“แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าเรื่องชุดไม่สำคัญ…วะ” : ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ.รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

วันนี้เด็กๆ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ก็ยังได้ใส่ชุดไปรเวทต่อไป ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนให้คำตอบก่อนหน้านั้นวันหนึ่งว่า

“เขาเพิ่งใส่ได้อาทิตย์เดียวแล้วจู่ๆ มาบอกว่าให้เราระงับไว้ก่อน เราไม่ทำ เราไม่รู้สึกว่าเราทำอะไรผิด เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ถ้าทำอย่างนั้นมันยิ่งไปกันใหญ่ เด็กคงรู้สึกว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นกับเขา เราไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารัก”

ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน วัย 49 บอกว่า ด.ช.ศุภกิจ ทั้งซน ดื้อ โดดเรียน ขโมยของก็เคย แต่ที่ไม่เคยทำเลยคือ ทำการบ้าน

“ไปโรงเรียนเช้ามากเพื่อรีบมาลอกเพื่อน เลข วิทย์ ภาษาอังกฤษ ผมเรียนไม่เก่งเลย แต่ถ้าเป็นวิชาที่เราชอบอย่างแต่งเพลง ดนตรี ก็จะทำได้ดี ไม่ต้องพูดเยอะ หลับตาทำยังได้ A เลย”

หลังจบจากกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นายศุภกิจ ณ ตอนนั้้น จึงเรียนต่อที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอกดนตรี จนได้กลับมาเป็นครูสอนวิชาดนตรีที่กรุงเทพคริสเตียนฯ อีกครั้ง

ก่อนจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

และอนุญาตให้เด็กๆ แต่งชุดไปรเวทได้ทุกวันอังคารเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน

ย้อนถามถึงนโยบายการใส่ชุดนักเรียน ผอ. บอกว่าเป็นที่มาจากงานวิจัย แล้วทำไมงานวิจัยถึงไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน

เวลาจะทำอะไรก็ตามคุณควรจะ base on research ทีนี้เราได้อ่านงานวิจัยหลายฉบับ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของชุด เขาพูดถึงจุดเเข็งจุดอ่อนของชุดไปรเวท อีกฝั่งหนึ่งเขาก็พูดถึงจุดเเข็งจุดอ่อนของยูนิฟอร์ม ทีนี้ด้วยความที่เราอยู่ฝั่งยูนิฟอร์มอยู่เเล้ว เราก็เลยไปศึกษาว่าฝั่งไปรเวทโจมตีฝั่งยูนิฟอร์มอย่างไรบ้าง และสิ่งที่เราสนใจคือ ถ้าใส่ชุดไปรเวทมันจะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะยูนิฟอร์มไปจำกัดโดยไม่รู้ตัว เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้ามันไปจำกัดและถ้าเราอนุญาตให้ใส่ไปรเวทแล้วมันยิ่งไปพัฒนาให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะคิด กล้าทำกล้าเเสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ มันน่าจะดี

ผมเลยอยากรู้ว่ามันดีจริงหรือเปล่า เราไม่ได้บอกว่าการใส่ชุดไปรเวทดี เราใช้คำว่า ‘อยากรู้ว่า’ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กใส่ชุดไปรเวทมันดีจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่ดี เราก็ไม่ทำ แต่ถ้าดี ผมว่าเราไม่ควรเดินหน้าเหรอ

การใส่ชุดไปรเวททุกวันอังคารเตรียมมานานแค่ไหน

แผนที่เตรียมมาก็ไม่ได้นานอะไร เพียงแต่ว่าความคิดอันนี้มีมานานเเล้ว 10 ปีได้ ตอนเราเข้ามาใหม่ๆ เคยเสนอแล้ว แต่ในกลุ่มผู้บริหารเราอายุน้อยสุด ใครจะฟังเรา มันเลยติดอยู่ในใจมาตลอด แล้วเราก็พยายามที่จะทำให้ผู้ใหญ่มั่นใจมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสไปดูงานที่ฟินเเลนด์ ผมถามคนฟินเเลนด์ว่า ถ้าคุณมีโอกาสย้อนกลับไปแล้วให้ใส่ยูนิฟอร์มจะใส่ไหม เขาตอบว่าไม่ใส่ เพราะชุดมันคือการนำเสนอตัวตนที่ดีอยู่เเล้ว

เขาต้องการให้เด็กเรียนรู้ว่าความแตกต่างมันสามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้ และสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ยูนิฟอร์มเป็นสิ่งที่ปิดซ่อนความจริง เราจะไปปิดซ่อนความจริงทำไม คือกลัวว่ามันจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แล้วสังคมจริงมันไม่เหลื่อมล้ำเหรอ แล้วถ้ามันเหลื่อมล้ำคุณจะไปปิดมันทำไม

คุณยิ่งต้องสอนให้เขา respect เรื่องความรวยกับความจนว่า มันคือสัจธรรม แต่ถึงเวลามันต้องไปกันได้ ไม่ใช่ไปปกปิดความจริงแล้วเราก็ไม่รู้ว่าตกลงเด็กเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไหม แต่ถ้าเรารู้ความจริงว่ามี กลายเป็นปัญหา เราจะได้เเก้ไขถูก แล้วจะได้ไม่ไปเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต

ควรแก้ตั้งแต่ต้นทาง?

ใช่ เเล้วเอาเข้าจริงๆ เราต้องยอมรับว่านักเรียนหลายคนแต่งตัวไม่เป็น เขาไม่เข้าใจ กว่าจะเป็นก็คือตอนโตแล้ว ทุกคนคิดว่ามันไม่สำคัญ แต่จริงๆ มันสำคัญมาก เพราะการนำเสนอตัวตนจะทำให้เราภูมิใจ มั่นใจ และคนอื่นยอมรับ บางทีเราอยากเสนอตัวตนว่า เราคือศิลปิน แต่คุณพรีเซนต์ไม่เป็น มันทำให้เสียโอกาสในหลายๆ ครั้ง คือต้องรู้บริบทก่อนว่าเราจะไปทำอะไร แล้วเราต้องแต่งตัวอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเด็กได้มานำเสนอตัวตนของเขาในสังคมจำลอง คือโรงเรียน การที่เขาได้ไปเสนอในสังคมจริงมันก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ผอ. คิดว่าเสื้อผ้าสามารถทำงานได้มากกว่าเครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่?

มันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า มันรวมไปถึงหลายๆ อย่าง พอเราได้ใส่อะไรในสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำให้เรามั่นใจ ผมว่าตรงนั้นสำคัญที่สุด ต่อให้คุณใส่อะไรก็ตาม แต่ถ้ามันทำให้คุณมั่นใจมันก็คือคุณมั่นใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เลย ถ้าเขาไม่มีโอกาสที่จะใส่มาก่อน ได้ลองมาก่อน

ครั้งแรกที่บอกเด็กว่าให้ใส่ไปรเวทมาได้ ฟีดแบ็คเป็นอย่างไร

นักเรียนมีความสุข เขารอเลย เพราะว่าเราเลื่อนมาหลายครั้งมาก ด้วยความกังวลว่าจะรับได้ไหม โดยเฉพาะกับผู้ปกครอง กังวลมาโดยตลอด จนมาเหลืออยู่ 6 สัปดาห์สุดท้าย เราก็เลยยืนยันว่าเราไม่ควรที่จะกังวลอีกต่อไปเพราะว่าเด็กเองก็อยากแต่ง ครูเองก็มีความพร้อม และเขาก็เห็นอยู่ว่าเด็กอยากที่จะนำเสนอตัวตนเขาตรงนั้น

‘ใคร’ กังวลมากที่สุด ที่ทำให้เลื่อนมาหลายครั้ง

ต้องใช้คำว่า ‘โรงเรียน’ กังวล

กังวลด้วยเรื่องอะไรเป็นพิเศษ?

เราไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเขาฟังเเล้วรู้สึกว่า make sense แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรให้เสียหาย เขาก็ไม่มีปัญหา แต่เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขาและเรา เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเป็นสิ่งใหม่เราก็ต้อง concern ต้องคิดให้รอบคอบหน่อย แล้วพอมีคนกังวล เช่น ถ้าคนข้างนอกจะเข้ามามันจะมีปัญหานู่นนั่นนี่ เราก็เลยพยายามอุดรอยรั่วทั้งหมดจนเขาไม่รู้จะมาอ้างอะไรแล้ว ก็ต้องลองเดินให้มันเห็นว่าต่อไปจะเดินไปอย่างไร

ถ้าเราพลาดหลายคนก็พร้อมที่จะซ้ำเติม เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ผมพูดยืนกรานไว้ ข้างในเรากังวล เราเครียดมาโดยตลอด ที่เราเรียนรู้เเละทำงานทันที คือไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นด้วยกับผมทั้งหมดนะ บางคนก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราจะสอนเด็กหรือให้สังคมไทยเรียนรู้ว่าความเห็นต่างมันไปด้วยกันได้ เราจะต้องเคารพมติ

นี่คือส่วนหนึ่งของนโยบาย ‘พื้นที่ความสุข’ ของโรงเรียนด้วย?

ใช่ คือคนไทยกับคนอื่น มันมีความแตกต่างกันอยู่เเล้วเพราะฉะนั้นเราต้องหาให้เจอว่าอะไรที่ทำให้เขามีความสุขที่เหมาะกับบริบทของคนไทยด้วย ผมมองว่าตรงนี้มันไม่ใช่ตัวที่จะทำลายวัฒนธรรมหรือประเพณีไทยที่ดีงาม เราก็คิดว่ามันน่าจะใช้ได้

คุณลองไปดูฟินเเลนด์คุณเคยเช็คไหมว่าฟินเเลนด์อัตราการฆ่าตัวตายของเขาสูงเเค่ไหน หรือไปดูของญี่ปุ่น กระโดดให้รถไฟชนตาย แล้วตรงนี้คุณไม่เอามันมาดูประกอบเหรอ ไปดูเพียงแค่วิธีการของเขาว่ามันดีมาก out come ที่คุณต้องการจริงๆ คืออะไร คุณต้องการสร้างอะไรขึ้นมา เเล้วความเป็นคนไทยคุณเอาจุดเเข็งจุดอ่อนมาวิเคราะห์เเล้วหรือยัง

ฟินเเลนด์ที่ไม่มีการสอบ มีเด็กสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจเรียนมหาวิทยาลัย มันคนละบริบทมากกับประเทศของเรา เพราะฉะนั้นคุณไปเอาตรงนั้นมาดูหรือเปล่า แล้วที่บอกว่าเขาไม่มีการสอบฟังดูเหมือนจะดี แต่ประเทศเขาไม่ได้เดินด้วยการเเข่งขัน ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่ เราคงต้องมาดูความลงตัว กระบวนการ การประเมินที่ดีมันก็เหมาะกับเด็กไทย และเราก็ไม่ได้มีระบบการประเมินหรือติดตามผลที่ทำให้รู้ว่าตกลงแล้วครูเข้าใจไหมว่าคุณเอามาใช้อย่างไร

ทุกอย่างมันต้องใช้เวลาเพราะเราอยู่กับระบบแบบนี้มานาน ผมไม่ได้บอกว่ากระทรวงผิด แต่ระบบหลายอย่างมันไม่เอื้อให้คนกล้าคิด พอเราจะคิดอะไรที่แตกต่างเราก็จะโดนตำหนิจากเจ้านายทันที มันกลายเป็นว่า ทุกคนมีความรู้สึกว่า คนที่จะคิดได้จะเปลี่ยนอะไรได้มันคือรัฐมนตรีหรือนายกฯ เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าตรงนั้นไม่เอื้อนเอ่ยวาจาอะไรออกมา ก็จะกังวลไปหมดว่าจะถูกย้ายหรือเปล่า แต่ของเราเป็นโรงเรียนเอกชนจะง่ายนิดนึง เพราะว่าไม่ได้อยู่ในระบบตรงนั้นซะทีเดียว เราไม่รับเงินอุดหนุนเลย ทางภาครัฐก็จะมาก้าวก่ายอะไรเรามากไม่ได้

เพราะระบบเดิมเป็นแบบนี้ เลยทำให้การไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนกลายเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา?

ระบบทุกอย่างมันไม่ได้เอื้อให้คนกล้าคิด มันก็เลยส่งผลไปหมด และบางทีโทษระบบก็ไม่เชิง แต่ว่าบางทีคนก็รู้สึกกลัวไปเองด้วย

ส่วนที่เป็นข่าว เราก็งงเหมือนกัน แต่ประเด็นนี้เคยถกเถียงเคยมีคดีมาก่อนแล้ว หนนี้เหมือนมาถูกสะกิดอีกในช่วงเวลาที่เหมาะสม มันเลยเกิดเป็นกระเเสขึ้นมาอีก ผมแค่คาดหวังว่า ในเมื่อมันเกิดกระเเสขึ้นมาเเล้ว ถ้าจริงๆ ทางกระทรวงบอกว่ามันดี  อย่างนั้นเราน่าจะมาร่วมกันทำงานวิจัยออกมาให้ชัดเจนเลยว่าตกลงการใส่ชุดไปรเวทสัปดาห์ละครั้งมันดีจริงหรือเปล่า

หนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ให้โรงเรียนทบทวนนโยบาย มีผลหรือไม่ อย่างไร

เขา (สช.) มาด้วยท่าทีที่ดี เขาก็รู้อยู่เเล้วว่าโรงเรียนเอกชนมีเสรีภาพอยู่ในระดับหนึ่ง จะมาสั่งไม่ได้หรอก กติกามันมีเขียนชัดเจน อยู่ๆ จะมาสั่งไม่ให้ทำอะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่แค่การทะเลาะกับโรงเรียนละนะ มันคือการทะเลาะกับผู้ปกครองกับเด็ก

นโยบายคือแต่งไปรเวทเหมือนเดิม?

เขาเพิ่งใส่ได้อาทิตย์เดียวแล้วจู่ๆ มาบอกว่าให้เราระงับไว้ก่อน เราไม่ทำ เราไม่รู้สึกว่าเราทำอะไรผิด เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ถ้าทำอย่างนั้นมันยิ่งไปกันใหญ่ เด็กคงรู้สึกว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นกับเขา เราไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารัก

ผู้ปกครองว่าอย่างไรบ้าง

ดี (ตอบทันที) ช่วงแรกๆ คนที่ไม่เห็นด้วยเยอะเหมือนกัน แต่คนที่เห็นด้วยเยอะกว่าอยู่แล้วแหละ เพราะข้อมูลที่ให้ไปช่วงแรกมันไม่ได้ละเอียดอะไรมากมาย ที่เราไม่ได้ให้ละเอียดเพราะเราทำทุกอย่างตาม process ซึ่งที่ผ่านมาเราทำแค่นี้มันพอไง แต่ครั้งนี้ที่มันไม่พอ กลายเป็นกระแส

พอข้อมูลช่วงแรกที่ออกไปมันเป็นกระแส ทุกคนไปตีความว่าเราจะยกเลิกยูนิฟอร์ม เลยไม่เห็นด้วย มาหมด… ไอ้ควาย ใช้สมองส่วนไหนคิด ไอ้ขวด โอ้โห

อ่านแล้วโกรธไหม

ถ้าเขาบอกว่าขออนุญาตครับผมไม่เห็นด้วย อันนี้ผมโอเคมากเลย รู้สึกดีมาก ผมว่านี่คือความสวยงามของการที่เราเห็นไม่เหมือนกันแต่เราเดินไปด้วยกันได้ แต่กระทู้ไหนก็ตามที่ใช้ถ้อยคำแบบนี้ เราเสียใจ มันแสดงว่าประเทศเราก็ด้อยพัฒนาอยู่ดี คุณมีบทเรียนเรื่องสีเสื้ออยู่แล้วแสดงว่าคุณไม่ได้เอาตรงนั้นมาคิดเลย แค่เรื่องชุดแค่นี้คุณด่ากัน โอ้โห เรารู้สึกว่ามันเป็นโจทย์ที่ทุกโรงเรียนต้องไปสอนให้เด็ก respect กันได้

ในอดีตเราสอนให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเด็กไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่แสดงว่าเป็นเด็กไม่ดี ถามว่าปัจจุบันเรายังต้องสอนอย่างนั้นไหมเราก็ยังต้องสอนอยู่ แต่เราก็ต้องสอนมากกว่านั้นว่าผู้ใหญ่เองก็ต้อง respect เด็กให้เป็นด้วย

สังคมปัจจุบันไม่ใช่สังคมของผู้ใหญ่อย่างเดียวแต่มันเป็นสังคมของเด็กด้วยเหมือนกัน ที่ผ่านมาเราสอนเด็กว่าต้องสามัคคี ต้องปรองดองกัน แต่เราเห็นแบบอย่างการแก้ปัญหาที่ผ่านมา มันไม่ได้ปรองดองกันแล้ว สอนแค่นั้นมันไม่พอ

เราต้องสอนว่าคุณคิดต่างได้ แต่พอลุกจากโต๊ะไป ปะ กินข้าวกัน เราต้องสอนแบบนี้ไม่อย่างนั้นประเทศชาติก็ยังไปไม่ได้อยู่ดี ถ้าคุณคิดแค่ว่าต้องคิดเหมือนกันเท่านั้นถึงจะเดินไปด้วยกันได้ ไม่มีทาง

แต่งไปรเวทจนครบ 6 สัปดาห์ จะมีการวัดผลอย่างไรบ้าง

จะไปวัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ เราต้องการรู้แค่อย่างเดียวเลยว่าตกลงเด็กมีความสุขไหมที่เขาได้ใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน ถ้าเขามีความสุขเราถือว่าตัวนี้ตอบโจทย์แล้ว

สเต็ปที่สอง ถ้าเรารู้ว่าเขาใส่ชุดไปรเวทแล้วมีความสุข มันจะขยับไปถึงการทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไหม พัฒนาบุคลิกภาพหรือมีความคิดสร้างสรรค์จริงหรือเปล่า ซึ่งตรงนั้นต้องใช้เวลาน่าจะเป็นปี

วัดความสุข วัดอย่างไร

เรามีเครื่องมือแต่เราไม่ได้ทำงานวิจัยแบบ high-standard เราไม่ได้ไปนำเสนอที่ไหน มันเป็นเหมือนแอ็คชั่นรีเสิร์ชในโรงเรียน หลักๆ เราก็วัดแค่ 1. จากการสังเกตของครู  2. questionnaire ถามคนที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนต้องเป็นตัวเด็กด้วย แล้วเราก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาประเมินผลงาน

ตอนนี้มันไปไกลกว่าเรื่องการให้แต่งหรือไม่แต่งยูนิฟอร์ม แต่เหมือนตอนนี้เด็กๆ ตกอยู่ในสถานการณ์จริงทางสังคม เราจะทำให้เขาเรียนรู้หรือผลิตความรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ได้บ้าง

ใช่ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ และผมกำลังพยายามจะบอกภายนอกว่าสิ่งที่ผมคิดขึ้นมา ผมไม่ได้คาดหวังว่ามันดีนะ ผมคาดหวังจะเห็นความจริง เพื่อที่เราจะได้เอาความจริงนั้นมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นั่นแปลว่าถ้าเราอนุญาตให้เด็กทำแล้วระเบียบวินัยแย่มาก ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ เด็กตกเป็นเครื่องมือของแฟชั่น แสดงว่าเด็กเราต้องถูกแก้ ที่เราเคยคิดว่าเขาคิดเองได้ หรือเป็นคนประหยัด มันไม่ใช่เลย ถ้ามันไม่ใช่เลยแล้วความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ เราก็จะได้เอาตรงนี้ไปทำ

แต่ถ้าคุณไม่มาเปิดแผลตรงนี้ คือจะเป็นแผลหรือเปล่าเรายังไม่รู้ แต่ถ้าเราไม่เปิดความจริงออกมาผมถามว่าเราจะแก้ปัญหาถูกจุดได้ยังไง…วะ

ถ้าสุดท้ายจบไม่สวย มีคำสั่งว่าให้กลับไปใส่ยูนิฟอร์มทุกวัน ผอ. จะเสียใจไหมหรือเราเรียนรู้อะไรจากมันได้

อันที่หนึ่ง คนที่มีอำนาจในโรงเรียนเขาก็ต้องทำตามอำนาจของเขา ผมเชื่อว่าก่อนที่เขาจะสั่งเขาก็คงต้องมีความรอบคอบ เพราะฉะนั้นถ้าเขาสั่งมาแล้วเรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เราก็จะปฏิบัติตาม

แต่แน่นอนว่าเด็กของเราผู้ปกครองของเราเขาต้องการเหตุผล เพราะฉะนั้นเราก็อาจต้องขอเหตุผลที่ดี

สมมุติว่าเหตุผลที่เข้ามามันฟังไม่ขึ้น แต่เราไม่ต้องการให้กรุงเทพคริสเตียนฯ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความแตกแยก เราก็ต้องสอนเด็กเราว่าถ้าเรามีความสุขแต่ทำให้คนอื่นมีความทุกข์ ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ เราไม่ต้องการเป็นคนเห็นแก่ตัว เราต้องการให้เด็กเห็นภาพว่าเราต้องอยู่เพื่อผู้อื่น ฉะนั้นถ้าคุณต้องอยู่เพื่อผู้อื่นคุณต้องยอมสละแม้ความสุขตัวเองได้ถ้ามันทำให้สังคมมีความสุข เราก็ต้องสอนเด็กของเราต่อไป

หมายความว่าโดยระบบ ผอ. ไม่ได้มีสิทธิ์ขาดจะชี้ว่าแต่งหรือไม่แต่ง?

มีไม่มีผมไม่รู้แล้ว ณ ชั่วโมงนี้ ถ้าหน่วยเหนือเขาสั่งมาเราก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พูดง่ายๆ แต่เราก็อยากจะขอเหตุผลที่ดี

ถึงสุดท้ายแล้วเหตุผลอาจจะไม่ดี แต่เพื่อให้สังคมเราไปต่อได้เราก็คงต้องมาสอนให้เด็กเราเข้าใจ ผมพยายามจะบอกทุกคนว่าผมไม่ใช่พวกลิเบอรัลหรือเสรีนิยม ผมเป็นคอนเซอร์เวทีฟแบบก้าวหน้า (ย้ำ)

สุดท้ายแล้ว ถ้าหน่วยเหนือสั่งมาว่าไม่ได้แล้วสังคมมันจะไปต่ออย่างไร

สิ่งนี้มันก็จะเป็นตัววัดเลยว่า ที่คุณเรียนหรือคุณรู้มา ได้เอามาใช้จริงหรือเปล่า ตอนนี้เราถูกสอนให้รู้จักคิดบวก เราคิดบวกกับเรื่องนี้ได้ไหม

สำหรับผมถ้าไม่ได้ซ้าย คุณก็ไปขวาได้ ถ้ามันทำให้เรา sad หรือ depressed ผมว่ามันก็ไม่ใช่อะ

แล้วเราก็จะต้องบอกเด็กว่าไม่เป็นไร ยังไงมันก็ต้องมีวิธีอื่นให้เรามีความสุขได้ ความสุขมันอยู่ในกระเป๋า อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วเราจะหยิบมันออกมาจากกระเป๋าหรือเปล่า เท่านั้นเอง

เหมือนเด็กๆ ถูกดับ passion ดับความฝัน ความคิดสร้างสรรค์ เราจะช่วยอย่างไรดี

มันก็จะเป็นโจทย์ สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราจะแย่แค่ไหนก็ตามผมว่ามันคิดบวกได้ เราก็จะต้องสอนเด็กว่า เฮ้ย เราคิดบวกได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้เป็นบทเรียนว่าเมื่อคุณโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าคุณคิดว่าอันนี้ไม่ถูกต้องคุณก็อย่าทำ

เหมือนตอนที่ผมเป็นเด็กผมก็รู้สึกว่า (ไม่อยากพูดเลยเดี๋ยวจะหาว่าหาเรื่อง) เรื่อง ‘ผม’ ผมรู้สึกว่ามันไม่เมคเซนส์ และเมื่อเราขึ้นมาถึงจุดที่เราทำได้เราก็จะไม่ทำ เราไม่เชื่อว่าเด็กผมยาวมันจะไปเที่ยวเธคหรือมีความประพฤติที่เลวทราม เราปล่อยผมยาวมาเป็น 10 ปีแล้วผมก็ไม่เห็นว่าปัญหาเรื่องวินัยมันเยอะขึ้นมากกว่าตอนที่ให้ไว้ผมสั้น

ถึงอย่างนั้นก็มีอาจารย์บางท่านก็บอกว่ายังไงก็ต้องรองทรงสูง ทั้งที่นโยบายจริงๆ เราบอกว่าไม่ต้องมาสูงมาต่ำแล้ว ปล่อยไปเลยด้วยซ้ำ มันต้องใช้เวลา

เหมือนกับเตรียมตัวเตรียมใจบอกเด็กว่าต่อไปสังคมก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ

ไม่นะ ไอ้อย่างนั้นเหมือนกันมันสอนให้ปลง (หัวเราะ) ผมว่าถ้าคนที่มันมีความรู้สึกเป็นนักสู้แล้วฉลาด เหมือนสามก๊กสุดท้ายสู้กันแทบตาย ตระกูลสุมาอี้เอาไปกินเฉย

ถ้าเรามัวแต่คิดว่ามันต้องเอาให้ได้  มันเจ๊งหมดเลย แต่ถ้าคุณเป็นนักสู้ที่รอบคอบพอ คุณจะรู้ว่ามันไม่จำเป็นหรอกที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน โดยต้องใช้วิธีนี้เท่านั้น เราต้องคิดให้มากกว่านั้น

สมมุติผมมีวิชั่นว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เรารู้ว่าเราเป็นทหารไม่ได้ สมมุติว่าถ้าจะเป็นนายกคุณต้องเป็นทหารเท่านั้น สมมุตินะ (ย้ำ) เราไม่ได้อยากเป็นทหาร เราอยากเป็นนักดนตรี แต่เราเชื่อว่าเป็นนักดนตรีก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เราก็หาทางเป็นมันจนได้

แต่ก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ผมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีหรือเป็นคนเก่งของประเทศ หน้าที่ของผมแค่ทำให้โรงเรียนนี้อยู่รอดให้ได้ สร้างคนที่มีประสิทธิภาพให้ได้

แถมอีกนิด ตัวรีเสิร์ชที่เราทำเรื่องการใส่-ไม่ใส่ชุดนักเรียน หลายคนบอกว่าว่างนักเหรอ เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าดีกว่า criteria ของคำว่าสำคัญกว่าคืออะไร…วะ  แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าชุดไม่สำคัญ…วะ  คุณอ่านรีเสิร์ชมาหรือเปล่า ไม่ใช่ผมนั่งมั่วๆ นะครับ แล้วถ้ามันยิ่งไปพัฒนา ยิ่งสร้างสรรค์ ไปพัฒนาบุคลิกภาพมันไม่ดีเหรอ สุดท้ายมันส่งผลไปไกลๆ ว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีของประเทศชาติ เรามองข้ามไม่ได้เลยนะ แค่คำว่าชุดไปรเวท

กดดันไหม เหมือนทุกคนมองโรงเรียนเป็นสนามอะไรสักอย่าง

กดดัน (ตอบทันที) เราทำงานเป็นทีม if you want to go fast go alone, if you want to go far go together วันนี้ผมเห็นภาพนั้นจริงๆ

ทีมบริหารมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนเคารพมติ ทุกคนแบ็คผมหมดเลย มันเหมือนวิกฤติเป็นโอกาส ไม่ใช่เฉพาะครูอาจารย์นักเรียนผู้ปกครอง กำลังใจมาเพียบเลย เยอะมาก โรงเรียนอื่นด้วย

ถามว่ากลัวไหม เรากลัวอยู่แล้ว กลัวถูกอุ้มด้วย ถูกอุ้มไปทานอาหาร (หัวเราะ)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า