียนติดอยู่ หรือห้ามมีโลโก้อื่นๆ ปรากฏ แต่บางแห่งก็มีข้อกำหนดเข้มงวด 

ประเทศที่ใช้เดรสโค้ดมักพบว่ามีการฟ้องร้องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแบบและทรงผมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอเมริกามีคดีนักเรียนฟ้องครูและโรงเรียนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่คดีความส่วนใหญ่จบลงด้วยชัยชนะของโรงเรียน แต่ในหลายกรณีที่โรงเรียนแพ้คดีในชั้นศาล ความเคลื่อนไหวที่ตามมาไม่ได้ส่งผลกับเฉพาะนักเรียนคู่กรณีเท่านั้น แต่มักส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนกรอบเดรสโค้ด

สิงหาคม 2007 ครอบครัวของนักเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองนาปา รัฐแคลิฟอร์เนีย ฟ้องคดีคณะกรรมการการศึกษาเขตที่รับผิดชอบดูแลโรงเรียนแห่งนั้น ด้วยข้อหาละเมิดเสรีภาพในการพูด จากการที่โรงเรียนสั่งพักการเรียนนักเรียนหญิงด้วยข้อหาสวมถุงเท้าที่มีรูปทิกเกอร์ (Tigger) แห่งวินนี่-เดอะ-พูห์ (Winnie-the-Pooh) ทำให้สำนักงานเขตการศึกษาต้องประกาศผ่อนคลายกรอบของเดรสโค้ดให้กว้างขึ้น จากเดิมอนุญาตเฉพาะเสื้อผ้าสีพื้น และห้ามมีภาพหรือโลโก้สินค้า เปลี่ยนเป็นนักเรียนสามารถสวมเสื้อที่มีลาย และมีภาพหรือโลโก้อื่นๆ ได้ โดยยอมรับว่าการกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับภาพหรือโลโก้ อาจส่งผลกระทบถึงการแสดงออกด้านศาสนาและความเชื่อ 

สำหรับโรงเรียนในอเมริกาแล้ว หากต้องการบริหารจัดการโรงเรียนให้ง่ายและสะดวก พวกเขาอยากเลือกให้มีการกำหนดเครื่องแบบตายตัวมากกว่าการใช้เดรสโค้ด ซึ่งขึ้นกับการตีความและมักถูกท้าทายจากนักเรียนอยู่เสมอ 

มีนาคม 2007 ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่สนับสนุนการพักการเรียนของนักเรียนมัธยมปลายในซานดิเอโกคนหนึ่ง ซึ่งสวมเสื้อยืดต่อต้านเกย์เข้าไปในโรงเรียน โดยโรงเรียนให้เหตุผลว่าเสื้อนั้นแสดงความเกลียดชังและยั่วยุให้เกิดการต่อต้านเกย์ แต่ศาลฎีกาพิพากษาว่า ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดและแสดงออกทางความคิด 

มิถุนายนปีเดียวกัน ศาลสูงสหรัฐพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยืนยันสิทธิในการสวมเสื้อยืดพิมพ์ภาพประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) รายล้อมด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด เด็กหนุ่มผู้นั้นถูกโรงเรียนในเวอร์มอนต์สั่งพักการเรียน ด้วยข้อหาสวมใส่เสื้อผ้าที่มีภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดซึ่งผิดระเบียบโรงเรียน แต่ในชั้นศาลเด็กหนุ่มสู้กลับด้วยสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครองการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี เขายืนยันว่าภาพที่ปรากฏบนเสื้อยืดของเขา ต้องการสื่อถึงอดีตประธานาธิบดีบุชเกี่ยวกับการใช้โคเคนและแอลกอฮอล์

ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นความพยายามของโรงเรียนในอเมริกา เพื่อหาสมดุลระหว่างการรักษาระเบียบวินัยและเคารพสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและโรงเรียนในประเด็นที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายจึงมักมีศาลอยู่ตรงกลางเสมอ

เยอรมนี: ไม่มีคำว่าเครื่องแบบในระบบการศึกษา

เยอรมนีน่าจะเป็นประเทศที่นักเรียนเป็นอิสระจากเครื่องแบบนักเรียนมากที่สุด ไม่เคยมีประเพณีการสวมเครื่องแบบในระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนี ข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของนักเรียนถูกกำหนดอย่างหลวมๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งระบุเพียงให้นักเรียนแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่ทันสมัยเกินไป อาจมีบางยุคสมัยที่แฟชั่นได้กลายเป็นเครื่องแบบนักเรียน แต่นั่นก็เกิดจากความพึงพอใจของผู้สวมใส่เอง ไม่ใช่ข้อบังคับของโรงเรียนหรือระบบการศึกษา เช่น ความนิยมสวมหมวกที่เรียกว่า Schülermützen ในหมู่นักเรียนและครูในศตวรรษที่ 18 จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการสวมหมวกชนิดนี้ไปโรงเรียน จนมาถึงยุคนาซีเรืองอำนาจจึงประกาศห้ามการสวมหมวกนี้ในโรงเรียน 

ในยุคสมัยใหม่ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกายของนักเรียนมีเพียงไม่ให้นักเรียนหญิงสวมเสื้อเอวลอยในหน้าร้อน และห้ามไม่ให้มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติและนาซีบนเสื้อผ้า

ปี 2006 เกิดกรณีที่ทำให้ระบบการศึกษาของเยอรมนีเริ่มทบทวนถึงการมีเครื่องแบบให้นักเรียนสวมใส่ เมื่อเกิดเหตุการณ์นักเรียนหญิงมุสลิม วัย 18 ปี 2 คน เดินทางไปโรงเรียนในกรุงบอนน์ด้วยชุดบุรกา (Burka) คือการคลุมฮิญาบปกปิดทุกส่วนของร่างกายยกเว้นดวงตา โรงเรียนตีความว่านักเรียนทั้ง 2 คน กำลังส่งสารทางการเมือง จึงสั่งพักการเรียนทั้ง 2 คน นักการศึกษาส่วนหนึ่งเสนอว่า วิธีเดียวที่จะห้ามไม่ให้สวมบุรกาไปโรงเรียนโดยไม่ถูกมองเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนาคือ ต้องกำหนดเครื่องแบบนักเรียน 

แนวคิดนี้ได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน เหตุผลของกลุ่มคัดค้านประเด็นหลักคือ การบังคับให้นักเรียนสวมเครื่องแบบทำให้นึกถึงอดีตอันเจ็บปวดในยุคสมัยนาซีที่องค์กรเยาวชนในสมัยไรซ์ที่สาม (Third Reich) คือยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) และเยอรมันเกิลส์ลีก (German Girls League) สมาชิกถูกบังคับให้สวมเครื่องแบบ 

ส่วนกลุ่มสนับสนุนนอกจากจะให้เหตุผลในเรื่องความเป็นระเบียบและการป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่แนวคิดทางศาสนาและการเมืองแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่ส่งผ่านมาทางเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ไปโรงเรียน

ปี 2010 โรงเรียนแห่งหนึ่งทดลองออกข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งชุดเหมือนกันไปโรงเรียน โดยเรียกมันว่า ‘ชุดนักเรียนมาตรฐาน’ แทน ‘เครื่องแบบนักเรียน’ ประกอบด้วยเสื้อยืดคอกลมสีฟ้า เสื้อเชิ้ต จัมป์เปอร์มีฮู้ดและแจ็กเก็ต โดยจำหน่ายราคาชุดละ 90 ยูโร (ประมาณ 3,400 บาท) 

อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงศึกษาของเยอรมนี ที่มองว่าภาพเครื่องแบบของยุวชนฮิตเลอร์ยังคงเป็นบาดแผลในความทรงจำผู้คน และที่สำคัญการกำหนดกฎเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนจะเป็นการล่วงล้ำเสรีภาพส่วนบุคคลของนักเรียน 

จวบถึงปัจจุบัน ข้อถกเถียงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนยังคงยึดโยงอยู่กับเหตุผลเก่าแก่ อาทิ เพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อความภาคภูมิใจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ในบางประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศล้วนต้องแสวงหาจุดสมดุล แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก หากถือเอาคุณภาพการเรียนการสอนเป็นหัวใจของการศึกษา ก็ยังไม่เคยมีงานวิจัยใดแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ระบุความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องแบบและคุณภาพการศึกษา

หลักฐานเชิงปรากฏการณ์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับสะท้อนให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อใดก็ตามที่เครื่องแบบนักเรียนถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ละเมิดร่างกายนักเรียน ก็จะได้รับแรงต้านจากนักเรียนในประเทศนั้นๆ เสมอ

เหตุการณ์ลักษณะนี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในประเทศที่ใช้อำนาจกดข่มละเมิดสิทธิประชาชนมายาวนาน

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า