โมณีกา ชุนเกาะ: คุณครูผู้สวมบทบาทแม่ครัว สานฝันโรงอาหารกลางวันของเด็กๆ

หนึ่งในปัญหาของนักเรียนไทยที่พบเห็นอยู่เสมอคือ เรื่องอาหารกลางวันโรงเรียนที่ดูด้อยทั้งคุณภาพและโภชนาการ โดยเฉพาะในโรงเรียนเล็กๆ กับเงินอุดหนุนรายหัวไม่กี่บาทที่ไม่สามารถรังสรรค์เมนูดีๆ และโภชนาการสูงให้แก่เด็กนักเรียนได้

แต่ไม่ใช่กับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ที่แม้จะประสบปัญหาเงินอุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก แต่ทางโรงเรียนและคุณครูไม่นิ่งเฉย กลับพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาอาหารกลางวันไม่พอกิน จนกลายเป็นกระแสไวรัลและเป็นต้นแบบของโรงเรียนขนาดเล็กอีกหลายแห่ง 

เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ปีนี้ WAY จึงขอนำเสนอเรื่องราวดีๆ ของคุณครูผู้เป็นทุกอย่างของนักเรียน โดยได้พูดคุยกับ โมณีกา ชุนเกาะ หรือ ‘ครูโม’ เจ้าของคอนเทนต์ TikTok ช่อง @monika1136 ที่กำลังเป็นกระแสไวรัลในขณะนี้

ครูโมคือผู้ริเริ่มโครงการโรงอาหารในฝัน เพื่อรังสรรค์เมนูอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ โรงเรียนบ้านนาหลวง ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของโครงการ การบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงสะท้อนปัญหาเงินอุดหนุนอาหารกลางวันจากภาครัฐ

อยากให้คุณครูช่วยเล่าที่มาของการเป็นครู และทำไมถึงได้มาประจำที่โรงเรียนนี้

คุณครูตัดสินใจที่จะเป็นครูเพราะครอบครัว ตอนแรกคิดแค่ว่าอาชีพไหนที่เรียนจบแล้วได้มาอยู่ดูแลปู่กับย่า ก็เลยเลือกอาชีพข้าราชการครู พอเรียนจบแล้วก็สอบบรรจุได้ที่จังหวัดอุดรธานี ถามว่าทำไมถึงได้มาประจำโรงเรียนนี้ใช่ไหม ตอนสอบบรรจุคุณครูได้ที่ 38 รอบแรกเขาเรียกไปบรรจุ 1 คน รอบที่สองเรียก 37 คน ซึ่งคุณครูเป็นคนสุดท้ายพอดี ก็เลยปล่อยจอยว่าเราคงเลือกสถานที่ไม่ได้หรอก โรงเรียนไหนก็ได้

พอวันที่ไปเลือก ดันเหลือโรงเรียนนี้ เพราะมีคนสละสิทธิ์ คุณครูไม่รู้จักโรงเรียนไหนเลย ด้วยความที่เป็นคนอุดรก็จริง แต่อยู่อำเภอเมือง มันก็เหลือแต่อำเภอที่อยู่ไกลบ้านทั้งนั้น เราก็เลยโอเค เอาโรงเรียนไหนก็ได้ ไม่มีโรงเรียนไหนที่รู้จัก แต่เคยได้ยินชื่อโรงเรียนบ้านนาหลวง เพราะตอนนั้นมีกฐินที่วัดนาหลวง คุณครูก็เลยคิดว่าเอาโรงเรียนนี้ เอาหมู่บ้านนี้แหละ กฐินเยอะขนาดนี้น่าจะเจริญ ก็เลยเลือกมา แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่บนภูเขา คุณครูก็โอเค ได้ไปเป็นครูโรงเรียนไหนก็เป็นครูเหมือนกัน ก็เลยได้มาบรรจุที่นี่

คุณครูเรียนจบสาขาอะไร และปัจจุบันสอนวิชาอะไรบ้าง

จบเอกคณิตศาสตร์ สอนวิชาคณิตศาสตร์ แต่ปัจจุบันคุณครูสอนทุกวิชา เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและใช้ระบบครูประจำชั้น ครู 1 คน รับผิดชอบ 1 ชั้นปี ตัวครูเองรับผิดชอบ ป.6 ดังนั้นเลยสอนทุกวิชา ทั้งไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พละ สุขศึกษา นาฏศิลป์ ดนตรี รวมถึงลูกเสือ-เนตรนารีด้วย

ทั้งโรงเรียนมีคุณครูทั้งหมดกี่คน

7 คนค่ะ รวมครูธุรการ 1 คน และผู้อำนวยการ 1 คน

อะไรคือจุดเริ่มต้นของโครงการโรงอาหารในฝันของเด็กนักเรียน

ด้วยความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณที่ได้มาก็ตามรายหัวที่เคยได้ แต่ก่อนทางโรงเรียนไม่ได้ให้ครูทำ แต่จะจ้างเหมาแม่ครัว อย่างที่คุณครูบอกว่าโรงเรียนอยู่บนภูเขา แม่ครัวจึงต้องมาจากอีกหมู่บ้านซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ 15 กิโล สมมติวันนี้ทำเมนูพะโล้ก็ต้องยกเป็นหม้อมา ก็เกิดปัญหาคือ หนึ่ง ปริมาณอาหารไม่พอ ถ้าเด็กคนไหนมาทีหลังก็จะเหลืออะไรนิดๆ หน่อยๆ ด้วยความที่งบประมาณน้อย เพราะเขาก็ต้องหักค่าน้ำมัน ค่าแรง อันนี้เข้าใจแม่ครัวนะ คุณครูก็เลยคิดว่าจะทำยังไง

ตอนวันเกิดคุณครูก็ซื้อของมาเลี้ยงวันเกิดตัวเอง พอเพื่อนเห็นก็บอกอยากทำบุญกับเด็กจัง ก็โอนเงินมาช่วย แล้วคุณครูก็เริ่มทำอาหารเสริมจากที่แม่ครัวทำมา เสริมมาแบบกระจุกกระจิก ผู้อำนวยการก็เลยพูดว่า โม มันมีปัญหาตรงนี้อยู่นะ เราเลยลองคุยกันเรื่องอาหารว่าเพียงพอหรือเปล่า เหมาะสำหรับเด็กหรือเปล่า ด้วยความที่งบประมาณมันน้อยมากๆ แม่ครัวทำงานรับจ้าง เขาก็ต้องหักค่าแรง ค่าใช้จ่ายของเขา เราเองก็สงสารเด็ก เด็กบางคนกินไม่พอ บางทีลูกชิ้นต้องแบ่งสี่ บางทีพะโล้ต้องใช้ปลายปีก ผู้อำนวยการเลยบอกว่า ลองทำเองไหม ถ้าคุณครูซื้อของเอง ทำเอง จะประหยัดได้มากขึ้น คุณภาพอาหารก็จะดีขึ้น คุณครูก็เลยโอเคลองดู ถึงจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นก็ลองดู

ตอนคุณครูไปซื้อของเองก็จะเลือกแหล่งวัตถุดิบได้เอง ก็เลยได้ปริมาณอาหารมากขึ้นและต้องไม่หักค่าใช้จ่ายอะไรเลย คุณครูอาจจะเพิ่มเงินตัวเองเข้าไปบ้าง พอคนอื่นเห็นเขาก็เริ่มสนับสนุนเข้ามา คนในโซเชียลมีเดียเห็นก็เริ่มมาช่วย บวกกับคุณครูก็เอาเงินตัวเองสมทบเข้าไปด้วย ตอนแรกที่เพิ่มเงินตัวเองสมทบเข้าไปเพราะโรงเรียนอยู่บนภูเขา คุณครูก็ต้องได้ทานกับเด็กด้วยเพราะมันไม่มีที่ซื้อ ก็เลยคิดว่าโอเค ถือว่าเราเอาเงินเข้าไป เราก็ได้กินด้วย

พอโลกโซเชียลเริ่มมีผลตอบรับที่ดี ก็มีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนส่งของมาบ้าง ส่งงบสนับสนุนมาบ้าง คุณครูก็เลยเริ่มแอดวานซ์ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีเมนูที่แปลกใหม่ เริ่มท้าทายตัวเองมากขึ้น ซึ่งคุณครูทำเพจด้วย พอมีรายได้จากทางนี้ก็คิดว่าเงินตรงส่วนนี้ที่ได้มา มันเกิดจากเด็กเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ครูคนเดียว เพราะเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพจเติบโต คุณครูก็เลยคิดว่ารายได้ส่วนนี้ควรจะกลับไปหาเด็ก ก็เลยเอาเงินเพจนี่แหละสมทบทุนอาหารกลางวันไปเลย มันเลยได้เยอะมากๆ และคุณครูทำเองก็ไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายอะไรเลย

ก่อนหน้านี้คุณครูมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร

คุณครูมีแรงบันดาลใจมาจากเด็กนี่แหละ และแรงบันดาลใจที่ตัวเองเคยมีความทรงจำดีๆ กับมื้ออาหาร คุณครูก็เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ไปเรียนอยู่กรุงเทพฯ และมีอาจารย์อุปถัมภ์ คุณครูเคยแทบจะไม่มีเงินกินข้าว ได้กินข้าวคลุกน้ำปลากับพริกผง แล้ววันหนึ่งอาจารย์ชวนไปทำงานแล้วได้กินอะไรดีๆ มันคือความทรงจำดีๆ คุณครูเลยเชื่อว่าทุกมื้ออาหารของทุกคนจะมีอาหารมื้อพิเศษที่เป็นความทรงจำของแต่ละคน

มันก็เริ่มจากเด็กนี่แหละที่ทำให้คุณครูอยากทำ จุดเริ่มต้นคือซื้อเคเอฟซีมาเลี้ยงเด็กๆ ในความคิดเรามันก็ไม่ได้มากมายอะไร เพราะเรากินจนเคยชินแล้ว แต่มีเด็กคนหนึ่งกินเหลือครึ่งหนึ่งแล้วบอกคุณครูว่า ผมขอถุงห่อกลับบ้านได้ไหม คุณครูก็แปลกใจว่าห่อทำไม ไก่หนึ่งชิ้นกินไม่หมดเหรอ เขาบอก ผมไม่เคยกินไก่ที่อร่อยแบบนี้เลย ผมจะเอาครึ่งหนึ่งกลับไปให้น้องและแม่กิน คุณครูก็เริ่มคิดแล้วว่าที่เราเคยกินหรืออะไรที่เราคิดว่าธรรมดาๆ มันอาจจะยิ่งใหญ่ มันอาจจะอร่อยมากๆ สำหรับเขา คุณครูคิดว่าพื้นฐานชีวิตเขาไม่เคยเจออะไรที่แปลกใหม่หรืออะไรที่เขาไม่สามารถเลือกได้ ก็เลยเริ่มทำโครงการนี้และก็เป็นแรงบันดาลใจที่ว่า อย่างน้อยให้เขามีความทรงจำดีๆ เหมือนอย่างที่ครูเคยได้รับ

คุณครูมีวิธีบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันอย่างไรบ้าง

ตอนนี้โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ครูบริหารจัดการได้ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ถามว่ายากไหม ตอนแรกยากมาก เพราะทุกอย่างคือการวางแผน ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และงบประมาณ แต่ตอนนี้ด้วยความที่ทีมคุณครูดี ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน จึงวางแผนได้ดีมากๆ เลยค่อนข้างที่จะโอเค แต่ถ้าอาศัยเงินที่สนับสนุนเข้ามา โดยไม่ใช้เงินส่วนตัวที่คุณครูเพิ่มเข้าไป ก็อาจจะยังบริหารได้ยาก เพราะว่าเดี๋ยวนี้วัตถุดิบหรืออะไรต่างๆ ค่อนข้างที่จะแพงและควบคุมได้ยาก

ถ้าไม่ใช้เงินจากเพจ งบประมาณอาหารกลางวันปกติเพียงพอไหม

เพียงพอ แต่ต้องบริหารจัดการเป็นเมนูอาหารที่มันซอฟต์ลง เราต้องบริหารว่า ถ้าไม่มีเงินเพจ ไม่มีเงินส่วนตัว มีแค่งบประมาณอาหารกลางวันที่ได้มา ก็ต้องหาเมนูไหนที่มันเซฟได้ สมมติวันไหนใช้งบเยอะแล้ว วันนี้ก็ต้องเซฟลง ปริมาณเท่าเดิม เพียงแต่ต้องดูว่าวัตถุดิบช่วงนี้แพงหรือเปล่า ต้องวางแผนดีๆ

ปกติทางโรงเรียนจะได้งบประมาณรายหัว หัวละ 27 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วเงินจำนวนนี้คงทำไม่ได้ขนาดนี้หรอก โชคดีที่มีผู้สนับสนุนใจดีจากแฟนเพจของคุณครูเองด้วย แต่ต้องบอกว่าเงินสนับสนุนจากทางเพจก็ไม่ตายตัว บางอาทิตย์ก็มี บางอาทิตย์ก็ไม่มี บางเดือนมี บางเดือนก็ไม่มี มันแล้วแต่คนที่เขาสนใจจะมาสนับสนุน แต่หลักๆ เลยทุกอาทิตย์ที่ไปซื้อของจะต้องใช้เงินส่วนตัวของคุณครูเสริมเข้าไปด้วย

ด้วยความที่คุณครูเป็นคนไปซื้อของเอง คัดเลือกวัตถุดิบเอง ก็เลยได้วัตถุดิบทั้งคุณภาพและปริมาณ บางทีเวลาคุณครูไปดีลกับพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน แม่ค้าเขาจะบอกช่วงนี้ฟักทองถูกนะ ดีนะ เยอะนะ เราก็โอเค คิดเมนูฟักทอง 

การที่ต้องทำอาหารกลางวันให้เด็กในทุกๆ วัน ส่งผลกระทบต่อการสอนไหม

ไม่เลย มันอยู่ที่ระบบการวางแผน ด้วยความที่คุณครูอยู่บ้านพักครูในโรงเรียนอยู่แล้ว ตอนเย็นคุณครูก็จะไปเตรียมอาหารไว้ หั่นทุกอย่าง แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ที่ต้องหมักก็หมักและแช่ตู้เย็นเตรียมไว้ ตอนเช้าก็มาเช้ากว่าปกติและมาทำกับข้าว ซึ่งคุณครูจะเป็นตัวหลักในครัว มีเด็ก ป.6 กับเด็กโตมาช่วยทำ จับนู่นจับนี่ ล้างอุปกรณ์ เขาก็ได้เรียนรู้ในการทำอาหารไปกับคุณครูด้วย ครูส่วนหนึ่งที่เป็นเวรก็จะออกไปทำความสะอาดโรงเรียน

พอเสร็จงานในโรงอาหาร 9 โมง ก็ไปสอนตามปกติ มันอยู่ที่การบริหาร ซึ่งเราก็ต้องเพิ่มเวลาให้การทำงานของเรา และทีมที่ซัพพอร์ตก็เป็นส่วนสำคัญมากๆ เพราะครูแต่ละคนช่วยกันดีมากๆ มันเลยไม่กระทบกับการเรียนเลย พอตอนเที่ยงคุณครูก็ลงมาช่วยกันตักข้าว เด็ก ป.6 ก็ช่วยกัน ตรงนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ เอาจริงๆ เด็ก ป.6 หรือเด็กที่มาช่วย คุณครูก็ถือว่าได้สอนเขาเหมือนกัน เรื่องการจัดการ การทำอาหารอะไรแบบนี้ มันคือการสอนเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้เปิดหนังสือแค่นั้นเอง

การที่คุณครูมาทำตรงนี้ โรงเรียนช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง

คือโรงเรียนสนับสนุนเต็มที่มากๆ โรงเรียนบอกว่า คุณครูสามารถจัดการได้เลย มีอะไรขาดเหลือเรามาคุยกัน ทางโรงเรียนไม่ติดอะไรเลย มีแต่ซัพพอร์ต ขาดเหลืออะไรก็คุยกันได้ดีมากๆ และทีมในโรงเรียนคุยกันบ่อย คุยกันเป็นกิจวัตรปกติเลย

ที่ผ่านมาเงินอุดหนุนอาหารกลางวันของรัฐถือว่าทั่วถึงไหม โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก

จริงๆ แล้วถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะมีปัญหากับเรื่องอาหารกลางวัน เพราะเอาจริงๆ เงิน 27 บาท ไม่ได้จ่ายแค่ค่าวัตถุดิบ การทำอาหารกลางวันมันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งค่าแก๊ส ค่าน้ำ อย่างโรงเรียนคุณครูต้องซื้อน้ำด้วย ทุกอย่างมันคือต้นทุนและปัจจัยสำคัญ ดังนั้นคุณครูจึงรู้สึกว่าถ้ามีเงินจากภาครัฐอย่างเดียว สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังถือว่าน้อยมากๆ 

ถ้าคิดแบบรายวัน อย่างโรงเรียนคุณครูจะได้งบอุดหนุนประมาณ 2,600 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครอบครัวใหญ่ๆ แค่ไปตลาดซื้อกับข้าวทีหนึ่งก็หลักพันแล้วนะ แต่อันนี้เราต้องทำให้เด็กเกือบ 100 คน ยิ่งคุณครูอยู่พื้นที่ห่างไกล ค่าแก๊สถังละ 480 บาท ค่าข้าวกระสอบหนึ่งก็ 1,600 บาทแล้ว ยังไม่นับเรื่องวัตถุดิบต่างๆ ค่าเครื่องปรุง ค่านู่นนี่นั่น ซึ่งครูก็อยากให้เด็กกินแบบเต็มที่

เด็กแต่ละคนอาจมีปัญหาแพ้อาหารหรือไม่กินผัก คุณครูมีวิธีจัดการปัญหานี้อย่างไร

คุณครูจะค่อนข้างซีเรียสมากๆ จะจำทุกคน ทุกโรงเรียนมีการประชุมผู้ปกครองอยู่แล้ว คุณครูจะแจ้งเลยว่า คุณครูทำกับข้าวเอง ผู้ปกครองสามารถบอกได้ว่าลูกมีโรคประจำตัวไหม แพ้อาหารอะไรไหมและแพ้แบบไหน เช่น เด็กบางคนเป็นธาลัสซีเมีย บางคนแพ้อาหารทะเล สามารถทานอะไรได้บ้าง หรือควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง เราก็ต้องบอกเขาด้วยว่า หนูกินอันนี้ไม่ได้นะลูก หรือบางทีก็ต้องทำเมนูอื่นแยกไว้ให้ ต้องเตือนเขาทุกครั้งในการตัก เพราะเด็กๆ เวลาเห็นคนอื่นกินเขาก็อยากกินอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเตือน บางทีก็เพิ่มปริมาณให้เขาในสิ่งที่เขากินได้ อันไหนกินไม่ได้ก็บอกเขา 

ในสายตาของคุณครู โภชนาการของเด็กมีความสำคัญอย่างไร

มีความสำคัญมากๆ มันคือจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง จุดเริ่มต้นของพัฒนาการ การใช้ชีวิตของเขา รวมถึงแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างด้วย บางทีอาหารกลางวันดีก็ทำให้อยากมาโรงเรียน กระตือรือร้นในการเรียน เด็กบางคนปิดเทอมนานๆ ก็มาบอกคุณครูว่า ปิดเทอมนานจังเลยหนูไม่มีข้าวกิน ตอนเช้าไม่ได้กินข้าวเลย มันคือสิ่งสำคัญของเขา อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เรามองข้าม แต่บางทีมันอาจจะเป็นจุดยิ่งใหญ่สำหรับเขามากๆ

การที่คุณครูแชร์ภาพอาหารกลางวันเด็กนักเรียนลง TikTok มีส่วนช่วยให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับปัญหาอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอย่างไรบ้าง

มีเยอะมากๆ นะ เพราะบางคนก็จะมาสะท้อนปัญหาใน TikTok ของคุณครูด้วย เช่น ทำไมโรงเรียนคุณครูทำได้ แล้วทำไมโรงเรียนแถวบ้านทำไม่ได้ บางคนเขาก็ถามกรรมวิธี หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการหลายๆ โรงเรียนก็มาถามวิธีว่าคุณครูทำยังไงให้มันได้ขนาดนี้ ถ้าไม่มีเงินสนับสนุนคุณครูแก้ปัญหายังไง เขาก็พยายามเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเขา

กระแสตอบรับในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างไรบ้าง

ดีมากๆ เลย บางวันคุณครูเหนื่อยหรือมีธุระ แล้วไม่ได้ลงคลิป ก็มีคนมาทวงถามบ้าง ว่าวันนี้ไม่ลงรูปอาหารกลางวันเหรอ ผู้ปกครองบางคนบอก ดีเลย เข้าไปดู TikTok ของครูโม เดี๋ยวนี้ไม่ต้องคิดเมนูอาหารให้ลูกแล้ว ลอกครูโมทุกวันเลย ก็มีมาถามเทคนิคทำยังไง ทำไมแกงเผ็ดครูโมเด็กอนุบาลกินได้ เหมือนเป็นเชฟไปในตัว บอกสูตรบอกอะไรไปเลย

อยากให้ภาครัฐปรับแนวทางเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้อย่างไร เพื่อให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียม

จริงๆ แล้วความเท่าเทียมแทบจะยากมากๆ เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริบทต่างกันมากๆ บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนเล็กก็จริง แต่อยู่ใกล้ตัวเมือง บางโรงเรียนเป็นขนาดเล็ก แต่อยู่บนภูเขา แล้วงบประมาณเท่ากัน ซึ่งก็รู้สึกว่ามันยังเหลื่อมล้ำกันอยู่

ถ้าจะปรับเปลี่ยน คิดว่ามันยากมากๆ แต่ว่าถ้าพยายามก็คงจะดีขึ้น อยากให้นึกถึงบริบทและกำลังของบุคลากรในแต่ละโรงเรียนว่าจะสามารถทำได้ไหม สมมติโรงเรียนไหนครูน้อยๆ และเขาจะต้องไปซื้อของเองอีกเหรอ มันควรมีบุคลากรที่จะมาส่งเสริมในจุดนี้ด้วย และเรื่องเอกสารต่างๆ มันเป็นงานที่หน่วยงานค่อนข้างอี๋ เข้าใจอารมณ์ว่าอยากทำนะ แต่เอกสารทำไมดูยากจัง ด้วยความที่เป็นงานเอกสารและต้องตรวจสอบ ก็กลายเป็นเหลื่อมล้ำไปอีก อยากให้ดูบริบทของแต่ละโรงเรียนมากกว่า แต่มันก็ต้องปูพื้นฐานค่อนข้างนาน เพราะต่างโรงเรียน ต่างบริบท ต่างบุคลากร มันก็ค่อนข้างยาก แต่ถ้าค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป มันก็จะเริ่มพัฒนาได้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

คุณครูคิดว่าทำอย่างไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในโครงการอาหารกลางวันเด็ก

คุณครูคิดว่าเริ่มต้นต้องเห็นความสำคัญ ส่วนการป้องกันทุจริตมันคือจิตสำนึกของคน ต้องเริ่มต้นจากจิตสำนึกว่าทุกอย่างคือความสำคัญ เด็กคืออนาคต คือสิ่งที่จะเติบโตไปในวันข้างหน้า ให้เห็นความสำคัญที่เด็กควรจะได้รับ ต้องนึกถึงตัวเองให้น้อยลง นึกถึงความสำคัญของทุกอย่างที่ควรจะเป็นมากยิ่งขึ้น แต่จริงๆ การป้องกันการทุจริตต้องเริ่มต้นจากความคิด ถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงส่วนรวม ไม่นึกถึงหน้าที่ มันก็คงจะทุจริตกันได้ง่ายมากๆ

วันที่ 16 มกราคมนี้ เป็นวันครูแห่งชาติ คุณครูได้เตรียมเมนูพิเศษอะไรไว้ให้เด็กๆ ไหม

คุณครูบอกกับเด็กๆ ไปแล้วว่า เดี๋ยวจะเล่นใหญ่เลย คุณครูจะทำเมนูข้าวอบเห็ดหอมกับสเต็กแซลมอนให้เด็กๆ ทาน เพราะไม่เคยทำแซลมอน และทำเมนูปลาน้อยมากๆ พอดีได้งบสนับสนุนจากแฟนคลับจากต่างประเทศ เขาอยากให้เด็กๆ ได้ทานแซลมอน คุณครูก็เลยคิดว่าจะทำเมนูสเต็กแซลมอนให้เด็กๆ ค่ะ

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า