สิงหาคมที่ผ่านมา โรงเรียนไวแลนด์วิลล์ (Wylandville Elementary) ในเขตพื้นที่การศึกษาแคนอน-แมคมิลเลียน (Canon-McMillan School District) ในเพนซิลเวเนีย ประกาศใช้นโยบายใหม่ ไม่เสิร์ฟอาหารร้อน (hot meal) ให้กับเด็กที่มีหนี้ค้างชำระค่าอาหารเกิน 25 ดอลลาร์
สเตซี โคลติสกา พนักงานโรงอาหารของวีแลนด์วิลล์ ถูกบังคับให้เทถาดอาหารลงถังขยะ หลังฝ่าฝืนกฎด้วยการเสิร์ฟอาหารให้เด็กคนหนึ่ง เธอบอกว่า ยังจำแววตากับชื่อของเด็กคนนั้นได้ และในฐานะคริสเตียน นี่คือบาปอันน่าละอาย เมื่อต้องหยิบขนมปังสองแผ่นกับชีสเย็นๆ ยื่นให้เด็ก ป.1 คนนั้น แทนที่จะเป็นไก่ร้อนๆ นักเก็ตไก่ หรือไส้กรอกชุบแป้งทอด
โคลติสกาจากพิทสเบิร์ก โตมากับระบบคูปองอาหารและมื้อเที่ยงฟรี หลังทำงานในโรงอาหารไวแลนด์วิลล์มาสองปี เธอตัดสินใจลาออก ด้วยเหตุผลว่า ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกทิ้งให้หิว โดยเฉพาะในโรงเรียน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่องอาหารกลางวันเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐ ก่อนหน้านี้ เดลลา เคอร์รี ผู้จัดการโรงอาหารที่เมืองออโรรา (Aurora) รัฐโคโลราโด ต้องออกจากงานเพราะให้มื้อเที่ยงฟรีแก่เด็กนักเรียน และเมื่อปีก่อน ที่ไอดาโฮ ดาลีน บาวเดน ก็ตกงานด้วยเหตุผลเดียวกัน
นโยบายด้านอาหารกลางวันที่ว่าคือ นักเรียนที่มียอดค้างชำระค่าอาหารเกินกว่า 25 ดอลลาร์ จะไม่มีสิทธิ์ได้อาหารร้อน แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ หนึ่ง-ถ้าเป็นนักเรียนอนุบาล-ป.6 จะได้รับอาหารทดแทนเป็นแซนด์วิช ผลไม้ ผัก และนม สอง-ถ้าเป็นเด็กชั้นมัธยม จะไม่ได้รับอาหารเลย ที่สำคัญคือ ระหว่างที่ยังมีหนี้ค้างชำระ เด็กทั้งสองกลุ่มก็ยังถูกลงบัญชีติดหนี้เต็มจำนวนมื้อละ 2.05 ดอลลาร์อยู่ดี
ในเขตพื้นที่การศึกษแคนอน-แมคมิลเลียน กว่า 300 ครอบครัวมีหนี้ค้างชำระโรงเรียนทั้งหมด 60,000 – 100,000 ดอลลาร์ต่อปี ผู้บริหารของแคนอน-แมคมิลเลียนให้เหตุผลว่า นโยบายนี้เป็นไปเพื่อแก้ไขบัญชีติดลบของโรงเรียน และนโยบายนี้ก็ไม่ได้ใช้กับเด็กที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์โครงการรับอาหารฟรี หรือลดหย่อนค่าอาหาร แต่มีผลกับผู้ที่มีหนี้ค้างชำระเท่านั้น ทั้งนี้ทางโรงเรียนกำลังเจรจากับผู้ปกครองที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่
The National Center for Children in Poverty (NCCP) เปิดเผยข้อมูลในปี 2014 ว่า เด็กอเมริกัน 39 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,044,737 คน อยู่ในครอบครัวที่ยากจน และมีปัญหาด้านรายจ่าย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
washingtonpost.com
globalnews.ca
thinkprogress.org